Skip to main content
sharethis

ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 4,079 ราย สะสม 2,164,859 ราย รักษาหาย 7,302 ราย สะสม 2,090,253 ราย เสียชีวิต 39 ราย สะสม 21,151 ราย ฉีดวัคซีน (10 ธ.ค. 2564) สะสม 97,177,327 โดส

11 ธ.ค. 2564 ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 4,079 ราย สะสม 2,164,859 ราย รักษาหาย 7,302 ราย สะสม 2,090,253 ราย เสียชีวิต 39 ราย สะสม 21,151 ราย ฉีดวัคซีน (10 ธ.ค. 2564) สะสม 97,177,327 โดส

สปสช.แจงผู้ประกันตนกรณีเงินช่วยเหลือแพ้วัคซีนล่าช้า เหตุค้างสะสมจากข้อติดขัดประกาศประกันสังคม 

11 ธ.ค. 2564 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวว่า ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอปัญหาร้องเรียน “รอ สปสช. เยียวยาผลข้างเคียงฉีดวัคซีน” โดยใช้ชื่อว่าสุรชัย ที่ให้ข้อมูลระบุว่าการช่วยเหลือจาก สปสช.ต้องใช้เวลา 2-3 เดือน ทั้งที่มีนโยบายการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วนั้น สปสช.ได้ประสานไปยังสื่อมวลชนเพื่อขอข้อมูลเพื่อติดต่อผู้ร้องเรียนเพิ่มเติม และได้โทรพูดคุยและชี้แจงกับผู้ร้องเรียนรายนี้แล้ว 

ทั้งนี้ผู้ร้องเรียนกรณีนี้เป็นผู้มีสิทธิประกันสังคม ภายหลังรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้น และได้เข้ายื่นเรื่องขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นจากผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ สปสช.เขต 13 กทม. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 โดย สปสช.เขต 13 กทม. ได้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป 

อย่างไรก็ตามด้วยก่อนหน้านี้ที่เกิดปัญหาติดขัดทางกฎหมาย เนื่องจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 เพื่อเป็นการดูแลผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกันตนไม่สามารถรับเงินช่วยเหลือตามประกาศของ สปสช. เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) พ.ศ. 2564 ได้ และต่อมาในเดือนตุลาคม 2564 ทาง สปส. จึงได้มีการแก้ไขโดยออกประกาศฉบับใหม่ ที่ให้ผู้ประกันตนมารับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ตามประกาศ สปสช. แทน   

ในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 3 เดือน ส่งผลให้มีผู้ประกันตนที่ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือฯ รอการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนนับพันราย ซึ่งภายหลังจากที่ สปส. ได้ส่งข้อมูลคำร้องของผู้ประกันตนมายัง สปสช. แล้ว ทาง สปสช. ได้รีบเร่งกระบวนการพิจารณา เพื่อให้ผู้ประกันตนที่ยื่นคำร้องเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือฯ โดยเร็วที่สุด  

“เฉพาะในพื้นที่ เขต 13 กทม. มีผู้ประกันตนที่ยื่นคำร้องและรอการพิจารณาถึง 300 ราย สปสช.เขต 13 กทม. จึงจำเป็นต้องพิจารณาคำร้องผู้ประกันตนที่ค้างสะสมก่อน ซึ่งค้างมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 64 และจากการเร่งดำเนินการ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทางอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาคำร้องแล้วเสร็จทั้งหมด 300 รายแล้ว หลังจากนี้จะเป็นการเริ่มพิจารณาคำร้องของผู้ประกันตนตามระบบคิวปกติ รวมถึงคำร้องผู้ร้องเรียนรายนี้ด้วย ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาอนุกรรมการฯ ในวันที่ 15 ธ.ค. นี้ โดยยังอยู่ในระยะเวลาเข้าสู่การพิจารณาไม่เกิน 30 วัน” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า ภายหลังจากที่มีมติช่วยเหลือ สปสช.จะทำการโอนเงินช่วยเหลือภายใน 5 วัน   

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า นอกจากผู้ประกันตนแล้ว ยังมีประชาชนสิทธิอื่นๆ ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 และได้ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ มายัง สปสช. จำนวนมากเช่นกัน ทำให้มีคำร้องขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ มีเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามประชาชนสามารถตรวจสอบคิวการพิจารณาคำร้องฯ ได้ ผ่านช่องทาง Line สปสช.เขต 13 กทม. @ucbkk และสายด่วน สปสช. 1330 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net