'เมตา-เฟสบุ๊ค' เผยรายงานไล่ปิดบัญชีปลอมจากบริษัทช่วยรัฐสอดแนม หลอกแฮกผู้คน 100 ประเทศ

'เมตา' บริษัทแม่ของ 'เฟสบุ๊ค' ประกาศว่าพวกเขาได้ปราบปรามบริษัทสอดแนมที่ใช้โซเชียลมีเดียในการล้วงข้อมูลของผู้คนในประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ประเทศ ที่มีคนตกเป็นเป้าหมายราว 50,000 ราย

จากรายงานของเมตา บริษัทแม่ของเฟสบุคที่ออกมาเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2564 ระบุว่ามีบริษัทต่างๆ 6 บริษัทจากอิสราเอล, อินเดีย และมาซิโดเนียเหนือ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่ไม่รู้ที่มาจากในจีนอยู่ด้วย ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้ทำการสอดแนมผู้คนทางไซเบอร์แบบ "ไม่เจาะจงเป้าหมาย" ต่อผู้คนจำนวนมาก

เมตาระบุว่าพวกเขาได้ปิดกั้นโครงข่ายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเหล่านี้ และส่งจดหมายตักเตือนให้เลิกกระทำ รวมถึงมีการแบนบัญชีผู้ใช้งานในเฟสบุคและอินสตาแกรมประมาณ 1,500 บัญชี เพราะบัญชีเหล่านี้ทำการสอดแนม แฮกผู้ใช้งานรายอื่นๆ และหลอกให้ผู้คนให้ข้อมูลส่วนตัวของตัวเองกับพวกเขา มีการประเมินความเป็นไปได้ว่าจะมีผู้ตกเป็นเป้าหมายมากกว่า 48,000 ราย

เดวิด อกราโนวิช ผู้อำนวยการฝ่ายขัดขวางภัยคุกคามบริษัทเมตากล่าวว่า เป้าหมายของพวกเขาในครั้งนี้ไม่ใช่แค่การลบบัญชีที่ก่อเหตุเหล่านี้ แต่ยังเป็นการขจัดขัดขวางปฏิบัติการของกลุ่มแฮกเกอร์เหล่านี้ในแบบที่สร้างความเสียหายต่อพวกเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การแถลงข่าวของเฟสบุคในเรื่องนี้มีขึ้นในช่วงเดียวกับที่สังคมกำลังใคร่ครวญเรื่องที่บริษัทบางบริษัทให้ความช่วยเหลือรัฐบาลในเรื่องเทคโนโลยีการสอดแนม เช่น บริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ป จำกัด จากอิสราเอลที่อ้างว่าพวกเขาแค่ให้เครื่องมือกับหน่วยงานบังคับกฎหมายในการต่อต้านอาชญากรรมร้ายแรงและต่อต้านการก่อการร้ายเท่านั้น แต่ก็มีตัวอย่างหลายครั้งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลใช้เครื่องมือเหล่านี้ไปในการสอดแนมผู้ต่อต้านรัฐบาล กลุ่มนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชน และผู้สื่อข่าว

ในวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ส.ส. สหรัฐฯ 18 รายเรียกร้องให้กระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศใช้กฎหมายแมกนิตสกีในการคว่ำบาตรเอ็นเอสโอกรุ๊ป ทำให้กลุ่มเอ็นเอสโอกรุ๊ปอาจจะต้องเลือกระหว่างปิดระบบสอดแนมสปายแวร์ชื่อเพกาซัส หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องปิดบริษัทตัวเอง

เมตาระบุว่ารายงานของพวกเขาต้องการแสดงให้เห็นว่านอกจากเอ็นเอสโอแล้วยังมีบริษัทรับจ้างทางไซเบอร์อื่นๆ อีกที่รับจ้างทำระบบการสอดแนมให้กับรัฐบาล เช่น คอบเว็บ เทคโนโลยี, คอกไนต์, แบล็กคิวบ์ และ แบล็กฮอว์ก ซีไอ ในอินเดีย้มีบริษัทที่ชื่อว่า เบลล์ทร็อกซ์ ในนอร์ทมาซิโอเนียมีบริษัทที่ชื่อว่า ไซทรอกซ์ ส่วนในจีนนั้นไม่ทราบชื่อกลุ่ม

ในกลุ่มบริษัทเหล่านี้มีบางส่วนที่กล่าวอ้างว่าพวกตนปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศนั้นๆ เช่นไม่ทำการปลอดลวงหรือแฮกข้อมูลใดๆ และบางส่วนก็บอกว่าพวกเขายังไม่ได้รับการติดต่อจากเฟสบุคหรือเมตาในเรื่องนี้และไม่ทราบเกี่ยวกับข้อกล่าวหาใดๆ ที่เมตาอ้างต่อพวกเขาและบอกว่าพวกเขาทำตามมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว

สำหรับวิธีการที่บริษัทเหล่านี้ใข้ในการสอดแนมนั้นยกตัวอย่างเช่น บริษัทบลูฮอว์ก ซีไอ ใช้การเปิดบัญชีปลอมอ้างตนเป็นนักข่าวเพื่อหลอกให้คนติดตั้งโปรแกรมที่มีไวรัสลงในคอมพิวเตอร์ของพวกเขาเอง มีการตั้งเป้าหมายเป็นนักข่าวและนักธุรกิจในตะวันออกกลาง บริษัทแบล็กคิวบ์ก็มีการสร้างตัวตนปลอมขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลของบุคคลในวงการแพทย์ เหมืองแร่ อัญมณี และอุตสาหกรรมพลังงาน รวมถึงนักกิจกรรมปาเลสไตน์และประชาชนในรัสเซียที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

บริษัทเบลทร็อกซ์ใช้วิธีการสร้างบัญชีปลอมเช่นกันโดยพยายามแฮกโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ของบุคคลที่เป็นทนายความ, หมอ, นักกิจกรรม และนักบวชหรือสมาชิกทางศาสนาในประเทศต่างๆ อย่างออสเตรเลีย, แองโกลา, ซาอุดิอาระเบีย และไอซ์แลนด์

เมตาระบุว่าบริษัทไซทรอกซ์มี "โครงข่ายขนาดใหญ่" ที่น่าจะใช้ในการแฮกนักการเมือง, นักข่าว ในอียิปต์ และอาร์เมเนีย นอกจากนี้องค์กรซิติเซนแล็บที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการวิจัยการใช้เทคโนโลยีสอดแนมในทางที่ผิดยังค้นพบว่าไซทรอกซ์เคยเจาะระบบของประธานกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอียิปต์ที่พลัดถิ่นอยู่นอกประเทศ และนักข่าวอียิปต์พลัดถิ่นที่เป็นพิธีกรรายการดัง โดยที่ไซทรอกซ์ได้พัฒนาสปายแวร์ที่เรียกว่า "พรีเดเตอร์" ซึ่งสามารถเจาะระบบมือถือไอโอเอสและแอนดรอยด์ได้โดยสามารถแอบบันทึกบทสนทนาและขโมยข้อมูลได้ด้วย

เมตาระบุว่าพวกเขาค้นพบกลุ่มไม่ทราบชื่อที่ทำการสอดแนมช่วยเหลือรัฐบาลจีน โดยปฏิบัติการสอดแนมต่อกลุ่มที่เป็นชนกลุ่มน้อยในเอเชียแปซิฟิกไม่ว่าจะเป็นในเขตปกครองตนเองซินเจียง ในพม่า หรือไนฮ่องกง

จอห์น สก็อต-เรลตัน นักวิจัยอาวุโสจากซิติเซนแล็บกล่าวว่าการล้างบัญชีครั้งใหญ่ของเมตาในครั้งนี้จะกลายเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพวกเขาจะปฏิบัติต่อกลุ่มที่กระทำการสอดแนมเหล่านี้อย่างไร สก็อต-เรลตีนกล่าวอีกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะมีนแสดงให้เห็นว่าปัญหาไม่ได้มาจากแค่บริษัทเดียวหรือแค่ไม่กี่แห่ง แต่เป็นปัญหาที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมไอทีทั้งหมด

เรียบเรียงจาก
Meta cracks down on firms that spied on users in 100 countries, including India, China, Israel, South China Morning Post, 17-12-2021
Meta bans ‘cyber-mercenaries’ that targeted 50,000 people, Aljazeera, 17-12-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท