‘พนักงานสอบสวนหญิง’ กลไกสำคัญให้เพศหญิงเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

เพราะ “คดีความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก” เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย แต่กระบวนการยุติธรรมที่ซับซ้อนและไม่อาจครอบคลุมในทุกด้าน ทำให้เคสเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง พร้อมฟังความเห็นจากผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และที่ปรึกษามูลนิธิผู้หญิง ว่าทำอย่างไรให้คดีเหล่านี้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

  • ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ระบุคดีครอบครัวต้องใช้วิธีสอบสวนเฉพาะเจาะจง ชี้กรณีความรุนแรงต่อเพศหญิงต้องใช้ ‘ความละเอียดอ่อน’ ในการสอบสวน ยันพนง.สวบสวนหญิงเข้าใจผู้หญิงด้วยกันมากกว่าตำรวจชาย 
  • ตำรวจหญิงน้อย-ตำรวจชายไม่เข้าใจความอ่อนไหว คืออุปสรรค-ข้อจำกัด ในการเข้าสู่ความยุติธรรมของเพศหญิง ชี้หากไร้ ‘พนักงานสอบสวนหญิง’ ส่งผลต่อคดี แถมผู้เสียหายเผชิญคำถามกระทบจิตใจ
  • เสนอจัดตั้งศูนย์พิทักษ์เด็กและสตรี-ตำรวจปราบปรามความรุนแรงทางเพศ พร้อมผลักดันเข้าสู่วาระแห่งชาติ ย้ำวงการสีกากีต้องบาลานซ์อัตรากำลัง เปิดโอกาสให้เพศหญิงเข้าไปมีบทบาทในการบริหาร
  • ที่ปรึกษามูลนิธิผู้หญิงเผย ‘กระบวนการตั้งคำถาม-บรรยากาศในการสอบสวน’ เป็นสิ่งสำคัญ เสนอจัดตั้งโมเดล ‘One Stop Crisis Center’ ลดความซับซ้อนในกระบวนการสอบสวน ชี้นโยบายสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องทำให้สายพานกระบวนการยุติธรรม ‘โปร่งใส-ตรวจสอบความคืบหน้า’ ได้

พนักงานสอบสวนหญิง เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการช่วยให้ผู้เสียหายเพศหญิงเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ แต่กลไกนี้ มีข้อจำกัดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งจำนวนพนักงานสอบสวนหญิงที่มีจำนวนน้อยกว่าสถานีตำรวจในปัจจุบัน และตำรวจเองที่ไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาความรู้อย่างเพียงพอ ทั้งยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้หญิงยังไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง

ประชาไทจึงชวน สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งนอกจากช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงแล้ว ยังมีรายงานการศึกษา 'การเข้าถึงความยุติธรรมในชั้นงานสอบสวน : กรณีความรุนแรงต่อผู้หญิง' ที่เผยแพร่เมื่อปี 61 มาร่วมสนทนาถึงความแตกต่างของกระบวนการยุติธรรมระหว่างคดีทั่วไป และคดีความรุนแรงทางเพศในกรณีเพศหญิงเป็นผู้เสียหาย ความสำคัญของพนักงานสอบสวนหญิง รวมทั้งข้อจำกัดในการเข้าสู่ความยุติธรรมของเพศหญิง  พร้อมฟังความคิดเห็นจาก อุษา เลิศศรีสันทัด ที่ปรึกษามูลนิธิผู้หญิง และผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการและความคุ้มครองของแรงงานหญิงข้ามชาติ ถึงนโยบายว่าจะทำอย่างไร ให้คดีเหล่านี้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่เริ่มต้น

คดีครอบครัวต้องใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ยัน พนง.สอบสวนหญิงเข้าใจผู้หญิงด้วยกันมากกว่า

สุเพ็ญศรี กล่าวว่า หากพูดถึงคดีทั่วไปที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น มองว่าเป็นเรื่องของคนที่อาจจะไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย ไม่มีความผูกพัน ไม่มีความลึกซึ้ง ซึ่งแบ่งออกเป็นคดีอาญา หรือคดีแพ่งก็ว่ากันไปตามกฎหมายของเรื่องนั้นๆ  แต่หากเป็นคดีที่มีเรื่องของความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันอย่างสามีภรรยา หรือเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้อง จะต้องมีระเบียบวิธีการสอบสวน ระเบียบในกระบวนการยุติธรรม หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาที่มีการออกแบบเฉพาะเจาะจง เพราะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่เข้ามาเกี่ยวโยงกับเรื่องจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก และสิทธิหน้าที่

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวเพิ่มเติมถึงคดีความรุนแรงทางเพศในปัจจุบันว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และสิ่งที่แตกต่างกันจากคดีทั่วไปที่ทำให้เพศหญิงต้องการพนักงานสอบสวนหญิง คือการที่พนักงานสวบสวนหญิงจะสามารถเข้าใจผู้หญิงด้วยกันได้มากกว่าตำรวจชาย 

“คดีเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แล้วเพศที่ถูกกระทำส่วนใหญ่ก็คือเป็นผู้หญิง เป็นเด็ก ผู้กระทำก็คนใกล้ชิด คนใกล้ชิดที่ว่าก็เป็นเพศชาย เป็นพ่อ เป็นพี่ เป็นญาติ เป็นอาจารย์ เพราะฉะนั้นการสอบปากคำพยาน ผู้ที่มาสอบปากคำต้องมีความละเอียดอ่อน มีความเข้าใจ การเป็นผู้หญิงมาสอบปากคำผู้หญิงจะมีความเข้าใจ” สุเพ็ญศรีกล่าว พร้อมยกตัวอย่างกรณีผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้หญิงที่ถูกข่มขืนมาเล่าให้ตนฟังถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในการสอบปากคำระหว่างตำรวจหญิงกับตำรวจชาย 

“น้องที่เป็นผู้เสียหายในอดีตตั้งแต่ปี 2548 น้องก็บอกว่าวันนั้นที่ไปหาตำรวจผู้ชายเป็นตำรวจกองปราบ เป็นพนักงานสอบสวน น้องบอกว่าถูกสอบปากคำโดยตำรวจนานมาก ตำรวจประมาณ 7 คน จนท้ายที่สุดเมื่อเธอได้มีโอกาสไปสอบปากคำกับผู้กำกับฉัตรแก้วซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนหญิง เป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจ แล้วก็ทำงานร่วมกับองค์กรผู้หญิง องค์กรเด็ก ถูกฝึกอบรมเฉพาะทางก็จะมีความเข้าใจ แล้วก็สามารถพูดคุยสอบถามได้แบบเป็นมิตร มีความเข้าใจ จะผิดกับพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้ชาย” สุเพ็ญศรีกล่าว

ตำรวจหญิงน้อย-ตำรวจชายไม่เข้าใจความอ่อนไหว คืออุปสรรค-ข้อจำกัด ในการเข้าสู่ความยุติธรรมของเพศหญิง

ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมระบุว่า ข้อจำกัดและอุปสรรคในการเข้าสู่ความยุติธรรมของผู้เสียหายที่เป็นเพศหญิง ประการแรกคือข้อจำกัดในเชิงปริมาณของตำรวจหญิงที่มีเพียง 500 กว่าคนในวงการตำรวจ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถมีตำรวจหญิงประจำอยู่ทุกสถานีตำรวจได้ 

“สถานีตำรวจมีทั่วประเทศเป็นพันๆ สถานี ตำรวจผู้หญิงมีประมาณ 500 คน แล้ว 500 คนนี้ก็ไม่ได้ประจำการอยู่ทุกสถานีตำรวจ อันนี้ก็เป็นอุปสรรคว่าแล้วพอคดีทางเพศที่เกิดขึ้น พอผู้หญิงไปแล้วเจอตำรวจผู้ชาย ในกรณีที่ผู้กระทำเนี่ยมีสถานะอำนาจเหนือกว่าตำรวจ ตรงนี้ในกระบวนการสอบสวน ในกระบวนการรับแจ้งความ เวลาคดีข่มขืนเราก็พบว่า ส่วนใหญ่บางทีรับแจ้งแต่ไม่ลงบันทึกประจำวัน แจ้งก็คือแจ้งด้วยวาจา อาจจะส่งตัวไปตรวจร่างกาย หรืออาจไม่ส่งตัวไปตรวจร่างกายก็ได้ แต่ในกรณีส่งตรวจร่างกาย ตำรวจก็จะรอจนผลแพทย์ออกถึงจะเรียกไปสอบปากคำ ซึ่งในกฎหมายไม่ได้เขียนไว้เลยว่าการสอบปากคำให้ทำหลังจากที่ผลแพทย์ออก” สุเพ็ญศรีกล่าว

นอกจากนี้ ข้อจำกัดประการที่สอง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมให้ความเห็นว่าคือการที่ตำรวจเพศชาย ‘ไม่มีความเข้าใจประเด็นที่อ่อนไหว’ ในการสอบปากคำผู้เสียหายผู้หญิง และการที่ตำรวจผู้ชายไม่ได้ถูกฝึกมา อาจจะทำให้ไม่มีความเข้าใจในประเด็นที่อ่อนไหวโดยเฉพาะในเรื่องเพศ

“พนักงานสอบสวนส่วนใหญ่ ในการเรียนเขาจะเรียนหลักนิติศาสตร์ กฎหมายอาญาแต่ว่าการสอบปากคำ วิธีสอบปากคำที่เป็นมิตร ตำรวจก็จะไม่ค่อยมีความเข้าใจเท่าไหร่ บางทีใช้คำพูดคำจาที่อาจจะไม่เหมาะสม หรือตั้งคำถามที่ไม่เชื่อว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงหรือคำถามที่แทงใจดำทำให้ผู้หญิงรู้สึกสูญเสียความมั่นใจ” ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมกล่าว พร้อมระบุว่าการใช้คำถามเชิงดูหมิ่นมีผลทำให้ผู้เสียหายตัดสินใจไม่แจ้งความ

“กรณีที่ผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะแต่งงานมีสามี หรือว่าเป็นผู้หญิงสูงอายุก็ตาม หรือผู้หญิงพิการก็ตาม เราพบว่าความอายก็ดี หรือคำถามที่เป็นคำถามเชิงดูหมิ่น ตำหนิ ทำให้ผู้หญิงบางคนถึงขนาดถอยหลังกลับไม่แจ้งความดำเนินคดี” ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมกล่าว

ปี 62 ตำรวจหญิงไทยคิดเป็น 16%

รายงานการศึกษาผู้หญิงในการบังคับใช้กฎหมาย จัดทำโดย United Nations Office on Drugs and Crime, UN Women และ INTERPOL เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2563 หน้า 33  ระบุว่า สัดส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศไทยแยกตามเพศใน พ.ศ. 2562 มีสัดส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจแบ่งออกเป็น เพศชาย 84% และเพศหญิง 16% โดยในที่นี้ไม่ได้เจาะจงเฉพาะพนักงานสอบสวน

ตารางอัตราส่วนตำรวจหญิงใน 30 ประเทศ :

ตารางอัตราส่วนตำรวจหญิงใน 30 ประเทศ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะพนักงานสอบสวน ที่มา  M. Natarajan and E. Oliveira (2019) “Women and international criminal justice”, in M. Natarajan (ed.) International and Transnational Crime and Justice, New York: Cambridge University Press อ้างถึงใน รายงาน 'ชุดเครื่องมือเพศสถานะกับความมั่นคง การตำรวจกับเพศสถานะ' ("Policing and Gender", in Gender and Security Toolkit) เขียนโดยลิซา เดนนี แปลเป็นภาษาไทยโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES)

พนักงานสอบสวนหญิงชาย หน้าที่เหมือนกัน แต่ ‘ความละเอียดอ่อน’ ต่างกัน วิธีการฝึก ‘จิตวิทยา-เรียนรู้เครือข่าย’ จึงสำคัญ

สุเพ็ญศรี กล่าวว่า การทำงานของพนักงานสอบสวนหญิงและชาย ตามหลักแล้วมีบทบาทหน้าที่เหมือนกัน เพียงแต่ในเรื่องของ ‘ความละเอียดอ่อน’ นั้น เพศหญิงและชายจะมีความแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อมาสอบสวนคดีเกี่ยวกับเพศซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนจะมีผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นตำรวจชาย-หญิง จะต้องถูกฝึกอบรมให้มีความเข้าใจในคดีความครอบครัว คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ และคดีที่เด็กเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้กระทำความผิดด้วย 

“ตำรวจอาจจะต้องมีหลัก certify (รับรอง) ต้องมีกระบวนการที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ และประเมิน มีการดูว่าคดีเพศเขาทำยังไง อาจจะต้องมีคณะกรรมการประเมิน หรือคณะกรรมการที่จะตรวจสอบคุณภาพ ว่ามีความเข้าใจหลัก มีความเข้าใจวิธีการไหม มีความเข้าใจกฎหมายชัดเจนไหม มีความละเอียดอ่อน อะไรอย่างนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติอาจจะต้องมีการฝึกอบรมให้พนักงานสอบสวนทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ว่าผู้ชายอาจจะต้องให้มีความเข้าใจชัดเจน” ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมกล่าว

นอกจากนี้ สุเพ็ญศรีระบุเพิ่มเติมว่า กระบวนการฝึกฝนให้พนักงานสอบสวนเข้าใจคดีเพศหญิงนั้น ไม่เพียงแค่ใช้หลักสูตรจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น แต่พนักงานสอบสวนจะต้องมีการฝึกอบรมเฉพาะทางเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะต้องมีหลักกฎหมายมหาชน และหลักจิตวิทยาเข้ามาฝึกฝนร่วมด้วย

“ในเรื่องของการถามความกับเด็กกับผู้หญิง จะไปถามแบบผู้ชายถามผู้ชายมันไม่ได้ เพราะผู้หญิงไม่ได้ถูกฝึกมาแบบผู้ชาย แล้วผู้หญิงถูกข่มขืนโดยผู้ชายมา ถ้าผู้ชายที่สอบปากคำแม้จะเป็นตำรวจ แต่ลักษณะท่าทางคล้ายกับผู้ชายที่ตัวเองถูกกระทำ อันนี้โดยความรู้สึกของผู้หญิงมันก็แย่อยู่แล้ว มันเหมือนกับอาการที่เขาเจอเหตุการณ์ซ้ำ ความรุนแรงในอดีตมันกลับขึ้นมา เพราะฉะนั้น ตำรวจจะต้องได้เรียนรู้ความเข้าใจจิตวิทยาของผู้หญิงที่ถูกละเมิดทางเพศ อารมณ์ความรู้สึก หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง”

“ไม่ใช่วิชาเรียนที่เป็นวิชากฎหมาย มันต้องมีวิชาด้านจิตวิทยา มีวิชาเรื่องของการรู้เครือข่ายที่จะต้องส่งต่อเวลาที่ตำรวจดูแลเขา (ผู้เสียหาย) ไม่ได้หมด จะต้องรู้จักนักสังคมสงเคราะห์ จะต้องส่งต่อหน่วยงานองค์กรด้านเด็ก องค์กรด้านผู้หญิงยังไง ตรงนี้มีความจำเป็นและสำคัญ เพราะว่าส่วนหนึ่งของผู้กระทำความผิดที่มันเพิ่มขึ้น เป็นเพราะว่าการแจ้งความทำได้น้อย การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทำได้น้อย ผู้กระทำก็ย่ามใจก็ทำได้เรื่อยๆ” สุเพ็ญศรีกล่าว

คดีมีแนวโน้มไปไม่ถึงศาล-คำถามกระทบจิตใจ ปัญหาที่เกิดหากไร้ ‘พนักงานสอบสวนหญิง’

ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมกล่าวว่า หากพนักงานสอบสวนหญิงไม่เพียงพอต่อกรณีความรุนแรงทางเพศและเด็กที่ผู้หญิงเป็นผู้เสียหาย ปัญหาที่เกิดตามมาคือ คดีเหล่านี้อาจมีแนวโน้มที่จะไปไม่ถึงศาล และเมื่อเพศหญิงเข้าสู่กระบวนการสอบปากคำส่วนใหญ่จะพบเจอกับคำถามที่กระทบต่อจิตใจผู้เสียหาย

“จากการได้คุยได้สอบถามผู้หญิงที่ไปที่สถานีตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ หรือในต่างจังหวัด หลายคนถูกตำรวจที่รับแจ้งความ หรือคนที่อยู่หน้าประตูที่เป็นสิบเวรถามแบบนี้ เช่น บอกว่าถูกข่มขืนน่ะมีพยานไหม หรือมาแจ้งความเนี่ยถ้าไม่มีพยาน ถ้าเป็นเท็จเดี๋ยวจะถูกฟ้องกลับนะ ซึ่งคำถามแบบนี้ผู้หญิงส่วนใหญ่เจอแล้วถูกถาม” สุเพ็ญศรีกล่าว


อุษา เลิศศรีสันทัด ที่ปรึกษามูลนิธิผู้หญิง

ขณะที่ที่ปรึกษามูลนิธิผู้หญิง ให้ความเห็นตรงกันว่าปัญหาที่จะเกิดหากสถานีตำรวจไร้พนักงานสอบสวนหญิง คือคำถามกระทบจิตใจที่ผู้เสียหายจะได้รับในกระบวนการสอบปากคำแจ้งความเบื้องต้น ทั้งยังเป็นปัญหาที่ดำรงอยู่ในทุกพื้นที่ 

“ตัวผู้เสียหายเองรู้สึกกลัวอยู่แล้ว พอมีกระบวนการสอบปากคำแล้วมีพนักงานสอบสวนมาตั้งคำถามที่ว่าไม่เชื่อมั่นในคำพูดของผู้เสียหาย ด้วยคำถามว่า ทำไมมีโอกาสแล้วไม่ขอความช่วยเหลือ ทำไมไม่เล่าให้คนนี้ฟัง  เพราะฉะนั้นเขา (ตำรวจชาย) จะไม่ได้มีความละเอียดอ่อน กลายเป็นให้ความรู้สึกว่าเราโกหก ไม่เชื่อในสิ่งที่เราไปแจ้งความ บางคนก็รู้สึกแทบจะอยากถอนจากการไปแจ้งความ” อุษากล่าว พร้อมระบุว่าการที่ผู้เสียหายไม่อยากแจ้งความ เป็นที่มาของเปอร์เซ็นต์ของคดีทางเพศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4,000 - 5,000 รายต่อปี แต่ตนย้ำว่าผู้เสียหายมีจำนวนมากกว่านี้ที่ไม่ต้องการแจ้งความ

เพราะ ‘กระบวนการตั้งคำถาม-บรรยากาศที่ดี’ เป็นขั้นตอนสำคัญ เสนอจัดตั้งโมเดลแบบ ‘One Stop Crisis Center’

อุษากล่าวว่า กระบวนการตั้งคำถามและบรรยากาศที่ดีในกระบวนการสอบปากคำ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติต่อคดีความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ต้องเป็นบรรยากาศที่ดีที่จะทำให้ผู้เสียหายเต็มใจที่จะเล่าสิ่งที่ตนเผชิญออกมาได้ และพนักงานสอบสวนเพศหญิง เป็นสิ่งที่สำคัญในกระบวนการเหล่านี้

“หากเป็นเพศเดียวกันก็จะสบายใจที่จะเล่ามากกว่า เพราะว่าประเด็นที่เล่าคนที่ถูกละเมิดทางเพศจะมีผลกระทบด้านจิตใจ ซึ่งถ้าบางทีเล่าแล้วก็ร้องไห้ บางทีถ้าเป็นพนักงานสอบสวนหญิง เขา (ผู้เสียหาย) อาจจะสบายใจที่จะร้องไห้ออกมา แต่ถ้าเป็นพนักงานสอบสวนชาย ด้วยน้ำเสียง ด้วยท่าที เขาอาจรู้สึกว่าต้องเก็บเอาไว้” 

“พนักงานสอบสวนหญิงจะได้ช่วยประคับประคองสภาพจิตใจได้ มันก็จะมีความละเอียดอ่อนจากการที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน สามารถที่จะช่วยให้ผู้เสียหายที่เป็นเพศหญิงไม่รู้สึกกดดันเหมือนพนักงานตำรวจชาย” ที่ปรึกษามูลนิธิผู้หญิงกล่าว

นอกจากนี้ อุษาระบุเพิ่มเติมว่า หากเป็นไปได้ไม่อยากให้ผู้เสียหายต้องไปพบเจอบรรยากาศที่โรงพัก ตนจึงยกตัวอย่างกระบวนการ ‘One Stop Crisis Center’ คือการให้ปากคำที่ศูนย์ OSCC ซึ่งเป็นกระบวนการช่วยทำให้ลดขั้นตอนในการสอบปากคำแก่ผู้เสียหาย

“ผู้เสียหายจะได้ไปที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล แล้วก็มีตำรวจ มีนักจิตวิทยา อยู่พร้อมด้วยเลย แล้วก็ตำรวจมาที่ห้องสอบปากคำที่ศูนย์ OSCC ซึ่งในบ้านเรามีโมเดลที่เป็นศูนย์พึ่งได้ แต่ว่าท้ายที่สุดก็ยังต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจอยู่ดี เราก็อยากให้เป็นแบบนี้ในทุกๆ เคส ให้ตำรวจได้มาในบรรยากาศที่ศูนย์ในคลินิก ที่เด็กไม่ต้องไปโรงพัก กระบวนการอันนี้คือ one stop จริงๆ ไม่ต้องเหมือนกับว่าไปโรงพยาบาลทีนึง ไปที่สถานีตำรวจทีนึง ต้องไปให้ปากคำอีก พยายามเลี่ยงที่จะให้เด็กพูดซ้ำๆ อีก พยายามที่จะลดขั้นตอนให้ได้มากที่สุด” ที่ปรึกษามูลนิธิผู้หญิงกล่าว

ภาพ พนักงานสอบสวนหญิง ในพิธีมอบประกาศเกียรติคุณให้พนักงานสอบสวนหญิง ร่วมการประชุมสตรีที่เป็นผู้นำในบทบาทการบังคับใช้กฎหมายระดับภูมิภาคอาเซียน เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 ที่มาภาพ สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พนักงานสอบสวนหญิง กลไกสำคัญให้กระบวนการยุติธรรม ‘มีประสิทธิภาพ’ มากขึ้น

ที่ปรึกษามูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า หากคดีความรุนแรงทางเพศและเด็กมีพนักงานสอบสวนหญิงอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ ด้วยความที่เป็นเพศเดียวกันจะทำให้ตัวผู้เสียหายมีความไว้วางใจ และกล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“เราก็จะเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรม มีประสิทธิภาพมากขึ้น เรา (ผู้เสียหาย) จะไม่ต้องรู้สึกอาย เขิน และคำถามที่ถามต่อผู้เสียหายก็จะด้วยโทนเสียงที่มีความเข้าใจ น้ำเสียงที่จะทำให้เราจะไม่รู้สึกว่ามาถูกไต่สวนจากพนักงาน ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจตั้งคำถามขึ้นต้นว่า ‘ทำไม’ เช่น ทำไมไม่ร้อง ทำไมไม่หนีออกมาให้คนนู้นคนนี้ช่วย 

(ตำรวจชาย) จะไม่ได้เข้าใจถึงภาวะความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนที่กระทำกับคนที่ถูกกระทำ ซึ่งตรงนี้ความเป็นผู้หญิงก็จะทำให้คนที่ประสบปัญหารู้สึกสบายใจที่จะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นได้มากกว่า” อุษากล่าว

ขณะที่ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ระบุเพิ่มเติมว่า ด้วยความที่เพศหญิงไม่ถูกฝึกมาอย่างแข็งกระด้าง ถึงแม้ตำรวจหญิงจะจบมาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือเนติบัณฑิตก็ตาม แต่ความเป็น ‘ผู้หญิง’ สังคมครอบครัว หรือการอยู่ในสถาบันต่างๆ ก็ทำให้ผู้หญิงได้ถูกปลูกฝังความละเอียดอ่อน ได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นเมื่อต้องทำหน้าที่ปากคำ ตำรวจหญิงจึงเป็นกลไกสำคัญ ให้ผู้เสียหายเพศหญิงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

สุเพ็ญศรี กล่าวว่า บทบาทตรงนี้คงไม่เพียงแต่เฉพาะพนักงานสอบสวนหญิงเท่านั้นที่ต้องทำความเข้าใจ เพียงแต่หากเป็นตำรวจหญิงก็จะมีความละเอียดลึกซึ้งมากกว่า

“ด้วยความเป็นเพศหญิง เขาไม่ถูกฝึกมาอย่างแข็งกระด้างเกินไป สังคมครอบครัวหรือการอยู่ในสถาบัน ก็ทำให้เขาได้เห็นผู้หญิง ได้เห็นสิ่งต่างๆ มามาก เมื่อต้องทำหน้าที่แล้วเขาได้มีความเข้าใจความละเอียดอ่อน เขาก็จะสอบปากคำแล้วก็ทำให้เกิดความมั่นใจ ความปลอดภัยเวลาที่ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนมาแจ้งความ แล้วถ้าเป็นพนักงานสอบสวนหญิงที่ได้เรียนรู้ ได้รู้จักเครือข่ายองค์กรด้านเด็ก องค์กรด้านผู้หญิงเนี่ยเขาก็จะสามารถส่งต่อ หรือขอรับคำแนะนำผู้หญิงที่ประสบปัญหา” ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าว

นอกจากนี้ สุเพ็ญศรีระบุเพิ่มเติมว่า ขณะนี้คดีข่มขืนที่ผู้ชายเป็นผู้กระทำ แล้วผู้เสียหายไปแจ้งความ คดีเหล่านี้ไม่เข้าสู่กระบวยการยุติธรรมด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง หรือที่ภาษาตำรวจเรียกว่าการเป่าคดี

“ถ้าวิธีการที่พนักงานสอบสวนทั้งผู้หญิงผู้ชายรับเป็นคดี แล้วให้เข้าไปสู้คดีกันในศาล ให้มีการลงโทษมันจะเป็นการดี แต่โดยส่วนใหญ่ที่บอกว่าผู้หญิงไม่ได้อยู่ได้อยู่ทุกโรงพัก เพราะฉะนั้นคดีเพศมันก็เลยเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม มันถูกปิดตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการยุติธรรมแล้ว”  ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าว

เสนอจัดตั้งศูนย์พิทักษ์เด็กและสตรี-ตำรวจปราบปรามความรุนแรงทางเพศ 

สุเพ็ญศรี เสนอแนวทางเพื่อให้เพศหญิงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมว่า จะต้องแก้ทั้งตัวนโยบาย และกฎหมาย จากตัวกฎหมายที่เขียนอนุโลมให้เป็นใครก็ได้สอบสวน สุเพ็ญศรีย้ำว่าต้องมีการเปลี่ยนใหม่ ให้สอบปากคำโดยพนักงานสอบสวนหญิงเท่านั้น พร้อมย้ำว่าต้องมีการจัดตั้งศูนย์พิทักษ์เด็กและสตรี

“จะต้องมีศูนย์พิทักษ์เด็กและสตรี เหมือนกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือปคม. เช่นเดียวกัน ต้องมีตำรวจป้องกันปราบปรามเรื่องของการละเมิดทางเพศ หรือเรื่องเด็ก ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ” สุเพ็ญศรีกล่าว

ขณะที่ที่ปรึกษามูลนิธิผู้หญิง ให้ความเห็นว่า การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือในคดีความรุนแรงต่อเพศหญิงและเด็กต้องเริ่มจากการทำให้ปัญหาเหล่านี้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อที่จะผลักดันเสนอนโยบายให้เกิดการตื่นตัว

“ถ้าเป็นวาระแห่งชาติมันก็จะทำให้มีการทำงานที่ตื่นตัว ทำให้มีการจัดตั้งศูนย์ (ช่วยเหลือความรุนแรงทางเพศและเด็ก) อย่างแท้จริง จังหวัดนึงสักศูนย์นึง ทำให้คนก็จะได้กล้าว่าหน่วยนี้จะมีพนักงานสอบสวนหญิงนะ เป็นหลักประกันได้ แล้วก็จะไม่ได้มีคนเดียวด้วย จะมีทีมพนักงานสอบสวนหญิงที่หากคนนี้ไม่ว่างก็จะมีคนอื่น ดีกว่าเราแบกหน้าไปสถานีตำรวจซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะไปเจอตำรวจร้อยเวรที่เป็นแบบไหน ก็จะได้ทำให้ผู้ประสบปัญหาอุ่นใจ แล้วก็ดูว่าถ้าเคสมันเยอะขึ้นจริง นั่นแสดงว่าคนกล้าที่จะออกมา เพราะว่าทุกวันนี้เคสมันอาจจะมีเท่านี้ แต่ในความเป็นจริงมันมีมากกว่านี้ แต่ว่าไม่กล้าออกมา” อุษากล่าว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องทำให้กระบวนการยุติธรรม ‘โปร่งใส-ตรวจสอบได้’

ที่ปรึกษามูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินคดีความรุนแรงทางเพศและเด็ก สิ่งสำคัญคือนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ตอบสนองอย่างเร่งด่วนต่อคดีทางเพศ และปฏิบัติต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างโปร่งใส

“ต้องแก้ในเชิงนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกาศออกมาให้ชัดว่าภายในกี่เดือนถ้าคดีไม่คืบหน้าจะร้องเรียนได้ที่ไหน ทำกระบวนการให้โปร่งใส” อุษากล่าว พร้อมยกตัวอย่างถึงกรณีที่ผู้เสียหายเพศหญิงต้องไปออกรายการโทรทัศน์เพื่อทำให้คดีคืบหน้า “กลายเป็นเห็นในทีวีว่ากรณีนี้ได้ออกทีวี เคสนี้จะรวดเร็ว ซึ่งเรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่การปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน  เท่ากับว่าคุณไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้เสียหาย มีทั้งผู้หญิงและเด็กต้องแบกหน้าตัวเองไปตามคนที่เขาเชื่อว่าจะทำให้คดีมันคืบหน้า ส่วนใหญ่ที่เราได้ยินมา ไปเพราะคดีมันไม่คืบ กระบวนการยุติธรรมมันไม่ได้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ผ่านไปแล้ว 6 เดือน ยังไม่เห็นทำอะไรเลย คนร้ายก็ยังลอยนวล ซึ่งมันไม่เห็นชัดเจนว่ากระบวนการยุติธรรมอยู่ที่ไหน” ที่ปรึกษามูลนิธิผู้หญิงกล่าว

นอกจากนี้ อุษาระบุว่า การดำเนินการคดีเหล่านี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีเบอร์โทรศัพท์แยกออกจากเบอร์ 191 สำหรับร้องเรียนเฉพาะพนักงานสอบสวน และต้องมีการรายงานผลความคืบหน้าหลังจากผู้เสียหายร้องเรียน พร้อมย้ำว่ากระบวนการยุติธรรมต้องเคารพความเป็นส่วนตัว รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การที่จะต้องให้ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษอย่างแท้จริง

“มีหลายครั้งที่ฝ่าฝันฟ้องคดีไป รอแล้วรออีก ในที่สุดยกฟ้อง เอาผิดพ่อเลี้ยงไม่ได้  เนื่องจากศาลไม่เชื่อ อันนี้นอกจากพนักงานสอบสวนแล้วเนี่ย ตลอดสายพานกระบวนการยุติธรรมมันก็อาจจะเริ่มต้นจากสำนวนคดีตั้งแต่แรก”  

“น้ำหนักของการให้ความสำคัญกับปากคำกับผู้เสียหาย ในบ้านเราไม่ให้ความสำคัญเท่าหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ทำให้กระบวนการยุติธรรมมันไม่ได้ทำหน้าที่ของมันเอง เพราะบางคำของผู้ให้การไม่มีน้ำหนักพอ อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ว่า ถ้าคุณไม่ฟังผู้เสียหาย อะไรคือความยุติธรรมที่ผู้เสียหายจะได้รับ เพราะบางครั้งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มันไม่มี หรือกรณีลวนลามทางเพศ ก็ไม่สามารถตรวจ DNA ได้” อุษากล่าว

ปรับปรุงอัตรากำลัง ให้พนักงานสอบสวนหญิงเข้าสู่การทำงานมากขึ้น

ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมระบุว่า การปล่อยให้เพศใดเพศหนึ่งในวงการสีกากีทำงานนานเกินไป อาจจะนำไปสู่ความเสียหายทางเพศต่ออีกเพศหนึ่งได้ หากจะป้องกันการปราบปรามการทุจริตทางเพศได้ จะต้องมีการเช็คบาลานซ์เพศสภาพของการทำงานให้ทั่วถึง

“การทำงานในแต่ละบริบทมันต้องมีผู้หญิงเข้าไปทำงาน แต่ถ้ามีผู้ชายอย่างเดียว มันก็จะมีความแข็งกระด้าง ตึง หรือคนเพศเดียวกันเขาก็ทำอะไรกันก็ไม่มีการระมัดระวัง”

“กลไกตำรวจเป็นกลไกที่ดูแลผดุงความยุติธรรม แต่ตอนนี้ปัญหาเรื่องของความรุนแรงต่อเด็ก ต่อผู้หญิงมันมีมาก กลไกที่ตำรวจจะต้องมีการปรับปรุงคืออัตรากำลัง อำนาจหน้าที่  แล้วเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทในทุกชั้นบริหารและบังคับบัญชา” สุเพ็ญศรีกล่าว

ที่ปรึกษามูลนิธิผู้หญิง ระบุถึงการมีหน่วยตำรวจหญิงในอินเดีย ว่า การที่มีหน่วยงานที่เป็นสถานีตำรวจหญิงโดยเฉพาะ หากเกิดเหตุผู้เสียหายก็จะไปที่สถานีตำรวจนั้นได้ นอกจากนี้สถานีตำรวจเฉพาะยังคงมีความเชี่ยวชาญ และส่งผลให้ตำรวจหญิงเกิดการเรียนรู้ในการทำงานสืบสวนคดีทางเพศ 

อุษาระบุเพิ่มเติมว่า การมีหน่วยงานตำรวจหญิงโดยเฉพาะ หน่วยงานจะมีการเก็บข้อมูลผลกระทบทางจิตใจของผู้เสียหาย เพื่อที่จะเป็นหลักฐานว่ากรณีที่เกิดขึ้น (การกระทำความรุนแรงทางเพศ) มีการกระทำที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งหลายกรณีในไทยนั้น นักสังคมสงเคราะห์ หรือนักกฎหมายที่ตนเคยได้พูดคุยระบุว่า หากเป็นเรื่องสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำ มักจะไม่ถูกบันทึกเก็บไว้  

“ถ้ามีกลุ่มของพนักงานสอบสวนหญิงจะได้เรียนรู้ (กระบวนการเก็บข้อมูลหลักฐาน) ไปด้วยกัน  พัฒนาการสอบสวนที่เป็นประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์เรื่องต่อเรื่องของการเรียกร้องช่วยให้ผู้เสียหายเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น” ที่ปรึกษามูลนิธิผู้หญิงกล่าวทิ้งท้าย

‘บราซิล’ จัดให้บริการสถานีตำรวจเฉพาะสำหรับผู้หญิง ออกแบบให้เกิดการร้องเรียน-สอบสวน พร้อมจัดตั้งศาลเฉพาะลดคดีคั่งค้าง

จากรายงาน 'ชุดเครื่องมือเพศสถานะกับความมั่นคง การตำรวจกับเพศสถานะ' ("Policing and Gender", in Gender and Security Toolkit) เขียนโดยลิซา เดนนี นักวิจัยในประเด็นความมั่นคงและความยุติธรรมในการพัฒนาระหว่างประเทศ จัดพิมพ์โดย DCAF หรือ Geneva Centre for Security Sector Governance ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้คำปรึกษาด้านปฏิบัติการเพื่อปฏิรูปงานด้านความมั่นคงทั่วโลก, OSCE/ODIHR องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปภายใต้สถาบันประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชน และ UN Women แปลเป็นภาษาไทยโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) 

ระบุว่า โต๊ะตำรวจหรือสถานีตำรวจที่จัดให้บริการเฉพาะสำหรับผู้หญิงกับความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงและเด็กหญิงมีอยู่ในหลายประเทศ  รวมทั้งอาร์เจนตินา บังกลาเทศ โบลิเวีย กานา เคนยา มาลาวี เนปาล ปากีสถาน เปรู ฟิลิปปินส์ เชียร์ราลีโอน แอฟริกาใต้ ศรีลังกา และยูกันดา โดยสถานีตำรวจลักษณะดังกล่าวสองครั้งแรกจัดขึ้นในประเทศอินเดีย ในปี 2516 และประเทศบราซิลในปี 2558

รายงานชิ้นนี้ ยกตัวอย่างถึงสถานีตำรวจที่จัดให้บริการเฉพาะสำหรับผู้หญิงกับความรุนแรงที่กระทำต่อเพศหญิงและเด็กหญิงในประเทศบราซิล ซึ่งเรียกกันว่า เดเลกาซีอาส ดิ มุลแยร์ (Delegacias de Mulher DMs) จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองแรงกดดันของนักเคลื่อนไหวผู้หญิงในสถานการณ์ที่อัตราการฆาตกรรมผู้หญิง การประทุษร้ายทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัวมีจำนวนที่สูงมาก ในขณะที่ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล 

สถานีดังกล่าว ออกแบบให้เกิดหน้าที่ร้องเรียน สืบสวนสอบสวน และดำเนินคดี โดยมีจุดมุ่งหมายว่าผู้เสียหายจะได้รับการดูแลโดยหน่วยบริการเฉพาะทาง และหลีกเลี่ยงการตกเป็นผู้เสียหายซ้ำสองจากการถูกเพิกเฉย โดยในสถานีประกอบด้วยตำรวจทั้งชายและหญิง แต่มักดึงดูดความสนใจจากตำรวจหญิงมากกว่า ด้านองค์กรผู้หญิงรณรงค์ให้สถานีดังกล่าวจัดบริการส่งต่อผู้เสียหายไปยังหน่วยสนับสนุนด้านจิตวิทยาและทางกฎหมาย รวมถึงที่พักพิง ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มจำนวนการแจ้งความร้องทุกข์เรื่องความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้นเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาคดีคั่งค้าง บราซิลมีการจัดตั้งศาลแบบใหม่เข้ามาเพื่อเพิ่มช่องทางความรวดเร็วของการดำเนินคดีความรุนแรงในครอบครัว โดยได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายอาญาและบทลงโทษอย่างเข้มงวด 

‘อินเดีย’ จัดตั้งหน่วยตำรวจหญิงล้วน รายงานระบุการร้องทุกข์เพศหญิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 22

ในขณะที่อินเดีย มีการจัดตั้งหน่วยตํารวจหญิงล้วน (All Women Police Units - AWPUs) ขึ้นในรัฐเคราลาในปี 2516 และขยายครอบคลุมมากขึ้นในรัฐทมิฬนาฑูในปี 2535 จนกระทั่งในปี 2560 อินเดียมีหน่วยตํารวจหญิงล้วนทั้งสิ้น 613 หน่วยทั่วประเทศ หน่วยงานดังกล่าวมุ่งเน้นด้านความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก และการชักชวนให้ผู้หญิงมาร้องทุกข์เมื่อถูกกระทำความรุนแรง

ตำรวจหญิงล้วนจากอินเดียไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไลบีเรียเมื่อปี 2550 นับเป็นครั้งแรกที่สหประชาชาติส่งเจ้าหน้าที่หญิงล้วนไปปฏิบัติหน้าที่ | ที่มาภาพ: Emmanuel Tobey/UNMIL

การมีหน่วยตำรวจหญิงในอินเดียมีประโยชน์ในการตรวจตราผู้เสียหายเพศหญิง เพราะสามารถสอบปากคำ ตรวจค้น และป้องกันเหตุได้

หน่วยตำรวจหญิงดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้หญิงล้วน นอกจากนี้ยังมีนักจิตวิทยาและนักสังคมสังเคราะห์อยู่ด้วย ด้านการดำเนินงาน หน่วยงานจะมีการส่งต่อผู้เสียหายไปรับบริการให้คำปรึกษาเป็นประจำ พร้อมออกตรวจตราในพื้นที่เพื่อป้องกันการเย้าแหย่ผู้หญิง และดูแลรักษาความเรียบร้อยในงานสาธารณะอีกด้วย

โดยรายงานระบุว่า การมีหน่วยตำรวจหญิงดังกล่าว ส่งผลให้การร้องทุกข์ของเพศหญิงในอินเดียด้านอาชญากรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ในขณะที่บราซิลมีการสำรวจคำร้องทุกข์แบบสุ่มจำนวน 60 คำร้องจากหน่วยตำรวจหญิง 3 หน่วย พบว่า ร้อยละ 93 ของผู้หญิงที่ร้องทุกข์ระบุว่า มีความพึงใจกับการตอบสนองโดยทันทีของหน่วยตำรวจหญิง ร้อยละ 72 ระบุว่าได้รับบริการให้คำปรึกษาครอบครัว และร้อยละ 68 ระบุว่า มีความพอใจกับบริการให้คำปรึกษาครอบครัวที่ได้รับ และร้อยละ 50 มีความเห็นว่า ความรุนแรงของสามีลดลงหลังการแทรกแซงของหน่วยตำรวจหญิง

สกู๊ปนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษชุด เพศสภาพในงานตำรวจ (Gender and policing) ซึ่งจะมีการนำเสนอระหว่างพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564

สำหรับ ทอฝัน ช่วยชู ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาจากสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท