กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายใช้ข้อมูลสู้เหมืองแร่ ซัดทวงคืนผืนป่าไม่แยกแยะ-ไร้เยียวยา

กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร จัดเวทีเสวนากรณีทวงคืนผืนป่าและเหมืองแร่ เผยข้อมูลแหล่งน้ำซับซึมช่วยรักษาพื้นที่ไม่ให้กลายเป็นเหมืองแร่ ขณะที่ คสช. อ้างนโยบายทวงคืนผืนป่ายึดที่ดินทำกิน ประชาชนสูญเสียผลผลิต และถูกดำเนินคดี แม้เป็นคนยากจน อยู่มาก่อน นักวิชาการแนะต้องผลักดันกฎหมายคุ้มครองชุมชน

กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร รายงานว่า 12 ธ.ค. 2564 เวลาประมาณ 07.00-12.00 น. ณ บริเวณจุดกำเนิดบ่อน้ำซับคำป่าหลาย บ้านนาคำน้อย-แก้ง ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายร่วมกันจัดงานบุญสืบชะตาน้ำซับคำป่าหลาย ครั้งที่ 2 โดยทำบุญตักบาตรและถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำและป่าน้ำซับซึม ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

จากนั้น กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนบทเรียน “กรณีทวงคืนผืนป่าและเหมืองแร่” โดยมีประธานกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย และตัวแทนผู้เดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ร่วมแลกเปลี่ยนในเวที

กวินธร นิ่มพันธ์ ตัวแทนกลุ่มรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวว่า เดิมที 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วยบ้านแก้ง หมู่ 5 บ้านโนนคำ หมู่ 13 และบ้านนาคำน้อย หมู่ 6 มีความสามัคคีกลมเกลียวเป็นพี่น้องกัน หลายครอบครัวใช้นามสกุลเดียวกัน ไปมาหาสู่กัน ที่สำคัญใช้แหล่งน้ำซับแหล่งเดียวกันและใช้ป่าชุมชนผืนเดียวกันที่มีเนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่

ตัวแทนกลุ่มรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย เล่าต่อว่าในปี 2559 มีบริษัทเอกชนมาขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองในพื้นที่เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ซึ่งพื้นที่น้ำซับได้อยู่ในรัศมี 500 เมตร และเส้นทางขนสินแร่ก็อยู่ห่างจากป่าชุมชนไปทางทิศตะวันตกออกไปประมาณ 200 เมตร ขณะที่ EIA ระบุว่า จากผลการตรวจสอบปรากฎว่ามีผู้ใช้แหล่งน้ำซับแค่ 15 หลังคาเรือน ซึ่งไม่เป็นความจริง

กวินธร กล่าวว่า ที่จริงแล้วแหล่งน้ำซับแห่งนี้เป็นเส้นเลือดสายหลักของ 3 หมู่บ้าน เฉพาะบ้านแก้งและบ้านโนนคำก็ใช้น้ำซับกว่า 300 หลังคาเรือน และเทศบาลคำป่าหลายยังได้อาศัยแหล่งน้ำซับแห่งนี้ช่วยเหลือทุกหมู่บ้านในตำบลคำป่าหลาย ในช่วงเกิดภัยแล้ง เกิดไฟป่า รวมถึงหมู่บ้านใดที่ต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ก็จะนำรถมาเติมน้ำที่นี่

ตัวแทนกลุ่มรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวต่อว่า ท้ายที่สุดสภาเทศบาลคำป่าหลายก็กลับมติจากเห็นชอบเปลี่ยนมติไม่เห็นชอบให้ทำเหมืองในพื้นที่ แต่กรมป่าไม้ยังไม่ชัดเจนว่าจะพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต

สมัย (สงวนนามสกุล) ตัวแทนผู้เดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า กล่าวว่า ตั้งแต่นโยบายทวงคืนผืนป่าเข้ามาในพื้นที่ เราต่อสู้มาโดยตลอด เพราะไร่มัน ไร่อ้อยของเราถูกไถทิ้งแล้วปลูกต้นไม้ทับ ผลผลิตเราเสียหาย หนี้สินก็เยอะ ทั้งหนี้ที่ต้องส่งลูกเรียน ทั้งหนี้ของ ธกส. เงินจะใช้จ่ายในแต่ละวันก็ไม่มี หนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไร่มันไร่อ้อยที่เราเคยทำก็ไม่ได้ทำ เข้าไปไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่แจ้งความไว้ ชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปเพราะกลัวโดนจับ

ตัวแทนผู้เดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า กล่าวว่า เราต่อสู้มาตลอด ไปทุกที่ เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ทำกินของพวกเรา เราทำกินก่อน มติ ครม. อยู่แล้ว และขอยืนยันว่าไม่ได้บุกรุก ที่ดินทำกินส่วนใหญ่ที่ถูกยึดด้วยนโยบายทวงคืนผืนป่าจะอยู่บริเวณที่บริษัทเอกชนขอประทานบัตรเพื่อทำเหมือง ซึ่งที่ผ่านมาผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ไม่เคยลงมาตรวจสอบเลยว่าชาวบ้านทำกินก่อนหรือหลัง แต่ดำเนินการยึดเอาที่ดินชาวบ้านไปทั้งหมด

ด้าน ปราโมทย์ ผลภิญโญ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า กรณีของการดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่าในพื้นที่คำป่าหลายมีความผิดพลาดบกพร่องเป็นอย่างมาก จากการตรวจสอบเบื้องต้นโดยคณะทำงานฝ่ายประชาชน พบว่า พื้นที่ที่หน่วยงานทวงคืนผืนป่าตั้งแต่ปี 2559 จำแนกได้ 3 ลักษณะ ได้แก่ กลุ่มที่ปรากฎร่องรอยการใช้ประโยชน์ก่อนปี 2545 มีจำนวน 17 ราย พื้นที่ที่มี สปก.4-01 จำนวน 10 ราย และอีก 7 รายไม่มี สปก.

ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า แม้ว่าจะมีหรือไม่มีเอกสารสิทธิ ถ้าเข้าหลักเกณฑ์ก็ต้องได้รับการผ่อนปรนให้ทำประโยชน์ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มี.ค. 2541 แต่เจ้าหน้าที่กลับไล่พี่น้องออกจากพื้นที่ทำลายอาสินหรือผลผลิตต่างๆ และดำเนินคดีไว้

ปราโมทย์ กล่าวต่อว่า ที่ดินส่วนใหญ่ปรากฎร่องรอยการใช้ประโยชน์ระหว่างปี 2545-2557 โดยช่วงเวลานี้ระบุให้มีการคัดกรองเกษตรกร หากเป็นคนจนที่เข้าข่ายตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ต้องผ่อนผันให้เข้าทำประโยชน์ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่ทำไร่ทำนา ไม่ได้เป็นนายทุน

คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินภาคอีสานตั้งคำถามว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือ ไม่มีการจำแนกแยกแยะอะไรเลย ที่สำคัญคือจะยอมรับหรือไม่ว่าผิดพลาดบกพร่อง และจะเยียวยาสิ่งที่ประชาชนได้รับผลกระทบในช่วง 4-5 ปี อย่างไร จะปลดล็อคเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดีความ เรื่องการเข้าทำประโยชน์โดยปกติสุขของประชาชน หรือมาตรการที่จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนมีสิทธิ

ปราโทย์ย้ำว่า การยืนหยัดต่อสู้ของพี่น้องคำป่าหลายที่ผ่านมาถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และเป็นหลักประกันที่จะผลักดันภารกิจให้สำเร็จ ทรัพยากรของบ้านเราสมบูรณ์ พี่น้องมีสิทธิที่จะรักษา

ด้าน เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กล่าวว่า คำป่าหลายเป็นพื้นที่แรกที่ใช้กฎหมายแร่ 2560 ได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นตัวอย่างให้กับกรณีอื่นได้เห็น โดยมาตรา 17 วรรคสี่ ระบุว่า พื้นที่ใดที่จะเอาไปให้สัมปทานทำเหมืองแร่หรือประทานบัตรต้องอยู่ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองจะต้องไม่เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ไม่เป็นพื้นที่ป่าไม้ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.เขตสงวนและรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตโบราณวัตถุ โบราณสถาน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่หวงห้ามและพื้นที่ป่าต้นน้ำ หรือป่าน้ำซับซึม

เลิศศักดิ์กล่าวต่อว่า ที่นี่ใช้เรื่องแหล่งน้ำซับในการต่อสู้กับการขอประทานบัตรเหมืองแร่ จนทำให้เทศบาลกลับมติ และที่น่าสนใจ คือ กฎหมายแร่มาตรา 17 วรรคสี่ พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมไม่มีคำนิยาม พอไม่นิยามก็เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทันที เพราะถ้านิยามจะจำกัดขอบเขตความหมายความเข้าใจ

นอกจากนี้ เลิศศักดิ์กล่าวว่า ภูมินิเวศต่างๆ ที่กำลังถูกสำรวจแร่ ถูกขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ มักพบว่ามีห้วย ลำธาร มีร่องน้ำ หรือมีภูเขาบางลูกอยู่เสมอ อาจมองไม่เห็นว่าระบบนิเวศเป็นอย่างไร หรือไม่มีน้ำ ไม่มีสายน้ำ แต่อยู่ดี ๆ มีน้ำออกจากรู มีน้ำซับน้ำซึมเป็นโอ่งภูเขา จึงทำให้นิยามตรงนี้เป็นประโยชน์ที่ประชาชนจะนำไปต่อสู้ ส่วนราชการมักจะลบล้างนิยามของประชาชน พื้นที่คำป่าหลายได้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และทำให้เห็นรูปธรรมชัดเจนว่าเอาพื้นที่น้ำซับเพียงแต่ประเด็นเล็กๆ ประเด็นหนึ่งไปต่อสู้จนทำให้เหมืองไปต่อไม่ได้

ด้าน อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.ก้าวไกล ประธานกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรณีการต่อสู้ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในทรัพยากรของชาวบ้านพื้นที่คำป่าหลาย สะท้อนว่ารัฐบาลไทยรวบอำนาจในการจัดการไว้ที่รัฐที่ส่วนกลางเท่านั้น ไม่ให้พี่น้องมีส่วนร่วม ต้องเปลี่ยนอำนาจในการจัดการทรัพยากรใหม่ โดยเอาอำนาจในการจัดการทรัพยากรทั้งหมดมาอยู่ที่ท้องถิ่น

ส่วนเรื่องเหมืองแร่และการทวงคืนผืนป่าในพื้นที่คำป่าหลาย ส.ส.ก้าวไกล กล่าวว่า พี่น้องยังมีความกังวลเรื่องเหมืองแร่และเรื่องทวงคืนผืนป่าก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข กรรมาธิการจะใช้เวทีกรรมาธิการ ใช้กลไกกรรมาธิการในการปรึกษาหารือ ขอมติเชิญกรรมาธิการลงพื้นที่ เพื่อเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง หารือ หาทางแก้ไขร่วมกัน ทั้งกรณีเหมืองแร่และกรณีทวงคืนผืนป่า

ด้าน กิติมา ขุนทอง อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า การแย่งยึดที่ดินที่พื้นที่คำป่าหลายมี 2 ประเด็นซ้อนกัน ประเด็นที่ 1 แย่งยึดที่ดินเพื่อการทำธุรกิจ คือ เหมืองหิน เห็นได้ชัดว่าแย่งชาวบ้านไปแล้ว นำไปยกให้คนอื่น แล้วแปรรูปทรัพยากรที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์เป็นสินค้า ประเด็นที่ 2 ที่ซ้อนเข้ามาคือการแย่งยึดทรัพยากรเพื่อการอนุรักษ์ โดยอ้างนโยบายทวงคืนผืนป่าเพื่อที่จะอนุรักษ์ทรัพยกรธรรชาติเพิ่มพื้นที่ป่า 40% ของนโยบาย คสช. คือการแย่งยึดที่ดินรูปแบบหนึ่งผ่านการใช้วาทกรรมของการอนุรักษ์ทรัพยากร ที่นี่โดน 2 ต่อ

อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า ในขณะที่ต้องสู้กับนายทุนก็ต้องมาต่อรองกับรัฐ สิ่งสำคัญที่ทำอยู่คือการไม่ยอมจำนง สิ่งนี้สร้างพลังให้ที่นี่ และอีกทางหนึ่งที่จะช่วยทำเกิดความมั่นคงในระยะยาวคือการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย การออกนโยบายที่คุ้มครองชุมชนที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร จะทำอย่างไรให้รัฐเห็นว่าที่ดินคือส่วนหนึ่งของชีวิต ทำอย่างไรให้เห็นว่าหินที่จะขุดไปคือส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ วิถีชีวิต วัฒนธรรม จิตวิญญาณของคนที่นี่ การพรากหินออกไปสักก้อนคือการทำลายวิถีชีวิต ทำลายจิตวิญญาณ ทำลายความเชื่อ จะทำอย่างไรให้รัฐเห็นคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากพอๆ กับที่เห็นศักดิ์ศรีของนักลงทุน จะทำอย่างไรให้ศักดิ์ศรีของทั้ง 2 คนเท่ากัน การยื้อแย่งเป็นสิ่งที่จะต้องทำจนกว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่เห็นถึงมุมมองคุณค่าของทุกคนในสังคมที่เท่ากัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท