นิธิ เอียวศรีวงศ์: วัฒนธรรมเผด็จการไทย 4

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมขอสรุปปัจจัยทางด้านความคิดและประสบการณ์ในวัฒนธรรมไทย ดังที่กล่าวในสามตอนแรกไว้ดังนี้

ทัศนะที่มีต่อมนุษย์ในวัฒนธรรมไทยไม่เอื้อต่อแนวคิดเสรีนิยมและแนวคิดประชาธิปไตย

มิติด้านที่เป็นปัจเจกบุคคลไม่ค่อยมีความสำคัญในทัศนะต่อมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์ที่มีสำนึกในปัจเจกภาพของตนเองสูง กลับเป็นอันตรายต่อส่วนรวมด้วย เพราะธรรมชาติของมนุษย์คือโลภ, โกรธ, หลง ดังนั้น เขาย่อมใช้สัญชาติญาณที่เห็นแก่ตัวของเขา ไปในทางเอาเปรียบผู้อื่น

ตัวตนของบุคคลเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์กับกลุ่ม และด้วยเหตุดังนั้นกลุ่มจึงทำหน้าที่ทางสังคมแก่บุคคลสองอย่าง หนึ่ง คือนำบุคคลเข้าไปเชื่อมต่อโยงใยกับกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เช่น ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินในตำบลที่มีหลายหมู่บ้าน และสอง กำกับควบคุมบุคคลในกลุ่ม เพื่อจะทำหน้าที่ทั้งสองด้าน ความสัมพันธ์ในกลุ่มจะเน้นช่วงชั้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสถานภาพทางเครือญาติ (และเครือญาติเสมือน), ทางการ, ทางบุญคุณ หรือการพึ่งพาทางเศรษฐกิจและการเมือง

แนวคิดเรื่องความเป็นปัจเจกนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อลัทธิเสรีนิยม บุคคลควรมีเสรีภาพและเสมอภาพ ก็เพราะแต่ละคนมีศักยภาพในตัวที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวม ศักยภาพเช่นนั้นจะงอกงามได้ก็เพราะไม่ถูกขัดขวางจากรัฐหรือจากบุคคลอื่น ดังนั้น สังคมที่ดีคือสังคมที่เปิดกว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ การจำกัดเสรีภาพพึงทำเฉพาะในเรื่องที่จำเป็นเพราะขัดขวางศักยภาพของบุคคล (เช่น ห้ามทำร้ายกัน, ห้ามผูกขาดทางการค้า, ห้ามการใช้อำนาจที่ไร้ขีดจำกัด ฯลฯ เป็นต้น)

ตรงกันข้าม ถ้าเชื่อว่าคนแต่ละคนล้วนมีธรรมชาติที่ชั่ว เสรีภาพก็ย่อมเป็นอันตรายต่อส่วนรวม เสมอภาพทำให้ความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้นพังทะลายลงทั้งหมด และก็จะไม่เหลือการควบคุมทางสังคมใดๆ ไว้อีกเลย

ผมอยากเตือนไว้ด้วยว่า ความเชื่อเช่นนี้ไม่ได้ผิดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ถ้าเรามีความมั่นใจในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ก็ต้องหาทางให้เกิดเสรีภาพและเสมอภาพขึ้นจนได้ มากที่สุดเท่าที่จะไม่ปล่อยให้ส่วนที่เป็นความชั่วในตัวมนุษย์ได้มีโอกาสครอบงำสังคม

 

จากพื้นฐานความคิดแบบ “ไทยๆ” เช่นนี้ สังคมไทยอุบัติขึ้นจากสำนึกที่ค่อนข้างจำกัด เพราะเป็นสำนึกที่เกิดจากความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างกันเท่านั้น แม้ว่าการค้าทางไกล, ศาสนา และการเกณฑ์แรงงาน อาจมีส่วนช่วยให้สำนึกถึงความสัมพันธ์ที่กว้างไกลกว่าที่ได้สัมผัสโดยตรงเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่เด่นชัดพอจะเป็นรูปธรรมในความคิด พูดง่ายๆ คือตลาดที่รับซื้อวัวควาย, นายที่เรียกเอาส่วยไปขายต่อ หรือชาวพุทธลังกา ไม่มีหน้ามีตาให้นึกถึงได้

สรุปสั้นๆ อย่างที่มีผู้อื่นได้สรุปไว้แล้วก็คือ สังคมไทยในสำนึกของคนไทยเป็นแค่หมู่บ้าน

รัฐสมัยใหม่ซึ่งอุบัติขึ้นในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่อย่างเต็มที่ แต่ก็เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของพระราชอำนาจ มากกว่าการสร้างสำนึกร่วมของประชาชนในราชอาณาจักร

การเมือง, สังคม และเศรษฐกิจแบบใหม่ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนห่างไกลกับศูนย์กลางโดยตรง แต่ไม่ได้สร้างความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างกันมากนัก ด้วยเหตุดังนั้น รัฐสมัยใหม่ของไทยจึงไม่นำไปสู่ความเป็น “ประชาชาติ”

โดยผ่านการศึกษาและการสื่อสาร ผู้คนอาจรู้สึกเป็นคนในบ้านเมืองหรือเป็น “ข้าแผ่นดิน” เดียวกัน แต่ไม่มีสำนึกถึงความสัมพันธ์ร่วมกันของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่มีสำนึก “ภราดรภาพ” กับคนอื่นๆ ซึ่งอยู่ร่วมแผ่นดิน

ผมอยากย้ำว่า แผ่นดินอาจช่วยนิยามขอบเขตของสำนึกความเป็นชาติ แต่แผ่นดินไม่ใช่ชาติ เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ความหมายของชาติหรือประชาชาติ ก็คือความหมายเดียวกับวลีที่ว่าอธิปไตยเป็นของปวงชน หลังปฏิวัติฝรั่งเศส อำนาจที่จะตรากฎหมายและบังคับใช้แทนพระราชอำนาจหรือเทวโองการคือ “นาซิออง” หรือ “ประชาชาติ” นั่นเอง

ลัทธิชาตินิยมไทยซึ่งสั่งการมาจากเบื้องบนเป็นลัทธิชาติที่บิดเบี้ยว เพราะความหมายที่แท้จริงของชาติย่อมเป็นปฏิปักษ์โดยตรงกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คำขวัญ ชาติ, ศาสน์, กษัตริย์ ไม่เกี่ยวอะไรโดยสิ้นเชิงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของชาติ

ชาติจึงกลายเป็น “แผ่นดิน” ซึ่งเป็นของกษัตริย์ผู้นับถือศาสนาเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ คนไทยพร้อมจะขับไล่เพื่อนร่วมชาติ ที่ไม่สยบยอมต่อระบบให้ออกจากแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นคนที่รักพ่อไม่พอ หรือชาวมลายูมุสลิมที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม คนไทยบางกลุ่มพร้อมจะทำสงครามกับเพื่อนบ้านเพื่อช่วงชิงดินแดนไม่กี่ตาราง ก.ม. แม้ว่าศาลโลกได้วินิจฉัยแล้วว่ากรรมสิทธิ์เหนือดินแดนเหล่านั้นเป็นของเพื่อนบ้าน และทั้งๆ ที่ระบบศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ประกันความมั่นคงของไทยอย่างได้ผลเสียยิ่งกว่ากองทัพ… เราเป็นนักแผ่นดินนิยม ไม่ชอบทำหินแตก แต่พร้อมจะสังหารเพื่อนร่วมชาติโดยไม่ยั้งคิดเลย

ไม่เป็นที่ประหลาดใจแต่อย่างไรที่หัวใจของรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ (อาจยกเว้นฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ฉบับเดียว) คือการควบคุมประชาชน ซึ่งถึงยอมรับว่าเป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตย แต่ก็มีเสรีภาพที่จำกัด การควบคุมอาจกระทำโดยกำหนดให้เสรีภาพต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมายทุกชนิด (ซึ่งหมายความว่า เราอาจออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ได้), ศีลธรรมอันดี และประเพณีอันดีงามของไทย (ตามการกำหนดของผู้มีอำนาจ) หรือนำเอาอาญาสิทธิ์ตามประเพณีเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่เรียกกันว่าฉบับประชาชน ก็วางการควบคุมไว้ที่คุณสมบัติพิเศษของเหล่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดวุฒิการศึกษา หรือโดยการจัดให้กระบวนการเลือกสรรต้องจำกัดผู้ที่จะได้รับเลือกมาแต่แรก

รัฐธรรมนูญไทยไม่ได้มีไว้เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่มีไว้เพื่อควบคุมมิให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพของตน ทั้งนี้ยังไม่นับกฎหมายอื่นๆ ซึ่งบัญญัติขึ้นโดยไม่ต้องคำนึงว่าข้อห้ามเหล่านี้จะทำให้การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งรัฐธรรมนูญประกันไว้เป็นหมันไปหรือไม่ (เช่น กฎหมายดิจิตอล, การชุมนุม, หมิ่นประมาท และ ม.112)

วัฒนธรรมไทย หรือบางคนใช้คำที่ปลุกเร้ากว่าว่า “ความเป็นไทย” นั่นแหละครับ เป็นปฏิปักษ์ระดับพื้นฐานกับประชาธิปไตยเสียยิ่งกว่ากองทัพ, กลุ่มสีน้ำเงิน, ฝ่ายอนุรักษนิยม, สลิ่ม และบรรดากลุ่มคนที่ล้มเลือกตั้ง, ปิดประเทศ หรือป่วนเมืองครั้งใหญ่ แท้จริงแล้วกลุ่มต่างๆ เหล่านี้อ้างอุดมคติของ “ความเป็นไทย” ในมิติต่างๆ เพื่อขัดขวางมิให้กระบวนการประชาธิปไตยทำงานของมันได้ตามปรกติ

อันที่จริงผมจะพูดอย่างนี้กับวัฒนธรรมอังกฤษ, อเมริกัน, ฝรั่งเศส หรือชาติไหนก็ได้เหมือนกัน หากหมายถึงอังกฤษโบราณ, อเมริกันโบราณ, ฝรั่งเศสโบราณ แนวคิดประชาธิปไตยก่อตัวขึ้นอย่างไม่เป็นระบบอย่างช้าๆ จากแนวคิดทางศาสนา, สังคม, การเมือง ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลาย กว่าจะปรากฏออกมาเป็นแนวคิดที่เป็นระบบเด่นชัดขึ้น ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจ-สังคม-การเมืองได้เปลี่ยนไปในทางที่จะรองรับประชาธิปไตยได้มากขึ้นตามลำดับ และจนถึงทุกวันนี้ แนวคิดประชาธิปไตยก็ยังงอกงามต่อไปไม่หยุด บางครั้งอาจเป็นไปในแนวทางที่อาจปะทะกันเองด้วย

ความเปลี่ยนแปลงด้านหนึ่ง (เศรษฐกิจ-สังคม) นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอีกด้านหนึ่ง (การเมือง-วัฒนธรรม)

แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมในประเทศไทย ถูกกำกับมิให้มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองและวัฒนธรรม หรือมีผลไปในทางที่ไม่บั่นทอนระบบการเมืองและวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม (ไม่ต่างจากรัฐอาณานิคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ) ทั้งทำอย่างได้ผลด้วย แม้การปฏิวัติใน 2475 ก็มีผลในทางปฏิบัติอยู่เพียง 15 ปี, การทบทวนระบบครั้งใหญ่หลัง 14 ตุลา ดำเนินไปได้เพียง 3 ปี ก็ต้องจบลงด้วยการปราบปรามอย่างนองเลือดกลางกรุง, การลุกขึ้นสู้ของคนชั้นกลางในเมือง 2535 เป็นผลให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ความเปลี่ยนแปลงโดยสงบที่รัฐธรรมนูญมอบให้ก็สิ้นสุดลงในเวลาเพียง 8-9 ปีเท่านั้น

ความเปลี่ยนแปลงในไทยเป็นความเปลี่ยนแปลงภายใต้การกำกับ โดยอาศัยวัฒนธรรมไทยหรือความเป็นไทย อันเป็นสิ่งที่เพิ่งประดิษฐ์ขึ้นเป็นเครื่องมือที่ได้ผล เพราะสามารถดึงดูดผู้คนเข้ามาร่วมยึดถืออัตลักษณ์ที่ค่อนข้างเซื่องๆ ได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ได้รับการศึกษา (อันเป็นเครื่องมือการกำกับสำคัญอันหนึ่ง) จำนวนมากของคนเหล่านี้มองวัฒนธรรมไทยหรือความเป็นไทยเหมือนสิ่งที่เกิดมีขึ้นพร้อมชีวิต (primordial) คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดมาเลยทีเดียว จึงสนับสนุนการกำกับมิให้ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมไปมีผลกระทบต่อความเป็นไทยในทุกวิถีทาง แม้เป็นทางที่ผิดกฎหมาย เช่น ทำรัฐประหาร ก็ไม่ขัดข้อง

แต่ความเปลี่ยนแปลงนับวันก็ยิ่งแผ่ปริมณฑลไปอย่างไพศาลและลึกซึ้ง จนทำให้การกำกับทำได้ยาก ต้องอาศัยอำนาจดิบเป็นเครื่องมือแทน “อำนาจอ่อน” อย่างที่เคยใช้มาอย่างได้ผล เป็นผลให้ความชอบธรรมของการกำกับยิ่งลดน้อยลงทุกที ยิ่งกดขี่มาก ก็ยิ่งต้องทำลาย “อำนาจอ่อน” ด้านต่างๆ ของตนลง เช่นในปัจจุบันก็เห็นได้ชัดว่า กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบพังทะลายลงแล้ว ระบบการศึกษาเหลือแต่โรงพิมพ์วุฒิบัตร บทบาทของรัฐในฐานะกรรมการกลางของการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่เป็นที่เชื่อถืออีกต่อไป และ ฯลฯ

 

ในสภาพพังสลายของระบบลงทุกส่วนเช่นนี้แหละ ที่การประท้วงอย่างมโหฬารเกิดขึ้นและกระจายไปทั่วประเทศ ไม่แต่เฉพาะบนท้องถนน แต่รวมถึงในสื่อ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อสังคม ในการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล, รัฐสภา และพรรคการเมือง ล้วนเป็นการเรียกร้องหรือการประท้วงที่มาจากความคิดก้าวหน้า แหกออกไปจากขนบประเพณีเดิม กล่าวได้ว่าคือการปฏิวัติครั้งใหญ่อย่างที่สังคมไทยไม่เคยเผชิญมาก่อน (ไม่ว่าจะลงเอยเป็นการปฏิวัติที่รุ่งโรจน์หรือล้มเหลว)

และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าจะเข้าใจความเคลื่อนไหวในช่วงนี้ได้ชัดมากขึ้น หากมองมันเป็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรม แม้มีมิติด้านการเมือง, เศรษฐกิจ, กฎหมาย, ศีลธรรม, ศิลปะ, สังคม ฯลฯ เป็นประเด็นใหญ่ในการประท้วงทุกรอบก็ตาม นี่คือความหมายอย่างกว้างของคำว่า “วัฒนธรรม” เป็นการทบทวนและรื้อสร้างระบบความสัมพันธ์หลากหลายมิติของมนุษย์ในโลกยุคใหม่อย่างแท้จริง

กินความลึกซึ้งกว้างขวางกว่าเพลงเพื่อชีวิต, กว่าสัจนิยมสังคมทางวรรณกรรม, กว่าการปฏิเสธข้อวินิจฉัยทางวัฒนธรรมและวิชาการของปัญญาชนรุ่นเก่า ฯลฯ อันเป็นโฉมหน้าหลักของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในครั้งที่แล้ว (2516-2519)

การประท้วงของ “คนรุ่นใหม่” ในครั้งนี้ กลายเป็น “ลาน” ที่เปิดกว้างแก่ผู้หญิงซึ่งมีสำนึกถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ, แก่ประเด็นปัญหาเรื่อง “เพศ” อันหลากหลาย, แก่การละเล่นที่แหกขนบประเพณีอย่างโจ่งแจ้ง, แก่คนเล็กคนน้อยที่ไม่เคยมีใครฟังเสียงของเขา เช่น คนจนเมือง, ชาวมลายูในสี่จังหวัดภาคใต้ซึ่งต้องใช้ชีวิตภายใต้กฎอัยการศึกมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน, แก่นักเรียนซึ่งถูกกดขี่ทั้งโดยระบบและโดยผู้บริหารสถานศึกษา ไม่เว้นแม้แต่ครู, แก่แรงงานข้ามชาติ ซึ่งไม่เคยมีใครเห็นว่าเป็นมนุษย์, แก่โสเภณีและผู้ขายบริการทางเพศทุกชนิด, แก่ภิกษุสามเณรที่ถูกองค์กรศาสนาของรัฐกดขี่ตลอดมา และแน่นอนแก่ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งนับวันก็ถูกระบบเดิมปิดเสียงของเขาลงมากขึ้นทุกที

 

ถ้าเราอ่านการเคลื่อนไหวทั้งมวลในช่วงนี้เหมือนอ่านวรรณคดี เราก็จะพบสำนวนและการใช้ภาษา ซึ่งดูเหมือนเจตนาจะปฏิเสธ “ความเป็นไทย” แบบที่ยัดเยียดให้คนไทยสืบมาหลายชั่วคน จะเจตนาหรือไม่ก็ตาม แต่มันสั่นสะเทือนระบบถึงรากถึงโคน จะพูดถึงความเสมอภาคด้วยคำอธิบายของนักปรัชญาอย่างไร ก็ไม่เท่ากับการเรียกคนสถานะสูงในระบบว่ามึง, เหี้ย, ปรสิต หรือ ฯลฯ

ผมไม่ได้หมายความว่า “เหี้ย” คำเดียวแรงกว่าการแปลหนังสือคนขี่เสือ แต่เอาคำนี้ใส่ลงในบริบทของการเคลื่อนไหวทั้งหมดแล้ว มันแรงมาก และอาจแรงกว่าเสียอีก เพราะมีคน “อ่าน” มันเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านในวินาทีเดียว ขึ้นชื่อว่าคำ หากอยู่โดดๆ ก็เป็นเพียงเสียงเท่านั้น จะมีความหมายได้ก็ต่อเมื่อใส่มันลงไปในบริบทเสมอ

แน่นอน สำนวนและคำที่เลือกใช้เหล่านี้สะท้อนความโกรธอย่างลึกซึ้งยาวนาน โกรธอย่างที่คนไทยไม่เคยโกรธได้เท่านี้มาก่อน

ไม่ว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งนี้จะจบลงอย่างไร

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_490726

นิธิ เอียวศรีวงศ์: วัฒนธรรมเผด็จการไทย 1
นิธิ เอียวศรีวงศ์: วัฒนธรรมเผด็จการไทย 2
นิธิ เอียวศรีวงศ์: วัฒนธรรมเผด็จการไทย 3

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท