ส่องสถานการณ์ตำรวจหญิงในประเทศต่างๆ และการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างประเทศ

ปัจจุบันหลายประเทศเปิดโอกาสให้ 'ผู้หญิง' ก้าวเข้าสู่อาชีพ 'ตำรวจ' เพื่อพิทักษ์กฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยเช่นเดียวกับเพศชาย ข้อมูล ณ ปี 2562 พบว่า 30 ประเทศที่มีสัดส่วนตำรวจหญิงสูงสุด มีสัดส่วนตั้งแต่ 6.35-37.40% โดยมีภูมิภาคยุโรปเป็นผู้นำ นอกจากนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างประเทศ พบตำรวจที่สหประชาชาติ (UN) ส่งไปปฏิบัติการในประเทศต่างๆ ก็เป็นผู้หญิงถึง 15%

ปัจจุบันหลายประเทศในโลกได้เปิดโอกาสให้ 'ผู้หญิง' ได้ก้าวเข้าสู่อาชีพ 'ตำรวจ' เพื่อพิทักษ์กฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยเฉกเช่นเดียวกับเพศชาย (ภาพประกอบตำรวจหญิงในฟิลิปปินส์) | ที่มาภาพ: UN Women/Ploy Phutpheng (CC BY-NC-ND 2.0)

  • ปัจจุบันหลายประเทศในโลกเปิดโอกาสให้ 'ผู้หญิง' ก้าวเข้าสู่อาชีพ 'ตำรวจ' เพื่อพิทักษ์กฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยเฉกเช่นเดียวกับเพศชาย ข้อมูล ณ ปี 2562 พบว่า 30 ประเทศที่มีสัดส่วนตำรวจหญิงสูงสุด มีสัดส่วนตั้งแต่ 6.35-37.40%
  • ภูมิภาคยุโรปเป็นผู้นำ โดยมี ‘ลัตเวีย’ ประเทศที่มีสัดส่วนตำรวจหญิงสูงที่สุดในโลกและในยุโรป 37.40% อีกทั้งยังมีผู้พิพากษาหญิงสัดส่วนสูงสุดในยุโรป โดยผู้พิพากษามากกว่า 3 ใน 4 ในลัตเวียนั้นเป็นผู้หญิง
  • ‘สหราชอาณาจักร’ เป็นประเทศมหาอำนาจที่มีสัดส่วนตำรวจหญิงสูงอันดับต้นๆ ของโลกเช่นเดียวกัน โดยมีสัดส่วนตำรวจหญิงถึง 28.61% และตำรวจหญิงในอังกฤษเคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมาแล้ว
  • ‘สหรัฐอเมริกา’ แม้จะเป็นมหาอำนาจ และส่งออกเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศไปทั่วโลก พบว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมาสัดส่วนตำรวจหญิงแทบที่จะไม่เพิ่มขึ้นเลย
  • นอกจากนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างประเทศ พบว่าตำรวจที่สหประชาชาติ (UN) ส่งไปปฏิบัติการในประเทศต่างๆ ก็เป็นผู้หญิงถึง 15%

ปัจจุบันหลายประเทศในโลกได้เปิดโอกาสให้ 'ผู้หญิง' ได้ก้าวเข้าสู่อาชีพ 'ตำรวจ' เพื่อพิทักษ์กฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยเฉกเช่นเดียวกับเพศชาย ถึงแม้นว่าในด้านจำนวนของ ‘ตำรวจหญิง’ ยังไม่สามารถเทียบเคียงกับ ‘ตำรวจชาย’ ได้ แต่กระนั้นก็เริ่มเห็นความก้าวหน้าในประเทศต่างๆ เกือบทั่วมุมทั่วโลก

จากข้อมูลที่รวบรวมไว้โดย M. Natarajan และ E. Oliveira ที่ปรากฏในรายงาน “Policing and Gender”, in Gender and Security Toolkit. (DCAF, OSCE/ODIHR, UN Women, 2019) ระบุถึง 30 ประเทศ ที่มีสัดส่วนตำรวจหญิง* สูงที่สุดในโลก ณ ปี 2562 ได้แก่ 1. ลัตเวีย (ร้อยละ 37.40) 2. ลิทัวเนีย (ร้อยละ  36.12) 3. กายอานา (ร้อยละ 29.04) 4. สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 28.61) 5. ตรินิแดตและโตเบโก (ร้อยละ 24.77) 6. เซอร์เบีย (ร้อยละ 23.22) 7. เบลเยียม (ร้อยละ 21.75) 8. มอลตา (ร้อยละ 19.29) 9. ฝรั่งเศส (ร้อยละ 19.03) 10. สิงคโปร์ (ร้อยละ 18.08) 11. โครเอเชีย (ร้อยละ 17.62) 12. สโลวาเกีย (ร้อยละ 16.98) 13. บาร์เบโดส (ร้อยละ 16.44) 14. ฟินแลนด์ (ร้อยละ 16.29) 15. สาธารณรัฐเช็ก (ร้อยละ 15.73)

ลำดับต่อมาได้แก่ 16. โปแลนด์ (ร้อยละ 15.40) 17. ชิลี (ร้อยละ 15.12) 18. เดนมาร์ก (ร้อยละ 14.43) 19. เม็กซิโก (ร้อยละ 13.56) 20. สโลวีเนีย (ร้อยละ 13.30) 21. เอลซัลวาดอร์ (ร้อยละ 12.78) 22. ฮอนดูรัส (ร้อยละ 10.34) 23. แอลเบเนีย (ร้อยละ 9.60) 24. มอนเตเนโกร (ร้อยละ 9.34) 25. ปารากวัย (ร้อยละ 7.97) 26. โปรตุเกส (ร้อยละ 7.47) 27. บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (ร้อยละ 7.31) 28. อิตาลี (ร้อยละ 7.13) 29. คาซัคสถาน (ร้อยละ 6.86) และ 30. อัลจีเรีย (ร้อยละ 6.35)

[*สัดส่วนตำรวจหญิงต่อตำรวจทั้งชายและหญิง ตัวอย่างเช่น ลัตเวีย มีสัดส่วนตำรวจหญิง 37.40 คนจากตำรวจทั้งสองเพศรวมทั้งหมด 100 คน]

ตำรวจหญิงในยุโรป ภูมิภาคแถวหน้าของโลก

‘ลัตเวีย’ ประเทศที่มีสัดส่วนตำรวจหญิงสูงที่สุดในโลกและในยุโรป ถึงร้อยละ 37.40 อีกทั้งยังมีผู้พิพากษาหญิงสัดส่วนสูงสุดในยุโรป โดยผู้พิพากษามากกว่า 3 ใน 4 ในลัตเวียนั้นเป็นผู้หญิง | ที่มาภาพ: Latvian Public Broadcasting

ทวีปยุโรปถือเป็นภูมิภาคแถวหน้าในด้านการให้โอกาสผู้หญิงเข้าสู่อาชีพตำรวจ จากประเทศ 30 อันดับแรกที่รวบรวมไว้เมื่อปี 2562 นั้นเป็นประเทศในทวีปยุโรปถึง 19 ประเทศ

โดยมี ‘ลัตเวีย’ (ประชากร 1.9 ล้านคน) เป็นประเทศหัวแถวที่มีสัดส่วนตำรวจหญิงมากที่สุดถึงร้อยละ 37.40 นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนตำรวจต่อประชากรในประเทศสูงด้วยเช่นกัน โดยข้อมูลจาก Eurostat ณ ก.ย. 2564 ลัตเวียมีตำรวจมากกว่า 400 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป (EU) ที่มีตำรวจ 400 คนต่อประชากร 100,000 คน (ค่าเฉลี่ยปี 2560-2562) นอกเหนือจากอาชีพตำรวจแล้วก็ยังมีผู้พิพากษาหญิงสัดส่วนสูงสุดในยุโรป โดยเฉลี่ยแล้วผู้พิพากษากว่า 3 ใน 4 คน ในลัตเวียนั้นเป็นผู้หญิง

ส่วน ‘ลิทัวเนีย’ (ประชากร 2.79 ล้านคน) ประเทศเล็ก ๆ อีกประเทศหนึ่งในยุโรป ก็มีสัดส่วนตำรวจหญิงสูสีกับลัตเวีย โดยมีสัดส่วนตำรวจหญิงร้อยละ 36.12 ซึ่งในการจัดอันดับของบางสำนักในบางปี ลิทัวเนียก็เคยขึ้นสู่ประเทศที่มีสัดส่วนตำรวจหญิงสูงสุดในโลกบ่อยครั้งด้วยเช่นกัน

‘สหราชอาณาจักร’ (ประชากร 67.22 ล้านคน) เป็นประเทศมหาอำนาจที่มีสัดส่วนตำรวจหญิงสูงอันดับต้นๆ ของโลกเช่นเดียวกัน โดยมีสัดส่วนตำรวจหญิงถึง ร้อยละ 28.61 เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2550 ที่ร้อยละ 23.3 และตำรวจหญิงในอังกฤษเคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมาแล้ว

ตำรวจหญิงในทวีปอเมริกา

เม็กซิโก เป็นประเทศที่มีประชากรเกิน 100 ล้านคน ที่มีสัดส่วนตำรวจหญิงสูงสุดถึง 13.56% | ที่มาภาพ: Edith Chapin/NPR

จากประเทศ 30 อันดับแรกที่มีสัดส่วนตำรวจหญิงสูงสุดนั้น เป็นประเทศในทวีปอเมริกา (ทั้งเหนือ, กลาง และใต้ รวมกัน) ถึง 8 ประเทศ โดยประเทศที่โดดเด่นก็ยังคงเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรไม่มากนัก ได้แก่ 'กายอานา' (ประชากร 7.86 แสนคน) มีสัดส่วนตำรวจหญิง ร้อยละ 29.04 'ตรินิแดตและโตเบโก' (ประชากร 1.39 ล้านคน) ร้อยละ 24.77

ในลำดับถัดมามีประเทศขนาดใหญ่ที่น่าสนใจได้แก่ 'ชิลี' (ประชากร 19.12 ล้านคน) มีสัดส่วนตำรวจหญิง ร้อยละ 15.12 และ 'เม็กซิโก' (ประชากร 128.9 ล้านคน) ร้อยละ 13.56 ซึ่งเม็กซิโกยังเป็นประเทศที่มีประชากรเกิน 100 ล้านคน ที่มีสัดส่วนตำรวจหญิงสูงสุดในการจัดอันดับเมื่อปี 2562

ส่วน 'สหรัฐอเมริกา' (ประชากร 329.5 ล้านคน) แม้จะเป็นมหาอำนาจและส่งออกเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศไปทั่วโลกนั้น พบว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมาสัดส่วนตำรวจหญิงเพิ่มขึ้นน้อยมาก แม้จะไม่มีข้อมูลในปี 2562 ที่นำมาจัดลำดับ 30 ประเทศในรายงานชิ้นนี้ แต่จากข้อมูล ณ ปี 2559 มีสัดส่วนตำรวจทุกประเภทที่เป็นตำรวจหญิงอยู่ ร้อยละ 12 และมีตำรวจหญิงในระดับผู้บังคับบัญชาเพียง ร้อยละ 3 และ ณ ปี 2563 พบว่าตำรวจหญิงในสหรัฐฯ ที่เป็นตำรวจเฉพาะในระดับมลรัฐ (State Police) มีสัดส่วนเฉลี่ยเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น โดยสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 6 ในปี 2543 ซึ่งต่างจากผู้หญิงในอาชีพอื่นๆ ที่ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (2543-2563) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เช่น ผู้ว่าการรัฐ ผู้นำทางการทหาร และตำแหน่งรองประธานาธิบดี เป็นต้น 

ตำรวจหญิงในเอเชียและแอฟริกา

‘อัลจีเรีย’ ประเทศจากแอฟริกาเพียงหนึ่งเดียวที่ติด 30 อันดับแรก มีสัดส่วนตำรวจหญิงที่ 6.35% | ที่มาภาพ: Femina

ในทวีปเอเชีย แม้จะเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดของโลก แต่สัดส่วนตำรวจหญิงยังน้อยมาก ในประเทศ 30 อันดับแรกนั้น มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ติดอันดับ คือ ‘สิงคโปร์’ (ประชากร 5.68 ล้านคน) สัดส่วนตำรวจหญิง ร้อยละ 18.08 และ ‘คาซัคสถาน’ (ประชากร 18.75 ล้านคน) ร้อยละ 6.86

สำหรับ ‘จีน’ (ประชากร 1.4 พันล้านคน) แม้จะไม่มีข้อมูลในการัดอันดับเมื่อปี 2562 แต่สื่อของจีนรายงานในช่วงวันสตรีสากลเมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2564 ว่าจีนมีตำรวจหญิงมากกว่า 280,000 คน คิดเป็นร้อยละ 14.3 ของกองกำลังตำรวจทั้งหมด 2 ล้านคนของประเทศ

และจากประเทศ 30 อันดับแรกที่มีสัดส่วนตำรวจหญิงสูงสุด มีประเทศในทวีปแอฟริกาเพียงประเทศเดียว คือ ‘อัลจีเรีย’ (43.85 ล้านคน) สัดส่วนตำรวจหญิง ร้อยละ 6.35

ตำรวจหญิงกับการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างประเทศ

จากข้อมูล ณ เดือน ก.พ. 2562 ตำรวจที่สหประชาชาติส่งไปปฏิบัติการในประเทศต่างๆ เป็นผู้หญิง 15% | ที่มาภาพ: UN Police Division

การที่ผู้หญิงได้เข้าร่วมงานตำรวจระหว่างประเทศมากขึ้น นอกเหนือจะเป็นเป็นโอกาสให้ได้เพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ของตนเองแล้ว ก็สามารถเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้หญิงในท้องถิ่นของประเทศที่ไปปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วย จากการได้เห็นตำรวจหญิงปฏิบัติงานอย่างแข็งขันในการรักษาความสงบเรียบร้อยและสร้างสรรค์สันติภาพ ทั้งนี้มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN) ว่าด้วยผู้หญิง สันติภาพ และความมั่นคง และมติอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการรักษาสันติภาพ ได้เรียกร้องให้มีการส่งตำรวจหญิงไปประจําการมากขึ้น ข้อมูล ณ เดือน ก.พ. 2562 ตำรวจที่สหประชาชาติส่งไปปฏิบัติการในประเทศต่างๆ เป็นผู้หญิง ร้อยละ 15

ตำรวจหญิงล้วนจากอินเดียไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไลบีเรียเมื่อปี 2550 นับเป็นครั้งแรกที่สหประชาชาติส่งเจ้าหน้าที่หญิงล้วนไปปฏิบัติหน้าที่ | ที่มาภาพ: Emmanuel Tobey/UNMIL

ตัวอย่างการส่งตำรวจหญิงไปปฏิบัติหน้าที่ครั้งสำคัญ คือการส่งตำรวจหญิงล้วนจากอินเดียไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไลบีเรียเมื่อปี 2550 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สหประชาชาติส่งเจ้าหน้าที่หญิงล้วนไปปฏิบัติหน้าที่หลังมติของสหประชาชาติในเรื่องนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2543 ก่อนแล้ว ด้วยความมุ่งหมายก็เพื่อแก้ไขผลกระทบที่สงคราม หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามประเทศต่างๆ มีต่อผู้หญิง และเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้หญิงในงานพิทักษ์สันติภาพ

ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะมีการส่งตำรวจหญิงออกไปปฏิบัติหน้าที่นั้น ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาหนึ่งที่ได้พบเห็นก็คือแม้ผู้หญิงส่วนใหญ่จะไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งและการสู้รบ ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก ผู้หญิงต้องตกผู้รับผิดชอบต่อชุมชนที่ตนอยู่ เพราะผู้ชายออกไปต่อสู้ โดยเห็นได้จากการที่ผู้หญิงตามชุมชนดังกล่าวกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือแม่หม้าย ปัญหาก็คือเมื่อถึงเวลาที่จะแสวงหาทางออกเพื่อสงบศึกกันแล้ว ไม่มีใครขอความเห็นจากผู้หญิงเลย

การส่งกองกำลังพิทักษ์สันติภาพหญิงล้วนออกทำงานเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2550 นั้น ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่าสำหรับผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงที่สืบเนื่องจากการสู้รบ หรือสงครามนั้น การได้ปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ที่เป็นหญิงนั้นย่อมดีกว่าแน่ๆ ทั้งนี้ผู้หญิงที่ถูกคนในเครื่องแบบข่มขืนในหลายประเทศ รู้สึกสบายใจมากกว่าที่ได้พูดกับผู้หญิงด้วยกันแทนที่จะต้องพูดกับผู้ชายในเครื่องแบบ.

 

ที่มาข้อมูล
In first for UN peacekeeping, all-female police unit arrives in Liberia (UN News, 30 January 2007)
Women peacekeepers can work with female victims, set example for male colleagues (VOA, 12 March 2007)
“Policing and Gender”, in Gender and Security Toolkit. (DCAF, OSCE/ODIHR, UN Women, 2019)
China has more than 280,000 female police officers (ECNS, 8 March 2021)
Latvia among EU leaders on women police and judges (Latvian Public Broadcasting, 6 September 2021)
Percentage of Women in State Policing Has Stalled Since 2000 (Lindsey Van Ness, Stateline, October 20, 2021)
Women in law enforcement (Wikipedia, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 10 December 2021)

 

สกู๊ปนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษชุด เพศสภาพในงานตำรวจ (Gender and policing) ซึ่งจะมีการนำเสนอระหว่างพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท