Skip to main content
sharethis

เครือข่าย #Saveนาบอน ประกาศตั้งอยู่บ้านหน้าสำนักงาน UN เช้ามืดวันพรุ่งนี้ (18 ธ.ค. 64) เพื่อรอผลการเจรจากับนายกรัฐมนตรีในวันจันทร์ พร้อมเผยแผนการเคลื่อนไหวเสาร์-อาทิตย์ เดินหน้าเข้าพบผู้ถือหุ้น ACE รายอื่นๆ นอกเหนือจาก SCB และจัดเสวนาช่วงเย็นของสุดสัปดาห์นี้ 'ชำแหละ EIA' และ 'เปิดโปงขบวนการทุน ขุนศึก ศักดินา'

17 ธ.ค. 2564 ไอลอว์ รายงานว่า เครือข่าย #Saveนาบอน หรือเครือข่ายปกป้องนาบอนจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงพิษ เดินขบวนไปยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 จุด ได้แก่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อร้องให้ยุติโครงการไรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ ต.ทุ่งสง อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช เพราะโครงการดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อประชาชนในพื้นที่

 

 

เวลาประมาณ 11.00 น. ประชาชนจากเครือข่าย #Saveนาบอน เดินขบวนจากหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ไปยื่นหนังสือที่สำนักงานทรัพสินส่วนพระมหากษัตริย์ เนื่องจากธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นได้ลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชน ต่อมา เมื่อประชาชนเครือข่าย #Saveนาบอน เดินทางไปถึงหน้าสำนักงานทรัพย์สินฯ ในเวลาประมาณ 11.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเจรจาขอให้ทางเครือข่ายส่งตัวแทนมายื่นหนังสือ โดยมีผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลสามเสนเป็นผู้รับหนังสือแทน พร้อมระบุว่าจะดำเนินการต่อให้ ซึ่งทางเครือข่ายก็ได้ดำเนินการตามที่ตำรวจขอ

17 ธันวาคม 2564

เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ใน กิจการที่ส่งผลต่อการทําลายชุมชน

เรียน ผู้อำนวยการสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ตามที่บริษัท แอ็บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) ได้สร้างโรงไฟฟ้า จํานวน 50 เมกะวัตต์ในพื้นที่ อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช โดยพื้นที่ ก่อสร้างตั้งอยู่ใจกลางของชุมชนซึ่งจะส่งผลกระทบรอบด้านต่อประชาชนในพื้นที่ ดังนี้

1. พื้นที่ชีวิตถูกเบียดไปเป็นพื้นที่โรงงาน พื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าในระยะ 20 กิโลเมตรมีสายน้ำหลายสายที่ใช้สำหรับ หล่อเลี้ยงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนในขณะที่จะมีการระบายน้ำเสีย จากโรงงานนาบอน 2 ลงสู่ห้วยตะเคียน ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบ นิเวศและมลพิษอาจปนเปื้อนต่อการใช้น้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน โรงไฟฟ้านาบอน 1 มีขนาดพื้นที่ 57 ไร่ 46.3 ตารางวา บริเวณริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 41 ในพื้นที่ ต.ทุ่งสง อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช โดยต่อเนื่องกับโรงงานนาบอน 2 ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 47 ไร่ 2 งาน 23.6 ตารางวา โดยพื้นที่โครงการจะทําการถมดินสูง 2 เมตร จากระดับดินเดิม โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ ของโครงการถมสูงกว่าระดับถนนสาย 41 ประมาณ 0.5 เมตร

2.แย่งน้ำแย่งชีวิต โครงการมีความต้องการใช้น้ำดิบประมาณ 3,660 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยเก็บไว้ที่โรงงาน 2 เพื่อผลิตน้ำใช้เองภายในโครงการประมาณ 1,820 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และส่งให้กับโครงการโรงไฟฟ้า 1 ประมาณ 1,824 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และส่งให้โรงงานไม้สับประมาณ 16 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แหล่งน้ำใช้ มี 2 ส่วน คือ จากน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่โครงการส่งไปยังบ่อหน่วงน้ำในโรงงาน 1 ขนาด บ่อ 50,700 ลูกบาศก์เมตรและน้ำดิบจากแหล่งน้ำใกล้เคียง โดยบริษัทจัดหาน้ำ จะสูบน้ำจากคลองมินมาไว้ในบ่อซึ่งจะทําการขุดบ่อไว้ ขนาด ลึก 15 เมตร พื้นที่ 60 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.แก้วแสน อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งบริเวณดังกล่าว ถือเป็นพื้นที่ต่ำที่สุด มีตาน้ำผุดที่สําคัญต่อการใช้อุปริโภคและบริโภค ของ ต.ทุ่งสงและ ต.แก้วแสน และส่งต่อน้ำเข้าไปไว้ในบ่อเก็บน้ำดิบของ โครงการที่โรงงาน 2 ขนาด 10,700 ลูกบาศก์เมตร

3. การใช้เชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวมวลที่ใช้ของโรงงานนาบอน 1,2 ประมาณไม่ต่ำกว่า 1773.73 ตันต่อวัน หรือไม่ต่ำกว่า 647,413 ตันต่อปี ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงเสริมประเภททลายปาล์ม อยู่ในช่วง 34-69 ตันต่อวัน หรือคิดเป็น 5,856 ตันต่อปี ปริมาณการใช้เปลือกไม้ อยู่ในช่วง 88-177 ตันต่อวัน หรือคิดเป็น 12,013 ตันต่อปี ปริมาณการ RDF เท่ากับ 41 ตันต่อวัน หรือคิดเป็น 6,959 ตันต่อปี เพราะโครงการสามารถ รับเชื้อเพลิงขยะแปรรูป (RDF) เป็นเชื้อเพลิงเสริมได้ซึ่งทําสัญญาไว้กับบริษัทใน เครือที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณรวมตามสัญญาไม่น้อยกว่า 17,855 ตันต่อปี โดยจะใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ประมาณ 40 คันต่อวัน (รถพ่วง 30 คัน รถบรรทุก 10 ล้อ 10 คันต่อวัน และรถบรรทุก 4 ล้อประมาณ 20 คันต่อวัน รวม การขนส่งเชื้อเพลิงทั้งหมด 60 คันต่อวัน

4. คุณได้ไฟฟ้าแต่ฆ่าชีวิตเรา พื้นที่ที่จะกระทบในรัศมีแค่ 5 กิโลเมตรจากขอบเขตพื้นที่โครงการมี 3 อําเภอ 5 ตําบล ประกอบด้วย

  • อ.นาบอน ได้แก่ พื้นที่ ต.ทุ่งสง หมู่ที่ 1-10 จํานวนประชากร 8,463 คน ต.แก้วแสน หมู่ที่ 1-10 จํานวนประชากร 6,912 คน
  • อ.ทุ่งใหญ่ ได้แก่ ต.ปริก หมู่ที่ 1-2-3-7 จํานวนประชากร 7,895 คน
  • อ.ช้างกลาง ได้แก่ ต.หลักช้าง ม.4-6-8 จํานวนประชากร 1,975 คน ต.หลักช้าง หมู่ที่ 8 จํานวนประชากร 682 คน
  • รวมประชาชนที่ได้รับผลกระทบในรัศมี กิโลเมตรทั้งหมด 25,927 คน และมี 13 ครัวเรือนที่อยู่ในรัศมีใจกลางหลักของโรงงาน และมีอีกประมาณ 50 กว่าครัว เรือนที่กระจายล้อมรอบบริเวณติดกับรั้วโรงงาน มีสถานที่สําคัญ สถานศึกษา 10 แห่ง ศาสนสถาน 6 แห่ง สถานพยาบาล 6 แห่ง ที่ทําการอบต. 3 แห่ง กยท. 1 แห่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชน

5. จากชุมชนเกษตรกรรมถลําสู่เมืองมลพิษ

มลพิษทางน้ำ

โรงไฟฟ้าชีวมวลจําเป็นต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมากในแต่ละขั้นตอนการผลิตกระแสไฟฟ้า ทําให้ชุมชนเกิดการขาดแคลนน้ำ ในการนำมาผลิตนำประปาของหมู่บ้าน และน้ำไปใช้กับพื้นที่ทางการเกษตร นอกจากนี้ น้ำทิ้งจากโรงไฟฟ้าที่มีอุณหภูมิสูง และปล่อยน้ำลงสู่แหล่งน้ำจากห้วยตะเคียนไหลลงสู่คลองมิน และจะไหลไปรวมกับแม่น้ำสายใหญ่ที่แม่น้ำตาปี โดยสายน้ำจะไหลผ่านพื้นที่ในหลายตําบล หลายอําเภอ ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำสําคัญต่อชุมชน ทําให้ส่งผลต่อการดํารงชีวิตประชาชน สัตว์ และไม่สามารถนำน้ำใต้ดินมาใช้ในการอุปโภคและบริโภคได้

มลพิษทางอากาศ

เนื่องจากทำเลที่ตั้งของโรงงานตั้งอยู่ในใจกลางชุมชนที่มีเทือกเขาใหญ่ ขวางกัดทิศทางลม ทําให้ลมพัดวนอยู่ในชุมชนเป็นเวลานานจึงจะสามารถพัดผ่านได้ ชุมชนจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพอากาศปิด เวลามีเมฆฝน ลมจะพัดพาอากาศเสียจากโรงไฟฟ้าเข้าสู่บ้าน เรือนประชาชน เครื่องยนต์ที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ได้แก่ ฝุ่นละออง ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งทําให้เกิดภาวะโลกร้อน และเกิด ฝนกรดทําให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย

ขี้เถ้าส่งผลต่อการดําเนินชีวิตประจําวัน ทำให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยและสิ่งของเครื่องใช้เกิดความชำรุดเสียหาย และสกปรก ไม่สามารถเปิดประตู หน้าต่างได้ กลิ่นเหม็น จากการเผาไหม้ของเศษไม้ที่นำมาเป็นเชื้อเพลิง ทำให้กลายเป็นควันเสียออกสู่อากาศ ซึ่งมีกลิ่นเหมือนกํามะถัน ส่งผลให้เกิดความ รําคาญ มลพิษทางเสียง เสียงดังที่เกิดจากการทํางานของเครื่องจักร ซึ่งประชาชน ที่อาศัยอยู่ในระยะห่างจากโรงไฟฟ้า 1 กิโลเมตร จะได้ยินเสียงตลอดทั้งวัน เสียง คล้ายฝนตกหรือน้ำตก

6. ผลกระทบทางด้านสุขภาพ

ฝุ่นละออง ซึ่งมีขนาดเล็กมากสามารถเข้าไปถึงปอดและถุงลมปอดได้ ทำให้เกิดอาการไอ แน่นหน้าอก หลอดลมตีบ และลดประสิทธิภาพการทำงานของปอด เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ

ก๊าซต่างๆ ได้แก่ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ก๊าซซัลเฟอร์ใด ออกไซด์ (SO2) และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ทําให้เกิดการระคายเคือง ต่อระบบทางเดินหายใจ เกิดโรคหลอดลมหรือปอดบวม ผู้ป่วยโรคหอบหืดอาการกำเริบ นอกจากนี้ยังทำให้ปวดศีรษะ ง่วงเหงา เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย

โลหะหนัก การสะสมของโลหะหนักในร่างกายโดยได้รับผ่านอาหาร น้ํา สารเคมีในโรงงาน ในปริมาณมากเกินไปหรือสะสมเป็นระยะเวลานาน จะเกิดภาวะพิษ ทําให้เนื้อเยื่อเกิดความเสียหายรุนแรงได้ หรือนําไปสู่โรคร้ายแรงต่างๆ

เสียงดัง ทำเกิดความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญ สุขภาพจิตย่ำแย่ และการสัมผัสเป็นระยะเวลานานจะทําให้เกิดภาวะหูเสื่อมหรือสูญเสียการได้ยินในที่สุดความเครียดและความรำคาญประชาชนที่อยู่รอบๆ โรงไฟฟ้าอาจมีความวิตกกังวลว่าการอยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวจะมีต่อผลกระทบต่อสุขภาพ

7. ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

เนื่องจากประชาชนในเขต ต.ทุ่งสง และบริเวณใกล้ของ อ.นาบอน ประกอบอาชีพเกษตรกร โดยมีพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด 21,550 ไร่หรือ ร้อยละ 81.13 ของพื้นที่ทั้งหมด ได้แก่ สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้และพืชสวน รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ ทั้งเพื่อบริโภคและเพื่อธุรกิจ ทำให้รายได้ของประชากรส่วนใหญ่มาจากการทําเกษตรกรรมซึ่งต้องใช้น้ำเป็นปัจจัยหลักในการผลิต หากน้ำที่ใช้มีไม่เพียงพอต่อความต้องการจะทําให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนในการประกอบอาชีพได้

ทั้งนี้ ความผิดพลาดสําคัญคือการเลือกที่ตั้งไม่เหมาะสม เพราะเมื่อเลือกที่ตั้งไม่เหมาะสมมาตรการบรรเทาผลกระทบไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยเมื่อพิจารณาผู้ถือหุ้นบริษัท แอ็บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) มีธนาคารไทยพา นิชย์เป็นผู้ถือหุ้นร่วมซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงขอให้สํานักงาน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้พิจารณาให้ยุติการดําเนินการสร้างโรงไฟฟ้า นาบอนซึ่งส่งผลกระทบวงกว้างต่อประชาชน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

เครือข่าย #Saveนาบอน

ต่อมา เวลาประมาณ 11.40 น. ขณะที่เครือข่าย #Saveนาบอน เดินผ่านไปยัง ถ.พิษณุโลก เพื่อจะไปยังสำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งมีตัวแทนเครือข่ายอีกกลุ่มหนึ่งกำลังพูดคุยและเจรจาอยู่ พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดถนนบริเวณแยกตัดกับ ถ.ราชดำเนินนอก โดยมีการวางกำลังตำรวจและมีการตั้งรั้วเหล็กสีเหลืองเพื่อปิดถนน และไม่ให้ตัวแทนประชาชนเครือข่าย #Saveนาบอนเดินทางผ่าน ในขณะเดียวกัน สำนักข่าว The Reporter รายงานจากบริเวณ ถ.พระราม 5 ข้างทำเนียบรัฐบาลว่าเจ้าหน้าที่นำตู้คอนเทนเนอร์มาวางปิดกั้น ถ.พระราม 5 นำรั้วเหล็กแผงกั้นมาตั้งปิดถนนบริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกระจายกำลังกันอยู่รอบๆ บริเวณ ในขณะที่ตัวแทนเครือข่ายบางส่วนยังเจรจาอยู่ในสำนักงาน ก.พ.ร.

เจ้าหน้าที่นำตู้คอนเทนเนอร์มากั้นบริเวณ ถ.พระราม 5 หน้าทำเนียบรัฐบาล ข้างอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
(ภาพโดยแมวส้ม)
หนึ่งในผู้ติดตั้งรั้วเหล็กและรั้วลวดหนามหีบเพลงด้านบนตู้คอนเทนเนอร์หน้าทำเนียบรัฐบาล
ใส่เสื้อที่เขียนว่า 'ค่ายนเรศวร' (ภาพโดยแมวส้ม)
ตำรวจนำแผงเหล็กมากั้นบริเวณสะพานชัยมรุเชษฐ์ (ภาพโดยแมวส้ม)
 

The Reporters รายงานความคืบหน้าเพิ่มเติมเมื่อเวลา 13.11 น. เรื่องผลเจรจาระหว่างตัวแทนเครือข่าย #Saveนาบอน และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. โดยมีสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการพูดคุย

สมพาศ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ อ.นาบอน ได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว แต่ EIA ยังไม่ผ่าน และไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานรัฐในท้องที่ จึงยังไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านาบอนทั้ง 2 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำ EIA ใหม่ทั้งหมดก่อน จึงจะเริ่มต้นกระบวนการต่อไปได้ โดยสมพาศกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะทำหนังสือเชิญหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และฝ่ายเอกชน มาหารือต่อไป

มติชนออนไลน์ และข่าวสดออนไลน์รายงานเพิ่มเติมว่า ในเวลา 14.00 น. ประชาชนเครือข่าว #Saveนาบอน จะเดินทางไปสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อยื่นหนังสือ โดยใช้เส้นทาง ถ.พระราม 6 และในช่วงเย็นวันนี้ เวลา 18.30 น. ทางเครือข่ายจะใช้พื้นที่บริเวณถนนพระราม 5 แยกพาณิชยการ ด้านข้างอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เปิดวงเสวนา “ชำแหละ EIA อัปยศ ของโรงไฟฟ้าขยะนาบอน” เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมและไม่ถูกต้องในกระบวนการจัดสร้างโรงงานไฟฟ้าดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. The Reporters รายงานว่าเรียง สีแก้ว ตัวแทนเครือข่าย #Saveนาบอน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบริเวณหน้าสำนักงาน ก.พ.ร. ว่าแผนการทำกิจกรรมช่วงบ่ายและเย็นวันนี้ต้องยกเลิกออกไปก่อน เพราะทางสำนักงาน ก.พ.ร. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง สผ. มาพูดคุยกับประชาชนเครือข่าย #Saveนาบอน ที่นี่แล้ว และเพิ่งพูดคุยกันเสร็จสิ้นเมื่อสักครู่นี้

เรียงกล่าวว่าผลการพูดคุยออกมาค่อนข้างดี แม้ว่าจะยังไม่ใช่ข้อเรียกร้องของเครือข่าย แต่ประธานในที่ประชุมยืนยันว่าจะทำหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรีภายในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (20 ธ.ค. 2564) เพื่อให้พิจารณาสั่งการยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ อ.นาบอน ส่วนการปักหลักชุมนุมและจัดเสวนาที่หน้าทำเนียบรัฐบาลช่วงเย็นวันนี้ตามที่ทางกลุ่มประกาศไว้นั้นต้องขอยกเลิกไปก่อน เพราะเจ้าหน้าที่นำตู้คอนเทนเนอร์และเครื่องกีดขวางมาปิดกั้นการชุมนุมที่ประชาชนแจ้งไว้ล่วงหน้า ซึ่งตนและเครือข่ายไม่ต้องการให้มีปัญหาทางกฎหมาย แม้ว่าสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบจะเป็นของประชาชนคนไทยทุกคนก็ตาม

เรียง สีแก้ว (ภาพโดยแมวส้ม)
 

เครือข่าย #Saveนาบอน ประกาศเคลื่อนไปปักหลักตั้งหมู่บ้าน “ผู้ประสบภัยจากทุน ขุนศึก และศักดินา” บริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ในช่วงเช้ามืดวันพรุ่งนี้ (18 ธ.ค. 2564) หลังจัดตั้งหมู่บ้านเสร็จ เครือข่าย #Saveนาบอน จะเดินทางไปเรียกร้องแก่บริษัทผู้ถือหุ้นทุกรายของ ACE ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้านาบอน ซึ่งรวมถึงบริษัทเมืองไทยประกันภัย เพื่อบอกให้รู้ว่าโรงไฟฟ้าเหล่านี้ได้มาจากคราบน้ำตาของคนนาบอน และในช่วงเย็นวันพรุ่งนี้ เวลาประมาณ 18.30 น. เครือข่าย #Saveนาบอน เสาร์เย็นจะจัดเสวนาเปิดโปงขบวนการนายทุน ขุนศึกและศักดินา ที่ทำร้ายชาวนาบอน ส่วนช่วงเย็นวันที่ 19 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ เครือข่าย #Saveนาบอนจะจัดเสวนา “ชำแหละ EIA อัปยศ ของโรงไฟฟ้าขยะนาบอน” ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดขึ้นในวันนี้ โดยระบุว่าจะเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของ สผ. ในการจัดทำ EIA ว่ามีความหมกเม็ดอย่างไร ไม่ใช่แค่กรณีชาวนาบอน แต่อาจจะพ่วงไปถึง EIA ร้านลาบของโครงการผันแม่น้ำยวมอีกด้วย

“งานนี้พี่น้องนาบอน สู้ตายถวายหัว จนกว่าจะยุติโรงไฟฟ้านาบอนนี้ได้” เรียงกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าหากผลการเจรจาออกมาไม่เป็นที่หน้าพอใจ เครือข่าย #Saveนาบอน จะปักหลักอยู่ที่หน้าสำนักงาน UN ต่อหรือไม่ ซึ่งเรียงตอบว่าจะปักหลักต่อ และพร้อมที่จะผลักดันการเคลื่อนไหวแบบเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และอาจจะมีเครือข่ายอื่นๆ ที่ประสบปัญหาลักษณะเดียวกันเดินทางมาร่วมสมทบ ทั้งนี้ เรียงกล่าวว่าชาวนาบอนไม่ได้ปิดรับการพัฒนา แต่การพัฒนาต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและหากเป็นการพัฒนาที่ใช้พลังงานสะอาดก็จะส่งผลดีกับคนในพื้นที่มากกว่า

อนึ่ง วานนี้ (16 ธ.ค. 2564) ที่บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เครือข่าย #Saveนาบอน เดินทางจากบ้านเกิดกว่า 800 กม. มายื่นหนังสือขอพบ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) (ACE) เพื่อให้ลงมาเจรจากับประชาชนในพื้นที่ และยุติการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 2 โรง กำลังผลิตโรงละ 25 เมกะวัตต์ ภายใน ต.ทุ่งสง อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช พร้อมยืนยันจะปักหลักชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อเนื่อง จนกว่าจะได้รับคำตอบที่น่าพอใจจากการเจรจากับ รอง ผบ.ตร.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net