Skip to main content
sharethis

วงเสวนาภาคประชาชน สื่อสารถึงภาครัฐ ชี้ชวนแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละประท้วงที่ต้นเหตุ ปลดล็อกนโยบายให้ผู้ลี้ภัยสามารถทำงานได้ เติมเต็มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศ

ภาพเหตุการณ์ประท้วงภายในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ เมื่อ 14 ธ.ค. 64 ภาพจาก Mae La Information Team

สืบเนื่องจากการประท้วงของผู้ลี้ภัยนับหมื่นภายในพื้นที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เมื่อ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากความไม่พอใจการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบธรรม จนปัญหาบานปลายกลายเป็นความรุนแรง และจลาจล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ก้าวไกล” ร้องรัฐเร่งสอบเหตุประท้วงในค่ายผู้อพยพแม่หละ-ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

เมื่อ 18 ธ.ค. 64 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) สำนักข่าว The Reporters  และสำนักข่าวชายขอบ ร่วมจัดเสวนาสาธารณะ "ส่องค่ายผู้ลี้ภัย ปมปัญหา-ทางออก" เผยแพร่ในช่องทางโซเชียลมีเดีย ‘เฟซบุ๊ก’ และ ‘ยูทูบ’ ช่อง The Reporters เผยให้เห็นถึงรากปัญหาของการประท้วงค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ มาจากการกดทับจากทั้งกฎระเบียบและเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย พร้อมฟังข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายที่สื่อสารไปยังรัฐ โดยเฉพาะการปลดล็อกนโยบายผู้ลี้ภัยของรัฐไทย ให้พวกเขาใช้ศักยภาพทำงานเพื่อสังคม  เติมเต็มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาความขาดแคลนแรงงานในประเทศ

ผู้เสวนาประกอบด้วยตัวแทนจากหลายฝ่าย ประกอบด้วย ‘หน่อกะยอพอ’ ตัวแทนผู้ลี้ภัย และสมาชิกกลุ่ม ‘Karen Peace Support Network - KPSN’ เฮโซ ตัวแทนผู้ลี้ภัย และคณะกรรมการผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง หรือ KRC ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มช. ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มช. ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกัณวีร์ สืบแสง อดีตหัวหน้าสำนักงานของ UNHCR ประจำภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ 

  • ตัวแทนผู้ลี้ภัยสะท้อนความรู้สึกอัดอั้นจากการถูกเจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมนานนับ 10 ปี ก่อนปะทุเป็นการประท้วงค่ายบ้านแม่หละ
  • อดีตหัวหน้าสำนักงาน UNHCR เผย หลังรัฐประหารพม่าและสงครามกลางเมือง รัฐไทยจะไม่สามารถส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศมาตุภูมิได้ แนะปลดล็อกดึงผู้ลี้ภัยมาเป็นแรงงานสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศ
  • นักวิชาการ มช. ชวนรัฐและสังคมไทยเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้ลี้ภัยเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าและศักยภาพ พร้อมเสนอให้ผู้ลี้ภัยทำงานพัฒนาพื้นที่ชายแดน
  • กสม. รับลูก พร้อมประสานงานหลายฝ่าย แก้ปัญหานโยบายผู้ลี้ภัย และเสริมศักยภาพการศึกษาภายในค่าย

ตัวแทนผู้ลี้ภัยเผยความรู้สึกอัดอั้นก่อนระเบิดเป็นการประท้วง

เบื้องต้น หน่อกะยอพอ ตัวแทนผู้ลี้ภัย กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้ลี้ภัยในพื้นที่ค่ายบ้านแม่หละต้องลุกขึ้นมาประท้วงเจ้าหน้าที่ว่า เป็นปัญหาที่สั่งสมมาตลอดนานหลาย 10 ปี เนื่องจากผู้ลี้ภัยต้องทนกับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ภายในค่ายฯ ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดหยาม และละเมิดสิทธิมนุษยชน จนสุดท้ายระเบิดออกเป็นการจลาจล

หน่อกะยอพอ ตัวแทนผู้ลี้ภัย (ภาพจาก The Reporters)

ในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์โควิด-19 รัฐไทยมีนโยบายล็อกดาวน์ค่ายผู้ลี้ภัยทุกค่าย จนทำให้ผู้ลี้ภัยไม่สามารถออกไปหางานทำรับจ้างจุนเจือครอบครัวได้ แต่กลับกัน คนที่มีเงินเพียงพอ สามารถจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ที่หน้าด่านประตูค่าย เพื่อให้ได้รับการอนุมัติออกไปทำงานรับจ้างนอกค่ายได้ นี่ทำให้เห็นถึงความไม่ธรรม และการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ผู้ลี้ภัยเข้าใจดีถึงกฏเกณฑ์ต่างๆ ในช่วงโควิด-19 แต่เจ้าหน้าที่รัฐควรมีการสื่อสารที่ดีกว่านี้ โดยเฉพาะการแจ้ง และปฏิบัติอย่างมีส่วนร่วม กรณีตัวอย่างที่ค่ายแม่หละ ถ้าหากมีสมาชิกครอบครัวผู้ลี้ภัยคนใดคนหนึ่งป่วยโควิด-19 ทุกคนในครอบครัวต้องไปกักตัว ในสถานกักตัวในค่ายทั้งหมด ทำให้มีปัญหาต่างๆ ตามมา คนจำนวนหลายพันต้องไปรวมตัวกันในสถานที่กักตัว อาหารไม่เพียงพอ และเน่าเสีย สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความคับข้องใจ แม้มีการขอผ่อนผันกับเจ้าหน้าที่ให้ครอบครัวที่มีผลเป็น ‘บวก’ ได้หรือไม่ แต่ก็พบว่าไม่ง่ายที่เจ้าหน้าที่จะให้อนุญาต 

“ผู้ลี้ภัยทุกคนอยากดูแลตัวเอง อยากพึ่งตนเองได้ มีงานทำ สามารถมีรายได้ มีอาหารที่เลี้ยงดูครอบครัว สามารถทำงานเพื่อพึ่งพาตนเองได้ และสามารถออกไปทำงานโดยที่ไม่ถูกจับกุม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ลี้ภัยควรได้รับเช่นเดียวกัน ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดูแลค่ายผู้ลี้ภัยเปลี่ยนทัศนคติดูแลค่ายผู้ลี้ภัย ให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และฟังเสียงผู้ลี้ภัย” หน่อกะยอพอ กล่าว

ด้านเฮโซ ผู้ลี้ภัย และเป็นสมาชิก KRC ซึ่งเป็นองค์กรดูแลค่ายผู้ลี้ภัยของชาวกะเหรี่ยง กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ธ.ค.นั้น เป็นผลมาจากแรงกดดันต่อผู้ลี้ภัยที่ทับถมมาอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการของภาครัฐที่ไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยออกนอกพื้นที่ ทำให้ผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตมาในค่ายตลอดชีวิตรู้สึกสิ้นหวังต่อการพึ่งพาตนเอง ไม่มีคุณค่า ต้องเป็นผู้รับตลอดเวลา จนมาประจวบเหมาะกับช่วงโควิด-19 กฎระเบียบใหม่ที่เพิ่มขึ้น แทนที่จะมีการจัดการอย่างมีส่วนร่วม แต่กลับเป็นแรงกดทับซ้ำเติมผู้ลี้ภัยมากขึ้น 

เฮโซ ผู้ลี้ภัย และเป็นสมาชิก KRC (ภาพจาก The Reporters)

เฮโซ อยากชวนสังคมปรับเปลี่ยนมุมมองต่อผู้ลี้ภัยทั้งหมดที่อาศัยใน 9 ค่ายตามชายแดนประเทศไทย-พม่าว่า พวกเขาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เป็นแรงงานได้ หากเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีการพัฒนาศักยภาพของผู้ลี้ภัย ได้รับโอกาสในการจัดการบริหารภายในค่าย หรืออนุญาตให้เขาทำงานด้านนอกพื้นที่ ซึ่งสิ่งนี้จะสร้างความหวังแก่ผู้ลี้ภัย ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ และสามารถดูแลพึ่งพาตัวเองได้  

ปัจจุบัน แม้ว่าในค่ายจะมีการจัดการบริการด้านต่างๆ ให้ผู้ลี้ภัย อาทิ การศึกษา สุขภาพ การจัดการค่าย ซึ่งความช่วยเหลือเหล่านี้มาจากองค์กรภาคประชาสังคมต่างประเทศ และ UNHCR แต่เฮโซ ระบุว่าโอกาสของผู้ลี้ภัยจะได้เข้ามาร่วมโอกาสทำงานช่วยเหลือในค่ายตรงนี้แทบไม่มี และความช่วยเหลือยังจำกัดอยู่มาก  

“อยากให้มองว่า ทำยังไงให้ทรัพยากรมนุษย์จำนวนมากที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ นั้น สามารถพัฒนาตัวเอง พัฒนาศักยภาพและออกมาช่วยทำงานในค่ายได้ เขาอยากให้มองที่ทางออก และทำยังไงที่ให้ผู้ลี้ภัยมีโอกาสในการพัฒนาตัวเอง และหวังว่าจะพัฒนาสิทธิต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมในค่ายของตัวเอง และสังคมโดยรวมให้ดีขึ้น และมองทางออกว่าผู้ลี้ภัยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นเดียวกัน” เฮโซ กล่าว

รัฐไทยทบทวนนโยบายผู้ลี้ภัย หลังรัฐประหารพม่า

กัณวีร์ สืบแสง อดีตหัวหน้าสำนักงาน UNHCR กล่าวเสริมว่า รากปัญหาของผู้ลี้ภัยนั้นคือตัวนโยบายของรัฐไทยต่อผู้ลี้ภัยนั้นเน้นเรื่องของความมั่นคง กฎหมายไทยที่นำมาบังคับใช้กับผู้ลี้ภัยเป็น พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง คือคนที่เข้ามาผิดกฎหมายต้องออก และผู้ลี้ภัย/ผู้หนีภัยจากการสู้รบ ไทยให้ความอนุเคราะห์เพียงชั่วคราวเท่านั้น  

กัณวีร์ สืบแสง อดีตหัวหน้าสำนักงาน UNHCR เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ภาพจาก The Reporters)

ส่วนตัว กัณวีร์ มองว่า รัฐไทยทำถูกต้องที่ให้ผู้ลี้ภัยข้ามแดนเข้ามาในรัฐไทยในปี ค.ศ. 1988-1989 และให้ความอนุเคราะห์ด้านมนุษยธรรม คือให้ทุกคนอยู่ได้เป็นการชั่วคราวและสร้างพื้นที่พักพิง 

“แต่ 30 กว่าปีที่ผ่านมา รัฐไทยมีนโยบายที่ไม่ให้ผู้หนีภัยออกนอกพื้นที่พักพิงได้ จะออกได้ก็ต่อเมื่อต้องขออนุญาตจากผู้บัญชาการ หรือเจ้าหน้าที่เท่านั้น หรือว่าจะเป็นเรื่องอื่นๆ คือเรื่องสุขภาพ เข้าโรงพยาบาลอันนี้ออกได้” อดีตหัวหน้า UNHCR กล่าว พร้อมระบุว่า 32 ปีของคนที่ต้องอยู่ในพื้นที่พักพิงทั้ง 9 แห่ง มันเหมือนการติดคุก 30 กว่าปี

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาของผู้ลี้ภัยในเวทีระหว่างประเทศ มีแนวทางแก้ปัญหาอยู่ด้วยกัน 3 แนวทาง คือ 1) ให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับมาตุภูมิโดยสมัครใจ เมื่อสถานการณ์สงครามสงบลง และผู้ลี้ภัยต้องตัดสินใจด้วยตัวเองภายใต้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน 2) อาศัยอยู่ในประเทศที่เปิดรับผู้ลี้ภัย และ 3) ไปประเทศที่ 3 ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ลี้ภัย และประเทศที่ 3 

ทั้งนี้ ไทยมีการดำเนินการเพียง 2 จาก 3 แนวทางเท่านั้น อันแรกคือการให้ผู้ลี้ภัยตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3 โดยตั้งแต่ปี 2004-ปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยเดินทางไปประเทศที่ 3 ทั้งสิ้นราว 1.2 แสนคน ก่อนหยุดไปในช่วงโควิด-19 ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกคนจะได้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3 ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจส่วนบุคคลของผู้ลี้ภัยเอง และประเทศผู้รับ 

แนวทางที่ 2 คือให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับสู่ประเทศมาตุภูมิ ซึ่งในปี 2015 รัฐบาลพม่ามีการทำข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวทั่วประเทศกับกองกำลังชาติพันธุ์ หรือ NCA หลากหลายกลุ่ม ทำให้สถานการณ์สู้รบภายในพม่าเบาบางลง รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่ามองถึงเรื่องการส่งผู้ลี้ภัยกลับมาตุภูมิ โดยใช้ชื่อโครงการว่า “Facilitated Voluntary Repatriation” (FVR Movement) เริ่มขึ้นในปี 2016 ซึ่งผู้ลี้ภัยที่มีความประสงค์เดินทางกลับ ก็ส่งเรื่องมาที่กระทรวงมหาดไทย UNHCR หรือหน่วยงานในพื้นที่ จากนั้น จะมีหน่วยงานลงไปเช็กพื้นที่ว่าปลอดภัยมากเพียงพอในการอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดได้หรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 2016-2019 (ระยะเวลา 4 ปี) ข้อมูลจาก UNHCR พบว่ามีผู้ลี้ภัยพม่าสมัครใจเดินทางกลับมาตุภูมิจริงๆ แม้ว่าสถานการณ์การสู้รบในพม่าจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพียงแค่ 1,039 รายเท่านั้น จากประชากรทั้งหมดใน 9 ค่าย 9 หมื่นกว่าคนใน 9 ค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งจำนวนนี้น้อยมาก และหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ FDR ยุติลง ซึ่งถ้ากระบวนการ FVR ยังดำเนินอยู่ หมายความว่าไทยต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 200 ปี ถึงจะส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศบ้านเกิดได้ทั้งหมด

แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ ที่ทำให้การส่งคืนผู้ลี้ภัยเป็นไปโดยยาก คือการทำรัฐประหารของ พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย เมื่อ 1 ก.พ. 64 ส่งผลให้กระบวนการทุกอย่างหยุดลง โดยเฉพาะข้อตกลง NCA และสงครามกลางเมืองในพม่ากลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง การส่งผลให้การส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศโดยสมัครใจ จึงเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ครั้นจะให้ส่งผู้ลี้ภัยทุกคนไปประเทศที่ 3 ทั้งหมด หรือครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีประเทศไหนยอมรับคนปริมาณมากขนาดนั้นได้ “มันเป็นไปไม่ได้” ดังนั้น ผู้ลี้ภัยเขาจะอยู่ในไทยอีกนาน 

ปลดล็อกนโยบายแรงงานให้ผู้ลี้ภัย

อดีตหัวหน้าสำนักงาน UNHCR เสนอว่า รัฐบาลต้องมองถึงการปลดล็อกนโยบายด้านแรงงานแก่ผู้หนีภัยการสู้รบ คือรัฐไม่สามารถคงทนนโยบายความมั่นคงในการดูแลผู้หนีภัยการสู้รบได้ตลอดไป หากสถานการณ์เมียนมายังคงรบกันอยู่ ก็คงต้องรออีก 30-40 ปีกว่าจะได้ส่งผู้ลี้ภัยกลับคืน ไทยจำเป็นต้องคิดใหม่ว่าจะเปิดรับกลุ่มผู้หนีภัยในประเทศยังไง 

ก่อนหน้านี้ ไทย พม่า และ UNHCR เคยทำเรื่องโครงการ “U-Turn” คือให้ผู้ลี้ภัยกลับไปทำบัตรประชาชนในพม่า และกลับมาเป็นแรงงานในไทย แต่ตอนนี้ U-Turn ยาก ซึ่งกัณวีร์ เสนอทางออกประเด็นนี้ว่า เป็นไปได้ไหม ให้ผู้ลี้ภัยที่ประสงค์ทำงานในไทย ให้ไทยทำศูนย์ one-stop service ประสานงานกับรัฐบาลทหารพม่า พิสูจน์สัญชาติ จากนั้น ให้เขาทำงานในไทยเลย ดึงศักยภาพผู้ลี้ภัยออกมา และช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในไทย 

สุดท้าย กัณวีร์ เสนอว่า รัฐไทยควรพิจารณาเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดน เนื่องจากต่อไป สถานการณ์ที่ครุกรุ่นในพม่า จะทำให้มีผู้ลี้ภัยเดินทางมาอยู่ตามค่าย IDP ตามแนวชายแดนมากขึ้น และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากในฝั่งพม่ายังเป็นเรื่องยากมาก 

ดึงผู้ลี้ภัยพัฒนาพื้นที่ชายแดน

ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร จากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มช. กล่าวเสริมว่า รากหนึ่งของปัญหาผู้ลี้ภัยในไทย คือ การที่ไทยไม่ได้ลงนามรับรองสถานะผู้ลี้ภัย หรืออนุสัญญายอมรับสถานะผู้ลี้ภัย 1951 ถ้าหากคนเหล่านี้ออกมานอกค่าย และถูก ตำรวจจับ พวกเขาจะถูกเปลี่ยนสถานภาพเป็น ผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย  (ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง) 

เมื่อไม่ได้ลงนามในสถานภาพผู้ลี้ภัย การช่วยเหลือก็เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม คือให้ปัจจัย 4 คืออาหาร ที่อยู่ เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค มีเงินให้เดือนละ 270 บาทต่อคนต่อเดือน และเนื่องจากรัฐไทยมองว่าคนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ และดูแลคนเหล่านี้ภายใต้หลักมนุษยธรรม ก็มีการห้ามคนเหล่านี้ออกนอกพื้นที่ ซึ่งกรณีของบ้านแม่หละ ถ้าออกนอกพื้นที่ต้องจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ 

บรรยากาศค่ายบ้านแม่หละ หลังเกิดเหตุจลาจลเมื่อ 14 ธ.ค. 64 (ภาพจาก Mae La Information Team)

อาจารย์จาก มช. อธิบายพร้อมภาพประกอบจากการลงพื้นที่ภาคสนาม ซึ่งเผยให้เห็นวิถีชีวิตของผู้ลี้ภัยในค่าย เธออยากให้สังคมไทยเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยจากเป็นผู้รอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว แต่จริงๆ แล้ว คนเหล่านี้เป็นคนที่มีศักยภาพ และพยายามช่วยเหลือตัวเองอยู่ตลอดเวลา 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านวิถีชีวิตในค่าย เช่น ผู้ลี้ภัยจะมีร้านค้าเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป มีการซื้อสินค้ามาขาย การปลูกผักออแกนิก และเอาผักมาขาย มีร้านขาย VCD และอื่นๆ นอกจากนี้ ในค่ายจะมีโรงเรียน และมีการฝึกอบรมอาชีพต่างๆ ให้เยาวชน เช่น การซ่อมมอเตอร์ไซค์ ซ่อมคอมพิวเตอร์ ฝึกเป็นพนักงานบริการโรงแรม

ภาพแปลงผักในค่ายผู้ลี้ภัยที่ปลูกกันเอง (ภาพจาก The Reporters)
 

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา เธอมองว่ารัฐต้องปรับเปลี่ยนวิธีการมองคนเหล่านี้จากภัยต่อความมั่นคง เป็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการช่วยเหลือ โดยเธอเสนอว่า รัฐไทยควรจะนำคนเหล่านี้มามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายแดน รวมถึงในงานวิจัยเสนอด้วยว่า ควรให้องค์กรต่างๆ ของชาวชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง หรือกะเรนนี เข้ามามีส่วนร่วมการพัฒนาพื้นที่ชายแดน

“เวลาเรามองผู้ลี้ภัย เรามักจะมองแบบ ภาพเหมารวมว่า ผู้ลี้ภัยมีภาพเดียว แต่จริงๆ แล้วผู้ลี้ภัยมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา รวมถึงพื้นฐานทางความรู้ ผู้ลี้ภัยส่วนหนึ่งเป็นแพทย์ เป็นครู เป็นอาจารย์ และเป็นคนที่มีการศึกษา อย่างน้อย ก็ในระดับปริญญาตรี แต่เรากลับมองข้ามศักยภาพของคนเหล่านี้ไป” ดร.มาลี กล่าว

ดร.มาลี เสนอต่อว่า ควรมีการตั้งสถาบัน หรือวิทยาลัยพัฒนาชายแดน โดยเอาคนเหล่านี้เข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ เช่น ในค่าย มีผู้ลี้ภัยซึ่งถูกฝึกอบรมให้เป็นอาสาสมัครช่วยทางด้านสุขภาพ ควรจะให้คนเหล่านี้ได้เข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพ ช่วยเจ้าหน้าที่ ช่วยอำเภอ จังหวัด ดูแลผู้ติดเชื้อ หรือป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 

สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนหลายสำนัก มักรายงานบ่อเกิดของจลาจลของค่ายบ้านแม่หละว่า ผู้ลี้ภัยไม่พอใจความเข้มงวดของมาตรการโควิด-19 ของเจ้าหน้าที่ แต่จากการฟังผู้ร่วมเสวนา เขาเห็นสอดคล้องว่าเกิดจากความอัดอั้นตันใจ ความเก็บกดที่สะสมมานาน และหากไม่มีการแก้ไข เหตุทำนองนี้อาจปะทุขึ้นมาอีกเมื่อใดก็ได้ 

ในส่วนของงานวิจัยของ ดร.มาลี มีการเสนอให้ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อผู้ลี้ภัยว่าพวกเขาเป็นคนที่มีศักยภาพ และควรเปิดโอกาสให้เขาได้มีโอกาสทำงาน สร้างคุณูปการต่อสังคมโดยรวม และชุมชน สุชาติ มองว่า ในความเป็นจริงยังเป็นอุปสรรคอยู่มาก เนื่องจากผู้ลี้ภัยมีข้อจำกัดด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับผู้ลี้ภัยที่จบการศึกษาภายในค่าย ยังไม่ได้รับการยอมรับจากทั้งรัฐบาลไทย-พม่า รวมถึงการยกระดับการศึกษาก็มีปัญหา และข้อจำกัด โดยเฉพาะความขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน และบุคลากรการศึกษาจากภายนอก

ขณะที่ข้อเสนอ ‘ปลดล็อกนโยบายให้ผู้ลี้ภัยทำงาน’ ของกัณวีร์นั้น ทาง กสม. อาจเข้าไปมีบทบาทในฐานะสื่อกลางระดับนโยบาย เพื่อปลดล็อกนโยบาย หรือสร้างเสริมศักยภาพคนกลุ่มนี้ให้มีโอกาสอย่างแท้จริงในการออกมารับใช้สังคม 

นอกจากนี้ ในประเด็นการช่วยเหลือข้ามพรมแดน กสม. ก็ได้ลงไปสำรวจปัญหาพื้นที่ชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน ชายแดนไทย-พม่า บ้านแม่สามแลบ/บ้านท่าตาฝั่ง-รัฐกะเหรี่ยง ก็ได้พบปัญหาเรื่องการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ต้องถึงขนาดต้องมีการลักลอบช่วยเหลือ และให้คนแบกของเข้าไปให้ผู้ลี้ภัย หรือที่เรียกว่า กองทัพมด ซึ่งทาง กสม. จะประสานกลไกทั้งภาคประชาสังคมท้องถิ่น และหน่วยนงานรัฐ เพื่อหาทางช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดนต่อไป  

เปลี่ยนการช่วยเหลือเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปรีดา คงแป้น สมาชิก กสม. กล่าวว่า ยินดีที่จะเข้าไปติดตามเรื่องการละเมิดสิทธิ ความไม่เท่าเทียม และกฎปฏิบัติที่อยุติธรรมต่อผู้ลี้ภัยในค่ายต่างๆ เนื่องจากขอบเขตการทำงานของ กสม. คือการคุ้มครองสิทธิของคนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม 

ปรีดา กล่าวต่อว่า เธอเห็นด้วยว่า ในศูนย์พักพิงชั่วคราวควรมีการพัฒนาศักยภาพของผู้ที่อยู่ในค่ายอย่างมีส่วนร่วม 

“อันนี้เป็นหัวใจหลักเลย ของสิ่งที่เขาเรียกร้องตรงนี้ คือการสงเคราะห์มันมีปัญหา ถ้าในระยะยาวมันก็เป็นการกดทับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิ่งที่ได้ยินและได้ฟังจากการสื่อสารในวันนี้คือเขาเรียกร้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เขาจะอยู่ด้วยการพึ่งพาตนเองได้ ไม่เป็นภาระใคร อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นโจทก์ท้าทายของทุกฝ่าย” ปรีดา กล่าว 

เธอระบุด้วยว่า แนวทางนี้เป็นไปได้ แต่ต้องอาศัยการหนุนเสริมจากองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ หลายฝ่าย เข้ามาร่วมมีบทบาทจัดกระบวนการ และถ้าทำสำเร็จ จะช่วยส่งเสริมให้ไทยได้บุคลากร แรงงานที่มีค่า และทดแทนการขาดแคลนแรงงาน ซึ่ง กสม. จะรับเรื่องไปประสานงานต่อไป 

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มช. ชี้ว่า การประท้วงที่บ้านแม่หละ นับเป็นโอกาสอันดีที่ภาครัฐ จะหันมาทบทวนนโยบาย การปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวทั้งหมดขึ้นมาคุย ซึ่งคนเหล่านี้อาศัยในค่ายมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มช. (ภาพจาก The Reporters)

ประการแรก ชยันต์ เสนอว่า องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง กสม. สื่อมวลชน และอื่นๆ น่าจะลองมาทบทวนว่า รัฐบาลไทยมีเหตุผลอะไรที่ไม่ยอมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับสถานะผู้ลี้ภัย 1951 น่าจะมีการถกเถียงกันว่า การไม่ยอมรับนิยามของคำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ นั้น เหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่

อาจารย์ มช. เห็นด้วยต่อประเด็นที่ปรีดา คงแป้น เสนอนั้น เพราะการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้น ควรเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ว่ากรณีที่ประเทศไทย ที่เรามีผู้ลี้ภัยเกือบแสนคน และอยู่ในค่ายอพยพกว่า 30 ปี เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้รับรู้ และไม่มีความเข้าใจบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง บางคนพูดภาษาพม่าไม่ได้ มีความต้องการที่จะทำงานในประเทศไทย มีคนหลากหลายเหล่านี้ แนวคิดเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อาจต้องทดแทนด้วยการพัฒนาและเสริมศักยภาพภายในค่ายผู้ลี้ภัย

ต่อมา ชยันต์ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้ลี้ภัยมีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากสังคมไทยชอบมองว่าผู้ลี้ภัยคือผู้ทำผิดกฎหมาย ลักลอบเข้ามาในไทย แต่ผู้ลี้ภัยเป็นคนที่มีศักยภาพ และพวกเขาควรได้รับโอกาสออกไปพัฒนา สร้างสรรค์ชุมชนของเขาเอง และชุมชนส่วนรวม สามารถหารายได้มาจุนเจือเขาเอง นอกจากนี้ เขาสะท้อนด้วยว่า การเปลี่ยนทัศนคติ และเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัย นอกจากช่วยเรื่องการดำรงชีวิตแล้ว จะส่งผลต่อการช่วยพวกเขาทั้งปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว และโรคซึมเศร้าด้วย 

“ตอนที่เข้าในค่ายผู้ลี้ภัย มีสิ่งที่เกิดขึ้นคือความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากว่าเขาไม่ได้ไปไหน ผู้ชายที่น่าจะมีศักยภาพหาเงินให้ครอบครัว ก็ไปไหนไม่ได้ ก็กลายเป็นคนที่ซึมเศร้า หลายคนใช้ความรุนแรงต่อครอบครัวตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันเมื่อความช่วยเหลือจากองค์กรสากลลดลง คนพวกนี้ก็ไม่มีทางออก ค่าเบื้ยเลี้ยงหรือข้าวสารที่ได้มีจำนวนน้อยลง บางคนต้องออกไปทำงานข้างนอก หรือหาวิธีช่วยเหลือตัวเอง ดังนั้น การทบทวนวิธีคิดจึงมีความสำคัญอย่างมาก” ชยันต์ กล่าว

ชยันต์ เห็นด้วยกับกัณวีร์ว่า การส่งผู้ลี้ภัยกลับไปใช้ชีวิตในประเทศมาตุภูมิเป็นเรื่องที่ยาก หลังรัฐประหาร และบ้านเกิดของผู้ลี้ภัยบางคนตอนนี้มีแต่กับระเบิด มีอันตราย ทางเลือกของผู้ลี้ภัยที่จะกลับประเทศพม่าแทบเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น ไทยอาจต้องหาวิธีทำอย่างไรให้คนบูรณาการเข้ากับชุมชนและสังคมในประเทศไทย และดึงพวกเขามาเป็นแรงงานสร้างประโยชน์ให้กับประเทศต่อไป

อาจารย์จาก มช. เสนอว่า เนื่องจากปัจจุบัน ชายแดนกำลังประสบปัญหาป่าไม้ถูกทำลาย เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้ผู้ลี้ภัยเข้าไปมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ตลอดจนแก้ปัญหาโลกร้อน 

สุดท้าย รัฐบาลไทยต้องมาทบทวนแนวคิดเรื่องของชายแดน เนื่องจากชายแดนในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยอันตราย เต็มไปด้วยโจรผู้ร้ายที่รัฐเอื้อมมือเข้าไปไม่ถึง แต่ปัจจุบันพื้นที่ชายแดนโดยเฉพาะ อ.แม่สอด กลายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเขตเศรษฐกิจ ขนส่งสินค้าข้ามแดนเป็นจำนวนมาก มีสะพานข้ามชายแดน 2 สะพาน ตรงข้ามกับแม่สอดมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จีนสร้างขึ้นชื่อ ‘ฉ่วยกกโก’ ใน อ.แม่สอด มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง และเล็ก จำนวนมาก ทำอย่างไรให้ผู้ลี้ภัยในค่ายมีโอกาสได้ฝึกฝนความสามารถทักษะให้เหมาะสมกับการเข้ามาทำงานในเขตพื้นที่ตรงนี้ 

"ชายแดนไม่ใช่เขตลักลอบขนสินค้าข้ามแดน ขนสินค้าเถื่อนข้ามแดน หรือไม่ใช่พื้นที่ขนยาเสพติด ซึ่งทำยังไงให้พื้นที่ชายแดนให้มีความสามารถหลากหลายพูดหลายภาษาให้เขามีส่วนร่วมในการพัฒนา" ชยันต์ กล่าว

ท่าเรือขนสินค้าข้ามฝากที่ อ.แม่สอด จ.ตาก (ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก Center for ASEAN Studies, CMU ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net