Skip to main content
sharethis

เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิลุ่มแม่น้ำโขงเรียกร้องให้ไทยในฐานะประเทศปลายทางหลักในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีผู้ย้ายถิ่นที่ต้องหนีภัยออกจากประเทศเมียนมาโดยเฉพาะให้แสดงความเห็นอกเห็นใจและใช้หลักปฏิบัตินิยมหรือ การทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยให้การคุ้มครองตามความต้องการของผู้ย้ายถิ่น

20 ธ.ค.2564 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิลุ่มแม่น้ำโขง (MMN) แถลงข่าวเรื่อง “วิกฤตการย้ายถิ่นจากประเทศเมียนมา: ปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัย” สมาชิกของเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เรียกร้องให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศปลายทางหลักในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีผู้ย้ายถิ่นที่ต้องหนีภัยออกจากประเทศเมียนมาโดยเฉพาะให้แสดงความเห็นอกเห็นใจและใช้หลักปฏิบัตินิยมหรือ การทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยให้การคุ้มครองตามความต้องการของผู้ย้ายถิ่น

โดยมีรายละเอียดคำแถลงดังนี้

เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง วันแรงงานข้ามชาติสากล 18 ธันวาคม พ.ศ. 2564 วิกฤตการย้ายถิ่นจากประเทศเมียนมา: ปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัย

ในปีที่ผ่านมาผู้คนเดินทางหรืออพยพด้วยความสมัครใจน้อยกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ และเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้คนหลายแสนคนในประเทศเมียนมาต้องหลบหนีเพื่อความปลอดภัยและความอยู่รอดของตนเอง นับตั้งแต่มีรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และการที่กองทัพรับรองการก่อการร้าย ส่งผลให้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กมากกว่า 380,000 คน ต้องพลัดถิ่นภายในประเทศ ขณะที่หลายหมื่นคนได้ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศหนีการสู้รบและสงคราม เพื่อความปลอดภัยในชีวิต หางานทำเพื่อความอยู่รอดของตัวเองและครอบครัว เพื่อให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากจนและความอดอยาก

เมื่อพิจารณาถึงการกระทำที่โหดร้ายตามอำเภอใจของระบอบทหารเมียนมาแล้ว กอปรกับไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของใครในการกลับเข้าประทศในขณะนี้ได้ หลักการไม่ส่งกลับที่บังคับใช้ภายใต้กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (non-refoulement) จึงควรนำไปใช้กับทุกคนที่ข้ามพรมแดนจากประเทศเมียนมา

เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเรียกร้องให้ประเทศเมียนมาในฐานะเพื่อนบ้าน:

  • ยอมรับและปกป้องแรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมาตามหลักมนุษยธรรมและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน
  • หยุดการขัดขวางการเคลื่อนย้าย การเนรเทศ และการขับไล่ผู้ย้ายถิ่นทั้งหมดไปยังประเทศเมียนมา
  • อนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และสถานทูตจัดหาแนวทางการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามแก่ผู้ที่ยื่นขอและมีคุณสมบัติ

พวกเราเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ: ให้การสนับสนุนด้านลอจิสติกส์และการเงินที่จำเป็นแก่ประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมาเพื่อรับ, ให้ความคุ้มครอง, ที่พักฉุกเฉิน, อาหาร และการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ที่หลบหนี
พวกเราขอเรียกร้องให้หน่วยงานระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ: ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดนทันทีแก่ผู้พลัดถิ่นในประเทศเมียนมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเราเรียกร้องให้อาเซียนและสหประชาชาติ ดำเนินการต่างๆอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาต้นตอการถูกบังคับย้ายถิ่นจากประเทศเมียนมา

สมาชิกของเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเรียกร้องให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศปลายทางหลักในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีผู้ย้ายถิ่นที่ต้องหนีภัยออกจากประเทศเมียนมาโดยเฉพาะให้แสดงความเห็นอกเห็นใจและใช้หลักปฏิบัตินิยมหรือ การทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ  โดยให้การคุ้มครองตามความต้องการของผู้ย้ายถิ่น

ผู้ย้ายถิ่นที่เข้ามาทั้งหมดควรได้รับการคัดกรองเพื่อพิจารณาสถานะของพวกเขาในฐานะผู้ลี้ภัยหรือแรงงานข้ามชาติและลงทะเบียนและจัดทำเอกสารตามชายแดนหลังจากการตรวจโรคโควิด-19 การกักกันและการรักษาพยาบาล และในกรณีที่จำเป็น ควรให้การสนับสนุนฉุกเฉินในรูปแบบของที่พักพิง เสื้อผ้า อาหาร และสถานที่พักผ่อนที่ปลอดภัย

สำหรับผู้ที่เปราะบางที่สุด รวมทั้งผู้ที่บอบช้ำทางจิตใจ พิการ และหญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือมีลูกเล็กๆ ควรจัดเตรียมความช่วยเหลือเฉพาะทาง

ผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กที่กำลังหนีจากการสู้รบที่กำลังดำเนินอยู่ จะต้องสามารถใช้เส้นทางหนีเพื่อเอาชีวิตรอดที่ใกล้ที่สุด และถูกยอมรับเข้าประเทศไทยได้ ณ จุดนั้น

เมื่อพิจารณาถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันของประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเมื่อประเทศกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง การเปิดเส้นทางสู่การจ้างงานสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพสามารถจัดการกับปัญหาการขาดแคลนนี้ได้ ในขณะเดียวกันนั้น ยังให้รายได้ อิสรภาพ และศักดิ์ศรีแก่ผู้คน การจ้างงานที่ได้รับค่าจ้างจะช่วยลดการพึ่งพารัฐบาลไทยและประชาคมระหว่างประเทศในการสนับสนุนได้ มีรายงานประจำวันในสื่อเกี่ยวกับการจับกุม ควบคุมตัว และเนรเทศชาวเมียนมาเนื่องจากเข้าประเทศไทยโดยไม่มีเอกสาร ในความจริง ผู้คนจากประเทศเมียนมาในปัจจุบันมีทางเลือกเพียงน้อยนิด จึงจำเป็นต้องใช้บริการนายหน้าและผู้ลักลอบนำคนเข้าเมือง แต่เนื่องจากลักษณะที่ต้องกระทำการซ่อนเร้น การลักลอบนำเข้าทำให้ชีวิตของแรงงานข้ามชาติตกอยู่ในความเสี่ยง การยอมให้มีภาวะที่บีบบังคับให้ผู้คนใช้บริการผู้ลักลอบนำคนเข้าเมืองเป็นการเพิ่มโอกาสที่ผู้ค้ามนุษย์ฉกฉวยโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าวได้

เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (MMN) ยินดีกับความพยายามของรัฐบาลไทยในการเริ่มต้นกระบวนการบันทึกความเข้าใจ (MOU) ใหม่เพื่อให้แรงงานใหม่เข้ามาได้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้ไม่สามารถเข้าถึงได้สำหรับผู้ยากไร้ในประเทศเมียนมาเป็นจำนวนมาก และจะไม่ส่งผลต่อจำนวนผู้อพยพที่ต้องการความปลอดภัยและการดำรงชีวิตในประเทศไทย การอำนวยความสะดวกแก่ผู้อพยพที่เดินทางกลับประเทศเมียนมาก่อนช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เพื่อกลับประเทศไทยโดยใช้เอกสารที่มีอยู่จะเข้าถึงผู้ยากไร้ได้มากขึ้น

ทางเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเนื่องในวันผู้แรงงานข้ามชาติสากล และสถานการณ์ที่ซับซ้อนที่ชาวเมียนมากำลังเผชิญอยู่นั้น แนวทางปฏิบัติเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งจะสามารถตอบสนองต่อความเป็นจริงล่าสุดเกี่ยวกับการอพยพออกจากประเทศเมียนมาและรักษาสิทธิมนุษยชนของทุกคนที่พยายามข้ามพรมแดน .

หลังปีใหม่ เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (MMN) จะเปิดตัวรายงานเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานจากประเทศเมียนมานับตั้งแต่รัฐประหาร สำหรับข้อมูลอัพเดทต่างๆ กรุณาติดตามเว็บไซต์ของเราที่ www.mekongmigration.org

ทั้งนี้ เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  (Mekong Migration Network – MMN)  ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2546 เป็นเครือข่ายระดับอนุภูมิภาคขององค์กรภาคประชาสังคมสนับสนุนผู้ย้ายถิ่นฐาน กลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน และสถาบันวิจัย เป้าหมายหลักของเครือข่ายการย้ายถิ่นลุ่มแม่น้ำโขง คือการส่งเสริมสวัสดิการ ความอยู่ดีมีสุข ความมีเกียรติ และสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และสร้างการสนับสนุนและความสามัคคีในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้สนับสนุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ เครือข่ายการย้ายถิ่นลุ่มแม่น้ำโขง ได้ร่วมกันดำเนินการวิจัย การสนับสนุน การเสริมสร้างศักยภาพ และสร้างเครือข่าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net