Skip to main content
sharethis

ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส-ขึ้นปีใหม่ในสหรัฐฯ คงหนีไม่พ้นการพูดถึงเรื่องของขวัญและซานตาคลอสที่กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเทศกาลนี้ อย่างไรก็ตามสำหรับคนผิวสีรวมถึงผู้ที่เติบโตมาในครอบครัวชาวแอฟริกัน-อเมริกันนั้นพวกเขาก็มีซานตาในจินตนาการที่มาจากการตีความใหม่ของตัวเองแบบที่ทำให้ครอบคลุมด้านเชื้อชาติสีผิว

แนนซี เรดด์ นักเขียนเรื่องไลฟ์สไตล์และอดีตตัวแทนผู้เข้าประกวดนางงาม เล่าถึงชีวิตในช่วงคริสต์มาสของเธอที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นคนดำ ซานตาคลอสที่มักจะปรากฏตามสื่อโฆษณาต่างๆ มักจะหนีไม่พ้นชายชราคนผิวขาว แต่สิ่งที่เธอทำในสมัยเด็กนั้นตรงกันข้ามกับสิ่งที่สื่อต่างๆ พยายามนำเสนอ เธอและแม่ของเธอมักจะดัดแปลงตีความซานตาใหม่ตามจินตนาการของพวกเขาเองด้วยการใช้สีน้ำตาลระบายผิวซานตาและเอลฟ์ที่ใช้ประดับประดาในงานเทศกาลที่บ้าน ให้เป็นไปตามเชื้อชาติสีผิวเดียวกับพ่อแม่ของเธอ

"ซานตาของพวกเราเป็นคนดำ แต่ในตอนเด็กนั้นฉันไม่ได้มองว่าเขาเป็น 'ซานตาแบบคนดำ' แต่อย่างใด แต่ซานตาคลอสก็คือซานตาคลอสที่ไม่ได้เพิ่มคำขยายนามใดๆ" เรดด์กล่าว

ในตอนเด็กนั้นแม่ของเรดด์โกหกเพื่อปลอบเธอว่าที่พวกเขาต้องระบายสีน้ำตาลลงบนซานตาแบบนี้เป็นเพราะบริษัทที่ผลิตเขามีสีไม่พอ แล้วเธอก็ดันเชื่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งค้นพบว่ามันเป็นเรื่องโกหกเมื่อเธออายุได้ 10 ปี

ตลอด 20 ปีหลังจากนั้นเรดด์ไม่ได้คิดถึงเรื่องซานตาอีกเลยจนกระทั่งเธอได้ให้กำเนิดลูกในช่วงฤดูร้อนปี 2554  (ในสหรัฐฯ คือ ราวเดือนมิถุนายน-กันยายน) ผ่านมาจนถึงช่วงวันขอบคุณพระเจ้าของปีนั้นพวกเขาก็ได้รับของขวัญเป็นชุดซานตาสำหรับเด็ก เธอลองสวมชุดนั่นให้กับลูกชายผิวสีน้ำตาลของเธอมันทำให้เธอหวนนึกถึงสมัยเด็กจนรู้สึกอยากจะจัดงานคริสต์มาสแบบในช่วงสมัยเด็กของเธออีกครั้ง

เรดด์เดินทางไปยังห้างร้านต่างๆ ด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมพร้อมจะจับจ่ายซื้อหาเครื่องประดับต่างๆ สำหรับงานคริสต์มาส แต่ทุกร้านค้าที่เธอเปิดประตูเข้าไปก็ทำให้เธอต้องปิดกลับอย่างรวดเร็ว เพราะถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไป 20 ปี แต่ซานตาในภาพอุดมคติของร้านค้าเหล่านี้ยังคงขาดความหลากหลายทางเชื้อชาติสีผิวเหมือนเดิม

นั่นทำให้เรดด์ทำสิ่งเดียวกับที่แม่ของเธอเคยทำ คือนำสีน้ำตาลมาระบายลงไปตามหน้าตาของซานตาให้ดูเป็นคนดำ มันชวนให้คิดถึงแม้ของเธอที่โตมาโดยไม่สามารถทำเช่นเดียวกับเธอได้เพราะยังคงอยู่ในยุคสมัยและช่วงเวลาที่มีการเหยียดผิวอย่างหนัก เธอโตมาในรัฐเวอร์จิเนีย ช่วงเวลาเดียวกับที่มีการประหารชีวิตผิดพลาดเพราะการตัดสินกล่าวหาคนดำคือกรณีของ มาร์ตินวิลล์ เซเว่น และแม่ของเธอยังได้สอนในชั้นเรียนที่แบ่งแยกสีผิวในวันเดียวกับที่นักสิทธิพลเมืองคนดำ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ถูกสังหาร ทำให้เรื่องการต้องมานั่งระบายสีซานตาให้เป็นคนดำแบบนี้ถือเป็นเรื่องระดับท้ายตารางของความเจ็บปวดทางเชื้อชาติสีผิวสำหรับแม่ของเธอ

แต่สำหรับเรดด์ เรื่องของซานตาผิวดำนับเป็นเรื่องระดับที่เธอรู้สึกเป็นการส่วนตัว ทำให้เธอรู้สึกราวกับภาพจำของครอบครัวเธอถูกทำให้ดับสูญ เพราะซานตาในสื่อต่างๆ มีแต่คนขาวขาดความหลากหลาย และไม่ได้สะท้อนประสบการณ์จากความเป็นจริงส่วนบุคคล จอร์จ ทาเคอิ นักแสดงเชื้อสายญี่ปุ่น-อเมริกันเคยเล่าถึงความทรงจำตอนที่มีซานตาชาวเอเชียมาเยี่ยมครอบครัวของเขาในช่วงที่เขาและครอบครัวถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมในค่ายกักกันชาวญี่ปุ่นในสหรัฐฯ

เรื่องราวของจอร์จ ทาเคอิ เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่ามันจะกลายเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเชื้อชาติสีผิวของซานตา ในตอนนั้นเป็นช่วงปี 2554 ยุคที่อินสตาแกรมและพีอินเทอร์เรสยังเพิ่งจะเริ่มต้น แต่เธอก็เริ่มได้พบเจอซานตาผิวสีในบางร้านค้าทั้งออนไลน์และในโลกจริงบ้างแล้ว ในตอนนั้นเธอหลงคิดไปว่าจะได้เจอซานตาผิวดำได้ง่ายขึ้นในเมืองใหญ่ที่มีความหลากหลาย แต่เธอก็คิดผิด เพราะว่าความจริงแล้วซานตาที่เธอพบยังเป็นซานตาที่หายาก เป็นสิ่งที่ห้างสรรพสินค้าเรียกว่าเป็น "ซานตาพิเศษ" ที่มีให้คนพบเห็นได้ในแบบปากต่อปากเท่านั้น

นั่นทำให้ถึงแม้ว่าเธอจะสามารถจัดการให้ลูกชายอายุ 2 ขวบของเธอมีประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจที่ได้เจอซานตาผิวดำได้ แต่สภาพที่พวกเธอต้องเป็นฝ่ายถามหาว่ามี "ซานตาพิเศษ" หรือไม่นั้นมันก็ช่างแสนจะเซอร์เรียลและชวนให้รู้สึกถูกทำให้เป็นอื่น เรื่องนี้เธอไม่ได้รู้สึกไปเองคนเดียว มีบทความของไอชา แฮร์ริส ที่ระบุว่าซานตาในสหรัฐฯ ยังเต็มไปด้วยซานตาแบบคนขาวแม้ว่าในทางการเมืองจะมีการเปลี่ยนแปลงให้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติสีผิวบ้างแล้ว

แน่นอนว่าข้อเรียกร้องต่อซานตาที่หลากหลายก็ถูกโต้กลับโดยกลุ่มที่อยากให้อำนาจวัฒนธรรมแบบเดิมยังคงอยู่ในสังคม หนึ่งในนั้นคือพิธีกรรายการทีวี เมกิน เคลลี ที่อ้างว่าซานตาและพระเยซูเป็นคนขาว (ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วพระเยซูเป็นชาวตะวันออกกลางผิวสีน้ำตาล แต่แค่มักจะถูกนำเสนอให้ดูเหมือนเป็นคนขาว)

แต่เรื่องความเป็นแบบฉบับดั้งเดิมอะไรเทือกนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญในการหยิบใช้เชิงวัฒนธรรมที่มีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยตลอดเวลา และมีการผลิตสร้างใหม่เรื่อยๆ ตามแต่บริบทแวดล้อม วัฒนธรรมไม่ใช่แค่เรื่องความถูกต้องหนึ่งเดียว เรดด์บอกว่าเธออยากเขียนหนังสือเด็กที่มีเรื่องราวคริสต์มาสของซานตาคนดำแล้วตั้งชื่อในเชิงท้าทายว่า "ซานตาที่แท้จริง" และอยากให้คนอื่นๆ ทำตามอย่างเธอแทนที่จะยอมให้ "คนใจแคบ" และ "ยืนอยู่บนฝั่งที่ผิดในทางประวัติศาสตร์" อย่างเคลลีมาบงการว่าอะไรคือความถูกต้องหนึ่งเดียว

นอกจากเรดด์แล้ว บริษัทห่อของขวัญชื่อ แบล็กซานตาคอมพานี (แปลว่า "บริษัทซานตาคนดำ") ของอดีตนักบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอ บารอน เดวิส ก็วางแผนที่จะทำให้มีซานตาผิวสีแพร่หลายในวัสดุประดับประดาเทศกาลคริสต์มาสในระดับที่จะทำให้เด็กๆ ในอนาคตไม่ต้องมานั่งระบายสีซานตาของตัวเองให้เป็นผิวสีอีกต่อไป

เรดด์เล่าว่า หนังสือภาพของเธอเป็นหนึ่งในสามเล่มที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในปีนี้ที่มีซานตาผิวสี ซึ่งพวกเขาต่างก็มีการตีความซานตาในแบบของตัวเองว่าซานตามีรูปลักษณ์อย่างไร แต่มันก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเธอ เพราะเธอมองว่ายิ่งมีรูปลักษณ์ตัวแทนซานตาที่หลากหลายมากก็ยิ่งดี เรดด์บอกว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะต้องทิ้งภาพความถูกต้องหนึ่งเดียวของซานตาไปเสียทีแล้วก็เลิกมาทะเลาะกับคนอื่นว่าการตีความแบบไหนที่ถูกต้องกว่าแบบอื่นๆ "มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องให้อำนาจในการตีความเรื่องเล่าของคริสต์มาสอยู่ในแหล่งที่สำคัญและมีคุณค่ามากที่สุด คืออยู่ในจินตนาการของเด็กๆ เอง"

เรียบเรียงจาก

In Search of Black Santa, Nancy Redd, New York Times, 09-12-2021

Jesus wasn’t white: he was a brown-skinned, Middle Eastern Jew. Here’s why that matters, The Conversation, 29-03-2018
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net