สุรพศ ทวีศักดิ์: ปรัชญากับ ‘ฉันทามติเหลื่อมซ้อน’ ทางการเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จอห์น รอลส์ (John Rawls) นักปรัชญาชาวอเมริกัน คือผู้ที่เริ่มนำเรื่อง “ความยุติธรรม” (justice) มาอภิปรายในฐานะเป็นประเด็นปัญหาพื้นฐานทางปรัชญาการเมือง แต่ปรัชญาการเมืองของรอลส์ เป็นปรัชญาเชิงปฏิบัติ (practical philosophy) ที่พยายามเสนอหลักการสำหรับนำมาใช้กับระบบสังคมการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย 

ในงานชิ้นแรกของเขา คือ “ทฤษฎีความยุติธรรม” (A Theory of Justice) รอลส์เสนอว่า เราจะสร้าง “หลักความยุติธรรมที่เป็นธรรม” (justice as fairness) กับทุกคนขึ้นมาได้อย่างไร และหลักความยุติธรรมเช่นนั้นจะมีหน้าตาอย่างไร ที่เราควรนำมาใช้เป็นระบบหรือแบบแผนความร่วมมือในสังคมการเมือง 

วิธีการได้มาซึ่งหลักความยุติธรรมที่เป็นธรรมกับทุกคน รอลส์เสนอว่า ต้องมีเงื่อนไขที่เป็นธรรมรองรับการเลือกหลักความยุติธรรมก่อน นั่นคือ เงื่อนไขที่กำหนดว่า ผู้มีส่วนร่วมเลือกหลักความยุติธรรม ต้องอยู่ใน “สถานะแรกเริ่ม” (original position) ที่เท่าเทียมกัน คือทุกคนต้องอยู่หลัง “ม่านความไม่รู้” (veil of ignorance) หมายถึง ผู้มาร่วมตกลงเลือกหลักความยุติธรรม ต้องไม่รู้ว่าตนเองเป็น “ตัวแทน” ของกลุ่มชนชั้นทางสังคม, ศาสนา, ความเชื่อ, ชาติพันธุ์, เพศ หรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ 

สถานะเท่าเทียมของทุกคนที่อยู่เบื้องหลังม่านความไม่รู้ คือทุกคนเป็น “บุคคลเสรีและเสมอภาค” (free and equal persons) ผู้มีเหตุผลที่มีความสามารถพื้นฐาน 2 ด้านหลักๆ คือ ความสามารถเข้าใจกรอบคิดความยุติธรรมทางการเมือง, การปรับใช้ และการกระทำจากหลักความยุติธรรมนั้นได้ และมีความสามารถเข้าใจกรอบคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ดี ที่ตนเองควรจะได้รับ เช่น การมีชีวิตครอบครัวที่ดี ความหมายของมีชีวิตที่มีคุณค่าโดยรวม เป็นต้น 

ดังนั้น เมื่อแต่ละคนเลือกหลักความยุติธรรม จากสถานะ “บุคคลเสรีและเสมอภาค” เหมือนกัน พวกเขาก็จะไม่เลือกจากจุดยืนของตัวแทนกลุ่มความเชื่อ หรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ แต่จะเลือกจากจุดยืนของ “ความเป็นมนุษย์” เหมือนกันว่า ในฐานะมนุษย์ผู้มีเหตุผล เราควรจะมีหลักความยุติธรรมแบบไหน เพื่อใช้เป็น “ระบบความร่วมมือที่เป็นธรรม” (a fair system of cooperation) มากที่สุดในการใช้ชีวิตทางสังคมการเมืองร่วมกับคนอื่นๆ และหลักความยุติธรรมนั้น จะเป็นหลักประกันให้เราแต่ละคนในฐานะปัจเจกบุคคล สามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆ ของตนเองได้อย่างไร หรือเอื้อต่อการเลือกชีวิตที่ดีในแบบของตนเองได้อย่างไร  

หน้าตาของหลักความยุติธรรมที่จะตอบโจทย์หลัก 2 ข้อนั้นได้ คือ “หลักความยุติธรรมที่เป็นธรรม” กับทุกคนมากที่สุด ซึ่งมีหลักการพื้นฐาน 2 ประการ ได้แก่ “หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม” (the principle of equal liberties) คือ การมีหลักประกันว่า ทุกคนในสังคมต้องมีเสรีภาพปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมืองเท่าเทียมกัน และ “หลักความแตกต่าง” (the difference principle) คือ การมีหลักประกันว่า ความแตกต่างทางเศรษฐกิจควรยอมรับได้ ด้วยเงื่อนไขหลัก 2 ประการ (a) ต้องเปิดโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรมมากที่สุดในการเข้าสู่ตำแหน่งสาธารณะ และอาชีพการงานต่างๆ และ (b) หากรัฐจะปฏิบัติต่อพลเมืองแตกต่างกัน ควรเป็นไปเพื่อให้คนที่ได้เปรียบน้อยที่สุดได้รับประโยชน์มากที่สุด 

หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม คือหลักประกัน “เสรีภาพเชิงลบ” (negative liberties - เสรีภาพจากการถูกบังคับโดยเผด็จการทุกรูปแบบ) ในความหมายกว้างที่สุดว่า แต่ละคนมีเสรีภาพปัจเจกบุคคล (individual liberties)  ในการเลือกใช้ชีวิตส่วนตัว หรือเลือกความคิด, ความเชื่อ, ศาสนา, ไม่ศาสนา และอื่นๆ ได้เต็มที่ ตราบที่ไม่ละเมิดเสรีภาพคนอื่น และแต่ละคนมีเสรีภาพทางการเมือง (political liberties) ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคมได้เต็มที่ ภายใต้แบบแผนของการมีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ เท่าเทียมกันของทุกคน 

ส่วนหลักความแตกต่าง คือหลักประกัน “เสรีภาพเชิงบวก” (positive liberties) โดยรัฐให้หลักประกันการกระจายโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรม และให้หลักประกันสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้พลเมืองมีความมั่นคงในการดำเนินชีวิต และสามารถใช้ความคิด จินตนาการ ความฝันในทางสร้างสรรค์ในการสร้างอาชีพ รายได้ และอื่นๆ เพื่อบรรลุตามเป้าหมายของตนเอง

งานชิ้นที่สองของรอลส์ ชื่อ “เสรีนิยมทางการเมือง” (Political Liberalism) ซึ่งเป็นส่วนขยายของ “ทฤษฎีความยุติธรรม” หรือนำหลักความยุติธรรมในทฤษฎีความยุติธรรม มาใช้เป็นหลักความยุติธรรมสาธารณะทางการเมืองและสังคม ในระบอบเสรีประชาธิปไตย สาระสำคัญคือ หลักความยุติธรรมที่เป็นธรรม ซึ่งได้มาจากข้อตกลงของบุคคลเสรีและเสมอภาค ถูกนำมาใช้เป็นหลักความยุติธรรมทางการเมืองและสังคมของ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) ในระบอบเสรีประชาธิปไตย 

ความต่างคือ ใน “ทฤษฎีความยุติธรรม” บุคคลเสรีและเสมอภาคอยู่ใน “โลกสมมติ” คือ อยู่ในสถานะแรกเริ่ม หลังม่านความไม่รู้ ทุกคนต่างไม่รู้ว่าตนเองคือตัวแทนสถานะชนชั้นทางสังคม, ความเชื่อ และอื่นๆ แต่ใน “เสรีนิยมทางการเมือง” บุคคลเสรีและเสมอภาคออกมาจากหลังม่านความไม่รู้แล้ว เป็นคนที่อยู่ใน “โลกจริง” ที่ต่างรู้ หรือมีสำนึกชัดเจนว่า ตนเองมีสถานะทางสังคม, ชาติพันธุ์, เพศ, วัฒนธรรม หรือสมาทานระบบความเชื่อทางศาสนา, ไม่มีศาสนา, หรือสมาทานปรัชญาต่างๆ หรือความเชื่อต่างๆ แบบโลกวิสัย (secular beliefs) ที่แตกต่างหลากหลาย

ปัญหาคือ ประชาชนในระบอบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเป็นทั้ง “บุคคลเสรีและเสมอภาค” ที่มี “อิสรภาพในการกำหนดตนเองทางศีลธรรม” (moral autonomy) อันเป็นอิสรภาพที่จะเลือกความหมายของความดี, สิ่งที่ดี หรือการมีชีวิตที่ดี ตามความเชื่อที่แตกต่างและหลากหลาย และยังมี “อิสรภาพในการกำหนตนเองทางการเมือง” (political autonomy) ในรูปแบบของการมีส่วมร่วมทางสังคมการเมือง ในฐานะ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” ด้วย อย่างแรกเป็นอำนาจในพื้นที่ส่วนตัวของปัจเจกบุคคล ที่รัฐหรือสังคมต้องเคารพ อย่างหลังเป็นอำนาจใน “พื้นที่สาธารณะ” อันเป็นพื้นที่ที่ต้องการ “ความเห็นพ้อง” ที่สมเหตุสมผล ควรที่พลเมืองเสรีและเสมอภาคทุกคนจะยอมรับร่วมกันได้ แล้ว “ตัวตนปัจเจก” กับ “ตัวตนสาธารณะ” จะไม่ขัดแย้งกันหรือ

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รอลส์เสนอว่า เราต้องแยกระหว่าง “คุณค่าทางศีลธรรม” (moral values) กับ “คุณค่าทางการเมือง” (political values) 

รอลส์อธิบายว่า คุณค่าทางศีลธรรม มีแหล่งที่มาหลากหลาย เช่นศาสนาต่างๆ ปฐมปรัชญาต่างๆ ปรัชญาเสรีนิยมเฉดต่างๆ ความเชื่อแบบโลกวิสัยต่างๆ เท่ากับเขายืนยันว่า สังคมเสรีประชาธิปไตยยอมรับ “พหุนิยมทางศีลธรรม” (moral pluralism) ซึ่งหมายถึง กรอบคิดในเรื่องถูก ผิดทางศีลธรรม ที่แตกต่างหลากหลายตาม “ระบบความเชื่อที่ครอบคลุม” ต่างๆ (comprehensive doctrines) ทั้งระบบความเชื่อแบบศาสนา และแบบไม่ใช่ศาสนา คุณค่าทางศีลธรรม เป็นสิ่งที่เราแต่ละคนในฐานะ “บุคคลเสรีและเสมอภาค” จะเลือกได้อย่างเสรี

ส่วนคุณค่าทางการเมือง คือ “คุณค่าสาธารณะ” ต่างๆ (public values) ที่เราทุกคนในฐานะ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” ต้องยึดถือร่วมกัน เพื่อเป็นหลักการหรือแบบแผนของ “ความร่วมมือที่เป็นธรรม” ในทางสังคมการเมือง ซึ่งได้แก่ หลักความยุติธรรม 2 ประการ ดังกล่าวแล้ว โดยคุณค่าสาธารณะทางการเมือง ต้องเป็นคุณค่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และในโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ที่ระบุถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมต่างๆ ของพลเมือง การกระจายโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรมด้านต่างๆ หลักประกันสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่างๆ แก่พลเมือง เป็นต้น 

คุณค่าทางการเมือง ถือเป็น “คุณค่าแกนกลาง” (core values) หรือคณค่าหลักของระบอบเสรีประชาธิปไตย ที่พลเมืองเสรีและเสมอภาคทุกคน ต้องยึดถือและรักษาไว้ร่วมกันจากรุ่นสู่รุ่น เพราะมันเป็นคุณค่าพื้นฐานที่เป็นหลักประกันให้เราแต่ละคนมีเสรีภาพที่จะเลือกความเชื่อ และการมีชีวิตที่ดี ตามเจตจำนงของตนเองได้เท่าเทียมกัน และเป็นหลักประกันให้เรามีแบบแผนความร่วมมือที่เป็นธรรมทางการเมืองและสังคม ผ่านรัฐธรรมนูญ ระบบกฎหมาย สถาบันการเมือง สถาบันยุติธรรม เศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทางสังคม 

อย่างไรก็ตาม รอลส์เห็นว่า เราสามารถนำคุณค่าทางศีลธรรมที่แตกต่างหลากหลายจากระบบความเชื่อต่างๆ มาสนับสนุนคุณค่าทางการเมืองได้ ด้วยการนำคุณค่าทางศีลธรรมนั้นๆ มาอภิปรายสาธารณะ แต่ไม่ใช่นำมาอภิปรายบนจุดยืนที่ต้องการโน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อ หรือศรัทธานับถือคุณค่าทางศีลธรรมที่เราเชื่อว่าเป็นคุณค่าทางศีลธรรมที่ “ดีในตัวมันเอง” หรือ “น่าศรัทธาในตัวมันเอง” อย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อแสดง “ความเหนือกว่า” คุณค่าทางการเมืองที่พลเมืองทุกคนยึดถือร่วมกัน ตัวอย่างเช่น การอภิปรายสาธารณะด้วยการเสนอว่า “ประชาธิปไตยจะเป็นระบบที่เลวร้ายที่สุด ถ้าไม่มีธรรมะกำกับ” หรือ “ทุกระบบการปกครอง ไม่ว่าเผด็จการ หรือประชาธิปไตยจะเป็นระบบที่ดีหมดถ้ามีธรรมะ ถ้าผู้ปกครองถือธรรมาธิปไตย” แบบนี้คือการนำคุณค่าทางศีลธรรมตามความเชื่อของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาอภิปรายสาธารณะ ในแบบที่ไม่มี “ความสมเหตุสมผล” ที่จะให้พลเมืองเสรีและเสมอภาค (ที่มีความเชื่อทางศาสนาและไม่ใช่ศาสนาแตกต่างกันอยู่แล้ว) สามารถยอมรับร่วมกันได้

วิธีที่ถูกคือ ในฐานะพลเมืองเสรีและเสมอภาค เมื่อเราจะอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เช่นประเด็นว่า กฎหมาย หรือกติกาแบบไหนที่พลเมืองทุกคนควรยึดถือร่วมกัน หรืออะไรคือนโยบาย, ผลประโยชน์ที่พลเมืองทุกคนพึงมีพึงได้อย่างเป็นธรรม เป็นต้น เราต้องอภิปรายเรื่องเหล่านั้นบนจุดยืนในการรักษาและปกป้อง “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” ทางการเมืองและสังคมในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็คือ หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม การกระจายโอกาส และสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ที่เท่าเทียมและเป็นธรรม รวมทั้งหลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน หลักสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ดังนั้น คุณค่าทางศีลธรรมตามความเชื่อทางศาสนา และปรัชญาต่างๆ ที่เรานำมาอภิปรายสาธารณะ จึงไม่ใช่นำมาเพื่อ “โฆษณาชวนเชื่อ” ให้กับระบบความเชื่อที่ตนเองทำหน้าที่เป็นตัวแทนนำเสนอ หรือเพื่อโปรโมทระบบความเชื่อส่วนตัวของตนเอง แต่ต้องมานำมาแสดงเหตุผลให้คนอื่นๆ สามารถยอมรับร่วมกันได้อย่างสมเหตุสมผลว่า คุณค่าทางศีลธรรมนั้นๆ สนับสนุนหลักความยุติธรรมสาธารณะ หรือหลักการพื้นฐานต่างๆ ของระบอบประชาธิปไตยอย่างไร

วิธีการเช่นนี้ รอลส์เรียกว่าเป็นวิธีการนำคุณค่าทางศีลธรรมแบบต่างๆ ที่เราแต่ละคนยึดถือมาอภิปรายสาธารณะในรูปของ “เหตุผลสาธารณะ” (public reason) คือ การใช้เหตุผลที่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมสาธารณะทางการเมืองและสังคม ในระบอบเสรีประชาธิปไตย ที่พลเมืองเสรีและเสมอภาคทุกคนสามารถเห็นพ้องหรือยอมรับร่วมกันได้ 

ความเห็นพ้องกันนี้ รอลส์เรียกว่า “ฉันทามติเหลื่อมซ้อน” (overlapping consensus) อันเป็นฉันทามติที่เกิดจากการนำคุณค่าทางศีลธรรมจากระบบความเชื่อที่ครอบคลุมของศาสนาต่างๆ ปรัชญาต่างๆ กระทั่งความเชื่อของชนพื้นเมืองในวัฒนธรรมต่างๆ ในส่วนที่มี “ความหมาย” หรือ มี“นัยยะสำคัญ” ในเชิงสนับสนุนระบบความร่วมมือที่เป็นธรรม บนหลักความยุติธรรมทางการสังคมการเมือง ที่ยึดโยงกับคุณค่าพื้นฐานต่างๆ ของระบอบเสรีประชาธิปไตย

ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ (Charles Taylor) สนับสนุนความคิดรอลส์ว่า ที่จริงแล้ว สิ่งที่เรียกว่า “ฉันทามติเหลื่อมซ้อน” มีอยู่แล้วในคุณค่าทางศีลธรรมตามระบบความเชื่อของศาสนาและปรัชญาต่างๆ กระทั่งระบบความเชื่อของชนเผ่าในวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ความเชื่อของชาวคริสต์ที่ว่า เราทุกคนถูกสร้างขึ้นในจินตภาพของพระเจ้า หรือเสมอภาคกันในสายตาของพระเจ้า, ความเชื่อของชาวพุทธเรื่องหลักอหิงสา หรือการไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน, ปรัชญาสายคานท์ ที่ยืนยันการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน, ปรัชญาสายประโยชน์นิยม ที่ยืนยันการส่งเสริมประโยชน์สุขของมนุษย์ทุกคน, ความเชื่อของชนเผ่า ที่เชื่อในพลังธรรมชาติ และเชื่อว่าทุกชีวิตดำรงอยู่ในแบบแผนของการพึ่งพากันและกันตามกฎธรรมชาติ เป็นต้น แม้ว่าผู้คนในแต่ละระบบความเชื่อ อาจจะบรรลุการมีชีวิตที่ดีตามเป้าหมายของตนเอง ด้วยวิถีทางหรือครรลองที่ต่างกัน แต่ความเชื่อที่มีความหมายหรือมีนัยยะสำคัญ “เหลื่อมซ้อนกัน” นี้ ย่อมสามารถนำมาสนทนาแลกเปลี่ยน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในแบบต่างๆ เพื่อสนับสนุน “ความร่วมมือ” ในการรักษาปกป้องคุณค่าสาธารณะระดับพื้นฐานต่างๆ ของระบอบเสรีประชาธิปไตยได้ 

จากที่อภิปรายมา ทำให้เราคิดต่อได้ว่า แม้แต่ในความคิดความเชื่อของ “กลุ่มเสื้อสี” ต่างๆ ทางการเมืองในบ้านเรา ก็ย่อมสามารถมองหา หรือสร้าง “ฉันทามติเหลื่อมซ้อน” ที่สมเหตุสมผลให้ทุคนยอมรับร่วมกันได้ เพราะในข้อเรียกร้องและข้อเสนอของแต่ละฝ่าย อาจมีสาระสำคัญที่ “เหลื่อมซ้อนกัน” อยู่ เช่น ฝ่าย พธม., กปปส. เรียกร้องให้มีนักการเมือง พรรคการเมืองสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้, การลดความเหลื่อมล้ำ, การกระจายอำนาจ เป็นต้น ข้อเรียกร้องเช่นนี้ย่อมจัดเป็น “ประโยชน์สาธารณะ” อยู่แล้ว และสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของฝ่ายประชาธิปไตย ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบโครงสร้างให้เป็นประชาธิปไตยที่ทุกระบบอำนาจ ไม่ว่าสถาบันกษัตริย์ นักการเมือง พรรคการเมือง และระบบราชการทั้งหมด ต้องสุจริตและถูกตรวจสอบได้ในมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งข้อเรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการ และอื่นๆ 

แต่ทำไม สองขั้วความคิดทางการเมือง จึงไม่สามารถหา “ฉันทามติเหลื่อซ้อน” ที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้ เพื่อนำไปสู่ความเห็นพ้อง หรือข้อตกลงร่วมกัน ในการสร้างประชาธิปไตย ประเด็นนี้ หากพิจารณาจากความคิดของรอลส์ จะเห็นความคิดพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ “คุณธรรม” (virtue) ของ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” ในระบอบเสรีประชาธิปไตย

กล่าวคือ รอลส์ยืนยันว่า พลเมืองเสรีและเสมอภาค ในสังคมเสรีประชาธิปไตย จะต้องมี “คุณธรรมพื้นฐาน” ที่สำคัญ คือ “ความซื่อตรง” (honor) ต่อ “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” ของระบอบเสรีประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อเราแต่ละคนแสดงบทบาทในฐานะพลเมืองเสรีและเสมอภาค เช่น แสดงความเห็นสาธารณะทางการเมือง, ชุมนุมทางการเมือง และทำหน้าที่ในบทบาทของแคนดิเดตตำแหน่งสาธารณะต่างๆ, ผู้บริหารประเทศ, ผู้แทนราษฎร, ศาล และเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ เราจะต้องแสดงบทบาทหรือทำหน้าที่อย่างซื่อตรงต่อหลักความยุติธรรมสาธารณะ คือ หลักสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ ของพลเมือง หลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน เป็นต้น  

ดังนั้น ถ้าคุณทำหน้าที่ของศาลอย่าง “ซื่อตรง” ต่อหลักความยุติธรรมสาธารณะ ในระบอบประชาธิปไตย คุณจะใช้อำนาจวินิจฉัยในทางละเมิด “สิทธิการประกันตัว” เกี่ยวกับแค่เรื่องวิจารณ์กษัตริย อันเป็นการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะทางการเมืองไม่ได้ หรือจะตัดสินให้การปราศรัยสาธารณะทางการเมืองใดๆ ที่ยืนยันและสนับสนุนให้ประชาชนมีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น ให้สังคมเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นว่า “เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย” ไม่ได้เลย

พูดอีกอย่างว่า ก็คงดีอยู่หรอก ถ้าแต่ละคนจะยึดถือความซื่อสัตย์ซื่อตรง ตามกรอบความเชื่อทางศาสนาและอื่นๆ อันเป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” ของตนเอง แต่ถ้าปราศจาก “ความซื่อตรง” ต่อ “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” เสียแล้ว คุณก็ปราศจากคุณธรรมของพลเมืองเสรีและเสมอภาค และเมื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ปกครอง ข้าราชการทุกส่วน หรือในฐานะพลเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง หาก “ไม่ซื่อตรงต่อหลักความยุติธรรมสาธารณะ” หรือ “ไม่มีกระดูกสันหลัง” เสียแล้ว ความไม่ซื่อตรงนั้นนั่นแหละคือรากฐานของการทุจริตคอร์รัปฯ ต่อตัวหลักการและระบอบประชาธิปไตยที่นำมาสู่รัฐประหารทำสังคมพังพินาศมาจวบปัจจุบัน

กล่าวโดยสรุป ปรัชญาการเมืองของรอลส์ ได้ให้หลักคิด และแนวปฏิบัติที่ชัดเจนแก่เราว่า ในฐานะปัจเจกบุคคล เราแต่ละคนมีเสรีภาพที่จะเลือกสมาทานคุณค่าทางศีลธรรม เพื่อการมีชีวิตที่ดีส่วนตัว ตามระบบความเชื่อทางศาสนา และไม่ใช่ศาสนา หรือปรัชญาใดๆ ก็ได้ แต่ในฐานะพลเมืองเสรีและเสมอภาค ที่มีบทบาทหน้าที่ หรือเข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะทางสังคมการเมือง เราต้องเป็น “พลเมืองผู้มีกระดูกสันหลัง” คือมี “คุณธรรมพื้นฐาน” ของพลเมืองคือ “ความซื่อตรง” ต่อหน้าที่ในการเคารพและปกป้องหลักความยุติธรรมสาธารณะของระบอบเสรีประชาธิปไตย

โชคดีที่บ้านเรามีพลเมืองเสรีและเสมอภาคที่มีกระดูกสันหลัง หรือมี “ความซื่อตรง” อย่างแรงกล้าในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” ตามระบอบประชาธิปไตย เช่น คนแบบอานนท์, ไผ่, เพนกวิน, รุ้ง, ไมค์, เบนจา และกลุ่มคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกจำนวนมาก 

แต่โชคร้าย ที่ “ความไม่ซื่อตรง” ต่อหลักความยุติธรรมสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยของกลุ่มคนส่วนน้อย ที่กุมอำนาจนำทางการเมืองและเศรษฐกิจ ยังมีพลังอำนาจยึดกุมโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และทุกองคาพยพของรัฐไว้ในรูปแบบที่เราไม่อาจบรรยาย “ความฉ้อฉล” ต่อหลักความยุติธรรมสาธารณะ และต่อระบอบประชาธิปไตยของพวกเขาเหล่านั้นได้ครบถ้วน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท