Skip to main content
sharethis

คนทำงานในญี่ปุ่นต่างมีมุมมองต่อ 'วัฒนธรรมงานเลี้ยงช่วงปลายปี' ที่หลากหลาย บางคนยังคิดว่ายังคงจำเป็นเพื่อสร้างความแน่นแฟ้นในองค์กร ส่วนบางคนมองว่าเป็นการ 'ทรมาน' และบางคนชี้ว่างานเลี้ยงของบริษัทก็คือการทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้างเท่านั้น


ที่มาภาพประกอบ: Shinya ICHINOHE (CC BY-NC 2.0)

  • ที่ญี่ปุ่นในช่วงเดือน ธ.ค. มักจะเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูกาลงานเลี้ยงช่วงปลายปีที่เรียกว่า 'โบเน็งไก' (忘年会) อันมีความหมายว่า 'งานเลี้ยงลืมปี' ซึ่งคนทำงานในญี่ปุ่นมักมีงานเลี้ยงแบบนี้มากกว่าหนึ่งงาน
  • ผลสำรวจบริษัทต่างๆ 8,174 แห่ง 70.47% ระบุว่าจะยังงดจัดงานเลี้ยงไม่ว่าจะมีมาตรการฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดของ COVID-19 หรือไม่ก็ตาม
  • ช่วงการระบาดของ COVID-19 ก็ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะงานเลี้ยงมีนัยสำคัญเช่นกัน บางบริษัทมอบกล่องข้าวกล่องเบนโตะราคาแพงหรือบัตรกำนัลซื้อของสำหรับมื้อกลางวันให้แก่พนักงาน และบางบริษัทถึงกับจัดงานเลี้ยงออนไลน์
  • คนทำงานในญี่ปุ่นต่างมีมุมมองต่อ 'วัฒนธรรมงานเลี้ยงช่วงปลายปี' ที่หลากหลาย บางคนยังคิดว่ายังคงจำเป็น ส่วนบางคนมองงานเลี้ยงของบริษัทก็คือการทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้างเท่านั้น

ที่ญี่ปุ่นในช่วงเดือน ธ.ค. มักจะเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูกาลงานเลี้ยงช่วงปลายปีที่เรียกว่า 'โบเน็งไก' (忘年会) อันมีความหมายว่า 'งานเลี้ยงลืมปี' ซึ่งคนทำงานในญี่ปุ่นมักมีงานเลี้ยงแบบนี้มากกว่าหนึ่งงาน ขึ้นอยู่กับจำนวนบทบาททางสังคมของตน เช่น พนักงานบริษัท สมาชิกชมรม และกลุ่มเพื่อน เป็นต้น

แต่จากการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้กลับพบว่าคนทำงานในญี่ปุ่นมีความกังวลใจกับวัฒนธรรมงานเลี้ยงช่วงปลายปีนี้โดยเฉพาะการสังสรรค์กับที่ทำงาน แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ลดลงอย่างมากในญี่ปุ่น จะทำให้บาร์และร้านอาหารกลับมาเปิดทำการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง

ช่วงเดือน ต.ค. 2564 อันเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเริ่มคลายความเข้มงวดการควบคุมโรค COVID-19 นั้น บริษัท Tokyo Shoko Research Ltd. ได้ทำการสำรวจบริษัทต่างๆ 8,174 แห่ง ในประเด็นที่ว่าจะจัดงานเลี้ยงสิ้นปีหรือปีใหม่หรือไม่

ในจำนวนนี้ ร้อยละ 70.47 ระบุว่าจะยังงดจัดงานเลี้ยงไม่ว่าจะมีมาตรการฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดของ COVID-19 หรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงมาจาก ร้อยละ 94.2 จากปี 2563 ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในช่วงที่ญี่ปุ่นยังไม่ได้ไม่ได้มีฉีดวัคซีน COVID-19 ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ เลือกที่จะจัดงานปาร์ตี้ในปีนี้มากขึ้น 

ความหมายที่มากกว่างานเลี้ยง


นอกเหนือจากสร้างความสามัคคีในหมู่พนักงานแล้ว ในงานเลี้ยงช่วงปลายปีของบริษัทในญี่ปุ่นพนักงานกลับสามารถล็อบบี้เพื่อเลื่อนตำแหน่งด้วยการนำเสนอผลงานของพวกเขาจากปีที่ผ่านมาในขณะที่อยู่บนเวทีได้ด้วย | ที่มาภาพประกอบ: データマックスのNetIB-NEWS

ทั้งนี้สื่อ Asahi Shimbun ได้สำรวจความคิดเห็นผ่านทางโซเชียลมีเดีย ว่าคนทำงานในญี่ปุ่นมีความคิดเห็นอย่างไรต่อวัฒนธรรมงานเลี้ยงช่วงปลายปีกับที่ทำงาน ทั้งนี้หลายคนระบุว่าพวกเขาไม่อยากเข้าร่วม และเหตุผลก็ไม่ใช่แค่เพราะการระบาดใหญ่ของ COVID-19 เท่านั้น

"ฉันไม่ต้องการเข้าร่วมงานเลี้ยงสิ้นปีของบริษัท" พนักงานหญิงวัย 50 ปีกล่าวโดยไม่ลังเล เธอบอกว่าเธอโล่งใจที่โรงแรมที่เธอทำงานอยู่จะไม่จัดงานเลี้ยงสิ้นปีตามปกติเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

ก่อนหน้านี้เพื่อนร่วมงาน 30 คน ของเธอถูกบังคับให้เข้าร่วมงานเลี้ยงส่งท้ายปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของ COVID-19 ซึ่งพวกเธอถูกคาดหวังให้ร้องเพลงและเต้นรำบนเวทีและแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายแบบญี่ปุ่น โดยเธอระบุว่าเพื่อนร่วมงานของเธอยังใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการฝึกซ้อมสำหรับการแสดงชุดนั้นอีกด้วย

"มันเป็นงานฉลองสิ้นปีตามแบบฉบับของยุคโชวะ (ปี 2469-2532)" เธอเล่า "เราไม่เคยได้รับอนุญาตให้ปฏิเสธพวกเขา เมื่อเราบอกว่าเราไม่มีเงินมาก บริษัทจะเสนอส่วนลดเพื่อให้เรามีส่วนร่วม" 

เธอกล่าวว่ามีการจัดงานเลี้ยงควรสร้างความสามัคคีในหมู่พนักงานมากขึ้น และพนักงานกลับสามารถล็อบบี้เพื่อเลื่อนตำแหน่งด้วยการนำเสนอผลงานของพวกเขาจากปีที่ผ่านมาในขณะที่อยู่บนเวทีได้ด้วย

"งานของเราต้องการการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นเราจึงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้เสมอ" เธอกล่าว "แต่เรายังลดความระมัดระวังไม่ได้ เนื่องจากอาจมีการติดเชื้ออีกระลอกหนึ่งเร็วๆ นี้ ฉันจะไม่ไปงานเลี้ยงสิ้นปีแม้ว่าจะกลับมาทำงานอีกครั้งก็ตาม"

นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามของ Asahi Shimbun จำนวนมากกล่าวว่าพวกเขาไม่ชอบงานสังสรรค์ส่งท้ายปีในที่ทำงานเลย บางคนบอกว่าพวกเขาไม่ต้องการเข้าร่วมเพราะพวกเขาต้องระวังไม่หยาบคายกับผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ และบางคนระบุว่างานเลี้ยงในที่ทำงานเป็นเพียง 'การทรมาน' เท่านั้น 

แต่ผู้ตอบแบบสอบบางรายกล่าวว่าพวกเขาเห็นข้อดีของงานเลี้ยงสิ้นปีในที่ทำงานด้วยเช่นกัน

"ผมต้องการมีส่วนร่วมในงานปาร์ตี้ส่งท้ายปี" คุณครูมัธยมปลายวัย 26 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดโอซากะกล่าว เขากล่าวว่าภาระงานของเขาเพิ่มขึ้นเนื่องจากการระบาดใหญ่ ตอนนี้เขาต้องเตรียมตัวสำหรับชั้นเรียนออนไลน์และประชุมผู้ปกครองเกี่ยวกับการเตรียมชั้นเรียนใหม่

"ช่วงนี้ผมยุ่งมาก" เขากล่าว "เรายังได้รับคำสั่งให้พูดคุยกันในห้องพักครูให้น้อยที่สุด ผมเลยไม่มีเวลาคุยกับเพื่อนร่วมงาน"

คุณครูคนนี้ยังกล่าวในงานเลี้ยงสิ้นปีที่ผ่านมา เขาได้หารือเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษากับครูคนอื่นๆ และเรียนรู้สิ่งใหม่เกี่ยวกับเพื่อนร่วมงานที่มักจะพลาดงานสังสรรค์เพื่อดูแลลูกๆ หรือสมาชิกในครอบครัวที่สูงอายุ ทั้งนี้โรงเรียนของเขายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะจัดในปีนี้หรือไม่

ความเปลี่ยนแปลงในช่วง COVID-19


ช่วงการระบาดของ COVID-19 บางบริษัทจัดงานเลี้ยงออนไลน์ให้แก่พนักงาน | ที่มาภาพประกอบ: PR TIMES

ช่วงการระบาดของ COVID-19 ก็ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะงานเลี้ยงมีนัยสำคัญเช่นกัน บางบริษัทมอบกล่องข้าวกล่องเบนโตะราคาแพงหรือบัตรกำนัลซื้อของสำหรับมื้อกลางวันให้แก่พนักงาน และบางบริษัทถึงกับจัดงานเลี้ยงออนไลน์

"ปาร์ตี้ดื่มก็จัดขึ้นทางออนไลน์เช่นกัน" ผู้ตอบแบบสอบถามคนหนึ่งกล่าว "ผมไม่จำเป็นต้องกังวลว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับผมแม้ว่าฉันจะไม่ดื่ม ผมชอบบรรยากาศสบายๆ ผมเลยอยากให้งานเลี้ยงดื่มแบบออนไลน์นี้มีต่อไปอีกหลัง COVID-19 หยุดระบาดไปแล้วเช่นกัน"

คนทำงานเริ่มเบื่อหน่าย 'วัฒนธรรมงานเลี้ยงช่วงปลายปี' กับที่ทำงาน

แต่จากการสำรวจของ Nippon Life Insurance พบว่ามากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าวัฒนธรรมงานเลี้ยงช่วงปลายปีนี้เป็นสิ่ง "ไม่จำเป็น" ในขณะเหลือเพียง ร้อยละ 11 บอกว่า "มีความจำเป็นอย่างยิ่ง"

กลุ่มผู้คัดค้านงานเลี้ยงช่วงปลายปีของบริษัทต่างๆ อ้างถึงแรงกดดันจากลำดับชั้นในองค์กร นอกจากนี้บางคนมองว่างานเลี้ยงของบริษัทก็คือการทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และมาก 1 หนึ่งใน 5 ของผู้ตอบแบบสอบถามกับ Nippon Life Insurance บอกว่าพวกเขาไม่ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

"มีผู้คนมากขึ้นที่ตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการพบปะสังสรรค์เพื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วง COVID-19" โทโมกิ อิโนอุเอะ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัย Nippon Life Insurance กล่าวกับสำนักข่าวเกียวโด 


ที่มาข้อมูล
Survey finds many weary of the workplace ‘bonenkai’ party (NATSUKI EDOGAWA, The Asahi Shimbun, 29 November 2021)
‘Utter torment’: Japan’s party season loses lustre as workers dread drinking with the boss (Justin McCurry, 1 December 2021)
“โบเน็งไก” กับการปรับทุกข์ปลายปีแบบญี่ปุ่นๆ (โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์, ผู้จัดการออนไลน์, 18 ธ.ค. 2560)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net