'ก้าวหน้า-ก้าวไกล' แฉยักษ์ใหญ่สิ่งทอฮ่องกงตั้งฐานการผลิตขูดรีดแรงงาน ก่อนลอยแพคนงานนับพันในไทย

'ธนาธร' - 'วรรณวิภา ส.ส.สัดส่วนแรงงาน ก้าวไกล' แฉยักษ์ใหญ่สิ่งทอฮ่องกงตั้งฐานการผลิตขูดรีดคนงานไทย-ยักยอกกำไรอู้ฟู่ก่อนปิดกิจการชิ่งหนี-ลอยแพคนงานนับพัน

ภาพคนงานชุมนุมที่กระทรวงแรงงาน

24 ธ.ค.2564 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานต่อสื่อมวลชนว่า 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และวรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในสัดส่วนแรงงาน ร่วมจัดวงสนทนาทาง Clubhouse “Dear Victoria’s Secret ร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนงาน 1,388 คน” อธิบายถึงความเป็นมาของกรณี บริษัท Brilliant Alliance Thai Global (BAT) ที่ได้มีการเลิกจ้างพนักงานจำนวน 1,388 คน โดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายจำนวนกว่า 242.6 ล้านบาท 

พร้อมตั้งข้อสันนิษฐานถึงเบื้องหลังของบริษัท BAT ซึ่งคือ บริษัท Clover Group ที่ฮ่องกง และข้อวิจารณ์ต่อรัฐบาลไทย ที่นิ่งเฉยต่อกรณีดังกล่าวมาเป็นเวลากว่า 200 วันแล้ว

ธนาธร เริ่มต้นการสนทนาโดยเล่าถึงที่มาของกรณีการเลิกจ้างคนงาน BAT โดยระบุว่ากรณีการเลิกจ้างคนงาน 1,388 คนนี้ เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ต่อมาข้อพิพาทนี้ได้ไปสู่สำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ที่ BAT ตั้งสถานประกอบการอยู่ ซึ่งได้มีคำสั่งให้บริษัท BAT จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้กับคนงานที่ถูกเลิกจ้าง 1,388 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 242.6 ล้านบาท

ต่อมามีการแลกเปลี่ยนเงื่อนไข/ข้อตกลงกันไปมา แต่ท้ายที่สุดหาข้อตกลงระหว่างคนงานกับบริษัทไม่ได้ จนในที่สุด ทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ก็ได้รวมพนักงานเข้ามาขอความเป็นธรรมกับรัฐบาลเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมทั้งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานด้วย

โดยมีข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1) ขอให้รัฐบาลเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 242.6 ล้านบาท ให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง หมายความว่าให้รัฐบาลช่วยจ่ายแทนนายจ้างมาก่อน 2) ให้รัฐบาลดำเนินการติดตามนายจ้างมารับผิดชอบเงินจำนวนดังกล่าวคืนรัฐบาล 3) ขอให้รัฐบาลดำเนินการตามกฎหมายอาญากับนายจ้างอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้นายจ้างรายอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง และ 4) ขอให้รัฐบาลกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้นักลงทุนต่างชาติ หาผลประโยชน์และปล่อยรอยแพลูกจ้างเช่นนี้อีก 

จนเวลาล่วงเลยมาถึงเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลได้ทำเพียงจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างตามกฎหมาย คนละประมาณ 10,000-20,000 บาท ซึ่งเงินส่วนนี้เป็นเงินที่รัฐบาลต้องสงเคราะห์ให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างอยู่แล้วตามกฎหมาย เป็นคนละส่วนกับเงินชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายตามกฎหมาย

แฉเบื้องหลัง Clover Group ยักษ์ใหญ่สิ่งทอฮ่องกงจงใจปล่อย บ.ลูกในไทยเจ๊ง ยักยอกกำไรคืน บ.แม่-เลี่ยงภาษี ก่อนชิ่งปิดกิจการลอยแพคนงาน

ธนาธร เปิดเผยถึงข้อสันนิษฐาน ที่มีต่อกรณีดังกล่าว ว่าอาจจะเข้าข่ายการยักยอกกำไรกลับคืนสู่บริษัทแม่ โดยปล่อยให้บริษัทลูกในประเทศไทยขาดทุน

โดยระบุว่าบริษัท BAT นั้น มีบริษัทแม่อยู่ที่ฮ่องกง รับซื้อจากบริษัท BAT แล้วจึงขายต่อให้กับแบรนด์ชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Victoria’s Secret, Torrid และ LBI อีกทอดหนึ่ง 

โดยบริษัทแม่ของ BAT คือ Clover Group เป็นผู้ถือหุ้น 100% ในบริษัท BAT โดยมีผู้บริหาร Clover Group  เป็นกรรมการของบริษัท BAT ด้วย คือ “เอมิลี่ หลิว” เเละ “แองจี้ หลิว” ซึ่ง “แองจี้ หลิว” ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักธุรกิจหญิงที่มีอิทธิพลมากที่สุดในเอเชีย จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ และยังเป็นกรรมการสภาสิ่งทอฮ่องกงด้วย 

ธนาธรยังระบุต่อไป ว่าที่ผ่านมา บริษัท Clover Group เคยเป็นเจ้าของบริษัท Gina Form Bra ในประเทศไทย ซึ่งเมื่อปี 2549 ก็ปิดบริษัทเลิกจ้างไป แล้วก็ไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายเช่นกัน โดยเลิกจ้างคนงานประมาณ 1,600 คน และค้างจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินจำนวน 70 กว่าล้านบาท จนพนักงานต้องออกมาเรียกร้องแบบเดียวกับที่พนักงาน BAT ทำอยู่ตอนนี้

ซึ่งตนเชื่อว่า Clover Group น่าจะทำคล้ายกันกับแรงงานในประเทศอื่นมาแล้วด้วยเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะเป็น Gina Form Bra หรือว่าบริษัท BAT ที่ Clover Group มาตั้งฐานการผลิตชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำในประเทศไทย ไม่เคยมีปีไหนทำกำไรเลย 

โดยในส่วนของ Gina Form Bra เมื่อปี 2545 มียอดขาย 531 ล้านบาท ขาดทุน -31 ล้านบาท, ปี 2546 มียอดขาย 368 ล้านบาทขาดทุน -26.9 ล้านบาท, ปี 2547 มียอดขาย 211 ล้านบาท ขาดทุน -42 ล้านบาท, ปี 2548 มียอดขาย 200 ล้านบาทขาดทุน -88 ล้านบาท และปี 2549 ปีสุดท้ายที่ดำเนินการ มียอดขาย 129.9 ล้านบาท ขาดทุน -211 ล้านบาท จนทำให้วันที่บริษัทปิดตัวลง ส่วนของผู้ถือหุ้นขาดทุนสะสม 472 ล้านบาท

ส่วน BAT เปิดดำเนินการในปีแรก 2562 มียอดขาย 27 ล้านบาท ขาดทุนไป -136 ล้านบาท และ ปี 2563 มียอดขาย 354 ล้านบาท ขาดทุนไป -644 ล้านบาท จนทำให้สองปีในการดำเนินการ บริษัท BAT มียอดขาดทุนสะสมทั้งหมด 780 ล้านบาท ทั้งที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น

ซึ่งในสายตาที่ตนบริหารธุรกิจมา คิดว่านี่คือการ transfer pricing หรือการตั้งใจปันกำไรให้ไปอยู่ที่บริษัทแม่ที่ฮ่องกง โดยการขายสินค้าให้บริษัทแม่ในราคาต่ำกว่าต้นทุน ให้กำไรเกิดขึ้นที่บริษัทแม่ แต่บริษัทลูกขาดทุน เพื่อที่บริษัทในเมืองไทยจะได้ไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล 20% และเมื่อบริษัทลูกขาดทุนแล้ว การย้ายฐานการผลิตก็จะง่ายขึ้นด้วย 

“นี่คือการพยายามยักยอกเอากำไรไปให้บริษัทแม่ โดยปล่อยให้บริษัทลูกซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างผลิตขาดทุน เพื่อที่จะได้มีข้ออ้างไม่ต้องแบกรับภาระค่าชดเชยแรงงาน แต่สิ่งที่ผมรู้สึกคับแค้นข้องใจที่สุด นั่นก็คือการที่รัฐบาลไทยไม่ปกป้องแรงงานไทยเลย หากพวกเราเป็นรัฐบาล สิ่งที่พวกเราต้องทำก็คือการไปไล่บี้กับบริษัท Clover Group ให้ได้ ไปทวงถามให้จ่ายค่าชดเชยให้กับแรงงานไทย ไม่ใช่แค่การจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างแล้วจบกันไป” ธนาธรกล่าว

ธนาธรยังกล่าวต่อไป ว่าปัจจุบันพนักงาน 1,388 คน ส่วนหนึ่งเป็นพนักงานที่มีอายุมากแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไปหางานใหม่ในโรงงานอุตสาหกรรมอื่น หรือเปลี่ยนอุตสาหกรรม พนักงานส่วนใหญ่ตอนนี้จึงระหกระเหิน หลายคนจนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถหาทางออกได้

ค่าชดเชยตามกฎหมาย 242.6 ล้านบาท ถ้าเราหารเฉลี่ย พนักงานหนึ่งคนควรจะได้เงินที่สามารถเอาไปตั้งต้นชีวิตใหม่ได้คนละ 174,000 บาท ซึ่งสำหรับคนหลายคนที่ไม่มีทางเลือกอื่นในชีวิต สามารถนำไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ มีโอกาสแสวงหาทางเลือก และตัดสินใจอนาคตได้มั่นคงขึ้น

ส.ส.ก้าวไกล ชี้รัฐบาล-รมว.แรงงานไม่บังคับใช้กฎหมาย แถมย้อนกลับคนงาน “จะเอาอะไรอีก”

ภาพคนงานชุมนุมที่กระทรวงแรงงาน

วรรณวิภา ซึ่งอดีตก่อนที่จะมาเป็น ส.ส. เคยทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอร่วมกับอดีตคนงาน BAT หลายคน และยังเป็นอดีตกรรมการบริหารสหภาพแรงงานร่วมกัน ระบุว่าในฐานะอดีตคนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอคนหนึ่ง สามารถพูดได้ว่าคนงานทุกคนทำงานด้วยความตั้งใจจริง และทุกคนก็มีความภูมิใจในผลงานของตัวเอง

วรรณวิภาเล่าว่าคนงานหลายคนในจำนวนทั้ง 1,388 คน ต่างทำงานร่วมกันมาตั้งแต่เป็นบริษัทบอดี้แฟชั่น จนมีการปิดกิจการ โอนย้ายพนักงานมาบริษัทใหม่หลายครั้ง ทุกคนก็ยังรวมตัวกันเหนียวแน่น ทำงานมาจนคิดว่าบริษัทเป็นเหมือนบ้าน 

หลายคนอยู่มาตั้งแต่ช่วงบุกเบิก เติบโตจนเป็นที่รู้จัก ทั้งขาขึ้นและขาลงสุด เราก็ไม่เคยทิ้งบริษัทไปไหน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เราจุกอก คือการลอยแพพวกเราทิ้งโดยไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น

วรรณวิภา ยังได้เปิดเผยตอนหนึ่ง ว่าหลังจากที่คนงานได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตามมาด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ไม่มีความคืบหน้าในเรื่องของเงินค่าชดเชยที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายกว่า 242.6 ล้านบาท

ประธานสหภาพแรงงานคนปัจจุบัน ได้ทวงถามความคืบหน้าไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่กลับได้รับคำตอบกลับมาว่า “เราก็ช่วยเหลือคุณไปเยอะแล้ว คุณจะมาเอาอะไรอีก” ซึ่งตนประหลาดใจมาก ว่ารัฐมนตรีตอบเช่นนี้ได้อย่างไร

เงินสงเคราะห์ลูกจ้าง เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องจ่ายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอยู่แล้ว และยังเทียบกับเงินค่าชดเชยที่คนงานทำงานมาทั้งชีวิตไม่ได้เลย นี่คือสิทธิที่แรงงานต้องได้รับ มันไม่ใช่การขออะไรนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดเลย

“หลายคนเชื่อว่าหากยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ โดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการที่เข้มงวดชัดเจนกับนายจ้างหรือนายทุนข้ามชาติที่มาลงทุนในประเทศไทยแบบนี้อีก เหตุการณ์แบบนี้ก็จะเกิดขึ้นซ้ำอีกแน่นอน ทั้งที่รัฐบาลควรจะเป็นเจ้าภาพในการติดตามทวงถาม หรือช่วยกดดันให้นายทุนข้ามชาติมารับผิดชอบแรงงานที่ประเทศไทย แต่กลายเป็นว่าตอนนี้ภาคประชาชนต้องมาเป็นคนทำกันเอง โดยที่รัฐบาลไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ” วรรณวิภากล่าว

ธนาธร ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่าสำหรับกรณีนี้ เป็นเรื่องภาระผูกพันทางกฎหมาย ไม่ใช่ทางเลือก นายจ้างไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่ปฏิเสธ และต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับคนงานสถานเดียวเท่านั้น

“ผมในฐานะที่เคยเป็นนายจ้างมาก่อน พูดตรง ๆ ก็เคยปิดโรงงานเหมือนกัน บางโรงงานที่มันไปต่อไม่ไหวจริง ๆ สู้ก็สู้ไม่ไหว แข่งขันไม่ได้จริง ๆ แต่ผมไม่เคยเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ผมจ่ายค่าชดเชยมาแล้วหลายครั้ง แล้วก็บางครั้งจ่ายมากกว่าที่กฎหมายกำหนดด้วยซ้ำ” ธนาธรกล่าว

เชิญประชาชนร่วมรณรงค์ “Dear Victoria’s Secret” ขอร่วมกดดัน Clover Group จ่ายเงินคนงาน

ในช่วงท้ายของการสนทนา นายธนาธรได้กล่าวถึงความสำคัญของการรณรงค์ครั้งนี้ โดยระบุว่าสิ่งที่พวกเราสามารถพอจะทำร่วมกันได้ แม้โอกาสสำเร็จจะน้อย แต่ก็พอเป็นไปได้ ก็คือการรณรงค์ร่วมกันให้เรื่องไปถึงลูกค้าของ BAT และ Clover Group เช่นในการณรงค์ที่พวกเรากำลังทำกันอยู่ ผ่าน #victoriasecret #underwewear 

ธนาธรระบุว่า การรณรงค์ของประชาชนในลักษณะนี้เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว เหมือนกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ที่มีการค้นพบว่าโรงงานที่บริษัท Nilke จ้างผลิตรองเท้าให้ในหลายประเทศด้อยพัฒนา มีการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และมีการปฏิบัติแบบแรงงานทาส

ซึ่งกลุ่มคนที่รณรงค์เรื่องสิทธิแรงงานและสิทธิเด็ก ได้กดดันไปยังบริษัท Nike ให้มีการกวดขันกระบวนการผลิตของ Nike ให้ต้องไม่มีการใช้แรงงานเด็กโดยเด็ดขาด 

จนในที่สุดหลายบริษัทที่ผลิตเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา ที่ Nike ไปจ้างผลิตอยู่ ต่างเปลี่ยนพฤติกรรมการจ้างงาน ส่วน Nike เองก็เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อ ทำให้สภาวะการจ้างงานและสภาพการทำงานในกระบวนการผลิตของ Nike ทั่วโลกได้รับการปรับปรุงขึ้น 

ธนาธรระบุว่า กรณีนี้ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน ถ้าประชาชนช่วยกันส่งเสียง และร่วมเป็นปากเป็นเสียงให้กับพวกเขา ส่งเสียงไปให้ถึงผู้รับของ ณ ปลายน้ำ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Victoria’s Secret ช่วยกันขอร้องให้มากดดัน Clover Group อีกต่อหนึ่ง เพื่อทวงความเป็นธรรมให้กับแรงงานทั้ง 1,388 ชีวิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท