Skip to main content
sharethis

เตือนผู้ประกอบการเคลื่อนย้ายแรงงานกลุ่มเสี่ยง มีบทลงโทษสูง

หลังมีคำสั่งปิดแพปลาที่จังหวัดกระบี่ เนื่องจากพบแรงงานติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และแรงงานกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัวอยู่ภายในเรือ ทำให้นายจ้างแบกรับภาระไม่ไหวและคิดจะเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและมีโทษสูง

หลังผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ลงนามในคำสั่งปิดแพปลา ท่าเทียบเรือประมงพาณิชย์ หมู่ที่ 7 ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ จำนวน 2 จุด เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-15 ธันวาคม และแรงงานประมงที่เป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดกักตัวอยู่ในเรือประมงและลอยลำอยู่กลางทะเล ส่วนผู้ป่วยได้นำเข่าสู่กระบวนการรักษาตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข

ในส่วนของแรงงานประเทศเพื่อนบ้านผู้ประกอบการแพปลาต้องรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายของลูกเรือประมงทั้งหมด ซึ่งผู้ประกอบต้องรับภาระค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 บาทต่อคนต่อวัน ทำให้แบกรับภาระไม่ไหว และพบว่ามีผู้ประกอบการแพปลาบางรายพยายามที่จะเคลื่อนย้ายแรงงานจากบริเวณที่กักตัว และมีคนอ้างว่าจะวิ่งเต้นกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการขอเคลื่อนย้ายแรงงานในขณะนี้ได้

สำนักงานงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ จึงเตือนผู้ประกอบการว่าอย่าได้ฝ่าฝืนคำประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ และอย่าหลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างว่าสามารถวิ่งเต้นช่วยเหลือให้สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้ เพราะผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้อาจมีความผิดตามมาตรา 51 ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือมาตรา 51 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา: ข่าวช่อง 7HD, 9/12/2564

เผยยูเออีต้องการแรงงานไทยกว่า 60,000 ตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เข้าเยี่ยมคารวะและแสดงความยินดีกับ ดร.อับดุลเราะห์มาน อัล อะวาร์ รมว.ทรัพยากรมนุษย์และส่งเสริมการจ้างงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนื่องในโอกาสได้รับตำแหน่งใหม่ โดยมี นายวราวุธ ภู่อภิญญา เอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ

นายสุชาติ กล่าวว่า ขอขอบคุณทางยูเออี ที่ให้การดูแลแรงงานไทยเป็นอย่างดี ซึ่งการที่แรงงานไทยได้มีโอกาสมาทำงานที่ยูเออี จะเป็นการช่วยพัฒนาทักษะฝีมือ และสร้างรายได้แก่แรงงานไทยและครอบครัว

แรงงานไทยเป็นแรงงานที่ยูเออียอมรับ โดยเฉพาะสาขางานภาคธุรกิจ เช่น นวด/สปา พ่อครัว แม่ครัวไทย ฯลฯ ซึ่งยูเออีเองเป็นประเทศที่ต้องการแรงงานต่างชาติสูงในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะสาขาที่แรงงานไทยเป็นที่ยอมรับ จึงเห็นควรให้มีโครงการความร่วมมือและหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดส่งแรงงานไทยมาทำงานในยูเออี เพื่อให้แรงงานไทยมีสัดส่วนในตลาดแรงงานยูเออีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาแรงงานลักลอบทำงานผิดกฎหมายได้อีกด้วย

“ผลการเจรจาความร่วมมือในครั้งนี้ ทำให้ไทยและยูเออี บรรลุข้อตกลงในการเจรจาลงนามในบันทึกข้อตกลง MOU เพื่อเปิดรับแรงงานไทยเข้ามาทำงานในยูเออีเพิ่มขึ้น โดยยูเออีมีความต้องการรับแรงงานไทยเข้ามาทำงานในหลายภาคอุตสาหกรรม และต้องการที่จะหารือภาคส่วนที่ต้องการรับแรงงาน เช่น ภาคบริการ ก่อสร้าง และด้านสุขภาพ กว่า 60,000 ตำแหน่ง”

โดยกระทรวงแรงงาน และกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการจ้างงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะเร่งรัดการหารือร่วมกัน เพื่อลงนามใน MOU การจัดส่งคนงานมาทำงานในประเทศยูเออีโดยเร็วที่สุด ทั้งในรูปแบบรัฐจัดส่ง และบริษัทจัดหางานต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 8/12/2564

กสร. ลุยปั้นที่ปรึกษามาตรฐานแรงงานไทย สร้างบรรทัดฐานใหม่ด้านแรงงาน

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำหนดนโยบายสำคัญในการพัฒนาปรับปรุงและส่งเสริมการคุ้มครองแรงงาน ระบบสวัสดิการแรงงาน และหลักประกันทางสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน จึงมอบหมายให้ กสร. ดำเนินการสร้างบรรทัดฐานการปฏิบัติต่อแรงงานที่แสดงถึงความรับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงานของธุรกิจ สถานประกอบกิจการทุกประเภท ทุกขนาดสามารถใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการด้านแรงงานและดำเนินการธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ตามนโยบายหลักในการรณรงค์ส่งเสริมและพัฒนาให้สถานประกอบกิจการเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย และปฏิบัติสอดคล้องตามข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทย เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสถานประกอบกิจการ แรงงาน และประเทศที่แสดงถึงภาพลักษณ์อันดี ซึ่งการส่งเสริมสถานประกอบกิจการให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย ต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทย เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา แนะนำ พัฒนาสถานประกอบกิจการให้มีระบบบริหารจัดการแรงงานที่ดี สอดคล้องตามข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทย โดยมุ่งเน้นให้แรงงานได้รับการยอมรับความทัดเทียม มีรายได้ที่เหมาะสมและมีความปลอดภัยในการทำงานซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้ภาคธุรกิจเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมได้กำหนดนโยบายส่งเสริม สนับสนุนให้สถานประกอบกิจการจัดทำระบบมาตรฐานแรงงานไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน มีสถานประกอบกิจการที่อยู่ในระบบมาตรฐานแรงงานไทยทั่วประเทศ จำนวน 1,256 แห่ง ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน จำนวน 594,520 คน โดยกรมได้จัดอบรมโครงการเสริมสร้างบุคลากรภาครัฐเพื่อเป็นที่ปรึกษามาตรฐานแรงงานไทย ในวันที่ 8 - 9 ธันวาคม 2564 ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ประกอบด้วย บุคลากรที่รับผิดชอบงานด้านมาตรฐานแรงงานไทย จากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 100 คน โครงการนี้จึงถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการเติมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทย มรท.8001-2563 เพื่อให้บุคลากรภาครัฐสามารถนำไปเผยแพร่ ถ่ายทอดต่อเพื่อนร่วมงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง และสามารถให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำระบบมาตรฐานแรงงานไทยให้กับสถานประกอบกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีการค้าโลกจนนำไปสู่คุณภาพชีวิตแรงงานที่ดีอย่างยั่งยืน

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 8/12/2564

รมว.แรงงานเยี่ยมให้กำลังใจแรงงานไทย และขยายตลาดภาคบริการในยูเออี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พบปะนายจ้างและตรวจเยี่ยมแรงงานไทยที่ทำงานด้านบริการ ณ ชั้น 5 โรงแรม Anatara Mangroves ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมี Mr.Khaled Sharabassy, General Manager ให้การต้อนรับ พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางปลิดา ร่วมคำ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมด้วย สำหรับแรงงานไทยที่ไปทำงานด้านบริการในโรงแรมดังกล่าว เป็นการจ้างตรงและเดินทางผ่านกรมการจัดหางาน 12 คน อยู่ในส่วนการต้อนรับของโรงแรม 5 คน ร้านอาหารแม่โขง 4 คน และอนันตราสปา 3 คน ปัจจุบันมีความต้องการแรงงานไทยประมาณ 6-8 คน ในส่วนของโรงแรม ร้านอาหารและสปา พร้อมหารือกับผู้ประกอบการเพื่อขยายตลาดแรงงานในภาคบริการด้วย

นายสุชาติ กล่าวว่ารัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานมีความห่วงใยแรงงานไทย แม้ว่าจะเป็นแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศก็ตาม แรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากแต่ละปีมีรายได้ส่งกลับประเทศไทยเพื่อพัฒนาประเทศประมาณปีละ 200,000 ล้านบาท กระทรวงแรงงานได้มีการก่อตั้งสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ 12 แห่งทั่วโลก และฝ่ายแรงงาน ณ กรุงอาบูดาบี คือหนึ่งในสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ ที่มีหน้าที่ช่วยแรงงานไทยดูแลผลประโยชน์ในการจ้างงาน ป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ และช่วยเรียกร้องสิทธิประโยชน์ กรณีลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม

“การเดินทางมาเยี่ยมแรงงานไทยในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในครั้งนี้ เพื่อต้องการพบปะพูดคุยกับแรงงานไทยที่จากบ้านมาทำงานต่างแดน สอบถามสารทุกข์สุกดิบ พร้อมส่งกำลังใจและความห่วงใยจากท่านรองนายก พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รวมถึงท่านนายก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีความห่วงใย และกำชับมอบหมายให้มาสอบถามพูดคุยกับทุกท่านด้วยตัวเอง”นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด

นางสาวลลิตา พลอยโต Guest Service Agent หนึ่งในพนักงานต้อนรับส่วนหน้าของโรงแรม Anatara Mangroves ที่เมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวถึงคนไทยที่สนใจจะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ขอให้เดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการคุ้มครอง และขอให้ตั้งใจ ขยันทำงาน เพื่อจะได้นำความรู้ ประสบการณ์ และนำรายได้ไปดูแลครอบครัว

นางสาวผกาวดี น้อยต้อย Guest Service Agent อีกหนึ่งพนักงานต้อนรับส่วนหน้าของ โรงแรม Anatara Mangroves ที่เมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวถึงคนไทยที่สนใจจะไปทำงานในต่างประเทศ ในปัจจุบันมีหลายวิธีที่จะเดินทางไปอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องยาก หากดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเกิดจากความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะไปทำงานจริง ๆ

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 7/12/2564

กระทรวงแรงงาน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยกองทุน ผู้รับงานไปทำที่บ้าน 0% นาน 12 งวด

5 ธ.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กระทรวงแรงงานได้อนุมัติวงเงินกู้ยืม จำนวน 5,000,000 บาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้รับงาน/กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนถูกกฎหมาย ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบซ้ำเติมในสถานการณ์โควิด ซึ่งในปีนี้มีมาตรการช่วยเหลือโดยลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0 ต่อปี ในงวดที่ 1-12 โดยมีเป้าหมายปล่อยกู้เงินกองทุนฯ จำนวน 44 กลุ่ม สำหรับผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขอได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 64 - 31 ส.ค. 2565 และทำสัญญากู้ยืมเงิน ภายใน 30 ก.ย. 2565

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด โดยกำชับกระทรวงแรงงาน ให้ดูแลคนกลุ่มแรงงานนอกระบบให้ได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง เข้าถึงโอกาสและได้รับความเสมอภาคทางสังคม รวมทั้งส่งเสริมอาชีพ และการมีงานทำ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ได้ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0 ต่อเนื่องมาปีนี้เป็นปีที่ 3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน

ทางด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่าสำหรับคุณสมบัติผู้กู้จะต้องเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน มีผลการดำเนินการและมีรายได้จากการรับงานไปทำที่บ้าน หรือมีหลักฐานการรับงานไปทำที่บ้านจากผู้จ้างงาน ซึ่งมีทั้งประเภทบุคคลและกลุ่มบุคคล โดยประเภทบุคคลต้องมีทรัพย์สินหรือเงินทุนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท

ส่วนประเภทกลุ่มบุคคลจะต้องมีผู้นำกลุ่มและสมาชิกกลุ่มกู้ร่วมกันไม่น้อยกว่า 5 คน มีทรัพย์สินหรือเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 บาท รายบุคคลกู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 2 ปี และรายกลุ่มบุคคลไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี โดยตั้งแต่ปี 2548 - ปัจจุบัน มีผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางาน จำนวน 1,082 ราย/กลุ่ม สมาชิกจำนวน 6,102 คน และมีผู้กู้เงินจากกองทุนฯ แล้ว จำนวน 545 ราย/กลุ่ม (34 ราย/511 กลุ่ม) เป็นเงิน 57,566,000 บาท

สำหรับผู้ที่สนใจกู้ยืมเงินกองทุนฯ ตรวจสอบคุณสมบัติและยื่นคำขอกู้เงินได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด ในท้องที่ที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน ภายใน 31 ส.ค. 2565 และทำสัญญากู้ยืมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 2565 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 5/12/2564

"ดีเอสไอ" เข้าช่วยเหลือหญิงสาวชาวพม่า ถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาสนาน 13 ปี

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 กองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับแจ้งจากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)ว่าได้รับการร้องขอจากพลเมืองดี ให้ช่วยเหลือหญิงสาวชาวเมียนมาโดยเร่งด่วน ซึ่งถูกหน่วงเหนี่ยว กักขังอยู่ที่บ้านหลังหนึ่ง ในหมู่บ้านผกามาศ ซอย 11 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร จึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาฯ ทราบเพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือ ในการนี้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มอบหมายให้ พันตำรวจโท สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งการให้พันตำรวจตรี สิริวิชญ์ ชาญเตชะสิทธิ์กุล ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ นายเอกรินทร์ ดอนดง ผู้อำนวยการส่วนคดีการค้ามนุษย์ 1 และนางสาว วรภัสสร พันธ์เกษม เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ ลงพื้นที่ปฏิบัติการให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยใช้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 27 (4) ร่วมกับมูลนิธิ LPN และ IJM ร่วมกันช่วยเหลือดังกล่าว

ทันทีที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้เดินทางไปถึง พบ นางสาววิน (นามสมมุติ) สัญชาติเมียนมา อายุ 26 ปี อยู่ในสภาพอิดโรย หวาดกลัว และร้องขอความช่วยเหลือให้ได้ออกไปอย่างเร็วที่สุด ซึ่งนางสาววิน ได้ถูกนำตัวมาทำงานเป็นคนรับใช้ นานกว่า 13 ปี โดยไม่รู้วันเดือนปี และไม่เคยได้รับเงินเดือน จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยถูกแสวงประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงาน เอาคนลงเป็นทาส หรือมีลักษณะคล้ายทาส หรือกระทำการอื่นใดเป็นการขูดรีดบุคคล จึงได้ร่วมกันให้การช่วยเหลือ โดยนำตัวผู้เสียหายไปรับการคุ้มครองเพื่อฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจ และจัดให้มีระยะเวลาเพียงพอที่จะคลายความวิตกกังวลและหายหวาดกลัว ตลอดจนให้ได้รับการบริการของรัฐและภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และได้รับการตรวจร่างกาย ซึ่งเป็นไปตามหลักการ victim centric approach เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เสียหาย มีความพร้อมก่อนจะร่วมกับทีมสหวิชาชีพ สัมภาษณ์ คัดแยกตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551

โดยหลังจากนี้ กองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่มา: คมชัดลึก, 5/12/2564

นายกฯ สั่งตรึงกำลังชายแดน สกัดแรงงานเถื่อนหนีเข้าเมืองทั้งระบบ

4 ธ.ค. 2564 พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กห. เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมประชุมกับทุกเหล่าทัพ ตำรวจ และ กอ.รมน.ผ่าน ระบบ VTC ติดตามการสนับสนุนรัฐบาลขับเคลื่อนแก้ปัญหาที่สำคัญ ณ ศาลาว่าการกลาโหม

พล.อ.ชัยชาญ ได้กำชับสั่งการตามนโยบายที่สำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้กองกำลังป้องกันชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำ รวมทั้งตำรวจ เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันและสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมือง การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด อาวุธสงครามและสินค้าผิดกฎหมายตามแนวชายแดนและพื้นที่ชั้นใน โดยประสานการทำงานร่วมกับฝ่ายปกครองในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เน้นย้ำการกวาดล้างขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย ทั้งผู้นำพา นายทุนและแหล่งฟอกตัวแรงงานเถื่อนในพื้นที่ชั้นใน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมดไม่มียกเว้น ขณะเดียวกัน ให้สนับสนุนเตรียมการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามบันทึกความเข้าใจในพื้นที่จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน หนองคาย ระนอง และสระแก้ว เพื่อนำแรงงานที่ถูกกฎหมาย มาทำงานกับนายจ้างในประเทศ

สำหรับการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ขอให้เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ตามที่ได้รับแบ่งมอบพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กับผู้ประสบภัย สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติโดยเร็ว พร้อมทั้งให้พิจารณาสนับสนุนการรับซื้อสินค้าเกษตร ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ โดยขอขอบคุณที่ทุกเหล่าทัพ สนับสนุนการรับซื้อลำใยในขั้นต้นกว่า 82 ตัน ที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงความขอบคุณ กำลังพลของกระทรวงกลาโหม โดยทุกเหล่าทัพและตำรวจ ที่ร่วมกันสืบสาน รักษาและต่อยอด บำเพ็ญสาธารณประโยชน์อย่างต่อเนื่องที่ผ่านมา โดยเฉพาะการบริจาคโลหิตในห้วงเวลาที่โลหิตขาดแคลน และการจัดกิจกรรมบริจาคโลหิต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพในหลวง รัชกาลที่ 9 ในการช่วยเหลือต่อชีวิตกันและกัน

ที่มา: คมชัดลึก, 4/12/2564

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดรับเยาวชนเกษตรฝึกงานฟาร์มที่ญี่ปุ่น สมัครถึง 9 ธ.ค. 2564 นี้

กรมส่งเสริมสหกรณ์เปิดรับสมัครบุตรหลานสมาชิกสหกรณ์ไปฝึกงานจริงในฟาร์มเกษตรประเทศญี่ปุ่น ระยะเวลา 11 เดือน เพื่อให้เกษตรกรรุ่นใหม่ของไทยได้มีโอกาสเรียนรู้และศึกษาจากการปฏิบัติงานจริง ทั้งการบริหารจัดการฟาร์มและการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ หวังเก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ และความชำนาญที่ได้รับจากการฝึกงานกับครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่นมาปรับใช้ในการพัฒนาอาชีพการเกษตรของตนให้ดียิ่งขึ้น และสนับสนุนให้เข้ามาพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรของไทยให้มีความเข้มแข็ง

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการคัดเลือกเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เป็นบุตรหลานสมาชิกสหกรณ์การเกษตร เดินทางไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2526 จนถึงปัจจุบันมีผู้ผ่านการคัดเลือกในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวนทั้งสิ้น 136 คน ซึ่งจากการติดตามผลภายหลังจากที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่นพบว่า เยาวชนเกษตรส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพด้านการเกษตร ส่วนหนึ่งพัฒนาตนเองจนเป็นผู้นำเกษตรกรในชุมชน และท้องถิ่น รวมทั้งยังเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรที่ดี ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการเดินทางไปฝึกงานในฟาร์มเกษตรที่ประเทศญี่ปุ่น มาปรับใช้กับการทำการเกษตรของตนเอง และพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรของตนเองได้อย่างมีคุณภาพด้วย

สำหรับในปีงบประมาณ 2565 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เปิดรับสมัครเยาวชนเกษตรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ หรือบุตร-หลานสมาชิกสหกรณ์การเกษตร เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 9 ธ.ค.64 โดยเยาวชนเกษตรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สหกรณ์การเกษตรต้นสังกัด เมื่อเยาวชนเกษตรที่ผ่านการคัดเลือกแล้วจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับทักษะ ด้านการเกษตรและฝึกภาษาญี่ปุ่น เป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2565 ณ ศูนย์ส่งเสริมเยาวชนเกษตรอาเซียน จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทางไปฝึกงานกับเกษตรกรญี่ปุ่นเป็นเวลา 11 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 – มี.ค. 2566 ซึ่งผู้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการต้องมีอายุระหว่าง 21 – 27 ปี จบการศึกษาขั้นต่ำระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) ประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก และสหกรณ์การเกษตรต้นสังกัดจะต้องยอมรับและพร้อมสนับสนุนให้ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกลับมาทำอาชีพการเกษตร เมื่อสำเร็จจากการฝึกงานและเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว

ทั้งนี้ การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Farmers มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ซึ่งผู้แทนเยาวชนเกษตรไทยที่จะเดินทางไปฝึกงานกับครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมพัฒนาและยกระดับภาคการเกษตรไทยในอนาคต จึงขอให้ตัวแทนเยาวชนเกษตรไทยตั้งใจเรียนรู้ อดทน มีวินัย นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฝึกงานจากประเทศญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับจากการเดินทางไปฝึกงานครั้งนี้ ให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ภายในชุมชนของตนเองด้วย โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์หวังว่าตัวแทนเยาวชนเกษตรไทยจะสามารถเป็นผู้นำในการพัฒนาการประกอบอาชีพการเกษตรในหมู่บ้าน ตำบล ชุมชน และภูมิลำเนาของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนเกษตรให้เข้ามาเป็นผู้นำในการพัฒนาการดำเนินงานของสหกรณ์ภาคการเกษตรของไทยให้เข้มแข็งต่อไป

โครงการฝึกงานผู้นำเยาวชนเกษตรไทยในประเทศญี่ปุ่น เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตร และสหกรณ์กับสภาการแลกเปลี่ยนทางการเกษตรแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Agricultural Exchange Council: JAEC) เยาวชนเกษตรไทยจะได้เดินทางไปฝึกงานการทำเกษตรในสาขาต่างๆ ดังนี้ ข้าว ผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ และเรือนเพาะชำไม้ผล ได้แก่ แอปเปิล แพร์ องุ่น และฟาร์มปศุสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ โคนม ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นระยะเวลา 11 เดือน ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสแก่เยาวชนเกษตรของไทยได้เรียนรู้เทคนิคการทำฟาร์ม ทักษะการจัดการ ความรู้เกี่ยวกับสหกรณ์การเกษตรในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งเรียนรู้บทบาทสังคมชนบทในญี่ปุ่น โดยผ่านการใช้ชีวิต การทำงาน และเรียนรู้ร่วมกับครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่น และเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเกษตรกรไทยและญี่ปุ่น และเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและประเพณี ระหว่างทั้งสองประเทศอีกด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 3/12/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net