สำรวจมุมมองของคนในสังคมที่มีและรู้สึกต่อตำรวจหญิง

คุยกับนักศึกษา นักกิจกรรม ผู้ต้องหาทางการเมือง คนไร้สัญชาติ ลูกตำรวจจนถึงพระ กับมุมมองต่อตำรวจหญิงในสังคมไทย ความจำเป็นและสิทธิเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ภายใต้องค์กรตำรวจที่เป็นเสมือนภาพจำลองของสังคมชายเป็นใหญ่ สถานีตำรวจที่เต็มไปด้วยผู้ชาย และภาพการทำงานพิทักษ์สันติราษฎร์ที่ปรากฎเพียงตำรวจชาย ตำรวจหญิงซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขององค์กรยืนอยู่ตรงไหนในพื้นที่งานตำรวจ การมีอยู่ของตำรวจหญิงจำเป็นเพราะอะไร และบทบาทของตำรวจหญิงเป็นเช่นไรในสายตาประชาชน รวมไปถึงโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่เปิดรับเฉพาะนักเรียนเพศชายสะท้อนความหมายอะไรต่อสังคม  

ร่วมสำรวจความคิดเห็นและความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อตำรวจหญิงและองค์กรตำรวจที่ดูจะเป็นที่ทางของผู้ชาย ภาวะอิหลักอิเหลื่อเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดเมื่องานตำรวจจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้เพศหญิง 

พระยุ่น วัดสันต้นดู่ บวชมาแล้ว 13 พรรษา

1. มีมุมมองต่อตำรวจหญิงในสังคมไทยอย่างไร? 

“อาชีพที่เกี่ยวกับข้าราชการควรจะรับทุกเพศ ไม่ควรจะมีการแบ่งแยกว่าเป็นผู้หญิงแล้วเป็นตำรวจไม่ได้ เพราะว่าในงานของตำรวจก็ไม่ได้มีแค่การออกไปไล่จับโจรอย่างเดียว หรือแต่ในการไล่จับโจรก็ควรต้องมีตำรวจหญิงที่คอยทำหน้าที่ตรวจค้นผู้หญิงด้วย”

2. คิดว่าการมีตำรวจหญิงจำเป็นหรือไม่ในปัจจุบัน?

“จำเป็น และในส่วนการปฏิบัติงานควรจะให้ความสำคัญกับตำรวจหญิงมากกว่านี้”

3. ผู้หญิงควรมีสิทธิเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจไหม?

“ควรจะมี ถ้าเขาตั้งใจอยากจะเรียนเป็นตำรวจจริงๆ ควรจะมีพื้นที่ตรงนี้ให้ผู้หญิงด้วย และไม่ใช่เฉพาะผู้หญิง LGBT ก็ควรจะมีสิทธิตรงนี้ด้วยเช่นกัน ผมยึดหลักตามคำสอนพระพุทธเจ้าว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการเข้าถึงพระนิพพานเหมือนกัน และหลักการนี้สามารถปรับใช้ได้กับหลายสถานการณ์ หลายบริบท มนุษย์ทุกคนก็มีศักยภาพในการพัฒนาชีวิตของตัวเองไม่ว่าในด้านใดก็แล้วแต่ เท่ากัน ผู้หญิงก็สามารถได้เท่ากับผู้ชาย”

นักศึกษา

1. มีมุมมองต่อตำรวจหญิงในสังคมไทยอย่างไร?

“ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องใหม่ที่ดีนะ ด้วยความที่สังคมเมื่อก่อนมีแต่ผู้ชายที่มีอำนาจหน้าที่และสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อาชีพตำรวจในสังคมไทยเลยกลายเป็นอาชีพที่มีเกียรติในลักษณะที่สังคมตีตราให้เฉพาะผู้ชาย ผู้หญิงถูกมองข้ามในหน้าที่บางอย่าง ชายไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่ที่มันรุนแรง และหญิงไม่จำเป็นต้องทำได้แค่งานเอกสาร”

2. คิดว่าการมีตำรวจหญิงจำเป็นหรือไม่ในปัจจุบัน?

“จำเป็น ผมมองในเชิงสัดส่วนการเข้ารับงานข้าราชการมากกว่า ด้วยความที่ในสังคมไทยงานราชการมีความมั่นคง การที่เพศหญิงได้เข้าไปอยู่ในงานราชการเพิ่มมากขึ้นก็ถือเป็นการกระจายความมั่นคงไม่ให้ผูกขาดอยู่แค่ในเพศชายมากกว่า”

3. ผู้หญิงควรมีสิทธิเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจไหม?

“ควรมีสิทธิ เพราะว่าในโรงเรียนนายร้อยเขาอาจไม่ได้มีแค่การฝึกทางกำลังกายอย่างเดียว แต่เขาอาจจะมีชุดความรู้หรือแนวคิดในอาชีพตำรวจ ซึ่งคนที่มีความรู้จากสถาบันอื่นที่มาสอบเป็นตำรวจก็อาจไม่มีความรู้ชุดเดียวกันนี้”

นักศึกษา

1. มีมุมมองต่อตำรวจหญิงในสังคมไทยอย่างไร?

“ถ้าพูดถึงตำรวจเราก็จะนึกถึงผู้ชายก่อนเลย เพราะว่าเรามองไม่ค่อยเห็นตำรวจหญิง ถ้าเห็นตำรวจหญิงก็จะเป็นงานหน้าคอมหรืองานเอกสารเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นงานลงพื้นที่ยังไม่เห็นตำรวจหญิงมากนัก”

2. คิดว่าการมีตำรวจหญิงจำเป็นหรือไม่ในปัจจุบัน?

“เราคิดว่าจำเป็น บางเรื่องผู้ชายอาจจะไม่ละเอียดอ่อนเท่ากับผู้หญิง ตำรวจหญิงน่าจะเข้ามาเสริมในด้านนี้ได้ดีกว่า”

3. ผู้หญิงควรมีสิทธิเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจไหม?

“ควรจะให้สิทธิผู้หญิงเรียนด้วย เราคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องเพศแล้ว ต้องดูที่ความสามารถมากกว่า ถ้าความสามารถเขาไปได้ก็คือไปได้ เพศอะไรมันก็เท่านั้น”

คนไร้สัญชาติ ลูกชายของแรงงานข้ามชาติไทใหญ่ เกิดในประเทศไทย โตในประเทศไทย และทำงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในไทย

1. มีมุมมองต่อตำรวจหญิงในสังคมไทยอย่างไร?

“ในส่วนตัวผมไม่ค่อยเจอตำรวจหญิงมีบทบาทสักเท่าไหร่ในกรมตำรวจ แม้กระทั่งในกระบวนการที่ต้องสอบเหยื่อที่เป็นผู้หญิงด้วย หลังๆ มาก็เห็นข่าวว่าจะไม่เปิดรับแล้ว แต่จริงๆ มันควรจะมีสัดส่วนของผู้หญิงในการทำงานของตำรวจ

ผมเคยเจอสามีภรรยาตีกันอยู่ข้างทาง ผมไปแยกเขา แล้วผู้หญิงบอกว่าเขาโดนสามีซ้อม สามีเขาเมายา ผู้หญิงกระโดดขึ้นรถผม ผมก็พาเขาไปส่งโรงพัก แล้วเราไปเจอตำรวจผู้ชายเขาบอกว่า “มึงไปยุ่งเรื่องของผัวเมียเขาทำไม” เหมือนเขาไม่เข้าใจหรอกว่าเหยื่อเป็นผู้หญิง เขาพึ่งใครไม่ได้เลย ถ้าในสถานการณ์นั้นเราไปเจอตำรวจผู้หญิงอาจจะมีความเห็นอกเห็นใจกันมากกว่านี้ จริงๆ เหยื่อเขาถูกทำร้ายร่างกายนะ ไม่ใช่แค่เรื่องผัวเมีย”

2. คิดว่าการมีตำรวจหญิงจำเป็นหรือไม่ในปัจจุบัน?

“จำเป็นอย่างยิ่ง และควรมีในสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกันทั้งระบบ บางเรื่องผู้ชายก็มองข้ามไป”

3. ผู้หญิงควรมีสิทธิเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจไหม?

“ควรมีสิทธิได้เรียน มันสะท้อนไปถึงเรื่องมุมมองการเหยียดเพศว่าผู้หญิงไม่สามารถทำงานแบบนี้ได้ เหมือนเราไปจำกัดศักยภาพของผู้หญิง ผมคิดว่าบางเรื่องผู้หญิงทำงานนี้ได้ดีว่าผู้ชาย แต่ปัจจุบันนี้เราแทบจะไม่เห็นผู้หญิงเลย”

วุฒิชัย พากดวงใจ

1. มีมุมมองต่อตำรวจหญิงในสังคมไทยอย่างไร?

“จากสิ่งที่ปรากฏออกมาตำรวจหญิงเหมือนชนชั้นคนรับใช้ในองค์กรตำรวจ โดยหลักการแล้วตำรวจหญิงจำเป็น แต่ไม่ใช่แบบนี้ ไม่ใช่แบบที่เอามาเป็นขาไมค์ ขาตั้งกล้อง ความจำเป็นของตำรวจหญิงจะมีในคดีความรุนแรงในครอบครัว คดีที่เกี่ยวกับผู้หญิงหรือเพศที่มีอำนาจต่อรองในสังคมต่ำกว่า มันต้องการบุคลากรที่มีความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจเหยื่อผู้เสียหายเหล่านี้ ต่อให้เป็นผู้ต้องหาหญิงก็ตาม ก็จำเป็นต้องมีคนเข้าอกเข้าใจเขาเหมือนกัน แต่ภาพของตำรวจหญิงที่ปรากฎออกมาตอนนี้มันไม่ถูกต้องตามหลักการที่ควรจะเป็น”

2. คิดว่าการมีตำรวจหญิงจำเป็นหรือไม่ในปัจจุบัน?

“สำคัญมากๆ สัดส่วนตำรวจชายหญิงจริงๆ ผู้หญิงต้องเพิ่มมากกว่านี้ และจะต้องมีอำนาจตัดสินใจในฝ่ายบริหารที่มากกว่านี้ สภาพตอนนี้มันไม่ใช่เลย”

3. ผู้หญิงควรมีสิทธิเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจไหม?

“ทำไมไม่ควรล่ะ ถ้าพูดถึงโรงเรียนนายร้อยตำรวจโดยตัวมันเองก็มีปัญหาเหมือนกัน มันคือการกีดกันคนจำนวนมากออกไปจากวิชาชีพตำรวจ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องสิทธิผู้หญิงควรมีสิทธิเรียน เราไม่ควรถามหาเหตุผลด้วยซ้ำ การไม่ให้สิทธิผู้หญิงต่างหากที่ไม่ makes sense”

นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์

1. มีมุมมองต่อตำรวจหญิงในสังคมไทยอย่างไร?

“ในองค์กรตำรวจจากที่ศึกษามาเป็นองค์กรที่มีความชายเป็นใหญ่สูงมาก อัตราตำรวจชายที่ทำงานในสถานีตำรวจมีมากกว่าตำรวจหญิง ตัวตำรวจเองมีทั้งที่มาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สายที่จบนิติศาสตร์หรือสายที่จบม.6 แล้วสอบเข้ามาเป็นตำรวจ ส่วนมากเป็นผู้ชายที่เขาถูกบ่มเพาะมาโดยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ การที่มีผู้หญิงอยู่ด้านใน สภ. ส่วนใหญ่ผู้หญิงที่เจอเขาจะไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับผู้ชายที่อยู่ข้างในนั้น เนื่องด้วยอาจจะเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้รับการยอมรับ และการไต่เต้าไปในตำแหน่งที่สูงกว่าเป็นไปได้ยาก หากไม่ได้มีเส้นสาย ถ้าใช้ความสามารถอย่างเดียวในโครงสร้างตำรวจโดยเฉพาะพนักงานสอบสวนในปัจจุบันที่ใช้ยศตำแหน่งแท่นเดียวกับตำรวจทั่วไป ไม่ได้แย่งแท่นกัน ก็เป็นไปได้ยากที่ผู้หญิงจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานในตำแหน่งที่สูงเทียบเท่ากับผู้ชาย”

2. คิดว่าการมีตำรวจหญิงจำเป็นหรือไม่ในปัจจุบัน?

“จำเป็น ตามประมวลกฎหมายวิอาญากำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดที่ต้องตรวจร่างกายผู้หญิง เขาต้องการให้ผู้หญิงด้วยกันเป็นคนถามเป็นคนตรวจ ต้องใช้พนักงานสอบสวนหญิง เช่นในคดีที่ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศมา เหยื่ออาจไม่กล้าพูดกับตำรวจผู้ชาย การที่มีตำรวจหญิงรองรับให้เพียงพออยู่ในสถานีตำรวจเป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำให้มันเท่าเทียมกัน ถ้ามีจำนวนตำรวจผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นมันอาจจะช่วยทำให้วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ลดลงได้”

3. ผู้หญิงควรมีสิทธิเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจไหม?

“จริงๆ แล้วไม่เห็นด้วยกับการเรียนนายร้อยตำรวจเลย ตำรวจที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจและตั้งใจทำงานก็มี แต่มีน้อย และยังขาดความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมายอยู่มาก ตำรวจพวกนี้เขาก็จะมีเครือข่ายของเขาที่จบมาจากโรงเรียนนายร้อยด้วยกัน การเลื่อนตำแหน่งก็จะได้เปรียบกว่าตำรวจสายที่จบจากนิติศาสตร์หรือม.6

นอกจากนี้ตำรวจควรที่จะมีความยึดโยงกับชุมชน เขาอยู่ที่ชุมชนไหนเขาก็จะมีความแคร์กับชุมชนนั้น และต้องการพัฒนาชุมชนที่เขาอยู่ แต่ในลักษณะโครงสร้างของงานตำรวจมีการโยกย้าย มีการเอาตำรวจที่บ้านอยู่อำเภอปายไปไว้ที่ภาคกลางหรือชายแดน มันทำให้ตำรวจไม่ยึดโยงกับพื้นที่ เขารู้สึกแปลกแยก คนในพื้นที่ก็รู้สึกว่าตำรวจแปลกแยก และการเชื่อฟังเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ใช้ความสัมพันธ์ในชุมชน แต่ใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามมากกว่า”

ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาที่ถูกดำเนินคดี 112 (เสื้อสีเทา)

1. มีมุมมองต่อตำรวจหญิงในสังคมไทยอย่างไร?

“ผมไม่ค่อยได้เจอตำรวจหญิง แต่เท่าที่ดูก็รู้สึกว่าตำรวจหญิงจะทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจ soft ลง ด้วยภาพที่อำนาจของตำรวจดูโหด ผมสังเกตได้ว่าตอนที่แกนนำทั้งหลายที่เป็นผู้หญิงถูกจับ เขาก็จะใช้ตำรวจหญิงในการเข้าจับกุม ถ้าเขาให้ตำรวจชายเข้าไปก็จะมีเรื่องตามมาอีก เช่นอย่างการจับรุ้งที่มีคลิปออกมา เขาก็ใช้ตำรวจหญิงเป็นหลักในการ attack

แต่ตั้งแต่ผมไปสถานีตำรวจมา ผมไม่เคยเจอตำรวจหญิงอยู่ในสถานีตำรวจเลย”

2. คิดว่าการมีตำรวจหญิงจำเป็นหรือไม่ในปัจจุบัน?

“จำเป็น จริงๆ เราก็ต้องมีทุกเพศอยู่แล้ว ในเรื่องของกฎระเบียบคุณก็ต้องปรับให้เข้ากับเขา แต่ว่าตำรวจหญิงในสายตาของความเป็นตำรวจก็จะดูด้อยค่ากว่าตำรวจชาย แต่ถ้าวัดจากการทำงานมันก็ควรมี ในต่างประเทศเขาก็มีตำรวจหญิงกัน แต่ในองค์กรตำรวจไทยเขาอาจจะให้ตำรวจหญิงไปทำพวกงานเอกสารหรืองานผู้หญิงๆ ซึ่งความจริงมันไม่ควรเป็นแบบนั้น”

3. ผู้หญิงควรมีสิทธิเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจไหม?

“จริงๆ ก็ควรมีการรับผู้หญิง ในทุกเหล่าทัพควรมีการ recruit ผู้หญิงไปด้วย แต่ผมไม่รู้ว่าพวกโรงเรียนนายร้อยที่รับผู้ชายมาตลอดเขาจะมีวัฒนธรรมแบบไหน อาจจะมีวัฒนธรรมความเป็นชายที่ทับถมกันอยู่ในนั้น ถ้าจะเปิดให้ผู้หญิงเข้าไปเรียนก็ต้องเปิดรื้อเรื่องพวกนั้นออก เพื่อให้ผู้หญิงและเพศอื่นๆ สามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ได้ สุดท้ายแล้วมันก็เป็นแค่โรงเรียนโรงเรียนหนึ่งสำหรับผม แต่วัฒนธรรมและระบบที่ไม่เวิร์คก็ต้องจัดการ

การไม่เปิดรับผู้หญิงเข้าไปมันก็สะท้อนถึง patriarchy บางอย่าง”

ภาสกร ญี่นาง (ลูกชายตำรวจ)

1. มีมุมมองต่อตำรวจหญิงในสังคมไทยอย่างไร?

“ตำรวจหญิงเป็นกลุ่มคนที่ทำให้ภาพจำเกี่ยวกับตำรวจของใครหลายคนเปลี่ยนไปจากเดิม ตั้งแต่สมัยเด็ก ชีวิตจะผูกพันกับราชการตำรวจมาตลอด เพราะพ่อทำงานเป็นตำรวจ ด้วยความไร้เดียงสาในตอนนั้นคิดว่า ตำรวจ คือ ภาพแทนของความเป็นชายที่แข็งแกร่ง กล้าหาญ มีความอดทน แต่กับตำรวจหญิง การรับรู้อาจไม่ใช่แบบเดียวกัน การที่ผู้หญิงมาทำงานเป็นตำรวจ ทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจจากที่ดูห้าวหาญเพียงอย่างเดียว ให้ดูอ่อนโยน นุ่มนวล เข้าถึงได้และมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น

ส่วนในแง่ของศักยภาพ อาจไม่ต่างจากตำรวจชายเท่าไหร่นัก หรือแม้กระทั่งเคยมีตำรวจชายด้วยกันมักกล่าวถึงตำรวจหญิงว่า ทำงานได้ละเอียดรอบคอบมากกว่าตำรวจชายเสียด้วยซ้ำ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ตำรวจหญิง คือ ผู้หญิงที่ต้องเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยเพศชายมาตลอด จึงเป็นไปได้ยากที่เราจะเห็นตำรวจหญิงมีตำแหน่งใหญ่โตขึ้นไปเป็นระดับผู้บังคับบัญชา และส่วนใหญ่ก็คงอยู่ในงานส่วนธุรการหรืองานอำนวยการ ก้าวหน้าขึ้นหน่อยก็อาจขยับมาระดับเจ้าพนักงานสอบสวน แต่ไม่ถึงกับระดับผู้บังคับบัญชาอยู่ดี”

2. คิดว่าการมีตำรวจหญิงจำเป็นหรือไม่ในปัจจุบัน?

“คิดว่าหน่วยงานรัฐไม่ว่าจะมีหน้าที่อะไรก็ตาม ควรคำนึงถึง gender balance ให้มากขึ้น เพื่อรองรับกับพลวัตและความเลื่อนไหลของสังคม ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ตำรวจที่ยึดครองโดยผู้ชาย และครอบงำด้วยทัศนะความเป็นชาย ตลอดจนการกดทับด้วยระบอบชายเป็นใหญ่ ย่อมทำให้อคติทางเพศเกิดขึ้นตามมา และส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศที่เหยื่อส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ซึ่งเสี่ยงที่จะถูกกระทำซ้ำผ่านกระบวนการยุติธรรมที่มีผู้ชายเป็นผู้ดำเนินการ

เอาจริงๆ ตำรวจหญิงเป็นตัวละครที่จำเป็นอย่างยิ่ง ในกระบวนพิจารณาความอาญา การสืบสวนสอบสวน และการแสวงหาพยานหลักฐาน เพราะในประมวลกฎหมายวิอาญา มาตรา 85 ก็กำหนดว่าต้องให้ตำรวจหญิงเป็นผู้เข้าจับกุมหรือค้นตัวผู้ถูกจับกุมที่เป็นเพศหญิง หรือในคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กเยาวชน การให้ตำรวจหญิงมาปฏิบัติการอาจช่วยลดบรรยากาศความตึงเครียดที่กดดันต่อตัวเด็กผ่อนคลายลงได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติเรื่องเพศในระดับปัจเจกบุคคลด้วย เนื่องจากเราไม่สามารถการันตีได้ว่า ผู้หญิงจะไม่ถูกครอบงำด้วยอคติทางเพศ ซึ่งเกิดจากการถูกกดทับด้วยระบอบชายเป็นใหญ่อีกที ซึ่งเผลอๆ ผู้หญิงบางคนมีมากกว่าชายเสียด้วยซ้ำ

ความอ่อนโยนของตำรวจหญิง หรือภาพลักษณ์ที่ไม่แข็งกร้าวเท่ากับตำรวจชาย ก็อาจถูกผู้มีอำนาจฉวยโอกาสนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาและนำมาปราบประชาชนผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจได้ เห็นได้จากการที่มีการนำกำลังตำรวจหญิงเข้าควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อหวังว่าจะสามารถเป็นตัวลดแรงเสียดทานหรือความเดือดดาลจากผู้ชุมนุมได้ สาเหตุที่เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นก็ไม่พ้นเรื่องชายเป็นใหญ่ในหมู่ตำรวจ เพราะความคิดแบบชายเป็นใหญ่จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้ผู้หญิงเป็นผู้อ่อนแอ การกระทำตอบโต้ตำรวจหญิงของผู้ชุมนุมเท่ากับเป็นการกระทำต่อผู้อ่อนแอ และดูรุนแรงยิ่งกว่าการตอบโต้ตำรวจชาย จนกลายเป็นเรื่องทำลายความชอบธรรมของขบวนการเคลื่อนไหว รวมไปถึงทำให้ผู้มีอำนาจอ้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมได้ในที่สุด

3. ผู้หญิงควรมีสิทธิเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจไหม?

“ในสังคมที่มีอารยะ ในประเทศพัฒนาที่สังคมมีความเสมอภาคทางเพศ คำถามลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะมันจะกลับไปสู่การถกเถียงกันเรื่องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิมนุษยชนในประเด็นการเข้าถึงการศึกษา และเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพของคนทุกเพศ การกีดกันไม่ให้ผู้หญิงเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจก็เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุอันไม่ชอบธรรมและความแตกต่างทางเพศ ซึ่งขัดกับทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ หรือกระทั่งรัฐธรรมนูญในประเทศไทยเอง

เมื่อพิจารณาในแง่สาระสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจก็คือการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ความเป็นหญิงกับความเป็นชายย่อมไม่ทำให้ผลลัพธ์หรือการปฏิบัติงานแตกต่างกันจนก่อให้เกิดปัญหา แถมยังช่วยอุดช่องว่าง แก้ไขข้อบกพร่องบางอย่างที่ตำรวจชายทำไม่ได้ ทำให้กระบวนการยุติธรรมโดยรวมพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีกด้วย”

ดรุเณศ เฌอหมื่อ

1. มีมุมมองต่อตำรวจหญิงในสังคมไทยอย่างไร?

“ตอบยากมากค่ะ เราแทบจะไม่เคยเห็นตำรวจที่เป็นผู้หญิงเลยด้วยซ้ำ มุมมองต่อตำรวจหญิงของเราก็ไม่ต่างจากพนักงานธุรการ พยาบาล การเงิน ไม่เคยเห็นหรอกค่ะตำรวจหญิงที่ได้มาทำหน้าที่ปฏิบัติการจริงๆ ทำให้เราคิดว่านอกจากเรื่องช่องทางการเข้าสู่อาชีพที่น้อยเต็มประดาแล้ว ในอีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นตัวผุ้หญิงเองที่ไม่อยากเข้าสู่อาชีพตำรวจก็ได้ หากจะต้องเข้าไปเป็นตำรวจหญิงแบบ “ตำรวจหญิงไทย” ทุกวันนี้คงไม่ใช่อะไรที่ฝันไว้แน่ๆ และถ้ามองอีกด้านเราก็ยังไม่เคยเห็นตำรวจที่เป็น LGBTQ+ เช่น กะเทยหรือผู้ชายที่มีลักษณะตุ้งติ้ง ไม่แน่กะเทยก็อยากเป็นตำรวจก็ได้นะแม่นะ”

2. คิดว่าการมีตำรวจหญิงจำเป็นหรือไม่ในปัจจุบัน?

“เป็นเรื่องแปลกมากที่วันนี้เรายังต้องมาถามคำถามที่มีคำตอบอยู่แล้วแบบนี้ คำตอบของคำถามข้อนี้เริ่มต้นด้วยสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเราแบบนี้ เราเคยเห็นคนตั้งกระทู้ Pantip ถามเหมือนกันว่า ‘ก็รู้ทั้งรู้ ทหารกับตำรวจหญิง จะทำอะไรได้กับโจร แล้วจะรับไปแบกภาระไปทำไมเนี่ย’

หนึ่ง ประเด็นนี้เป็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ในช่วงเวลาที่เราก้าวไปสู่สังคมประชาธิปไตย หรือภายใต้บรรยากาศที่รัฐมีแผนยุทธศาสตร์ชาติที่เน้นเรื่องความเท่าเทียม ความเป็นกลางทางสังคม และภาคประชาชนเองก็ออกมารณรงค์เรื่องความเท่าเทียมต่างๆ มากมาย ไม่ควรมีอาชีพไหนที่ถูกยึดไว้เป็นอาชีพของคนเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น

เมื่อเรามองย้อนมาที่คำถามว่าแล้วทำไมประเทศเรายังมองว่างานตำรวจ (ชุดปฏิบัติการ) ยังเป็นเรื่องของผู้ชายอยู่ อาจเพราะกลิ่นอายของแนวคิดเรื่องความเป็นชายที่ผูกผู้ชายไว้กับหน้าที่ผู้นำครอบครัว ความเข้มแข็งความแข็งแกร่ง ทำให้ผู้ชายมีความเคอะเขินเมื่อเห็นว่าผู้หญิงสามารถเข้ามาทำหน้าที่เดียวกับตนได้ สามารถที่จะทำงานได้เหมือนผู้ชาย สะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยยังคงผูกอาชีพหรือแม้กระทั่งตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการ ควบคุม หรืออยู่เหนือคนอื่นๆ ไว้กับเพศชาย

เราเลยมองว่าตำรวจหญิงคือหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐหรือผู้ชายที่ไม่ศิวิไลซ์บางกลุ่มใช้เพื่อเป็นภาพแทนว่าผู้ชายยังคงเป็นใหญ่อยู่ในบางองค์กร ดังนั้นในประเด็นความเท่าทียมทางเพศการมีตำรวจหญิงจึงเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญ และเป็นภาพแทนของสังคมที่ก้าวเข้าสู่สังคมที่มองเห็นความเป็นหลากหลายทางเพศ และสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

สอง ประเด็นเรื่องความรุนแรง งานตำรวจถูกมองว่าเป็นงานแบบ “ตำรวจจับผู้ร้าย” ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่เวลาไหนที่ตำรวจถูกปลูกฝังให้เป็นหน่วยงานที่เน้นเรื่องการปราบปรามมากกว่าควบคุม เพื่อบรรเทาปัญหา งานตำรวจจึงถูกเน้นให้ใช้กำลังทางกายภาพเสียส่วนใหญ่ ซึ่งมองว่าปัจจุบันก็ยังคงเป็นแบบนั้น เช่น ภาพการใช้ความรุนแรงของตำรวจในการเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำผิด แม้ว่าจะเป็นคดีทั่วไปหรือคดีทางการเมือง บางทีไม่จำเป็นจะต้องใช้ความรุนแรงเลยด้วยซ้ำ บางคดีเป็นคดีที่สามารถจบลงได้ด้วยการหลีกเลี่ยงความรุนแรง

เรายังเห็นการวิจัยในสหรัฐที่ระบุว่าในสถานการณ์ลักษณะเดียวกันตำรวจหญิงปฏิบัติงานด้วยความรุนแรงที่น้อยกว่าตำรวจชาย เพราะตำรวจหญิงเชื่อว่าการหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีกว่าการใช้กำลัง”

3. ผู้หญิงควรมีสิทธิเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจไหม?

“ความคิดแรกมองว่า ควร เพราะมองว่าการที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นการกีดกันผู้หญิงออกจากอาชีพตำรวจอย่างหนึ่ง แต่คิดไปคิดมาถ้าหากว่ายังเป็นโรงเรียนนายร้อยตำรวจแบบเดิมๆ แบบไทยๆ เราก็ไม่อยากให้ผู้หญิงเข้าไปเจออะไรในนั้นหรอก อย่าพูดถึงแต่ผู้หญิงเลย เราก็ไม่อยากให้เขาเข้าไปอยู่ในโรงเรียนแบบนั้น

เรามองว่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจไม่ได้มีประโยชน์ขนาดนั้น ถ้ายังเป็นแบบไทยๆ ที่ใครก็ตามเข้าไปแล้วยังถูกสั่งให้หมอบ สั่งให้ทำตามคำสั่งมากกว่าการอบรมเพื่อเป็นเจ้าหน้าที่รับใช้ประชาชน ถ้าเป็นแบบนั้นเขาก็จะเป็นแค่ตำรวจที่ทำตามคำสั่งนายเท่านั้น เพียงแค่ถ้าเป็นผู้หญิงเข้าไปอยู่ในนั้นเขาอาจจะถูกกระทำหนักกว่านักเรียนนายร้อยตำรวจชายเสียอีก

คำถามนี้เลยตอบยากมากสำหรับเรา เอาเป็นว่าในความคิดเห็น ณ ตอนนี้ ถ้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจยังเป็นแบบไทยๆ คนแก่ข้างในยังเป็นชายแก่บ้าอำนาจ ชายเป็นใหญ่แบบนี้เราว่าใครก็ไม่ควรเข้าไป แต่ถ้าวันไหนผู้ใหญ่ในบ้านเราออกจากกะลาแล้วจริงๆ เป็นประเทศศิวิไลซ์แล้วจริงๆ เราคงไม่ต้องมานั่งถามคำถามแบบนี้กันอยู่ เราไม่จำเป็นต้องมานั่งถามว่าผู้หญิงควรมีสิทธินี้หรือสิทธินั้นไหม ผู้หญิงต้องมีสิทธิ”

 

สกู๊ปนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษชุด เพศสภาพในงานตำรวจ (Gender and policing) ซึ่งจะมีการนำเสนอระหว่างพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท