ศาลไม่ให้สืบข้อมูลเข้าออกประเทศของ ร.10และรายจ่ายหน่วยราชการส่วนพระองค์ในคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน

ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ให้จำเลยนำหลักฐานข้อมูลเดินทางเข้าออกประเทศของ ร.10 และรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์เข้าสืบในคดีคณะราษฎรยื่นหนังสือผ่านทูตเยอรมันเมื่อตุลาคม 63 ให้มีการตรวจสอบการใช้พระราชอำนาจนอกประเทศศาลอ้างไม่เกี่ยวกับคดี “มายด์” ยืนยันหลักฐานเหล่านี้จำเป็นต่อการพิสูจน์ความจริงและเจตนาอย่างเป็นธรรม พร้อมตั้งคำถามถ้าไม่ให้นำเข้าพิจารณากระบวนการพิสูจน์ความจริงจะยุติธรรมได้อย่างไร

17 ธ.ค.2564ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ห้อง 601 นัดพิจารณาคดีของนักกิจกรรมรวม 13 คนที่ถูกดำเนินคดีจากการเดินขบวนไปยื่นหนังสือที่สถานทูตเยอรมันเมื่อ 26 ต.ค.2563 ที่จัดโดยกลุ่มคณะราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบว่ากษัตริย์ไทยได้มีการใช้พระราชอำนาจบนดินแดนเยอรมันหรือไม่

คดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องทั้ง 13 คนในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 , ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ โดยผู้ที่ถูกฟ้องคดีทั้ง 13 คนได้แก่ 1. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
2. กรกช แสงเย็นพันธ์ 3. ชนินทร์ วงษ์ศรี 4. ชลธิศ โชติศักดิ์ 5. เบนจา อะปัญ 6. วัชรากร ไชยแก้ว 7. ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 8. อรรถพล บัวพัฒน์ 9. อัครพล ตีบไธสง 10. สุธินี จ่างพิพัฒนวกิจ 11. รวิศรา เอกสกุล 12. โจเซฟ (สงวนชื่อสกุล) และ13. แอน (สงวนชื่อสกุล)

ทั้งนี้การพิจารณาคดีในวันนี้ทางเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าให้บุคคลอื่นติดตามการพิจารณาคดีที่ห้องพิจารณาดคีอื่นโดยจะมีถ่ายทอดผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

นัดวันนี้เป็นการยื่นบัญชีพยานของทั้งฝ่ายโจมก์และจำเลยต่อศาลเพื่อพิจารณานำพยานเข้าสืบ โดยทางฝ่ายโจทก์แถลงว่ามีพยานบุคคลจำนวน 29 ปาก พยานเอกสารและวัตถุพยานอีกหลายรายการ ส่วนทางด้านจำเลยมีพยานบุคคลจำนวน 23 ปาก รวมถึงพยานเอกสารอีกหลายรายการเช่นกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายแถลงไม่รับข้อเท็จจริงจึงไม่มีการตัดพยานและนำพยานเข้าสืบทุกปาก

อย่างไรก็ตามศาลได้บอกกับฝ่ายจำเลยว่าไม่ให้นำพยานเอกสารบางรายการเข้าสืบเนื่องจากเห็นว่าคดีตามข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์นี้ไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าเป็นความจริงหรือไม่ แต่เป็นการพิสูจน์ว่าเป็นการหมิ่นแล้วเกิดความเสียหายหรือไม่อย่างไร แต่ทนายความจำเลยสามารถยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของศาลได้ภายใน 15 วัน ทั้งนี้ในช่วงที่ฝ่ายจำเลยและทนายความจำเลยแถลงไม่มีการถ่ายทอดเสียงผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จนกระทั่งการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วศาลอ่านกระบวนการพิจารณา

ศุภณัฐ บุญสด ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าในคดีนี้ทางฝ่ายจำเลยจะต้องนำสืบในประเด็นที่ว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 มีการใช้พระราชอำนาจโดยมิชอบจริงตามที่มีการปราศรัยในการชุมนุมไม่ได้เป็นการใส่ความหรือไม่ จึงมีการยื่นขอพยานเอกสารไป 4 รายการ คือข้อมูลการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของในหลวงรัชกาลที่ 10 จาก 3 หน่วยงานคือ บริษัทการบินไทย สถานกงศุลเยอรมันที่มิวนิก และกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนพยานเอกสารรายการที่ 4 คือเรื่องรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์ที่ขอไปทางหน่วยราชการในพระองค์ว่าเรื่องการใช้จ่ายในต่างประเทศเป็นจริงหรือไม่ แต่ศาลเห็นว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นคดีจึงไม่ให้นำเข้าสืบแล้วก็ไม่ออกหมายเรียกให้

“แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรแล้วไปใช้อำนาจอยู่ในเยอรมันเป็นเรื่องที่จำเลยใส่ความองค์พระมหากษัตริย์ โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจน” ศุภณัฐอธิบายถึงความเกี่ยวข้องของพยานหลักฐานที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกเข้ามาใช้ประกอบในคดีนี้

ศุภณัฐกล่าวอีกว่า แม้ศาลจะมองว่าพยานเอกสารเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นคดีใน้ข้อหามาตรา 112 แต่คดีนี้โจทก์ยังฟ้องจำเลยในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ด้วย เพราะในมาตรา 116 ยังมีประเด็นว่าถ้าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตแล้วก็ยังเป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญก็ย่อมแสดงความคิดเห็นได้ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116

“หลักฐานเหล่านี้จึงมีคุณค่าพอที่จะนำมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวจำเลย การที่ศาลไม่ให้นำเข้ามาสืบก็เป็นการตัดโอกาสต่อสู้คดีของจำเลย” ทนายฝ่ายจำเลยยังเสิรมอีกว่าการจะบอกว่าเป็นการหมิ่นประมาทได้จะต้องเป็นการใส่ความคือเอาความเท็จไปใส่ร้ายคนอื่นให้เกิดความเสียหายถึงที่สุดก็ต้องพิสูจน์ว่าสิ่งที่จำเลยกล่าวถึงนั้นเป็นความจริงหรือไม่อยู่ดีแล้วจึงค่อยมาพิสูจน์ว่าเกิดความเสียหายหรือไม่

ทนายฝ่ายจำเลยยังระบุอีกว่าครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองแล้วที่ทางฝ่ายจำเลยไม่สามารถนำเอกสารชุดนี้นำเข้าสืบได้ ซึ่งก่อนหน้านี้แม้ว่าในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ศาลอาญา รัชดาฯ จะให้ทางฝ่ายจำเลยนำพยานเอกสารชุดนี้เข้าสืบได้แต่ศาลก็ไม่ออกหมายเรีกยพยานเอกสารชุดนี้ให้โดยอ้างว่าไม่เกี่ยวกับคดี แต่สำหรับคดีวันนี้ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ศาลก็ใช้วิธีไม่รับบัญชีพยานฝ่ายจำเลยไปเลย อย่างไรก็ตามในประเด็นการขอนำพยานเอกสารชุดนี้เข้าสืบในคดีทางทนายความจะทำคำร้องคัดค้านยื่นต่อศาลภายใน 8 วันและขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารเข้ามาประกอบในคดี

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ 1 ในจำเลยในคดีนี้ให้สัมภาษณ์ว่าการที่ถูกกล่าวหาว่าที่พูดไปนั้นเป็นการหมิ่นประมาทก็คือการกล่าวหาว่าไม่ได้พูดความจริงหรือใส่ความ จึงจำเป็นที่จะต้องมีหลักฐานทั้งหมดเพื่อที่จะเป็นการพิสูจน์ว่าสิ่งที่พวกเธอพูดนั้นเป็นความจริงไม่ใช่การพูดลอยๆ ไม่ได้คิดไปเอง

“เราต้องการหลักฐานที่พิสูจน์ว่าที่เราพูดนั้นมีมูล มันเกิดจากอะไรทำไมเราถึงตั้งคำถาม พยานหลักฐานทั้งหมดที่เรายื่นไปจึงเป็นส่วนสำคัญที่ฝ่ายจำเลยจะได้พิสูจน์ความจริงและเจตนาของตัวเองอย่างเป็นธรรม ถ้า(ศาล) ไม่รับเอกสารตัวนี้มาประกอบในการพิสูจน์ความจริง ถ้าอย่างนั้นกระบวนการสืบหาความจริงจะเป็นกระบวนการที่ยุติธรรมได้อย่างไร” ภัสราวลีแสดงความเห็นต่อกระบวนพิจารณาวันนี้

ภัสราวลีกล่าวถึงนัดสืบพยานคดีนี้ว่าจะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมปี 2566 เพราะทางทนายความเองตอนนี้ก็มีนัดพิจารณาคดีอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว อีกทั้งเธอยังแสดงความห่วงกังวลสภาพจิตใจของเบนจา อะปัญ ที่ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวที่ในขณะนี้ต้องอยู่ตัวคนเดียว แล้วก็ยังต้องรอลุ้นการไต่สวนประกันตัวของอานนท์ นำภา, ภาณุพงษ์ จาดนอก และจตุภัทร บุญภัทรรักษาในศาลอาญา รัชดาฯ วันนี้ด้วยว่าศาลจะให้ประกันตัวหรือไม่

ภัสราวลี กล่าวถึงเพื่อนของเธอว่า เธอเชื่อมั่นว่าเบนจายังเข้มแข็งและยังมีความเป็นนักสู้ แต่สิ่งที่เบนจาต้องเจออยู่ในขณะไม่ใช่สิ่งที่มีใครสมควรต้องเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้

“หนูต้องเจอเบนจาในชุดนักโทษที่ต้องใช้สายคล้องหน้ากากมามัดผม รอบที่แล้วหนูจะเอาที่มัดผมที่เป็นผ้าให้ก็เอาให้ไม่ได้เพราะเป็นของต้องห้ามในเรือนจำ หนูมองว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมมากในเรือนจำ จำกัดเสรีภาพของเขาแล้วยังไปลดทอนความเป็นมนุษย์ของเขาอีก” นอกจากนั้นเบนจายังเล่าให้ภัสราวลีฟังเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงรายอื่นๆ ด้วยว่าถ้าเป็นผู้ต้องขังในแดนแรกรับที่ไม่มีญาติหรือทนายความก็ไม่สามารถซื้อข้าวของส่วนตัวหรือของที่ต้องใช้ในการกักตัวด้วย

ภัสราวลีบอกว่าเรื่องเหล่านี้ทำให้เบนจารู้สึกอัดอั้นและไม่พอใจมากที่คุณภาพชีวิตของคนในเรือนจำไม่ได้รับการดูแลให้ดีและทำให้จุดประสงค์ของเรือนจำที่ควรจะทำคนได้ปรับตัวแล้วกลับมาใช้ชีวิตข้างนอกได้ผิดเพี้ยนไป ซึ่งเธอเห็นว่าเบนจาที่ไม่ได้เป็นอาชญากรไม่ควรจะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำด้วยซ้ำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท