ศาลนัดสืบพยาน พ.ค.ปีหน้า คดีผู้ชุมนุมประชาชนปลดแอก ฟ้อง สตช. ตัดสัญญาณเน็ตในที่ชุมนุม

5 โจทก์ ฟ้อง สตช. ข้อหาละเมิด เรียกชดใช้ค่าเสียหาย จากการตัดสัญญาณเน็ตในที่ชุมนุม คณะประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 ส.ค.63 ศาลนัดสืบพยาน 11-12 พ.ค.65

21 ธ.ค.2564 ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รายงานผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจตัวเองว่า วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่ห้องพิจารณาที่ 501 ศาลแขวงดุสิตนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน คดีที่ประชาชน 5 ราย เป็นโจทก์ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ข้อหาละเมิด ทำให้โจทก์ทั้ง 5 คนได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตและมือถือได้ ในการชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยขอให้สตช.ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

โดยศาลกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ ในวันที่ 11 พ.ค. 2565 เวลา 9.00 น. และวันนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 12 พ.ค. 2565 เวลา 9.00 น.

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน  ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก ในเวลาประมาณ 16.00 – 21.00 น. ของวันที่ 16 ส.ค. 2563 โจทก์ทั้ง 5 คน พบว่าในบริเวณที่มีการชุมนุม ไม่สามารถใช้งานสัญญาณอินเตอร์เน็ตเพื่อดูข่าวสารในเฟซบุ๊กได้ ต่อมา พบข่าวปรากฏภาพถ่ายของรถยนต์หลายคันที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ต้องสงสัยว่ารบกวนสัญญาณ โดยรถยนต์เหล่านี้มีตราสัญลักษณ์ของ สตช. ทั้งยังพบเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายถืออุปกรณ์ต้องสงสัย นอกจากนี้ เฟซบุ๊กเพจ สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นของ สตช. ได้ชี้แจงว่าหนึ่งในรถยนต์ที่ปรากฏตามภาพนั้นมีประสิทธิภาพในการตัดสัญญาณมือถือได้จริง การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้ง 5 จำกัดสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก การสื่อสาร ตลอดจนถึงการรบกวนเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน

โพสต์ที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ 'สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ' ของ สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โพสต์ชี้แจงเมื่อวันที่ 17 ส.ค.63

โจทก์ทั้ง 5 จึงได้ยื่นฟ้อง สตช. ไปเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 ซึ่งเดิมทีโจทก์แต่ละรายได้แยกฟ้อง สตช.เป็นคนละ 1 คดี รวม 5 คดี แต่เนื่องจากมูลคดี พยานหลักฐานส่วนใหญ่เป็นชุดเดียวกัน และจำเลยเป็นบุคคลเดียวกันคือสตช. ศาลจึงได้มีคำสั่งรวมคดีไว้แล้วเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2563

ต่อมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 จำเลยได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีนี้เป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา 9 พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครอง ฯ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาต่อศาลปกครอง อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ศาลปกครองกลางได้ให้ความเห็นสอดคล้องกับศาลแขวงดุสิตว่า เหตุในคดีนี้เกิดขณะที่มีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฯ ซึ่งมาตรา 16 ได้บัญญัติว่า “ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง” ดังนั้น การกระทำทางละเมิดของเจ้าพนักงานของจำเลยอันเกิดจากการใช้อำนาจตามพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฯ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

"ชวนติดตามคดีนี้ เพื่อยืนยันว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ เป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน" ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท