สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 10-16 ธ.ค. 2564

เยียวยาลูกจ้างได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รับเงินสงเคราะห์เพิ่มได้ถึง 28 ก.พ. 2565

16 ธ.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีการระบาดของโรคโควิด-19 จนเป็นเหตุให้สถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้นายจ้างบางส่วนไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ และมีการจ่ายค่าจ้างหรือค่าตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้าง โดยไม่ถูกต้อง รวมถึงมีการเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด ปัญหาดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน หามาตรการช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างกลุ่มนี้ให้ได้รับเงินสงเคราะห์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในอัตราที่เหมาะสม ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานประกอบกิจการในวงกว้าง นอกจากนี้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการกระทรวงแรงงานมอบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างนำมาพิจารณา ซึ่งได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วย การจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่าย และระยะเวลาการจ่ายกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease (COVID-19)) พ.ศ.2564 โดยปรับเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์ ดังนี้

1.กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ให้ปรับเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม คือ จาก 30 เท่า เป็น 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 3 ปี จาก 50 เท่า เป็น 80 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี และ จาก 70 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป

2.กรณีเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย ให้ปรับเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม คือ 60 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ระเบียบนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ลูกจ้างที่เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างฯ จากสาเหตุนายจ้างประสบปัญหาทางการเงินเพราะสาเหตุการระบาดของโรคโควิด-19 สามารถขอรับเงินสงเคราะห์เพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 ได้แล้ว

ด้านนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กล่าวเพิ่มเติมว่า ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วย การจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่าย และระยะเวลาการจ่ายกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease (COVID-19)) พ.ศ.2564 เป็นระเบียบที่กำหนดเป็นการเฉพาะกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย ได้แก่ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เป็นต้น เพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยหรือเงินอื่นตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป สามารถมายื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์เพิ่มเติมได้ ในเบื้องต้นได้กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ระหว่างวันที่ 1 มี.ค. 2563 – วันที่ 28 ก.พ. 2565 หากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อการประกอบกิจการของสถานประกอบกิจการ คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างอาจพิจารณาขยายระยะเวลาของการบังคับใช้ระเบียบนี้ต่อไป

ที่มา: มติชน, 16/12/2564

ปิดล้อม 8 จุด ทลายเครือข่าย 'โกโส' นายทุนเมียนมา ลอบขนแรงงานต่างด้าว

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 ที่กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษภูธรจังหวัดระนอง พ.ต.อ.วิระชาญ ขุนไชยแก้ว ผกก.5 บก.ป. พร้อมด้วย พ.ต.ต.ปิยะพร เรียนสุทธิ์ พ.ต.ต.ธีระยุทธ ไทยราช สว.กก.5 บก.ป. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกก.สส.ภ.จว.ระนอง, กก.ตชด.415, ตม.ระนอง และทหาร เข้าปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายในจ.ระนอง จำนวน 7 จุด และที่จ.ชุมพร อีก 1 จุด เพื่อจับกุมผู้ต้องหาขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ

จากการตรวจค้นเจ้าหน้าที่สามารถจับกุม นายเสรี พรหมอินทร์ อายุ 40 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดระนอง ที่ 143/2564 ลงวันที่ 13 ธ.ค.2564 ข้อหา “ร่วมกันซ้อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้าเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย” ได้ที่ด่านตรวจทุ่งตาพล ต.บางแก้ว อ.ละอุ่น จ.ระนอง นอกจากนี้ ยังเชิญตัวบุคคลที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าว มาสอบปากคำด้วยอีก 5 คน

ทั้งนี้สืบเนื่องจากที่ผ่านมา ตำรวจ-ทหาร จับกุมกลุ่มผู้ต้องหาที่ลักลอบขนแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาเข้ามายังจ.ระนอง จำนวน 3 คดี รวมผู้ต้องหา 12 คน ขณะลักลอบขนแรงงานต่างด้าว จำนวน 127 คน หลบหนีเข้าประเทศ

ก่อนสืบสวนขยายผลจนพบว่า กลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 3 คดีมีความเชื่อมโยงเป็นขบวนการใหญ่ ที่รับว่าจ้างจากนายทุน เพื่อลักลอบขนแรงงานจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำส่งต่อไปยังปลายทาง ซึ่งในพื้นที่ของจ.ระนอง จะมีกลุ่มรับจ้างอยู่ 2 เครือข่าย เจ้าหน้าที่รวบรวบหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนจำนวน 2 ราย พร้อมกับเข้าตรวจค้นเป้าหมายดังกล่าว

สอบสวน นายเสรี ให้การรับสารภาพว่า ได้รับการติดต่อว่าจ้างจาก “โกโส” นายทุนชาวเมียนมา เพื่อให้ตนและพวกขับรถไปรับแรงงานต่างด้าวที่สวนปาล์มแห่งหนึ่งติดกับชายแดน ก่อนพาข้ามเข้ามายังฝั่งไทยโดยใช้เส้นทางธรรมชาติ จากนั้นก็พาไปส่งที่จ.ชุมพร จากนั้นก็จะมีผู้ร่วมขบวนการ มารับไปส่งยังปลายทางต่างๆ ที่มีความต้องการใช้แรงเหล่านี้

นายเสรี ให้การด้วยว่า ตนยอมรับว่าเริ่มทำมาตั้งแต่ช่วงปิดประเทศเพื่อป้องกันโควิด โดยทำมาได้ประมาณ 5-6 ครั้ง แต่ละครั้งจะได้ค่าจ้างคิดเป็นรายหัวคนละ 1,500 บาท แต่ละครั้งจะลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้ามาเที่ยวละประมาณ 15-20 คน นำตัวส่ง สภ.เมืองระนอง ดำเนินคดีต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 15/12/2564

เร่งช่วยเหลือ 396 พนักงานเดอะวันประกันภัย หลังกระทรวงการคลังเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย เตรียมปิดกิจการเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมด

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่ บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีภาระค่าสินไหมทดแทน COVID – 19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ "โควิด–19"

ส่งผลให้บริษัทมีฐานะการเงินไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีความสามารถเพิ่มทุน และไม่เพียงพอ ต่อการจ่ายสินไหมทดแทน สะท้อนว่าบริษัทไม่มีความสามารถและไม่มีความพร้อมในการรับประกันภัยอีกต่อไป กระทรวงการคลังจึงมีคำสั่ง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท และบริษัทเตรียมเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมด 396 คน จาก 19 สาขาทั่วประเทศ

เรื่องดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลภารกิจกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความเป็นห่วงลูกจ้างบริษัทดังกล่าว จึงสั่งการให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแล ช่วยเหลือลูกจ้างอย่างใกล้ชิด

โดยสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับ และขั้นตอนกระบวนการยื่นคำร้องให้ลูกจ้างทราบ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ซึ่งลูกจ้างรับทราบและเข้าใจเป็นอย่างดี และแจ้งความประสงค์ขอยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5 ในวันจันทร์ที่ 20 ธ.ค. 2564 ซึ่งได้นัดหมายให้นายจ้างมาพบเพื่อสอบถาม และตรวจสอบถึงการดำเนินการของนายจ้างว่าเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่

หากนายจ้างไม่สามารถจ่ายเงินค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างให้กับลูกจ้างได้ ลูกจ้างมีสิทธิยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้

นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ 3 ได้เข้าชี้แจงสิทธิเงินทดแทนในกรณีว่างงาน ที่ลูกจ้างพึงได้รับในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยปีละไม่เกิน 180 วัน สำนักงานจัดหางานพื้นที่ 10 ได้นำรายละเอียดของตำแหน่งงานว่างในพื้นที่มาให้ลูกจ้างได้พิจารณาด้วย ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะดูแล ช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า หากบริษัทปิดกิจการลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างในอัตราค่าชดเชยตามระยะเวลาการทำงาน ตั้งแต่ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จะได้รับค่าชดเชย 30 วัน ไปจนถึงทำงานครบ 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน, ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า กรณีเลิกจ้างกะทันหัน โดยนายจ้างไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ได้รับเงินในอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน และเงินผลประโยชน์ต่างๆ เช่นเงินเดือนค้างจ่าย ค่าล่วงเวลา และค่าพาหนะเดินทาง เป็นต้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 15/12/2564

กสร. ยกนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์เป็นต้นแบบ แรงงานสัมพันธ์สมานฉันท์แห่งแรกของประเทศไทย

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวในฐานะประธานเปิดการประชุมภาคีเครือข่ายแรงงานสัมพันธ์ในนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกในภาวะวิกฤตภายใต้บริบทใหม่ (New Normal) ว่า การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง ถือเป็นสิ่งสำคัญในการลดปัญหาข้อขัดแย้ง ข้อพิพาทแรงงาน ทำให้เกิดความร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในสถานประกอบกิจการด้วยระบบทวิภาคีตามนโยบายส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกในภาวะวิกฤติ ของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ (Disruptive Technology) ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงานตามโลกยุคดิจิทัล ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักในการทำงาน ซึ่งกระทบต่อการบริหารกิจการของนายจ้างทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของลูกจ้างอย่างรุนแรง รวมทั้งการจ้างงานที่มีแนวโน้มจะมีความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่ (New Normal) ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความท้าทายด้านแรงงานในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์กรแรงงานในสถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แสดงความคิดเห็น เสนอแนะเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสถานประกอบกิจการ การลงนามในบันทึกแสดงความมุ่งมั่นนำการบริหารแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยระบบทวิภาคีเพื่ออยู่ร่วมกันแบบสมานฉันท์นี้ มีความรับผิดชอบบนพื้นฐานของการทำงานร่วมกันภายใต้กฎหมายซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ชั้น 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับเกียรติจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา และนายกิตติ เหลืองรุจินัทท์ ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ในการลงนามบันทึกแสดงความมุ่งมั่นนำการบริหารแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยระบบทวิภาคีเพื่ออยู่ร่วมกันแบบสมานฉันท์ ผู้เข้าร่วม ประกอบด้วยนายจ้าง ลูกจ้าง จากสถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จำนวน 40 คนจากสถานประกอบกิจการ 20 แห่ง และผู้เข้าประชุมผ่าน Video Conference โดยมุ่งหวังให้นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์เป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบแรงงานสัมพันธ์สมานฉันท์แห่งแรกของประเทศไทย

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 15/12/2564

CEO แสนสิริ ประกาศจุดยืนความเท่าเทียมในองค์กร ให้พนักงานที่เป็น LGBTQ สามารถลาแต่งงานได้ 7 วัน เท่ากับการสมรสระหว่างชาย-หญิง

15 ธ.ค. 2564 เศรษฐา ทวีสิน CEO บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ @Thavisin โดยประกาศให้พนักงานที่เป็น LGBTQ (กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ) สามารถลาแต่งงานได้ 7 วัน ดังนี้

“แสนสิริให้พนักงานที่เป็น LGBTQ สามารถลาแต่งงานได้ 7 วัน เท่ากับการสมรสระหว่างชาย-หญิง เพราะเราทุกคนควรได้รับสิทธิ์อย่างเท่าเทียมเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพใด”

ก่อนหน้านี้ แสนสิริ ย้ำจุดยืนสนับสนุนความเท่าเทียม และหลากหลายทางเพศ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แสนสิริได้เปลี่ยนโลโก้เพื่อนแสดงจุดยืนใน Pride Month และ สนับสนุนให้กลุ่ม LGBTQ สามารถยื่นกู้เพื่อซื้อบ้านร่วมกันได้ โดยเปิดพื้นที่บนเว็บไซต์แสนสิริ เพื่อให้ข้อมูล คำแนะนำ รวบรวมรายชื่อธนาคารที่กลุ่ม LGBTQ สามารถยื่นกู้ร่วมได้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 15/12/2564

ให้ออกจากราชการ ตำรวจพัวพันขบวนการค้าแรงงานเถื่อน จ.ตาก

พลตำรวจโท อัคราเดช พิมลศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 เปิดเผยว่า จากการสอบสวนขยายผลผู้ต้องหาชายอายุ 34 ปี ที่ได้ลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมาย และถูกตำรวจ สภ.แม่สอด จังหวัดตาก จับกุมได้เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน โดยผู้ต้องหาได้ให้การซัดทอด และมีหลักฐานเชื่อมโยงกับดาบตำรวจนายหนึ่ง สังกัด สภ.แม่สอด กระทั่งได้มีการสั่งการให้สืบสวนเชิงลับ จนมีหลักฐานแน่ชัดว่า ดาบตำรวจคนดังกล่าวมีส่วนร่วมกระทำความผิด จึงรวบรวมพยานหลักฐาน ขอศาลจังหวัดแม่สอด ออกหมายจับ ดาบตำรวจ ธิติพงษ์ ปันทิ อายุ 37 ปี สังกัด สภ.แม่สอด เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ล่าสุดสามารถจับกุมตัวได้แล้ว พร้อมแจ้งข้อหาร่วมกันช่วยเหลือซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใด ให้บุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย หลังจากนั้นได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดแม่สอด ไปตรวจค้นที่บ้านของผู้ต้องหา ไปตรวจยึดอาวุธปืนสั้น จำนวน 1 กระบอก จึงแจ้งข้อหาเพิ่มเติม มีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนควบคุมตัวไปสอบสวนขยายผล และต่อมามีคำสั่งจากตำรวจภูธรจังหวัดตาก ให้ดาบตำรวจธิติพงษ์ออกราชการไว้ก่อน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา

ขณะที่ทาง พลตำรวจตรี สิทธิชัย โล่กันภัย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ระบุว่า คดีนี้ไม่ได้มีดาบตำรวจธิติพงษ์เพียงคนเดียว จากการสืบทราบเบื้องต้นยังมีบุคคลอื่นร่วมด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนขยายผลเพิ่มเติม เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ครบทุกคน

ที่มา: ข่าวช่อง 7HD, 15/12/2564

‘สสส.’ หนุนสร้างผู้นำสุขภาพในองค์กร หวังลดแรงงานไทยป่วย-ตายจาก ‘NCDs’

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เปิดตัวโครงการพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมาณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. หวังคนไทยลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรค NCDs ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573

นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนโครงการพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมทักษะและความรู้ให้กับผู้นำสุขภาพ (Health Leader) ในสถานที่ทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในประชาชนวัยทำงาน ซึ่งโรค NCDs เป็นปัญหาใหญ่ในกลุ่มคนวัยทำงาน พบว่า ตลอด 2 ปี ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แรงงานไทยกว่า 38 ล้านคน (ข้อมูลไตรมาส 2 ในปี 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน-BOI) ประสบความยากลำบากในการทำงาน

และมีอุปสรรคในการใช้ชีวิตให้มีสุขภาวะทั้งการกิน อยู่ การมีกิจกรรมทางกาย หรือแม้แต่สุขภาพจิต ดังนั้น “หลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน” ของเครือข่ายคนไทยไร้พุง จึงเป็นกุญแจสำคัญเพื่อสุขภาวะที่ดีของคนในองค์กรวัยทำงานที่เป็นกำลังสำคัญของชาติ และเป็นผู้ดูแลกลุ่มวัยอื่นๆในครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ สสส. ที่มุ่งสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการสร้างสังคมสุขภาวะ

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การส่งเสริมสุขภาวะประชาชน โดยเฉพาะวัยทำงาน เป็นภารกิจที่ สสส. ให้ความสำคัญ โดยปี 2561 โรคไม่ติดต่อที่เป็นสาเหตุการตาย 3 อันดับแรกได้แก่ โรคมะเร็งรวมทุกประเภท รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด โดยประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs เท่ากับ 427.4 คนต่อประชากรแสนคน (ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์โรค NCDs เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2562)

ซึ่ง สสส. ทำงานร่วมกับสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อ เพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ หวังให้บรรลุ 9 เป้าหมายโลกเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อ ตามที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาตกลงรับเป้าหมายไว้กับองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยตั้งเป้าให้ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อลง (เสียชีวิตก่อนอายุ 70 ปี) ร้อยละ 25 ภายในปี 2568 และเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คือ ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573

รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ ประธานหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน กล่าวว่า หลักสูตรนี้ประกอบไปด้วย

5 ชุดวิชา ได้แก่ 1.รู้จัก NCDs การตรวจประเมินและการจัดการเชิงป้องกัน 2.การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 3.การส่งเสริมโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดีห่างไกลโรค 4.การพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร สร้างแรงจูงใจในการดูแลสุขภาพ และ 5.การออกแบบและดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพในองค์กร ตามแนวคิด Design Thinking for Healthy Organization

โดยรูปแบบการอบรมเป็นแบบผสมผสาน มีการอบรมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง และการจัดทำข้อเสนอโครงการที่จะนำไปใช้ในองค์กรของตน งานที่มอบหมายใช้ระยะเวลาอบรมรวม 60 ชั่วโมง โดยผู้ที่ผ่านการอบรมตามเกณฑ์ จะได้รับใบประกาศนียบัตรจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และการให้คำปรึกษาต่อเนื่องเพื่อดำเนินโครงการที่เหมาะสมกับองค์กร ซึ่งในอนาคตก็จะมีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเสริมสุขภาพพนักงาน

ศ.(เกียรติคุณ) พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุงกล่าวว่า ขณะนี้มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจในการพัฒนาผู้นำสุขภาพให้เกิดขึ้น โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานเปิดตัวหลักสูตรกว่า 60 องค์กรทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานเอกชน โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ฯลฯ ซึ่งองค์กรสามารถส่งบุคลากรเข้าร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 8-18 ธันวาคม 2564 และสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ได้ที่ email : raipoong@gmail.com โดยจะมีเจ้าหน้าที่หลักสูตรติดต่อกลับเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม และอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการสมัคร ตลอดจนแจ้งรายละเอียดตารางเรียน และช่องทางการอบรมให้ทราบต่อไป

ที่มา: แนวหน้า, 14/12/2564

หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมชี้แจง เตรียมใช้หอพัก พื้นที่หมู่ 3 ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด เป็นสถานที่กักตัวแรงงานตาม MOU ก่อนเข้าทำงานในประเทศ

13 ธ.ค. 2564 ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ตัวแทนบริษัทลักซ์แพลนเนท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าแรงงาน ,หอพักอินเตอร์ ,ตัวแทนโรงพยาบาลนครแม่สอด อินเตอร์เนชั่นแนล, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล สมุทรสาคร ตลอดจนผู้นำท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จัดเวทีประชุม ปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็น ของชาวบ้าน ก่อนทำประชาคม ในการเปิดตัวโครงการ สถานที่กักตัวทางเลือก โดยใช้ หอพักอินเตอร์ พื้นที่บ้านแม่ปะใต้ หมู่ 3 ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นสถานที่กักตัวแรงงาน ตาม MOU ทางช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก

เนื่องจากหอพักอินเตอร์ ได้ดำเนินการสมัครเข้าร่วม ในโครงการกักตัว ผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงาน ตาม MOU ทางช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก ตามหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงานและความมั่นคง เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมบุคคลดังกล่าว ที่อาจจะมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นขั้นตอนระยะเวลา 7 วัน และ 14 วัน ตามเงื่อนไข การรับวัคซีนของแต่ละบุคคลและตามข้อปฏิบัติของรัฐ

โดยแรงงานจะต้องกักตัว ยังสถานที่กักตัวทางเลือก ที่เข้าร่วม อีกจำนวนประมาณ 7 วัน และ 14 วัน (สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ต้องกักตัว 7 วัน หากฉีด 1 เข็ม หรือยังไม่เคยรับวัคซีน จะต้องกักตัว 14 วัน ) ระหว่างกักตัวจะมีการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วยวิธี RT–PCR จำนวน 2 ครั้ง ก่อนจะสามารถเดินทางเข้าไปทำงานในชั้นในของประเทศไทยได้

จากการหารือ พบว่าชาวบ้าน มีความกังวล เกี่ยวกับการมาตรการการดูแล ควบคุมป้องกันโรค และผลกระทบที่มีต่อชุมชน ในขณะที่ตัวแทนหน่วยงานนำเข้ากลุ่มแรงงาน เน้นย้ำว่า จะวางมาตรการดูแลอย่างรัดกุม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชน

ทางด้านนายธวัช ธรรมแงะ กำนันตำบลแม่ปะ และ นายภาณุวัฒน์ ยะเขียว ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 บ้านแม่ปะใต้ ได้ร่วมหารือกับชาวบ้าน เบื้องต้นการหารือในครั้งนี้ มีจำนวนชาวบ้านไม่ครบกว่าครึ่งของชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน จึงเห็นให้มีการทำประชาคม ด้วยการแจกแบบสำรวจสอบถามไปยังทุกครัวเรือนกว่า 400 หลังคา เพื่อให้ได้มติความเห็นชอบของชาวบ้านทั้งหมด ว่าจะอนุญาตให้มีการใช้หอพักอินเตอร์ เป็นสถานที่กักตัวทางเลือกของกลุ่มแรงงานหรือไม่ ซึ่งหากว่าผลการประชาคม ส่วนใหญ่มีมติเป็นเช่นไร ก็อยากให้ทุกฝ่ายยอมรับ ความคิดเห็นและมติดังกล่าว

ที่มา: คมชัดลึก, 13/12/2564

รัฐบาลเผยสถานการณ์แรงงานส่งสัญญาณดีขึ้น เร่ง Re-Skill กลุ่มได้รับผลกระทบจากภาคท่องเที่ยว

12 ธ.ค. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้มีนโยบายให้ความสำคัญกับการออกมาตรการเพื่อดูแลแรงงานและรักษาการจ้างงานในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้รายงานว่าสถานการณ์ด้านแรงงานส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น

โดยสถานการณ์การว่างงานในระบบประกันสังคมในปี 2564 ดีขึ้นจากปี 2563 สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนที่ขอสิทธิประโยชน์การว่างงานที่ลดลง และจำนวนผู้ประกันตนที่เข้าสู่ระบบมากกว่าจำนวนผู้ที่ออกจากระบบ ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจทั้งในภาคการส่งออก การผลิต และการบริโภค ซึ่งช่วยพยุงการจ้างงานโดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs รวมทั้งผลจากการดำเนินมาตรการส่งเสริมการจ้างงานของภาครัฐ และโครงการ Factory Sandbox

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ยังได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานติดตามสถานการณ์แรงงานในแต่ละสาขาเศรษฐกิจให้มั่นใจว่าการจ้างงานดีขึ้นได้ต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อยกระดับ (Unskill) ปรับระดับฝีมือแรงงาน (Reskill) ให้แก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและผู้ว่างงงานอื่นๆ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้รายงานถึงความคืบหน้าของโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs พบว่า ณ วันที่ 29 พ.ย. 2564 ผลการลงทะเบียนระยะที่ 1 นายจ้างลงทะเบียนรวม 199,162 แห่ง และแรงงานทั้งสิ้น 2,818,215 คน จ่ายเงินอุดหนุนแล้วเสร็จ ประกอบด้วยนายจ้าง 197,899 แห่ง แรงงานจำนวน 2,803,472 คน รวมเป็นเงิน 8,410 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุน ประกอบด้วยนายจ้าง 1,263 แห่ง แรงงาน 14,743 คน คิดเป็น 44.22 ล้านบาท ผลการดำเนินโครงการทำให้การจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพิ่มขึ้น 19,090 คน โดยแบ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก 15,251 คน และธุรกิจขนาดกลางจำนวน 3,839 คน

“กระทรวงแรงงานได้เปิดโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ลงทะเบียนระยะที่ 2 โดยลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย.-20 ธ.ค.นี้ โดยนายจ้างที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการจ้างงานจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1คนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน คือ เดือน ธ.ค. 2564 และเดือน ม.ค. 2565 รัฐบาลขอเชิญชวนให้นายจ้างร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อรับการเยียวยาจากภาครัฐและร่วมกันดูแลให้แรงงานมีงานทำ”น.ส.ไตรศุลี กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 12/12/2564

ก.แรงงาน แจงไม่พบการเลิกจ้างกรณี บ.ขนส่ง ลอยแพลูกจ้าง 400 คน หากเกิดเหตุจริงพร้อมคุ้มครองลูกจ้างตามกฎหมาย

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่เพจสังคมโรงงาน ให้ข่าวว่าบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เตรียมปิดกิจการ ส่งผลให้ลูกจ้างกว่า 400 ชีวิตต้องตกงานกระทันหัน ซึ่งเรื่องนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยลูกจ้างและให้ความสำคัญในการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎมายคุ้มครองแรงงาน จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้มอบหมายให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบว่าไม่พบบริษัทขนส่งปิดกิจการ หรือการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 400 คน แต่ทางกรมฯไม่ได้นิ่งนอนใจพร้อมคุ้มครองสิทธิลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น และขอให้บริษัทฯที่ต้องการจะเลิกจ้างลูกจ้างให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมจ่ายค่าชดเชยและเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้กับลูกจ้าง ซึ่งหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม ขอความร่วมมือให้ลูกจ้างที่ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายเข้ามายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ หรือจังหวัดที่ลูกจ้างปฏิบัติงาน โดยสิทธิที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมาย ประกอบด้วย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม หรือตามสัดส่วน ใบสำคัญการทำงาน เงินสวัสดิการต่าง ๆ ตามที่กำหนดในระเบียบของนายจ้าง และแนะนำพี่น้องผู้ใช้แรงงานหากถูกเลิกจ้าง หรือบริษัทฯปิดกิจการนั้น นอกจากสิทธิด้านคุ้มครองแรงงานแล้ว ยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคมกรณีว่างงาน พร้อมทั้งหางานใหม่ได้ที่กรมการจัดหางาน

โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ฝากส่งกำลังใจให้กับพี่น้องแรงงานทุกท่านในช่วงสิ้นปีนี้ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานให้ได้รับการช่วยเหลือตามกฎหมายแรงงานโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร ทั้ง 10 พื้นที่ หรือสายด่วน 1506 กด 3

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 11/12/2564

เผยผลทีมสหวิชาชีพสอบนายจ้างทุบตีทำร้ายร่างกายลูกจ้าง เข้าข่ายบังคับใช้แรงงาน โทษหนักจำคุกตลอดชีวิต

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่นายจีรวัฒน์ เล้าสุวรรณ หรือ ฟ้า อายุ 29 ปี ทำงานที่ร้านไทยถาวรการเกษตร อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี จำหน่ายวัสดุการเกษตร และเพาะพันธุ์สุนัขจำหน่าย ถูกนางนัยน์ปพร เนตรบุตร เจ้าของกิจการ ลงโทษทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส สาเหตุเนื่องจากนายจีรวัฒน์ฯ ทำสิ่งของเสียหายและพูดโกหก ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งพนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยประสานคณะทำงานสหวิชาชีพ ประกอบด้วย อัยการจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด แรงงานจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และตำรวจ สภ.อินทร์บุรี ดำเนินการพิจารณาคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6/1 ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ทำงานหรือบริการโดยวิธีการใช้กำลังประทุษร้ายทำให้ผู้นั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานบังคับใช้แรงงานโดยมีโทษตามมาตรา 52/1 วรรคหนึ่งจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึง สี่ปีปรับตั้งแต่ ห้าหมื่นบาท ถึง สี่แสนบาท และวรรคสอง ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่แปดปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่แปดแสนบาทถึงสองล้านบาทหรือจำคุกตลอดชีวิต ในขั้นตอนต่อไปจะส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า นายฐปนวัชร เล้าสุวรรณ พี่ชายนายจีรวัฒน์ เล้าสุวรรณ ได้พาน้องชายมาอยู่กับนางนัยน์ปพรฯ เพื่ออุปการะเลี้ยงดู ตั้งแต่อายุ 15 ปี เนื่องจากมารดาเสียชีวิต โดยส่งเข้าเรียนหนังสือในระดับชั้น ปวช. ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา แต่เรียนไม่จบ นางนัยน์ปพรฯ มอบหมายให้นายจีรวัฒน์ฯ ทำหน้าที่ดูแลสุนัข ไม่มีการจ่ายค่าจ้าง แต่เป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายในการอุปโภค บริโภค ดังนั้นจึงไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้างลูกจ้างต่อกัน ทั้งนี้ นายฐปนวัชรฯ และนายจีรวัฒน์ฯ ได้เข้าแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอินทร์บุรี ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อออกหมายจับนางนัยน์ปพรฯ และนายศรายุทธ บุญคร ในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บสาหัสโดยวิธีการทรมาน และได้จับกุมตัวมาสอบสวน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 10/12/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท