ดูตัวอย่างโครงการเพิ่มสัดส่วน-ส่งเสริมความก้าวหน้า ‘ตำรวจหญิง’ ในต่างประเทศ

ชวนดูนโยบายส่งเสริมให้ ‘ผู้หญิง’ ก้าวเข้าสู่อาชีพ ‘ตำรวจ’ และส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพ ใน ‘สหรัฐฯ’ หวังเพิ่มสัดส่วนตำรวจหญิงให้ได้ 30% ภายในปี 2573 ‘แอฟริกาใต้’ หวังเพิ่มเป็น 40% และยังกันโควตาการอบรมไว้ให้ตำรวจหญิงเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ ส่วนชาติอาหรับอย่าง ‘ปาเลสไตน์’ ก็หวังเพิ่มสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 7% ด้าน 'ตำรวจสหประชาชาติ' ก็หวังเพิ่มสัดส่วนเป็น 20% รวมทั้งกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกเสนอชื่อผู้สมัครมาทำภารกิจเป็นผู้หญิงจำนวนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

พบในหลายประเทศ ต่างมีนโยบายส่งเสริมให้ ‘ผู้หญิง’ ก้าวเข้าสู่อาชีพ ‘ตำรวจ’ และส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพ | ที่มาภาพ: Vermont State Police

  • เนื่องจากในปัจจุบันสัดส่วนของตำรวจหญิงเมื่อเทียบกับตำรวจชายนั้นยังมีน้อยมาก พบในหลายประเทศ จึงมีนโยบายส่งเสริมให้ ‘ผู้หญิง’ ก้าวเข้าสู่อาชีพ ‘ตำรวจ’ และส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพ 
  • สหรัฐฯ หวังเพิ่มสัดส่วนตำรวจหญิงเป็น 30% หลังแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลยในรอบ 20 ปี ด้วยโครงการรณรงค์ 30x30 Initiative ที่เชื่อว่าตัวเลข 30% อาจจะสามารถสร้างประโยชน์ในเชิงบวกต่อวัฒนธรรมของกลุ่มนั้น ๆ ได้ 
  • ‘แอฟริกาใต้’ หวังเพิ่มสัดส่วนหญิงเป็น 40% รวมทั้งยังมีโควต้าการอบรมให้ตำรวจหญิงมีความก้าวหน้าในอาชีพ เพื่อให้ผู้หญิงขึ้นสู่ระดับผู้บังคับบัญชามากขึ้น
  • 'ปาเลสไตน์' ชาติแรกในกลุ่มอาหรับที่มียุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในองค์กรตำรวจ โดยหวังเพิ่มสัดส่วนตำรวจหญิงเป็น 7%
  • ด้าน 'ตำรวจสหประชาชาติ' ก็หวังเพิ่มสัดส่วนเป็น 20% รวมทั้งกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกเสนอชื่อผู้สมัครมาทำภารกิจเป็นผู้หญิงจำนวนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

สหรัฐฯ หวังเพิ่มสัดส่วนตำรวจหญิงเป็น 30% หลังแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลยในรอบ 20 ปี

ในสหรัฐฯ มีโครงการรณรงค์ที่หวังเพิ่มตำรวจหญิงให้มีสัดส่วนที่ 30% ให้ได้ภายในปี 2573 | ที่มาภาพ: 30x30 Initiative

แม้ว่า 'สหรัฐอเมริกา' จะเป็นประเทศมหาอำนาจและส่งออกเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศไปทั่วโลก แต่พบว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมาสัดส่วน ‘ตำรวจหญิง’ กลับเพิ่มขึ้นน้อยมาก

ในสหรัฐฯ ตำรวจส่วนใหญ่จะเป็น 'ตำรวจระดับรัฐบาลกลาง' และ 'ตำรวจระดับมลรัฐ' โดยตำรวจระดับรัฐบาลกลางจะรับผิดชอบบังคับใช้กฎหมายรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐธรรมนูญ หน่วยงานที่มีชื่อเสียง เช่น หน่วยสอบสวนกลาง (FBI), ตำรวจลับ (Secret Service), ตำรวจศาล (U.S. Marshal), ปราบปรามยาเสพติด (DEA), ตำรวจตระเวนชายแดน (Border Patrol), หน่วยงานสิ่งแวดล้อม (EPA) เป็นต้น ส่วนตำรวจระดับมลรัฐ ซึ่งมีอยู่ 50 รัฐ ในแต่ละมลรัฐมีระบบตำรวจที่คล้ายคลึงกัน บางรัฐเรียกว่า State Police บางรัฐเรียกว่า State Patrol, State Trooper เป็นต้น โดยจะอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้ว่าการรัฐ (Governor) ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ตำรวจมลรัฐจะดูแลความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่และสถานที่ของหน่วยงานรัฐบาลในระดับมลรัฐ รวมทั้งสายตรวจทางหลวงด้วย เป็นต้น

ทั้งนี้ข้อมูลจาก ‘โครงการรณรงค์ 30x30 Initiative' ประเมินว่า ณ ปี 2559 มีสัดส่วนตำรวจทุกประเภทที่เป็นตำรวจหญิงอยู่ที่ ร้อยละ 12 และมีตำรวจหญิงในระดับผู้บังคับบัญชาเพียง ร้อยละ 3 ส่วนข้อมูลจาก Stateline หน่วยแยกย่อยที่ศึกษาประเด็นท้องถิ่นในสหรัฐฯ ของ Pew Research Center ระบุว่า ณ ปี 2563 พบว่าเฉพาะตำรวจมลรัฐ (State Police) ที่เป็นผู้หญิงในสหรัฐฯ มีสัดส่วนเฉลี่ยเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น โดยสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 6 จากในปี 2543 ซึ่งต่างจากผู้หญิงในอาชีพอื่นๆ ที่ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (2543-2563) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เช่น ผู้ว่าการรัฐ ผู้นำทางการทหาร และตำแหน่งรองประธานาธิบดี เป็นต้น

ดังนั้นจึงมีความพยายามในการเพิ่มสัดส่วนของตำรวจหญิงในสหรัฐฯ ภายใต้โครงการรณรงค์ 30x30 Initiative ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างโครงการตำรวจของ NYU School of Law, มูลนิธิตำรวจแห่งชาติ (National Police Foundation), สภาวิจัยผู้บริหารตำรวจ (Police Executive Research Forum), สมาคมสตรีผู้พิทักษ์กฎหมายแห่งชาติ (National Association of Women Law Enforcement Executives) และหน่วยงานอื่นๆ

ณ ช่วงปี 2564 มีอย่างน้อย 5 รัฐ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้หน่วยงานตำรวจระดับมลรัฐ (State Police) มีสัดส่วนตำรวจหญิงในองค์กรไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ภายในปี 2573 รัฐเหล่านั้นได้แก่ (และสัดส่วนของตำรวจหญิงในปัจจุบัน) ได้แก่ อิลลินอยส์ (ร้อยละ 10), ไอโอวา (ร้อยละ 6), แมสซาชูเซตส์ (ร้อยละ 5), เวอร์มอนต์ (ร้อยละ 13) และวอชิงตัน (ร้อยละ 10)

นอกจากหน่วยงานตำรวจมลรัฐแล้วยังมีหน่วยงานระดับท้องถิ่นมากกว่า 100 หน่วยงาน จาก 34 รัฐ ที่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือน มี.ค. 2564 เช่น กรมตำรวจนครนิวยอร์ก กรมตำรวจนครฟิลาเดลเฟีย และกรมตำรวจนครลอสแองเจลิส เป็นต้น

การตั้งเป้าให้มีสัดส่วนตำรวจหญิง ร้อยละ 30 ของโครงการรณรงค์ 30x30 Initiative นั้นมาจากทฤษฎีระบบราชการแบบตัวแทน (Representative bureaucracy) ที่ระบุว่ากลุ่มคนร้อยละ 30 อาจจะสามารถสร้างประโยชน์ในเชิงบวกต่อวัฒนธรรมของกลุ่มนั้น ๆ ได้

ตัวการผลักดันตามโครงการรณรงค์ 30x30 Initiative นั้น ก็เริ่มตั้งแต่การเชิญชวนให้ผู้หญิงมาสมัครงานตำแหน่งงานตำรวจ ดังเช่น

  • สื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับสมัครตำแหน่งงานตำรวจรูปแบบใหม่เข้าถึงผู้หญิงได้มากขึ้น โดยได้รับการปรับปรุงภาพลักษณ์จากเดิมที่เน้นความตื่นตาตื่นใจการปฏิบัติการจับกุม มีการลดความรุนแรงและความเป็นชายลง โดยสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบใหม่ได้เน้นผู้หญิงและความหลากหลาย รวมทั้งพยายามลบภาพจำเดิม ๆ ว่างานตำรวจไม่เหมาะกับผู้หญิง
  • มีการเพิ่มผู้หญิงในทีมจัดหางานของหน่วยงานตำรวจ นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงบัญชีโซเชียลมีเดียรวมถึงบัญชี TikTok ใหม่เพื่อให้เข้าถึงผู้หญิงได้มากขึ้นในการประกาศรับสมัครตำแหน่งงานตำรวจ
  • มีการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครตำรวจหญิงสามารถทดสอบด้านสมรรถภาพทางกายก่อนที่จะมีการสอบคัดเลือกจริง
  • ในการประกาศสมัครตำแหน่งงานตำรวจหญิง จะมีการข้อมูลระบุว่าหากได้รับเลือกเข้าทำงานแล้วจะถูกประจำการที่ไหน  และบางมลรัฐมีความพยายามบรรจุตำแหน่งงานตำรวจให้ใกล้บ้านผู้ที่ผ่านการคัดเลือก

‘แอฟริกาใต้’ หวังเพิ่มสัดส่วนหญิงเป็น 40% มีโควต้าการอบรมให้ตำรวจหญิงมีความก้าวหน้าในอาชีพ


ตำรวจหญิงในแอฟริกาใต้ | ที่มาภาพ: South African Police Service

สำนักงานตำรวจแอฟริกาใต้ (South African Police Service - SAPS) มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้หญิงก้าวเข้าสู่อาชีพตำรวจซึ่งรวมทั้งการส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพด้วย จากการที่รัฐบาลแอฟริกาใต้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) อันมีพันธกรณีที่ต้องส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในหน่วยงานของรัฐ รัฐบาลแอฟริกาใต้จึงได้ให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ต้องมีศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคทางเพศที่ขึ้นตรงต่อสำนักประธานาธิบดี ซึ่งสำนักงานตำรวจแอฟริกาใต้ก็อยู่ภายใต้นโยบายนี้เช่นกัน

ตั้งแต่ปี 2540 สำนักงานตำรวจแอฟริกาใต้ได้ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนตำรวจหญิงให้ได้ที่ร้อยละ 30 โดยมีความริเริ่มหลายประการที่สนับสนุนการสรรหาและความก้าวหน้าในอาชีพของตำรวจหญิง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการ ‘ยืนยันสิทธิพิเศษของบุคคลบางกลุ่ม’ (affirmative action) เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางเชื้อชาติและเพศสภาพในองค์กรตำรวจยุคหลังการแบ่งแยกสีผิว จากนั้นในปี 2545 ก็มีการเพิ่มเป้าหมายนี้ขึ้นเป็น ร้อยละ 40 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้มีการออกมาตรการเช่น

  • มีโควต้าร้อยละ 40 ของที่นั่งในการอบรมทุกชนิดไว้สำหรับตำรวจหญิง เพื่อปรับปรุงความก้าวหน้าของตำรวจหญิงให้ขึ้นสู่ตำแหน่งอาวุโสได้
  • มีโควต้าร้อยละ 70 ของตำแหน่งในโครงการสร้างผู้นําใหม่ (Emerging Leadership programme) ไว้ให้ตำรวจหญิง เพื่อเพิ่มจำนวนผู้บังคับบัญชาหญิง
  • มีการติดตามการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งอาวุโสทุกตำแหน่ง รวมทั้งติดตามการสรรหาบรรจุและเลื่อนตำแหน่งทุกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกหน่วยสามารถบรรลุเป้าหมายได้

ในปี 2560 อัตราส่วนของตำรวจหญิงในแอฟริกาใต้อยู่ที่ ร้อยละ 27.5 และตั้งแต่ปี 2551-2558 ตำรวจหญิงที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาเพิ่มจาก ร้อยละ 17.9 เป็น ร้อยละ 37.5 ส่วนตำแหน่งระดับอาวุโสก็เพิ่มจาก ร้อยละ 20.7 เป็น ร้อยละ 34.8

นอกเหนือจากเป้าหมายที่ระบุซัดเจนดังกล่าว การสร้างความเท่าเทียมทางเพศในองค์กรตำรวจของแอฟริกาใต้ยังได้รับการหนุนเสริมด้วยการจัดตั้ง 'เครือข่ายตำรวจหญิง' ในปี 2546 และกลุ่ม 'ตำรวจชายเพื่อการเปลี่ยนแปลง' (Men for Change) ในปี 2547 เครือข่ายตำรวจหญิงให้การสนับสนุน ช่วยเป็นพี่เลี้ยง และจัดการอบรมภาวะผู้นําให้แก่ตำรวจหญิง โดยมีเป้าประสงค์ที่จะสนับสนุนความก้าวหน้าในอาชีพ และพัฒนา 'กลุ่มแกนนําหญิง ที่กล้าแสดงออก' ส่วนกลุ่มตำรวจชายเพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นจะมีบทบาทเชิงสนับสนุนให้แก่เครือข่ายตำรวจหญิง โดยมุ่งเน้นที่การสร้างวัฒนธรรมแห่งความโปร่งใสภายในองค์กร มีการส่งเสริมให้ตำรวจหญิงได้เลื่อนตำแหน่งมากขึ้น มีการจัดอบรมเรื่องการดำเนินการตามนโยบายเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ ทั้งนี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของแอฟริกาใต้ ถือว่าได้ทำหน้าที่สำคัญในประเด็นความเท่าเทียม โดยสั่งการให้คนในองค์กรให้ความสนใจประเด็นการเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงเป็นอันดับแรกๆ รวมทั้งกระตุ้นให้ตำรวจหญิงกล้าที่จะเสนอตัวเพื่อเลื่อนตำแหน่ง และเข้าทำงานในหน่วยตำรวจพิเศษเฉพาะด้าน เป็นต้น

'ปาเลสไตน์' ชาติอาหรับที่หวังเพิ่มสัดส่วนตำรวจหญิงเป็น 7%


ตำรวจหญิงในปาเลสไตน์ | ที่มาภาพ: UN Women

สำนักงานตำรวจปาเลสไตน์ (Palestinian Civil Police - PCP) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านความเสมอภาคทางเพศขึ้นตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มผู้บังคับบัญชาระดับรองหัวหน้าของหน่วยที่สำคัญๆ ของสำนักงานตำรวจเข้าด้วยกัน คณะกรรมการนี้มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงมุมมองแบบเดิมที่มีอคติทางเพศแฝงอยู่ในองค์กรตำรวจ รวมทั้งพยายามขจัดการกีดกันทางเพศภายในองค์กรตำรวจของปาเลสไตน์

ต่อมาได้มีการเปิดตัวยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ เมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มียุทธศาสตร์เช่นนี้ออกมาในกลุ่มประเทศอาหรับ จากการสนับสนุนโดยองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสหภาพยุโรป (EU) โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนตำรวจหญิงจาก ร้อยละ 3.75 เป็น ร้อยละ 7

ภายยุทธศาสตร์ 5 ปี นี้รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่ มีการการแก้ไขกระบวนการทำงานในองค์กรตำรวจแบบเดิม มีการบูรณาการเรื่องความเสมอภาคทางเพศเข้าในแผนงานของสำนักงานต่างๆ และมีการแต่งตั้งผู้ประสานงานด้านความเท่าเทียมทางเพศกระจายอยู่ตามเขตต่างๆ เพื่อให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเต็มเวลาในหน่วยงานด้านความเสมอภาคทางเพศของสำนักงานตำรวจปาเลสไตน์

ความมุ่งมั่นของผู้บังคับบัญชาในยุทธศาสตร์นี้ถือว่ามีส่วนสำคัญ หัวหน้าสถานีตำรวจมีแรงจูงใจที่จะสรรหาบรรจุตำรวจหญิงเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะให้บริการที่ดีขึ้นแก่ประชาชน และปรับปรุงความไว้วางใจต่อตำรวจและความน่าเชื่อถือของตำรวจในหมู่ประชาชนปาเลสไตน์ให้ดีขึ้นอีกด้วย

การเพิ่มสัดส่วนตำรวจหญิงขององค์กรระหว่างประเทศ


ตำรวจหญิงของสหประชาชาติ | ที่มาภาพ: United Nations Police

ข้อมูล ณ เดือน ก.พ. 2562 มีเพียงร้อยละ 15 ของตำรวจที่สหประชาชาติส่งไปปฏิบัติการในประเทศต่างๆ เป็นผู้หญิง แต่ก็เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 7 อัตราที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากความริเริ่มระดับนานาชาติและระดับชาติที่ส่งเสริมการเข้าร่วมของผู้หญิงในปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ซึ่งรวมถึง 'ความพยายามระดับโลก' ที่เปิดตัวขึ้นในปี 2552 โดยการนําของ 'ตำรวจสหประชาชาติ' (UN Police Division) เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในงานตำรวจระหว่างประเทศให้ได้ ร้อยละ 20 โดยยุทธศาสตร์ในการเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในงานตำรวจระหว่างประเทศ มีดังนี้

  • กระตุ้นให้ประเทศสมาชิกเสนอชื่อผู้สมัครมาทำภารกิจเป็นผู้หญิงจำนวนมากขึ้น
  • ทบทวนข้อกําหนดและกระบวนการในการสรรหาและคัดเลือกเพื่อส่งไปทำงานระหว่างประเทศเพื่อให้แน่ใจว่าไม่กีดกันผู้สมัครที่เป็นผู้หญิง
  • จัดการอบรมเตรียมตัวให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้หญิงก่อนเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเข้าร่วมในภารกิจการให้ความช่วยเหลือของสหประชาชาติ และการประเมินและทดสอบทีมช่วยเหลือ (Assessment and Assistance Team Tests)
  • กําหนดให้ประเทศสมาชิกที่ให้ความช่วยเหลือจัดหน่วยย่อย (หมวด) ที่ประกอบด้วยตำรวจหญิงที่จะบูรณาการเข้ากับงานของหน่วยย่อยอื่นทั้งหมด รวมถึงระดับบัญชาการ
  • จัดหลักสูตรการพัฒนาการบังคับบัญชาสำหรับตำรวจหญิงอาวุโสในระดับภูมิภาค และจัดตั้งกลุ่มแกนนําผู้บัญชาการหญิงเพื่อรองรับผู้มีที่ความสามารถที่จะก้าวหน้าต่อไป
  • จัดการฝึกอบรมเรื่องการป้องกันความลำเอียงด้านเพศสถานะโดยไม่รู้ตัวสำหรับผู้ทําหน้าที่สรรหาคัดเลือกบุคลากร
  • สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าร่วมของผู้หญิง โดยสร้างหลักประกันการมีที่พักอาศัยที่เหมาะสม การจัดผู้หญิงลงทำงานร่วมกัน การให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรายงานการคุกคามทางเพศและจัดหาเครือข่ายพี่เลี้ยงสนับสนุนให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้หญิง
  • ทำการวิจัยต่อเนื่องเพื่อระบุชี้อุปสรรคกีดขวางการรับเข้าทำงานและการดำรงบุคลากรผู้หญิงในขั้นตอนของการสรรหาบรรจุ มอบหมายงาน และขยายระยะเวลาจ้างงาน

นอกจากนี้ยุทธศาสตร์ความเสมอภาคทางเพศที่เป็นเอกภาพปี 2561-2571 ของหน่วยปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (United Nations Peacekeeping) ก็ยังได้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้หญิงเข้าร่วมปฏิบัติการ ร้อยละ 30 ภายในปี 2571

 

ที่มาข้อมูล
30x30initiative.org
“Policing and Gender”, in Gender and Security Toolkit. (DCAF, OSCE/ODIHR, UN Women, 2019)
Want to reform the police? Hire more women (Ashley Fantz and Casey Tolan, CNN, 23 June 2020)
Police agencies sign national pledge to recruit 30% women by 2030 (Suzie Ziegler, Police1, 30 March 2021)
Percentage of Women in State Policing Has Stalled Since 2000 (Lindsey Van Ness, Stateline, October 20, 2021)
หลายรัฐในสหรัฐฯ หวังเพิ่มสัดส่วน 'ตำรวจหญิง' สร้างความหลากหลายในองค์กรตำรวจ (ประชาไท, 11 พ.ย. 2564)

 

สกู๊ปนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษชุด เพศสภาพในงานตำรวจ (Gender and policing) ซึ่งจะมีการนำเสนอระหว่างพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท