Skip to main content
sharethis

‘โสเภณี ก็เสรีไปเลยสิค้า’ เพื่อไทยจัดเสวนารำลึกวันยุติความรุนแรงผู้ค้าบริการทางเพศสากล รำลึกถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อฆาตกรรมของ ‘นักฆ่าแห่งกรีนริเวอร์’ ทุกอาชีพต้องได้รับการคุ้มครองและมีศักดิ์ศรีเท่ากัน

  • 17 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงผู้ค้าบริการทางเพศสากล เพื่อรำลึกถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อฆาตกรรมของ ‘นักฆ่าแห่งกรีนริเวอร์’ ใน ค.ศ.1982 ที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • รู้หรือไม่? อาชีพ 'โสเภณี' ในไทยเพิ่งจะเป็นสิ่งผิดกฎหมายในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งสร้างอคติทางสังคมให้กับผู้ประกอบอาชีพนี้แบบฝังรากลึก
  • การทำให้อาชีพ 'โสเภณี' เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบอาชีพนี้ต้องเผชิญกับความรุนแรง 3 รูปแบบ ได้แก่ ความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงทางอ้อม และความรุนแรงในเชิงวัฒนธรรม ทั้งยังไม่ได้รับสิทธิและความคุ้มครองตามกฎหมาย
  • การทำให้ 'โสเภณี' เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย นอกจากจะทำให้ผู้ประกอบอาชีพได้รับความคุ้มครองด้านสิทธิแรงงานเหมือนกับผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ แล้ว ยังช่วยแก้ไขปัญหาทางสังคม 4 ประเด็น ได้แก่ การค้ามนุษย์ หนี้นอกระบบ การทำร้ายร่างกาย และสวัสดิการแรงงาน
  • 'เพื่อไทย' ชี้ธุรกิจบริการทางเพศเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ตัวเลข GDP ของประเทศสูงขึ้นนับตั้งแต่ พ.ศ.2531 เป็นต้นมา และหากผลักดันให้ให้โสเภณีถูกกฎหมายจะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 3-3.75 แสนล้านบาท

17 ธ.ค. 2564 เนื่องในวันยุติความรุนแรงผู้ค้าบริการทางเพศสากล พรรคเพื่อไทยจัดงานเสวนา หัวข้อ ‘Sex work is work : โสเภณีก็เสรีไปเลยสิค้า’ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่ออาชีพ sex worker, เสนอทางยุติความรุนแรงผ่านการคุ้มครองสิทธิทางกฎหมาย และดูตัวเลขทางเศรษฐกิจที่จะเกิดหาก sex worker ถูกทำให้ถูกกฎหมาย โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING), ณฤดี จินตวิโรจน์ สมาชิก The Change Maker ทีมค้าบริการถูกกฎหมาย และจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย โดยมีชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ดำเนินรายงาน และผู้ร่วมเสวนา

'โสเภณีเสรี' และวันยุติความรุนแรงผู้ค้าบริการทางเพศสากล

ชานันท์ ในฐานะผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศของพรรคเพื่อไทย เริ่มเสวนาด้วยการรำลึกถึงวันที่ 17 ธันวาคของทุกปี ซึ่งเป็นวันยุติความรุนแรงผู้ค้าบริการทางเพศสากล กำหนดขึ้นโดยกลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศ เพื่อน ครอบครัว พันธมิตร และกลุ่มผู้สนับสนุนต่างๆ เพื่อรำลึกถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อฆาตกรรมของ ‘นักฆ่าแห่งกรีนริเวอร์’ ใน ค.ศ.1982 ที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยฆาตกรต่อเนื่องได้สังหารหญิงสาวโสเภณีจำนวน 4 รายโดยการรัดคออย่างเหี้ยมโหดและนำศพมาทิ้งไว้ที่แม่น้ำกรีน จนสื่อตั้งสมญานามให้ว่า ‘นักฆ่าแห่งแม่น้ำกรีน’ (The Green River Killer) โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมาหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถจับกุมฆาตกรได้ และยอดผู้เสียชีวิตยังพุ่งสูงถึง 48 ศพ

ชานันท์ ยอดหงษ์
 

วันนี้จึงเป็นวันที่ควรกลับมาทบทวนและพูดถึงการทำให้ ‘โสเภณีไม่ผิดกฎหมาย’ เพราะทุกอาชีพมีคุณค่าและศักดิ์ศรี แต่เงื่อนไขทางกฎหมายบางประการที่ทำให้คนทำงานในอาชีพนี้ยังอยู่ในพื้นที่มืด นอกจากนี้ยังควรทำความเข้าใจเรื่อง ‘ความรุนแรง’ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำให้อาชีพนี้ผิดกฎหมายด้วย โดยชานันท์อธิบายถึง ‘ความรุนแรง’ ไว้ 3 นิยามใหญ่ คือ ความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงทางอ้อม และความรุนแรงในเชิงวัฒนธรรม

1) ความรุนแรงทางตรง (direct violence) คือความรุนแรงในเชิงกายภาพที่มีผลในเชิงการทำร้ายร่างกาย อาจปรากฏเห็นได้ชัดเจน เช่น บาดแผลจากการต่อสู้ ร่องรอยการข่มขืน รอยกระสุนปืน ความพิการจากอาวุธหรือระเบิด การตายจากการลอบสังหาร ความรุนแรงทางตรงเน้นที่อวัยวะร่างกายตัวบุคคลและจิตใจ สร้างปัญหาในทางจิตวิทยา แม้จะไม่ปรากฏบาดแผลแต่ก็ถือว่าเป็นความรุนแรงทางตรงเช่นกัน เช่นกักขัง หน่วงเหนี่ยว ลวนลาม ล้อเลียน ด่าทอ ใช้สายตาอากัปกิริยาดูแคลน

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ง่ายดายที่สุด บ่อยที่สุด และดูเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด คือการใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hate speech Hate speech ที่ถูกผลิตซ้ำอย่างยาวนาน ต่อเนื่อง ก็สามารถถูกทำให้กลายเป็นเรื่องคุ้นชินในชีวิตประจำวัน กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ยอมรับได้ ซึ่งแม้ผู้พูดจะไม่ได้ออกไปทำร้ายร่างกายหรือลุกไปฆ่าผู้อื่น หากแต่มันกำลังสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงทางร่างกายได้ในท้ายที่สุด เช่น การนำอาชีพ “กะหรี่” เป็นคำด่า หรือคำว่า “อีตัว” ความรุนแรงประเภทนี้กลับมีองค์กรและอุดมการณ์เข้ามารองรับ เช่นองค์กรทหาร หรืออุดมการณ์ชาตินิยม แบ่งแยกกลุ่มตนออกจากฝ่ายตรงข้ามชัดเจน หรืออ้างระเบียบสังคมชุดหนึ่งไปครอบงำอีกชุดด้วยกองกำลังทหาร

2) ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) นั่นคือสถาบันทางสังคมต่างๆ ที่กดทับศักยภาพ เป็นการเอาเปรียบทางสังคมที่ส่งผลต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้เกิดการเอาเปรียบ ทำให้คุณค่าความเป็นคนไม่เท่ากัน เกิดความลำเอียงและการเลือกปฏิบัติต่างๆ โดยการเลือกปฏิบัติหลายอย่างนำไปสู่การจำกัดทำลายศักยภาพของมนุษย์  การเข้าถึงทรัพยากรทางสังคม การกระจายรายได้ ทรัพยากร เช่นความยากจน โรคระบาด การศึกษา อันเกิดจากการระบบสังคมไปจนถึงระบอบทางการเมือง โดยความรุนแรงทั้งทางตรงและเชิงโครงสร้าง ได้สร้างความชอบธรรมในการกระทำนั้นๆ จนนำไปสู่อีกหนึ่งความรุนแรง นั่นคือความรุนแรงทางวัฒนธรรม และยิ่งทำให้ sex worker ยังถูกลดทอนศักดิ์ศรีลดลงไป

3) ความรุนแรงทางวัฒนธรรม (cultural violence) ความรุนแรงไม่จำเป็นต้องเป็นในรูปแบบ 2 ข้างต้นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ‘กะหรี่’ คำที่มาพร้อมกับความรู้สึกดูถูกเหยียดหยาม สิ่งนี้คือความรุนแรงทางวัฒนธรรมในรูปแบบ ‘ภาษา’ เนื่องจากภาษา (language) เป็นสิ่งเดียวกับตรรกะ (logic) ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก logos เช่นเดียวกับกฎหมาย (legal) ภาษาที่ถูกใช้ก็เป็นกระบวนการอย่างหนึ่งในการสร้างความรุนแรง เช่น การใช้ ‘ความรุนแรงทางวัฒนธรรม’ กับความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ สีผิว เพศ

Sex Worker ถูกกฎหมาย ลดความเสียหายในประเด็นทางสังคมและสิทธิมนุษยชน

ด้านณฤดี ในฐานะสมาชิก The Change Maker ผู้ทำและเสนอนโยบายการค้าบริการถูกกฎหมาย อธิบายถึงผลจากการไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของ Sex Worker ใน 4 ประเด็นดังนี้

1) ประเด็นการค้ามนุษย์ ปัจจุบันยังมีการตระเวนตามหาเด็กสาวจำนวนมากจากบริเวณชายแดนเพื่อส่งไปขายตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นใน กทม. หรือในเมืองท่องเที่ยว รวมถึงการหลอกไปทำงานขายบริการด้วยการใช้คำพูดหว่านล้อมและอ้างว่าไปทำงานบริการอื่นๆ ที่ไม่ใช่การขายบริการทางเพศด้วยจำนวนเงินที่สูง มีการโอนเงินให้ก่อนและบังคับให้ไปทำงานใช้หนี้ในภายหลังทั้งในและนอกประเทศ

2) ประเด็นหนี้นอกระบบ เนื่องจากการค้าบริการยังไม่ใช่อาชีพที่ถูกขึ้นทะเบียนว่าเป็น “อาชีพที่ถูกกฎหมาย” ทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม เช่น การซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือแม้แต่การเปิดบัตรเครดิตกับบางธนาคาร ทำให้ผู้ประกอบอาชีพบางคนต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบตามมาและยากจะแก้ไข

3) ประเด็นการถูกทำร้ายร่างกาย ถูกบังคับให้ทำนอกเหนือข้อต้องลง เนื่องจากไม่ได้เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายทำให้เมื่อถูกลูกค้าเบี้ยวค่าจ้าง ทำร้ายร่างกาย หรือถูกบังคับให้ปฏิบัติเกิดข้อตกลงนั้น ผู้ค้าบริการไม่สามารถแจ้งความเอาผิดลูกค้าได้ เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีผู้ค้าบริการไปแจ้งความก็จะถูกแจ้งความกลับและต้องเสียค่าปรับในข้อหาค้าประเวณี

4) ประเด็นสวัสดิการ ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าผู้ที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม เนื่องจากที่ทราบกันว่าไม่สามารถจดทะเบียนเป็นอาชีพที่ถูกต้องได้ ทำให้เมื่อเกิดความเจ็บป่วยไม่ว่าจะเพราะจากการให้บริการหรือปัญหาสุขภาพส่วนตัวจะไม่สามารถใช้บริการจากสิทธิประกันสังคมเหมือนกับอาชีพอื่นได้ หรือเมื่อเกิดปัญหาทำให้การประกอบอาชีพต้องสะดุดหยุดลงชั่วคราว เช่น สถานการณการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยาหรือเข้าสู่กระบวนการเยียวยาเหมือนกันอาชีพอื่น นอกจากนี้ยังไม่สามารถได้รับการบริการตรวจสุขภาพประจำปีอีกด้วย

ณฤดี จินตวิโรจน์
 

“ในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน มีความเท่าเทียมกัน การที่คนๆ หนึ่ง ได้รับสวัสดิการครบถ้วนทุกอย่างเพียงเพราะเขาทำงานอีกแบบหนึ่ง กับอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้สวัสดิการอะไรเลย ไม่สามารถเรียกร้องขอความเป็นธรรมอะไรได้ ทั้งในด้านการประกอบอาชีพและสวัสดิการ สิ่งที่เขาต้องการจากสังคมคือเขาคือมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น”

'เพื่อไทย' พร้อมผลักดันนโยบาย 'โสเภณีเสรี'

ขณะที่จักรพล ส.ส.เชียงใหม่ ในฐานะทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และผู้ที่เสนอแนวคิด การค้าบริการไม่ผิดกฎหมาย ทั้งในสภาและบนเวที ‘พรุ่งนี้เพื่อไทย : เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน’ เมื่อวันที่ 28 ตุ.ค. ที่ผ่านมา แม้ติดภารกิจสำคัญอยู่ที่สภา แต่ได้ส่งมุมมองทางเศรษฐกิจต่อประเด็นนี้ว่าเห็นด้วยกับการผลักดันโสเภณีถูกกฎหมาย เพราะนอกจากจะมีกฎหมายคุ้มครอง รัฐสามารถเข้ามาดูแลได้โดยตรง มีบริการสาธารสุขเบื้องต้น ลดปัญหาการค้ามนุษย์ ลดการเก็บส่วยหรือภาษีเถื่อน การลักลอบเข้าเมืองแล้วยังมีประโยชน์ต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ในอดีตแม้ธุรกิจโสเภณีจะให้บริการกับคนส่วนใหญ่ในประเทศแต่ก็มีงานวิจัยชี้ว่า การบริการดังกล่าวมีไว้ให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศอีกด้วย ทำให้ใน พ.ศ.2531 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ซึ่งการบริการดังกล่าวก็เป็นตัวแปรหลักที่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของมูลค่าดังกล่าว ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันก็เป็นตัวแปรหลักเช่นกัน และหากผลักดันให้ให้โสเภณีถูกกฎหมายจะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ GDP ซึ่งรายได้ในช่วงปี 2536-2538 พบว่าอยู่ที่ประมาณ 100,000 ล้านบาท หากนำตัวเลขเหล่านี้มาพิจาณาถึงอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตของธุรกิจ และจำนวนแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันอาจจะมีค่าถึง 2-2.5% ของ GDP คือมีค่าประมาณ 300,000 ล้านถึง 375,000 ล้านบาท นอกจากนี้คาดการณ์ว่าในปัจจุบันอาจจะมีจำนวนโสเภณีประมาณ 200,000-250,000 คน ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องดูแลแรงงานในภาคบริการเหล่านี้ แปลว่าประเทศจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

แต่หากยังมีการพิจารณาว่าการค้าประเวณีในไทยที่ผิดกฎหมาย ย่อมเป็นการปิดประตูโอกาสในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวไปโดยปริยาย นับว่าน่าเสียดายไม่น้อยเพราะอุตสาหกรรมขายบริการน่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาทในแต่ละปี ซึ่งตัวเลขเงินหมุนเวียนดังกล่าวมีมูลค่าถึง 10% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย

นอกจากนี้ยังมองว่า ‘โสเภณี’ คือมนุษย์ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย โดยจากตัวนโยบายทะเล 5 สี ซึ่งสีสุดท้ายที่จักรพลได้นำเสนอไปคือ ‘สีรุ้ง’ ที่มีการผลักดันเรื่องของ Soft power และศักยภาพของประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เป็นการค้าบริการถูกกฎหมาย เพราะการบริการดังกล่าวจะนำมาสู่รายได้ต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม

จักรพลมองว่าคนทำงานบริการนี้ต้องได้รับการยอมรับให้มีเสรีในการประกอบอาชีพและเท่าเทียมกับอาชีพอื่น ตามทฤษฎี Free Will หรือเจตจำนงเสรี ซึ่งมนุษย์ควรมีอิสระและความสามารถในการเลือกระหว่างการกระทำมากกว่าหนึ่งอย่าง โดยไม่ต้องมีใครหรืออะไรมาบังคับและกำหนดการกระทำ  Free will เป็นอิสระในการมีความคิดและการมีเจตจำนงเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นตามเหตุผลแล้ว ยิ่งเรามีอิสระมากเท่าไหร่ เราก็ควรที่จะมีความสุขมากเท่านั้น ซึ่งจักรพลเน้นย้ำถึงเรื่องของความสุขมวลรวมโดยตลอด และให้ความเคารพกับทฤษฎีดังกล่าวและเคารพการตัดสินใจของทุกคนบนพื้นฐานสิทธิเสรีภาพ เคารพในการการตัดสินบนร่างกายของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม การได้รับความยอมรับจากบุคคลยังไม่พอเพียงแน่นอน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและเป็นก้าวสำคัญซึ่งนำไปสู่โสเภณีเสรี คือ การได้รับการยอมรับจากกฎหมาย หากแรงงานในภาคบริการดังกล่าวไม่ได้รับความยอมรับจากกฎหมาย ผลลัพธ์ที่ได้จะรุนแรงกว่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการบริการด้านสาธารณสุขที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ไม่มีสวัสดิการทางสังคมที่ควรจะได้รับ ความปลอดภัยในการทำงานทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการก็จะไม่มี ทั้งหมดนี้ชี้ไปถึงแม่กุญแจที่ต้องได้รับการปลดล็อคคือ กฎหมาย หากแม่กุญแจตัวนี้ยังปลดล็อคไม่ได้จุดมุ่งหมายของโสเภณีเสรีก็จะเป็นแค่ทฤษฎีที่มีคุณค่าแต่ไม่เคยได้นำมาปฎิบัติ

ในส่วนท่าทีของพรรคต่อ ‘โสเภณีเสรี’ นั้น จักรพลมองว่าพรรคเพื่อไทยมีความพร้อมที่จะทำให้การบริหารดังกล่าวได้รับการยอมรับทางกฎหมาย โดยจะเป็นไปตามความต้องการของภาคประชาชนและ NGO พรรคเพื่อไทยพร้อมเปิดพื้นที่รับปัญหาและรับฟังเสียงความต้องการของ Sex worker และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงว่ามีต้องการการยอมรับทางกฎหมายอย่างไรบ้าง ในระดับใด ซึ่งช่องทางแรกจะดำเนินการผ่านทางมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ก่อน ในการหาข้อมูล แล้วเริ่มทำวิจัยเพื่อผลักเป็นนโยบายของพรรค

โดยขั้นตอนวิจัยจะต้องรวมรวมข้อมูลในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านจำนวน รายได้ ความเป็นอยู่ การได้รับบริการจากภาครัฐ ปัญหาที่พบ เพื่อทำไปสู่ขั้นตอนวิจัยต่อไป เชื่อว่าหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จะมีการออกแบบนโยบายบริการด้านนี้ให้เหมาะสมและสร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่าย โดยหลังจากวิจัยแล้วจะทำเป็นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายเพื่อลดโทษ (Decriminalize) อาชีพนี้ แต่ทั้งนี้จะคำนึงถึงประโยชน์ด้านสิทธิ สวัสดิการของ Sex worker เป็นหลัก

รู้หรือไม่ 'โสเภณี' เพิ่งผิดกฎหมายในยุคจอมพลสฤษดิ์

สุดท้าย สุรางค์ ในฐานะที่ทำงานเคลื่อนไหวด้านสวัสดิการของผู้ค้าบริการทางเพศ และผลักดันการแก้กฎหมายมานานกว่า 30 ปี เล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์ของอาชีพนี้ว่า อาชีพนี้เพิ่งถูกทำให้ผิดกฎหมายเมื่อปี 2503 เท่านั้น

เมื่อมี พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 กำหนดโทษทั้งจำและปรับ รวมทั้งข้อความในนั้นอ่านได้ว่ารัฐไม่ต้องการให้การค้าบริการอยู่เลย การมีอยู่ของกฎหมายนี้ทำให้คนทำงานถูกมอง 3 เรื่อง คือ มุมมองว่าคนทำงานเป็นอาชญากร, มุมมองในมิติทางศาสนาที่ว่าอาชีพนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี บาป ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธจึงไม่ควรมีสิ่งนี้ และมุมมองในมิติสังคมที่ว่านี่เป็นอาชีพที่ไม่ดี โดยมุมมองใน 3 กรอบนี้เป็นกรอบที่แข็งแรงมาก นำมาสู่การเลือกปฏิบัติ และผลัก Sex Worker ออกจากความเป็นคนและมนุษย์ เช่น มีคำศัพท์เรียกผู้ค้าบริการว่า ‘ผีขนุน’ ‘ผีมะขาม’ ทำให้สังคมถูกสะกดจิต ตามมาด้วยความรุนแรง

สุรางค์ จันทร์แย้ม
 

ประเทศเราใช้กฎหมายนี้เรื่อยมาและมีการแก้กฎหมายอีกครั้งในปี 2539 นั่นคือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เนื่องจากมองว่าการค้าประเวณีนั้นเกิดจากสภาพเศรษฐกิจ และเขียนไว้ว่า “ผู้ทำการค้าประเวณีส่วนมากเป็นผู้ซึ่งด้อยสติปัญญาและการศึกษา สมควรลดโทษผู้กระทำการค้าประเวณี และเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ” แต่เมื่อไล่ดูกฎหมายทั้งฉบับกลับพบว่าไม่มีมาตราไหนเลยที่คุ้มครอง มีแต่การบอกว่าให้ไปพัฒนาอาชีพ

อย่างไรก็ตาม สุรางค์มองว่าการมีอยู่ของกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้แก้ปัญหาการค้าบริการทางเพศอย่างตรงจุด แต่ไม่ได้เสนอให้ทำกฎหมายใหม่ แต่ให้คว่ำกฎหมายที่มีอยู่ไปเลย แล้วหันไปใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่าง พ.ร.บ. สถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 แทน อันจะทำให้ผู้ให้บริการที่จดทะเบียนเป็นสถานบริการเป็นนายจ้าง และผู้ให้บริการเป็นลูกจ้าง เข้าสู่ระบบต่อไปได้ และผู้ที่ให้บริการอิสระ ก็ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน เช่น ฟรีแลนซ์ ทั่วไป

“นี่คือสิ่งที่มีอยู่ตลอด 67 ปี เราเชื่อว่าการมีกฎหมายที่จะมาเอาผิดผู้ให้บริการนั้นจะทำให้การค้าประเวณีมันหมดหรือลดไป แต่ความจริงมันไม่ใช่ เพราะคนที่มาทำอาชีพนี้มีปัญหาเรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ แต่กฎหมายเหล่านี้กลับไม่ได้ปัญหาเรื่องเหล่านี้  67 ปี มันเป็นเวลาที่ยาวนานพอที่สังคมเรียนรู้แล้วว่ากฎหมายนี้มันแก้ไม่ได้ ทำให้คนหลักแสนที่อยู่ในอาชีพนี้ออกจากปัญหาได้ เราเลยเสนอว่า คว่ำกฎหมายเหล่านี้ไปเลยก็ได้” สุรางค์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net