เผยเคล็ดลับวิธีเปิดโปง 'เทคโนโลยีสอดแนม' ที่รัฐบาลของคุณจัดซื้อ

นักข่าวจากเครือข่ายวารสารศาสตร์เพื่อการสืบสวนสอบสวนระดับโลก (GIJN) เผยวิธีและเคล็ดการทำข่าวเชิงลึก เพื่อตรวจสอบ 'การสอดแนมพลเมืองโดยรัฐ' ในประเทศต่างๆ ที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการอำนาจนิยมหรือแม้แต่ในประเทศประชาธิปไตย โดยเริ่มตั้งแต่อัปเดตข้อมูลข่าวสารกับทางบริษัทเทคโนโลยี ตั้งข้อสังเกตกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการจัดอบรมด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของภาครัฐ อ่านสำนวนคดีความมั่นคงทางไซเบอร์ในศาล ใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ไปจนถึงขอติดตามดูการทำงานของตำรวจเพื่อเก็บข้อมูลว่ามีอุปกรณ์ไฮเทคอะไรบ้างที่ใช้ตรวจจับพลเมือง

‘ดิจิทัลไวโอเลนซ์ (Digital Violence)’ แพลตฟอร์มอินเทอร์แอคทีฟรูปแบบใหม่ที่ออกแบบโดยกลุ่ม Forensic Architecture จากสหราชอาณาจักร บรรยายถึงรูปแบบที่รัฐบาลต่างๆ ใช้โปรแกรมดักจับข้อมูลนำเข้าจากต่างประเทศ ในการคุกคามผู้เห็นต่าง นักข่าว และกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม (ที่มา: ขอขอบคุณ Forensic Architecture)
 

ในเดือน มิ.ย. 2021 ศาลยุติธรรมฝรั่งเศสพิพากษาเจ้าหน้าที่ 4 รายจากบริษัทเทคโนโลยีสอดแนม ในข้อหามีส่วนร่วมในการทรมานนักโทษที่ประเทศลิเบียและอียิปต์ หลังจากนักข่าวจำนวนหนึ่งเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ขายเทคโนโลยีสอดแนมให้กับระบอบการปกครองที่ปราบปรามผู้เห็นต่าง ผู้สื่อข่าวของเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล (The Wall Street Journal) ที่ประจำการอยู่ในลิเบียตรวจพบการนำเข้าเทคโนโลยีสอดแนมของรัฐบาลลิเบีย ในระหว่างการเข้าค้นศูนย์สอดแนมทิ้งร้างในกรุงตริโปลี ช่วงที่ระบอบการปกครองของมูอัมมาร์ อัล กัดดาฟี (Muammar al Qaddafi) กำลังล่มสลาย ในขณะที่โอลิวิเยร์ เตสเกต์ (Olivier Tesquet) ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ Télérama ของฝรั่งเศส ขุดคุ้ยใบอนุญาตส่งออกและเอกสารสัญญาของรัฐบาล เพื่อสืบค้นการจัดขายโปรแกรมสอดแนมให้กับระบอบของอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี (Abdel Fattah el-Sisi) อดีตประธานาธิบดีอียิปต์

Amesys และ Nexa Technologies ซึ่งเป็นสองบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาข้างต้น แต่สำหรับผู้จับตาเทคโนโลยีสอดแนมแล้ว คดีเหล่านี้เน้นย้ำถึงอันตรายที่มากับการเติบโตในระดับโลกของการขายและถ่ายโอนเทคโนโลยีสกัดกั้นและตรวจจับสัญญาณแบบดิจิทัลต่างๆ รวมถึงคำถามเรื่องความรับผิดชอบของผู้ผลิตเทคโนโลยีนี้ สัญญาณเตือนภัยทั่วทุกมุมโลกต่างบอกว่ารัฐบาลอำนาจนิยมกำลังเข้าซื้อโปรแกรมดักจับข้อมูลระดับสูงเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่าง ขณะที่รัฐบาลประชาธิปไตยเองก็กำลังบังคับใช้เทคโนโลยีสอดแนมเชิงคุกคาม ภายใต้ข้ออ้างของการลดการก่ออาชญากรรม ความมั่นคงของชาติ หรือการตามเก็บสถิติโควิด-19

อุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์นี้ประกอบด้วยบริษัทเทคโนโลยีหลายสิบแห่ง รัฐบาลที่มีส่วนรู้เห็น และข้อตกลงลับทางธุรกิจมากมาย ซึ่งล้วนมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อสิทธิมนุษยชน ความเป็นส่วนตัว และความสามารถของนักข่าวที่จะปกป้องแหล่งข่าวของพวกเขา

ผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนทำอย่างไรจึงค้นพบว่ารัฐบาลของพวกเขาทำการจัดซื้อเทคโนโลยีตัวไหนบ้างในตลาดเทคโนโลยีสอดแนมอันแสนลึกลับนี้ และรัฐบาลเหล่านี้กำลังใช้เครื่องมือดิจิทัลดังกล่าวเพื่อการกดขี่หรือกีดกันอยู่หรือไม่

“ฉันหวังว่าจะได้เห็นผู้สื่อข่าวนานาชาติใช้บันทึกสาธารณะของสหรัฐอเมริกามากขึ้น เพื่อสืบค้นว่าบริษัทเทคโนโลยีตรวจตราที่มีปฏิบัติการอยู่ในทั้งสองประเทศกำลังทำอะไรอยู่” — เบริล ลิปตอน, ผู้สืบสวนจาก Electronic Frontier Foundation

ที่มา: Shutterstock
 

กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ริเริ่มภารกิจสำคัญเพื่อจับตาการแพร่กระจายของเทคโนโลยีเหล่านี้ในระดับโลก โดยเมื่อเดือน ก.ค. 2021 Forensic Architecture องค์กรวิจัยจากสหราชอาณาจักร ซึ่งร่วมมือกับ Amnesty International และ Citizen Lab เปิดตัวเครื่องมือแกะรอยแบบอินเทอร์แอคทีฟที่ทรงพลัง ในชื่อแพลตฟอร์ม ‘ดิจิทัลไวโอเลนซ์ (Digital Violence)’ ที่นำเสนอแผนภาพการซื้อขาย “Pegasus” สปายแวร์สอดแนมและดักจับข้อมูลให้กับรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ แพลตฟอร์มนี้ยังพบการเชื่อมโยงการใช้ระบบสอดแนมดังกล่าว ที่สามารถลักลอบดึงข้อมูลการพูดคุยโทรศัพท์ อีเมล และข้อมูลผู้ติดต่อจากโทรศัพท์มือถือที่ถูกวางโปรแกรมไว้ ซึ่งโปรแกรมนี้ยังเชื่อมโยงกับการโจมตีทางดิจิทัลต่อนักปกป้องสิทธิพลเมืองและนักข่าวทั่วโลก หรือแม้แต่การคุกคามทำร้ายร่างกายที่ตามมาในบางกรณีอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนและนักวิจัยด้านการสอดแนมให้สัมภาษณ์กับ GIJN ว่าร่องรอยการจัดซื้อจัดจ้างเหล่านี้มักพบได้โดยทั่วไป แม้ว่าข้อตกลงซื้อขายสิ่งเหล่านี้มักไม่เป็นที่เปิดเผย ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้เพราะปราศจากมาตรการจัดระเบียบควบคุมการสอดแนม[ของทางภาครัฐ]มาอย่างต่อเนื่อง และเพราะภาคเอกชนก็ต้องการขายผลิตภัณฑ์ของพวกเขา แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือเพราะกลุ่มอำนาจนิยมจำนวนหนึ่งเชื่อว่าการที่ผู้คนตระหนักถึงการมีอยู่ของเทคโนโลยีสอดแนมเหล่านี้ จะนำมาซึ่งการเซ็นเซอร์ตัวเองตามที่ผู้มีอำนาจเหล่านี้ปรารถนา

ข้อตกลงจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการสอดแนมของรัฐบาลบางส่วนนั้นถูกกฎหมาย และมีจุดประสงค์เพื่อต่อสู้กับอาชญากรรม แต่บางส่วนนั้นผิดกฎหมาย และมีจุดประสงค์เพื่อจัดการกับผู้เห็นต่างและนักข่าว และบางกรณีก็เป็นทั้งสองอย่างร่วมกัน อย่างไรก็ดี นักข่าวจำเป็นต้องรู้แนวทางในการประเมินว่าใครมีอำนาจอะไรอยู่ในมือบ้าง

“หากปล่อยไว้โดยไม่ตรวจสอบแล้ว กิจกรรมของบริษัทเทคโนโลยีตรวจตราเหล่านี้สามารถนำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการปราบปรามอย่างร้ายแรง” — ราช่า อับดุล ราฮิม, จากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล

แนวทางรายงานข่าวของเตสเกต์นั้น ใช้การคุ้ยข่าวแบบนักข่าวรุ่นเก่า ประกอบกับใช้เอกสารถอดเทปหลายร้อยหน้าจากการสืบสวนตามกฎหมายของฝรั่งเศสในคดีขายโปรแกรมสปายแวร์ให้กับลิเบียเมื่อปี 2013 เตสเกต์พบว่ามีพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งกล่าวถึง “อียิปต์” เขาจึงเชื่อมโยงการกล่าวอ้างนั้นเข้ากับการติดต่อทางอีเมลของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอยู่ในดัชนีท้ายรายงานอีกฉบับหนึ่ง

เตสเกต์พบว่าบริษัทแห่งนี้จดทะเบียนชื่อใหม่อย่างลับๆ และยังคงขายโปรแกรมดังกล่าวให้กับรัฐบาลหลายประเทศที่ปราบปรามผู้เห็นต่าง โดยใช้ชื่อแบรนด์ใหม่ว่า “Cerebro” แม้ว่าข้อกล่าวหาของการมีส่วนร่วมในการปราบปรามที่ลิเบียจะยังคงอยู่ก็ตาม

“ผมเข้าใจว่ามันเป็นธุรกิจที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทำผ่านบริษัทแม่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พวกเขาขายโปรแกรมให้กับอัล-ซิซี ซึ่งเป็นตัวเดียวกันกับที่พวกเขาเคยขายให้กัดดาฟี” เตสเกต์กล่าวในบทสัมภาษณ์กับทาง GIJN

ผู้สื่อข่าวเจนสนามคนนี้ยังค้นพบอีกว่าบริษัทฝรั่งเศสรายหนึ่งจดทะเบียนส่งออกเพื่อขายเทคโนโลยีสกัดกั้นสัญญาณให้กับรัฐบาลต่างประเทศจำนวนมาก นอกจากนี้ เขายังค้นเจอสำเนาสัญญาจัดซื้อจัดจ้างหลายฉบับ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้สื่อข่าวคนอื่นในการค้นคว้าออนไลน์ โดยในสัญญาเหล่านั้นเผยให้เห็นภาษาที่รัฐบาลต่างๆ มักจะใช้เพื่อหาข้อตกลงจัดซื้อเทคโนโลยีสอดแนม ด้วยภาษาทำนองว่า “การจัดหาบริการที่เอื้อให้ผู้ใช้บริการสามารถประยุกต์ใช้ระบบตรวจจับที่อยู่ IP เพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้ายหรืออาชญากรรมประเภทอื่นๆ”

“โปรแกรม Circles นี้สามารถระบุตำแหน่งโดยประมาณของโทรศัพท์มือถือได้ในเวลาไม่กี่วินาที ผ่านการทำให้เครือข่ายสัญญาณไร้สายในบ้านเชื่อว่าโทรศัพท์มือถือกำลังใช้โหมดโรมมิ่งอยู่”

อย่างไรก็ตาม จนถึงทุกวันนี้ ความรับผิดชอบของบริษัทเอกชนต่อการที่เทคโนโลยีสอดแนมของพวกเขาถูกใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามผู้เห็นต่างยังคงเป็นเรื่องที่แทบไม่เกิดขึ้น

จากเหตุฟ้องร้องเจ้าหน้าที่บริษัท Amesys และ Nexa ที่เกิดขึ้น ราช่า อับดุล ราฮิม (Rasha Abdul Rahim) ผู้บริหารศูนย์ Amnesty Tech ของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า “การฟ้องร้องเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากปล่อยไว้โดยไม่ตรวจสอบแล้ว กิจกรรมของบริษัทเทคโนโลยีสอดแนมเหล่านี้สามารถนำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการปราบปรามอย่างร้ายแรง”

“การดำเนินคดีนี้จะส่งข้อความที่มีนัยสำคัญไปยังบริษัทที่ทำธุรกิจกับระบอบอำนาจนิยม” เตสเกต์กล่าว

จะมองหาเบาะแสการซื้อขายเทคโนโลยีสอดแนมได้ที่ไหน

จากแผนภาพของ Carnegie AI Global Surveillance Index
มีรัฐบาลอย่างน้อย 75 ประเทศกำลังใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อการสอดแนมมวลชน
 

แอลลี ฟังก์ (Allie Funk) นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Freedom House นำเสนอรายงานชิ้นสำคัญหลายฉบับว่าด้วยภัยคุกคามสิทธิมนุษยชนทางดิจิทัลและขอบเขตความรับผิดชอบ รวมถึงงานวิจัยที่ชี้ว่ารัฐบาลหลายประเทศใช้ข้ออ้างการระบาดของโควิด-19 เพื่อสอดแนมพลเมืองอย่างไร

ฟังก์เสนอให้ผู้สื่อข่าวจับตามองเทคโนโลยีที่มีลักษณะสอดคล้องตาม 4 เงื่อนไขหลัก ต่อไปนี้:

  • โปรแกรมดักจับข้อมูลดิจิทัลและเทคโนโลยีดักจับสัญญาณที่เอื้อให้ผู้ใช้สามารถดักฟังการสื่อสารของเป้าหมาย หรือเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากเครื่องมือสื่อสารของเป้าหมาย ฟังก์กล่าวว่าตัวอย่างของเทคโนโลยีเหล่านี้คือระบบปฏิบัติการอย่าง Pegasus, Hacking Team, Circles, และตัวให้สัญญาณโทรศัพท์จำลองที่รู้จักกันในชื่อว่า “ปลากระเบน” (stingrays)
  • เทคโนโลยีที่ดึงข้อมูลโดยการเชื่อมต่อทางตรงกับโทรศัพท์มือถือที่ถูกยึด รู้จักกันในฐานะ “อุปกรณ์ดึงข้อมูลทางกฎหมายแบบอเนกประสงค์” ตัวอย่างเช่นโปรแกรมที่พัฒนาโดย Cellebrite เมื่อไม่นานมานี้ ทีมผู้บังคับใช้กฎหมายในประเทศบอตสวานาใช้เครื่องมือดิจิทัลดังกล่าวค้นโทรศัพท์มือถือของผู้สื่อข่าว เพื่อพยายามตามรอยแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวตนของพวกเขา
  • เครื่องมือสอดแนมแบบปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นตัวกลางในการดักจับสัญญาณ ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม “Safe Cities” ของหัวเว่ย (Huawei) และการสอดแนมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั่วไป
  • เทคโนโลยีมาตรวัดชีวภาพ (biometrics) และโปรแกรมตรวจจับใบหน้า เช่น โปรแกรมที่ตำรวจใช้ในการตามรอยบุคคลทั่วมหานครนิวยอร์ก ประกอบกับกล้องวงจรปิดหลากหลายชนิด

บริษัทเทคโนโลยีสอดแนมยืนยันแบบกว้างๆ ว่าพวกเขาขายผลิตภัณฑ์อย่างถูกกฎหมายเพื่อช่วยรัฐบาลปราบปรามอาชญากรรม อาทิ บริษัท Cellebrite ยืนยันว่าระบบปฏิบัติการของพวกเขาช่วย “ปกป้องและรักษาชีวิต เร่งรัดกระบวนการยุติธรรม และรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล” ขณะที่บริษัท NSO Group ผู้ขายระบบปฏิบัติการ Pegasus และควบกิจการกับ Circles บริษัทเทคโนโลยีสกัดกั้นสัญญาณจากประเทศบัลแกเรียเมื่อเร็วๆ นี้ ต่างยืนยันว่าพวกเขามีเป้าหมายจะ “ช่วยตัวแทนของรัฐบาลผู้จดทะเบียน… จัดการกับปัญหาที่อันตรายที่สุดในโลกทุกวันนี้อย่างถูกกฎหมาย” ส่วนหัวเว่ย (Huawei) จากจีนกล่าวว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สอดแนมของพวกเขาช่วยลดทอนอาชญากรรมและยกระดับความปลอดภัยของสาธารณะ

คำแนะนำของฟังก์สำหรับการตามรอยระบบสอดแนมรูปแบบใหม่หรือที่ถูกใช้แล้ว มีดังต่อไปนี้:

  • ไล่อ่านบันทึกการไต่สวนของศาล หรือสัมภาษณ์ทนายความของจำเลย สำหรับคดีความที่พยานหลักฐานประกอบสำนวนคดีน่าจะได้มาจากการสอดแนมทางดิจิทัลเท่านั้น “ตามหาคดีที่มีหลักฐานว่าผู้ต้องหาถูกยึดโทรศัพท์ และเจ้าหน้าที่ส่อแววกระทำการสอดส่องอย่างล่วงละเมิด แล้วจึงไปคุยกับทนายความ” ฟังก์กล่าว
  • ติดตามการเคลื่อนไหวระดับนานาชาติของตัวแทนจากบริษัทที่เปิดเผยว่าขายเทคโนโลยีสอดแนมให้กับรัฐชาติเท่านั้น NSO Group จากอิสราเอลและบริษัทคู่ขนาน Circles จากบัลแกเรีย คือสองตัวอย่างของบริษัทประเภทนี้ ในขณะที่บริษัทอื่นๆ อย่าง Cellebrite กล่าวว่าพวกเขาขายผลิตภัณฑ์บางตัวให้กับหน่วยงานหรือกลุ่มวิจัยความปลอดภัยเท่านั้น “จงถามว่า: ‘พวกเขาเดินทางไปประเทศเหล่านั้นเพื่ออะไร’” ฟังก์กล่าว
  • จับตามองการฝึกทักษะดิจิทัลชั้นสูงที่จัดขึ้นสำหรับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ฟังก์กล่าวว่า Freedom House ค้นพบว่ารัฐบาลบังกลาเทศน่าจะใช้เทคโนโลยีสอดแนมโซเชียลมีเดียแบบคุกคาม หลังจากนักวิจัยสังเกตว่าหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรม Rapid Action Battalion (RAB) อันขึ้นชื่อของบังกลาเทศ ได้รับการฝึกดังกล่าวที่สหรัฐอเมริกา รายงานข้างต้นชี้ว่าหน่วยงาน RAB “ขึ้นชื่อเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การสังหารผู้ต้องสงสัยนอกกระบวนการยุติธรรม การบังคับให้สูญหาย และการทรมาน” รวมถึงการใช้เทคโนโลยีมูลค่า 14 ล้านดอลลาร์ในการ “สอดแนมตรวจจับสิ่งที่หน่วยงานมองว่าเป็นข่าวลือและโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายตรงข้าม”
  • คุยกับตัวแทนบริษัทเทคโนโลยีสอดแนมเอกชนตามงานธุรกิจดิจิทัล และตามดูว่าเจ้าหน้าที่สาธารณะคนไหนเข้าร่วมงานนั้นบ้าง “บางทีผู้ค้าก็ตรงไปตรงมาอย่างน่าตกใจ” ฟังก์กล่าว
  • สำหรับประเทศที่มีกฎหมายความโปร่งใสให้ตรวจสอบงบประมาณรัฐและเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง หรือใช้ช่องทางกฎหมายเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information หรือ FOI) ขอดูเอกสาร แล้วตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อหาภาษาเชิงสัญญาสำหรับบริการทางดิจิทัล “จงมองหาภาษาที่คลุมเครือ อย่างเช่น ‘โซเชียลมีเดียครบวงจร’” ฟังก์กล่าวเสริม
  • สร้างเส้นสายกับองค์กรประชาสังคมและกลุ่มนักเคลื่อนไหว และถามพวกเขาถึงการสอดแนมแบบเจาะจงเฉพาะชุมชน “มีองค์กรและนักวิจัยมากมายที่กำลังตามรอยอย่างเชี่ยวชาญว่าเครื่องมือเหล่านี้ถูกใช้อย่างไรและโดยใคร” ฟังก์กล่าว
Freedom House พบว่ารัฐบาล 40 จาก 65 ประเทศที่พวกเขาสืบค้นนั้น
กำลังใช้เครื่องมือสอดแนมโซเชียลมีเดียระดับสูงเพื่อสอดส่องพลเมือง
 

ฟังก์กล่าวว่า เธอยังไม่ทราบว่าในขณะนี้มีแผนภาพเชิงอินเทอร์แอคทีฟที่เปิดเผยเครื่องมือสอดแนมในแต่ละประเทศอย่างละเอียดหรือไม่ “ฉันอยากให้มันเกิดขึ้นเหมือนกัน” เธอกล่าว อย่างไรก็ตาม เธอแนะนำให้ผู้สื่อข่าวเริ่มต้นค้นคว้าโดยการเข้าไปยังหน้า “Countries” ในรายงานประจำปี “Freedom on the Net” ของ Freedom House ซึ่งประเมินเสรีภาพทางดิจิทัลใน 65 ประเทศ กดเข้าไปยังชื่อประเทศที่ต้องการ และอ่านเนื้อหาจากส่วน C4 C5 และ C6 ในฐานข้อมูลเพื่อเข้าใจภาพรวมโดยย่อ

การระดมข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีสอดแนม

ต้องขอบคุณโครงการ Atlas of Surveillance ขององค์กร Electronic Frontier Foundation (EFF) ที่ทำให้รู้ว่าแผนภาพที่นำเสนอเทคโนโลยีสอดแนมในการบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐอเมริกานั้นมีอยู่จริง เครื่องมือเชิงอินเทอร์แอคทีฟชิ้นนี้ประกอบด้วยข้อมูลราว 8,000 จุดว่าด้วยเทคโนโลยีอย่างโดรนทางอากาศ เครื่องอ่านทะเบียนรถแบบอัตโนมัติ (ALPRs) จุดให้สัญญาณโทรศัพท์จำลอง และโปรแกรมตรวจจับใบหน้าที่ใช้โดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายราว 3,500 หน่วยงาน

เบริล ลิปตอน (Beryl Lipton) อดีตผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนที่ MuckRock เว็บไซต์ข่าวไม่แสวงหากำไร และผู้สืบสวนของ EFF ในปัจจุบัน กล่าวว่า ห้องข่าวในเมืองหรือประเทศที่เป็นประชาธิปไตย สามารถทำแผนภาพของตัวเองตามแนวทางของ Atlas ได้

ฐานข้อมูลของ Atlas สร้างขึ้นด้วยข่าวกรองแบบเปิด (Open Source Intelligence) ซึ่งระดมมาจากเครือข่ายนักเรียนวารสารศาสตร์และนักวิจัยอาสาสมัคร แล้วนำมาตรวจสอบความถูกต้องของข้อเท็จจริงในภายหลัง เครื่องมือออนไลน์ที่พัฒนาโดย EFF ชื่อว่า Report Back ส่งภารกิจเล็กๆ น้อยๆ ให้อาสาสมัครโดยอัตโนมัติ กระตุ้นให้พวกเขาสืบค้นเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล รายงานการให้ทุนของรัฐบาลกลาง และบทความข่าวเกี่ยวกับเทคโนโลยีอย่างในอย่างหนึ่งในขอบเขตอำนาจหนึ่งๆ

“ข้อมูลเหล่านี้จำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ แต่การรวบรวมมันอาจเป็นกระบวนการที่ยากลำบากสำหรับห้องข่าวเพียงห้องเดียว ฉะนั้นแล้ว การระดมข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจงจึงช่วยเราได้มาก” เธอกล่าว “คุณอาจจะแค่ค้นเว็บไซต์ .gov ต่างๆ เพื่อหาชื่อผู้ให้บริการเจ้าใหญ่ๆ อย่างเช่น Cellebrite หรือคำสำคัญอย่าง ‘เสาสัญญาณ’ ซึ่งอาจพาคุณไปยังรายงานอื่นๆ ได้อีกมาก หรือคุณอาจเจอข้อเสนอขาย ในกรณีที่บริษัทต่างๆ ได้เขียนถึงรัฐบาลว่า ‘คุณควรพิจารณาบริการของเรา และพวกเรายินดีแนะนำให้คุณติดต่อกับรัฐบาลผู้ใช้บริการของเราอยู่ นั่นคือ X หรือ Y’

“เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าทำให้ฉันกังวลมากกว่าเครื่องมืออย่าง “ปลากระเบน” เพราะเราสามารถทิ้งมือถือไว้ที่บ้านได้ แต่เราไม่สามารถทิ้งใบหน้าของเราไว้ที่บ้านได้” — จอน ฟาสมัน, บรรณาธิการ The Economist ฝ่ายสื่อดิจิทัลฝั่งสหรัฐอเมริกา 

คำแนะนำของลิปตอนสำหรับการบ่งชี้เครื่องมือสอดแนมที่เจ้าหน้าที่ใช้ มีดังต่อไปนี้:

  • หากประเทศของคุณไม่มีกฎหมายเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร (FOI) ให้ทำคำร้องขอเอกสารในประเทศที่มี ด้วยความที่บริษัทเทคโนโลยีสอดแนมเจ้าใหญ่ๆ ล้วนมีลักษณะข้ามชาติ และความแพร่หลายของการร่วมมือด้านความปลอดภัยระหว่างรัฐบาลต่างๆ ลิปตอนกล่าวว่าผู้สื่อข่าวจากทุกที่สามารถค้นพบเบาะแสเกี่ยวกับเทคโนโลยีสอดแนมในภูมิภาคใกล้ตัวได้ ด้วยการสืบค้นบันทึกสาธารณะในประเทศที่มีเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร ลองดูคู่มือว่าด้วยการใช้ FOI และสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (Right to Information หรือกฎหมาย RTI) รอบโลกของทาง GIJN และคู่มือสำหรับการทำคำร้อง FOI ข้ามขายแดนของทาง Investigative Reporters & Editors (IRE) “ฉันหวังว่าจะได้เห็นผู้สื่อข่าวนานาชาติใช้บันทึกสาธารณะของสหรัฐอเมริกามากขึ้น เพื่อสืบค้นว่าบริษัทที่มีปฏิบัติการอยู่ในทั้งสองประเทศกำลังทำอะไรอยู่” เธอกล่าว ผู้ที่ไม่ใช่พลเมืองสหรัฐอเมริกาก็สามารถทำคำร้อง FOI กับสหรัฐอเมริกาได้ และการเข้าถึงข้อมูลนี้ก็มีอยู่ในอีกหลายประเทศอื่น ลิปตอนกล่าวว่าเอกสารที่อ้างถึงการนำเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายท้องถิ่นไปฝึกกลวิธีการสอดแนมในต่างประเทศ มักจะมอบเบาะแสเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่พวกเขานำมาใช้ในพื้นที่ได้
  • จับตามองนโยบายบริษัทเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สอดแนม และค้นหาแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการจริยศาสตร์ภายในของบริษัท ลิปตอนชี้ว่าประกาศสำคัญในปี 2019 โดยบริษัทเทคโนโลยีสำหรับการบังคับใช้กฎหมาย Axon (ชื่อเดิมคือ Taser) ที่กล่าวว่าบริษัท “จะไม่ติดตั้งโปรแกรมตรวจจับใบหน้าลงในกล้องติดหน้าอกที่ผลิตโดยบริษัท” ซึ่งลิปตอนชมว่าเป็น “ทางเลือกที่ดี” และสามารถเป็นช่องทางชี้นำการสืบสวนได้ “คำประกาศนั้นช่วยเน้นย้ำว่าบริษัทเหล่านี้สามารถติดตั้งการตรวจจับใบหน้าลงในตัวกล้องได้หากพวกเขาต้องการจะทำ และบริษัทอื่นๆ ก็อาจทำเช่นนั้นแล้วหรือดำเนินตามนโยบายที่แตกต่างไป” เธอกล่าวเสริม
  • ขอดูข้อเสนอจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่สำเร็จผ่านคำร้อง FOI “ฉันชอบขอดูข้อเสนอทั้งหมดที่ตอบกลับไปยังข้อเสนอขายเทคโนโลยีสอดแนม รวมถึงเอกสารจากฝ่ายที่แพ้การประมูลด้วย” เธอกล่าว “คุณอาจโชคดีเพราะว่าหน่วยงานนั้นไม่ได้ขึ้นตรงต่อพวกเขา และคุณจะได้เรียนรู้อะไรมากมาย ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีดังกล่าวถูกขายไปให้ที่ไหนอีกบ้าง”

จับตามองการสอดแนมเพื่อบังคับใช้กฎหมาย

ที่มา: Screenshot
 

แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในโลกความเป็นจริงอย่างไรบ้าง

เมื่อเร็วๆ นี้ จอน ฟาสมัน (Jon Fasman) บรรณาธิการของ The Economist ฝ่ายข่าวดิจิทัลฝั่งสหรัฐอเมริกา ติดตามทีมตำรวจในสหรัฐฯ และประเทศเอกวาดอร์เพื่อค้นคว้าข้อมูลสำหรับหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า “We See It All: Liberty and Justice in an Age of Perpetual Surveillance” (เราเห็นหมด: เสรีภาพและความยุติธรรมในยุคแห่งการสอดแนมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด) เขาเน้นย้ำว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยี หากแต่สนับสนุนประชาธิปไตยและการจัดระเบียบ

ฟาสมันกล่าวว่ารัฐประชาธิปไตยมักแสวงหาเทคโนโลยีสอดแนมด้วยเหตุผลที่ดี แต่การนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้ รวมถึงการใช้ข้อมูลปลายน้ำที่โปรแกรมพวกนี้ดึงออกมา สามารถบั่นทอนเสรีภาพพลเมืองได้ในทางที่แม้แต่รัฐบาลผู้ใช้งานก็อาจคาดไม่ถึง

“โปรแกรมอย่าง ALPRs หรือ Citizen Virtual Patrol [ที่ถ่ายทอดสดวิดีโอถนนในเมืองไปยังคอมพิวเตอร์] ไม่ได้ทำอะไรที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำไม่ได้ในที่สาธารณะ (ผู้แปล - ทำได้เหมือนกับที่ตำรวจทำ) แต่การมีอยู่ทุกที่ ความง่ายดายและการที่เรามองไม่เห็นมันต่างหากคือสิ่งที่อันตราย” ฟาสมันกล่าว “ผมไม่ได้เห็นโปรแกรมตรวจจับใบหน้าถูกใช้ แต่ผมเห็นบางบริษัทที่ใช้ โดยเฉพาะในอิสราเอล การตรวจจับใบหน้าทำให้ผมกังวลมากกว่าเครื่องมืออย่าง ‘ปลากระเบน’ [ซึ่งเลียนแบบเสาสัญญาณเพื่อตามรอยโทรศัพท์มือถือ] เพราะเราสามารถทิ้งมือถือไว้ที่บ้านได้ แต่เราไม่สามารถทิ้งใบหน้าของเราไว้ที่บ้านได้”

“ผู้สื่อข่าวสามารถคาดการณ์การจัดซื้อจัดจ้างระบบสอดแนมล่วงหน้าได้จากแบบแผนในอดีต – เช่น การกว้านซื้ออุปกรณ์สอดแนมโดยรัฐบาลที่ตามมาในทันทีหลังการลดหย่อนนโยบายคว่ำบาตร”

ฟาสมันใช้เวลาอยู่ตามสถานีตำรวจในเมืองนวร์ก (Newark) รัฐนิวเจอร์ซีย์ และนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย และร่วมติดตามไปกับเจ้าหน้าที่ระหว่างขับรถลาดตระเวน

“ตำรวจมีแอปพลิเคชัน ShotStopper บนมือถือของพวกเขา [ซึ่งส่งสัญญาณเตือนเมื่อมีเสียงดังระเบิดขึ้นตามถนน] ในลอสแอนเจลิส เจ้าหน้าที่ระดับสูงจะคุ้นเคยกับแอปพลิเคชันสอดแนมแบบคาดคะเนนี้เป็นอย่างยิ่ง” เขาอธิบาย “มันไม่ใช่ภาพเหมารวมแบบที่มีเนิร์ดเทคโนโลยีคอยอธิบายว่าเจ้าหน้าที่ต้องทำอย่างไร นี่คือเจ้าหน้าที่ทั่วไปที่กำลังนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับปฏิบัติการประจำวันของพวกเขา”

นอกจากนี้ ฟาสมันยังได้ไปประจำอยู่ที่สถานีตำรวจในประเทศเอกวาดอร์เพื่อศึกษาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ระบบปฏิบัติการ ECU-911 ที่ผลิตโดยประเทศจีนอย่างไร ระบบปฏิบัติการดังกล่าวประกอบด้วยเครือข่ายกล้องอัจฉริยะขนาดยักษ์และสามารถติดตามโทรศัพท์มือถือของพลเมืองได้ “สิ่งที่น่าทึ่งก็คือมันมีวัตถุประสงค์คู่ขนาน ในด้านหนึ่ง มันมีประโยชน์เพราะสามารถเชื่อมต่อระบบตำรวจ รถพยาบาล และหน่วยดับเพลิงเข้าด้วยกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ชัดเจนว่ารัฐสามารถใช้ระบบปฏิบัติการนี้เพื่อสอดแนมผู้เห็นต่างทางการเมืองในทางที่คุกคามได้เช่นกัน” เขากล่าว

คำแนะนำของฟาสมันสำหรับการเข้าถึงปฏิบัติการสอดแนม มีดังต่อไปนี้:

  • หากเช็คแล้วว่าปลอดภัย คุณลองไปถามกับทางตำรวจได้เลย ถ้าจะให้ดี ควรถามกับเจ้าหน้าที่กิจการสาธารณะว่าคุณสามารถขอติดตามทีมตำรวจไปด้วยสัก 2-3 วันได้หรือไม่ แม้ว่าตำรวจหลายเมืองหรือหลายประเทศอาจปฏิเสธคำขอเช่นนี้ แต่ฟาสมันกล่าวว่าในบางทีพวกเขาก็อาจตกลง เพราะ “บางสถานีตำรวจต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูไฮเทค” และตำรวจบางกลุ่มก็เชื่อว่ามันจะสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้กับชุมชน
  • ลองลงชื่อเข้าใช้ระบบสอดแนมที่เปิดให้คนทั่วไปใช้ได้ตามแต่พื้นที่ของคุณ เช่น ระบบ Citizen Virtual Patrol ของเมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ แล้วใช้เวลาหลายชั่วโมงดูภาพถ่ายทอดสดที่ตำรวจดู เพื่อรับรู้ถึงประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวที่เกิดขึ้น
  • ตรงไปตรงมาเวลาเขียนคำร้องเข้าถึงข้อมูล แต่อย่าเปิดเผยเกินไป “แน่นอน คุณโกหกไม่ได้เลยว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ เพราะนั่นเท่ากับคุณผิดจรรยาบรรณในฐานะนักข่าว” ฟาสมันกล่าว แต่เขาก็แนะนำให้คุณเขียนคำร้องอย่างคลุมเครือเท่าที่จะทำได้ “เขียนไปว่า ‘ฉันกำลังเขียนงานชิ้นหนึ่งว่าด้วยท่าทีของคุณเกี่ยวกับประเด็นที่มีปัญหานี้’ แทนที่จะเขียนว่า ‘ฉันกำลังเขียนงานชิ้นหนึ่งว่าด้วยอันตรายที่เทคโนโลยีเหล่านี้มีต่อเสรีภาพพลเมือง’ ทั้ง 2 ประโยคนั้นเป็นความจริง แต่คำขอหนึ่งจะผ่านการคัดกรอง ในขณะที่อีกคำขอหนึ่งจะถูกปัดตก”
  • แสวงหาแหล่งข่าวจากภายในหรืออดีตพนักงานสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ปลากระเบน’ การขอติดตามเจ้าหน้าที่ตำรวจคงไม่ช่วยให้คุณได้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ปลากระเบน ซึ่งเป็นเครื่องจำลองเสาสัญญาณที่รู้จักกันในฐานะเครื่องดักจับตัวตนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือนานาชาติ (international mobile subscriber identity หรือ IMSI) ทั้งนี้ เนื่องจากตามที่ฟาสมันกล่าว “มันมีกฎระเบียบเข้มงวดให้ปิดปากเงียบ” เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการเหล่านี้ในหมู่สถานีตำรวจ ทางออกก็คือ จงค้นบันทึกสาธารณะและมองหาคำแนะนำหรือฐานข้อมูลจากกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง เช่น แผนผังปลากระเบนที่สหภาพ American Civil Liberties Union (ACLU) ได้จัดทำไว้สำหรับในสหรัฐอเมริกา ซึ่งระบุหน่วยกว่า 75 หน่วยงานที่มีเครื่องมือนี้ในครอบครอง

ตามหาโปรแกรมดักจับข้อมูลได้อย่างไร และเมื่อไหร่

ผู้สื่อข่าวสามารถคาดการณ์การจัดซื้อจัดจ้างระบบสอดแนมล่วงหน้าได้จากแบบแผนในอดีต เช่น การกว้านซื้ออุปกรณ์สอดแนมโดยรัฐบาลที่ตามมาในทันทีหลังการลดหย่อนนโยบายคว่ำบาตร ซึ่งการทำข่าวสืบสวนสอบสวนโดย The Wall Street Journal เกี่ยวกับข้อตกลงจัดซื้อจัดจ้างเทคโนโลยีสอดแนมในลิเบียชี้ว่า “รัฐบาลลิเบียไล่ซื้อเครื่องมือสอดแนมหลังจากนานาชาติยกเลิกนโยบายคว่ำบาตรการค้า”

นักวิจัยจาก Citizen Lab พบหลักฐานว่าประเทศอย่างน้อย 25 ประเทศได้ใช้โปรแกรมดักจับข้อมูล Circles ซึ่งสามารถระบุตำแหน่งและสกัดกั้นโทรศัพท์มือถือได้อย่างรวดเร็ว (ที่มา: อ้างอิงจาก GIJN)
 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวตรงกันว่า หนึ่งในเทคโนโลยีที่ตรวจจับได้ยากที่สุด คือ ประเภทที่เจาระบบหรือแฮ็ก (Hack) การสนทนาทางโทรศัพท์โดยไม่ต้องแฮ็กตัวโทรศัพท์มือถือโดยตรง โดยเฉพาะระบบปฏิบัติการ Circle เพราะว่าระบบปฏิบัติการนี้ไม่ทิ้งร่องรอยการบุกรุกไว้ในโทรศัพท์มือถือ ในทางตรงกันข้าม มันกลับฉวยโอกาสจากช่องโหว่ในระบบส่งสัญญาณทั่วไปที่ใช้เพื่อเชื่อมต่อสายโทรศัพท์ระหว่างเครือข่ายผู้ให้บริการโทรคมนาคม โปรแกรมนี้สามารถระบุตำแหน่งโดยประมาณของโทรศัพท์มือถือได้ในเวลาไม่กี่วินาที ผ่านการทำให้เครือข่ายสัญญาณไร้สายในบ้านเชื่อว่าโทรศัพท์มือถือกำลังใช้โหมดโรมมิ่งอยู่ และสามารถสกัดกั้นการโทรและส่งข้อความได้

ที่ผ่านมา นักวิจัยและผู้สื่อข่าวมักอาศัยเครื่องมือสาธารณะและคำแนะนำจากคนในหน่วยงานเพื่อตรวจจับว่ารัฐบาลมีการใช้ผลิตภัณฑ์ของ Circles อย่างไร

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่ผ่านมา นักวิจัยจาก Citizen Lab ที่มหาวิทยาลัยโตรอนโตของแคนาดาได้ค้นพบวิธีการใหม่ นั่นคือ การไล่ค้นในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT) เช่น Shodan และ Censys เพื่อสืบหาไฟร์วอลล์ดิจิทัลที่ชื่อโฮสต์ประกอบด้วยโดเมนที่เกี่ยวข้องกับระบบของ Circles หลังจากการค้นหาชื่อโดเมน “tracksystem.info” นักวิจัย Citizen Lab สามารถระบุได้ว่ามีรัฐบาล 25 ประเทศที่ซื้อระบบปฏิบัติการของ Circles และระบุได้แม้แต่หน่วยงานที่ใช้ระบบเหล่านั้น ซึ่งรวมถึงหลายหน่วยงานที่มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชน

ระเบียบวิธีดิจิทัลของพวกเขาซับซ้อน แต่พวกเขาก็ได้อธิบายมันอย่างละเอียดในส่วน “Fingerprinting and Scanning for Circles” (ลายพิมพ์นิ้วมือและการตรวจหาใน Circles) จากรายงาน “Running in Circles” ที่พวกเขานำเสนอ

ขณะนี้ กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน Access Now กำลังสรุปปิดการสืบสวนครั้งใหญ่เกี่ยวกับการเข้าซื้อเทคโนโลยีสอดแนมโดยรัฐบาลในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแถบทะเลแคริบเบียน ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นสามารถติดตามชมฐานข้อมูลนี้ได้ในเดือน ก.ค.บนเว็บไซต์ของ Access Now หรือติดต่อนักวิจัยของโครงการได้โดยตรง

ในงานประชุม RightsCon ที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ ซึ่งได้รับคำอธิบายว่าเป็น “งานสัมมนาแนวหน้าของโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัล” แกสปาร์ ปิซานู (Gaspar Pisanu) ผู้จัดการนโยบายเกี่ยวกับลาตินอเมริกาของ Access Now ได้กล่าวว่าแหล่งข้อมูลสำหรับรายงานดังกล่าวประกอบด้วยคำร้อง FOI บทสัมภาษณ์ และแถลงการณ์สื่อมวลชนของบริษัทต่างๆ

ปิซานูบอกกับทาง GIJN ว่า LinkedIn เป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพสำหรับการวิจัยนี้ และผู้สื่อข่าวเองก็สามารถใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อระบุตัวและขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ในปัจจุบันของผู้ให้บริการเทคโนโลยีสอดแนมกับรัฐบาลต่างๆ โดยเฉพาะอดีตพนักงานที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่ง 

ในการอภิปรายเวทีเดียวกันนั้น ติเอโก โมราเอส (Thiago Moraes) หัวหน้าที่ปรึกษาขององค์กรวิจัยเพื่อนโยบายสาธารณะและอินเทอร์เน็ต (Laboratório de Políticas Públicas e Internet หรือ LAPIN) กล่าวว่า นักวิจัยต่างตกใจที่ได้ค้นพบว่า “ช่องทางการช่วยสอดแนม” ราคาแพงจำนวนมากที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของบราซิลมีในครอบครองนั้น ไม่ได้รับมาผ่านการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกต้อง แต่ได้รับบริจาคมาจากบริษัทต่างชาติสำหรับ “การทดสอบนำร่อง”

เบลาลูนี จิลี (Belulani Jili) นักวิจัยจากภาควิชาแอฟริกันและแอฟริกันอเมริกันศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ไปยังการสืบสวนเมื่อปี 2019 โดย The Wall Street Journal ในฐานะจุดสำคัญที่ทำให้การรับรู้ที่ผ่านมาว่า “เทคโนโลยีสอดแนมเป็นปัญหาของโลกตะวันตก” นั้นเปลี่ยนไปสำหรับองค์กรเพื่อสิทธิพลเมืองหลายแห่งในแอฟริกา ในการสืบสวนนี้ ผู้สื่อข่าวพบว่าตำรวจฝ่ายความมั่นคงไซเบอร์ของสาธารณรัฐยูกันดาว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีจากจีนให้เจาะระบบการสื่อสารแบบเข้ารหัสต่างๆ ของโบบี ไวน์ (Bobi Wine) ผู้นำฝ่ายค้านของยูกันดา การสืบสวนนี้บ่งชี้ว่าหลังจากตำรวจล้มเหลวในการเจาะเข้าไปยังบัญชี WhatsApp ของไวน์ วิศวกรโปรแกรมจากหัวเว่ย (Huawei) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลรายใหญ่ในยูกันดา ได้ช่วยพวกเขาเจาะเข้าไปยังกลุ่มสนทนา “Firebase Crew” ของไวน์ หลังจากนั้น ตำรวจได้ขัดขวางการเดินขบวนของฝ่ายค้าน นอกจากนี้ ไวน์และผู้สนับสนุนหลายรายก็ถูกจับ ซึ่ง The Wall Street Journal ชี้ว่าการสืบสวน “ไม่พบว่าเจ้าหน้าที่หัวเว่ย (Huawei) ในประเทศจีนรู้เห็น ดำเนินการ หรือรับรอง” การเจาะระบบใดๆ ในยูกันดา และได้อ้างถึงแถลงการณ์ของโฆษกบริษัทที่กล่าวว่าหัวเว่ย (Huawei) “ไม่เคยมีส่วนร่วมในการ ‘เจาะระบบ’ ใดๆ”

จิลีกล่าวว่า ผู้สื่อข่าวสามารถตรวจสอบยอดการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศในทวีปแอฟริกากำลังใช้ เพื่อซื้อเทคโนโลยีสอดแนมได้ ซึ่งแหล่งกู้ยืม “ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน”

“ทำไมประเทศที่มีรายได้ต่ำอย่างยูกันดาถึงกู้ยืมเงิน 126 ล้านดอลลาร์จากจีนเพื่อซื้อระบบปฏิบัติการสอดแนมผ่านกล้องวงจรปิด โดยเฉพาะเมื่อชุดข้อมูลบ่งบอกว่าไม่มีความแปรผันตรงกับการลดลงของอาชญากรรมเลย” จิลีตั้งคำถาม

ขอบเขตอิทธิพลของจีนกลายมาเป็นที่ตระหนักรู้ร่วมกันในคำแถลงขององค์กร Carnegie Endowment for International Peace ต่อภารกิจที่ได้รับมอบหมายโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา กลุ่มวิจัยดังกล่าวพบว่ารัฐบาลกว่า 13 ประเทศในทวีปแอฟริกาซื้อเทคโนโลยีสอดแนมชั้นสูงจากจีน ตั้งแต่โปรแกรมตรวจจับใบหน้า Cloudwall ในซิมบับเว ไปจนถึงแพลตฟอร์มสอดแนมพลเมือง “Safe Cities” ของหัวเว่ย (Huawei) ในเคนยาและยูกันดา

นักข่าวชาวฝรั่งเศส เตสเกต์ เตือนว่าสนามของธุรกิจนี้กำลังปะทุขึ้น “นี่เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น” เขากล่าว

ที่มา:

โรแวน ฟิลป์ (Rowan Philp) เป็นนักข่าวของ GIJN และเป็นอดีตหัวหน้านักข่าวให้กับสำนักข่าวซันเดย์ไทมส์ของประเทศแอฟริกาใต้ ในฐานะผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เขาเคยรายงานเกี่ยวกับข่าว การเมือง การทุจริต และความขัดแย้งจากประเทศต่างๆ เกือบ 30 ประเทศทั่วโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท