BRN ประณามรัฐไทยกรณีสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่หน้าทำเนียบ

แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี ออกแถลงการณ์ประณามรัฐไทยและแสดงความกังวลกรณีสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่หน้าทำเนียบ

 

9 ธ.ค.2564 แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ บีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional - BRN) ออกแถลงการณ์ผ่านวิดีโอประณามรัฐบาลไทยและแสดงความห่วงใยต่อเรื่องความปลอดภัยของประชาชนชาวจะนะ จากกรณีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ได้สลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2564 หน้าทำเนียบรัฐบาลไทยที่มาเพื่อทวงสัญญาจากรัฐบาลเกี่ยวกับสัญญาที่เคยให้ไว้กับชาวจะนะเมื่อวันที่ 13-15 ธ.ค. 2563 จนทำให้มีประชาชนชาวจะนะถูกจับรวม 36 คน และได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมบางส่วน ซึ่งในแถลงการณ์ดังกล่าว Hara Shintaro แปลซึ่งมีใจความสำคัญดังนี้

ขอให้ความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน

สลามปฏิวัติ สลามเอกราช สลามสันติสุข

คำชี้แจงเฉพาะประเด็น

มาตุภูมิของพวกเรา ปาตานี เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ และมีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล แต่ ณ ตอนนี้ (ดินแดนแห่งนี้) ตกเป็นอาณานิคมของสยามที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมตลอดและกดขี่ประชาชนอย่างไร้ความเมตตา 

ที่อำเภอจะนะ พี่น้องของพวกเรากำลังต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของพวกเขาที่มีต่อดินแดนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและทรัพยากรธรรมชาติที่เลี้ยงชีวิตของประชาชนในเขตดังกล่าว (ด้วยเหตุนี้) ไม่ควรจะมีการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลสยามต่อพี่น้องของพวกเรา (เนื่องจากว่านี่คือการต่อสู้ที่มีความชอบธรรม)

โครงการพัฒนาที่ไม่ใส่ใจความปลอดภัยและไม่รับรองการดำเนินชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่แรกนั้นคือโครงการพัฒนาประเภทอะไรกันแน่

พวกเรา บีอาร์เอ็น ใส่ใจต่อพี่น้องของพวกเราที่จะนะที่กำลังต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม และพวกเรา บีอาร์เอ็น ขอประณามรัฐบาลสยามอย่างเด็ดขาดตามการใช้มาตรการที่กดขี่ (ผู้ชุมนุม) และไร้มนุษยธรรมซึ่งละเมิดสิทธิในการดำเนินชีวิตของประชาชนปาตานี

ขอให้ความสันติสุขจงมีแด่ท่าน

กรมประชาสัมพันธ์ บีอาร์เอ็น

ทั้งนี้ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่เดินทางมาชุมนุมหน้าทำเนียบจนถูกสลายการชุมนุมครั้งนี้มี 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่

1. รัฐบาลต้องตั้งกลไกตรวจสอบความผิดปกติของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะใหม่ โดยจะต้องตรวจสอบในทุกมิติ อย่างเช่น เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมประชาชน เรื่องการใช้แผนปฏิบัติการโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและรังวัดรูปแปลงโฉนดที่ดินให้เป็นมาตรฐานเดียวกันอันมิชอบ และการใช้งบประมาณของ ศอ.บต. ในโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกลไกนี้จะต้องเป็นกลาง เชื่อถือได้ และมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อแล้วเสร็จจะต้องแจ้งผลการตรวจสอบให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการด้วย

2. รัฐบาลต้องจัดการศึกษาโครงการในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA. แบบมีส่วนร่วม และต้องดำเนินการโดยนักวิชาการที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งคณะศึกษานี้ต้องไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ ศอ.บต.

3. ระหว่างนี้ รัฐบาลต้องสั่งให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้ไว้ก่อน จนกว่าการดำเนินการตามข้อ 1 และ ข้อ 2 จะแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ดังกล่าว จะต้องออกเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือเป็นมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท