Skip to main content
sharethis

กลุ่มภราดรภาพ รวมกับ ครป. ตั้งวงถกไล่ประยุทธ์ ร้องชนชั้นนำ เจ้าสัว จับมือกับนักศึกษาประชาชน โค่นล้มระบอบ 3 ป. ที่ครอบงำการเมือง คุกคามประชาธิปไตย

20 ธ.ค.2564 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Social Democracy Thailand' เผยแพร่รายงานเสวนา วิเคราะห์การเมืองไทยเรื่อง "เส้นทางประชาธิปไตยในความขัดแย้งทางการเมือง กับเดิมพันอนาคตสังคมไทย" ซึ่งจัดโดย กลุ่มภราดรภาพ ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยมี เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ สมาชิกคณะราษฎร พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และณัฏฐา มหัทธนา ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และคณะผู้ริเริ่มเชิญชวนแก้รัฐธรรมนูญ ม.272 ปิดสวิตช์ ส.ว. เลือกนายกฯ ร่วมอภิปราย

การเติบโตของทุนนิยมไทย

เลขาฯ ครป. กล่าวว่า ไม่ทราบว่าปีหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะขายนโยบายอะไรอีก เพราะที่ผ่านมาขายขี้หน้ามามากพอแล้ว แต่ผู้ช่วยรัฐมนตรีสำนักนายกเห็นว่านายกฯ คิดละเอียดรอบคอบทุกอย่างแล้ว ไม่รู้ว่าไปดูถูกนายกฯ ไปด้วยหรือเปล่า ปัญหาทุกวันนี้แม้แต่หวยราคาแพง 7 ปีมาแล้วรัฐบาลยังแก้ไม่ได้เลย

ตนอยากพูดเรื่องเส้นทางประชาธิปไตยในความขัดแย้งทางการเมือง กับเดิมพันอนาคตสังคมไทย ซึ่งมีปัญหาระบบกรรมสิทธิ์และการถือครองทรัพย์สิน เป็นใจกลางปัญหาประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่องในความขัดแย้งทางการเมืองและการยึดอำนาจมาตั้งแต่เหตุการณ์ 2475, 2490, 2519, 2534, 2549 และ 2557 ที่เป็นแผนชิงชาติไทยในการช่วงชิงความมั่นคั่งจากสินทรัพย์ในแผ่นดินไทย

ที่ผ่านมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยมีแค่โรงเลื่อย โรงสี และโรงน้ำแข็ง ต่อมาจึงกำเนิดทุนพ่อค้าวาณิชย์, ทุนรัฐวิสาหกิจ และทุนสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งสอดคล้องกับการต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมา เนื่องจากความสัมพันธ์ของ ทุน รัฐ และชนชั้น ทำให้เห็นพัฒนาการในการก่อตัวของทุนระดับชาติ ที่การสะสมทุนเริ่มแรกนั้นก่อตัวมาจากทุนพาณิชย์ ก่อนที่จะขยายเข้าสู่ทุนการเงินการธนาคาร และการขยายตัวของทุนอุตสาหกรรมในภายหลัง

หนึ่ง การเติบโตทุนของเอกชนที่เริ่มต้นด้วยทุนพาณิชย์ชาวจีนซึ่งมีฐานการสะสมทุนจากการค้าภายในและต่างประเทศ การเป็นตัวแทนนายหน้าระหว่างทุนต่างชาติกับผู้ผลิตในภาคเกษตรกรรม

สอง การเติบโตของทุนของเจ้านายและขุนนางในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เป็นชนชั้นเจ้าที่ดินที่สะสมทุนจากการเก็บค่าเช่า กิจการผูกขาดของหลวง ตลอดจนการร่วมทุนกับต่างประเทศในกิจการธนาคารและอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมรูปแบบทุนดังกล่าว

สาม ก่อตัวขึ้นมาภายหลังคือ “ทุนของรัฐ” ที่พัฒนาขึ้นมาเมื่อรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม เลือกดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม และสร้างรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดำเนินกิจการที่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตโดยตรงในหลายด้าน จนปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจกว่า 55 แห่งในปัจจุบันที่มีทรัพย์สินราว 14 ล้านล้านบาท

การเติบโตของทุนนิยมไทยในการสร้างหลักประกันให้แก่ตนเองและผนึกกำลังทางธุรกิจ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันแบบซึ่งหน้า จึงมีการรวมกันก่อตั้งสมาคมชาวจีนขึ้น ผู้นำของสมาคมส่วนใหญ่มาจากพ่อค้าผู้มีฐานะมั่งคั่งที่สุด บุคคลผู้นี้จะทำหน้าที่เจรจาสร้างไมตรีกับข้าราชการไทยระดับสูง ผลที่ตามมาก็คือพ่อค้าชาวจีนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งได้รับอภิสิทธิ์เต็มที่ สามารถค้ากำไรอย่างมหาศาล ทั้งนี้ มิใช่ด้วยการปฏิวัติระบบการผลิต หากแต่ด้วยการเข้าไปคุมตลาดการค้า เนื่องจากข้าราชการไม่มีความรู้ทางพาณิชย์ จึงปล่อยให้พ่อค้าคนจีนเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่รัฐเป็นฝ่ายริเริ่ม คล้ายรัฐบาลประชารัฐของพล.อ.ประยุทธ์ในปัจจุบันนี้ ธุรกิจผูกขาดดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงเริ่มก่อตัวขึ้นในระยะนี้เอง ซึ่งกลายเป็นธุรกิจที่แนบแน่นทางการเมืองมาถึงปัจจุบัน

ระบบดังกล่าวเปิดทางให้พวกข้ารัฐการระดับนำยินยอมยกอภิสิทธิ์หลายประการแก่นักธุรกิจชาวจีนบางกลุ่ม ตระกูลใหญ่ๆ เหล่านี้ทุกตระกูลล้วนพัฒนาธุรกิจของตนโดยอิงทุนแห่งรัฐเป็นเครื่องมือ บรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ของพวกเขาล้วนมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับกุมอำนาจเข้าไปมีหุ้นอยู่ด้วยเสมอ การเติบโตจากการผูกขาดกลายเป็นเนื้อเดียวกันของรัฐและทุน ทำให้นักธุรกิจนายทุนของไทยนิยมชมชอบรัฐบาลอำนาจนิยมที่ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่ทำให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพ ดังนั้น การแย่งชิงอำนาจการเมือง จึงเท่ากับความมั่งคั่งในการถือครองทรัพย์สินและยึดครองกรรมสิทธิ์ในประเทศไทย

5 องค์กรประกอบค้ำบัลลังค์ของระบอบ 3 ป.

เลขาฯ ครป. กล่าวต่อว่า รัฐบาลประยุทธ์ ก็เป็นตัวแทนของประชารัฐแบบเก่าที่ปัจจุบันมีผู้มีอำนาจยึดกุมการปกครองคือ 3 นายพลอาวุโส ที่ควบคุมกองทัพ กำกับตำรวจ และเชิดสถาบันเป็นเครื่องมือ โดยต่างตอบแทนด้วยกฎหมายเอกสิทธิ์ทั้งปวงให้ฝ่ายสำนักพระราชวัง ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยคือ ระบอบประยุทธ์ มีที่มาจาก 3 ป.1 ม. สถาปนาระบอบอำนาจนิยมใหม่ ด้วยความคิดขวาจัดและสร้างฟาสซิสต์แบบไทยๆ ขึ้นเชิดสถาบันกลายเป็นคู่ความขัดแย้งกับประชาชน โดยสร้างรัฐผสมระหว่างคณาธิปไตยและราชาธิปไตย ด้อยค่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

หลายคนอาจคิดว่ากลไกอำนาจนิยมของประยุทธ์คือ นายทุน ขุนศึกเสนาพาณิชย์ ศักดินาหรืออีลีททั้งหลาย และข้าราชการ แต่ตนคิดว่าองค์กรประกอบค้ำบัลลังค์ของระบอบ 3 ป. ในปัจจุบันที่แท้จริง คือ 1.เจ้าสัว 2.กองทัพ 3.ตำรวจ 4.ป.ป.ช. และ 5.ศาลรัฐธรรมนูญ

รัฐบาลบริหารประเทศด้วยระบอบอำนาจนิยม เพื่อความมั่งคั่งของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่สนใจหลักนิติรัฐ นิติธรรม และธรรมาภิบาล จนทำให้มหาวิทยาลัยและระบบการศึกษาไทยระส่ำระสาย นิติศาสตร์ไปไม่ได้ รัฐศาสตร์ไปไม่ไหว นักเรียนนิสิตนักศึกษาจึงออกมาเคลื่อนไหวมากมาย ขณะที่รัฐบาลพยายามออกกฎหมายอำนาจนิยมต่างๆ เพื่อควบคุมประชาชน ละเมิดสิทธิมนุษยชน และคุกคามประชาธิปไตย โดยเฉพาะการควบคุมองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร แต่สำหรับองค์กรแสวงหากำไรสูงสุด อย่างกลุ่มทุนต่างๆ กลับอนุญาตให้เข้ามาร่วมควบคุมบริหารประเทศ ให้มามีที่นั่งในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่พวกพ้องตนเอง

นี่คือปัญหาของมหาเศรษฐีและจุดยืนของชนชั้นนำไทย กับทิศทางประเทศไทยว่าท่านจะมีจุดยืนอย่างไรต่อไป หากความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ลุกลามไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งความเชื่อ ค่านิยม ศรัทธา ที่มุ่งหมายไปสู่ความเกลียดชังและความรุนแรงทางสังคมครั้งใหญ่ รอเพียงจุดปะทุของเหตุการณ์ไม่ต่างจากเหตุการณ์อาหรับสปริงและเกิดกลุ่มภราดรภาพของประชาชนขึ้นทั่วประเทศเพื่อเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ชวนอีลิท เจ้าสัว จับมือกับนักศึกษาประชาชน โค่นล้มระบอบ 3 ป.

เลขาฯ ครป. กล่าวว่า ตนขอเรียกร้องอีลิท เจ้าสัว จับมือกับนักศึกษาประชาชน โค่นล้มระบอบ 3 ป. ที่ครอบงำการเมืองไทย นี่คือเดิมพันอนาคตของบ้านเมือง เนื่องจากตัวแปรและทางเลือกที่จะเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย ด้วยการไม่นองเลือดและสูญเสียของประชาชนทุกฝ่ายมีทางเลือกหลายหนทาง ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนและข้อเสนอบทเรียนจาก คอป. กลไกอิสระ คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งรัฐ หรือบทบาทรัฐสภา ซึ่งปัจจุบันอาจต้องการคนกลางที่สามารถมอบนโยบายให้องค์กรอิสระ ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และตุลาการ ที่สามารถให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้

เนื่องจากความขัดแย้งในอนาคตอาจจะนำไปสู่ 1.ล้อมปราบประชาชน เพื่อคงไว้ระบอบประยุทธ์แบบเดิมในปัจจุบัน 2.สงครามกลางเมือง ซึ่งจะเกิดการช่วงชิงอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสาธารณรัฐ ระบอบทหาร หรือกษัตริย์แบบเก่า แต่ต้องแลกมาด้วยการนองเลือดมหาศาลซึ่งทุกคนคงไม่ต้องการ 3.การปรองดองเพื่อความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งต้องปฏิรูปทุกองค์กร ทิศทางนี้เป็นไปได้ที่สุด และ 4.การปฏิรูปสู่สังคมนิยมประชาธิปไตย เหมือนเยอรมนีหลังยุคซากปรักหักพังหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของฮิตเลอร์

ไทยเหมือนรัฐซ้อนรัฐ

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล สมาชิกคณะราษฎร กล่าวว่า เสียงของคนรุ่นใหม่มีค่าและมีความหมายต่อการเมืองไทย ที่เติบโตขึ้นเรื่องๆ ตั้งแต่ปี 2475 ที่ยืนยันหลักการประชาชนมีอำนาจเท่ากัน และมอบกลไกต่างๆ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อร่วมกำหนดอนาคตตนเอง

หลัง 2475 มีการช่วงชิงอำนาจกันมามาโดยตลอดระหว่างเจ้านายกับราษฎร กบฎบวรเดชเป็นตัวอย่างสำคัญ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์มีทรัพยากรมาก เมื่ออำนาจถูกแบ่งแชร์การต่อสู้จึงเริ่มเกิดขึ้น เพื่อปกป้องอำนาจและช่วงชิงอำนาจกัน โดยคณะราษฎรใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อปกป้องอำนาจของตนเอง

รัฐธรรมนูญคือข้อกำหนดของคนในสังคมโดยคนในสังคมเป็นผู้กำหนดร่วมกัน เมื่อเกิดการต่อสู้กันเพื่อยึดอำนาจ รัฐธรรมนูญจึงเป็นเครื่องมือแรกในการถูกฉีกทันทีหลังการรัฐประหารแล้วร่างใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการกำหนดว่าใครจะสูญเสียอำนาจและมีอำนาจในประเทศไทยบ้าง

แต่คณะราษฎรได้โปรยดอกไม้ประชาธิปไตยไว้แล้ว และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คนหนุ่มสาวก็ไม่ลืมเรื่องนี้ พวกเขาต่อสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันประชาชนไทยจึงได้ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นในการแสวงหาความจริง ทำไมคนรุ่นใหม่ออกมามากมาย การยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นเพียงฟางเส้นสุดท้ายเรื่องการเห็นความไม่เป็นธรรมทางการเมือง มันทำให้เห็นเสียงของโหวตเตอร์ (Voter) ไม่มีความหมาย เลยเกิดแฟชม็อบต่างๆ มากมาย ออกมาเรียกร้องและแสวงหาความจริว

หลังจากแสวงหาความจริง นักศึกษาจึงไม่ได้เห็นแค่ความไม่เป็นธรรมในการยุบพรรคการเมืองที่เห็นต่างรัฐบาลเท่านั้น แต่เห็นปัญหาที่เน่าเฟะของรัฐบาลอีกมากมายที่เกิดขึ้น ประชาชนจึงไม่ยอมทนกับรัฐบาลที่ควบรวมอำนาจแบบนี้ ต้นตอของปัญหาก็เกิดการรื้อขึ้นมา ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจการเมือง โอกาสของพวกเขาที่ถูกตัดทิ้ง คนรุ่นใหม่จึงเริ่มสาวถึงปัญหาทั้งหมด

ภัสราวลี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเหมือนรัฐซ้อนรัฐ รัฐบาลอยู่ภายใต้การกำกับของใครบ้าง แก่นแท้ของประชาธิปไตยจึงแทบไม่มีเหลือเลย ประชาชนถูกปกครองด้วยมายาคติ สิทธิในการกำหนดทิศทางประเทศ สิทธิในการออกแบบรัฐธรรมนูญก็แทบไม่มีเลย รัฐธรรมนูญกลายเป็นของคนที่อยากควบรวมอำนาจ อยากจะใช้ประเทศไทยเป็นบ่อเงินบ่อทองของพวกพ้องกันเอง

ที่น่าเศร้าคือกระบวนการยุติธรรมไทยตอนนี้ไม่มีความเป็นอิสระ การดำเนินคดีเป็นไปในทิศทางที่กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนกลุ่มหนึ่งเสียมากกว่า รูปแบบของรัฐบาลเผด็จการแบบนี้จึงเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม การต่อสู้ของประชาชนกับชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งที่อยากควบรวมอำนาจจึงต้องเกิดขึ้น

ทุกฝ่ายหันมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน

"เราอยากเห็นอนาคตชีวิตที่ดีกว่า มีหลักประกันอนาคต ณ วันนี้ ประชาชนเองไม่ยอมจำนวนอีกต่อไปแล้ว เกิดเป็นกระแสมากมาย การชุมนุมในยุคนี้ไม่ได้เกิดจากคนกลุ่มใดออกแบบ แต่เกิดจากการตื่นตัวของประชาชน นี่คือความสวยงามของประชาธิปไตยที่อาจมีหลายเฉด แต่มีจุดร่วมกันและเคารพความเห็นกัน ซึ่งทำให้สังคมขับเคลื่อนไปได้" สมาชิกคณะราษฎร กล่าว

ปัญหาปัจจุบันคือการควบรวมอำนาจ การยุยงให้คนแตกแยกกัน การปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เท่าเทียมล้วนคือการยุยงสังคมให้แตกแยกเช่นกัน การยั่วยุต่างๆ รุนแรงมากในยุครัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ และโทษประชาชนทำให้แตกแยก เพียงเพราะเขาต่อสู้เพื่ออำนาจของประชาชนในการกำหนดอนาคตตนเอง

"อยากจะบอกว่ากลุ่มเจ้าสัวที่เป็นทุนใหญ่ในสังคมเป็นประเด็นหนึ่งที่อยากพูดถึง เขามีแต่รวยเอาๆ แต่ถ้าไปดูพ่อค้าแม่ค้าในแผงตลาดแทบจะเอาตัวไม่รอดแล้ว ความมั่งคั่งกระจายอยู่ในกลุ่มทุนใหญ่ที่มีอยู่ส่วนน้อย ซึ่งรัฐบาลควรแชร์ส่วนนี้ให้ประชาชน แต่กลับกดให้จนแล้วแจก ควบรวมอำนาจ สืบทอดอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ของตน ทำให้ประชาชนสิ้นหวังในการลืมตาอ้าปาก จึงต้องออกมาต่อสู้เพื่ออนาคต" ภัสราวดี กล่าว

ภัสราวดียังกล่าวทิ้งท้ายว่า การแก้ปัญหาในอนาคต เดิมพันด้วยราคาที่ต้องจ่ายมากเช่นกัน แต่เราสามารถพูดคุยกันได้ก่อนที่จะพูดคุยกันไม่ได้อีกต่อไป ส่วนแรก รัฐบาลควรเปิดรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนอย่างเป็นธรรม และเป็นตัวกลางในการเปิดพื้นที่ปลอดภัย สอง ประชาชนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน สาม พรรคการเมืองจำเป็นจะต้องนำข้อเรียกร้องไปผลักดันในรัฐสภา สี่ สื่อมวลชนจะต้องร่วมกัน เพราะพวกเขารอดูข้อมูลความจริงที่ท่านจะนำเสนอออกมา และห้า สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทย หากประเทศไทยต้องการยุติความขัดแย้งไม่ต้องการให้บานปลาย คือทุกฝ่ายหันมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน

สังคมไทยปัจจุบันเหมือน “เกมชักเย่อ” 

พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวว่า การเมืองไทยในปี 2564 เป็นปีที่ระยะห่างระหว่าง การเมืองในระบบ กับ การเมืองนอกระบบ ถ่างกว้างมากขึ้น โดยหากเปรียบสังคมไทยปัจจุบันเหมือน “เกมชักเย่อ” ด้านหนึ่งของเชือกคือฝ่ายระบบที่ล้าหลัง อีกด้านคือฝ่ายสังคมที่ก้าวหน้า

ตลอดปีเกมนี้ดำเนินไปอย่างตึงเครียด เพราะต่างฝ่ายต่างออกแรงดึงยิ่งกว่าเดิม ดังจะเห็นได้ว่าฝ่ายสังคมมีความตื่นตัวต้องการประชาธิปไตย รณรงค์เสนอกฎหมายหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่การเมืองในระบบกลับแสดงท่าทีหลายครั้งที่เป็นการขัดขวางพัฒนาการประชาธิปไตย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือจำนวนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอต่อรัฐสภาระหว่างปี 2563-2564 มีมากถึง 21 ร่าง แต่มีเพียงร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งร่างเดียวที่ผ่านความเห็นชอบ หรือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทั้งกรณีคดีล้มล้างการปกครองและกรณีสิทธิสมรสของกลุ่มเพศหลากหลายที่สะท้อนว่าความคิดของผู้มีอำนาจในระบบกำลังเดินสวนทางกับสังคม น่ากังวลว่าความตึงเครียดนี้จะทำให้เชือกขาดในวันใดวันหนึ่ง หมายถึงอาจเกิดความรุนแรงที่นำไปสู่ความสูญเสียซึ่งเป็นเรื่องที่ใครก็คงไม่อยากเห็น

โจทย์ทางการเมืองในปี 65 เสนอ ฉีดวัคซีน 2 เข็ม

แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวว่า โจทย์ทางการเมืองในปี 2565 คือทำอย่างไรให้เราไม่เดินไปสู่จุดนั้นและประชาธิปไตยมีการพัฒนาที่ก้าวหน้าขึ้นซึ่งรวมไปถึง (1) การทำงานเชิงความคิดนอกสภา เพื่อขยายแนวร่วมในประเด็นต่างๆและ (2)การผลักดันการเปลี่ยนแปลงในสภา โดยการเลือกตั้งที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในปี2565 จะเป็นบทพิสูจน์ว่าประชาชนสามารถหนุนส่งผู้แทนเข้าสู่ระบบเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหนโดยความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนยังจำเป็นต้องทำผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยวิธีที่เรียกว่า “การฉีดวัคซีน 2 เข็ม”กล่าวคือ

เข็มที่ 1 คือการแก้ไขรายมาตรา เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มุ่งแก้ปัญหาต้นตอของวิกฤติการเมืองในปัจจุบันคือกลไกสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ขั้นพื้นฐานที่สุดคือการยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ ขั้นสูงสุดคือการเอา ส.ว.250 คนออกไปและใช้สภาเดี่ยวชั่วคราว รวมถึงปฏิรูปที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแก้ไขเรื่องสิทธิเสรีภาพในบางมาตราเพื่อคุ้มครองประชาชนให้รัดกุมยิ่งขึ้น

เข็มที่ 2 คือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเพื่อ
ช่วยรับประกันว่าจะได้ สสร. ที่มีความหลากหลาย และ สสร. ต้องมีอำนาจพิจารณาแก้ไขทุกหมวดทุกมาตรา เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัย ในการหาฉันทามติของทุกฝ่ายโดยปัจจุบัน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 เปิดช่องให้ประชาชนเข้าชื่อจำนวน 50,000 รายชื่อ ยื่นไปที่คณะรัฐมนตรีให้มีการจัดทำประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าอยากให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. หรือไม่ซึ่งผมเสนอว่าเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ สามารถจัดประชามติพร้อมการเลือกตั้ง ส.ส. ได้

หากเป็นเช่นนั้น ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นหนึ่งในวาระหลักของการเลือกตั้งที่จะมาถึง โดยทุกพรรคการเมืองควรกำหนดท่าทีที่ชัดเจนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมไปถึง(1)การร่วมกันยืนยันว่าแม้มาตรา272 อาจยังอยู่ แต่จะร่วมกันปิดสวิตช์ ส.ว. ด้วยการไม่โหวตเลือกนายกฯ ที่ขัดกับเสียงข้างมากของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน(2)การนำเสนอนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราโดยอธิบายอย่างชัดเจนว่าเนื้อหาที่อยากเสนอเป็นอย่างไร เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอใด และ (3) การสนับสนุนการจัดตั้ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากประชาชนให้ความเห็นชอบผ่านประชามติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รัฐธรรมนูญที่ดีแล้ว การจะรักษาไว้ยังต้องอาศัยการปฏิรูปด้านอื่นที่เดินหน้าควบคู่กัน โดยเฉพาะการป้องกันรัฐประหาร การปฏิรูปกองทัพให้อำนาจพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ และสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนทุกคนเชื่อมั่นว่าทุกความขัดแย้งสามารถแก้ไขได้ด้วยกลไกลประชาธิปไตย โดยไม่ต้องพึ่งกลไกนอกวิถีทางประชาธิปไตย

ภาพสะท้อนการเมืองเป็นพิษ

ณัฏฐา มหัทธนา ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และคณะผู้ริเริ่มเชิญชวนแก้รัฐธรรมนูญ ม.272 กล่าวว่า ความขัดแย้งนั้นเป็นสิ่งปกติในทุกสังคมโดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย แต่ความขัดแย้งในระดับที่ไม่ปกติคือความขัดแย้งในระดับที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นมลพิษจนกระทั่งไม่อาจสื่อสารกันด้วยเหตุผลหรือมีความร่วมมือเพื่อนำพาสังคมไปข้างหน้าในเรื่องใดๆได้เลย ซึ่งเรากำลังรู้สึกถึงสิ่งนั้นในเมืองไทย ดังจะเห็นว่าในฟากฝั่งทางการเมืองมีการจับผิดหรือโจมตีซึ่งกันและกันตั้งแต่เรื่องใหญ่ไปจนถึงเรื่องหยุมหยิมและอยู่ในบรรยากาศของความเป็นศัตรูกันตลอดเวลา จนกระทั่งมีสื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตโดยยกตัวอย่างบรรยากาศการเปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ว่ามีการโจมตีกันด้วยสาเหตุของความเป็นขั้วตรงข้ามทางการเมืองมากกว่าจะเป็นที่คุณสมบัติหรือเนื้อหานโยบายของผู้สมัคร ซึ่งเป็นภาพสะท้อนสิ่งที่เรียกว่า “Toxic Politics” หรือการเมืองเป็นพิษ

เมื่อเกิดบรรยากาศเช่นนี้ สิ่งที่ต้องตั้งคำถามก็คือ “ทำไม?” สำหรับประเทศไทยอาจพบคำตอบว่าเป็นเพราะความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันและไม่เชื่อใจในรัฐ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งที่กินเวลายาวนานจนกระทั่งเกิดการรัฐประหารครั้งล่าสุดที่นำสู่การมีรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งประกอบไปด้วยสถาปัตยกรรมแห่งกลไกการค้ำยันอำนาจต่างๆ ประชาชนได้เป็นประจักษ์พยานแห่งการทำงานขององค์กรอิสระที่แต่งตั้งโดยคสช. ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของกกต.ในการจัดการเลือกตั้ง ผลการวินิจฉัยของปปช.ต่อฝั่งฝ่ายทางการเมืองที่ดูจะเป็นไปด้วยมาตรฐานต่างกัน การทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ถูกตีกรอบโดยกฎหมายให้มีหน้าที่แก้ต่างแทนรัฐ การทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินในการทำหน้าที่กลั่นกรองคำร้องเรื่องการขัดรัฐธรรมนูญที่ทำให้หลายคำร้องถูกตีตกก่อนจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลทำให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามถูกยุบไปแล้วถึงสองพรรค การมีการเลือกตั้งพร้อมสูตรคำนวณที่ไม่ตรงไปตรงมา และการมี ส.ว. 250 คนซึ่งเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของรัฐสภาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. มาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนจำนวนมากสะสมความไม่ไว้วางใจไปจนถึงความโกรธแค้นและนำมาสู่ความขัดแย้งในระดับที่เห็นกันในวันนี้ทั้งในและนอกสภา

ดังนั้นการจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในระดับที่เป็นมลพิษเช่นนี้จึงต้องดับที่เหตุ ค่อยๆคลายล็อคและคลายปมต่างๆจนความขัดแย้งกลับมาสู่ระดับที่เป็นปกติและเป็นคุณต่อสังคมประชาธิปไตย ออกจากบรรยากาศที่จะทำให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาผสมโรงปลุกปั่นความเกลียดชังเพิ่มเติมจนมีปัญหากับอนาคตทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งโดยส่วนตัวน.ส.ณัฏฐา เห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นปกติเป็นเรื่องสำคัญ และหากจะให้จัดลำดับความสำคัญก็ยืนยันอย่างที่เคยพูดไว้ว่าการทำให้ “กติกาการเข้าสู่อำนาจ” เป็นไปอย่างเป็นธรรมเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด โดยสองสิ่งที่ต้องทำก่อนคือการแก้ไขกติกาการเลือกตั้ง และการยกเลิกอำนาจส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่สภาได้ตกลงกันได้ในเรื่องกติกาการเลือกตั้งโดยมีการแก้ไขให้เป็นบัตรสองใบแล้ว ตอนนี้จึงอยากเชิญชวนให้เร่งแก้ไข ม.272 ในรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกอำนาจส.ว.ดังกล่าว เมื่อสนามเป็นธรรมแล้วไม่ว่าใครจะได้เข้ามาเป็นรัฐบาลก็จะสง่างาม เส้นทางของการบริหารอย่างรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยก็จะราบรื่นขึ้น และสังคมก็จะเริ่มมีความหวังว่าแม้จะยังมีความขัดแย้งกันตามปกติ เราก็สามารถแก้ปัญหาหลายอย่างร่วมกันและพัฒนาประเทศต่อได้

“ในฐานะหนึ่งในคณะผู้เชิญชวนเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อเสนอรัฐสภาตามกฎหมาย จึงอยากขอเชิญชวนประชาชน ส.ส.และส.ว.ร่วมกันลดเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการช่วยกันทำสนามเลือกตั้งให้เป็นธรรมและเป็นปกติ โดยในเดือนหน้าทางคณะจะมีการเปิดตัวเว็บไซต์เข้าชื่อห้าหมื่นรายชื่อเพื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพียงมาตราเดียวนี้ และขอกราบเรียนเชิญท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้มาร่วมเป็นหนึ่งในห้าหมื่นรายชื่อด้วยกัน เพราะท่านคือหนึ่งในบุคคลสำคัญที่จะช่วยกันหยุดการเมืองเป็นพิษได้"  ตัวแทนภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net