คณาจารย์ไทยร้องรัฐผ่อนผันกฎหมายเข้าเมือง ช่วย นศ.-นักวิชาการเมียนมา หลังถูกกองทัพสั่งปิดมหา’ลัย ไล่จับคนต้าน รปห.

นักวิชาการไทยส่งหนังสือถึงหน่วยงานรัฐ ทบทวนมาตรการเดินทางเข้าเมืองของนักวิชาการและ นศ.พม่าที่ได้รับผลกระทบหลังรัฐประหาร และโควิด-19 หากละเลย อาจส่งผลกระทบต่อแวดวงการศึกษา การเมือง และเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศ

 

สืบเนื่องจากเมื่อ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า กลุ่มคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ 19 รายชื่อ ร่วมลงนามในหนังสือเรื่อง ‘ทบทวนนโยบายสกัดกั้นนักศึกษานักวิชาการจากเมียนมาเข้าประเทศไทย’ ส่งถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมสำเนาถึง เลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อให้พิจารณาผ่อนผันกฎหมายเดินทางเข้าเมืองแก่นักศึกษาและนักวิชาการเมียนมา เนื่องจากกฎหมายเดิมนั้นเป็นอุปสรรคในช่วงโควิด-19 และห้วงเวลาหลังรัฐประหารพม่า หวังรัฐไทยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและอนาคตของทั้ง 2 ประเทศ

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นหนึ่งในคณาจารย์ที่ร่วมลงชื่อในหนังสือครั้งนี้ ถึงที่มาที่ไปของการส่งจดหมาย และข้อทิ้งท้ายเพื่อให้ภาครัฐทบทวนมาตรการเดินทางเข้าเมืองดังกล่าว 

เบื้องต้น ดร.ศรีประภา กล่าวว่า ก่อนหน้าจะมีเหตุการณ์รัฐประหารพม่าเมื่อ 1 ก.พ. 64 ทางคณาจารย์จากหลากหลายสถาบันในระดับอุดมศึกษาก็มีความสัมพันธ์ทางด้านวิชาการกับประเทศเมียนมามานาน รวมถึงการเปิดรับนักศึกษาชาวเมียนมาเข้ามาเรียน และการสนับสนุนช่วยเหลือในด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรทางการศึกษา

แต่หลังพม่าทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา กองทัพพม่าดำเนินมาตรการกดปราบผู้ที่ต่อต้านด้วยความรุนแรง ส่งผลให้มีนักศึกษาและนักวิชาการจำนวนหนึ่งต้องลี้ภัย รวมถึงมีกรณีที่นักศึกษาพม่าเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านจำนวนมาก สภาบริหารแห่งรัฐของทหารพม่า (SAC) ก็จะประกาศปิดมหาวิทยาลัยนั้น และมีนักวิชาการกว่า 80% ของทั้งประเทศถูกถอดออกจากตำแหน่งวิชาการ เพียงเพราะไม่เห็นด้วยกับกองทัพ จนระบบการศึกษาพม่าตอนนี้ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ หรือในหนังสือใช้คำว่าเป็น “หายนะทางการศึกษา” ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตของการพัฒนาบุคลากรที่จะมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไม่ใช่เพียงของประเทศเมียนมาเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านอีกด้วย

ขณะที่รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP เปิดเผยสถิติผู้เสียชีวิตโดยกองทัพพม่าและถูกจับกุมด้วยข้อหาทางการเมือง ตั้งแต่ 1 ก.พ. 64 จนถึง 21 ธ.ค. 64 โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว จำนวน 1,351 ราย และมีผู้ถูกจับกุม 11,101 คน

เพื่อช่วยเหลือแวดวงวิชาการของประเทศเมียนมา ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สถาบันอุดมศึกษาในไทยได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากนักวิชาการและนักศึกษาจากประเทศเมียนมา หลายสถาบันรับนักศึกษาและนักวิชาการเข้ามาในฐานะนักศึกษาและนักวิจัยในสถาบันต่างๆ จำนวนหนึ่ง แต่สถาบันเหล่านั้นต่างประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกันเรื่องหนังสือเดินทาง 

ศรีประภา กล่าวว่า แม้ว่านักวิชาการมองนักศึกษาและนักวิชาการเมียนมาในฐานะผู้แสวงหาที่ลี้ภัย แต่เนื่องด้วยประเทศไทยไม่เคยยอมรับสถานะผู้ลี้ภัย เพราะฉะนั้น กฎหมายที่นำมาบังคับใช้กับผู้ลี้ภัย หรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยเหล่านี้คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ซึ่งมีสาระสำคัญคือ คนที่ต้องการจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ต้องได้รับอนุญาตให้เข้ามา ซึ่งการจะได้รับอนุญาต หมายความว่าต้องมีเอกสารครบถ้วนโดยเฉพาะพาสสปอร์ต

สำหรับข้อเรียกร้องของนักวิชาการไทย สามารถแบ่งออกได้ตามลักษณะปัญหาดังนี้ สำหรับนักศึกษาและนักวิชาการที่ยังอยู่ในเมียนมา แม้จะมีเอกสารเดินทางครบถ้วน และมีหนังสือตอบรับเป็นนักศึกษาหรือนักวิจัยแล้วก็ตาม แต่ด้วยนโยบายงดออกวีซ่าชนิดต่างๆ ให้ชาวเมียนมาของรัฐไทย หรือนโยบายปิดกั้นการเดินทางออกนอกประเทศของกองทัพพม่า และต้องการออกนอกประเทศผ่านทางชายแดน ขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาผ่อนปรนมาตรการ และอนุญาตให้พวกเขาเหล่านี้เข้ามาได้ โดยให้ ‘การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว’ หรือ Non-immigrant VISA ก็คือของคนที่จะมาเข้าอาศัยในไทยระยะยาว 

ขณะที่นักศึกษาและนักวิชาการที่เข้ามาในดินแดนไทยโดยไม่ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ให้คนกลุ่มนี้สามารถดำเนินการทำ Non-immigrant VISA ได้ เช่นเดียวกับนักวิชาการและนักศึกษาที่รับมาเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างถูกต้องด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด-19 สามารถดำเนินการขอเปลี่ยน Non-immigrant VISA ในประเทศไทยได้ เนื่องจากโดยหลักการแล้ว หากต้องเปลี่ยน VISA ก็ต้องเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนาของตัวเองเท่านั้น เพื่อขอเปลี่ยนวีซ่าประเภทใหม่ และถึงจะเดินทางกลับเข้ามา 

“จะสังเกตว่ากระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมาก การที่โควิด-19 หลายประเทศรอบบ้านปิด การที่ต้องให้เขาเดินทางออกประเทศ และก็กลับเข้ามาใหม่ เพื่อที่จะได้ VISA ที่เป็นประเภทที่เหมาะสม มันเสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย เราเลยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยว่า สำหรับนักศึกษาที่มีที่เรียน มีทุน มีทุกอย่างถูกต้อง นักวิชาการที่องค์กร มีสถาบันรับรองที่ถูกต้อง จริงๆ สิ่งที่เราเรียกร้องคือให้รัฐบาลอนุโลม หรืออะลุ่มอล่วยให้คนเหล่านี้อยู่ในประเทศไทยได้ โดยมี VISA ที่ถูกต้อง เพราะว่าประเทศไทยสามารถทำพวกนี้ได้” ดร.ศรีประภา กล่าว 

สุดท้าย กรณีที่ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ไม่ได้เป็นนักวิชาการหรือนักศึกษาที่มีสถาบันใดในประเทศไทยรองรับ รัฐบาลก็ควรดูแลเขาในฐานะผู้แสวงหาที่ลี้ภัยจนกว่าเขาจะสามารถหาประเทศที่ 3 หรือกลับประเทศตัวเองได้

ทั้งนี้ อาจารย์จากมหิดล ฝากให้รัฐทบทวนมาตรการดังกล่าว พร้อมระบุว่า ทางนักวิชาการทราบเป็นอย่างดีต่อจุดยืนนโยบายระดับมหภาคของไทยที่ต้องการรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน แต่การดำเนินนโยบายต้องมีความสมดุลระหว่างนโยบายเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยก็พูดตลอดเวลาว่า ประเทศไทยเคารพและมีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทุกคน

นอกจากนี้ นักวิชการและนักศึกษาของประเทศเพื่อนบ้านนั้นเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า แต่หากรัฐไทยไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือพวกเขา ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่เพียงต่ออนาคตการศึกษา สังคม การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศเมียนมาเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วยเช่นกัน 

“เขาคือทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า ทั้งในเชิงสังคม การเมือง และเศรษฐกกิจ และเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าทั้งต่อประเทศเมียนมา และประเทศไทยเอง เราจะปล่อยทรัพยากรที่มีคุณค่าเหล่านี้ กลายเป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถสร้างคุณค่าให้กับสังคมใดๆ เลยหรือ อันนี้คือสิ่งที่เรากังวลมาก เพราะหากเราปล่อยไป สิ่งที่ได้รับจะมีแต่ความสูญเสียทั้งอนาคตนักศึกษา และแวดวงวิชาการที่สร้างอนาคตให้กับเมียนมา คนเหล่านี้สามารถคุณประโยชน์ให้ประเทศต้นทาง และไทยเอง ซึ่งหมายรวมคนกลุ่มอื่น เช่น แรงงานด้วย” ดร.ศรีประภา ระบุ

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการตอบรับจากทางภาครัฐ ทาง ดร.ศรีประภา กล่าวว่า คณาจารย์ที่ร่วมลงชื่อในหนังสือจะมีการประชุมกันประมาณเดือน ม.ค. 65 เพื่อประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อดูว่าถ้ามันไม่มีการตอบรับ จะสามารถทำอะไรต่อได้ และจะพยายามทำให้ดีที่สุดในฐานะวิชาการ

รายละเอียดหนังสือ

เรียน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

เรื่อง ขอความร่วมมือในการทบทวนนโยบายการสกัดกั้นนักศึกษานักวิชาการจากเมียนมาเข้าประเทศไทย

สำเนาเรียน

1.    เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

2.    ปลัดกระทรวงมหาดไทย

3.    ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ตามที่เกิดการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในประเทศเมียนมาโดยกลุ่มนายทหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และมีการจับกุมคุมขังอดีตผู้นำประเทศและบุคคลที่สนับสนุน อันเป็นผลให้เกิดการประท้วงต่อต้านและเป็นที่มาของการปราบปรามอย่างรุนแรงจนทำให้ผู้ร่วมการประท้วงและประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งต้องหลบหนีการจับกุมเข้ามาในประเทศไทยและประเทศที่สาม ตามที่ทราบกันทั่วไปแล้วนั้น

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนเรียกร้องให้ผู้นำทหารแก้ใขปัญหาด้วยสันติวิธีผ่านการเจรจาร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินการตามข้อเสนอ ๕ ประการ ที่รัฐบาลทหารเมียนมามีท่าทียอมรับ แต่การดำเนินการให้เป็นจริงดูจะยังห่างไกล ในขณะที่สถานการณ์ภายในประเทศเมียนมายังคงมีความรุนแรง การออกหมายจับ การจับกุมคุมขังและการสู้รบในรัฐต่างๆในประเทศเมียนมายังคงดำเนินต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาถูกสั่งปิด นักวิชาการกว่า 80% ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารถูกให้ออกจากตำแหน่งหรือไม่ก็ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนตามปกติได้ การเรียนการสอนหยุดชะงักและไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์ดังกล่าวนี้จะได้รับการแก้ไข สถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือ "ความหายนะทางการศึกษา" ของประเทศเมียนมาซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตของการพัฒนาบุคลากรที่จะมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศเมียนมาต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประเทศเมียนมาเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศไทย

ในฐานะนักวิชาการที่มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร การปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ รวมถึงเสรีภาพทางวิชาการ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของนักวิชาการ และ นักเรียนนักศึกษา กอปรกับสถาบันการศึกษาในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระดับอุดมศึกษาและระดับที่ลดหลั่นลงไป มีนโยบายรับนักศึกษาจากต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งนอกจากเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมอบให้กับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศกำลังพัฒนาที่ห่างไกลออกไปแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมความเป็นนานาชาติของการศึกษาไทย (internationalization of the Thai education) อีกด้วย

พวกเราที่มีตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆในประเทศไทย ซึ่งในเวลาปกติ มีความพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์ทางวิชาการกับนักศึกษาและนักวิชาการจากต่างประเทศ รวมถึงจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาที่ยังมีความต้องการการสนับสนุนทางวิชาการเป็นอย่างสูง มองเห็นว่า การใช้การทูตเชิงการศึกษา (education diplomacy) คือ การใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือทางการทูตในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันจะเป็นผลดีในระยะยาวกับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากนักวิชาการและนักศึกษาจากประเทศเมียนมา หลายสถาบันได้รับนักศึกษาและนักวิชาการที่ยังต้องการการพัฒนาทางวิชาการเข้ามาในฐานะนักศึกษาและนักวิจัยในสถาบันต่างๆจำนวนหนึ่ง สถาบันเหล่านั้น ต่างประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน คือ

1. นักวิชาการและนักศึกษาที่รับมาเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างถูกต้องด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว ต้องมีการเปลี่ยนชนิดของวีซ่า ซึ่งปัจจุบันเต็มไปด้วยอุปสรรคหรือทำไม่ได้ การแนะนำให้คนเหล่านี้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อให้สมัครขอวีซ่าใหม่เป็นชนิดที่ถูกต้องทำไม่ได้เนื่องจากสถานการณ์แพร่กระจายของโรคโควิด-19

2. มีนักศึกษาและนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ยังคงอยู่ในประเทศเมียนมา แม้จะมีเอกสารเดินทางครบถ้วน แต่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ด้วยนโยบายงดออกวีซ่าชนิดต่างๆให้กับประชาชนเมียนมา ของรัฐไทย และ/หรือนโยบายปิดกั้นการเดินทางออกนอกประเทศโดยเมียนมาเอง

3. มีนักศึกษาและนักวิชาการบางคนที่ต้องหนีภัยการจับกุมหรือหนีภัยความตาย โดยไม่มีเอกสารการเดินทาง ทางเดียวที่คนเหล่านี้จะเดินทางเข้าประเทศไทยได้ คือ การเดินทางผ่านพรมแดนธรรมชาติซึ่งมีความเสี่ยงต่อการจับกุม คุมขัง และส่งกลับโดยรัฐไทย

เพื่อประโยชน์ในระยะยาวของทุกฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา นักวิชาการที่สามารถเข้ามาศึกษาและทำงานวิชาการในประเทศไทยได้ พวกเราในฐานะนักวิชาการจึงเรียนมาเพื่อขอหารือและเสนอแนะว่า

1. สำหรับนักวิชาการและนักศึกษากลุ่มแรกที่เดินทางเข้าประเทศไทยอย่างถูกต้องและอยู่ในประเทศไทยแล้ว ขอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาผ่อนผันปรับเปลี่ยนชนิดของวีซ่าเป็นวีซ่านักศึกษา/วิชาการ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้ศึกษาหาความรู้ได้อย่างเต็มที่

2. อนุญาตให้นักศึกษา นักวิชาการที่ได้รับการตอบรับเข้าศึกษา วิจัย หรือทำงานจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยแล้ว แต่ยังไม่สามารถเดินทางมาได้ สามารถสมัครขอวีซ่าอย่างถูกต้อง และเดินทางเข้ามาได้ทั้งทางอากาศ และชายแดนทางบก โดยให้ยึดถือหนังสือตอบรับของแต่ละสถาบันการศึกษาเป็นหลักฐานสำคัญ

3. สำหรับบุคคลที่หนีภัยความตายและการจับกุมคุมขัง โดยเฉพาะที่มีหนังสือตอบรับของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยตามข้อที่ ๒ ขอให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องผ่อนผันให้เดินทางผ่านแดนเข้ามาโดยไม่มีการจับกุม และดำเนินการเปิดสำนักงานประสานกับสถาบันการศึกษาต่างๆ และนำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. ๒๕๖๒ มาปรับใช้โดยอนุโลมเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นอยู่ในประเทศไทยได้ และได้รับการศึกษาและความคุ้มครองตามหลักการระหว่างประเทศทั้งหลักการสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมที่ประเทศไทยยึดถือ

การปรับนโยบายให้ผ่อนปรนขึ้นสำหรับคนบางกลุ่ม อย่างน้อยในขั้นแรก ขอให้ปรับใช้กับบุคคลที่ต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อการศึกษา การดำเนินการเหล่านี้นอกจากจะเป็นประโยชนแก่ประเทศเมียนมาในอนาคตและบุคคลเหล่านั้นแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์กับสถาบันการศึกษาในประเทศไทย และชื่อเสียงของประเทศไทยที่จะได้รับการชื่นชมจากประชาคมระหว่างประเทศ ไม่มีอะไรที่รัฐไทยจะทำได้ในขณะนี้ดีไปกว่าการประกันอนาคตของประเทศเมียนมาและอนาคตของบุคคลเหล่านั้นด้วยการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้คนเหล่านั้น

ทั้งนี้ กลุ่มนักวิชาการจะยินดียิ่งหากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเปิดช่องทางหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันและหาแนวทางร่วมมือกัน จึงเรียนมาเพื่อกรุณาพิจารณา และกำหนดเป็นแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องนี้ด้วยจะขอบคุณยิ่ง 

รายนามสถาบันที่ร่วมลงนาม

1. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

รายนามนักวิชาการที่ร่วมลงนาม

1. ดร.ชยันต์ วรรธณะภูติ ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD)/ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2. ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี ที่ปรึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

3. ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

4. รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

5. อาจารย์ ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

6. อ.ดร.จิระพร เหล่าเจริญวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

7. ดร.ศยามล เจริญรัตน์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

8. อาจารย์สืบสกุล กิจนุกร สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 

9. Assistant Professor Dr. Charlie Thame คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

10. ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

11. ศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ ข้าราชการเกษียณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

12. ผศ.ดร.พสุตม์ ลาศุขะ คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

13. ศิรดา เขมานิฏฐาไท คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

14. ดร.ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

15. ผศ.ดร.นรุตม์ เจริญศรี คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

16. ผศ ดร.วรรณภา ลีระศิริ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

17. ดร.ภาคภูมิ แสงกนกกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

18. รศ.อุบลรัตน์ พันธุมินทร์ คณะมนุษยศาตร์  สาขาวิชาภาษาพม่า มหาวิทยาเชียงใหม่

19. ดร.อัมพิกา รัตนพิทักษ์ คณะมนุษยศาตร์  สาขาวิชาภาษาพม่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท