Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บางคนว่า "เวสสันดรชาดก" ไม่ได้มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากนัก เพราะถึงจะเป็นชาดกยอดนิยมที่ส่งเสริมโดยราชสำนัก กระทั่งแพร่หลายไปยังท้องถิ่นต่างๆ ทั่วไทยยาวนาน มันก็ไม่ได้ทำให้คน "อิน" ถึงกับไปบริจาคลูกเมียเป็นทาสเพื่อบำเพ็ญบารมีขนาดนั้น นี่เป็นการมองแบบตื้นเขิน 

ที่จริงมีการ "อิน" อีกแบบที่น่าจะมีอิทธพลต่อความคิดคนไทยจนปัจจุบัน คือการอินกับความรักลูกเมียและการเสียสละของเวสสันดร ที่คนธรรมดาทั่วไปไม่สามารถทำได้ ทว่าความหมายของความรักลูกเมียของเวสสันดรคือ "ความรักแบบนายทาส" ที่ใช้ความรักนั้นหว่านล้อมให้ผู้เป็นข้ารับใช้ยินยอมถูกบริจาคเป็นทาสของคนอื่น เพื่อให้ผู้เป็นนายได้บำเพ็ญบารมี ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า "บารมี" นั้น ย่อมมีค่าสูงส่งกว่า "อิสรภาพ" ของข้ารับใช้

โดยเนื้อแท้แล้ว “ความรักแบบนายทาส” ก็คือความรักแบบ "ลัทธิปิตาธิปไตย-ชายเป็นใหญ่" และเป็นความรักแบบ "ลัทธิพ่อปกครองลูก" ที่ได้อิทธิพลจากพุทธไทย และจากการโหมโฆษณาว่าชนชั้นปกครองรักประชาชนทุกคน ทำงานหนักตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เสียสละเพื่อประชาชน ซึ่งเปรียบเสมือนลูกของตนเอง 

แต่มันเป็นความรักล้นพ้นที่ไม่ยอมให้ประชาชนมี "อิสรภาพ" หรือมีสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเองได้อย่างแท้จริง เพื่อชนชั้นปกครองจะได้ใช้ความรักนั้น "บำเพ็ญบารมี" ด้วยวาทกรรมเสียสละเพื่อประชาชนผู้เป็นลูกๆ ของชนชั้นปกครองตลอดไป คนไทยถูกกล่อมเกลาให้อินกับ "ความรักแบบนายทาส" มายาวนานไม่ใช่หรือ

คำถามทางปรัชญาคือ แล้วเราเป็น “คน” หรือเป็น “วัตถุ” กันแน่? 

แก้วกาแฟที่วางอยู่ตรงหน้าเรา มันคือวัตถุที่ถูกสร้างขึ้น แน่นอนว่าวัตถุที่ถูกสร้างขึ้นมันไม่ได้มีเป้าหมายในตัวมันเอง เป้าหมายของแก้วกาแฟถูกกำหนดโดยผู้สร้างว่ามันมีไว้เพื่อใช้ดื่มกาแฟ แก้วกาแฟ (และทุกสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น) มันจึงถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” ของผู้สร้าง หรือผู้ที่ใช้มันเพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเขาเอง ดังนั้น คุณค่าของแก้วกาแฟจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวมันเอง แต่อยู่ที่มันถูกใช้เป็นเครื่องมือตอบสนองเป้าหมายของคนที่สร้างและใช้มัน

ทำนองเดียวกัน ศาสนาที่ยืนยันว่ามนุษย์ถูกสร้างโดยพระเจ้า ก็เชื่อว่าเป้าหมายของมนุษย์ถูกกำหนดไว้แล้วโดยพระเจ้า นั่นคือ การมีชีวิตนิรันดร์บนสวรรค์ และหากเทียบชีวิตบนโลกนี้กับชีวิตนิรันดร์บนสวรรค์แล้ว แบบหลังย่อมเป็นชีวิตที่มีค่ามากกว่าอย่างเห็นได้ชัด เป้าหมายชีวิตของเราจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวชีวิตของเราเองในโลกนี้ แต่อยู่ที่ “ชีวิตอื่น” ของเราในโลกหน้า อันเป็น “ชีวิตที่แท้จริงและทรงคุณค่า” มากกว่า ชีวิตนี้จึงเป็นเพียง “เครื่องมือ” เพื่อไปสู่ชีวิตในโลกหน้าที่ดีกว่า ดังนั้น การศรัทธาในพระเจ้า และการรับใช้พระองค์ ก็คือการยอมตนเป็น “เครื่องมือที่ดี” ของพระองค์ เพื่อบรรลุเป้าหมาย หรือจุดหมายปลายทางสุดท้ายที่พระองค์กำหนดไว้ให้แล้วอย่างแน่นอนตายตัว

ความเชื่อเช่นนี้ ย่อมนำมาสู่การยอมรับระบบการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” ที่ถือว่าผู้ปกครองคือกษัตริย์และศาสนจักรที่ใช้ “อำนาจเทวสิทธิ์” ทำการปกครอง เพื่อเตรียมการให้ชีวิตประชาชนบนโลกนี้ดำเนินไปตามหรือปฏิบัติตนอยู่ในครรลองของหลักศาสนา เพื่อการมีชีวิตที่ดีนิรันดร์บนสวรรค์ในโลกหน้า 

ผู้ใต้ปกครองต้องยอมสูญเสียเสรีภาพปัจเจกบุคคลหลายๆ อย่าง และยอมสูญเสียเสรีภาพทางการเมือง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ดีกว่าในอนาคตหรือโลกหน้า ดังนั้น ศาสนาที่เชื่อพระเจ้าสร้างมนุษย์ และกำหนดเป้ามายชีวิตมนุษย์เอาไว้แล้วอย่างแน่นอนตายตัว จึงเป็นศาสนาที่สถาปนาระบบการเมืองแบบเผด็จการ ด้วยเหตุผลว่ามันเป็น “เผด็จการที่ดี” เพราะเป็นเผด็จการในนามของพระเจ้าเพื่อช่วยให้มนุษย์บรรลุเป้าหมายสูงสุดตามที่พระเจ้ากำหนดไว้แล้ว

จะเห็นได้ว่า ความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นสิ่งถูกสร้าง ทำให้มนุษย์กับวัตถุไม่ได้แตกต่างกัน ในแง่ที่ต่างก็เป็น “เครื่องมือ” ของผู้สร้าง วัตถุถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่ผู้สร้างกำหนดไว้ มนุษย์ก็ (ยินยอม) ตกเป็นเครื่องมือของระบบอำนาจทางการเมืองในนามพระเจ้า เพื่อบรรลุเป้าหมายที่พระเจ้ากำหนดไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ที่วัตถุถูกกำหนดเป้าหมายโดยผู้ที่สร้างหรือผู้ที่ใช้มันเป็นเครื่องมือ ก็เพราะวัตถุไม่มีชีวิตและไร้สำนึกรู้ตัว แต่มนุษย์มีชีวิตและมีสำนึกรู้ตัว นักปรัชญาบางคน เช่น คานท์ (Immanuel Kant) จึงเชื่อว่ามนุษย์ที่มีชีวิตและที่มีสำนึกรู้ตัว คือ “มนุษย์ผู้มีเป้าหมายในตัวเอง” เมื่อมนุษย์มีเป้าหมายในตัวเอง เขาจึงไม่ควรถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” โดยพระเจ้า, คนอื่น, ครอบครัว, สังคม, ศาสนา หรือศาสนจักร และอำนาจรัฐ 

มนุษย์ผู้มีเป้าหมายในตัวเองตามทัศนะของคานท์ จึงเป็นมนุษย์ที่มี “อิสรภาพในการปกครองตนเองทางศีลธรรม” (moral autonomy) หมายความว่า เราในฐานะปัจเจกบุคคลคือ “ผู้มีอำนาจสูงสุด” (sovereign) ในการกำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่ดี หรืออะไรคือเป้าหมายชีวิตของตนเอง ปัจเจกบุคคลผู้มีอิสรภาพในการปกครองตนเองทางศีลธรรมจึง “มีศักดิ์ศรีในตัวเอง” ที่ไม่อาจถูกพรากไปได้ ด้วยการถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” เพื่อบรรลุเป้าหมายของคนอื่น เช่น ทาสถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายของนายทาส เขาย่อมถูกกดทับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเลวร้าย ดังนั้น ระบบทาสจึงต้องถูกยกเลิกไป

ความเชื่อที่ว่ามนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลคือ ผู้มีอิสรภาพในการปกครองตนเองทางศีลธรรม ตามมาด้วยความเชื่อที่ว่าปัจเจกบุคคลเป็น “ผู้มีอิสรภาพปกครองตนเองทางการเมือง” (political autonomy) และเราในฐานะผู้มีอิสรภาพปกครองตนเองทางการเมืองก็คือ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเท่าเทียมกัน และมีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ เท่าเทียมกัน ความเชื่อเช่นนี้เรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ถือว่าอำนาจรัฐมาจากความยินยอมของประชาชน และอำนาจรัฐเป็น “เครื่องมือ” เพื่อตอบสนองเป้าหมายของประชาชน ไม่ใช่ประชาชนเป็นเครื่องมือตอบสนองเป้าหมายของรัฐ

รัฐเป็นเครื่องมือของประชาชนในความหมายว่า รัฐมีไว้เพื่อรักษา “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” คือ หลักสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ หลักการกระจายโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรม หลักสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้พลเมืองแต่ละคนสามารถบรรลุเป้าหมายการมีชีวิตที่ดีทางศีลธรรมที่แตกต่างและหลากหลายตามความเชื่อของแต่ละคนได้ และบรรลุการมีคุณภาพชีวิตที่ดีทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ ตามเป้าหมายของแต่ละคนได้ 

การบรรลุเป้าหมายชีวิตของประชาชน เป็นเรื่องที่แต่ละคนมีอิสรภาพในการกำหนดเป้าหมายให้ตัวเขาเอง โดยแต่ละคนต้องยึดถือและเคารพปกป้องหลักความยุติธรรมสาธารณะทางการเมืองและสังคมร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องของรัฐที่จะทำตัวเป็น “คุณพ่อรู้ดี” คิดแทนประชาชน เช่น สอนประชาชนว่าต้องเลี้ยงไก่ครอบครัวละ 2 ตัว หรือยัดเยียดศีลธรรมศาสนา ปรัชญาชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง โคกหนองนาโมเดล และอื่นๆ แก่ประชาชน

รัฐคุณพ่อรู้ดี หรือลัทธิพ่อปกครองลูกเช่นนี้ คือรัฐที่ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองเป้าหมายที่ชนชั้นปกครองกำหนดให้ประชาชน ราวกับผู้ปกครองเป็นพระเจ้า หรือเป็นตัวแทนของพระเจ้า เป็นตัวแทนของธรรมะ หรือผู้ทรงบุญญาธิการในความหมายต่างๆ

ข้ออ้างหลักที่รัฐคุณพ่อรู้ดีแบบไทยใช้ปกครองประชาชนคือ ข้ออ้างที่ว่า “ผู้ปกครองรักประชาชนทุกคนเหมือนลูกของตนเอง” ข้ออ้างเช่นนี้ใช้มาตั้งแต่ยุคธรรมราชาอโศกเป็นอย่างน้อย รัฐพุทธไทยก็รับมาใช้ และเน้นการ “ประชาสัมพันธ์” มากเป็นพิเศษในยุคสมัยใหม่ เพื่อสถาปนาอำนาจนำทางการเมืองของกษัตริย์เหนืออำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในด้านกลับความรักที่พ่อมีต่อลูกก็กำหนดให้ประชาชนเป็น “ลูก” ที่ต้องรักหรือต้องจงรักภักดีต่อพ่อ และมีสำนึกว่าตนเองคือ “ผู้อาศัยอยู่ในบ้านหรือแผ่นดินของพ่อ” หาใช่พลเมืองเสรีและเสมอภาคผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่

ภายใต้ระบบพ่อปกครองลูกเช่นนี้ หลายๆ ครั้งเกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ลูกๆ ทะเลาะขัดแย้งและตีกันเอง เพราะเรื่องรัก -ไม่รัก จงรักภักดี - ไม่จงรักภักดีต่อผู้ปกครองที่เป็นพ่อสมมติ ประวัติศาสตร์เช่นนี้เป็นดังวังวนความขัดแย้งแตกร้าวที่ไร้ทางออก หรือไม่ยอมให้มีทางออกอื่นใด นอกจากบรรดาลูกๆ ที่คิดแตกต่างกัน จะต้องเชื่อฟังคำสอนของพ่อที่เน้นให้ “รู้รักสามัคคี” เท่านั้น

แต่อย่างที่กล่าวแล้วแต่แรกว่า แม้แต่ความรักลูกแท้ๆ ของตนเองอย่าง “กษัตริย์โพธิสัตว์” เวสสันดร ก็ยังเป็นความรักแบบนายทาสที่ใช้ลูกตนเองเป็น “เครื่องมือ” ในการบำเพ็ญ “ทานอุปบารมี” เพื่อเป้าหมายที่สูงส่งกว่าใน “ชาติหน้า” คือการบรรลุโพธิญาณ 

ดังนั้น แม้ชาวพุทธจะอ้างว่าพุทธศาสนาไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า แต่หลักคิดเชิงศีลธรรมก็เหมือนกันในแง่ว่า พุทธศาสนาก็กำหนดเป้าหมายชีวิตของมนุษย์เอาไว้แล้ว และเป้าหมายสูงสุดคือ “การบรรลุนิพพาน” นั้นมีค่ากว่า “อิสรภาพ” ของบุคคล กระทั่งมีค่ากว่าอิสรภาพของลูกตนเอง จึงยอมให้ทานลูกตนเองเป็นทาสเพื่อเป้าหมายนั้นได้ โดยใช้ “ความรักของพ่อ” หว่านล้อมให้ลูกผู้ยังเยาว์ยอมตนเป็นเครื่องมือสร้างบารมีของพ่อ

พูดอีกอย่างคือ หลักการทางศีลธรรมของพุทธถือว่า “อิสรภาพหรือเสรีภาพด้านใน” ของบุคคล สำคุญกว่า “อิสรภาพหรือเสรีภาพทางสังคมและการเมือง” ดังที่ปราชญ์พุทธทั้งพระและฆราวาสเน้นว่า เรื่องราวการสละลูกเมียเป็นทาสของเวสสันดร ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึง “การปล่อยวางได้อย่างถึงที่สุด” ของผู้ที่มุ่งบรรลุอิสรภาพหรือเสรีภาพด้านใน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่มีค่าสูงสุด 

ดังนั้น ในความคิดทางการเมืองภายใต้ระบบกษัตริย์โพธิสัตว์ผู้ “ปกครองโดยธรรม” ย่อมไม่มีไอเดียเรื่อง “อิสรภาพในการปกครองตนเองทางศีลธรรม” และ “อิสรภาพในการปกครองตนเองทางการเมือง” ของ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” อยู่แล้ว เพราะการปกครองโดยธรรมเป็นการบำเพ็ญบารมีของโพธิสัตว์ผู้อุทิศตนช่วยเหลือสรรพสัตว์สู่พระนิพพาน ดังนั้น ผู้ใต้ปกครองก็คือ “สรรพสัตว์” ที่ต้องคอยพึ่ง “พระบรมโพธิสมภาร” หมายถึง พึ่งบารมีของกษัตริย์ผู้ปรารถนาโพธิญาณหรือการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ผู้ใต้ปกครองจึงเป็นเพียงข้ารับใช้ผู้จงรักภักดีของกษัตริย์โพธิสัตว์ 

แม้ในปัจจุบัน ความหมายของกษัตริย์โพธิสัตว์ไม่ได้ถูกเน้นย้ำ แต่ “ความจงรักภักดี” กลับถูกเน้นย้ำอย่างหนักวันละยี่สิบสี่ชั่วโมง แน่นอนว่า ผู้ปกครองรักประชาชนทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะ “เสื้อสี” อะไร ถ้าพวกเขาจงรักภักดี หรือแสดงออกราวกับว่าจงรักภักดี แต่หากไม่จงรักภักดี โทษทัณฑ์ย่อมหนักหนาสาหัส นั่นคือ ประชาชนผู้ถูกตีตราว่าไม่จงรักภักดีจะถูกตัดสินให้กลายเป็น “นักโทษทางความคิด” ราวกับอยู่ในยุคกลางหรือยุคมืด 

นิทเช่ (Friedrich Nietzsche) เคยวิจารณ์ว่าศีลธรรมแบบคริสต์ศาสนาคือ “ศีลธรรมแบบทาส” เพราะการอ้างความรักและให้อภัยแก่ศัตรูผู้กดขี่เป็นวิถีของทาสผู้ไม่มีทางสู้ แต่แท้จริงแล้ว ธรรมชาติของมนุษย์คือ “เจตจำนงเพื่ออำนาจ” (the will to power) เราแต่ละคนต้องการที่จะมีอำนาจเหนือคนอื่นเสมอ ถ้ามองแบบนิทเช่ เมื่อศาสนามอบอำนาจเทวสิทธิ์และอำนาจการปกครองโดยธรรมแก่กษัตริย์ หรือยกกษัตริย์ให้เป็นเทพ เป็นโพธิสัตว์ ก็ยิ่งไปเพิ่มเจตจำนงเพื่ออำนาจให้แก่คนคนเดียว หรือกลุ่มเครือข่ายให้มีอำนาจกดขี่คนที่เหลือได้โดยชอบธรรม

อย่างไรก็ตาม นิทเช่ดูเหมือนจะไม่วิจารณ์พุทธศาสนาในแง่ร้าย เหมือนวิจารณ์คริสต์ศาสนา นั่นเป็นเพราะพุทธศาสนาแบบที่เขารู้จัก อาจไม่ใช่ “พุทราชาชาตินิยม” หากเขาได้รู้จักพุทธเช่นนี้ก็คงมองไม่ต่างจากศาสนาคริสต์ (แบบที่เขาวิจารณ์)

ความรักของผู้ปกครองที่มีต่อประชาชนในลัทธิพ่อปกครองลูกแบบพุทธ อย่างดีที่สุดก็คือความรักแบบกษัตริย์เวสสัดรโพธิสัตว์รักลูกตนเอง คือ “ความรักแบบนายทาส” ที่ถือว่าลูกคือข้ารับใช้ผู้จงรักภักดี และลูกจะได้รับสิ่งที่ดีตอบแทนหาก “ยอมสูญเสียอิสรภาพ” เพื่อเป็น “เครื่องมือ” ในการบำเพ็ญบารมีของพ่อ 

แต่หากผู้ใต้ปกครองลุกขึ้นมายืนยันว่า พวกเขาไม่ใช่ทาส ไม่ใช่ข้ารับใช้ผู้จงรักภักดี แต่เป็น “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” ผู้มีอำนาจปกครองตนเองทางศีลธรรม และมีอำนาจปกครองตนเองทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย พวกเขาเหล่านั้นย่อมถูกทำให้กลายเป็น “นักโทษทางความคิด” มีชะตากรรมแบบอานนท์, เพนกวิน, ไผ่, ไมค์, เบนจา, รุ้ง และคนอื่นๆ 

เราจะหลุดพ้นจากการตกเป็นข้ารับใช้ผู้จงรักภักดีได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ตระหนักว่าตนเองมี “ความเป็นคน” หรือมี “ความเป็นมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีในตัวเอง” ที่จะต้องไม่ถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” ค้ำยันอำนาจของศักดินา และเผด็จการรูปแบบใดๆ 

หรือจนกว่าเราจะตระหนักร่วมกันว่า เราเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ผู้มีอิสรภาพปกครองตนเองทางศีลธรรมและทางการเมืองในฐานะพลเมืองเสรีและเสมอภาค อำนาจโบราณที่อิงความเชื่อทางศาสนา จึงจะไม่ครอบงำกดขี่เราได้อีกต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net