Skip to main content
sharethis

‘จะนะรักษ์ถิ่น’ จัดเวทีเปิดโปงฮุบที่ดิน ปมนิคมอุตสาหกรรมจะนะเอี่ยวทุน-กองทัพ ‘ปะสิทธิชัย’ เปิดสายสัมพันธ์ปะวิตร-นิพนธ์-ประชัย ‘พรพนา’ ชี้ พบความผิดปรกติออกเอกสารสิทธิ์-กว้านซื้อที่ดิน ด้าน ‘พรเพ็ญ’ จวก ศอ.บต. ใต้รัฐบาลทหารทวีความขัดแย้ง

วันนี้ (9 ธ.ค. 2564) เวลา 19.00 น. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จัดเวทีเสวนา ‘เปิดโปงขบวนการฮุบจะนะ’ หน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ในวันที่ 2 ของการปักหลักชุมนุมค้างคืน โดยมีชาวจะนะประมาณ 50 คน ซึ่งก่อนหน้านั้นเมื่อช่วงบ่ายได้มีการเดินทางไปที่ไปกระทรวงมหาดไทยเพื่อยื่นหนังสือลาออกให้นิพนธ์ บุญญามี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยลาออก เนื่องจากเครือข่ายฯ เห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการกว้านซื้อที่ดินเอื้อนายทุนลงให้ลงทุนในโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

‘ประสิทธิชัย’ เปิดสายสัมพันธ์ประวิตร-นิพนธ์-ประชัย 

ประสิทธิชัย หนูนวล เลขาธิการคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) เล่าความเป็นมาของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะว่า ก่อนการเกิดนิคมอุตสาหกรรมจะนะนั้นเกิดสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เหตุของการเกิดนิคมที่จะนะบอกว่ามีประโยชน์ 3 อย่าง หนึ่ง จ้างงานได้หนึ่งแสนคน เป็นจริงหรือไม่ BOI บอกว่าในปี 2562 รวมกิจการที่ BOI สนับสนุนทั้งประเทศจ้างได้แค่ 9 หมื่น แต่จะนะบอกว่าจะจ้างได้หนึ่งแสนคน สอง บอกว่าจะมีเงินหมุนเวียน 3.6 หมื่นล้านต่อไป และแก้ไขปัญหาความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ประสิทธิชัยกล่าวต่อว่า ปี 2559 รัฐบาล คสช. ประกาศสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แล้วเสนอให้จะนะเป็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งที่สี่ สมัยนั้นนายก อบจ. สงขลา คือนิพนธ์ บุญญามณี พอปี 2562 มี ครม. มีมติรับรองนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งการผลักดันเกิดขึ้นจากการที่มีบริษัท TPIPP ซื้อที่ดินไว้แล้ว ส่วน IRPC ของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ถูกเทคโอเวอร์โดย TPIPP พูดง่ายๆ คือบริษัทเอกชนบริษัทหนึ่งซื้อที่ดินไว้แล้วและต้องการเพิ่มมูลค่า ก็คือต้องประกาศเป็นนิคมอุตสาหกรรม ปี 2562 จึงมีการผลักดันให้เกิดมติ ครม. ในการสร้างนิคมอุตสาหกรรม 

พอปี 2563 ประชัยนำโครงการนี้ไปเสนอ BOI แต่ BOI บอกว่ามันเป็นพื้นที่สีเขียว หลังจากนั้นบริษัทนี้จึงไปคุยกับ ศอ.บต. ว่าต้องเปลี่ยนผังเมือง ศอ.บต. ก็ต้องไปคุยกับ อบจ. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ใช้กฎหมายตัวหนึ่งคือ พ.ร.บ.บริหารชายแดนภาคใต้ 2553 ข้อที่ 10 ให้อำนาจกรรมการประกาศตรงไหนก็ได้ประกาศเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม

“ประเทศเรากำลังเผชิญภัยคุกคามครั้งสำคัญ เผชิญมาเรื่อยๆ แต่อาการหนักมากในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายคนบอกว่าถ้าจะเอาชนะในนิคมอุตสาหกรรมจะนะ บางที่เราก็ต้องร่วมมือกันทั้งประเทศเพื่อจัดกากับรัฐบาลนี้ด้วย คำสัมภาษณ์ของประยุทธ์ทั้งหมด ศักยภาพของเขาเป็นนายก อบต. ยังมีปัญหาเลย การรวมตัวกันของทุน รัฐ กลไกรัฐทั้งหมด กลุ่มการเมืองเรื่องผลประโยชน์กลายเป็นสามพลังที่มีอำนาจในการจัดการประเทศนี้ ผมไม่เชื่อว่าการที่ประวิตร จะสนับสนุนประชัยแบบนี้ถ้าไม่ได้มีผลประโยชน์ และผมตั้งข้อสังเกตไปอีกว่า ไม่เคยเห็นความหน้าด้านของการผลักดันโครงการใดในภาคใต้เท่าจะนะ” ประสิทธิชัยกล่าว

‘พรพนา’ ชี้ พบความผิดปรกติออกเอกสารสิทธิ์-กว้านซื้อที่ดิน

พรพนา ก๊วยเจริญ ผู้อำนวยการ Land Watch Thai ในนามคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ได้มีการประสานงานไปที่เจ้าหน้าที่อำเภอจะนะ ซึ่งได้มีการค้นข้อมูลส่งให้กรรมาธิการภายในหนึ่งเดือน ในเดือน ม.ค. 2563 พบความผิดปกติของการเอกสารสิทธิ์อยู่หลายประการ

“เราก็เอาเอกสารมาดู ทำไมชื่อมันซ้ำๆ วะ ปรากฏเออ มันเป็นญาติไอ้นี่นี่หว่า แต่ไปเจอบางแปลง ขายจากนิพนธ์ไปให้ประชัย มันซื้อที่ดินมาวันนี้จากชาวบ้าน อีกสี่วันมันขาย สี่วันเท่านั้น ราคาที่ดินขึ้นไปต่างจากราคาที่ซื้อมาประมาณ 70-80 ล้าน เราก็งงว่ามันซื้อทำไม เพราะแพงมาก หรือได้ผลประโยชน์มากกว่านั้น ทำให้รายงานที่เสนอไปเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมาเราทำรายงานส่งสภาฯ ไปเรียบร้อย มี ส.ส. ลุกขึ้นอภิปราย 20 กว่าคน คือมันไม่ชอบมาพากลจริงๆ มันหน้าด้าน” พรพนากล่าว

พรพนายังตั้งคำถามว่า มันเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่ชัดเจนมากว่ามีการล็อกสเป็กที่ดินตรงนี้อย่างชัดเจน คล้ายๆ กับโครงการ EEC แต่เลวร้ายกว่า แต่หลังจากที่เจ้าที่ดินนำเอกสารให้ เขาก็ถูกย้าย และก็ย้ายเจ้าที่ดินคนใหม่มา วงในบอกว่าเป็นคนของกลุ่มนี้ เราก็อยากเห็นว่าก่อนปี 2562 มีการซื้อขายที่ดินแบบนี้อีกเท่าไหร่ แต่เจ้าที่ดินบอกว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ให้ไม่ได้ คือมันผิดปกติ

ข้อเสนอของพรพนาคือการกลับมาพูดถึงภาษีลาบลอย คือที่ดินมันราคาพุ่งขึ้นโดยไม่ทำอะไรเลย พวกนี้ต้องเสียภาษี แต่ตอนนี้ไม่มีอะไรควบคุมมันก็หาประโยชน์จากการกว้านซื้อที่ดินแบบนี้ อยากให้พี่น้องร้องเรียนไปยังกรรมาธิการฯ ให้ตรวจสอบเรื่องที่ดิน กรรมาธิการฯ จะดำเนินการตรวจสอบได้ แล้วใช้ข้อมูลนั้นประกาศในทางสาธารณะ 

‘พรเพ็ญ’ จวก ศอ.บต. ใต้รัฐบาลทหารทวีความขัดแย้ง

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการบูรณาการหลายๆ หน่วยงานมาร่วมกันคิดร่วมกันทำเพื่อจัดการความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์สำคัญคือปี 2547 มีการปล้นปืน มีการประกาศกฎอัยการศึก เป็นตัวสำคัญที่ทำให้ยังไม่คลี่คลายการใช้กฎหมายไปแก้ไขปัญหาในสามจังหวัด และเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่มีผู้เสียชีวิตมากมาย

นอกจากนั้น พรเพ็ญยังกล่าวว่า มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ถ้าได้ติดตามเรื่องที่ดินสมัยหลังรัฐประหารปี 2557 ในระยะที่มีคำสั่งที่ 64/2557 กอ.รมน. นั่งข้างผู้ว่าราชการจังหวัดตลอด เรื่องของ ศอ.บต. ก็เป็นการรวบอำนาจจาก กอ.รมน. มาอย่างต่อเนื่อง อย่างในมาตรา 10 ของกฎหมาย ศอ.บต. ก็เป็นการรวบอำนาจ เป็นคำสั่งที่ให้ ศอ.บต. อยู่ภายใต้ กอ.รมน. อีกที ก่อนหน้านั้นอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ก็เปลี่ยนเป็นขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี และตอนนี้ถูกกำกับโดยทหาร

“พอ ศอ.บต. ไปอยู่ใต้ กอ.รมน. มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเอื้อให้เกิดความสงบ เพราะพลเรือนไม่ได้ทำงานเลย พลเรือนอยู่ภายใต้ทหาร งบของหน่วยงานทั้งหมดในพื้นที่สามจังหวัดไม่มีการตรวจสอบโดยมาตรฐานเดียวกันกับพื้นที่อื่น จนทำให้มันเป็นขุมทรัพย์ของกองทัพ ก่อนหน้านั้นปี 2535 ทหารกลายเป็นหน่วยงานที่ต้องแอบ ซ่อน ไม่อยากออกมาต่อหน้าสาธารณะ งบก็ลดลง แต่พอรัฐปาร 2549 มีเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดน กองทัพทั้งสี่ก็ไปจัดการแบ่งเค้กกัน แล้วมารัฐประหารปี 2557 ทุนก็ฉวยโอกาส มันเป็นรัฐบาลเผด็จการที่ขาดการตรวจสอบ ระบบเผด็จการรัฐ ตำรวจ ทหาร ร่วมกัน ไม่มีการตรวจสอบกัน” พรเพ็ญกล่าว

หลังจบการเสวนา กลุ่มภาคี Save บางกลอย ได้ขึ้นมาร่วมอ่านแถลงการณ์คัดค้านการแต่งตั้งวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบางกลอยแทนธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net