สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ออกรายงาน 10 ก้าวหน้า 10 ถดถอย สถานการณ์ด้านสิทธิฯ ปี 64

  • 7 เด่น (ก้าวหน้า) ความตื่นตัวของเด็กและเยาวชนในการปฏิรูปการเมือง, การรับรู้และตระหนักถึงการมีอยู่ของความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย, การมีตัวตน การส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดจนชนเผ่าพื้นเมือง, ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย, สื่อใหม่ออนไลน์ กับบทบาทปกป้องสิทธิมนุษยชน เพิ่มพื้นที่ข่าวให้ภาคประชาชน, บทบาทขององค์กรภาคประชาชนและชุมชนเพื่อการเข้าถึงบริการสาธารรณสุขในช่วงวิกฤตของโควิด-19 ของประชาชน และความสำเร็จของสหพันธ์เกษตรภาคใต้ ฟ้องศาลปกครองถอนเอกสารสิทธิในที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ
  • 10 ด้อย(ถดถอย) การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง, การหลีกเลี่ยงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในสาระสำคัญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย, ความล่าช้าของการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม, คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญลดทอนคุณค่าของการอุปโภคสิทธิเสรีภาพ, การซ้อมทรมานของ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล (ผู้กำกับโจ้) ผลพวงของพระราชบัญญัติฯที่ขาดหาย, การละเมิดสิทธิชุมชนดั้งเดิม กรณีชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน, การไร้ประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติ, ความรุนแรงในครอบครัว, ร่างกฎหมายการดำเนินการขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ..... และ รัฐบาลไทยไม่ยกระดับสิทธิมนุษยชนให้เป็นสากลตามพันธะสัญญากับนานาชาติ

 

10 ธ.ค.2564 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน 7 เด่น (ก้าวหน้า) 10 ด้อย (ถดถอย) ประจำปี พ.ศ.2564  โดยระบุว่าเพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในรอบปี 2564 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะ และเพื่อสร้างความตระหนักในความสำคัญของสิทธิมนุษยชนที่ควรได้รับการเคารพ (Respect) การปกป้องคุ้มครอง (Pretext) และการทำให้เกิดขึ้นจริง (Fulfill) ในสังคมไทย

การจัดทำรายงานฉบับนี้ใช้กรอบแนวคิดสิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยให้การรับรอง เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยรัฐ ภาคธุรกิจ หรือภาคประชาสังคม ย่อมมีทั้งความก้าวหน้า หรือการถดถอย

จากการใช้เกณฑ์ดังกล่าว พบว่าในรอบปี 2564 สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยถดถอยไปไกลมาก ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2539 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 3 มาตรา 25 - 49 ได้ให้หลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้อย่างชัดเจนแล้วก็ตาม แต่ประเทศไทยยังมีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งนับเป็นความถดถอยอันดับแรก เมื่อภาคประชาชนรวบรวมรายชื่อนับแสนคนเสนอให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 2 ครั้ง แต่ถูกมติของรัฐสภาตีตกไม่รับหลักการทั้ง 2 ครั้ง นับเป็นความถดถอยอันดับที่สอง นอกจากนี้ยังมีความถดถอยในเรื่องการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดจนเสียชีวิต การละเมิดสิทธิชุมชนดั้งเดิมกรณีชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน ซึ่งไม่เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมซึ่งประเทศไทยลงนามเป็นภาคีเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2542  และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542  การไร้ประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติ ความรุนแรงในครอบครัว ร่างกฎหมายการดำเนินการขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ..ศ..... รวมทั้งเรื่องที่ไม่มีความคืบหน้า ได้แก่ การยกเลิกโทษประหารชีวิต การส่งผู้ลี้ภัยกลับไปประเทศต้นทางซึ่งเสี่ยงกับความตาย ฯลฯ 

เมื่อพิจารณาถึงจุดเด่น กลับพบว่า ในช่วงปี 2564 มีเพียงไม่กี่เรื่อง ซึ่งเป็นความโดดเด่นที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ได้แก่ ความตื่นตัวของเด็กและเยาวชนในการปฏิรูปการเมือง การรับรู้และตระหนักถึงการมีอยู่ของความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย การมีตัวตน การส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดจนชนเผ่าพื้นเมืองการมีร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย บทบาทของสื่อใหม่ออนไลน์ในการปกป้องสิทธิมนุษยชน บทบาทของภาคประชาสังคมกับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในช่วง COVID-19 และความสำเร็จของสหพันธ์เกษตรภาคใต้ในการฟ้องศาลปกครองถอนเอกสารสิทธิในที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ

"หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลที่ปรากฎในรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน 7 เด่น (ก้าวหน้า) 10 ด้อย (ถดถอย) ฉบับนี้  เปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ.2564 ซึ่งควรนำไปสู่การถอดบทเรียนและการประเมินตนเองของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้เกิดพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นในการส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของประชาชน และการเคารพสิทธิมนุษยชนในปีต่อไป" สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ระบุในคำนำ

สำหรับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน 7 เด่น (ก้าวหน้า) 10 ด้อย (ถดถอย) ประจำปี พ.ศ.2564 มีดังนี้

10 เด่น (ก้าวหน้า)

ในรอบปี 2564 มีความโดดเด่นหรือความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนเพียง 6 เรื่อง ซึ่งเกิดจากการขับเคลื่อนของกลุ่มเด็กและเยาวชน ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรประชาชนเป็นด้านหลัก สาระสำคัญของความโดดเด่นทั้ง 6 เรื่อง มีดังต่อไปนี้

1.    ความตื่นตัวของเด็กและเยาวชนในการปฏิรูปการเมือง

ในรอบปี 2564 ในภาพรวม เด็กและเยาวชนไทยมีความตื่นตัวมากในการมีส่วนร่วมปฏิรูปทางการเมืองในฐานะพลเมืองที่ตื่นตัว (children as active citizen) ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความตื่นตัวของเด็กและเยาวชนทั่วโลกที่มีความห่วงใยต่อชีวิตในอนาคตของตนเอง การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนไทยเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามภาคยานุวัติรับรองเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมาตรา 12, 13, 15 ที่กำหนดว่า เด็กมีสิทธิรวมกลุ่มโดยสันติ มีสิทธิชุมนุมโดยสงบตามหลักการประชาธิปไตย มีสิทธิในการแสดงออก และสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่อาจถูกจำกัดได้ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐจะจำกัดสิทธิในการชุมนุมนั้นจะต้องมีหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะหลักเกณฑ์พื้นฐาน 3 ประการ คือ หลักกฎหมาย (Legality) หลักความจำเป็น (Necessity) และหลักความได้สัดส่วน (Proportionality) โดยต้องคำนึงถึงว่า รัฐไม่ใช่ผู้ที่ “ให้สิทธิ” แต่เป็นผู้ที่มีหน้าที่ “ประกันสิทธิ” ให้แก่เด็กและเยาวชนในการชุมนุม
สถานการณ์ความตื่นตัวของเด็กและเยาวชนไทยในช่วงปี 2564 มีความต่อเนื่องจากปี 2563 เด็กจำนวนมากกล้าแสดงความคิดเห็นต่อระบบการศึกษาที่ล้าหลังของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งทำให้คุณภาพทางการศึกษาของประเทศไทยตกต่ำก้าวไม่ทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง เด็กและเยาวชนไทยมีความกล้าหาญวิพากษ์วิจารณ์อำนาจนิยมในโรงเรียน มีการรวมกลุ่มนักเรียนแต่ละภูมิภาคขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม วิพากษ์วิจารณ์โครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจด้านเดียวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น เด็กผู้หญิงจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ออกมาปกป้องสิทธิชุมชนของตน เป็นต้น การออกมาแสดงความคิดเห็นและเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบทั้งในพื้นที่สถานศึกษา และพื้นที่สาธารณะ ทำให้เด็กผู้ตื่นตัวถูกคุกคามเพียงเพราะพวกเขาแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับขนบธรรมเนียม ความคิด ความเชื่อของผู้ใหญ่ นำมาซึ่งการถูกคุกคาม ติดตาม ทำร้ายร่างกายและดำเนินคดีทางอาญากับเด็กและเยาวชนจำนวนมาก
จากข้อมูลของภาคประชาสังคม พบว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงเดือนสิงหาคม 2564 มีการรวมกลุ่มทั้งสิ้นกว่า 1,800 ครั้งทั่วประเทศ มีประชาชนอย่างน้อย 1,300 คนถูกดำเนินคดี  ในจำนวนนี้ มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีกว่า 180 คนได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิในการรวมกลุ่ม และได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเด็กไปแล้วกว่า 115 คน ซึ่งเด็กอายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มีอายุเพียง 14 ปี และเด็กอายุน้อยที่สุดที่ถูกฟ้องโดยเจ้าหน้าที่ภายใต้พรก.ฉุกเฉินมีอายุเพียง 12 ปีเท่านั้น จากการชุมนุม เด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบและเกิดบาดแผลทางร่างกายจากการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งการใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และรถฉีดน้ำแรงดันสูง  เด็กชายอายุ 15 ปี ต้องเสียชีวิตจากเหตุปะทะบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 จากกระสุนฝังบริเวณไขสันหลังส่วนบน ร่วมกับมีภาวะสมองบวมจากการขาดออกซิเจน ซึ่งตามหลักเกณฑ์แล้ว การใช้กฎหมายฉุกเฉินต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และมีพันธกรณีพิเศษที่ต้องแถลงให้เลขาธิการสหประชาชาติทราบด้วยทุกครั้ง นอกจากนี้ก็ยังมีข้อกำหนดอื่น ๆ ที่ต้องปฏิบัติตาม ICCPR ซึ่งรวมไปถึงการให้ความเห็นซึ่งแถลงโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภายใต้ ICCPR ขององค์การสหประชาชาติฉบับที่ 34 เรื่องการแสดงออกและการรวมกลุ่ม และฉบับที่ 37 เรื่องการชุมนุม ที่ระบุว่าการสลายการชุมนุมจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการชุมนุมที่รุนแรงเท่านั้น ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 26 ของไทยก็มีความสอดคล้องกับความเห็นทั้งสอบฉบับ
จากปรากฎการณ์ความตื่นตัวของเด็กและเยาวชนในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมือง และการปฏิรูปการศึกษา จากปี 2563 เนื่องมาจนถึงปี 2564 จึงนับเป็นจุดเด่นของเด็กและเยาวชนไทยที่สังคมไทยควรให้การสนับสนุน ให้ความเคารพต่อสิทธิเด็ก และรับฟังข้อเสนอแนะของพวกเขาอย่างดุษฎี มิใช่กดทับไม่ให้พวกเขาแสดงออก 

2.    การรับรู้และตระหนักถึงการมีอยู่ของความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย

แม้ว่าในความเป็นจริง สังคมไทยยังไม่อาจถือได้ว่าเป็น “ดินแดนสวรรค์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ดังที่ใครหลายคนได้กล่าวเอาไว้ เพราะยังไม่มีกฎหมายที่รับรองอัตลักษณ์สำนึกทางเพศ และไม่มี  กฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องกันมานาน อีกทั้งยังไม่นับไปถึงกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศที่มีผลสัมฤทธิ์รูปธรรมในทางปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2564 เราจะเห็นได้ว่า สังคมไทยตื่นตัวประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เราจะได้เห็นบรรยากาศของขบวนการ LGBTIQ+ และคนรุ่นใหม่มีพื้นที่ในการจัดกิจกรรมมากขึ้น และในหลายครั้งก็ยังได้มีบทบาทเป็นผู้นำในการชุมนุมด้วย 
อีกทั้งประชาชนในฐานะผู้บริโภคสื่อ ก็มีความตื่นรู้ การนำเสนอข่าวสาร สาระ บันเทิงต่าง ๆ ผู้ผลิตก็ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น  ต้องหลีกเลี่ยงการเล่นมุขตลก  การใช้ภาษา การแสดงที่อาจเข้าข่ายเป็นการเหยียดเพศ เพราะอาจส่งผลให้เกิดกระแสในทางลบต่อผู้ผลิต และผู้นำเสนอสื่อได้ 
ภาคส่วนของสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งก็เริ่มมีการประกาศนโยบายชัดเจนว่า ยอมรับความหลากหลายทางเพศ   มีการอนุญาตให้นิสิตนักศึกษาที่เป็นบุคคลข้ามเพศ (Transgender) สามารถแต่งเครื่องแบบตามเพศสภาพของตนได้  รวมถึงบัณฑิตที่เป็นบุคคลข้ามเพศ สามารถแต่งกายชุดครุยตามเพศสภาพของตนได้ 
กระแสตระหนักรู้ยังผลให้ภาคธุรกิจ นอกจากบริษัทธุรกิจรุ่นใหม่จะมีการรับสมัครบุคคลข้ามเพศ  ให้เสรีแก่พนักงานในการแต่งกายตามเพศสภาพได้แล้ว  บางองค์กรเริ่มมีนโยบายด้านทรัพยากรมนุษย์เพื่อพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศแล้ว เช่น สิทธิการลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศ  การลาเข้าพิธีสมรสพร้อมได้รับเงินช่วยเหลือจากทางบริษัท เป็นต้น   ส่วนด้านการตลาด ก็มีการออกผลิตภัณฑ์ บริการต่าง ๆ ที่เข้าถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น  เช่น ประกันภัยที่สามารถระบุชื่อคู่ชีวิตที่เป็นบุคคลรักเพศเดียวกัน (Homosexuality) ให้เป็นผู้รับประโยชน์ได้ เป็นต้น 
ในภาพรวมจึงพอที่จะกล่าวได้ว่า แม้ในภาคนโยบายรัฐจะยังไม่มีอะไรที่เป็นความก้าวหน้าต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่าที่ควร  แต่ในภาคธุรกิจ ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ก็มีความก้าวหน้ามากขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรมอยู่บ้างพอสมควร 

3.    การมีตัวตน การส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดจนชนเผ่าพื้นเมือง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีการบรรจุการคุ้มครองดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ไว้เป็นครั้งแรกโดยบัญญัติในมาตรา 70 ว่า รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตราย ต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย จากจุดนี้นำมาสู่การเรียกร้องให้มีการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นรูปธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลาย  นำมาสู่การมีคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ด้านกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อกำกับ ตรวจสอบ การทำหน้าที่ของฝ่ายบริหารคือรัฐบาล ตลอดจนออกกฎหมาย  ขณะที่รัฐบาลได้เตรียมการออกกฎหมายเพื่อรองรับมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และมอบหมายให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้รับผิดชอบในการยกร่าง ทำให้ในช่วงปี 2564 ได้มีร่างกฎหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นมาถึง 5 ร่าง โดยเสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการต่อไป 3 ร่าง ได้แก่ ร่างของเครือข่ายสภาชนเผ่าพื้นเมือง ร่างของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร และร่างของพรรคก้าวไกล นำโดยส.ส.ชาติพันธุ์ม้ง ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์  และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2 ร่าง คือ ร่างของรัฐบาลซึ่งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรยกร่างเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อนำเสนอครม.ต่อไป  และร่างของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ร่วมกับเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งยกร่างเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อและเสนอต่อประธานรัฐสภา  จึงนับว่าปี 2564 เป็นปีที่มีความตื่นตัวที่จะมีกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิ การมีตัวตน การส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดจนชนเผ่าพื้นเมือง

4. ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 16 กันยายน 2564  สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบในวาระที่ 1 ต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายด้วยเสียงเห็นชอบ 368 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย ก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ที่จะเป็นการพิจารณารายมาตรา และวาระ 3 ที่จะมีการโหวตในภาพรวม ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังกล่าวชุดหนึ่งที่มีตัวแทนภาคประชาสังคม นักวิชาการ เข้าไปด้วย ถ้าหากผ่านขั้นตอนทั้งสามวาระนี้แล้ว ก็จะนำร่างฯ เข้าสู่การพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป
ร่างกฎหมายนี้ มีสาระสำคัญคือการมุ่งเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ซ้อมทรมานและอุ้มผู้อื่น และมีการพิจารณารวมกับร่างกฎหมายคล้ายกันนี้อีก 3 ฉบับ คือ ร่างของกระทรวงยุติธรรมและคณะรัฐมนตรี ร่างของคณะกรรมาธิการ ร่างของพรรคประชาชาติ และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ โดยจะนำร่างของคณะรัฐมนตรีมาพิจารณาเป็นหลักในวาระที่ 2 อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็มองว่า การรับหลักการครั้งนี้อาจมีการนำจุดเด่นของร่างกฎหมายที่เหลือที่ยังไม่เข้าสภาฯ มาปิดจุดอ่อนที่ทำให้การซ้อมทรมาน และการอุ้มหาย กระทำได้ยากมากขึ้น
ที่ผ่านมา ทางองค์การสหประชาชาติ ได้จัดทำ “อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี” ขึ้นเมื่อปี 2527 และ “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ” เมื่อปี 2549 ประเทศไทยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาฉบับแรกเมื่อปี 2550 และลงนามแสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับหลังเมื่อปี 2555 ทำให้ประเทศไทยมีพันธะผูกพันที่จะต้องตรากฎหมายภายในประเทศ เพื่อนำพันธกรณีที่มีอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศทั้งสองฉบับมาปฏิบัติ หรือที่เรียกว่า “กฎหมายอนุวัติการ” ขึ้น โดยกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และองค์การสหประชาชาติ ได้กระตุ้นเตือนให้รัฐบาลไทยรีบออกกฎหมายอนุวัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหาย และองค์กรต่าง ๆ ก็ได้ร่วมกันจัดทำร่างกฎหมายอนุวัติการ ชื่อว่า “(ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.   ร่างกฎหมายอนุวัติการของรัฐบาลและร่างๆ อื่นทั้ง 4 ฉบับ มีหลักการที่ตรงกันตามที่ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และ สสส. สรุปไว้ ดังนี้คือ
1. ให้ถือว่าการกระทำต่อไปนี้โดยเจ้าหน้าที่เป็นความผิดอาญาฐานกระทำทรมานคือ การทำให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งคือ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากบุคคลนั้น หรือทรมานบุคคลนั้นเพื่อให้คนอื่นรับสารภาพ   เพื่อลงโทษ หรือ เพื่อข่มขู่บุคคลนั้นหรือบุคคลอื่นเช่นทรมานภรรยาเพื่อข่มขู่สามีเป็นต้น
2. กฎหมายให้ถือว่าการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ เป็นความผิดอาญาร้ายแรงมีโทษสูง
3. ให้มีคณะกรรมการระดับชาติเพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทรมาน การอุ้มหาย การปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี เพื่อป้องกันมิให้มีการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจับหรือควบคุมตัว รวมทั้งกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือ ฟื้นฟูเยียวยาเหยื่อและผู้เสียหาย
4. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องจัดทำบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้ถูกจับและควบคุมตัว รวมทั้งสภาพร่างกาย ก่อน ระหว่างและหลังคุมขัง โดยให้ญาติมีสิทธิตรวจข้อมูลได้
5. ให้บุคคลใดก็ได้มีสิทธิร้องต่อศาลให้ไต่สวนโดยพลัน กรณีที่เชื่อว่ามีผู้ถูกทรมานหรืออุ้มหาย ให้ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลนั้นถูกทรมานหรืออุ้มหายอีกเช่นให้เปลี่ยนสถานที่คุมขัง
6. ให้คดีทรมานและอุ้มหายเป็นคดีพิเศษที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนและให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นผู้พิจารณาคดี
7. ให้ผู้บังคับบัญชาที่ละเลยไม่ระงับหรือป้องกันการทรมานหรืออุ้มหาย มีความผิด
ส่วนร่างพ.ร.บ. อนุวัติการฉบับอื่น ๆ มีหลักการที่สำคัญๆ เพิ่มเติม หรือต่างไปจากร่างของรัฐบาลบ้าง เช่น
     1. กำหนดให้การที่เจ้าหน้าที่ทำให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดร่างกายหรือจิตใจอย่างร้ายแรง เพราะเหตุจากการเลือกปฏิบัติ เช่น เพราะ เป็นคนมาจากชาติพันธุ์ที่ตนเกลียดชัง ถือเป็นการกระทำผิดอาญาฐานทรมานด้วย
       2. ให้ถือว่าการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี เป็นความผิดอาญาด้วย
     3. ขอให้คณะกรรมการติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียนกรณีการทรมานและอุ้มหาย ตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า
4. ห้ามส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนถ้าผู้นั้นอาจถูกทรมาน ถูกกระทำอย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือถูกอุ้มหาย
     5. เมื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลเจ้าหน้าที่ต้องรายงานให้นายอำเภอและอัยการทราบโดยทันที
     6. ในการสอบปากคำผู้ถูกจับหรือถูกคุมขัง ต้องกระทำต่อหน้าทนายความ
     7. ในกรณีผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิต ต้องทำสำนวนชันสูตรพลิกศพและประสานงานกับคณะกรรมการโดยทันที
     8. ให้พนักงานอัยการมีอำนาจสอบสวนคดีทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและอุ้มหาย
     9. การกระทำผิดฐานทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและอุ้มหายไม่มีอายุความ และไม่อยู่ในอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 
ขณะนี้มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ภาคประชาสังคมและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้รัฐสภารีบพิจารณาและผ่าน (ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ...  โดยหวังว่ารัฐสภาจะไม่เปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้กฎหมายสามารถป้องกันและปราบปรามการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมย่ำยีศักดิ์ศรีและการอุ้มหายต่อไป

5.    สื่อใหม่ออนไลน์ กับบทบาทปกป้องสิทธิมนุษยชน เพิ่มพื้นที่ข่าวให้ภาคประชาชน

หนึ่งปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างรัฐกับประชาชนหลายกรณีที่เป็นปัญหาสังคม การเมือง สิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และกระบวนการยุติธรรม มีการประกาศ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งมีการประกาศเคอร์ฟิวจำกัดเวลา สถานที่ และขยายเวลาประกาศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอก 2 และ 3 การต้องเว้นระยะห่าง ทำให้การทำงานของสื่อมวลชนเป็นไปด้วยความยากลำบาก เสรีภาพในการทำข่าวถูกจำกัด ส่งผลต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในหลายมิติ แต่มีการเกิดขึ้นของสื่อขนาดเล็กที่เป็นทางเลือกใหม่ หันมาปรับใช้วิธีการทำงานด้วยต้นทุนต่ำ เผยแพร่ข่าวสารทางออนไลน์ อาศัยเทคโนโลยี อุปกรณ์ที่คล่องตัว รวมทั้งนำความรู้ความเข้าใจประเด็นปัญหาต่าง ๆ นำเสนอเนื้อหาได้อย่างรวดเร็ว เท่าทันต่อสถานการณ์ และตรงไปตรงมา เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่ทันเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสด เสนอเป็นรายการข่าว หรือรายการคุยจับประเด็นเฉพาะสถานการณ์ ก็ตาม สื่อดังกล่าว เช่น The Standard, The Reporters, The Matter และสื่อใหม่อื่น ๆ ที่นำเสนอออนไลน์ผ่าน Youtube, Facebook, Clubhouse, Zoom ดังเช่นรายการของภาคประชาสังคม Gender Talk  เสวนาทัศนะ  We Watch เป็นต้น การสนทนาแลกเปลี่ยนมีประเด็นเนื้อหาสิทธิมนุษยชนอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือประเด็นที่สื่อหลักบางสำนักไม่กล้านำเสนอ และไม่ให้ความสำคัญกับความจริงที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความขัดแย้ง ดังเช่น ต้นเหตุที่แท้จริงของการปะทะกันระหว่างเยาวชนสามเหลี่ยมดินแดง กับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่องในเดือนสิงหาคม 2564 พื้นที่แห่งเสียงของเยาวชน เวทีเสียงคนต่างวัยและเห็นต่าง วิเคราะห์เจาะลึกบทบาทผู้หญิง การละเมิดสิทธิของคนในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น
แม้จะมีความพยายามกำกับการนำเสนอของสื่อบางสำนักในประเด็นที่อ่อนไหวโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคนในรัฐบาลอยู่เป็นระยะ ๆ แต่สื่อใหม่เหล่านี้ยังคงทำหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่เป็นความจริง รอบด้าน มีคุณค่าทางสิทธิมนุษยชน สอดคล้องกับข้อกำหนดในมาตราที่ 34 ของรัฐธรรมนูญไทยปี 2560 ว่าด้วยบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น.......และมาตรา 35 ระบุว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

6.    บทบาทขององค์กรภาคประชาชนและชุมชนเพื่อการเข้าถึงบริการสาธารรณสุขในช่วงวิกฤตของโควิด-19 ของประชาชน

ปี 2564 เป็นปีที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะการวางแผนรับมือโรคระบาดที่ผิดพลาดของรัฐบาลในเรื่องการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนทำให้จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิดพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดผู้ติดเชื้อรายวันทำสถิติสูงสุดในวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อถึง 23,418 ราย  จนเกินกว่าความสามารถของระบบสาธารณสุขที่จะให้บริการแก่ประชาชน ภาระงานที่หนักเกินกำลังของบุคลากรทางการแพทย์ ในขณะที่ระบบและอุปกรณ์การตรวจคัดกรองการติดเชื้อมีไม่เพียงพอ จำนวนเตียงและเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (ICU) ห้องความดันลบ (Negative Pressure Room)  จำนวนเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยมีไม่เพียงพอ แม้จะมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจำนวนมากขึ้นมาเพิ่มเติม  ส่งผลให้มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจำนวนมาก วันที่ 18 สิงหาคม 2564  เป็นวันที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุด ถึง 312 คน  
ในขณะที่ยังมีประชาชนอีกมากมายเข้าไม่ถึงการตรวจคัดกรองและการรักษา ชุมชนและองค์กรภาคประชาชนหลายองค์กรได้ผันตัวเองมามีบทบาทในการทำงานเพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเป้าหมายในการทำงานได้เข้าถึงบริการสาธารรณสุขในช่วงวิกฤตของโควิด-19 ยกตัวอย่างเช่น 
การที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัมสี่ภาค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พัฒนาแกนนำ สร้างต้นแบบชุมชน 33 ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และปทุมธานี ในการแยกตัวผู้ป่วยโควิดที่บ้านและที่ชุมชน (Home Isolation, Community Isolation) ซึ่งไม่เพียงแต่แยกตัวเพื่อรอการส่งต่อไปยังหน่วยบริการสาธารณสุขเท่านั้น แต่ต่อมาได้พัฒนาเป็นให้การรักษาเมื่อการส่งต่อไปยังหน่วยบริการสาธารณสุขไม่สามารถทำได้ และดูแลในมิติอื่น ๆ ทั้งเรื่องจิตใจ เศรษฐกิจ การทำมาหากิน  ตลอดจนดำเนินการให้ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้เข้าถึงการตรวจคัดกรอง และทำงานร่วมกับชมรมแพทย์ชนบทในการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีการติดเชื้อจำนวน 30 ชุมชน เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนและเข้าสู่กระบวนการรักษา  
การที่มูลนิธิดวงประทีปซึ่งทำงานในพื้นที่ชุมชนคลองเตย โดยการสนับสนุนของสภาองค์กรชุมชน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ทำศูนย์พักคอยซึ่งในที่สุดพัฒนาเป็นพื้นที่รักษาเพราะเหตุที่โรงพยาบาลเตียงเต็ม ศูนย์นี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากถึง 500 คน และการเกิดขึ้นของกลุ่ม “คลองเตยดีจัง" ที่สมาชิกเป็นคนรุ่นใหม่ใช้เทคโนโลยีได้คล่อง เข้ามาทำระบบฐานข้อมูลและการประสานส่งต่อ ตลอดจน"ทีมกู้ภัยชุมชน"
การที่เสมสิกขาลัย มูลนิธิ Bangkok Community Help, โครงการทำดีได้ดี และองค์กรเครือข่ายด้านแรงงานร่วมกันไปตั้งโต๊ะเก็บข้อมูลแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีความประสงค์รับการฉีดวัคซีน และช่วยลดภาระในการกรอกข้อมูลที่แรงงานบางกลุ่มอาจไม่สามารถทำด้วยตนเอง ประสานข้อมูลกับกระทรวงแรงงานและกรมควบคุมโรคเพื่อให้แรงงานกลุ่มนี้ได้รับการจัดสรรและฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
นอกเหนือจากนั้นองค์กรภาคประชาชนอีกหลายองค์กรยังทำงานในมิติของความรู้ เช่น เครือข่ายภาคประชาชน 9 ด้านในระบบหลักประกันสุขภาพในกรุงเทพมหานคร ทำโครงการพัฒนาความรู้ความเข้าใจของคนในชุมชนให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันโควิด-19 ไม่หวาดระแวงหรือรังเกียจผู้ป่วยและผู้หายป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้หายป่วยสามารถอยู่ร่วมกับสังคม สามารถดำเนินชีวิตและกลับสู่การทำงานและการทำมาหากิน
การที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระบบสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศมีส่วนร่วมในการป้องกันและเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ในระดับชุมชน โดยการวิเคราะห์ความเสี่ยงรายบุคคล ให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ค้นหาผู้ติดเชื้อ  ผู้สัมผัสเชื้อเพื่อการควบคุมการแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว แนะนำและกำกับการกักตัวของผู้ที่เดินทางเข้าออกชุมชนให้เป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และการอำนวยความสะดวกให้คนในชุมชนได้รับวัคซีน
มูลนิธิชุมชนไทและภาคีเรือข่ายการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งพัฒนาองค์ความรู้มาจากประสบการณ์ของการเผชิญภัยพิบัติสึนามิ  เมื่อปี 2547 มาใช้ในการวางแผนป้องกันและรับมือโควิด-19 ในระดับชุมชน พัฒนาอาสาสมัครภัยพิบัติในชุมชน สร้างการพึ่งพากันเองในชุมชน สร้างพลังของชุมชน เปลี่ยนจากชุมชนที่ประสบภัยเป็นชุมชนป้องกันภัยและเตรียมพร้อมที่จะรับมือภัยพิบัติ 
ในขณะที่สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ(ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และองค์กรอื่น ๆ ด้านแรงงาน กำลังทำโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้าง ฟื้นฟูอาชีพ และรายได้ของแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และแรงงานนอกระบบกลุ่มต่าง ๆ เช่น ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ผู้ค้าขายในแหล่งท่องเที่ยว ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ช่างแต่งผมเสริมสวย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการบังคับหรือจำกัดการเดินทาง การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการจำกัดการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ (lock down) ของรัฐ ตลอดจนองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนเฉพาะต่าง ๆ ทั้งด้านเกษตร ผู้หญิง คนพิการ เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ แรงงานภาคบริการ ฯลฯ อีกจำนวนมาก ที่ตลอดปี 2564 ต่างก็ทำงานหลายอย่างหลายประการเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายของตนเข้าถึงบริการสาธารณสุข การเยียวยา และการฟื้นฟูทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม คือภาคีหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศ คือพลังอันเข้มแข็งของสังคมไทย ที่ได้แสดงบทบาทที่สำคัญ และโดดเด่นตลอดปี 2564 ในการพาสังคมไทย และกลุ่มเปราะบางในสังคมให้ผ่านพ้นวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ไปให้ได้

7.    ความสำเร็จของสหพันธ์เกษตรภาคใต้ ฟ้องศาลปกครองถอนเอกสารสิทธิในที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ

สหพันธ์เกษตรภาคใต้  เกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกร ที่ไร้ที่ดินมาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อการเคลื่อนไหวและผลักดันนโนบาย กฎหมาย ให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินในพื้นที่สู่เกษตรกรไร้ที่ดิน โดยเริ่มจากเฉพาะกลุ่มเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่ของบริษัท หรือการเช่าที่ดินของบริษัทซึ่งเป็นที่ของรัฐและพยายามผลักดันให้มีการตรวจสอบการครอบครองที่ดินของนายทุนที่ได้รับเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการจัดสรรที่ดินนำมาปฏิรูปที่ดินเหล่านั้นให้นักปกป้องสิทธิในที่ดิน หรือเกษตรกรต่อไป สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ต่อสู้เรื่องที่ดินมาเป็นเวลากว่า 13 ปี โดยการใช้กระบวนการทางศาลในการตรวจสอบและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ ผ่านกระบวนการของศาลปกครอง
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากสหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.) พร้อมทีมทนายความจากสภาทนายความ เข้ารับฟังคำพิพากษาคดีดำที่ ส1373/2556 แดงที่ ส.5/2564 ที่นักปกป้องสิทธิในที่ดินชุมชนสันติพัฒนา รวมตัวกันยื่นฟ้องกรมที่ดิน  อธิบดีกรมที่ดิน คณะกรรมการสอบสวนตาม มาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กรมป่าไม้ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานีสาขาพระแสง และบริษัทน้ำมันปาล์มเอกชนแห่งหนึ่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 ต่อศาลปกครองกลาง  โดยยื่นฟ้องต่อกรมที่ดินขอให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ และการยื่นฟ้องกรมป่าไม้ให้เร่งดำเนินคดีต่อบริษัทน้ำมันปาล์มที่บุกรุกเข้ามาใช้พื้นที่ป่าไม้และให้ออกจากที่ดินดังกล่าวเพื่อให้ภาครัฐนำทรัพยากรที่ดินดังกล่าวไปจัดสรรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนในรูปแบบของโฉนดชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านที่ดิน  
ศาลปกครองได้อ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว โดยมีคำพากษาให้เพิกถอนที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 710, 715, 725, 728, 731, 732, 733, 734, และ น.ส.3 ก. เลขที่ 2013, 2015, 2017, 2034, 2035, 2036, 2037, 2038, และ 2039 จำนวน 7 แปลง จากจำนวนทั้ง 10 แปลง และโฉนดที่ดิน จำนวน 13 แปลง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งสั่งให้กรมป่าไม้ และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาพระแสง ดำเนินการกับบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ออกจากพื้นที่ภายใน 180 วัน นับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด  ส่วนอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ไม่เพิกถอนที่ดินที่ออกโดยมิชอบนั้นศาลเห็นว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
ปัจจุบันสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ที่ต่อสู้เพื่อให้ได้เข้าถึงสิทธิในที่ดิน เดินหน้าผลักดันทั้งระดับนโยบายในระดับประเทศ จังหวัด หรือ ท้องถิ่น เพื่อให้รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดการสรรที่ดินให้เกษตรหรือแรงงานไร้ที่ดินมาโดยตลอด แม้ว่าในกระบวนการต่อสู้จะเกิดการคุกคามในรูปแบบใดก็ตาม สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ก็ไม่หวั่นและยืนหยัดต่อสู้ให้มีการจัดสรรที่ดินในรูปแบบของกรรมสิทธิ์ร่วมเพื่อเกษตรกรหรือแรงงานไร้ที่ดินต่อไป

10 ด้อย(ถดถอย)

ในรอบปี 2564 ประเทศไทยประสพปัญหาการถดถอยด้านสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศไทย และในระดับนานาชาติ การถดถอยนับเป็นจุดด้อยที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขให้ประเทศไทยก้าวข้ามจุดด้อยเหล่านั้นไปให้ได้ เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมอารยะ ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ปราศจากการเลือกปฏิบัติ ขจัดการสร้างความเกลียดชังเพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน จุดด้อย 10 ประการที่จะนำเสนอดังต่อไปนี้เป็นจุดที่ด้อยที่สุดในรอบปี 2564  แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ประเทศไทยยังคงมีจุดด้อยในด้านสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอีกมากมายที่ไม่ได้อยู่ในรายงานฉบับนี้  จุดด้อยทั้ง  10 ประการมีดังต่อไปนี้

1. การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองถูกกำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 ที่รับรองสิทธิของทุกคนในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงเสรีภาพในการแสวงหา รับและสื่อสารข้อมูลและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์   ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก และรัฐต้องละเว้นจากการกำหนดข้อจำกัดที่ไม่สอดคล้องกับกติกาฯ รวมถึงการอภิปรายทางการเมือง หรือกิจกรรมทางการเมือง และการชุมนุมทางการเมืองที่ถือเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก  การชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 44  ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศตามข้อ 20 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 
นอกจากนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ยังได้ระบุไว้ในความเห็นทั่วไป หรือมติของคณะกรรมการที่ 37 ว่าด้วยสิทธิสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ โดยระบุให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทุกรูปแบบ ไม่ว่าการชุมนุมประท้วง การคัดค้าน การประชุม การเดินขบวน การเคลื่อนตัว การยึดพื้นที่ประท้วง การรวมตัวจุดเทียน และแฟลชม็อบ การชุมนุมเหล่านี้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของข้อ 21 ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมอยู่กับที่หรือเป็นการชุมนุมที่มีการเคลื่อนที่ เช่น การเดินขบวนประท้วง  เป็นต้น การชุมนุมถือเป็นเครื่องมือในการทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย 
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอ้างว่าเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวได้ขยายวงกว้างขึ้นในช่วงกลางปี 2564 มีผู้ติดเชื้อหลักหมื่นต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตหลักร้อยในบางวัน รัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  โดยกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร มีการประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิว และห้ามกิจกรรมรวมกลุ่มต่าง ๆ 
แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิดดังกล่าว แต่กระแสการชุมนุมของประชาชนในนามกลุ่มต่าง ๆ ทั้ง“คณะราษฎร” และเครือข่าย “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” “กลุ่มนักเรียนเลว” “กลุ่มทะลุแก๊ส” ก็ยังมีการจัดชุมนุมขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด  ในการชุมนุมใหญ่ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปบ้านพักของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและถูกขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เกิดการปะทะและสลายการชุมนุม และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมรายวันของเยาวชนและประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่เรียกตนเองว่า “กลุ่มทะลุแก๊ส” เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการใช้พลุไฟเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ การชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ ในรอบปี 2564 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมโดยการใช้กฎหมายหลายฉบับ ตั้งแต่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในสถานการณ์โควิด-19 การจับกุมโดยใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์  ใช้มาตรา 116 คือกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต การปราบปรามและสลายการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ด้วยความรุนแรง ทั้งจากแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และการทำร้ายร่างกาย และล่าสุดคือในคืนวันที่ 6 ธันวาคม 2564 มีการสลายการชุมนุมกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา ซึ่งเดินทางมาชุมนุมทวงสัญญาที่รัฐบาลเคยระบุว่าจะยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และแก้ไขผังเมืองเมื่อปีที่แล้ว โดยตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งแถวบนถนนพิษณุโลก แล้วประกาศให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ก่อนเข้าสลายการชุมนุม และเข้าจับกุมบริเวณเต็นท์หน้าประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีการจับกุมตัวผู้ชุมนุมขึ้นรถผู้ต้องขังนำตัวไปควบคุมไว้ โดยไม่มีเหตุผลและมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย
การประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินฯ โดยอ้างว่าเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยสาธารณะ แต่นำมาใช้ควบคุมการชุมนุมและจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมมิให้สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างเสรีย่อมเป็นการขัดแย้งต่อเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า พันธกรณีในการเคารพและประกันสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ก่อหน้าที่แก่รัฐที่ต้องกระทำหรือละเว้นการกระทำ ทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการชุมนุม หน้าที่ในการละเว้นการกระทำหมายรวมถึงหน้าที่ในการไม่เข้าไปแทรกแซงการชุมนุมโดยสงบโดยมิชอบ ยกตัวอย่างเช่น รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องไม่ห้าม จำกัด ขัดขวาง สลาย หรือรบกวนการชุมนุมโดยสงบโดยปราศจากเหตุอันควร และจะต้องไม่ลงโทษผู้เข้าร่วมการชุมนุม หรือผู้จัดการชุมนุมโดยปราศจากเหตุที่ชอบธรรมด้วยกฎหมาย 
ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เฉพาะเหตุการณ์การชุมนุมตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 จนถึง 30 ตุลาคม 2564 มีไม่น้อยกว่า 753 ราย (บางรายถูกจับกุมมากกว่า 1 ครั้ง) แบ่งเป็นผู้ใหญ่อย่างน้อย 531 ราย เยาวชนอายุ 15-18 ปี อย่างน้อย 176 ราย เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างน้อย 46 ราย มีประชาชนผู้ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ชุมนุมไม่น้อยกว่า 226 ราย  และเสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย รายแรกเกิดจากการขับรถชนตู้คอนเทนเนอร์ที่เจ้าหน้าที่ตั้งไว้สกัดผู้ชุมนุมในช่วงกลางดึก  และรายที่ 2 เยาวชนอายุ 15 ปี เสียชีวิตหลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนานกว่าสองเดือน จากการถูกยิงบริเวณศีรษะ กระสุนฝังบริเวณไขสันหลังส่วนบน หน้า สน.ดินแดง เมื่อคืนวันที่ 16 สิงหาคม 2564 
กล่าวโดยสรุปนับแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ มีการจับกุมดำเนินคดีต่อการชุมนุมทางการเมือง.     โดยสงบ ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่น้อยกว่า 1,337 คน ในจำนวน 553 คดีแล้ว  มีการดำเนินคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับประชาชนในปี 2564 มากกว่า 140 คดี และแนวโน้มการดำเนินคดีที่กระจายไปในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีคดีเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีคำสั่งฟ้องคดีขึ้นสู่ชั้นศาลอย่างต่อเนื่อง 
การสลายการชุมนุมทางการเมืองในปี 2564 เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง และไม่ได้สัดส่วนกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมื่อง และขัดต่อหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังบังคับและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles on the Use of Force and Firearms) และ ประมวลระเบียบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials)  อีกทั้งการจับกุมดำเนินคดีแบบเหวี่ยงแหที่มีการจับกุมผู้สื่อข่าวที่ไปทำข่าวการชุมนุมหลายคนโดยอ้างข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเรื่องการห้ามออกนอกบ้านในยามวิกาล การทำร้ายผู้ชุมนุมและการทำลายทรัพย์สินของประชาชนในบริเวณที่มีการชุมนุมแยกดินแดง และการจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมและแจ้งข้อหา ตามมาตรา 112 โดยศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หรืออนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขที่ขัดต่อหลักฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น นับเป็นการถดถอยในด้านสิทธิเสรีภาพและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในปี 2564 

2.    การหลีกเลี่ยงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในสาระสำคัญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นผลพวงของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อมา คสช. ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในระหว่าง พ.ศ. 2557 – 2560 โดย กรธ. ถูกสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหลายครั้งจนถูกใจ คสช. ก่อนนำร่างฯออกให้ประชาชนลงประชามติ แม้จะผ่านประชามติ แต่ก็ยังมีข้อครหาว่าเป็นประชามติที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม เพราะปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น จับกุม คุมขัง และดำเนินคดีกับอีกฝ่ายที่แสดงความคิดเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจน คสช.ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่ตนพอใจ สุดท้ายประเทศไทยได้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 20 ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน 
ที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเห็นเป็นประจักษ์ว่าไม่ชอบธรรม มีข้อครหาถึงความไม่โปร่งใสและไร้การมีส่วนร่วมของประชาชน แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะเปิดทางให้มีการแก้ไขได้ แต่การแก้ไขเป็นไปด้วยความยากลำบาก กล่าวคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้แม้จะได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากของรัฐสภาแล้วยังคงไม่เพียงพอ ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วยอย่างน้อย 1 ใน 3 จากจำนวน สว.ทั้งสิ้น 250 คน กล่าวคือต้องมี สว.อย่างน้อย 84 คนที่เห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมา สว. ล้วนลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านและภาคประชาสังคมเป็นผู้เสนอ
หากมองกลับไปยังที่มาของ สว.250 คน ไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา ซึ่งหัวหน้าคณะกรรมการสรรหาก็คือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา สว.ขึ้นมา คณะกรรมการสรรหา สว. ได้แต่งตั้งญาติ พี่น้อง ครอบครัวตัวเองเป็น สว. หลายคน รวมทั้งแต่งตั้งตัวเองเป็น สว. ด้วย ต่อมา สว.ทั้ง 250 ต่างพร้อมใจกันเลือกพลเอกประยุทธ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี 
ในปี 2564 มีความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ   3 ครั้ง ครั้งแรกถูกลงมติคว่ำกลางสภาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ระหว่างพิจารณาในวาระที่ 3 ครั้งที่ 2 มีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใหม่อีก 13 ฉบับ ซึ่งเป็นการเสนอแก้ไขรายประเด็น แต่มีเพียงร่างเดียวที่มีหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้าของร่างผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ในวาระที่ 3 และครั้งที่ 3 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 135,247 คน เป็นผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็น คือ (1) ยกเลิกวุฒิสภา ใช้ระบบสภาเดียว (2) ปฏิรูปที่มา อำนาจหน้าที่ การตรวจสอบถ่วงดุลของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ (3) ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ (4) ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร โดยเนื้อหาทั้งหมดของร่างนี้เป็นการปลดโซ่ตรวนจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และจะป้องกันการรัฐประหารที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตด้วย  โดยเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ 2564  ผลการลงประชามติ ถูกคว่ำตั้งแต่วาระแรก
จึงเห็นได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นไปได้ยากมาก ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือรายประเด็นหากไม่เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีต้องการล้วนไม่ได้รับความเห็นชอบ จาก สว. ประหนึ่งว่า สว. คือผู้พิทักษ์รัฐบาลถ่วงดุลอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและ สส.ฝ่ายค้าน ซึ่งเห็นเป็นประจักษ์หลายครั้งผ่านการประชุมสภาที่ผ่านมา
การหลีกเลี่ยงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในสาระสำคัญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องที่ถดถอย เพราะมี  สว. 250 คนที่เป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ มุ่งแต่การปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ปกป้องรัฐบาล ถ่วงดุลฝ่ายค้านไม่เคารพ และไม่รับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง  

3. ความล่าช้าของการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม 

เป็นเวลาเกือบห้าปีที่รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรยังไม่สามารถทำให้การปฏิรูปตำรวจประสบความสำเร็จตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ปฏิรูปตำรวจภายในหนึ่งปีนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยมีหลายประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไข  การหยิบยกเรื่องการปฏิรูปองค์กรตำรวจเข้าสู่การพิจารณา มีความคืบหน้าบ้างก็คือ ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เสนอต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 และที่ประชุมร่วมของรัฐสภาได้พิจารณาและลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 46 คน พิจารณาในวาระที่สองหรือในชั้นคณะกรรมาธิการฯ มีทั้งหมด 172 มาตรา
เนื่องจากเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ การพิจารณาจึงแตกต่างจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปกติ คือเป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. คือ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะพิจารณา 3 วาระ วาระแรกคือวาระรับหลักการ วาระที่สองคือการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการ และวาระที่สามจะเป็นการลงมติเห็นชอบหรือไม่นั้น เป็นขั้นตอนวิธีการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ และเมื่อกรรมาธิการฯนำเข้าสู่การพิจารณารายมาตราของสภาร่วมอีกครั้ง ไม่ทราบว่าจะมีการแก้ไขเนื้อหาที่สนองความต้องการของตำรวจ หรือเพื่อเป็นกฎหมายที่ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน 
แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ร่าง พรบ. ตำรวจแห่งชาติฉบับนี้เป็นเพียงปรับเปลี่ยนองค์กรตำรวจเท่านั้น ที่ไม่ใช้การปฏิรูปตำรวจทั้งมวล ยังไม่มีการพิจารณาอีกหลายประเด็นที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560  มาตรา 248 (ง) และมาตรา 259 ซึ่งกำหนดเนื้อหาสาระสำคัญครอบคลุมถึงการปรับเปลี่ยนงานสอบสวนที่ต้องเปิดทางให้อัยการ นิติวิทยาศาสตร์ เข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวน และยังไม่มีการพูดถึงการกระจายอำนาจตามที่สมาคมสิทธิเสรีภาพกับเครือข่ายฯ เรียกร้องไปตั้งแต่ปีที่แล้ว
หัวใจสำคัญของการสร้างความยุติธรรมให้ประชาชนอย่างแท้จริงจำเป็นต้องพิจารณาคู่ขนานไปกับการผ่านร่าง พรบ.ตำรวจแห่งชาตินั้น คือต้องนำร่าง พรบ. สอบสวน มาพิจารณาด้วย เพื่อให้งานสอบสวนมีความเป็นอิสระ มีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยอัยการในคดีอาญา หรือจะหาทางแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามที่หลายฝ่ายเสนอ ก็ต้องเดินหน้าเร่งพิจารณาแก้ไขโดยเร็ว
ความล่าช้าในการปฏิรูปเฉพาะด้าน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ คนไทยและต่างชาติที่พำนักในไทยต้องทนทุกข์ทรมาน เกิดการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน เสรีภาพ รายวัน  จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ผู้ต้องหาถูก พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล (ผู้กำกับโจ้) ซ้อมทรมานจนเสียชีวิตอีกรายหนึ่ง ที่ สภ. เมืองนครสวรรค์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 มีภาพปรากฏการกระทำชัดเจนเห็นความทารุณโหดร้ายยืนยันว่ามีการซ้อมทรมานจนเสียชีวิตและพยายามช่วยเหลือปกปิดกันในวงการตำรวจจริง สร้างความสั่นคลอนต่อวงการตำรวจครั้งใหญ่ จึงไม่มีใครปฏิเสธอีกแล้วว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องทำการปฏิรูปตำรวจอย่างเร่งด่วนได้แล้ว
เพื่อให้การปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นทั้งองคาพยพ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และเครือข่ายฯ ได้เสนอสิ่งที่ควรปฏิรูป 22 ประเด็นดังที่เคยเผยแพร่ไปแล้ว การผลักดันให้แก้ไขในทุกมิติบนเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเท่านั้น ถึงจะถือว่าเป็นการปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริง

4. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญลดทอนคุณค่าของการอุปโภคสิทธิเสรีภาพ 

ในรอบปี 2564 มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ที่ถือว่าเป็นลดทอนคุณค่าของการอุปโภคสิทธิเสรีภาพของประชาชน (enjoyment of rights) และส่งผลเป็นการจำกัดการเข้าถึงสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติ  นั่นคือคำวินิจฉัยที่ 19/2564 ที่ว่าการปราศรัยของอานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เมื่อวันที่ 3 และ 10 สิงหาคม 2563 ในการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเสนอข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จำนวน 10 ข้อนั้น เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และคำวินิจฉัยที่ 20/2564 ที่ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งอนุญาตให้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้นสมรสกันได้ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อแนะนำให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเหมาะสมต่อไป 
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเห็นว่า คำปราศรัย ที่เสนอข้อเสนอ  ข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จำนวน 10 ข้อนั้น เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกตามที่ได้รับความคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 34 ที่ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น อันสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ที่มุ่งคุ้มครองบุคคลทุกคนให้สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการสื่อความหมายด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตาม โดยปราศจากการแทรกแซง สิทธิเสรีภาพนี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน               
การที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นว่าการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มีเจตนาที่จะต้องการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวมิใช่เป็นการใช้เสรีภาพโดยสุจริตหากเป็นไปโดยมีเจตนาซ่อนเร้น ทั้งยังเป็นการกระทำที่เป็นการใช้ความรุนแรงข่มขู่บังคับต่อบุคคลอื่น  แต่ไม่ปรากฏข้อความใดในคำวินิจฉัยที่ชี้แจงเหตุผลให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนถึงการกระทำว่ามีเจตนาซ่อนเร้นอย่างไร มีการข่มขู่ใคร อย่างไร เมื่อใด คำวินิจฉัยมีลักษณะเป็นการให้เหตุผลอย่างคลุมเครือ และหากพิจารณาถึงข้อเรียกร้องที่ปรากฏต่อสาธารณะก็เป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างเปิดเผย เช่น มีข้อเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่ไม่มีการเสนอถึงการยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองให้เป็นรูปแบบอื่นแต่อย่างใด 
ทั้งนี้นักวิชาการ นักกฎหมาย และภาคประชาสังคมก็มีความเห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก เป็นการปิดปากมิให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง คำวินิจฉัยนี้ขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและไม่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจะเป็นการสร้างความขัดแย้งในสังคมไทยให้แผ่ขยายและรุนแรงมากขึ้น 

5. กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 ซึ่งอนุญาตให้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้นที่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ซึ่งว่าด้วยสิทธิเสรีภาพใดที่ไม่มีข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ว่าด้วยห้ามการตรากฎหมายเฉพาะเจาะจงเพื่อใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง และมาตรา 27 ที่ว่าด้วยความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างเพศ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1448 มิได้เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และไม่ได้มีข้อความจำกัดสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ  ในการทำนิติกรรมใด ๆ ตามกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของคำวินิจฉัยดังกล่าวพอสรุปได้ว่า   ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าสมรสหมายถึงการที่ชายและหญิงตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความสมัครใจ มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ มีความผูกพันช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน การสมรสมีที่มาจากจารีตประเพณีภายใต้ศีลธรรม หลักศาสนา และกฎหมายของแต่ละสังคม กฎหมายจะบังคับใช้ได้ยั่งยืนต้องเป็นที่ยอมรับและไม่ขัดกับความรู้สึกของคนในประเทศนั้น ๆ ในเรื่องการสมรสตามจารีตประเพณี วิถีสังคมไทยตลอดจนแนวทางปฏิบัติและการตีความกฎหมายของประเทศไทยมีความเชื่อถือสืบต่อกันมาว่าการสมรสสามารถกระทำได้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและจารีตประเพณีที่มีมาช้านาน
นอกจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ยังแสดงความเห็นและให้ข้อมูลว่า มาตรา 1448 ไม่ได้ห้ามกลุ่มเพศหลากหลายอยู่กินกัน มิได้บังคับให้ชายหญิงทุกคู่ต้องสมรสกัน บุคคลมีเสรีภาพที่จะเลือกอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ต้องทำตามแบบของกฎหมาย ดังนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 จึงไม่ได้จำกัดเสรีภาพของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในการอยู่ร่วมกันและมิได้มีข้อความไปจำกัดสิทธิของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในการทำนิติกรรมใด ๆ ตามกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และข้อห่วงใยอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเพศแต่เน้นไปที่การไม่เห็นว่าเพศสภาพก็เป็นบุคคลตามกฎหมาย เช่น กฎหมายต้องกำหนดเพศชายและหญิง ให้ชายหญิงเสมอภาคกัน แต่ไม่เหมือนกัน นัยความหมายของความเสมอภาคระหว่างชายกับหญิงมิใช่การบัญญัติกฎหมายให้ชายเป็นหญิงหรือให้หญิงเป็นชายเพราะเพศนั้นเป็นการแบ่งแยกมาโดยธรรมชาติ (an act of God) ซึ่งเพศที่ถือกำเนิดมานั้นเลือกไม่ได้ รัฐไม่เสียเวลาพิสูจน์ความถูกต้องของการเบิกค่าใช้จ่ายหากมีการเบิกค่าใช้จ่ายที่คู่ชีวิตเพศเดียวกันต้องเบิกค่ารักษาพยาบาลในโรคที่ไม่เกี่ยวกับเพศสภาพของตน หรือความเสี่ยงหากเปิดช่องจดทะเบียนสมรสเพื่อหวังสวัสดิการของรัฐ เพราะจดทะเบียนสมรสกันหลอก ๆ โดยหวังประโยชน์จากข้อกฎหมายการเป็นคู่สมรส หรือกฎหมายปัจจุบันไม่ห้ามคู่รักที่เป็น LGBTQI+ ทำพินัยกรรมหรือการมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สิน และควรออกกฎหมายเฉพาะเพื่อรองรับสิทธิ LGBTQI+ เป็นต้น
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการตีความรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 เรื่องความเสมอภาคไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักการว่าด้วยความเสมอภาค อันมีผลทำให้หลักความเสมอภาคระหว่างเพศมีความสับสน ไม่ยอมรับความเป็นบุคคลที่มีเพศกำเนิดแตกต่างจากเพศสภาพที่ตนเลือกและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 27 เนื่องจากมาตรา 27 ใช้คำว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ดังนั้นโดยความหมายนี้ที่ใดที่บัญญัติว่า ชายและหญิง ต้องตีความให้หมายถึงบุคคล หรือมนุษย์ที่มีเพศตรงตามเพศกำเนิดตามธรรมชาติและรวมถึงมนุษย์ที่เป็นบุคคลโดยเพศกำเนิดแตกต่างจากเพศสภาพด้วย ในเมื่อผู้มีเพศหญิงหรือชาย หรือมีเพศสภาพแตกต่างจากเพศกำเนิดย่อมถือเป็นบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การสมรสที่ไม่ว่าจะเป็นระหว่างชายและหญิงหรือคนที่เป็นเพศเดียวกันแต่มีความสมัครรักใคร่และตกลงใจใช้ชีวิตคู่ในนามของการสมรสที่ถูกกฎหมาย ก็ควรได้รับความคุ้มครองให้สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ ตามหลักความเสมอภาคในฐานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย มิเช่นนั้นบุคคลที่มีเพศกำเนิดแตกต่างจากเพศสภาพทุกคนจะไม่สามารถมีตัวตนหรือได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกแห่งหน ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ และขัดต่อสิทธิมนุษยชนที่บัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 6 และข้อ 16 สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว 
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เห็นว่า การตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ ควรพิจารณาให้เป็นการตีความที่เกิดประโยชน์หรือเป็นผลบวกในการอุปโภคสิทธิ (enjoyment of rights)  ของบุคคลทุกคนและกลุ่มบุคคลมากกว่าการตีความไปในทางจำกัดหรือกีดกันการเข้าถึงสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมข้อ 13 ที่รัฐต้องให้ความคุ้มครองและช่วยเหลืออย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ และในสถานการณ์ปัจจุบันที่ความเสมอภาคระหว่างเพศมีการยอมรับกันโดยทั่วไปว่า มนุษย์หรือบุคคลมีมากกว่าเพศหญิงและชายและขณะนี้มีจำนวน 30 ประเทศได้ยอมรับให้มีการจดทะเบียนสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน  ตัวอย่างประเทศในยุโรปเช่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม นอร์เวย์ และสวีเดนและในเอเชีย เช่น ไต้หวัน เป็นต้น 
กล่าวโดยสรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ ควรยึดหลักการในการตีความให้ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิได้โดยง่ายและได้รับประโยชน์ในการอุปโภคสิทธิ (enjoyment of rights) มากกว่าการตีความไปในทางจำกัดสิทธิหรือกีดกันการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่อยู่ในประเทศ

5. การซ้อมทรมานของ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล (ผู้กำกับโจ้) ผลพวงของพระราชบัญญัติฯที่ขาดหาย

ปี 2564 เป็นปีที่มีการพูดถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในทางลบมากที่สุด เนื่องจากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อประชาชนทั้งในและนอกห้องขังเป็นภาพปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง กรณีที่น่าอดสู โด่งดังที่สุดแห่งปี คือคดีของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 6 นาย กระทำการซ้อมทรมาน ผู้ต้องหาค้ายาเสพติด ใช้ถุงดำครอบหัวจนขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่มีการแจ้งกับแพทย์ประจำโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ว่า ผู้ต้องหาที่เสียชีวิตเสพยาเสพติดเกินขนาด แพทย์นิติเวช ทำบันทึกสาเหตุการตาย ในหนังสือรับรองการตาย ระบุว่า “สันนิษฐานว่า พิษจากสารแอมเฟตามีน” มีคลิปเหตุการณ์ซ้อมทรมานผู้ต้องหาภายในห้องทำงานของตำรวจเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 เห็นพฤติกรรมของกลุ่มตำรวจที่ร่วมกระทำความผิด ยืนยันให้คนไทยทั้งประเทศเห็นว่าการซ้อมทรมานของตำรวจและมีเจ้าหน้าที่รัฐช่วยกันปกปิดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่กล่าวหากันลอย ๆ สังคมเห็นชัดถึงการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ชีวิตผู้คนอยู่ในเงื้อมมือของตำรวจมากเกินไป จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยโดยเร่งด่วน 
กรณีดังกล่าวได้เพิ่มกระแสกดดันจากคนในสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน และจากการรณรงค์ต่อเนื่องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้รัฐบาลต้องเร่งนำเอา ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่เสนอไว้แล้ว ขึ้นมาพิจารณาโดยเร็ว จนกระทั่งวันที่ 16 กันยายน 2564  สภาผู้แทนราษฎร มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติวาระที่ 1 ด้วยเสียงเห็นชอบ 368 เสียง โดยก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังกล่าวชุดหนึ่งที่มีตัวแทนภาคประชาสังคม นักวิชาการ เข้าไปด้วย ถ้าหากผ่านขั้นตอนทั้งสามวาระนี้แล้ว ก็จะนำร่างฯ เข้าสู่การพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้
สาระสำคัญร่างกฎหมายนี้ คือการมุ่งเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ซ้อมทรมานและอุ้มผู้อื่น เป็นความผิดอาญาร้ายแรงมีโทษสูง เมื่อเกิดเหตุให้ทำการไต่สวนโดยพลัน เปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้มีสิทธิร้องต่อศาล ให้ผู้บังคับบัญชาที่ละเลยไม่ระงับหรือป้องกันการทรมานหรืออุ้มหายมีความผิดด้วย เป็นคดีพิเศษที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน โดยให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นผู้พิจารณาคดี และตั้งกรรมการขึ้นมาติดตามอีกชุดหนึ่ง
ที่ผ่านมา ทางองค์การสหประชาชาติ ได้จัดทำ “อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี” และ “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ” ประเทศไทยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาทั้งสองฉบับเมื่อปี 2550 และปี 2555 ตามลำดับ และไทยมีพันธะผูกพันที่จะต้องตรากฎหมายภายในประเทศ เพื่อนำพันธกรณีที่มีอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศทั้งสองฉบับมาปฏิบัติ โดยกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และองค์การสหประชาชาติ ได้กระตุ้นเตือนให้รัฐบาลไทยรีบออกกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหาย ขึ้นมาบังคับใช้โดยเร็ว 
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เห็นว่า การซ้อมทรมาน การอุ้มหาย ในประเทศไทยมีอีกมากมาย เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน ล้าหลัง จนต้องหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นแห่งปี เพราะยังไม่สามารถหาผู้กระทำผิดในคดีก่อนหน้านี้ มาลงโทษได้แม้แต่คดีเดียว ผู้ที่หายสาบสูญและญาติยังคงตามหา ต้องติดตามคดีอย่างโดดเดี่ยว ผู้ที่ถูกทรมานโดยตำรวจและทหารยังเป็นการปฏิบัติที่สืบต่อกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรม รวมทั้งความพยายามของกรรมาธิการบางคนที่ไม่ต้องการให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้โดยมีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมสมบูรณ์นั้นมีแต่จะทำให้ประชาชนไทยและชาวต่างชาติอีกจำนวนมากไม่ได้รับความเป็นธรรม เกิดการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และเสียชื่อเสียงประเทศชาติ 

6.    การละเมิดสิทธิชุมชนดั้งเดิม กรณีชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน

ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่กลางป่าแก่งกระจาน ไม่ต่ำกว่า 100 ปี ดังที่ปรากฎหลักฐานแผนที่ของกรมแผนที่ทหารบกปี 2455 ต่อมาพื้นที่อยู่อาศัยและทำไร่หมุนเวียนชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในปี 2524 ตามมาด้วยการเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านอพยพมาอยู่ที่บ้านโป่งลึกในปี 2539 จำนวน 57 ครอบครัว โดยเจ้าหน้าที่อุทยานสัญญาว่าจะจัดที่ดินให้ แต่ชาวบ้านกลับพบว่าที่ดินดังกล่าวบางส่วนไม่สามารถทำกินได้เพราะมีสภาพเป็นหิน ชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่งจึงกลับคืนไปยังถิ่นฐานเดิม และเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังบังคับกวาดต้อนลงมาในปี 2553-2554 พร้อมกับการเผาที่พักและยุ้งข้าวของชาวบ้าน รวมถึงการอุ้มหายบิลลี่ แกนนำชาวกะเหรี่ยง และการลอบสังหารผู้ที่ช่วยเหลือชาวบ้าน
นับจากนั้น ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เป็นเวลากว่า 20 ปีที่พวกเขาต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดด้วยการออกไปรับจ้างแรงงาน กระทั่งเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อไม่มีงานทำ ไม่มีเงินซื้อข้าวและอาหาร ในเดือนมกราคม 2564 ชาวบ้านจำนวน 36 ครอบครัวจึงตัดสินใจกลับไปยังผืนดินเดิมเพื่อทำไร่หมุนเวียน ต่อมาพวกเขาได้ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกถางป่า จำนวน 30 ราย ในจำนวนนี้มีหลายครอบครัวที่ถูกดำเนินคดีทั้งสามีและภรรยาในขณะที่มีลูกเล็ก ชาวบ้านจำนวนมากล้มป่วย แม่และเด็กตกอยู่ในภาวะขาดสารอาหารรุนแรง และมีชีวิตรอดอยู่ได้ด้วยอาหารที่มาจากการบริจาค
การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต่อชาวกะเหรี่ยงบางกลอยกลายเป็นประเด็นในสังคมไทย ตอบรับต่อกระแส “#saveบางกลอย ชาติพันธุ์ก็คือคน” ของภาคีเซฟบางกลอย มีผลให้ชาวบ้านได้รับการประกันตัวโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ในวันที่ออกจากเรือนจำชาวบ้านได้เดินทางมาชุมชนที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลร่วมกับ P-MOVE เป็นผลให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาชาวกะเหรี่ยงบางกลอย แต่การทำงานของคณะกรรมการกลับถูกขัดขวางทุกวิถีทางจากฝ่ายกรมอุทยานเพื่อไม่ให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยได้กลับไปยังแผ่นดินเกิด พร้อมกับการขอขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก
การกระทำของรัฐต่อชาวกะเหรี่ยงบางกลอยคือการละเมิดสิทธิที่จะอยู่อาศัยและทำกินในแผ่นดินเกิด สิทธิที่จะดำรงวิถีชีวิต สืบทอดวัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิม และชาวกะเหรี่ยงบางกลอยยังคงเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเป็นธรรม และยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด พวกเขาเพียงกลับไปยังที่ที่เป็นบ้านของพวกเขาเท่านั้น

7.    การไร้ประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติ 

ในรอบปี 2564 การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทยไร้ประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่งจนทำให้ประเทศไทยถูกลดอันดับการค้ามนุษย์จาก Tier 2 เป็น Tier 2 Watch List หรือประเทศที่ต้องจับตามอง เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้พยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ให้ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ รัฐบาลสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ค้ามนุษย์ ดำเนินคดีผู้ต้องสงสัย และลงโทษผู้กระทำผิดน้อยลง แม้จะมีรายงานเป็นที่รับรู้ทั่วไปว่ายังคงมีการบังคับใช้แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมหลายประเภทในไทย แต่รัฐบาลกลับรายงานตัวเลขการค้าแรงงานข้ามชาติต่ำกว่าขอบเขตของปัญหา และบริการของรัฐที่จัดเตรียมให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ก็ยังไม่เพียงพอ เหยื่อการค้ามนุษย์ที่ต้องอาศัยอยู่ในสถานที่พักพิงของรัฐก็ถูกจำกัดการเดินทางและการสื่อสาร  เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ยังคงประสบปัญหาไม่สามารถคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของรัฐยังคงมีปัญหาในการดูแลผู้เสียหายในด้านการเยียวยาจิตใจ ขาดล่ามแปลภาษาเพื่อใช้สื่อสารกับผู้เสียหาย
นอกจากปัญหาการค้ามนุษย์ ประเทศไทยมีปัญหาการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติโดยการนำพาให้หลบหนีเข้าเมืองซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ให้เข้ามาทำงานในประเทศ  สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 มีผู้หลบหนีเข้าเมืองรวมทั้งสิ้น 15,035 ราย โดยในเดือนกรกฎาคม 2,221 ราย สิงหาคม 2,476 ราย กันยายน 3,276 ราย ตุลาคม 3,229 รายและในช่วงวันที่ 1- 7 พฤศจิกายน หลังเปิดประเทศเพียง 7 วัน จำนวน 3,833 ราย “ช่องทางธรรมชาติ” เป็นจุดลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยมีผู้รับจ้างนำพาแรงงานต่างชาติหลบหนีเข้าเมือง และขบวนการค้ามนุษย์อยู่เบื้องหลัง  รัฐบาลไทยทราบดีว่ามีการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติที่พบบ่อยคือ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอสังขละ จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง และอำเภออรัญญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เหยื่อการค้ามนุษย์ต้องจ่ายเงินให้กับผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองรายละ 18,000 – 25,000 บาท  รัฐบาลทำได้เพียงจับกุมแรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้าเมืองและผลักดันกลับประเทศต้นทาง แต่ยังไม่สามารถปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ที่อยู่เบื้องหลังได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 
การไร้ประสิทธิภาพในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์และขบวนการนำพาคนหลบหนีเข้าเมืองเช่นนี้ ไม่เป็นไปตามอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (United Nations Convention against Transnational Organized Crime (UNTOC)) ที่ประเทศไทยลงนามเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2543 และพิธีสารว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน (The Smuggling Protocol) ที่ประเทศไทยลงนามเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544
หากรัฐบาลไทยยังคงไม่มีประสิทธิภาพในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์และการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติ เช่นนี้ ก็มีแนวโน้มว่าในปีต่อไปประเทศไทยจะถูกลดระดับให้ต่ำสุดลงไปอีกเป็น Tier 3  ซึ่งประเทศไทยเคยถูกจัดให้อยู่ระดับนี้มาแล้วในปี 2557 และ 2558 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ยังต้องใช้แรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบมาก อีกทั้งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยตกต่ำมากในระดับนานาชาติ 

8.    ความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence)

จากปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไม่มีมาตรการชัดเจนรองรับสถานการณ์ความรุนแรงในบ้านและนอกบ้านทั้งที่ทราบดีว่าสภาวการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด – 19 ที่ส่งสัญญาณตั้งแต่ปีที่แล้ว การจำกัดให้อยู่ในพื้นที่แคบ ๆ นาน ๆ บนความเครียดจากเศรษฐกิจถดถอยอันยาวนาน จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงต่อเพศหญิง เด็ก และเยาวชน คนชรา คนพิการ กลุ่มหลากหลายทางเพศ และกลุ่มชาติพันธุ์ การถูกคุกคามทางเพศ และถูกเลือกปฏิบัติ  ถือเป็นความรุนแรงทั้งสิ้น และเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่มีความรุนแรงหลายระดับ ทั้งด้วยวาจา ทำร้ายจิตใจ การทำร้ายร่างกาย เป็นการกระทำต่อผู้บังเกิดเกล้า ต่อคู่รัก เพื่อนร่วมงาน เพื่อนในสถานศึกษา ครูกับนักเรียน ที่ทำให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรี ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว รู้สึกว่าไม่มีคุณค่า ต่ำต้อย ด้อยกว่าผู้อื่น ในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวยิ่งขยายวงกว้างขึ้น จากข้อมูลของ ศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พบว่า ความรุนแรงในครอบครัว ในปีงบประมาณ 2564 มีจำนวนมากกว่าทุกปีคือ 2,177 ราย เพิ่มมากกว่าปี 2563 ซึ่งมี 1,866 ราย (ไม่รวมผู้ที่ร้องเรียนไปยังองค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรสตรี บ้านพักฉุกเฉินต่าง ๆ ในประเทศไทย และไม่รวมครอบครัวที่ไม่มีการร้องเรียน) ความรุนแรง 81 %  ได้ส่งผลต่อความปลอดภัยของสตรีอย่างมาก
รูปแบบความรุนแรง 64 % เป็นความรุนแรงทางร่างกาย 32 % เป็นความรุนแรงทางจิตใจ  และ 4 % เป็นความรุนแรงทางเพศ จากผลสำรวจสุขภาพผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวช่วงสถานการณ์โควิด -19 ขององค์การอนามัยโลกตั้งแต่ปี 2563 พบสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว 4 ปัจจัย ได้แก่ (1) คนในครอบครัวต้องอาศัยอยู่กับผู้กระทำ ความรุนแรงมากขึ้น (2) เกิดความเครียดสะสมในครอบครัวจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ (3) การเว้นระยะห่างทางสังคม จากญาติ พี่น้อง เพื่อน คนรู้จัก และ (4) ผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือเมื่อถูกละเมิด อีกทั้งการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นไปได้ไม่เต็มที่  
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถือว่าการที่เจ้าหน้าที่รัฐและคนในชุมชนไม่เข้าแทรกแซงยุติความรุนแรงแต่เริ่มแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับเรื่องร้องเรียน ไม่รับแจ้งความ หรือลงไปช่วยเหลือ ตักเตือน จึงทำให้ความรุนแรงกลายเป็นปัญหาความรุนแรงที่เกินจะเยียวยา  ส่งผลให้คนจำนวนไม่น้อยต้องเสียสุขภาพจิต ชุมชนอ่อนแอ หลายคนถูกกระทำจนร่างกายพิการ เสียชีวิต หรือเป็นที่มาของความท้อแท้ ไร้ที่พึ่ง หาทางออกไม่ได้ คิดฆ่าตัวตาย ซึ่งปีนี้มีข่าวการฆ่าตัวตายมากจนน่าตกใจ ปัญหาดังกล่าวนี้จึงถือเป็นความถดถอยของสิทธิมนุษยชนไทยในปี 2564 

9.    ร่างกฎหมายการดำเนินการขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. .....

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ....ที่ยกร่างโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตามคำสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยศึกษาจากกฎหมายของประเทศ อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น รัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย อิหร่าน เคนยา และกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการปกครองโดยระบบอำนาจนิยม หรือเป็นประเทศมิได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการปกครองโดยระบบอำนาจนิยม หรือเป็นประเทศที่มิได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นแนวทางในการจัดทำและเสนอหลักการของร่างกฎหมาย เป็นการขัดหลักรัฐธรรมนูญของไทยและหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีในหลายหลักการ ดังนี้ 
ประการแรก บังคับใช้กับองค์กรภาคสังคมสามประเภทคือ สมาคมและมูลนิธิ  องค์กรที่จดทะเบียนกับกฎหมายอื่น องค์กรที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มบุคคล 
ประการที่สอง การบังคับให้องค์กรที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มบุคคลต้องจดแจ้งกับกรมการปกครองตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีมหาดไทยกำหนด หากไม่จดแจ้งกับกรมการปกครองก็ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมภายในราชอาณาจักร
ประการที่สาม องค์กรที่เป็นมูลนิธิ สมาคม และองค์กรที่จดทะเบียนหรือจดแจ้งกับกฎหมายอื่นไม่ต้องจดแจ้งกับกรมการปกครอง แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีมหาดไทยกำหนด
ประการที่สี่ บังคับให้เปิดเผยแหล่งที่มาและจำนวนของเงินหรือทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละปีต่อกรมการปกครองตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีมหาดไทยกำหนด และเสนอรายงานการสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตต่ออธิบดีกรมการปกครองภายในหกสิบวันนับตั้งแต่วันสิ้นปีบัญชีของแต่ละองค์กร ยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ตามแบบกรมสรรพากร
ประการที่ห้า บังคับให้องค์กรภาคสังคมที่รับเงินหรือทรัพย์สินจากต่างประเทศมาดำเนินกิจกรรมในราชอาณาจักรได้เฉพาะกิจกรรมที่รัฐมนตรีมหาดไทยกำหนด และต้องรายงานผลการรับและใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สิน รวมถึงกิจกรรมที่ทำในแต่ละปีต่ออธิบดีกรมการปกครอง
ประการที่หก การให้อำนาจกรมการปกครองเข้าไปในสถานประกอบการขององค์กรภาคสังคมเพื่อตรวจสอบการดำเนินการใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินหรือการดำเนินกิจกรรม รวมทั้งให้มีอำนาจตรวจสอบและทำสำเนาข้อมูลจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์ขององค์กรได้
ประการที่เจ็ด ให้อำนาจกรมการปกครองเพิกถอนการจดแจ้งในกรณีไม่ทำตามกฎการจดแจ้งของรัฐมนตรี ไม่เปิดเผยแหล่งที่มาและจำนวนเงิน ไม่ยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ ไม่ให้เข้าสถานที่หรือไม่ให้สำเนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จัดตั้งสาขาโดยไม่จดแจ้ง ไม่เสนอรายงานการสอบบัญชี  
ประการที่แปด การให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจยกเว้นให้องค์กรภาคสังคมองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่ไม่ต้องบังคับใช้กฎหมายนี้ก็ได้
ประการสุดท้าย คือ การกำหนดบทลงโทษบุคคลที่ดำเนินกิจการองค์กรภาคสังคมในราชอาณาจักร หากไม่ได้จดแจ้งกับกรมการปกครอง ถือว่ามีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเกินสมควรแก่เหตุ
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงมีความเห็นว่า การออกกฎหมายดังกล่าว มีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ตั้งแต่มาตรา 26 ซึ่งระบุว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรของสังคม ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ขั้นพื้น ฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับทางสากลแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทย ได้ให้การรับรอง โดย ข้อ 5 หน้าที่ของรัฐ ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และ เสรีภาพ ขั้นพื้นฐาน บุคคลทุกคนมีสิทธิโดยลำพัง หรือโดยร่วม กับผู้อื่น  ในระดับประเทศ และระหว่าง ประเทศในการ (ก) พบหรือชุมนุมกันอย่างสันติ (ข) ก่อตั้ง ร่วม หรือ มีส่วนร่วมในองค์การเอกชน สมาคม หรือกลุ่มทั้งหลาย (ค) ติดต่อ สื่อสารกับองค์การเอกชนหรือองค์การระหว่างประเทศโดยรัฐมีหน้าที่ตาม รัฐธรรมนูญที่ต้องสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับปัจเจกบุคคลกลุ่มบุคคลและองค์กรของสังคมที่ต้องการรวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและของชุมชน โดยไม่จำเป็น ที่จะต้องจดทะเบียนตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ขัดแย้งกับกติการะหว่าง ประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทย ได้ให้ สัตยาบัน โดยข้อ 22 ระบุว่าบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิในเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม รวมทั้งสิทธิที่จะก่อตั้ง และเข้าร่วมสหภาพ แรงงานเพื่อปกป้องประโยชน์ของตน
การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคม  ประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัยความสงบเรียบร้อยการสาธารณ สุขหรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นความในข้อนี้ไม่ห้ามการวางข้อจำกัดอันชอบด้วยกฎหมายในการใช้สิทธินี้ของทหารและตำรวจ โดยกฎหมายฉบับนี้จะเป็นอุปสรรค และกีดกัน สิทธิของ ประชาชนในการร่วมตัวกันของปัจเจกบุคคลกลุ่ม บุคคลและองค์กรของสังคม เนื่องจากมีการตั้ง กติกาว่าต้องมา จดทะเบียนเท่านั้น มีการบังคับว่าต้องมีการจดแจ้งถ้าไม่ทำมีโทษอาญา

10.    รัฐบาลไทยไม่ยกระดับสิทธิมนุษยชนให้เป็นสากลตามพันธะสัญญากับนานาชาติ

Universal Periodic Review (UPR) เป็นกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศเข้าร่วมโดยไม่มีข้อยกเว้น เพื่อให้เกิดการปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ โดยเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อประเด็นของประเทศที่มีการทบทวนสถานการณ์เพื่อนำกลับมาปฏิบัติตามให้เป็นรูปธรรม  กระบวนการทบทวนนี้เกิดขึ้นในทุก ๆ 4 ปี โดยมีการประมวลข้อมูลจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่รัฐบาล องค์การสหประชาชาติ สถาบันสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคม 
ปี 2564 มีความสำคัญเพราะเป็นปีที่ไทยได้ส่งรายงานทบทวนรอบที่สามเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน (รอบแรก พ.ศ. 2555 รอบที่สอง พ.ศ. 2559) โดยรอบนี้ รายงานจากไทย นอกจากของรัฐบาลแล้ว ยังมีรายงานร่วมจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 1 ฉบับ และจากสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) อีก 1 ฉบับ  
สิ่งที่ปรากฏชัดคือ นับตั้งแต่กระบวนการทบทวนรอบแรกเมื่อสิบปีก่อน รัฐบาลไทยชุดแล้วชุดเล่ายังล้มเหลวที่จะแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเด็นสำคัญหลายเรื่อง โดยละเลยที่จะนำข้อเสนอแนะจากนานาประเทศและองค์กรไปปฏิบัติ ทั้งที่ประเด็นส่วนใหญ่ที่ยกขึ้นมานั้นอยู่ในกรอบของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีสมาชิกและให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตาม  ในรอบนี้ ไทยได้รับข้อเสนอแนะให้แก้ไขปรับปรุงถึง 278 ข้อ ซึ่งไทยรับเพียง 194 ข้อ และปัดว่าจะไปให้คำตอบที่เหลือ 84 ข้อในการประชุมครั้งที่ 49 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในเดือนมีนาคม 2565 
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยที่ประชาคมนานาชาติชี้ย้ำออกมาและแสดงความกังวลนั้น ยืนยันสิ่งที่องค์กรสิทธิมนุษยชนในไทย รวมทั้งสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้ชี้ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่า  ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิต่อเสรีภาพในการแสดงออกและในการชุมนุมโดยสันติ รวมทั้งมีการใช้กฎหมายในเชิงยุทธศาสตร์มาขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน และจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ  การใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยไทยไม่ตอบรับข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายและยุติการจับกุมและดำเนินคดีผู้เยาว์ด้วยกฎหมายนี้ ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีคำพิพากษาว่าการเรียกร้องของนักกิจกรรมประชาธิปไตยให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเท่ากับการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นับแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 มีการใช้มาตรา 112 ตั้งข้อหากระทำผิดกับคนไปแล้วไม่น้อยกว่า 156 คน แม้ในบางกรณีกับเพียงการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์   การคุกคามและคุมขังโดยพลการนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่แม้ไทยรับข้อเสนอแนะให้มีการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่รัฐบาลไม่รับข้อเสนอให้ทบทวนร่างกฎหมายที่หากออกมาจะมีผลจำกัดควบคุมการทำงานขององค์กรเอกชน   ในเรื่องโทษประหารชีวิต รัฐบาลไทยรับข้อเสนอแนะเพียง 7 ข้อจาก 23 ข้อ ไม่รับข้อเรียกร้องให้มีมาตรการในอันที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต เช่น การพักการดำเนินการประหารชีวิต และการให้สัตยาบันพิธีสารทางเลือกฉบับที่ 2 ของ ICCPR  โดยใช้ข้อโต้แย้งเก่าๆว่า ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังพอใจที่จะให้มีโทษประหารชีวิตอยู่  สภาพเรือนจำที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล แออัดหนาแน่น จนทำให้ผู้ต้องขังจำนวนมากติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา - 2019 ทำให้นานาชาติเป็นกังวล แม้รัฐบาลจะรับข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพการคุมขังและการปฏิบัติต่อนักโทษให้มีมนุษยธรรมยิ่งขึ้นและลงมือทำไปบ้างก็ตาม   
ในเรื่องการทรมานและการบังคับสูญหาย ถึงแม้ไทยยอมรับข้อเสนอแนะทั้งหมดในเรื่องนี้ แต่ยังไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองทุกคนจากการบังคับสูญหาย (ICCPED) และปฏิเสธข้อเสนอแนะให้มีการสอบสวนการถูกบังคับสูญหายของนักกิจกรรมการเมืองต่อไปดังที่ปฏิเสธมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557   ในด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย รัฐบาลปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยแม้แต่ข้อเดียว รวมทั้งข้อเรียกร้องให้ไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสถานะของผู้ลี้ภัย ให้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในการปกป้องผู้ลี้ภัย และให้ทางการไทยยุติการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไป  รวมทั้งการเนรเทศชาวกัมพูชาสองคนกลับไปเพียงวันเดียวก่อนที่ไทยจะเข้าสู่กระบวนการทบทวนครั้งนี้
ในการทบทวนรอบที่สามนี้ รัฐบาลไทยไม่ยอมรับข้อเสนอแนะของนานาชาติที่เรียกร้องไทยให้สัตยาบันกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับสำคัญเพื่อให้มีหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นเลย ไม่ว่าจะเป็นธรรมนูญโรมของศาลอาญาระหว่างประเทศ พิธีสารเลือกรับของ ICCPR (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) และ ICESCR (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม) และรัฐบาลไทยยังปฏิเสธแทบทั้งหมดตลอดสิบปีที่ผ่านมาต่อการขอมาเยือนของผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติเพื่อติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย ทั้งที่รับปากว่าจะให้เข้ามา  การทบทวนรอบแรก ยอมรับให้เข้ามาเพียงสองครั้ง  
การที่รัฐบาลไทยไม่ยอมยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศให้ขึ้นไปอยู่ในระดับอันเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว แสดงถึงภาวะถดถอยทั้งที่มีเวลาปรับปรุงจากรอบก่อนมาถึงห้าปีเต็ม จึงสมควรที่จะยกขึ้นมาเป็นข้อด้อยทางด้านสิทธิมนุษยชนของไทยที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษในปี 2564 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท