Skip to main content
sharethis

ที่มา: Shutterstock
 

เชิงอรรถบรรณาธิการ: เมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักวิจัยจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) ได้ศึกษาไฮเปอร์ลิงก์กว่า 2.3 ล้านลิงก์ที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของ The New York Times ระหว่างปี 1996-2019 พวกเขาพบว่า 1 ใน 4 ของลิงก์แหล่งอ้างอิงต้นทางทั้งหมดนั้นไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว และมากกว่าครึ่ง หรือ 53% ของบทความทั้งหมดที่มีการแทรกลิงก์ต่างก็ประสบกับปัญหา “ลิงก์เสื่อม” อย่างน้อยหนึ่งอย่าง ประเด็นปัญหาเหล่านี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของงานวิจัยอย่างรายงานล่าสุดจากสถาบัน Donald W. Reynolds Journalism Institute ในชื่อ “The State of Digital News Preservation” ซึ่งเราได้คัดเลือกบางส่วนมาในบทความข้างล่างนี้

ไม่มีพาดหัวข่าวที่บอกว่าสำนักข่าวทั่วทั้งสหรัฐอเมริกากำลังดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด ต้องต่อสู้กับสารพัดกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ความผกผันของการแข่งขันทางดิจิทัลและเทคโนโลยี เผชิญพายุการโจมตีทางการเมือง และในปี 2020 ก็ต้องรับมือกับผลพวงจากโรคระบาดอย่างกะทันหัน

แม้ปัญหาเหล่านี้จะเป็นที่รู้จักกันดีในอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ถูกรับรู้ในวงแคบๆ เป็นการดิ้นรนที่ไม่ถูกจัดลำดับของสำนักข่าว นั่นก็คือ ผลกระทบต่อทรัพยากรอันไม่อาจทดแทนได้ซึ่งจำเป็นสำหรับพลเมืองรอบโลก หรือบันทึกสาธารณะเกี่ยวกับชุมชนของพวกเขา ตามที่ได้รับการบันทึกไว้โดยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น วิทยุ สถานีโทรทัศน์ ห้องข่าวออนไลน์ หรือช่องทางสื่ออื่นๆ

ถ้าหากว่าบันทึกเหล่านี้กำลังเลือนหายไปล่ะ ถ้าหากส่วนสำคัญของสายธารข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น โดยเฉพาะเนื้อหาดิจิทัลกำลังสูญหายไป ถูกลบเลือน ถูกเครื่องจักรของเทคโนโลยีกลืนกิน ไม่ได้รับการทำนุบำรุงท่ามกลางการดิ้นรนขัดสนทางการเงิน ถูกปล่อยให้เสื่อมลงบนโลกดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ถูกตัดขาดจากองค์ประกอบอันหลากหลายของมัน ถูกปล่อยให้ย่อยสลายหายไป ถ้าหากว่าความซับซ้อนเกินเข้าใจของระบบการตีพิมพ์ดิจิทัลสมัยใหม่กำลังทำให้ร่างประวัติศาสตร์ฉบับแรกของเราสลายตัวลงล่ะ

นี่คือข้อเท็จจริงอันน่าเศร้าที่กำลังเกิดขึ้นกับสำนักข่าวทั่วสหรัฐฯ ในขณะนี้ เบื้องหลังการดิ้นรนบนเวทีสาธารณะของอุตสาหกรรมข่าวนั้น ความพยายามที่จะเก็บรักษาข่าวประจำวันกลับค่อยๆ ถดถอยลงไปอย่างเงียบเชียบ แม้จะมองแทบไม่เห็นแต่ก็น่ากังวลอย่างยิ่ง

ตามที่สถาบัน Donald W. Reynolds Journalism Institute เสนอไว้ชัดเจนใน “The State of Digital News Preservation” รายงานฉบับล่าสุดที่ระบุว่าในขณะนี้ สำนักข่าวสามารถรับมือกับปัญหาการเก็บรักษาข้อมูลดิจิทัลได้หลายขั้นตอนโดยไม่ต้องลงทุนทางการเงิน คุณอาจไม่สามารถทำได้ทุกอย่างที่ต้องการในทันที แต่การเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดอันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าว

คำแนะนำต่อไปนี้มาจากนักวิจัยที่ศึกษาว่าสำนักข่าวของคุณสามารถทำอะไรได้บ้างในตอนนี้

การรู้และเข้าใจคำอธิบายข้อมูลที่คุณมีอยู่ คือขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยยกระดับกระบวนการเก็บรักษาข้อมูลสำหรับเนื้อหาที่มีเอกลักษณ์ของคุณ 

1. สร้างนโยบายการเก็บรักษา รับมือกับเรื่องบังเอิญ

พวกเราแนะนำให้ทุกๆ องค์กรข่าวจัดตั้งนโยบายสำหรับการเก็บรักษาข่าว ไม่จำเป็นต้องเป็นเอกสารยาวเหยียด แค่หน้าหรือสองหน้าก็เพียงพอสำหรับการเริ่มต้นในจุดนี้ ร่างเป้าหมายของนโยบายโดยพิจารณาจากเนื้อหาที่คุณต้องการจะเก็บรักษา เก็บรักษาไว้เพื่อใคร และเนื้อหานั้นสามารถนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์ใดได้บ้าง เช่น การค้นคว้าข่าวสำหรับใช้ภายในองค์กร เป็นต้น หลังจากนั้น คุณอาจต้องการระบุชนิดของไฟล์เพิ่มเติม ใครบ้างที่ควรเข้าถึงไฟล์นั้นได้ พร้อมวางแนวทางว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงไฟล์เหล่านั้นได้แค่ไหนหลังจากเผยแพร่เนื้อหาไปแล้ว ใครสามารถทำเช่นนี้ได้บ้าง และต้องทำเรื่องขออนุมัติหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น คุณควรร่างนโยบายว่าด้วยการยกเลิกเผยแพร่ข่าว (ดูเพิ่มเติมข้างล่าง) เพราะมันอาจส่งผลกระทบกับเนื้อหาที่บันทึกไว้ได้

นอกจากนี้ คุณอาจต้องการรวมหน่วยงานอื่นขององค์กรนอกเหนือจากห้องข่าวด้วย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี รวมถึงส่วนงานที่แสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในตลาดจากคลังข้อมูลที่พัฒนาขึ้นแล้ว งานวิจัยของพวกเราบ่งชี้ว่าการมีนโยบายสำหรับฝ่ายเทคโนโลยีเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นเป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการเก็บรักษาข้อมูล หากห้องข่าวของคุณคล้ายคลึงกับห้องข่าวส่วนใหญ่ที่เราได้สัมภาษณ์มา คุณก็คงยังไม่มีแนวทางสำหรับการเก็บรักษาข้อมูล และควรเริ่มเสียตั้งแต่ตอนนี้ หลังจากร่างนโยบายแล้ว คุณควรจะต้องสื่อสารนโยบายดังกล่าวให้ทุกคนในองค์กรรับทราบ จัดวางกลไกในการอัปเดตและสื่อสารการเปลี่ยนแปลงนโยบายกันใหม่เมื่อองค์กรของคุณพัฒนามันให้ดีขึ้นในเวลาต่อไป

2. มอบหมายให้ใครสักคนรับผิดชอบการเก็บรักษาข้อมูล

ควรมอบหมายใครสักคนในห้องข่าวของคุณเริ่มรับผิดชอบการเก็บรักษาเนื้อหา ตอนนี้ห้องข่าวของคุณคงจะไม่มีคนประจำตำแหน่งบรรณารักษ์ข่าวแล้ว หรืออาจไม่เคยมีตั้งแต่แรก ให้เริ่มกระบวนการตั้งแต่ตอนนี้ โดยมอบหมายให้ใครสักคนในห้องข่าวคอยดูแลช่วงตั้งต้นของกระบวนการเพื่อจัดวางระบบเก็บรักษาเนื้อหาดิจิทัลในระยะยาว แม้ว่านี่จะเป็นแค่บทบาทส่วนหนึ่งของคนๆ นั้น แต่ก็อย่ารอคอย ยังมีหนทางอีกยาวไกลที่ต้องใช้เวลาหลายเดือน หากไม่ใช่หลายปี แต่ขั้นตอนแรกเริ่มนี้เป็นจุดตั้งต้นที่จะขาดไปไม่ได้ และคุณไม่มีทางเริ่มต้นเร็วเกินไปได้ กระบวนการทั้งหมดจะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย เว้นแต่ใครสักคนจะเข้ามารับผิดชอบส่วนนี้

ในทางอุดมคตินั้นจะดีที่สุดหากคุณสามารถจ้างนักจัดเก็บสื่อมืออาชีพสำหรับงานนี้ ซึ่งเป็นคนที่สามารถช่วยสร้างแผนการเก็บรักษาเนื้อหาข่าวดิจิทัล จัดการคำอธิบายข้อมูล (metadata) วางขั้นตอนการทำงาน และอื่น ๆ อีกมากมายได้ งานวิจัยของเราชี้ว่าองค์กรที่มีฝ่ายจัดการคลังข้อมูลโดยเฉพาะ แม้จะเป็นแค่พนักงานพาร์ทไทม์ก็ตาม ล้วนเก็บรักษาเนื้อหาข่าวดิจิทัลได้ดีกว่า

3. ทบทวนคำอธิบายข้อมูล (metadata) เพื่อให้แน่ใจว่าคุณมีสิ่งที่จำเป็นแล้ว

การรู้และเข้าใจคำอธิบายข้อมูลที่คุณมีอยู่ คือขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยยกระดับกระบวนการเก็บรักษาข้อมูลสำหรับเนื้อหาที่มีเอกลักษณ์ของคุณ การทบทวนคลังข้อมูลจะช่วยชี้ว่าคุณควรทำสิ่งใดเพิ่มเพื่อให้แน่ใจว่าคุณมีคำอธิบายข้อมูลที่ชัดเจนสำหรับเนื้อหาต่างๆ รวมถึงแหล่งที่มาและเจ้าของข้อมูลนั้น คุณอาจต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ใช้อยู่เพื่อการนี้ โดยเฉพาะการปรับการตั้งค่าเพื่อเพิ่มหรือแก้ไขคำอธิบายข้อมูลชุดต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับเนื้อหาแต่ละชนิด

ตัวอย่างเช่น แนวโน้มหนึ่งที่เราสังเกตเห็นคือฟังก์ชันระบุเนื้อหาข่าวต่างๆ มักจะเกิดขึ้นนอกแพลตฟอร์ม ไม่ได้ทำกันในระบบการจัดการเนื้อหาเว็บไซต์ (Content Management System: CMS) แต่ทำในเครื่องมืออย่าง Google Docs หรือ Google Sheets ซึ่งมันจะถูกเขียนทับหรือลบทิ้งไปในภายหลัง แต่ข้อมูลนี้เป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่ควรเก็บรักษาไว้ เพราะมันเผยให้เห็นเจตนาต่าง ๆ การวางแผนสำหรับการทำข่าว ซึ่งช่วยในการระบุจุดประสงค์ เวลาและวันที่ ไปจนถึงบุคคลที่มีส่วนร่วมในการสร้างเรื่องราว ภาพ หรือวิดีโอ

หากเป็นไปได้ ให้ทำงานกับผู้ให้บริการเทคโนโลยีของคุณ หาวิธีในการป้อนข้อมูลเหล่านี้เข้าไปในชุดคำอธิบายข้อมูลสำหรับเนื้อหาของคุณ เพื่อที่มันจะได้คงอยู่ในนั้นตลอดไป ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้ได้เสมอว่าภาพหรือวิดีโอนั้นมาจากที่ไหน ถูกถ่ายเมื่อไหร่ ใครเป็นคนถ่าย และมันจัดทำขึ้นสำหรับใช้ในการทำข่าวเรื่องอะไร นี่คือข้อมูลอันไม่อาจประเมินค่าได้ที่องค์กรหน้าใหม่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ และหากเป็นไปได้ ให้ทำแบบเดียวกันนี้กับข้อมูลที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการผลิตหรือระบบเผยแพร่ของคุณ ได้แก่ ภาพนิ่งที่ไม่ได้ถูกใช้ วิดีโอต้นฉบับก่อนการตัดต่อ และไฟล์เสียงต่างๆ การทำเช่นนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าคุณจะรับรู้ถึงเรื่องราวเบื้องหลังทุกๆ เนื้อหาที่สั่งสมไว้ตลอดการทำงาน

ในขณะเดียวกัน คุณควรตรวจเช็กให้แน่ใจว่าระบบ CMS ของคุณกำลังใช้หนึ่งในมาตรฐานคำอธิบายข้อมูลซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ นั่นคือ International Press Telecommunications Council หรือคำอธิบายข้อมูลแบบ IPTC สำหรับภายถ่ายและวิดีโอ ซึ่งตัวกล้องจะสร้างเอาไว้ตั้งแต่ชั่วขณะที่บันทึกภาพ รวมถึงเลขระบุเวลาและข้อมูลสถานที่ทางภูมิศาสตร์ด้วย โดยปกติแล้ว ชุดข้อมูล IPTC จะถูกนำไปประกอบกับคำบรรยายใต้ภาพและรายละเอียดอื่นๆ เมื่อข้อมูลภาพผ่านเข้าไปยังกระบวนการเผยแพร่ข่าว การตัดต่อและจัดรูปแบบก่อนที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะ

คำบรรยายใต้ภาพ: รายงานฉบับล่าสุดโดยสถาบัน Reynolds Journalism Institute จากมหาวิทยาลัยมิสซูรี (University of Missouri) ในสหรัฐฯ
 

แต่เราก็ได้ค้นพบด้วยว่า ระบบ CMS เว็บไซต์บางระบบนั้น ปฏิเสธที่จะอ่านชุดข้อมูลในส่วน IPTC เมื่อข้อมูลถูกนำเข้าระบบ หรือไม่ก็รับข้อมูลเพียงแค่บางส่วนจากที่บันทึกไว้เท่านั้น ถ้าหากว่านี่คือระบบเพียงหนึ่งเดียวที่องค์กรของคุณใช้ก็อาจหมายความว่าไฟล์รูปภาพที่คุณใช้ทำข่าวจะขาดชุดคำอธิบายข้อมูลที่สำคัญบางส่วนไป ซึ่งจะไม่เป็นปัญหาหากข้อมูลส่วนนี้ถูกตัดออกไปในขั้นตอนการเตรียม html ของหน้าเว็บไซต์สาธารณะ แต่คุณควรทำความเข้าใจกระบวนการนี้สำหรับห้องข่าวของคุณอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าในระหว่างกระบวนการทั้งหมดนี้ ไฟล์ภาพต้นฉบับที่มีชุดคำอธิบายข้อมูลครบถ้วนนั้นได้รับการเก็บรักษาเอาไว้

4. วางแผนเพื่อเตรียมรับมือกับคำร้องให้ “ยุติการเผยแพร่”

พิจารณาแนวทางของห้องข่าวคุณในการรับมือกับคำร้องให้ลบเนื้อหา ถอดเนื้อหาออกจากการค้นหา (de-index) หรือแก้ไขเนื้อหาที่เผยแพร่ไปแล้ว อันเป็นกระบวนการที่บางทีก็ทำให้ต้องยกเลิกการเผยแพร่ข่าว ด้วยความกังวลที่มากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต การแพร่หลายของผู้ให้บริการจัดการเรื่องชื่อเสียง และข้อจำกัดทางกฎหมายที่เริ่มปรากฏให้เห็น เช่น การออกกฎหมายเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลโดยสหภาพยุโรป ทั้งหมดนี้จึงเป็นข้อควรกังวลที่เร่งด่วนและมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับทุกองค์กรข่าว

นี่ไม่ใช่คำถามว่าการเปลี่ยนแปลงนี้กำลังเกิดขึ้นหรือไม่ อันที่จริงมันได้เกิดขึ้นไปแล้ว และเป็นเรื่องทั่วไปที่พนักงานในห้องข่าวหรือพนักงานฝ่ายเทคโนโลยีจะสามารถยกเลิกการเผยแพร่เนื้อหาโดยที่ผู้จัดการไม่ได้รับรู้ ทางเดียวที่จะควบคุมกระบวนการนี้ได้คือการเตรียมแผนและสื่อสารกับทั้งองค์กรของคุณให้ชัดเจน การสื่อสารนโยบายให้เป็นที่เข้าใจร่วมกันจะช่วยสนับสนุนความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการทำงาน

5. ระบุความเป็นเจ้าของเนื้อหาให้ชัดเจนในฐานข้อมูล CMS หรือระบบอื่นๆ

ระบุเจ้าของและลิขสิทธิ์สำหรับเนื้อหาที่คุณเผยแพร่เสียตั้งแต่ตอนนี้ แม้ว่าการเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อมูลความเป็นเจ้าของสำหรับเนื้อหาที่เผยแพร่ไปแล้วในภายหลังอาจยุ่งยาก แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้คุณลังเลเรื่องกาจัดการความเป็นเจ้าของให้ชัดเจนสำหรับเนื้อหาที่ห้องข่าวหรือพนักงานฟรีแลนซ์ของคุณกำลังผลิตและเตรียมจะเผยแพร่

เราขอแนะนำให้คุณศึกษาว่าบริษัทของคุณตอนนี้มีนโยบาย สัญญา และข้อตกลงการให้บริการเกี่ยวกับเนื้อหาที่คุณเผยแพร่อย่างไรบ้าง เช่น มีการกำหนดชัดเจนหรือไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของภาพหรือวิดีโอที่ถ่ายโดยทีมงานฝ่ายภาพของคุณ แล้วสิทธิในเนื้อหาข่าว ภาพกราฟิก เสียงและวิดีโอจากบทสัมภาษณ์หรือโปรเจ็กต์ข่าวเชิงข้อมูลจะตกเป็นของใคร คำถามเหล่านี้ไม่มีคำตอบตายตัว แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องขีดเส้นให้ชัดเจนสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นี่เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับเนื้อหาที่ผลิตโดยนักข่าวฟรีแลนซ์ คุณควรจะตระหนักถึงนัยสำคัญของคดีความอย่างกรณีฟ้องร้องระหว่างโจนาธาน ทาซินี (Jonathan Tasini) กับ The New York Times เมื่อปี 2001 เพราะกรณีนี้สะท้อนว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่คุณจะดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าห้องข่าวของคุณกำลังปฏิบัติตามแนวทางที่เกิดขึ้นหลังจากคดีความนั้น และหากคุณมีนโยบายหรือแนวทางที่ชัดเจนอยู่แล้ว ก็ไม่เสียหายอะไรที่จะทบทวนมันใหม่เพื่อให้แน่ใจว่ามันครอบคลุมความเป็นจริงของโลกดิจิทัลในปัจจุบัน รวมถึงเนื้อหาทุกชนิด (เช่น ผู้สื่อข่าวที่ถ่ายวิดีโอ) โซเชียลมีเดีย และอื่นๆ

หากโรคระบาดร้ายแรงเกิดขึ้นอีกใน 100 ปีข้างหน้า นักข่าว นักประวัติศาสตร์ และนักวิจัยในปี 2121 จะมีโอกาสได้รับบทเรียนจากประสบการณ์ของพวกเราในวันนี้หรือไม่

6. ลองทดสอบดูว่าชุดคำอธิบายข้อมูล ข้อมูลลิขสิทธิ์ ความเป็นเจ้าของ และกระบวนการทำงานของคุณดีพอแล้วหรือยัง

เราแนะนำให้คุณลองทำการทดสอบแบบเรียบง่ายเพื่อตรวจสอบว่าคุณยังมีปัญหาที่ควรแก้ไขเกี่ยวกับปัจจัยที่กล่าวถึงเบื้องต้นอีกหรือไม่ โดยการทดสอบต่อไปนี้เป็นการประเมินตนเองว่าองค์กรข่าวของคุณเตรียมพร้อมแค่ไหนสำหรับการเก็บรักษา การระบุที่มาและความเป็นเจ้าของสำหรับเนื้อหาเฉพาะตัวที่องค์กรของคุณผลิตขึ้น

ต่อไปนี้คือคำถามง่ายๆ ให้คุณลองถามตัวเอง และข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับกระบวนการนี้:

  • ทดสอบตัวเอง: นี่คือบททดสอบที่คุณสามารถทำวันไหนก็ได้ เพื่อระบุให้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในกระบวนการและระบบการทำข่าวในองค์กรของคุณ ตรวจสอบดูว่าคุณสามารถระบุที่มา ตำแหน่งที่เก็บ และกู้คืนต้นฉบับของทุกๆ ภาพถ่ายและวิดีโอที่ห้องข่าวของคุณเผยแพร่ไปในวันนี้ได้หรือไม่ เราไม่ได้หมายถึงชิ้นงานสำเนาหลายฉบับที่อาจโผล่ขึ้นมาในระบบ CMS ซึ่งปรับขนาดและตัดต่อแล้ว แต่หมายถึงไฟล์ต้นฉบับที่มีความละเอียดสูง คุณสามารถกู้คืนได้หรือไม่ และหากทำเช่นนั้นได้ เนื้อหานั้นมีชุดคำอธิบายข้อมูลเพียงพอหรือไม่ที่จะบอกอย่างชัดเจนว่าบริษัทของคุณเป็นเจ้าของภาพหรือวิดีโอนั้น
  • ยิ่งไปกว่านั้น ลองตรวจสอบว่าระบบ CMS ของคุณมีชุดข้อมูลที่บอกอย่างชัดเจนว่าเนื้อหานั้นผลิตขึ้นโดยพนักงานภายใน หรือว่ามาจากผู้สื่อข่าวหรือช่างภาพฟรีแลนซ์ หรือผู้รับจ้างต้นทางอื่นๆ หากระบบของคุณไม่มีชุดข้อมูลเหล่านี้ ลองพิจารณาขั้นตอนที่จะเพิ่มมันเข้าไป ทำให้มองเห็นและแก้ไขได้ในระบบบริหารจัดการเนื้อหาของคุณ และเพิ่มขั้นตอนในกระบวนการทำข่าวเพื่อให้แน่ใจว่าชุดข้อมูลเหล่านี้ถูกป้อนเข้าไปอยู่เสมอ
  • ตรวจสอบเพื่อให้รู้ว่าเนื้อหาข่าวไหนบ้างที่ได้รับการบันทึกไว้ นานแค่ไหน และเนื้อหาไหนบ้างที่ไม่ได้รับการบันทึก หรือถูกลบทิ้งหลังจากระยะเวลาหนึ่งๆ สำหรับห้องข่าวทุกวันนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ที่มักถูกโยนไปให้ฝ่ายเทคโนโลยี ผู้ไม่ค่อยมีแนวทางชัดเจนให้ปฏิบัติตาม หากปราศจากแนวทางอื่นๆ แล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีอาจลบเนื้อหาหรือกำจัดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนและไม่ได้ใช้งานทิ้งไปตามเห็นสมควร เพื่อคงประสิทธิภาพของระบบการทำงาน ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติที่อาจส่งผลร้ายต่อแนวทางการเก็บรักษาข้อมูลที่ดีได้

การหาวิธีเก็บรักษาต้นฉบับในความละเอียดดั้งเดิม ความลึกของสีดั้งเดิม ภาพข่าวขนาดเต็มและวิดีโอข่าว โดยมีชุดคำอธิบายข้อมูลครบถ้วนนั้น เป็นหนึ่งในทางที่ดีที่สุดที่คุณทำได้เพื่อเก็บรักษาเนื้อหาสำคัญอันทดแทนไม่ได้นี้ในระยะยาว และจะดีมากหากคุณสามารถรวบรวมไฟล์เหล่านี้ใส่เข้าไปยังระบบที่มีฐานข้อมูลและพื้นที่เก็บข้อมูลเพียงพอ รวมถึงมีเนื้อหาที่สามารถค้นหาได้โดยสมบูรณ์ แม้แต่ระบบไดร์ฟจัดเก็บข้อมูลแบบเรียบง่ายก็สามารถเริ่มต้นกระบวนการนี้ได้ จำไว้ว่าการบันทึกรูปภาพไว้ในสกุล JPEG แทนที่จะเป็นไฟล์ต้นฉบับจากกล้องซึ่งใหญ่กว่ามากนั้นไม่เป็นปัญหาเลย และ JPEG ก็เป็นสกุลมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป

ข่าวดิจิทัลในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์

มนุษย์สามารถได้ประโยชน์อย่างยิ่งจากบทเรียนของประวัติศาสตร์ แต่จะเป็นเช่นนั้นก็ต่อเมื่อเรามีบันทึกที่ชัดเจนและแม่นยำเพื่อส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น หากโรคระบาดร้ายแรงเกิดขึ้นอีกใน 100 ปีข้างหน้า นักข่าว นักประวัติศาสตร์ และนักวิจัยในปี 2121 จะมีโอกาสได้รับบทเรียนจากประสบการณ์ของพวกเราในวันนี้หรือไม่ คำตอบของคำถามนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ณ ตอนนี้ ยังไม่มีช่องทางที่ชัดเจนจากระบบที่กักเก็บเนื้อหาข่าวโลกดิจิทัลในทุกวันนี้ไปยังคลังข้อมูลเพื่อสาธารณะรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของโลกอนาคต อย่างไรก็ดี งานวิจัยนี้ก็ได้เผยให้เห็นว่า แม้จะมีความเสี่ยงและความท้าทายอยู่มาก แต่เนื้อหาข่าวร่วมสมัยก็ยังได้รับการนับว่ามีคุณค่ามากพอที่จะไม่ถูกลบทิ้งไปเสียหมด หน้าต่างของโอกาสในการเก็บรักษาในระยะยาวยังคงเปิดอยู่สำหรับเนื้อหาข่าวดิจิทัลจำนวนมาก แต่โอกาสนั้นจะไม่คงอยู่ตลอดไป

หมายเหตุ

บทความนี้เป็นเนื้อหาที่คัดเลือกและดัดแปลงมาจากรายงานล่าสุดโดยสถาบัน Donald W. Reynolds Journalism Institute จาก University of Missouri ในชื่อ “The State of Digital News Preservation” ตีพิมพ์ซ้ำในที่นี้ภายใต้ข้อตกลง Creative Commons Attribution License

ที่มา:

เอ็ดเวิร์ด แมคเคน (Edward McCain) เป็นภัณฑารักษ์ดิจิทัลในสาขาวารสารศาสตร์ที่สถาบัน Reynolds Journalism Institute ของ University of Missouri เขาเขียนรายงานนี้ร่วมกันกับ นีล มารา (Neil Mara), คารา แวน มัลเซน (Kara Van Malssen), โดโรธี คาร์เนอร์ (Dorothy Carner) เบอร์นาร์ด เรลลี (Bernard Reilly), เคอร์รี วิลเลตต์ (Kerri Willette), แซนดี้ ชิฟเฟอร์ (Sandy Schiefer), โจ แอสกินส์ (Joe Askins), และซาราห์ บูคานัน (Sarah Buchanan)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net