เข้าข่าย ‘พยายามฆ่า’ รายงาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ชี้ชัดเหตุยิงผู้ชุมนุมสาหัสหน้า รพ.ตำรวจ กระสุนลั่นจากไกปืน คฝ.

กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เปิดเผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้ชุมนุม #ม็อบ14พฤศจิกา64 จำนวน 3 รายถูกยิงจากกระสุนยางและ 'กระสุนไม่ทราบชนิด' ชี้ชัด กระสุนมาจากฝั่ง คฝ. เป็นการใช้ความรุนแรงเกินเหตุ เข้าข่าย 'พยายามฆ่า' พร้อมกันนี้ กมธ. ได้ยื่น 4 ข้อเสนอแก่รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ ชี้แจงข้อเท็จจริงแก่สาธารณะ, อบรมปรับทัศนคติด้านสิทธิเสรีภาพพลเมืองแก่เจ้าหน้าที่, ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่เป็นอิสระจากตำรวจ และดำเนินคดี คฝ. ผู้ก่อเหตุ รวมถึงผู้บังคับบัญชา เพื่อป้องกันการก่อเหตุซ้ำ

17 ธ.ค. 64 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน แถลงเปิดรายงานคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีเหตุความรุนแรงระหว่างการชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2564​ ซึ่งมีผู้ชุมนุมถูกกระสุนได้รับบาดเจ็บ 3 ราย บริเวณหน้าโรงพยาบาลตำรวจ

พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หนึ่งในคณะทำงานของ กมธ. กล่าวว่าความรุนแรงเกิดขึ้นบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลตำรวจในช่วงที่มีการชุมนุมของประชาชน มีผู้ชุมนุม 3 ราย ได้รับบาดเจ็บจากการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) 1 ใน 3 บาดเจ็บสาหัสคล้ายถูกกระสุนปืนไม่ทราบชนิดเจาะเข้าไปที่หน้าอกฝังเข้าไปในร่างกาย ช่วงเวลาเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน มีนักข่าวและช่างภาพอยู่ในที่เกิดเหตุจำนวนมาก แม้เป็นช่วงการชุลมุนสั้นๆ แต่มีภาพเคลื่อนไหวและภาพถ่ายจำนวนมากเผยแพร่ต่อสาธารณะว่า เป็นการใช้อาวุธประจำกายของ คฝ. ยิงใส่ผู้ชุมนุมในระยะกระชั้นชิดอย่างน่ากลัว โดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งสุ่มเสี่ยงและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชนได้ จึงเป็นสาเหตุให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อศึกษากรณีดังกล่าว

ย้อนลำดับเหตุการณ์ เกิดอะไรขึ้นใน #ม็อบ14พฤศจิกา64

คณะทำงานเห็นว่าหลักฐานจากภาพและคลิปในที่เกิดเหตุเพียงพอต่อการยืนยันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดได้ ภาพรวมของเหตุการณ์นี้ สืบเนื่องมาจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง ในวันที่ 12 พ.ย. 2564 ทำให้ต่อมาประชาชนหลายกลุ่มได้นัดหมายชุมนุมในวันที่ 14 พ.ย. 2564 หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่มีการชุมนุมเวลา 12.50 น. เจ้าหน้าที่นำสิ่งกีดขวางมาปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่นัดหมาย ต่อมา เวลา 13.40 น. ผู้จัดจึงประกาศย้ายสถานที่ชุมนุมไปบริเวณสี่แยกปทุมวัน

เวลา 16.30 น. แกนนำได้ประกาศเคลื่อนขบวนไปสถานทูตเยอรมนีเพื่อยื่นหนังสือ ในระหว่างการตั้งขบวน มี คฝ. พร้อมอาวุธประจำกาย รถฉีดน้ำแรงดันสูงและรถตู้ขับออกมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อนำแผงเหล็กไปตั้งแนวกั้นขวางเส้นทาง ถ.พระราม 1 บริเวณสี่แยกเฉลิมเผ่า เพื่อขัดขวางไม่ให้ผู้ชุมนุมเลี้ยวขวาไปยัง ถ.อังรีดูนังต์โดยมีเป้าหมายคือสถานทูตเยอรมนี

"จุดที่เกิดเหตุอยู่บริเวณหน้าโรงพยาบาลตำรวจ ถ.อังรีดูนังต์ เวลา 17.10 น. เพียงไม่กี่นาทีที่ขบวนผู้ชุมนุมเลี้ยวเข้ามาก็เกิดเหตุชุลมุนขึ้น ความชุลมุนกินเวลาประมาณ 20 นาที มีการยิงกระสุนปราบจราจลมากกว่า 6 นัด มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน"

ผู้บาดเจ็บรายที่หนึ่ง ถูกกระสุนไม่ทราบชนิดยิงเจาะผ่านหน้าอกฝังในร่างกาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส อาการวิกฤต ต้องรับการรักษาใน ICU นานกว่า 2 สัปดาห์ ออกจาก ICU วันที่ 12 ธ.ค. 2564 แต่ยังคงต้องรักษาอยู่ในห้องพักฟื้น มีไข้ขึ้นบางระยะ ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพราะได้รับผลกระทบจากการบาดเจ็บที่อก

ผู้บาดเจ็บรายที่สอง บาดเจ็บที่ร่างกาย 2 แห่ง คือไหล่ซ้ายและข้างลำตัวด้านซ้าย แผลมีลักษณะกลม มีรอยช้ำม่วงรอบแผล ค่อนข้างชัดเจนว่าเกิดจากกระสุนยางของเจ้าหน้าที่

ผู้บาดเจ็บรายที่สาม บาดเจ็บบริเวณไหปลาร้าขวา แผลกลมม่วงรอบๆ เกิดจากกระสุนยางเช่นกัน รักษาตัวใน ICU เพื่อพักฟื้น ขณะนี้ปลอดภัยแล้ว

ภาพจากผู้สังเกตการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2564
ขณะที่ทีมแพทย์เข้าปฐมพยาบาลแก่ผู้ชุมนุมที่ถูกยิงรายที่ 1 ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รายงาน กมธ. ชี้ชัด 'กระสุน' ยิงมาจากปืน คฝ.

พ.ต.ต. ชวลิต กล่าวว่า คณะทำงานได้ตรวจสอบหลักฐานจากภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งของสื่อมวลชนขณะเกิดเหตุ 8 รายที่เผยแพร่ภาพบนช่องทางออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นภาพไลฟ์สดที่บันทึกในแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก จึงไม่สามารถมีใครเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักฐานได้ จึงมีน้ำหนักที่โต้แย้งได้ยาก

จากการตรวจสอบพบข้อเท็จจริงเรียงตามลำดับเวลา ดังนี้

  • ก่อนเกิดเหตุ คฝ.และหัวขบวนผู้ชุมนุมเจอกันบน ถ.อังรีดูนังต์ โดย คฝ. เดินเป็นแถวหน้ากระดานถอยหลัง มีระยะห่างจากผู้ชุมนุมไม่มาก เมื่อแถวเจ้าหน้าที่ใกล้ประตูทางเข้าโรงพยาบาลตำรวจ เจ้าหน้าที่เบนออกข้างทางเพื่อเตรียมถอยเลี้ยวเข้าประตูเพื่อเปิดทางให้ผู้ชุมนุมผ่าน ถ.อังรีดูนังต์ไปได้
  • ก่อนเกิดเหตุ 4.5 วินาที ภาพจับผู้ชุมนุมบริเวณแถวหน้า คือ ผู้ได้รับบาดเจ็บรายแรกขณะนั้นถือกรวยจราจรขึ้นเหนือศีรษะ
  • ก่อนเกิดเหตุ 3 วินาที ยังไม่มีเหตุลักษณะเปลี่ยนแปลง
  • ก่อนเกิดเหตุ 1.7 วินาที เจ้าหน้าที่ คฝ. คนหนึ่งทำการชี้มือมายังผู้ชุมนุมรายนี้ (มีภาพยืนยันจากหลายมุมมองประกอบ)
  • ก่อนเกิดเหตุ 1.2 วินาที คฝ.คนที่ชี้มือยกปืนประจำกายขึ้นประทับและเล็งไปยังผู้ถือกรวยจราจร
  • ก่อนเกิดเหตุ 0.1 วินาที ผู้ชุมนุมที่ถือกรวยจราจรเหวี่ยงกรวยจราจรกระทบพื้นถนน จึงเป็นอีกหลักฐานสำคัญว่า ผู้ชุมนุมคนนี้ไม่ได้นำกรวยไปฟาด คฝ.แต่เหวี่ยงลงพื้น
  • ก่อนเกิดเหตุ 0.33 วินาที ยังคงเห็นการเล็งปืนของเจ้าหน้าที่คนเดิม
  • ขณะเกิดเหตุ คฝ. คนที่ยกปืนประจำกายขึ้นเล็งได้ลั่นไกใส่ผู้ชุมนุม (ผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส) เกิดแสงประกายไฟจากปากกระบอก พร้อมมีเสียงระเบิดดังและควัน จากการตรวจสอบภาพเคลื่อนไหวของสื่อทุกสำนักประกอบ ไม่พบว่ามีเสียงระเบิดจากฝั่งผู้ชุมนุมก่อนที่มีประกายแสงจากปืนกระบอกนี้

"ข้อมูลนี้จึงขัดแย้งกับข้อกล่าวหาของ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่กล่าวหาว่า ผู้ชุมนุมขว้างระเบิดและข้าวข้องใส่เจ้าหน้าที่ในระยะประชิด หลังจาก คฝ.ยิงปืนใส่ฝูงชนแล้ว ปรากฏว่าผู้ชุมนุมได้กระจายออกด้วยความตกใจ ระหว่างนั้น คฝ. คนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงยังใช้อาวุธปืนควบคุมฝูงชนยิงใส่ผู้ชุมนุมอีก 6 นัด สันนิษฐานว่าแผลของผู้บาดเจ็บรายที่ 2 และ 3 จากการยิงชุดนี้ และมีข้อสังเกตว่า แสงประกายไฟและกลุ่มควันจากปืน 6 นัดหลังมีน้อยกว่านัดแรกอย่างเห็นได้ชัด เสียงจุดระเบิดจะเบากว่า ส่วนผู้ชุมนุมคนที่เหวี่ยงกรวยจราจรลงพื้นและถูกยิงได้ก้มวิ่งไปตามถนนแล้วล้มลง เห็นภาพกองเลือดในจุดที่ล้มและการปฐมพยาบาล”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ยืนยันเกินกว่าเหตุ และเข้าข่าย 'พยายามฆ่า'

พ.ต.ต. ชวลิต กล่าวว่า ข้อสรุปของรายงานฉบับนี้ มี 4 ข้อ ดังนี้

1. ผู้บาดเจ็บสาหัสเชื่อได้ว่า ถูกยิงด้วยอาวุธปืนของ คฝ.ในระยะใกล้มาก เป็นกระสุนไม่ทราบชนิดทำให้เกิดแสง เสียงและควัน ซึ่งการที่กระสุนเจาะทะลุอกได้ บ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธที่มีพลานุภาพที่สามารถทำให้เป้าหมายเสียชีวิตได้

2. เห็นได้ชัดว่าการกระทำของ คฝ. เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เป็นการใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้ชุมนุมที่สงบปราศจากอาวุธ ถึงแม้จะมีการชูกรวยจราจรแล้วเหวี่ยงลงบนพื้นถนน แต่ก็ไม่ได้มุ่งหมายทำอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ได้ ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บรายที่ 2 และ 3 ซึ่งถูกยิงด้วยกระสุนยางหลังจากรายแรกถูกยิงไปแล้วและมีการแตกฮือของผู้ชุมนุมก็เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุเช่นกัน เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่าทั้งสองคนมีพฤติกรรมหรืออาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้เลย

3. จนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แต่กล่าวว่า ไม่มีการใช้กระสุนจริงในเหตุการณ์นี้ แต่ไม่เคยแสดงหลักฐานจากแพทย์ที่ทำการผ่าตัดผู้บาดเจ็บสาหัสรายนี้เลยว่า กระสุนที่พบในตัวคือกระสุนชนิดใด ทั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับรายงานทางการแพทย์และเก็บหัวกระสุนไปแล้ว เป็นข้อเท็จจริงที่น่าวิตกกังวลมากคือ ผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวยังคงไม่ได้เห็นรายงานทางการแพทย์ดังกล่าว และสิ่งที่ประชาชนมีสิทธิตั้งคำถามต่อการทำงานของตำรวจครั้งนี้คือ ประชาชนคงไม่มีทางได้เข้าถึงความยุติธรรม เพราะคู่กรณีในครั้งนี้คือตำรวจเองใช่หรือไม่

4. ต่อให้เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า กรณีดังกล่าวเป็นการยิงกระสุนยาง แต่ผู้ที่ได้รับการอบรมฝึกฝนมาอย่างดีย่อมรู้ดีว่าไม่มีสิทธิยิงใส่ประชาชนที่มาชุมนุมอย่างสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ กระสุนยางจะต้องยิงในกรณีที่ผู้ชุมนุมกำลังบ้าคลั่งหรือมีพฤติกรรมว่าจะทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่สามเท่านั้น และไม่มีสิทธิยิงใส่ลำตัวผู้ชุมนุมในระยะกระชั้นชิดเช่นนี้ เพราะจะสามารถทำให้เสียชีวิต บาดเจ็บหนักหรือพิการได้ ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ข้อมูลลึกลับชั้นสูง แต่เป็นความรู้ที่ประชาชนก็รับรู้ได้ทั่วไป การกระทำเช่นนี้จึงน่าจะเข้าข่ายการกระทำพยายามฆ่า

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จากนั้น สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งหมด 4 ข้อว่า

1. ต้องชี้แจงต่อสาธารณะว่า ปืนที่ คฝ. ยิงใส่ผู้ชุมนุมจนได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นปืนยิงกระสุนยางหรือไม่ และต้องเปิดเผยรายงานทางการแพทย์ที่ระบุชนิดของกระสุนปืนและความรุนแรงของบาดแผลอย่างละเอียด หรือหากเป็นอาวุธยิงกระสุนยางปราบจราจลจริง ปืนของเจ้าหน้าที่ทุกคนมีมาตรฐานเดียวกันหรือไม่

2. การกระทำเกินกว่าเหตุของ คฝ. อาจเกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งหรือหลายปัจจัย เช่น เจ้าหน้าที่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ดีพอในการใช้อาวุธ หรือขาดความเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่สามารถชุมนุมอย่างสงบสันติได้ หรือเจ้าหน้าที่ใช้กำลังอย่างเกินเลยจนเป็นความเคยชิน รวมทั้งเชื่อว่าตนจะลอยนวลพ้นผิดจากการกระทำของตัวเองได้ เพราะตนกระทำตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งกดปราบการชุมนุมของประชาชนโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ หากปัจจัยเหล่านี้คือสาเหตุที่นำไปสู่ความรุนแรงในความวัน 14 พ.ย. 2564 รัฐบาล และ ตร. ควรจัดให้มีการอบรมเพื่อปรับทัศนคติโดยขอรับความช่วยเหลือจากนักวิชาการหรือนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน

3. รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการอิสระที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สืบสวนสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้นเพื่อหาสาเหตุการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจและป้องกันเหตุลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดได้อีกในอนาคตอันใกล้

4. รัฐบาลต้องเร่งดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่กระทำเกินกว่าเหตุในเหตุการณ์นี้รวมถึงผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละให้มีการกระทำความผิดเช่นนี้ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท