เคล็ดลับสำหรับนักข่าวที่ต้องการตีแผ่เรื่องราว 'ขนาดของความเหลื่อมล้ำ'

อดีต บ.ก. สำนักข่าวซันเดย์ไทมส์ของแอฟริกาใต้เผยวิธีทำข่าวตีแผ่เรื่องราว "ความเหลื่อมล้ำ" ด้วยเทคนิคการใช้ภาพถ่ายทางอากาศ และเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง 'โดรน' ซึ่งช่วยให้คนทั่วไปมองเห็นภาพกว้างจากมุมสูง และเห็นข้อมูลความเหลื่อมเชิงปริมาณและพื้นที่อย่างชัดเจนขึ้น

การแบ่งแยกอย่างชัดเจน – ชานเมืองพริมโรสตั้งอยู่ติดกับเขตเมืองมาเคาส์
ซึ่งอยู่ใกล้กรุงโจฮานเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ (ที่มา: ขอบคุณภาพจากจอห์นนี มิลเลอร์)
 

บางครั้งประเด็นข้อมูลเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำก็ปรากฎขึ้นชัดเจนอย่างมากหรือน่าตกใจระดับที่ตัวเลขก็สามารถจับความสนใจของผู้ฟังและนักวางแผนนโยบายได้ ตัวอย่างเช่นในปี 2017 การสืบสวนโดยทีมสปอตไลต์ของบอสตันโกลบ (Boston Globe) พบว่ารายได้เฉลี่ยสุทธิของครอบครัวคนผิวขาวอยู่ที่ 247,500 ดอลลาร์สหรัฐ แต่รายได้เฉลี่ยสุทธิของครอบครัวคนผิวดำในเมืองที่ไม่ใช่คนพลัดถิ่นกลับอยู่ที่ 8 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ความตกใจและความรู้สึกรังเกียจต่อตัวเลขรายได้หลักเดียวนั้นสร้างผลกระทบตามมาหลายอย่าง เช่น การตั้งสภาเศรษฐกิจคนผิวดำในภูมิภาคและการแทรกแซงเชิงนโยบายนานัปการ

แต่โดยทั่วไปแล้ว ข้อมูลช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน หรือระหว่างอภิสิทธิ์ชนและคนชายขอบ มีแนวโน้มที่จะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยจนเกือบไม่ทันสังเกต หรือมีแนวโน้มที่จะหา [ช่องวาง] ได้ยากกว่าเดิม หรือไม่เช่นนั้นก็ถูกฝังอยู่ในค่าดัชนีจีนี (GINI ratios) ซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงความไม่เสมอภาคของการแบ่งปันรายได้หรือความมั่งคั่งของประชากร ดังนั้น นักข่าวจึงมักต้องหาวิธีการอื่นๆ เพื่ออธิบายวิกฤติความเหลื่อมล้ำที่กำลังขยายตัวขึ้นทั่วโลก

“ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่เรื่องเงินและทรัพยากรเท่านั้น มันยังเกี่ยวกับเกียรติภูมิสุขภาพ ความเหยียดหยามและความโง่เขลาในเชิงนโยบายด้วย" - ทูกา วิเอรา (Tuca Vieira) ช่างภาพฟรีแลนซ์ชาวบราซิล 

ชัดเจนว่าความเหลื่อมล้ำกลายเป็นหนึ่งในหลายประเด็นของยุคเราที่สร้างพลังให้กับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง การเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง และความพยายามต่างๆ ในการสร้างความเป็นธรรมทั่วโลก

รายงานล่าสุดชิ้นหนึ่งของออกซ์แฟม (Oxfam) พบว่า "โควิด-19 มีโอกาสเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในเกือบทุกประเทศพร้อมๆ กันในคราวเดียว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการบันทึกมา" อีกทั้งรายงานยังระบุว่าบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 1,000 คนฟื้นตัวจากความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 แล้ว ขณะที่ "กลุ่มคนจนที่สุดในโลกอาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 1 ทศวรรษในการฟื้นตัว" นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบด้วยว่าผู้หญิงเป็นผู้รับเคราะห์ทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากที่สุด โดยสูญเสียงานกว่า 64 ล้านตำแหน่ง และเสียรายได้กว่า 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

วิธีการทางเลือกเพื่อใช้รายงานด้านความเหลื่อมล้ำ ได้แก่ เครื่องมือสร้างข้อมูลให้เป็นภาพ (visualization tools) ใหม่ๆ ที่สามารถเน้นให้เห็นข้อมูลที่สำคัญและแสดงให้เห็นถึงขนาดที่แท้จริงของช่องว่างเหล่านั้น

แผนภาพการกระจายตัวของจุดที่สร้างจาก Datawrapper แสดงให้เห็นสหสัมพันธ์ระหว่างความมั่งคั่งและอายุขัยเป็นรายประเทศตามขนาดของประชากร (ที่มา: ขอบคุณภาพจากอัลเบอร์โต ไคโร)
 

อัลเบอร์โต ไคโร (Alberto Cairo) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างข้อมูลให้เป็นภาพ (data visualization expert) จากมหาวิทยาลัยไมอามีบอกกับ GIJN ว่าแผนภาพการกระจายตัวของจุดที่สร้างโดยเครื่องมือเช่น Datawrapper สามารถแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างความมั่งคงและอายุขัยเป็นรายประเทศ สำนักข่าว The New York Times ใช้แผนภาพการไหลของของเหลว เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเหยียดชาติพันธุ์อย่างเป็นระบบในสหรัฐอเมริกาทำให้แม้แต่ชายผิวดำที่เกิดในครอบครัวร่ำรวยก็มีรายได้อยู่ในระดับที่ลดลงมาเมื่อโตขึ้น นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการใช้กราฟฟิกแบบเลื่อนอ่าน เพื่อแสดงให้เห็นช่องว่างอันบ้าคลั่งของความมั่งคั่งระหว่างชนชั้นแรงงานและเศรษฐีพันล้าน เช่น กราฟฟิกง่ายๆ ของแมตต์ โคโรสตอฟฟ์ (Matt Korostoff) เมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ บีบีซียังเคยแสดงให้เห็นด้วยว่าแผนภาพเสียงที่ใช้เสียงเพื่อแทนจุดข้อมูลต่างๆ โดยใช้เครื่องมืออย่าง TwoTone สามารถช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจตัวเลขที่เหลื่อมล้ำอย่างมากได้อย่างไร บีบีซีใช้เสียง “กริ๊ง” ที่เกิดจากการกระทบกันของทองแท่ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่น่าตกใจระหว่างการเพิ่มขึ้นของค่าแรงแรงงานและกำไรของบริษัทในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา

ขณะเดียวกัน นักข่าวจำเป็นต้องมีทรัพยากรในการลดผลกระทบจากการขาดความหลากหลายในสำนักข่าวของตัวเองเมื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับความยากจน นักข่าว 2 คนที่เติบโตมาท่ามกลางความยากจนสร้างหนังสือเกร็ดความรู้ให้กับแหล่งทรัพยากรเพื่อนักข่าว (Journalist’s Resource) ของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ซึ่งอธิบายว่าทำไมคำว่า “ความจนเป็นแรงผลักดัน” อาจเป็นคำที่ไม่ให้เกียรติ ควรหลีกเลี่ยงการเหมารวมอย่างไรและเพราะเหตุใด เหนือสิ่งอื่นใด นักข่าวต้อง “อยู่กับผู้คนที่ต่างจากคุณมากๆ ให้เยอะๆ”

เปิดเผยความเหลื่อมล้ำจากด้านบน

ภาพในปี 2004 ที่มีชื่อเสียงของทูกา วิเอรา แสดงให้เห็นถึงการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างสลัมในปาไรโซโปลิส
และอะพาร์ตเมนต์ที่หรูหราในย่านโมรัมบีของเซาเปาโล ประเทศบราซิล (ที่มา: ขอบคุณภาพจาก ทูกา วิเอรา)
 

ภาพถ่ายทางอากาศเป็นหนึ่งในวิธีการที่ทรงพลังที่สุดเพื่อเผยช่องว่างความมั่งคั่งและทรัพยากรระหว่างชุมชนต่างๆ

ทูกา วิเอรา (Tuca Vieira) ช่างภาพฟรีแลนซ์ชาวบราซิล ได้ถ่ายภาพของความเหลื่อมล้ำที่อาจกล่าวได้ว่าโดดเด่นในที่สุดในโลกให้กับหนังสือพิมพ์เดอะ โฟลฮา เดอ เซา เปาโล (the Folha de São Paulo) ในปี 2004 ภาพถ่ายจากเฮลิค็อปเตอร์แสดงให้เห็นชั้นสระน้ำเรียงซ้อนกันเป็นแนวดิ่งโดยวนอยู่รอบอาคารอะพาร์ตเมนต์หรูที่ตั้งอยู่เหนือสลัมปาไรโซโปลิสสุดแออัดในเมืองเซาเปาโล

“ภาพของผมถูกใช้ในหลายที่มากๆ แต่สิ่งที่ทำให้ผมดีใจที่สุดคือมันถูกใช้ในหนังสือเรียน ความเหลื่อมล้ำแย่มากๆ แล้วในตอนนั้น แต่เราก็ยังมาเผชิญกับโรคระบาดอีก และดูเหมือนว่ามันจะแย่ลงอีกมากๆ อย่างฉับพลัน ขณะที่เศรษฐีพันล้านได้ความมั่งคั่งใหม่เพิ่มขึ้นอย่างเหลือเชื่อในระยะเวลาอันสั้นนั้น” วิเอรา กล่าว

ขณะที่รายได้เฉลี่ยสุทธิของครอบครัวคนผิวขาวอยู่ที่ 247,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ รายได้เฉลี่ยสุทธิของครอบครัวคนผิวดำในเมืองที่ไม่ใช่คนย้ายถิ่นกลับอยู่ที่ 8 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

ขณะที่นักวางผังเมืองทั่วโลกในยุคศตวรรษที่ 20 ขีดเส้นแบ่งเขตเมือง บังคับให้แรงงานไปต้องอยู่ในเขตชุมชนหรือสลัมที่ห่างออกไปจากบริเวณรอบนอกของเมืองเพียงไม่กี่ไมล์ แต่วิเอรากล่าวว่าการแผ่ขยายตัวในเวลาต่อมาของชุมชนเหล่านั้น รวมถึงการเติบโตของชุมชนตั้งรกรากแบบไม่เป็นทางการในพื้นที่ระหว่างทั้งสองเขต ทำให้เห็นว่าบ่อยครั้งในปัจจุบันที่คนรวยและคนจนถูกกั้นออกจากกันด้วยถนนหรือรั้วเพียงรั้วเดียวเท่านั้น วิเอรากล่าวว่าปรากฏการณ์นี้เป็นโอกาสสำหรับนักข่าวในการตีแผ่ให้เห็นถึงความหมายของข้อมูลช่องว่างความมั่งคั่งด้วยภาพเพียงใบเดียวได้

แต่เขาก็เตือนว่าภาพถ่ายทางอากาศจำเป็นต้องถูกนำเสนอพร้อมๆ กับภาพถ่ายจากพื้นดินด้วย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของชีวิตในระดับปัจเจกบุคคล และความเลวร้ายของความเหลื่อมล้ำที่มักยังไม่เป็นที่รู้จัก วิเอรายังคงถ่ายทำเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมอย่างต่อนื่องและเมื่อไม่นานมานี้ได้ตีพิมพ์หนังสือที่มีภาพกว่า 200 ภาพเพื่อสำรวจว่าชุมชนในเมืองแต่ละแห่งมีวิถีชีวิตต่างกันมากเพียงใด

"ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่เรื่องเกี่ยวกับเงินและทรัพยากรเท่านั้น มันยังเกี่ยวกับเกียรติภูมิสุขภาพ ความเหยียดหยามและความโง่เขลาในเชิงนโยบายด้วย ถ้าคุณอยากให้คนฉุกคิด คุณจำเป็นต้องทำให้ภาพสร้างแรงสั่นทะเทือน แต่ต้องเป็นแรงสั่นสะเทือนพร้อมกับบริบทและข้อมูลที่ดีด้วย” วิเอรากล่าว

วิเอราเสริมว่า “แนวคิดเรื่องคุณธรรมนิยม ที่บอกว่าถ้าคุณเพียงแค่เล่นตามกติกาและทำงานหนัก คุณก็จะประสบความสำเร็จนั้น มันไม่ใช่เรื่องจริงเลย ระบบมันไม่เป็นธรรมจริงๆ และผมคิดว่าการถ่ายภาพแบบนี้สามารถแสดงให้เห็นได้”

แต่เฮลิค็อปเตอร์ก็ราคาแพง ขณะเดียวกัน ภาพจากดาวเทียมก็ความละเอียดต่ำและยากจะกำกับควบคุมได้

สำหรับผู้เชี่ยวชาญบางคน ยุคใหม่แห่งการใช้โดรนต้นทุนต่ำไม่เพียงแต่มอบโอกาสให้นักข่าวสามารถเข้าถึงการถ่ายภาพทางอากาศได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเก็บข้อมูลและสร้างโมเดลจำลองสามมิติได้อย่างทรงพลังอีกด้วย

แนวสลัมตั้งอยู่ริมแม่น้ำมิธิ ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ไม่ไกลจากสำนักงานตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติ
(ที่มา: ขอบคุณภาพจาก จอห์นนี มิลเลอร์)
 

องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านความยุติธรรมทางสังคมที่ชื่อว่า Unequal Scenes ได้สร้างความตระหนักรู้อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำเรื้อรังในเมือง และจุดประกายให้เกิดการสนทนาใหม่ๆ เกี่ยวกับทางออกเชิงนโยบาย ผ่านการใช้ภาพถ่ายจากโดรน

ผู้ก่อตั้งองค์กร จอห์นนี มิลเลอร์ (Johnny Miller) ได้ถ่ายภาพชุมชนคนรวยและคนจนต่างๆ จากข้างบนในระยะใกล้กว่า 24 เมือง ตั้งแต่ซีแอตเทิลไปถึงมุมไบและเม็กซิโกซิตี้ โดยภาพหนึ่งจากประเทศแอฟริกาใต้ถูกใช้เป็นปกของนิตยสารไทม์ในเดือน พ.ค. 2019

มิลเลอร์ ยังเป็นผู้ก่อตั้ง africanDRONE องค์กรไม่แสวงหากำไรที่สนับสนุน “โดรนก่อประโยชน์” ในแอฟริกา ช่วยเหลือสำนักข่าวและองค์กรประชาสังคมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบใบอนุญาตของท้องถิ่น ช่วยหาผู้เชี่ยวชาญหลังการถ่ายทำ ช่วยลดต้นทุนต่างๆ เกี่ยวกับโดรน รวมถึงช่วยให้องค์กรเหล่านั้นมาสารถเชื่อมต่อถึง “นักขับโดรนพลเมือง” ได้ นอกจากนี้ africanDRONE ยังเรื่องภาพฟุตเทจจากโดรนเพื่อใช้ประกอบโครงการข่าวสอบสวนของ Carte Blanche, สำนักข่าว News24, และหนังสือพิมพ์ Sunday Times จากประเทศแอฟริกาใต้อีกด้วย

“ผมคิดว่าโครงการ Unequal Scenes เป็นสิ่งที่พลิกวงการเลย เพราะมันทำให้ผู้คนที่สื่อสารเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำสามารถแสดงออกได้ผ่านภาพนิ่งเพียงรูปเดียว ข้างนอกไม่ค่อยมีภาพที่แสดงให้เห็นความมั่งคั่งและความยากจนอยู่แนบชิดกันเท่าไร ซึ่งเป็นเรื่องแปลก แต่ส่วนใหญ่แล้วมันมักถูกซ่อนอยู่จากถนน แต่กลับไม่ถูกซ่อนจากด้านบนลงมา” มิลเลอร์กล่าว

“Unequal Scenes คือการกระทำแห่งการขัดขืน ผมต่อต้านโครงสร้างอำนาจจารีตที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ถูกกลบซ่อนอยู่เป็นอย่างดีจากทุกทิศทาง ยกเว้นจากทางด้านบนโดยตรง หากภาพเหล่านี้ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจต่างๆ เช่น ความกลัว ความสิ้นหวัง หรือตระหนักว่าคุณมีส่วนผิดจนทำให้รู้สึกนั่งไม่ติด นั่นก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว”

ความขาดแคลนที่ถูกซ่อนไว้: ความตกใจส่วนตัว 

ชุมชนตั้งบ้านเรือนระเกะระกะบนถนนปาลเมียต ประเทศแอฟริกาใต้
ซึ่งตั้งอยู่ข้างหลุม 6 ของสนามกอล์ฟปัปวา ซิวโกลุม (ที่มา: ขอบคุณภาพจาก จอห์นนี มิลเลอร์)
 

ฟิลป์ (ผู้เขียน) สามารถยืนยันผลกระทบที่สร้างความสะเทือนใจนี้ได้เป็นอย่างดี เขาไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตนเองมีส่วนร่วมในความอยุติธรรมทางสังคมที่เลวร้ายในตอนที่เขาไปออกรอบที่สนามกอล์ฟปัปวา ซิวโกลุม (Papwa Sewgolum) ในประเทศแอฟริกาใต้เมื่อสองสามปีก่อน ในทางตรงกันข้าม เขากลับรู้สึกดีที่ได้ลองใช้ทักษะการตีกอล์ฟอันจำกัดของตนเองบนสนามที่ตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติแก่ ซิวซังเกอร์ “ปัปวา” ซิวโกลุม (Sewsunker "Papwa" Sewgolum) วีรบุรุษผู้ต่อต้านการเหยียดผิวในปี 1965 และนักกอล์ฟชาวแอฟริตาใต้เชื้อสายอินเดีย ผู้เรียนรู้การเล่นกอล์ฟด้วยตัวเอง ซิวโกลุมสามารถเอาชนะแกรี เพลเยอร์ นักกอล์ฟผู้ยิ่งใหญ่ จนสามารถคว้าชัยในทัวร์นาเมนต์ระดับจังหวัดได้สำเร็จ แต่กลับต้องรับถ้วยรางวัลกลางสายฝนนอกอาคาร เพราะเขาไม่ใช่คนขาว จึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้อาคารของสโมสร

ดังนั้น เมื่อถึงหลุมที่หก หลังจากที่ฟิลป์ตีลูกโด่งหลุดไปตกที่แนวต้นไม้ด้านซ้ายของลู่แฟร์เวย์ที่ได้รับการตัดเล็มมาเป็นอย่างดี เขาจึงตีแค่ลูกซ่อมอีก 2 ครั้งแล้วเล่นต่อไป

เมื่อเดือนที่แล้ว ฟิลป์เลื่อนดูภาพที่ทรงพลังบน Unequal Scenes ซึ่งเขาได้ยินว่าภาพดังกล่าวถูกแชร์อยู่อย่างแพร่หลาย และเป็นหัวข้อการพูดคุยของนักข่าวสืบสวนสอบสวนที่ทำข่าวด้านความเหลื่อมล้ำและความยากจน เขารู้สึกตกใจอย่างมากที่ไปสะดุดเจอภาพถ่ายทางอากาศของหลุมที่หกหลุมเดียวกันในแอฟริกาใต้ แสดงให้เห็นถึงสลัมแออัดติดอยู่กับรั้วฝั่งซ้าย เป็นเพิงไม้เบียดติดกันแบบไม่มีช่องว่างเรียงยาวไปเท่ากับความยาวของลู่แฟร์เวย์เขียวชอุ่มกว้างสุดลูกหูลูกตาที่ผมเคยเดิน

ภาพดังกล่าวที่ถูกถ่ายโดยหนึ่งในโดรนของของมิลเลอร์ในปี 2018 เผยให้เห็นชุมชนตั้งบ้านเรือนระเกะระกะบนถนนปาลเมียต ทั้งยังขาดสุขอนามัยที่เหมาะสมได้ขยายไปจนติดสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของอภิสิทธิชนที่มีพื้นที่มากมายและมีน้ำสะอาดรดสนามหญ้าขนาดหลายเอเคอร์ ลูกกอล์ฟของฟิลป์อาจตกไปบนเพิงไม้เหล่านั้น หรือแย่กว่านั้น ฟิลป์บอกว่าแม้ว่าเขาจะมีประสบการณ์หลายปีในการรายงานข่าวเกี่ยวกับการกีดกันและเลือกปฏิบัติ รวมถึงข่าวด้านความยากจนในภูมิภาค แต่เขากลับไม่รู้เลยแม้แต่น้อยว่ามีชุมชนตั้งรกรากอยู่ที่นั่น

มิลเลอร์บอกว่าปฏิกิริยาของฟิลป์ที่รู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งต่อภาพดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในการตอบรับหลายครั้งที่เขาเห็นผ่านภาพของโครงการ [สนามกอล์ฟ] มิลเลอร์บอกว่าปฏิกิริยาเหล่านั้นมีประโยชน์ในการกระตุกต่อมฉุกคิด เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการกีดกันเลือกปฏิบัติ รวมถึงขนาดและระยะพิกัดของความยากไร้ขาดแคลนในสังคมที่เหลื่อมล้ำ

"ด้วยภาพถ่ายจากโดรน คุณสามารถแสดงให้พวกเขาเห็นบางอย่างที่ดูเหมือนเป็นปริศนา และพวกเขาต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง"

ความเสียหายมหาศาลที่เกิดขึ้นจากพายุเฮอริเคนแคทรินาในปี 2005 ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากเข้าใจว่าระดับของความขาดแคลนที่ยังคงอยู่ในเมืองนิวออลีนส์นั้นสูงมากเพียงใด และเมื่อปี 2017 ที่ประเทศอังกฤษ หลังเกิดเหตุไฟไหม้ที่สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงที่อาคารเกรนเฟลล์ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่พักของชนชั้นแรงงาน ชาวอังกฤษจำนวนไม่น้อยเพิ่งจะตาสว่างเกี่ยวกับระดับความไม่เป็นธรรมที่สูงลิบที่อยู่ในย่านของคนที่ร่ำรวยที่สุด โดยประชากรประมาณ 72 คน หรือคิดเป็น 85% ของจำนวนนี้เป็นคนผิวสีที่เสียชีวิตจากกองเพลิงขนาดใหญ่ที่กลืนกินอาคารเกรนเฟลล์ทาวเวอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเคนซิงตันกลางกรุงลอนดอนที่กลับเป็นพื้นที่ของคนมั่งมี การสืบสวนของสำนักข่าวหลายแห่งเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นใช้เงินเพื่อการป้องกันอัคคีภัยไม่เพียงพอ และกล่าวอ้างถึงขั้นว่าเพื่อนบ้านที่เป็นคนรวยกดดันเจ้าหน้าที่ให้นำทรัพยากรอันน้อยนิดที่มอบให้เกรนเฟลล์ไปใช้ตกแต่งภายนอกให้สวยงาม เพื่อพวกเขาจะได้ไม่ต้องอยู่ใกล้กับสิ่งอุจาดตา ขณะเดียวกันการยกระดับการป้องกันอัคคีภัยกลับถูกปล่อยปละละเลย

สำหรับมิลเลอร์แล้ว โดรนราคาย่อมเยาเป็นวิธีการที่ดีกว่าในการเตือนภัยความอยุติธรรมขนาดใหญ่ที่กำลังขยายตัว ที่อย่างน้อยที่สุดก็สามารถใช้ในสถานที่ที่ระเบียบอนุญาตให้นักบังคับโดรนบินโดรนเหล่านี้ในนามของสำนักข่าวได้

ความหรูหราของชมรมเรือยอร์ช (ขวา) เปรียบเทียบกับชุมชนประมงแออัดด้านชายฝั่งกัวนาบารา ประเทศบราซิล (ซ้าย)
(ที่มา: ขอบคุณภาพจากจอห์นนี มิลเลอร์)
 

มิลเลอร์กล่าวว่าผลกระทบที่สำคัญกว่าของการถ่ายภาพความเหลื่อมล้ำจากโดรนคือมันสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังได้ เพราะความถอยห่างของภาพสามารถสร้างปฏิกิริยาทางความคิดได้มากกว่าปฏิกิริยาเชิงอารมณ์

“ระหว่างนักรณรงค์เพื่อความยุติธรรมทางสังคมและกลุ่มอนุรักษ์นิยม ยังมีคนตรงกลางทั้งหมดนี้ที่คุณต้องนำเข้ามาในบทสนทนาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ และคุณอาจผลักพวกเขาออกไปจากบทสนทนาด้วยภาพเด็กร้องไห้หรือภาพนายธนาคารร่ำรวยอยู่ติดกับคนไร้บ้าน ซึ่งภาพเหล่านี้ทำให้ยากต่อการควบคุมอารมณ์ แต่ด้วยภาพถ่ายจากโดรน คุณสามารถแสดงให้พวกเขาเห็นบางอย่างที่ดูเหมือนเป็นปริศนา และพวกเขาต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง” มิลเลอร์

ตามที่นักวิจัยและนักเขียนฟรีแลนซ์ โมนิกา เซนกูล-โจนส์ (Monika Sengul-Jones) เคยอธิบายไว้เมื่อไม่นานมานี้ โดรนช่วยให้นักข่าวสามารถนำเสนอเหตุการณ์ที่อันตรายเกินกว่าจะเข้าไปดูด้วยตัวเอง ตรวจสอบข้อเท็จจริง และผลักดันเรื่องราวที่นำด้วยข้อมูล ผ่านแผนภาพความร้อน แบบจำลองสามมิติ และการตรวจจับระยะไกล ขณะที่อธิบายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูงของโดรนเชิงพาณิชย์ เธอกล่าวว่านักข่าวในประเทศที่มีกฎหมายเสรีภาพทางด้านข่าวสารสามารถขอภาพจากโดรนที่ถ่ายโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ได้

แต่เซนกูล-โจนส์ก็เตือนว่า “นักข่าวควรระลึกก่อนว่าโดยแรกเริ่มแล้ว โดรนถูกพัฒนาและใช้เพื่อการสอดแนม การลาดตระเวนทางทหาร และการฆ่าแบบกำหนดเป้าหมาย”

“เรามีนักบังคับโดรนที่เห็นตนเองเป็นนักข่าวสืบสวนในอนาคต และออกไปข้างนอกเพื่อติดตามคนเหล่านี้” – จอห์นนี มิลเลอร์

“แม้ว่าพวกมันโดยส่วนใหญ่แล้วถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่เลวร้าย ผมคิดว่าโดรนคือการปฏิวัติประชาธิปไตย เช่นเดียวกับที่กล้องส่วนบุคคลในโทรศัพท์เคยเป็น ความสามารถของปัจเจกบุคคลในการบินขึ้นไปเหนือเมืองและแสดงให้เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบนภาคพื้นดินไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้อยู่ในขอบเขตของรัฐบาลและมหาเศรษฐีจนกระทั่งประมาณปี 2012 หลังจากนั้นโดรนราคาถูกเหล่านี้ก็ปรากฏสู่ตลาด และคุณสามารถเชื่อมต่อได้โดยใช้แค่พิกัดจีพีเอส” มิลเลอร์กล่าว

มิลเลอร์บอกว่าต้นแบบของ africanDRONE สามารถนำไปขยายผลได้ ด้วยการให้บริการโดรนในราคาถูก หรือกระทั่งให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แก่สถานีข่าวที่ขาดแคลนทรัพยากร พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎระเบียบและทางเลือกในการใช้ข้อมูลที่กว้างออกไป

“africanDRONE ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในหลายๆ ด้าน เราเป็นผู้บุกเบิกการทำข่าวโดยใช้โดรนในแอฟริกาใต้อย่างแท้จริง เราทำข่าวเกี่ยวกับการแข่งม้าผิดกฎหมายในคาบสมุทรตะวันตก ที่มีแก๊งอันธพาลขโมยม้าจากฟาร์มมาแข่งแลกเงิน เรามีนักบังคับโดรนที่เห็นตนเองเป็นนักข่าวสืบสวนในอนาคต และออกไปข้างนอกเพื่อติดตามคนเหล่านี้ แล้วนำข่าวการแข่งขันมาถ่ายทอดบน [ซีรีส์โทรทัศน์สืบสวน] Carte Blanche” มิลเลอร์กล่าว

มิลเลอร์กล่าวว่าฉันทามติที่แข็งแรงกำลังเกิดขึ้นระหว่างนักบังคับโดรน องค์กรไม่แสวงหากำไร และสำนักข่าวว่าความปลอดภัยมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับคนที่อยู่ใต้เส้นทางบินของโดรนนั้น

“ผมพบว่าบรรณาธิการส่วนใหญ่ไม่ค่อยกังวลนักเกี่ยวกับประเด็นด้านกฎหมายและพื้นที่สีเทาในด้านระเบียบ แม้ว่าบรรณาธิการจะต้องการให้สิ่งต่างๆ ปลอดภัยก็ตาม การทำให้ทุกคนบนภาคพื้นดินปลอดภัยดูเหมือนจะเป็นขอบเขตงานของเรา” มิลเลอร์กล่าวเสริม

มิลเลอร์กล่าวว่าโครงการต่อไปของ Unequal Scenes คือโครงการร่วมมือเพื่อสืบสวนเชิงจินตทัศน์เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำและการทำให้เป็นชายขอบในเมืองนิวยอร์ก

“โดรนเป็นสิ่งผิดกฎหมายอย่างชัดเจนในนครนิวยอร์ก ในแง่ของบทบัญญัติกฎหมายของเมือง เราจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำผ่านวิธีการนอกขนบอื่นๆ อย่างไร นั่นเป็นสิ่งที่ผมกำลังขบคิดอยู่” มิลเลอร์กล่าว

ที่มา:

โรแวน ฟิลป์ (Rowan Philp) เป็นนักข่าวของ GIJN เขาเป็นอดีตหัวหน้านักข่าวให้กับสำนักข่าวซันเดย์ไทมส์ของแอฟริกาใต้ ในฐานะผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เขาเคยรายงานเกี่ยวกับข่าว การเมือง การทุจริต และความขัดแย้งจากประเทศต่างๆ เกือบ 30 ประเทศทั่วโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท