Skip to main content
sharethis

อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อ 13 ธ.ค. 2564 เวลา 20.37 น.

13 ธ.ค. 2564 กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นและเครือข่าย เดินขบวนจากหน้าองค์การสหประชาชาติไปยังทำเนียบรัฐบาล ทวงถามการแก้ปัญหาโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ก่อนถูกตำรวจขวาง ปักหลักค้างคืนสะพานชมัยมรุเชฐ รอฟังมติ ครม. พรุ่งนี้ นายกรัฐมนตรีรับเร่งแก้ปัญหา พร้อมนำเรื่องเข้าประชุม ด้าน TPIPP พร้อมยุติโครงการหากประชาชนไม่เห็นด้วย

15.00 น. ไอลอว์และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ทวีตรายงานว่า กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นและเครือข่ายเคลื่อนขบวนจากหน้าองค์การสหประชาชาติมุ่งหน้าประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงสัญญาที่คณะรัฐมนตรีรับปากว่าจะหาทางแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

ผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง ประกาศห้ามใช้บางเส้นทาง และห้ามฝ่าแผงเหล็กเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยอาจเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ประมาณ 15.10 น. ขบวนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเคลื่อนถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตำรวจควบคุมฝูงชนปิดเส้นทางจราจร แม้เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจะพยายามเจรจาเพื่อขอให้ตำรวจเปิดทางแตไม่สำเร็จ จึงเปลี่ยนเส้นทางไปใช้ ถ.กรุงเกษม

ประมาณ 16.30 น. ขบวนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเคลื่อนถึงสะพานชมัยมรุเชฐ โดยมีกำลังตำรวจพร้อมโล่และแผงเหล็กตั้งขวางไม่ให้ข้ามไปยังทำเนียบรัฐบาล

17.16 น. สมบูรณ์ คำแหง อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า ตามข้อตกลงเดิมที่เคยทำไว้เมื่อปี 2563 ที่จะตรวจสอบการทำงานของ ศอ.บต., ต้องทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ให้ฝ่ายวิชาการตัดสินอนาคตของโครงการ แต่ยังไม่ได้ทำ และยุติโครงการไว้ก่อน ข้อเรียกร้องเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลยังทำไม่ครบ ถ้าไม่มีมติ ครม. ออกมา เราจะยังไม่กลับ เราจะยึดสะพานชมัยมนุเชฐเป็นหมู่บ้านลูกทะเลจะนะ และขอให้ผู้สังเกตการณ์ติดตามสถานการณ์ตลอดคืน

ประมาณ 17.25 น. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเริ่มเตรียมพื้นที่เพื่อปักหลักค้างคืนและละหมาดในช่วงเย็น

ด้านเว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 11.30 น. ระบุว่า ได้มอบหมายให้สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการนิคมฯ จะนะ เพื่อเจรจากับชาวบ้าน

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า การดำเนินการของรัฐบาล หวังให้ภาคใต้ของประเทศไทยมีรายได้สูงขึ้น ประชาชนสามารถประกอบกิจการ/กิจกรรม แต่เมื่อขั้นตอนการดำเนินการมีปัญหาก็ต้องนำกลับมาทบทวนใหม่ ให้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมถึงการทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งเฉยและจะเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน แต่ทุกอย่างจะต้องดำเนินการขั้นตอนและกฎหมาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่สามารถแทรกแซงได้ โดยจะนำไปหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้

ด้านสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม หรือกรีนนิวส์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2564 นราดล ตันจารุพันธ์ ผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ TPIPP ชี้แจงในช่วงท้ายเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 ต่อร่างขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการ “จะนะ เมืองต้นแบบที่ 4 เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ทางออนไลน์ว่า หากประชาชนไม่เห็นด้วยก็พร้อมยุติโครงการ

“บริษัทยินดีจะยุติโครงการ ไม่ใช่แค่ EIA-EHIA แต่ยกเลิกการดำเนินโครงการ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย ทั้งนี้เราอยากให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนให้ครบถ้วนทุกด้าน บริษัทจะได้มีข้อมูลครบถ้วนไปพิจารณาว่าเราควรจะเดินหน้าโครงการต่อไหม ถ้าเสียงออกมาว่าไม่เห็นด้วยกับรูปแบบที่บริษัทเสนอ บริษัทยืนยันว่าพร้อมจะยุติโครงการและหาทางเลือกอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกับชุมชน” นราดลกล่าว

ผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ TPIPP ย้ำว่า ความคิดเห็นดังกล่าวนี้เป็นเสียงสะท้อนจากทางผู้ใหญ่ของบริษัท เช่น ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ใหญ่ยังได้รับทราบถึงความคิดเห็นทั้งหมดในที่ประชุมครั้งนี้และติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา

“เราเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นและสอบถามให้มากที่สุด ทั้งผู้สนับสนุนและเห็นต่าง เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นซึ่งชุมนุมอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็อยู่ในแผนรับฟังความคิดเห็นทำ EHIA อยู่เช่นกัน” ตัวแทน TPIPP ย้ำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net