Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1. ผู้พิพากษาตุลาการกับคุณค่าพื้นฐานการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย
 ศาลและผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลายที่มีอำนาจในการใช้และตีความกฎหมาย โดยการนำข้อเท็จจริงปรับเข้ากับข้อกฎหมายเพื่อกำหนดผลทางกฎหมายในกรณีเฉพาะเรื่องเฉพาะราวนั้น เป็นองค์กรของรัฐประเภทหนึ่งที่ต้องผูกพันตนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเช่นเดียวกับองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติและองค์กรที่ใช้อำนาจบริหาร การผูกพันตนต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายในที่นี้นอกจากจะหมายถึง การพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดแล้ว ยังหมายความรวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งหลายให้สอดคล้องกับคุณค่าพื้นฐานของรัฐธรรมนูญและของระบอบประชาธิปไตยด้วย ไม่ว่าคุณค่าพื้นฐานเช่นว่านั้นจะได้รับการบัญญัติไว้เป็นการชัดแจ้งในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า อะไรคือคุณค่าพื้นฐานการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตยที่เปรียบเสมือนเข็มทิศที่ช่วยนำทางการใช้การตีความกฎหมายของศาลและตุลาการทั้งหลาย คำตอบก็คือ ในการใช้และตีความกฎหมายของศาล ซึ่งหมายถึง การปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายเพื่อกำหนดผลทางกฎหมายในคดีนั้นๆ ศาลจะต้องใช้และตีความกฎหมายให้สอดคล้องกับ หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักการมีรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบ หลักความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจปกครอง หลักความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ หลักการมีพรรคการเมืองหลายพรรคและหลักความเสมอภาคในโอกาสของพรรคการเมือง และรวมถึง หลักการคุ้มครองฝ่ายข้างน้อย หลักการดังกล่าวทั้งหลายนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญของ “ระเบียบพื้นฐานการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย” ซึ่งไม่ได้เป็นแต่เพียงหลักการที่ใช้ในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายทางการเมืองทั้งหลายด้วยกันเท่านั้น แต่ยังถือเป็นคุณค่าสำคัญที่ใช้เป็นกรอบสำหรับการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐทุกองค์กร ซึ่งรวมถึงอำนาจใช้และตีความกฎหมายของศาลด้วย 

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ศาลมิได้ทำหน้าที่เป็นแต่เพียง “ตู้กฎหมายอัตโนมัติ” ที่ผู้มีอำนาจได้กำหนดโปรแกรมเอาไว้เป็นการล่วงหน้าว่า ถ้ามีข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ศาลจะต้องกำหนดผลทางกฎหมายให้เป็นไปตามโปรแกรมที่ตั้งไว้เท่านั้น แต่ในข้อพิพาททางกฎหมายทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองการปกครอง จะมีปัญหาเรื่องของอุดมการณ์ คุณค่า หรือความถูกต้องชอบธรรมซ่อนอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลหรือตุลาการที่พิจารณาพิพากษาคดีที่จะต้องตัดสินคดีให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย และเป็นไปตามคุณค่าหรืออุดมการณ์ของระบอบการปกครองที่ครอบบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นเอาไว้ด้วย ดังนั้น ในกรณีที่เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าการใช้และตีความกฎหมายของศาลขัดกับคุณค่าพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ย่อมแสดงให้เห็นว่าตุลาการที่ตัดสินคดีนั้นไม่ได้ยึดมั่นในคุณค่าพื้นฐานการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย หากแต่ได้ให้ความจงรักภักดีกับคุณค่าประการอื่นๆ ที่ไม่ใช่คุณค่าของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งภาวการณ์ดังกล่าวเป็นสภาพที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะในสังคมการเมืองที่มีความแตกต่างหลากหลายในเชิงความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ย่อมเป็นสังคมที่จะมีข้อพิพาททางการเมืองขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอยู่เสมอ และหากศาลไม่ได้มองเห็นคุณค่าในการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยแล้ว ย่อมเท่ากับศาลได้กำหนดตำแหน่งแห่งที่ของตนเองให้กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งในทางการเมืองด้วย และท้ายที่สุดการชี้ขาดข้อพิพาททางการเมืองนั้นก็ย่อมไม่ต่างไปจากการที่ศาลได้เข้ามาเป็น “ผู้ชี้ขาดในข้อพิพาทของตนเอง” (Entscheidung in eigener Sache) ด้วย

2. ตุลาการกับการให้เหตุผลทางกฎหมาย
 คำพิพากษาที่ดีย่อมเป็นผลมาจากกฎหมายที่ดี กฎหมายที่ดีย่อมได้มาจากฝ่ายนิติบัญญัติที่มีเหตุมีผล และฝ่ายนิติบัญญัติที่มีเหตุมีผล ย่อมมาจากการตัดสินใจเลือกผู้แทนของประชาชนที่มีความรับผิดชอบ ดังนั้น การตัดสินอรรถคดีของศาลแท้จริงแล้วจึงเป็นเครื่องยืนยันถึงเจตจำนงที่มีเหตุมีผลของประชาชนนั่นเอง เราอาจกล่าวได้ว่า กฎหมายที่ใช้อยู่ในสังคมการเมืองประชาธิปไตย คือบรรทัดฐานที่กำหนดความควรต้องเป็นในเรื่องต่างๆ (Sollen: Ought) เอาไว้เป็นการล่วงหน้าว่า เมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ผลทางกฎหมายที่ควรต้องเป็นสำหรับกรณีนั้นๆ ควรเป็นอย่างไร ดังนั้นบทบาทของศาลก็คือ การค้นหาเหตุผลของการเกิดขึ้นของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น และกล่าวถึงเหตุผลเช่นว่านั้นอีกครั้งหนึ่งในคำพิพากษาของตน ทั้งนี้เมื่อคำพิพากษาคดีของศาลปรากฏตัวขึ้นแล้วในโลกแห่งความเป็นจริง คำพิพากษานั้นจะได้รับการยอมรับนับถือหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับว่า “พลังแห่งเหตุผล” (Überzeugungskraft) ของคำพิพากษานั้นว่าสามารถทำให้สาธารณะ คู่ความ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเชื่อได้หรือไม่ว่า คำพิพากษานั้นได้กำหนด “ความควรต้องเป็น” สำหรับกรณีนั้นอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับอุดมการณ์ของระบอบการเมืองการปกครอง และมีความยุติธรรม

คำถามต่อมาก็คือ ศาลจะสามารถสร้าง “พลังแห่งเหตุผล” ในคำพิพากษาของตนได้อย่างไร ในเรื่องดังกล่าวนั้นอาจกล่าวได้ว่า เหตุผลสำคัญที่อาจทำให้คำพิพากษาของศาลมี “พลังแห่งเหตุผล” ได้แก่ “พลังทางวิชาการ” ที่ร้อยเรียงอยู่ในเนื้อหาของคำพิพากษานั้น ทั้งนี้เพราะตุลาการรวมถึงผู้มีอำนาจในการใช้และตีความกฎหมายทั้งหลายนั้น ต่างเป็นผลผลิตของกระบวนการทางวิชาการในมหาวิทยาลัย ระบบความคิด อุดมการณ์ หรือความเชื่อในความถูกต้องชอบธรรม ย่อมเป็นผลมาจาก “หลักวิชา” ที่ได้เรียนรู้และซึมซับตลอดช่วงเวลาของการศึกษากฎหมายของตุลาการท่านนั้น ดังนั้นตุลาการกับวิชาการจึงมีความผูกพันใกล้ชิดอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ เราอาจกล่าวได้ว่า “วิชาการ” คือ กระบวนการที่มีแบบแผนและจริงจังในการแสดงหาความจริงหรือสัจธรรมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นกระบวนการที่เกิดจากการตั้งคำถาม การค้นคว้าหาคำตอบ การนำเหตุผลมาหักล้างเหตุผล การสรุปผลแห่งการใช้ความคิดแห่งตน รวมถึงการสื่อสารผลแห่งการใช้ความคิดแห่งตนนั้นในรูปแบบทางวิชาการที่มีเหตุมีผลและมีความน่าเชื่อถือ และดังนั้น เมื่อเรากล่าวถึง “วิชาการนิติศาสตร์” หรือ “วิชาการกฎหมาย” จึงย่อมหมายถึง กระบวนการที่มีแบบแผนและจริงจังในหาแสวงหาความยุติธรรมในทางกฎหมายหรือในการชี้ขาดข้อพิพาท โดยเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการตั้งคำถาม การค้นคว้าหาคำตอบ การให้เหตุในทางกฎหมาย และสามารถสรุปผลทางกฎหมายอย่างมีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป และทำให้ทุกคนเชื่อถือในความยุติธรรมของการตัดสินคดีนั้น เราอาจกล่าวได้เป็นภาษากฎหมายว่า กระบวนการทางวิชาการเหล่านี้คือการติดตั้ง “นิติวิธี” ให้เป็นเครื่องมือประจำกายแก่นักกฎหมายทุกคน และอาจกล่าวได้ว่า คำพิพากษาหรือการตัดสินคดีและการใช้และตีความกฎหมายนั้น ย่อมเป็นกระบวนการที่มีลักษณะที่เป็นกระบวนการทางวิชาการอยู่ด้วยในตัว ซึ่งได้แก่กระบวนการในการให้เหตุผลที่ถูกต้องและเป็นธรรม และคงไม่เกินเลยไปนักที่จะกล่าวว่า ผู้พิพากษาตุลาการทุกคนถูกเรียกร้องให้เป็น “ศาลวิชาการ” (Wissenschaftsgericht; academic judge) ซึ่งหมายถึง ศาลหรือตุลาการที่มีเหตุมีผลนั่นเอง 

3. “วิชาการ” ในฐานะสถาบันทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ
 ความสำคัญของ “วิชาการ” นั้นมิได้จำกัดตนเองอยู่เฉพาะในแวดวงการศึกษาหรือแวดวงของนักวิชาการเท่านั้น แต่ “วิชาการ” ยังถือเป็น “คุณค่าพื้นฐาน” สำคัญประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญและของสังคมการเมืองที่มีศิลปวัฒนธรรม ในทางทฤษฎีรัฐธรรมนูญนั้น “วิชาการ” ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการคุ้มครองของ “เสรีภาพทางวิชาการ” (Academic Freedom) เป็นรากฐานสำคัญที่ค้ำยันให้สังคมนั้นเป็นสังคมที่สมบูรณ์ในมิติเกี่ยวกับเสรีภาพในการใช้ความคิด การเรียนรู้และการพัฒนา และเป็นสิ่งที่เปิดโอกาสให้สังคมนั้นๆ ได้พัฒนาตนเองขึ้นไปเรื่อยๆ สังคมที่ให้ความสำคัญกับวิชาการในทุกแขนง ย่อมเป็นสังคมที่มีโอกาสในการพัฒนาและเป็นสังคมที่ไม่หยุดอยู่กับที่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมที่ให้ความสำคัญกับ “วิชาการกฎหมาย” ก็ย่อมเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาตนเองของระบบกฎหมายเพื่อที่จะอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 “วิชาการ” ไม่ได้มีสถานะเป็นแต่เพียงถ้อยคำปกติธรรมดาในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่มีคุณค่าเป็น “สถาบันในทางกฎหมายมหาชน” โดยสถาบันในทางกฎหมาย (Rechtsinstitut) มีลักษณะเป็น “หลักการที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย” และรัฐธรรมนูญได้เข้ามารับรองหรือให้ความคุ้มครองต่อสถาบันทางกฎหมายเช่นว่านี้เป็นพิเศษ โดยการกำหนดหน้าที่ให้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติในการที่จะต้องงดเว้นหรือหลีกเลี่ยงการตรากฎหมายที่จะมีผลเป็นการยกเลิกสถาบันทางกฎหมายเหล่านี้ การคุ้มครอง “วิชาการ” ในฐานะสถาบันทางกฎหมายมหาชน จึงหมายถึง การคุ้มครองกระบวนการที่เป็นอิสระในการค้นหาวิธีการในการแก้ไขปัญหาหรือการตอบคำถามในปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้หรือที่ยังไม่เคยถูกค้นพบ หรือการคุ้มครองกระบวนการอิสระที่มีแบบแผนและจริงจังในการค้นหาความจริงหรือสัจธรรม การคุ้มครองในลักษณะดังกล่าวจึงไม่ใช่การมุ่งคุ้มครองนักวิชาการคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการคุ้มครองตัว “วิชาการ” ซึ่งเป็นสถาบันทางกฎหมายที่แยกออกจากตัวบุคคล ดังนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือแม้กระทั่งองค์กรตุลาการจึงไม่ได้มีเพียงหน้าที่ในการงดเว้นการกระทำที่กระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ในการร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนหรือกระทำการต่างๆ ให้ข้อความคิดว่าด้วยวิชาการสามารถบรรลุผลเป็นจริงในทางปฏิบัติได้ด้วย สถาบันทางกฎหมายที่เรียกว่าวิชาการนี้จึงทำหน้าที่กำหนดความสัมพันธ์หรือหลักการพื้นฐานระหว่างรัฐกับวิชาการด้วยการกำหนดหน้าที่ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่รัฐและองค์กรของรัฐทั้งหลาย ที่จะต้องทำหน้าที่ในเชิงริเริ่มดำเนินการเพื่อให้ “วิชาการ” ในรัฐนั้นๆ เจริญงอกงามมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  กล่าวให้แคบที่สุด ผู้พิพากษาหรือตุลาการนอกจากจะมีหน้าที่ในการผูกพันตนเองต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายและผูกพันตนเองต่อหลักการพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังมีหน้าที่ผูกพันตนเองต่อวิชาการกฎหมาย รวมถึงมีหน้าที่ในการพัฒนาวิชาการกฎหมายให้เจริญงอกงามตามที่ควรต้องเป็นด้วย 

4. อิทธิพลที่ควรต้องเป็นของ “วิชาการ” ต่อการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล
 คำถามเฉพาะสำคัญที่ตามมาก็คือ วิชาการควรมีอิทธิพลต่อการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอย่างไร ในที่นี้เราอาจกล่าวได้ว่า “การทำหน้าที่ของศาล” และ “วิชากฎหมาย” ควรแลกเปลี่ยนบทบาทซึ่งกันและกัน ซึ่งมีความหมายว่า การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลต้องได้รับอิทธิพลทางความคิดจากทางวิชาการ ที่มีการศึกษาแลกเปลี่ยน มีการอภิปราย มีข้อเสนอแนะ หรือที่เคยมีการตั้งคำถามกับแนวคำพิพากษาที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การนำหลักในทางวิชาการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้เหตุผลตามคำพิพากษานั้นไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมสำหรับคำพิพากษานั้นๆ แต่อย่างใด แต่กลับจะทำให้คำพิพากษานั้นมีความสมบูรณ์ในทุกมิติ มีเหตุมีผล และมีคำตอบในคำพิพากษาที่มีที่มาที่ไปและเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งการรับเอาอิทธิพลในทางวิชาการเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญของคำพิพากษา จะทำให้คำพิพากษานั้นๆ มี “พลังแห่งเหตุผล” มากยิ่งขึ้น ในทางกลับกัน คำพิพากษาของศาลจะมีประโยชน์ต่อวงการวิชาการกฎหมายในแง่ที่ว่า คำพิพากษาในคดีหนึ่งๆ จะเป็นตัวอย่างของการใช้และตีความกฎหมายของผู้มีหน้าที่โดยตรงในการใช้กฎหมายนั้น ซึ่งการเป็นตัวอย่างในทางวิชาการนั้นอาจหมายถึง การเป็น “ตัวอย่างที่ดี” ในการใช้และตีความกฎหมายหรืออาจจะหมายถึงการเป็น “ตัวอย่างที่ไม่ดี” ที่จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ได้ ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของแวดวงวิชาการที่กระทำโดยเจตนาบริสุทธิ์นั้น ย่อมไม่เป็นประโยชน์แต่เพียงในทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อตุลาการเองที่จะได้ทราบความคิดเห็นอื่นๆ ที่มีการอ้างอิงหลักการทางวิชาการหรือการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบ และย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้ศาลเองได้มีโอกาสในการพัฒนาระบบการให้เหตุผลในคำพิพากษาของตนที่อาจเกิดขึ้นในคดีต่อๆ ไป

ดังนั้น ผู้พิพากษาตุลาการที่ดี คือผู้พิพากษาที่มีความเป็นนักวิชาการอยู่ด้วยในตัว หรืออย่างน้อยที่สุดจะต้องเป็นผู้พิพากษาที่ไม่นิ่งเฉยต่อความเคลื่อนไหวในทางวิชาการ “ศาลวิชาการ” ในที่นี้จึงได้แก่   ตุลาการที่สามารถเขียนคำพิพากษาได้อย่างมีเหตุมีผล ซึ่งเกิดจากการคิด การตั้งคำถาม การศึกษาค้นคว้า การหักล้างเหตุผล และการหาคำตอบที่ยุติธรรมที่สุดสำหรับข้อพิพาทนั้นๆ รวมถึงการถ่ายทอดเหตุผลซึ่งเกิดจากระบบความคิดของตนนั้นลงในคำพิพากษา เพื่อให้คู่ความ สาธารณชน หรือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยอมรับใน “พลังแห่งเหตุผล” ของคำพิพากษานั้นๆ ในทางตรงกันข้าม ผู้พิพากษาที่เพิกเฉยต่อมติในทางวิชาการไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ย่อมไม่อาจพัฒนาเนื้อหาของคำพิพากษาของตนให้เป็นคำพิพากษาที่มีเหตุผลได้ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าคำพิพากษาในคดีนั้นๆ ย่อมมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ทั้งนี้ “ความยอมรับจากประชาชน” (Public Support) ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของผลบังคับของคำพิพากษานั้นทั้งในทางกฎหมายและในทางความเป็นจริง รวมถึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของศาลในระบบกฎหมายด้วย 

5. “ตุลาการที่สอนหนังสือ” และ “นักวิชาการที่ตัดสินคดี”
 ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดามากที่จะเกิดปรากฏการณ์ที่มีการแลกเปลี่ยนอิทธิพลซึ่งกันและกันระหว่าง “คำพิพากษา” กับ “วิชาการ” และการแลกเปลี่ยนบทบาทดังกล่าวจะชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อบุคลากรทั้งสองฝ่ายและสลับหน้าที่กัน กล่าวคือ เราจะพบเห็นผู้พิพากษาหรือตุลาการที่มา “สอน” หรือ “บรรยาย” ในโรงเรียนกฎหมาย และเราก็ได้เห็น “อาจารย์กฎหมาย” หลายท่านที่ได้เปลี่ยนบทบาทของตนเองไปเป็นผู้พิพากษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ในทางทฤษฎีแล้ว การแลกเปลี่ยนบทบาทกันในลักษณะดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้วงการกฎหมายในสังคมนั้น มีนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญทั้งในทางทฤษฎีกฎหมายและความเชี่ยวชาญในทางปฏิบัติ การที่ตุลาการมารับหน้าที่บรรยายในโรงเรียนกฎหมายย่อมเปิดโอกาสนักศึกษากฎหมายได้รับความรู้ มุมมองและประสบการณ์ในทางปฏิบัติของตุลาการท่านๆ นั้น หรือทราบเหตุผลในการเกิดแนวคำพิพากษาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในขณะที่นักวิชาการที่ผันตนเองไปเป็นผู้พิพากษาหรือที่มีโอกาสร่วมในการตัดสินคดีนั้น ย่อมมีโอกาสที่จะนำหลักในทางวิชาการบริสุทธิ์เข้าไปพัฒนาระบบการให้เหตุผลของคำพิพากษา เพื่อให้คำพิพากษามีความเป็นวิชาการและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น และเมื่อคำพิพากษามีความเป็นวิชาการมากยิ่งขึ้น ย่อมหมายถึงระบบกฎหมายทั้งระบบนั้นย่อมเข้าใกล้สู่ความเป็นระบบกฎหมายในอุดมคติหรือเป็นระบบกฎหมายที่เป็น “ระบบแห่งเหตุผล” อย่างแท้จริง

แต่ความคาดหวังต่อบทบาทเช่นว่านั้นใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงในทุกสังคมการเมืองไม่ เพราะโอกาสในการประสานให้เกิดความเป็นเอกภาพระหว่าง “วิชาการ” และ “การปฏิบัติหน้าที่ของศาล” นั้น ยังตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขหรือปัจจัยอื่นๆ ในสังคมการเมืองนั้นๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น อิทธิจากฝ่ายการเมือง หรืออิทธิพลจากกรอบจารีตประเพณีของสังคมนั้น เป็นต้น และดังนั้นเงื่อนไขสำคัญที่จะเกิดการประสานกันระหว่างวิชาการและตุลาการ ได้แก่เงื่อนไขที่ว่า ในสังคมนั้นๆ จะต้องมีทั้ง “วิชาการกฎหมายที่เป็นอิสระ” และ “ตุลาการที่เป็นอิสระ” ความเป็นอิสระนั้นจึงจะเปิดโอกาสให้ทั้งสองส่วนได้ร่วมกัน “พัฒนาระบบแห่งเหตุผล” ให้กับสังคมการเมืองนั้นได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ “วิชาการที่เป็นอิสระ” หมายถึง กระบวนการที่มีแบบแผนและจริงจังในการค้นหาความจริงหรือสัจธรรมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และ “ตุลาการที่เป็นอิสระ” ย่อมหมายถึง ตุลาการที่พิจารณาพิพากษาคดีโดยปลอดจากอิทธิพลทางการเมืองหรืออำนาจนอกกฎหมายใดๆ ก็ตาม และยอมตนเป็นทาสให้กับ “ความยุติธรรม” และ “ระบบแห่งเหตุผล” เท่านั้น คำถามที่น่าสนใจก็คือ ในสังคมการเมืองไทยนั้น มี “วิชาการกฎหมายที่เป็นอิสระ” และมี “ตุลาการที่เป็นอิสระ” อย่างแท้จริงหรือไม่

ในแง่ของตุลาการนั้นเราต้องยอมรับว่า ตุลาการไทยในปัจจุบันถูกตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระหรือความเป็นกลางมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้เพราะปรากฏว่ามีคำพิพากษาของศาลจำนวนไม่น้อยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าได้ละทิ้งอุดมการณ์หรือคุณค่าของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงได้ดึงตัวออกห่างจากระบบการให้เหตุผลในทางการวิชาการ คำพิพากษาในหลายกรณีโดยเฉพาะคำพิพากษาที่มีเดิมพันทางการเมืองสูงมากนั้น ได้กลายเป็นคำพิพากษาที่ล้มเหลวในระบบของการให้เหตุผล และไม่สามารถสร้างความชอบธรรมหรือให้เกิดการยอมรับนับถือของผู้คนได้ สภาวการณ์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า วิชาการกฎหมายไทยและการปฏิบัติหน้าที่ของศาลเหมือนกับโลกคู่ขนานยิ่งขึ้นเรื่อยๆ 

เมื่อเกิดภาวการณ์ที่ผู้คนตั้งคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลและผู้มีอำนาจใช้กฎหมายมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ สังคมจึงกลับมาตั้งความหวังที่โรงเรียนกฎหมายและวิชาการกฎหมาย ว่าจะมีความรับผิดชอบต่อสภาวะถดถอยของวงการนิติศาสตร์ไทยอย่างไร ความคาดหวังเช่นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และเป็นเรื่องที่มีความถูกต้อง เพราะโรงเรียนกฎหมายหรือคณะนิติศาสตร์คือต้นธารของระบบยุติธรรมทั้งระบบ แต่หากเราได้กลับมาพิจารณาบทบาทของโรงเรียนกฎหมายในประเทศไทยอย่างแท้จริง เราอาจกล่าวได้เช่นเดียวกันว่า ภาควิชาการกฎหมายไทยก็ยังไม่มีความพร้อมในการส่งต่อ “อิทธิพลทางวิชาการ” หรือ “ระบบแห่งเหตุผลในทางนิติศาสตร์” ไปยังฝ่ายตุลาการเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะ “เนื้อหาของการจัดการเรียนการสอน” ในคณะนิติศาสตร์ในประเทศไทยนั้นก็ยังไม่สามารถเป็น “สนามแห่งการพัฒนาระบบแห่งการใช้เหตุผล” แต่อย่างใด ข้อพิสูจน์สมมติฐานดังกล่าวย่อมปรากฏชัดแจ้งอยู่แล้ว ทั้งนี้เรื่องการจัดการเรียนการสอน เนื้อหาวิชาที่มีการจัดการเรียนการสอนและการสอบ และตำรากฎหมาย รวมถึงเป้าหมายในการศึกษากฎหมายทั้งในมหาวิทยาลัยทั้งหลายและในระดับเนติบัณฑิตด้วย ที่ไม่ต่างไปจากระบบการเรียนการสอนที่ว่ายวนอยู่ในทะเลคำพิพากษาของศาล มากกว่าการพยายามสร้างหลักวิชาการหรือสร้างระบบแห่งเหตุผลเพื่อไปพัฒนาการทำคำพิพากษาหรือพัฒนาระบบกฎหมายทั้งระบบ ดังนั้น แทนที่ศาลตุลาการจะต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิของระบบแห่งเหตุผลในทางวิชาการ กลับกลายเป็นวิชาการที่ตกอยู่ภายใต้สภาพบังคับของคำพิพากษา ซึ่งเป็นเรื่องเหนี่ยวรั้งโอกาสในการพัฒนาตนเองของวงการวิชาการกฎหมายไทยอยู่ไม่น้อย

6. การพัฒนาตนเองไม่ได้ของ “วงวิชาการกฎหมายไทย” ภายใต้อิทธิพลของตุลาการ
 จากข้อสรุปข้างต้น นำมาสู่คำถามต่อไปว่า วงวิชาการกฎหมายไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาลรวมถึงอิทธิพลของคำพิพากษาของศาลอย่างไร ในเรื่องดังกล่าวคงไม่เป็นการสรุปจนเกินไปนักที่จะกล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบอิทธิพลต่อกันและกันระหว่าง “วิชาการ” กับ “ศาล” แล้ว จะเห็นได้ว่า วิชาการอยู่ในสถานะผู้พ่ายแพ้หรืออย่างน้อยก็กำลังเดินไปในทิศทางแห่งความพ่ายแพ้อย่างแน่นอน ทั้งนี้เราจะได้เห็นจากตัวเนื้อหาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่สำคัญหลายเรื่องที่ไม่ได้ตอบรับเสียงสะท้อนในทางวิชาการเข้าไว้ในคำพิพากษาเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายเรื่องก่อนหน้านี้ที่แม้จะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในลักษณะของการชี้ขาดผลแพ้ชนะทางการเมือง และแม้จะได้มีความเห็นในทางวิชาการที่เคยวิพากษ์วิจารณ์แนวทางของศาลก่อนหน้านี้มาก่อนแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นไปได้น้อยมากในปัจจุบันที่ความคิดเห็นทางวิชาการเหล่านั้นจะได้รับการยอมรับในฐานะคุณค่าที่ควรได้รับการพิจารณาประกอบการทำคำวินิจฉัย และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วผลแพ้ชนะทางการเมืองที่เกิดจากคำวินิจฉัยของศาลย่อมไม่ได้รับการยอมรับ และปล่อยให้ประชาชนฝ่ายที่พ่ายแพ้ในทางการเมืองต้องยอมสูญเสียผลประโยชน์ทางการเมืองมหาศาลให้กับคำวินิจฉัยที่ไม่อาจสร้างการยอมรับของประชาชนกลุ่มนั้นๆ ได้ว่า มีระบบแห่งเหตุผลใดที่บังคับให้เขาจำต้องยอมสูญเสียผลประโยชน์ทางการเมืองถึงเพียงนั้น

บทบาทของตุลาการไทยต่อวิชาการนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำพิพากษาทั้งหลายแล้ว ในปัจจุบันยังขยายออกมาในพรมแดนในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนด้วย ดังเราจะเห็นตัวอย่างเด่นชัดที่สุดในกรณีอิทธิพลของเนติบัณฑิตต่อการศึกษากฎหมายไทยทั้งระบบ ซึ่งเป็นระบบการเรียนการสอนกฎหมายที่ดำเนินการเองโดยคณะผู้พิพากษาเกือบทั้งหมด หากเราตั้งสมมติฐานว่าระบบการฝึกคนเข้ารับราชการเป็นตุลาการนั้น มีความแตกต่างจากระบบการสร้างนักวิชาการกฎหมายในมหาวิทยาลัยโดยสิ้นเชิง ระบบที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนั้นย่อมสร้างบุคลากรที่มีความแตกต่างกันในเรื่องวิธีคิดและวิธีการทำงานโดยสิ้นเชิงด้วย และเป็นไปได้น้อยมากที่ระบบการเรียนการสอนกฎหมายที่ดำเนินการโดยคณะผู้พิพากษาแทบทั้งระบบนั้น จะสามารถสร้างคนที่มีวิธีการทำงานในทางวิชาการได้อย่างสมบูรณ์ และดังนั้นจึงเป็นแต่เพียงการส่งต่อวิธีการทำงานหรือวิธีคิดแบบผู้พิพากษาให้กับคนรุ่นต่อไปเท่านั้น “ระบบปิด” ในการจัดการเรียนการสอนเช่นว่านั้นย่อมเป็นการปิดโอกาสในการขยายอิทธิพลของ “วิธีการทางวิชาการ” ในการเข้ามาสู่กระบวนการตัดสินคดีของผู้พิพากษาต่อไปด้วย นอกเหนือไปจากนั้น เมื่อไปสำรวจการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนกฎหมายจำนวนไม่น้อยจะพบว่า หลายแห่งก็ได้ละทิ้งพันธกิจในทางวิชาการบริสุทธิ์ในการสร้างกระบวนการคิดและการทำงานทางวิชาการให้แก่นักศึกษา และมอบบทบาทผู้สอนในวิชาต่างๆ ให้แก่ผู้พิพากษาโดยสิ้นเชิง สถานการณ์เช่นนี้อาจไม่ใช่สถานการณ์ที่เลวร้ายนัก เพราะอย่างน้อยที่สุดนักศึกษาก็อาจได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ในทางปฏิบัติของผู้พิพากษา หรืออาจจะมีผู้พิพากษาจำนวนไม่น้อยที่สำเร็จการศึกษาระดับสูงและมีความสามารถในทางวิชาการอย่างสูงเช่นเดียวกัน แต่อย่างน้อยที่สุดสภาพการณ์ดังกล่าวก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สถาบันทางวิชาการในประเทศไทยยังมีบทบาทตามศาลและผู้พิพากษาหรือตุลาการอยู่มาก และมีความพร้อมน้อยมากที่จะส่งอิทธิพลทางวิชาการไปยังศาลในลักษณะที่จะทัดทานหรือถ่วงน้ำหนักการให้เหตุผลในคำพิพากษาของศาลได้ 

7. บทสรุป
 “วิชาการ” และ “ตุลาการ” ในระบบกฎหมายไทยไม่ควรเป็นโลกคู่ขนานกันอีกต่อไป เพราะภาวะโลกคู่ขนานเช่นว่านี้จะเป็นการทำลายตัวเองของทั้งวิชาการและองค์กรตุลาการด้วย การสร้าง “ตุลาการวิชาการ” หรือ “ศาลวิชาการ” จึงเป็นเรื่องพึงปรารถนาอย่างยิ่งสำหรับสังคมการเมืองไทย ศาลวิชาการดังกล่าวนี้ ได้แก่ ศาลที่มีวิธีคิดทางวิชาการ และสามารถนำวิธีคิดในทางวิชานั้นมาช่วยในการพัฒนาระบบการให้เหตุผลในคำพิพากษาได้ดีมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากเรามีสมมติฐานว่า ประชาชนคือผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งแผ่นดิน และหากเรามีสมมติฐานต่อไปว่าประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้มีเหตุมีผล และเป็นผู้ที่ยินยอมให้องค์กรของรัฐทั้งหลายสามารถใช้อำนาจรัฐได้นั้น การปฏิบัติหน้าที่ของศาลที่ยึดถือหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนจึงเท่ากับว่า ศาลปฏิบัติหน้าที่โดยยึด “ระบบแห่งเหตุผล” ที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดนั้นเอง เราจึงอาจกล่าวได้ว่า องค์อธิปัตย์ที่แท้จริงของสังคมการเมืองก็คือ “ความมีเหตุมีผล” นั่นเอง

การสร้างความมีเหตุมีผลดังกล่าวให้เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานของศาลได้นั้น จะต้องได้รับอิทธิพลและแรงสนับสนุนจากวงการวิชาการ ซึ่งองค์กรวิชาการโดยเฉพาะโรงเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยทั้งหลายจะต้องพัฒนาตนเองให้มีความพร้อมในการที่จะส่งอิทธิพลทางวิชาการไปยังศาลอย่างแท้จริง นอกเหนือจากนั้นศาลหรือตุลาการจะต้องไม่ปิดประตูในการยอมให้อิทธิพลหรือแนวคิดในการทำงานทางวิชาการให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานของตนเองด้วย หากวิชาการและตุลาการประสานหรือร่วมมือกันได้อย่างแท้จริง และหากอำนาจนอกเหนือกฎหมายใดๆ จะได้คลายอิทธิพลของตนเองลงเสียบ้าง เมื่อนั้นวิชาการและศาลคงได้มีโอกาสในการพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งเหตุผลอย่างแท้จริง

 

ที่มา: เฟสบุ๊ค ทฤษฎีสิทธิขั้นพื้นฐาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net