Skip to main content
sharethis

พระผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาที่ถูกตำรวจไทยจับสึก เดินทางถึงสวิตเซอร์แลนด์อย่างปลอดภัย ขณะที่นักกิจกรรมทางการเมืองชาวกัมพูชาในไทยกังวลเรื่องความปลอดภัย หลังรัฐบาลไทยรับปากที่จะส่งผู้ลี้ภัยกลับตามคำขอของรัฐบาลกัมพูชา

13 ธ.ค. 2564 พระลวน โสวัต (Luon Sovath) ผู้ร่วมเดินทางของบอร์ เบต (Bor Bet) พระชาวกัมพูชาที่ถูกตำรวจไทยจับสึกและควบคุมตัว หลังเดินทางหนีภัยจากกัมพูชามายังประเทศไทย เพื่อขอลี้ภัยต่อไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า บอร์ เบตเดินทางถึงสวิตเซอร์แลนด์โดยปลอดภัย ขณะที่บอร์ เบต ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สวิสและตัวแทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบินออกจากประเทศไทย วันที่ 12 ธ.ค. 2564 บอร์ เบตให้สัมภาษณ์เรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia) ว่า เขากำลังจะเดินทางด้วยหนังสือเดินทางที่ทางสวิตเซอร์แลนด์เพิ่งออกให้ ด้วยความช่วยเหลือจาก UNHCR, ฮิวแมนไรท์วอตช์ (Human Rights Watch), และสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย พร้อมให้คำมั่นว่า จะยังคงทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในกัมพูจากสวิตเซอร์แลนด์ต่อไป

บอร์ เบต ยืนยันว่า เขาจะติดตามสถานการณ์ในกัมพูชาและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างสร้างสรรค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในประเด็นที่เขาเคยเคลื่อนไหว ทั้งการสนับสนุนกิจกรรมปกป้องป่าจากการลักลอบตัดไม้ผิดกฎหมาย ความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกิน และโดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมือง

พระผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาเล่าอีกว่า เขาเสี่ยงถูกจับกุมตัวอีกครั้งและอาจถูกส่งตัวกลับกัมพูชาตามคำร้องขอของรัฐบาลฮุนเซน หากยังอยู่ในไทยต่อไป อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไทยไม่ได้ขัดขวางการเดินทางออกนอกประเทศของเขา

“ทางการไทยอนุญาตให้ฉันอยู่ไทยต่อได้ไม่เกินหนึ่งเดือน อย่างมากที่สุด คือ ถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 2564 เท่านั้น ถึงปลายเดือน ธ.ค. นี้เป็นอย่างมากที่สุด ต้องขอบคุณบรรดานักการทูตและองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เข้ามาแทรกแซง และทำให้ฉันมีโอกาสลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม” บอร์ เบตกล่าว

บอร์ เบต กล่าวอีกว่า เขาอยู่ในไทยมานานกว่า 10 เดือน และขอเรียกร้องให้ทางการไทยเคารพสิทธิของผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองสถานะจาก UNHCR

“มันเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ผู้ลี้ภัยที่หนีมาอยู่ประเทศไทยไม่ได้มีใครอยากจะมาอยู่ที่นี่จริงๆ แต่พวกเขาล้วนหนีจากการประหัตประหารในประเทศบ้านเกิดของตนเองด้วยความกลัวที่จะถูกจับกุมหรือข่มขู่คุกคาม” พระผู้ลี้ภัยกล่าว

บอร์ เบต ยังกล่าวด้วยว่า เขาอยากจะขอร้องเจ้าหน้าที่ไทย ในฐานะที่เป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับกัมพูชา ได้โปรดรับประกันการคุ้มครองผู้ลี้ภัยให้รู้สึกปลอดภัยในประเทศของท่าน มิฉะนั้น ประเทศไทยจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลก

นอกจากกรณีของบอร์ เบต ยังมีผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR อาศัยอยู่ในไทย เพื่อรอเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม

สมาชิกพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ที่ถูกยุบ หนึ่งในผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาในไทย แสดงความกังวลต่อการที่ไทยจับกุมและส่งตัวนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชากลับประเทศ

เลง โสแทรี (Leng Sotheary) ผู้หญิงนักเคลื่อนไหวจากพรรค CNRP เตือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะทำลายภาพลักษณ์ของตนเอง หากยังคงเล่นงานผู้ลี้ภัยเพื่อเอาใจ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

“คุณจะได้แบ่งปันภาพลักษณ์แย่ๆ ร่วมกับฮุนเซน และประชาชนจะเกลียดชังคุณไม่แพ้กัน” นักเคลื่อนไหวหญิงแห่งพรรค CNRP ให้สัมภาษณ์เรดิโอฟรีเอเชียภาคภาษาเขมร

อู๋ นริธ (Oeu Narith) นักกิจกรรมพรรค CNRP ที่ลี้ภัยอยู่ในไทยอีกรายหนึ่ง บอกว่า ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวกัมพูชาเพียงแค่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก เพื่อเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศบ้านเกิดเท่านั้น

“ผมรู้สึกเสียใจต่อข้อเท็จจริงที่ว่าทางการไทยให้คำมั่นที่จะปฏิบัติตามคำขอของกัมพูชา” ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวกัมพูชากล่าว

อู๋ นริธ กล่าวว่า พวกเขาพยายามอย่างหนัก เพื่อให้องค์การสหประชาชาติคุ้มครองผู้ลี้ภัยมากขึ้น กระทั่งสหประชาชาติเริ่มเข้ามาดูแลและให้ความสนใจเรื่องของพวกเขามากขึ้นในปัจจุบัน

ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวกัมพูชาในไทย กล่าวว่า CNRP กำลังทำงานร่วมกับประชาคมโลกและ UNHCR เพื่อทำให้มั่นใจว่าทางการไทยจะปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายที่คุ้มครองผู้ลี้ภัย CNRP ยังขอให้เลิกส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศตามคำขอจากรัฐบาลกัมพูชา

คำพิพากษาศาลฎีกากัมพูชาพิพากษายุบพรรค CNRP พรรคฝ่ายค้านหลักของกัมพูชา เมื่อเดือน พ.ย. 2560 ในข้อหาได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาให้มาโค่นล้มรัฐบาล

การยุบพรรค CNRP เป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของฮุนเซนในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) และสื่ออิสระ เพื่อปูทางให้พรรคประชาชนกัมพูชาของฮุนเซนได้ 125 ที่นั่งในสภาแบบไร้คู่แข่ง ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน ก.ค. 2561

หลังจากนั้น คนที่วิพากษ์วิจารณ์ระบอบฮุนเซนหลายร้อยคนต่างหนีเข้ามาในไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมหรือลงโทษด้วยแรงจูงใจทางการเมือง

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2564 เฟรชนิวส์ (Fresh News) สื่อที่สนับสนุนฮุนเซน รายงานว่า ซก กรัดทะยา (Sok Sokrethya) ปรึกษาส่วนตัวของฮุนเซน และลูกชายของ ซก เอซาน (Sok Ey San)โฆษกพรรค  พบปะหารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีไทยที่ดูแลด้านความมั่นคง

ระหว่างการหารือที่บ้านของ พล.อ.ประวิตร มีรายงานว่า ซก กรัดทะยา ขอให้ทั้งสองประเทศร่วมมือกันต่อต้านข่าวปลอม และป้องกันไม่ให้นักกิจกรรมฝ่ายตรงข้ามใช้ไทยเป็นฐานรณรงค์ต่อต้านฮุนเซนบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฟรชนิวส์รายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร ให้คำมั่นที่จะปฏิบัติตามคำขอของกัมพูชา

เรียบเรียงจาก

Cambodian refugee monk arrives in Switzerland following brief arrest in Thailand, Radio Free Asia, 13-12-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net