เมื่อคนทำงานถูกนายจ้างติดตามสอดส่องมากขึ้น

เมื่อคนทำงานถูกนายจ้างติดตามสอดส่องมากขึ้น พบมูลค่าตลาด 'อุปกรณ์-บริการติดตามสอดส่องพนักงาน' จะสูงถึง 6.84 พันล้านดอลลาร์ฯ ภายในปี 2571 ฟากนายจ้างชี้ข้อดีช่วยเพิ่มความปลอดภัยด้านข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กร ส่วนฟากคนทำงานส่วนใหญ่มักต่อต้าน-ลาออกจากงานเพิ่มขึ้น เมื่อองค์กรนำระบบติดตามสอดส่องมาใช้


ที่มาภาพประกอบ: Aksa2011 (Pixabay License)

  • มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของ 'อุปกรณ์และบริการติดตามสอดส่องพนักงาน' (Employee Monitoring Solution) จะสูงถึง 6.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2571
  • ผลสำรวจคนทำงานอังกฤษ 2,400 คน 32% ระบุว่าพวกเขากำลังถูกนายจ้างสอดส่องอยู่ ส่วนที่ออสเตรเลียก็ระบุเช่นเดียวกันถึง 39%
  • การติดตามสอดส่องพนักงานมีทั้ง การตรวจสอบอีเมล, การใช้เครื่องมือการทำงานร่วมกัน, การติดตามการใช้เว็บไซต์, การติดตามสอดส่องด้วยเว็บแคม และการบันทึกว่าพนักงานกดแป้นพิมพ์อะไรบ้างในแต่ละวัน เป็นต้น
  • ฝั่งนายจ้างระบุว่าข้อดีของการติดตามสอดส่องจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยด้านข้อมูล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กร รวมทั้งปรับปรุงประสบการณ์และสภาพการทำงานที่ดีแก่พนักงาน
  • แต่โดยส่วนใหญ่แล้วพนักงานมักต่อต้านการติดตามสอดส่อง ผลสำรวจพบอัตราการลาออกของพนักงานในองค์กรที่ปรับใช้หรือวางแผนที่จะใช้เครื่องมือติดตามสอดส่องสูงกว่าองค์กรที่ไม่มีแผนการนี้

จากเทรนด์การทำงานทางไกล (Remote Working) ที่เพิ่มมากขึ้น หลายบริษัทจึงหันมาใช้เครื่องมือตรวจสอบเพื่อคอยติดตามพนักงานของตน นั่นจึงนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปกป้องความเป็นส่วนตัวของคนทำงานเพิ่มมากขึ้น

เนื่องจากงานทางไกลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงการระบาดของ COVID-19 ธุรกิจจำนวนมากจึงหาวิธีติดตามพนักงานที่ไม่อยู่ในสายตาของผู้จัดการอีกต่อไป ขณะนี้กลยุทธ์การทำงานทางไกลยังคงอยู่ และแม้จะมีการเปิดสำนักงานใหม่อีกครั้ง แต่การใช้เครื่องมือติดตามพนักงานกลับยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้รายงานการวิจัยของ Market Research Future (MRFR) ได้คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของ 'อุปกรณ์และบริการติดตามสอดส่องพนักงาน' (Employee Monitoring Solution) จะสูงถึง 6.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2571

อ่านประเด็น 'การทำงานทางไกล' ที่ประชาไทเคยนำเสนอ
คนทำงานแอลเบเนียได้รับชัยชนะ หลังร้องเรียนให้นายจ้างหยุดใช้กล้องสอดส่องขณะทำงานที่บ้าน

การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้นในการจัดการและตรวจสอบพนักงานได้กลายเป็นเรื่องธรรมดา จนมีการเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อปกป้องพนักงานเพิ่มมากขึ้น

"เราได้เห็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อความสนใจในเทคโนโลยีการตรวจสอบพนักงานในช่วงการระบาดใหญ่" เฮเลน พอยเทวิน รองประธานฝ่ายวิเคราะห์ของ Gartner บริษัทเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรมนุษย์ กล่าว "สิ่งนี้ยังคงดำเนินต่อไปเมื่อองค์กรวางแผนสำหรับสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริด โดยที่พนักงานทำงานได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้นจากที่บ้านและที่ทำงาน"

แอนดรูว์ ปากส์ ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารและการวิจัยของสหภาพแรงงาน Prospect ในสหราชอาณาจักร ระบุว่าปัจจุบันนวัตกรรมทางเทคโนโลยีแซงหน้ากฎหมายการจ้างงานและความเท่าเทียมไปแล้ว 

เขาเรียกร้องให้มี "สิทธิ์ทางข้อมูลที่เหมาะกับยุคดิจิทัล" เพื่ออัปเดตกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยและการจ้างงานที่บังคับใช้ในศตวรรษที่ผ่านมา เพื่อปกป้องคนทำงานในพื้นที่ทางกายภาพ 

"ตอนนี้เรากำลังก้าวไปสู่ยุคที่งานจะถูกกำหนดจากความเสี่ยงด้านการใช้ข้อมูลดิจิทัลบนคลาวด์ และเราจำเป็นต้องประเมินสิทธิของเราในพื้นที่นั้นใหม่"

 

แอนดรูว์ ปากส์ ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารและการวิจัยของสหภาพแรงงาน Prospect

การสอดส่องคนทำงานทางดิจิทัลไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่สำหรับพนักงานออฟฟิศ ตัวอย่างเช่น นายจ้างสามารถตรวจสอบการสื่อสารและประวัติเว็บเบราว์เซอร์ได้ แต่ในอังกฤษในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา (ช่วงการระบาดของ COVID-19) กลับกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น และบางธุรกิจได้หันไปใช้เครื่องมือตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานเพื่อทำความเข้าใจว่าพนักงานทำอะไรเมื่อทำงานจากที่บ้าน

การสำรวจความคิดเห็นคนทำงานมากกว่า 2,400 คน ในอังกฤษเมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2564 โดยสหภาพแรงงาน Prospect แสดงให้เห็นว่าเกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 32) ระบุว่าพวกเขากำลังถูกนายจ้างสอดส่องอยู่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 24 เมื่อเดือน เม.ย. 2564

"มีการเฝ้าติดตามในที่ทำงานอยู่เสมอ แม้ว่านั่นจะเป็นเรื่องปกติที่ผู้จัดการจะสามารถตรวจสอบสำนักงานของตนหรือเดินไปรอบๆ ร้านค้าและเห็นพนักงานของตนได้ ... การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตอนนี้คือ การทำงานแบบไฮบริด [ให้พนักงานทำงานทั้งจากที่บ้านและเข้ามาทำยังออฟฟิศ] … การสอดส่องนี้กำลังเข้ามาในชีวิตส่วนตัวและในบ้านของเรา" ปากส์กล่าว "นั่นเพิ่มระดับความกดดันและความเครียดให้กับคนทำงานในระดับที่แตกต่างกัน"

การสำรวจความคิดเห็นที่คล้ายกันโดยสถาบันออสเตรเลีย (Australia Institute) ในเดือน พ.ย. 2564 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามชาวออสเตรเลียเกือบ 2 ใน 5 (ร้อยละ 39) ทราบว่าพวกเขากำลังถูกนายจ้างติดตามอยู่ ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับการสำรวจที่ดำเนินการโดย VMware ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ระดับองค์กร แสดงให้เห็นว่ามีพนักงานปกติทั่วไปเพียง ร้อยละ 36 เท่านั้นที่รู้จักเครื่องมือติดตามตรวจสอบที่ติดตั้งในองค์กร ส่วนฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (HR) รู้จักเครื่องมือเหล่านั้นกว่า ร้อยละ 69 ซึ่งตัวเลขนี้ได้บ่งชี้ถึงการขาดความโปร่งใสในองค์กร

ส่วนใหญ่แล้วพนักงานมักจะต่อต้านการเฝ้าติดตามสอดส่องพวกเขา แต่ก็มีส่วนน้อยที่จะได้รับคำปรึกษาว่าพวกเขามีสิทธิและควรจะทำเช่นไรบ้าง ในแบบสำรวจของสหภาพแรงงาน Prospect ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 52 ระบุว่านายจ้างไม่ควรใช้เว็บแคมสอดส่องพวกเขา มีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่เห็นด้วยว่าบริษัทควรใช้เว็บแคมได้ตามที่เห็นสมควร ร้อยละ 28 ยอมรับว่าการเฝ้าติดตามเว็บแคมเป็นที่ยอมรับได้ในบางสถานการณ์ เช่น ระหว่างการประชุมหรือเมื่อพวกเขาได้รับแจ้งก่อนว่าจะมีการติดตามทางเว็บแคม

ทำไมบริษัทถึงติดตามพนักงาน

เฮเลน พอยเทวิน รองประธานฝ่ายวิเคราะห์ของ Gartner ระบุว่าการใช้เทคโนโลยีในการติดตามตรวจสอบไม่จำเป็นต้องเป็นปัญหา เมื่อดำเนินการด้วยความระมัดระวัง การติดตามกิจกรรมในการทำงานอาจมีข้อดีสำหรับทั้งนายจ้างและพนักงาน

"มีหลายสาเหตุที่นายจ้างอาจติดตามกิจกรรมของพนักงาน เช่น ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยหรือเพื่อปกป้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อนสูง การตรวจสอบยังช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของพนักงานได้อีกด้วย" พอยเทวินกล่าว 

"บางองค์กรปรับใช้เครื่องมือเหล่านี้ เพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าพนักงานของตนกำลังทำงานอยู่" พอยเทวินกล่าว "เพราะพวกเขาต้องการให้แน่ใจว่าพนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสภาพการทำงานของพวกเขาด้วยการทำงานมากเกินไป"

การตรวจสอบควรทำร่วมกับการสำรวจความคิดเห็นเพื่อรวบรวมความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับกิจกรรมการทำงานและผลการปฏิบัติงาน เธอกล่าวเสริม และสิ่งสำคัญคือต้องวัดทัศนคติของพนักงานต่อการใช้เครื่องมือตรวจสอบ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปตามกลุ่มอายุ หน้าที่งาน และภูมิศาสตร์

"หากผู้ที่ใช้ข้อมูลเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงประสบการณ์และสภาพการทำงานที่ดีของพนักงาน มันจะคงคุ้มค่าและมีประโยชน์ตราบใดที่วัตถุประสงค์และการใช้ข้อมูลที่รวบรวมมานั้นชัดเจนสำหรับพนักงาน" พอยเทวินกล่าว

แต่การสำรวจของ VMware ได้ชี้ให้เห็นถึงอัตราการลาออกของพนักงานที่สูงขึ้น ในองค์กรที่ปรับใช้หรือวางแผนที่จะใช้เครื่องมือตรวจสอบ (ร้อยละ 41) เมื่อเทียบกับองค์กรที่ไม่มีแผนการที่ว่า (ร้อยละ 23)

"องค์กรที่ปรับใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อตรวจสอบว่าพนักงานกำลังทำงานอยู่จะยิ่งบั่นทอนความไว้วางใจ ... พวกเขา[พนักงาน]จะมองว่าที่นี่มีความเสี่ยง มากกว่ามีประโยชน์ต่อพวกเขา" 

เฮเลน พอยเทวิน รองประธานฝ่ายวิเคราะห์ของ Gartner บริษัทเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรมนุษย์

ติดตามสอดส่องคนทำงานอย่างไรบ้าง


เทคโนโลยีอัลกอริธึม AI ที่ตรวจจับระดับความเข้มข้นโดยการติดตามการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อจากการแสดงออกทางสีหน้าของบริษัท Fujitsu มีความแม่นยำถึง 85% | ที่มาภาพ: Fujitsu (อ้างใน Computerworld)

ด้วยการใช้เครื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีหลายวิธีที่สามารถตรวจสอบพนักงานแต่ละคนได้

การสำรวจของ VMware ซึ่งดำเนินการในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2564 มีผู้ตอบแบบสอบถาม 7,600 คน ได้ให้รายละเอียดการเฝ้าระวังจากนายจ้าง เช่น การตรวจสอบอีเมล (ร้อยละ 44) เครื่องมือการทำงานร่วมกัน (ร้อยละ 43)  การติดตามการใช้เว็บไซต์ (ร้อยละ 41) การติดตามสอดส่องด้วยเว็บแคม (ร้อยละ 28) และการบันทึกว่าพนักงานกดแป้นพิมพ์อะไรบ้างในแต่ละวัน (ร้อยละ 26) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการติดตามพนักงาน เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรูปแบบการทำงาน

การวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพและละเอียดยิ่งขึ้น ทำให้นายจ้างเห็นว่าพนักงานใช้เวลาอยู่ที่ใดได้ง่ายขึ้น การตรวจสอบพนักงานมักจะต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ไว้บนอุปกรณ์ที่พนักงานใช้ทำงาน โดยจะสร้างการวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้แอปพลิเคชันและเว็บไซต์ขณะทำงาน นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายภาพหน้าจอปกติ บันทึกการกดแป้นพิมพ์ และอื่นๆ อีกมากมาย เครื่องมือบางอย่างสามารถแอบบันทึกวิดีโอและเสียงจากแล็ปท็อปของพนักงานได้ด้วย

ไม่ใช่แค่ซอฟต์แวร์ที่สามารถติดตามพนักงานได้เท่านั้น แม้แต่เครื่องมือสำหรับการทำงานร่วมกันและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานยอดนิยมก็สามารถแสดงข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบการทำงานแบบรายบุคคลและแบบกลุ่มได้แล้ว

มีนวัตกรรมมากมายเกิดขึ้นเช่นกัน ด้วยการจดจำใบหน้าด้วย AI และเครื่องมือตรวจจับอารมณ์แบบไบโอเมตริกซ์ ตัวอย่างเช่น บริษัท Fujitsu สามารถสร้างเทคโนโลยีอัลกอริธึมที่ตรวจจับระดับความเข้มข้นโดยการติดตามการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อจากการแสดงออกทางสีหน้า ในแถลงการณ์เมื่อต้นปี 2564 บริษัท Fujitsu ระบุว่าอัลกอริธึมดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้กับชั้นเรียนออนไลน์ การประชุมออนไลน์ และกิจกรรมการขายต่างๆ ได้เป็นต้น

ที่มาข้อมูล
Employee Monitoring Solution Market Estimated to Reach Up to USD 6.84 Billion by 2028 - Report by Market Research Future (Market Research Future, 9 December 2021)
Rise in employee monitoring prompts calls for new rules to protect workers (Matthew Finnegan, Computerworld, 30 November 2021)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท