Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจผู้บริหารองค์กรสื่อ 132 คน จาก 42 ประเทศ พบวิกฤต COVID-19 ได้กระตุ้นให้ 'การทำงานไฮบริด' ทั้งทำงานทางไกลผสมกับเข้าออฟฟิศแบบดั้งเดิม เป็นเทรนด์ใหม่ของ 'กองบรรณาธิการข่าว' 


วิกฤต COVID-19 ได้กระตุ้นให้ 'การทำงานไฮบริด' เป็นเทรนด์ใหม่ของ 'กองบรรณาธิการข่าว' | ที่มาภาพประกอบ: Elvira Megías/elDiario.es (อ้างใน Reuters Institute for the Study of Journalism)

  • ผลสำรวจผู้บริหารองค์กรสื่อ 132 คน จาก 42 ประเทศ พบวิกฤต COVID-19 ได้กระตุ้นให้ 'การทำงานไฮบริด' ทั้งทำงานทางไกลผสมกับเข้าออฟฟิศแบบดั้งเดิม เป็นเทรนด์ใหม่ของ 'กองบรรณาธิการข่าว' 
  • ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 34 ระบุว่าองค์กรของตนได้ตัดสินใจและกำลังดำเนินการทำงานแบบไฮบริดแล้ว ร้อยละ 57 ระบุว่าอยู่ในกระบวนการหาวิธีที่ดีที่สุดเพื่อปรับองค์การมาทำงานแบบไฮบริด 
  • มีเพียงประมาณ ร้อยละ 9 เท่านั้นที่ระบุว่าจะกลับไปใช้รูปแบบการทำงานแบบเก่าก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของ COVID-19
  • ทั้งนี้หากให้ทำงานระยะไกลอย่างเพียงเดียว อาจจะมีผลกระทบต่อ 'ทักษะทางสังคม' หรือ 'ทักษะทางอารมณ์' (Soft Skills) เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การทำงานร่วมกันทั้งในทีมและทั่วทั้งองค์กร

จากรายงาน Changing Newsrooms 2021: hybrid working and improving diversity remain twin challenges for publishers โดย Reuters Institute for the Study of Journalism ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารและหัวหน้าผู้ปฎิบัติงานในวงการสื่อสารมวลชน 132 คน จาก 42 ประเทศ (รวมถึงบทสัมภาษณ์เชิงลึก) เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2564 ผลการศึกษาได้ชี้ให้เห็นว่า 'การทำงานแบบผสมผสาน' หรือ 'การทำงานแบบไฮบริด' (hybrid working) ทั้งทำงานทางไกลผสมกับเข้าออฟฟิศแบบดั้งเดิม กำลังจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่สำหรับองค์กรสื่อ

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (ร้อยละ 79) กล่าวว่าขณะนี้องค์กรของพวกเขาอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปใช้ระบบการทำงานแบบไฮบริด และมากกว่านั้น (ร้อยละ 89) ระบุว่าพวกเขาเองก็มีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบนี้

ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 1 ใน 3 (ร้อยละ 34) ระบุว่าองค์กรของตนได้ตัดสินใจและกำลังดำเนินการทำงานแบบไฮบริดแล้ว แต่กว่าครึ่ง (ร้อยละ 57) ระบุว่าอยู่ในกระบวนการหาวิธีที่ดีที่สุดเพื่อปรับองค์การมาทำงานแบบไฮบริด มีเพียงประมาณ 1 ใน 10 (ร้อยละ 9) เท่านั้นที่ระบุว่าจะกลับไปใช้รูปแบบการทำงานแบบเก่าก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของ COVID-19

รายงานชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นว่าองค์กรสื่อยังคงพยายามดิ้นรนเพื่อดึงดูดและรักษาผู้มีทักษะด้านเทคโนโลยีและข้อมูลซึ่งเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในแวดวงสื่อ แต่ในทางตรงกันข้ามผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63) ยังคงมีความมั่นใจว่าจะรักษาพนักงานในกองบรรณาธิการข่าว (Newsrooms) ของตนเองไว้ได้ แต่ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (ร้อยละ 47) รู้สึกว่า COVID-19 ส่งผลกระทบให้การสรรหาและรักษาบุคลากรด้านสื่อได้ยากขึ้น โดยมีเพียงส่วนน้อย (ร้อยละ 17) ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าการสรรหาและรักษาบุคลากรง่ายกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (ร้อยละ 78) ระบุว่าองค์กรสื่อของตนสร้างบรรยากาศการทำงานให้เข้ากับความหลากหลายทางเพศได้ดี แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ตอบทำนองเดียวกันเมื่อเปลี่ยนมาเป็นประเด็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์ (ร้อยละ 38) หรือการจัดการกับมุมมองทางการเมืองที่หลากหลาย (ร้อยละ 33)

จากการเคลื่อนไหว Black Lives Matter และกระแสการตระหนักรู้ถึงความอยุติธรรมทางประวัติศาสตร์ที่มากขึ้น ประเด็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับองค์กรสื่อ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (ร้อยละ 35) ยกให้การปรับปรุงความหลากหลายทางเชื้อชาติในกองบรรณาธิการข่าวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ตามด้วยความหลากหลายทางเพศ (ร้อยละ 26) และการให้ความสำคัญแก่กลุ่มกลุ่มด้อยโอกาส (ร้อยละ 17)

อ่านประเด็น 'การทำงานทางไกล' ที่ประชาไทเคยนำเสนอ

การเปลี่ยนจาก 'การทำงานทางไกล' ในช่วง COVID-19 สู่ 'การทำงานแบบไฮบริด'


ในช่วงที่ COVID-19 ยังไม่คลี่คลาย องค์กรสื่อต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและย้ายพนักงานส่วนใหญ่ไปทำงานทางไกล (Remote Working) | ที่มาภาพ: Susie Ferguson (อ้างใน Public Media Alliance)

การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนทั่วโลก นอกจากผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพแล้ว ก็ยังส่งผลกระทบในด้านการใช้ชีวิตและหน้าที่การงาน ซึ่งรวมถึงรูปแบบวิธีการทำงานและบทบาทของสำนักงานแบบดั้งเดิม

ช่วงที่รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ บังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ครั้งแรกเมื่อปี 2563 องค์กรสื่อต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยให้พนักงานส่วนใหญ่ไปทำงานทางไกล (Remote Working) สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ต้องให้ทีมข่าวทำงานทางไกลเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ใหม่หลังการระบาดของ COVID-19 และเช่นเดียวกับอาชีพอื่น ๆ อีกหลายอาชีพ นักข่าวและคนงานในอุตสาหกรรมสื่อต่างประสบกับปัญหาเส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวที่ไม่ชัดเจน

เมื่อการระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย สำนักงานหลายแห่งได้เปิดทำการอีกครั้ง องค์กรสื่อจำนวนมากก็เริ่มเปลี่ยนผ่านจากการทำงานระยะไกลมาสู่การทำงานแบบไฮบริด โดยให้บางคนกลับมาทำงานที่สำนักงาน และให้บางคนก็ยังคงทำงานจากที่บ้าน 

"การเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงจากการทำงานระยะไกลสู่การทำงานแบบไฮบริด และการปรับกระบวนการภายในทั้งหมดให้เป็นวิธีการทำงานแบบใหม่นี้ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุดในขณะนี้ สิ่งสำคัญคือการรับฟังความต้องการของทีม การรวมเพื่อนร่วมงานใหม่และหลากหลายเข้ากับวัฒนธรรมของเรา และให้ความสำคัญกับประเด็นทางจิตวิทยาของการทำงานทางไกล ผมเชื่อว่าการทำงานแบบผสมผสานจะยังคงอยู่ – แม้การเปลี่ยนแปลงอาจจะดูเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่มันก็คุ้มค่าแน่นอน แทนที่จะย้อนกลับไปใช้วิธีการทำงานที่เกือบทุกคนอยู่ในสำนักงานเกือบตลอดเวลา" 

มาร์ติน โคตีเนค บรรณาธิการบริหารของ 'Der Standard' ประเทศออสเตรีย

จากแบบสอบถาม พบว่าส่วนใหญ่ผู้บริหารและบรรณาธิการข่าวมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบผสมผสานและยืดหยุ่น ผู้นำองค์กรระดับสูงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 89) ระบุว่าพวกเขาพร้อมสำหรับการทำงานที่ยืดหยุ่นและผสมผสาน 

กองบรรณาธิการข่าวจำนวนมากดูเหมือนจะมุ่งมั่นที่จะปรับตัวให้เข้ากับการทำงานแบบไฮบริด แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้แผนงานต่าง ๆ ยังคงไม่แน่นอน โดยเฉพาะในหลายประเทศสถานการณ์ COVID-19 ยังดูไม่น่าไว้วางใจ การทำงานทางไกลจึงยังคงความจำเป็นสำหรับองค์กรสื่อหลายแห่ง ผู้ตอบแบบสอบถามบางคนยังเน้นย้ำด้วยว่าแม้ว่าจะมีการเร่งเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การทำงานทางไกลซึ่งมีความจำเป็นในช่วงการระบาดใหญ่ แต่การปรับองค์กรให้ทำงานได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้นก็มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว และบางทีปัจจัยขับเคลื่อนเบื้องหลังอาจไม่ได้เชื่อมโยงกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งหมด

จากการสำรวจพบว่าองค์กรสื่อต่าง ๆ ที่ต้องการสร้างสมดุลระหว่างความต้องการในการปฏิบัติงานและความต้องการของพนักงานในด้านความยืดหยุ่น ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (ร้อยละ 64) ซึ่งเป็นผู้บริหารระบุว่าพวกเขาต้องการเห็นพนักงานกลับมาที่สำนักงานเป็นบางครั้ง โดยมีเพียงส่วนน้อย (ร้อยละ 11) เท่านั้นที่บอกว่าควรเป็นทางเลือกของพนักงานแต่ละคน

"เราไม่คาดหวังให้ทุกคนทำงานในออฟฟิศอีกต่อไป และหากพวกเขาทำ พวกเขาจะทำงานเพียงไม่กี่วันและส่วนที่เหลือของสัปดาห์ก็จะได้ทำงานที่บ้าน" 

สตีเวน กัน บรรณาธิการบริหารของ Malaysiakini ประเทศมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถาม 1 ใน 5 (ร้อยละ 20) ระบุว่าพวกเขาต้องการให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง (ทั้งหมดหรือเกือบตลอดเวลา) ข้อมูลนี้สอดคล้องกับผู้ตอบแบบสำรวจ ร้อยละ 9 ที่กล่าวถึงในข้างต้นว่าองค์กรของพวกเขาคาดหวังที่จะกลับไปใช้รูปแบบการทำงานก่อนเกิดโรคระบาด นี่คือการส่งสัญญาณที่ว่าผู้บริหารองค์กรสื่อบางคนยังคงนิ่งเฉยหรือแม้แต่วางตัวเป็น 'ปฏิปักษ์' ต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้พวกเขาอาจกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ทั้งเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน หรือการเสียอำนาจควบคุม

โอกาสและความท้าทาย


การทำงานทางไกลเพียงอย่างเดียว อาจจะทำให้การประชุมกองบรรณาธิการข่าวไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการได้ประชุมแบบเจอตัวกัน | ที่มาภาพ: LSE Blogs

ในการสำรวจยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70) กล่าวว่าการทำงานที่ยืดหยุ่นทำให้องค์กรข่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น การประชุมออนไลน์ที่จัดขึ้นระหว่างการทำงานทางไกลมักจะสั้นลงและคล้ายกับการประชุมทางธุรกิจมากกว่า ในขณะที่เวลาเดินทางที่ลดลงทำให้มีเวลามากขึ้นสำหรับการทำงานที่มีประสิทธิผลมากขึ้น ผู้ตอบแบบสอบถามราว 6 ใน 10 (ร้อยละ 61) รู้สึกว่าโดยเฉลี่ยแล้วคุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้นด้วย แม้ว่าหลายคนแสดงความกังวลเกี่ยวกับอาการหมดไฟในการทำงาน (Burnout) และสุขภาพจิตของพนักงานบางคน

ผู้ตอบแบบสอบถามยังเน้นย้ำถึงผลกระทบด้านลบที่พวกเขารู้สึกว่าการทำงานระยะไกลมีต่อ 'ทักษะทางสังคม' หรือ 'ทักษะทางอารมณ์' (Soft Skills) เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การทำงานร่วมกันทั้งในทีมและทั่วทั้งองค์กร  ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่ง (ร้อยละ 48) รู้สึกว่าความคิดสร้างสรรค์ของคนในองค์กรแย่ลง และมากกว่า 4 ใน 10 (ร้อยละ 43) รู้สึกว่าการสื่อสารก็ประสบปัญหาเช่นกัน 

"ธุรกิจข่าวก็เหมือนกีฬาประเภททีม กองบรรณาธิการได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่เปิด เราทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในการรักษารายการข่าวและนำเสนอข่าวดิจิทัลในขณะที่ทำงานจากระยะไกล แต่ก็มีผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน การอยู่ร่วมกัน และสุขภาพจิต ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันจะดีกว่าเมื่อเราอยู่ด้วยกัน"

โบรดี เฟนลอน บรรณาธิการบริหาร CBC News ประเทศแคนาดา


ที่มาข้อมูล
Changing Newsrooms 2021: hybrid working and improving diversity remain twin challenges for publishers (Federica Cherubini Nic Newman Prof. Rasmus Kleis Nielsen, Reuters Institute for the Study of Journalism, 11 November 2021)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net