Skip to main content
sharethis

ในวาระส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ 'สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน' ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งของเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน ได้จัดลำดับและสรุปสถานการณ์ข่าวเด่น ในรอบปี 2564 จำนวน 6 เรื่อง มาให้อ่านกัน

บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดิน เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม ภาคประชาชนยังคงขับเคลื่อน และผลักดันให้พิจารณาและยกเลิกกฎหมายลำดับรองประกอบ ม.64 แห่ง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติฯ พ.ศ.2562 รัฐบาลต้องยึดแนวทางในรูปแบบโฉนดชุมชน รวมทั้งให้การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรฯ ด้วยความเสมอถาค

ความเหลื่อมล้ำหลังการทำรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 2557 โดยคณะ คสช. ปรากฏให้เห็นโดยเสมอ ทั้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม หาความเสมอภาคมิได้ เมื่อรัฐบาลประยุทธ์ ที่สืบทอดมาจาก คสช. ได้ครองอำนาจการบริหารประเทศ หลังจาก มีการเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 ยิ่งสะท้อนชัดถึงเจตนารมณ์ แม้กระทั่งการใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อยึดกุม และผูกขาดอนาคตของสังคมและการเมืองไทยไว้เพียงกลุ่มตนเอง และเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มทุนผูกขาดเพียงคนไม่กี่หยิบมือเท่านั้น

ในขณะที่คนจน คนด้อยโอกาสทางสังคม ต่างตกอยู่ในชะตากรรมอันขัดสน ถูกละเมิดสิทธิ ขาดการมีส่วน ร่วมในหลายด้าน ทั้งปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ทวีความเข้มข้น หลังจากหัวหน้าคณะ คสช.มีคำสั่ง “ทวงคืนผืนป่า” สร้างผลกระทบความเดือดร้อนต่อประชาชนที่เป็นเพียงเกษตรกรคนจนธรรมดาอย่างรุนแรงไปทั่วทุกถิ่นฐาน  เช่น ชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ต้องเผชิญต่อการถูกดำเนินคดี ถูกข่มขู่ คุกคาม ในรูปแบบต่างๆ สุขภาพจิตสูญเสีย ความปกติสุขชีวิตเลือนจากไป รวมทั้งเสียเวลาทำมาหากิน

ในวาระส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งของเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน ได้จัดลำดับและสรุปสถานการณ์ข่าวเด่น ในรอบปี 2564 จำนวน 6 เรื่อง ดังนี้ 1.ชาวบ้านโคกยาว เดินหน้าสานฝันพ่อเด่น-แม่ภาพ สู่การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน 2.ชาวบ้านบ่อแก้ว ล้อมกองไฟ ไล่ลมหนาว เกี่ยวข้าวไร่ ฉลองชัยประชาชน 3.ชาวบ้านกรณีข้อพิพาทอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ เดินหน้าผลักดันแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรฯ อย่างมีส่วนร่วม 4. ชาวบ้านร้อยเอ็ดร่วมปกป้องผืนป่า กลับถูกกลุ่มเอกชนอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของฟ้องคดี 4 ราย 5.นสล.บิน กรณีที่สาธารณะประโยชน์โคกภูพระ จ.ยโสธร และ 6.ความบกพร่องการตรวจยึดพื้นที่ชาวบ้าน ตามมาตรการทวงคืนผืนป่า กรณีคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร

0 0 0

1. ชาวบ้านโคกยาว เดินหน้าสานฝันพ่อเด่น แม่ภาพ สู่การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน

ปี 2516 ประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ต่อมาปี 2528 กรมป่าไม้นำต้นยูคาฯ เข้ามาปลูกทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ โดยกรมป่าไม้และกองกำลังทหารพรานได้ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่

นายเด่น คำแหล้ (ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว) แกนนำชาวบ้าน ร่วมต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกิน เพื่อให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขปัญหาในรูปแบบโฉนดชุมชน กระทั่งวันที่ 1 ก.ค. 2554 เจ้าหน้าป่าไม้และฝ่ายปกครอง นำโดยนายอำเภอคอนสาร สนธิกำลังกว่า 100 นาย เข้ามาปิดล้อมชาวบ้านและควบคุมตัวไปสถานีตำรวจภูธรห้วยยาง ดำเนินคดีข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน 10 ราย นายเด่นเป็นจำเลยที่

25 ส.ค. 2557 เจ้าหน้าที่ทหสร ป่าไม้สนธิกำลังเข้ามาปิดประกาศคำสั่ง คสช.64/2557 ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า หลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายเด่น เป็นแกนนำชุมชน เข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง กับหน่วยงานภาครัฐให้ชะลอการไล่รื้อออกไปก่อนจนกว่าจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง

ภายใต้บรรยากาศความสุ่มเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังเจ้ามาไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง เป้าหมายเพื่อผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ให้ได้ กระทั่งนายเด่น คำแหล้ สูญหายตัวไปในวันที่ 16 เม.ย. 2559 หลังจากเข้าไปหาเก็บหน่อไม้ ในบริเวณสวนป่าโคกยาว รอยต่อระหว่างป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

แม้ในต้นปีถัดมา จะพบวัตถุพยาน เช่น หัวกะโหลก และอีกปีผ่านไปได้พบชื้นส่วนกระดูกข้อเท้าจำนวน 8 ชิ้น (บริเวณพื้นที่เดียวกันที่เจอหัวกะโหลก)  สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจตรวจพิสูจน์พบว่ามีสารพันธุธรรมเดียวกันกับน้องสาวของนายเด่น ล่วงมาถึงแัจจุบันตำรวจยังไม่สามารถระบุถึงผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องให้บ่งชัดต่อสังคมได้ว่า ปมปริศนาการหายตัวและการเสียชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร

นางสุภาพ คำแหล้' ลุกขึ้นมาสานสุ่ฝันต่อความตั้งใจเดิมของสามี ในการเป็นแกนนำแถวหน้า พร้อมเรียกร้องความยุติธรรมให้กับสามี กระทั่งเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2560 แม่ภาพ (จำเลยที่ 4) ถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา หลังจากครบกำหนดได้รับการปล่อยตัววันที่ 6 ม.ค. 2561 ยังคงยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินต่อไป ช่วงที่แม่ภาพถูกคุมขังได้มีอาการป่วย จนกระทั่งระยะหลังตรวจพบว่าเป็นมะเร็งและอาการทรุดลงเรื่อยมา

ท้ายที่สุดความอาลัยอย่างไม่หวลกลับต่อนักปกป้องสิทธิสตรี และนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินชุมชนโคกยาว ได้เสียชีวิตด้วยวัย 67 ปี จากโรคมะเร็งลำไส้

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านสมาชิกชุมชนโคกยาว ยังคงยืนหยัดร่วมต่อสู้เรียกร้องในสิทธิที่ดินทำกิน สานต่อภารกิจ หลังจากเมื่อ 19 ก.ค. 2563 แม่ภาพ และสมาชิกชุมชน ร่วมประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชึ่งมติที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยจัดสรรพื้นที่จำนวน 830 ไร่ จำแนกเป็นที่ทำกินจำนวน 330 ไร่ 16 ครัวเรือน ตามหลักการแนวทางของ คทช.และพื้นที่ป่าชุมชนจำนวน  500 ไร่ ทั้งนี้กำนันตำบลทุ่งลุยลาย (นายเซ็งกัง แซ่ลิ้ม) ได้เซ็นรับรองสถานภาพความเป็นคนจนผู้ยากไร้ ไม่มีที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยจริง

แม้ผลการประชุมจะมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน และยอมรับร่วมกันทุกฝ่าย แต่การดำเนินการยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีความคืบหน้า ชาวบ้านชุมชนโคกยาวจึงได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามข้อตกลง กระทั่งในวันที่ 29 ก.ค. 2564 ได้มีการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาโดยนายบุญมี วิยาโรจน์ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว และผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิเช่น นายสุเทพ เกตุเวชสุริยา (ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7) นายรัฐนันทน์ คิรินทร์จิรเดช (หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำทุ่งลุยลาย ตัวแทนจากหน่วย ชย. 4) และนายเจนวิทย์ คำนึงผล หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชย.4 รวมทั้งนายเจ๊กัง แซ่ลิ้ม (กำนัน ต.ทุ่งลุยลาย)

ในส่วนของมติที่ประชุม ได้สรุปแนวทางแก้ไข คือหน่วยจัดการต้นน้ำทุ่งลุยลาย จัดทำบัญชีแปลงปลูกป่าที่อยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ ส่งมอบให้กรมป่าไม้เพื่อนำมาจัดสรรให้ชาวบ้านโคกยาว ซึ่งกำนันตำบลทุ่งลุยลายได้รับรองแล้วจำนวน 16 ราย และให้มีการเร่งรัดดำเนินการส่งมอบพื้นที่ให้กรมป่าไม้โดยเร็ว อีกทั้งให้มีการลงสำรวจขอบเขตพื้นที่ 330 ไร่ เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลให้กรมอุทยานฯ พิจารณาส่งมอบพื้นที่ปลูกป่าที่อยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ ให้กรมป่าไม้นำมาจัดสรรให้ชาวบ้านชุมชนโคกยาว

และในวันที่ 30 ก.ค. 2564 คณะทำงานฯ ได้ลงสำรวจขอบเขตร่วมกัน และนำมาขึ้นรูปแปลงได้จำนวนพื้นที่ทั้งสิ้น 330 ไร่ จัดทาการเร่งรัดและส่งมอบ ให้กรมป่าไม้เพื่อรีบแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน

2. ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ล้อมกองไฟ ไล่ลมหนาว เกี่ยวข้าวไร่ ฉลองชัยประชาชน

40 กว่าปี บนเส้นทางของการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินและความเป็นธรรม นำมาสู่ชัยชนะหลังมีมติ ครม. 23 มิ.ย. 2563 เห็นชอบให้ อ.อ.ป.ส่งมอบที่ดินให้กรมป่าไม้ เพื่อนำมาจัดให้กับผู้เดือดร้อน จำนวน 366 ไร่ 78 ตารางวา และคณะทำงานร่วมในระดับพื้นที่ลงพื้นที่ รังวัดขอบเขต จัดผัง และจัดสมาชิกลงแปลงที่ดินทำกินได้เสร็จสิ้น นับแต่ในช่วงฤดูการผลิตเมื่อต้นปี 2564 เรื่อยมา สมาชิกชุมชนจำนวน 122 ครอบครัว สามารถเริ่มเข้าทำประโยชน์ ปรับพื้นที่ และทำการผลิตจำพวกข้าวไร่ ถั่วลิสง งา ข้าวโพด ฯลฯ สลับไม้ผลไม้ยืนต้น

"ล้อมกองไฟ ไล่ลมหนาว เกี่ยวข้าวไร่ ฉลองชัยประชาชน" เป็นการจัดกิจกรรมที่ชาวบ้านบ่อแก้วร่วมกันยืนหยัดและร่วมฉลองชัยชนะผลผลิตแรกจากน้ำพักน้ำแรงบนที่ดินทำกินที่ได้เก็บเกี่ยว ร่วมลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้รับจากที่ดินทำกินเดิมผืนนี้กลังจากถูกยึดไป

หากย้อนดูเส้นทางการต่อสู้ จะพบว่าชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กำเนิดขึ้นมาจากการเข้ายึดพื้นที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมาเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2552 ได้ผ่านเรื่องราวอุปสรรคปัญหามากมาย โดยเฉพาะช่วง 12 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาคดีความเป็นข้อท้าทายในช่วงแรกของการเข้ายึดพื้นที่ อ.อ.ป.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขับไล่แกนนำชาวบ้าน จำนวน 31 ราย เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2552 หลังจากศาลจังหวัดภูเขียวนัดฟังคำพิพากษา มีคำสั่งให้ผู้ถูกดำเนินคดีพร้อมบริวาร ออกจากพื้นที่ ความผิดฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ต่อมาศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น แต่ชาวบ้านยืนยันจะปักหลักอยู่ในพื้นที่ทำกินเดิมของบรรพบุรุษ

อ.อ.ป.แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการปิดหมายบังคับคดี  ชาวบ้านจึงได้เดินเท้าทางไกลจากคอนสาร ในวันที่ 4 ก.พ. 2554 เพื่อไปร่วมชุมนุมที่ กทม.ผลการเจรจาในวันที่ 2 มี.ค. 2554 บรรลุข้อตกลง 3 ข้อคือ อ.อ.ป.จะไม่เร่งรัดบังคับคดี ให้นำพื้นที่จำนวน 1,500 ไร่ ไปดำเนินการโฉนดชุมชน และให้ยกเลิกสวนป่าตอนสาร แต่ในทางปฎิบัติไม่มีการดำเนินการอย่างใด

ต่อมา ปี 2557 คสช.ออกคำสั่งนโยบายทวงคืนผืนป่า” ทหาร-จนท.ป่าไม้ เข้ามาปิดประกาศคำสั่ง คสช.เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2557 ให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้าง อพยพออกจากพื้นที่ ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือและเรียกร้องความเป็นธรรม จนมีคำสั่งให้ชะลอการไล่รื้ออกไปพลางๆก่อน

ความล่าช้าในการตัดสินทางนโยบาย ในกระบวนการแก้ไขปัญหา ภายหลังศาลจังหวัดภูเขียว นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2562 มีคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน จนมาถึงสถานการณ์เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2562 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ สนธิกำลังเข้ามาปิดหมายบังคับคดี มีคำสั่งให้จำเลยทั้ง 31 ราย พร้อมบริวารออกจากออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 27 ส.ค. 2562

ด้วยจิตใจการต่อสู้เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคแห่งความไม่เป็นธรรม กระทั่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (วราวุช ศิลปอาชา) มอบหมายให้คณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รมว.ทส นำโดย น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะที่ปรึกษาคณะ รวม.ทส. ลงพื้นที่บ้านบ่อแก้ว ในวันที่ 26 ส.ค. 2564 เพื่อประชุมหารือกับชาวบ้านผู้เดือดร้อน พร้อมกับ อ.อ.ป.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

น.ส.กัญจนา กล่าวว่า จากการที่ได้รับการร้องเรียน จนลงพื้นที่เพื่อมารับทราบด้วยตัวเอง พบว่า ในข้อเท็จจริงนั้น ชาวบ้านทำกินในพื้นที่มาก่อนจะมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติเมื่อปี 2516 ต่อมากรมป่าไม้ให้สัมปทาน อ.อ.ป.บนพื้นที่กว่า 4,401 ไร่ ปลูกสร้างสวนป่ายูคาลิปตัส ทับที่ทำกินชาวบ้านมานับแต่ปี 2521 จึงมีการกำชับให้ อ.อ.ป.ประสานไปยังกรมบังคับคดี ให้ชะลอการบังคับคดีออกไปก่อน 30 วัน จนกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาจะมีข้อยุติ

จากสถานการณ์การปิดหมายบังคับคดี นำมาสู่การติดตามและผลักดันการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งแนวทางนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดินได้ร่วมกันสำรวจพื้นที่เพื่อให้ได้ตามจำนวนเป้าหมายที่ชาวบ้านเสนอ จำนวนประมาณ 812 ไร่ จนนำมาสู่การสำรวจพื้นที่ร่วมกัน และมติคณะกรรมการ อ.อ.ป.เห็นชอบในการคืนพื้นที่จำนวน 7 แปลง รวมพื้นที่ 366 ไร่ 78 ตรว.

ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของชาวบ้านบ่อแก้ว รวมทั้งองค์กรภาคีต่างๆ ที่ร่วมต่อสู้ผลักดันให้รัฐแก้ไขกรณีข้อพิพาทสวนป่าคอนสาร เพื่อความเป็นธรรมในสิทธิด้านที่ดินทำกิน

ทั้งนี้ เป้าหมายการใช้ประโยชน์ในที่ดินของชาวบ้านบ่อแก้ว คือร่วมกันพัฒนาระบบการผลิต และการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยจำแนกเป็นพื้นที่แปลงรวม และให้สมาชิกครอบครัวละ 2 ไร่ จำนวน 122 ครัวเรือน เพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และทำการผลิตการเกษตร เพื่อเป็นการสร้างความมั่งคงอาหาร ให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องหาซื้อจากภายนอก

ส่วนพื้นที่แปลงรวม ได้ปรับพื้นที่มาตลอด โดยมีแผนพัฒนาการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมโดยชุมชน เช่น ทำการผลิตเกษตรผสมผสาน,จัดสร้างตลาดเขียว,ทำศูนย์การเรียนรู้ ,นารวม และโรงน้ำดื่มชุมชน เป็นต้น

3. ชาวบ้านกรณีข้อพิพาทอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ เดินหน้าผลักดันแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรฯ อย่างมีส่วนร่วม

ข้อพิพาทกรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน 5 ชุมชน คือ 1.บ้านซับหวาย 2.บ้านซับสะเลเต 3.บ้านซอกตะเคียน 4.บ้านหนองผักแว่น และ 5.บ้านหินรู นับแต่ช่วงปี 2558 ได้มีกองกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร และป่าไม้ เข้าไปข่มขู่ คุกคามชาวบ้านที่กำลังทำไร่มันสำปะหลัง โดยเบื้องต้นจะพยายามเกลี้ยกล่อม หลอกล่อ และใช้วิธีการข่มขู่ เพื่อให้ลงชื่อเซ็นต์ยินยอมคืนพื้นที่ ตามมาตรการทวงคืนผืนป่า

ซึ่งชาวบ้านจำต้องยอมด้วยคำขู่ที่น่ากลัวของเจ้าหน้าที่ที่ยกเข้าไปรายล้อม และในแต่ละแปลงที่ชาวบ้านทำไร่อยู่ จะมีไม่กี่คน ส่วนมากจะเป็นผู้หญิงและคนแก่ ทำให้ชาวบ้านทนการบีบคั้นไม่ได้ ที่สุดแล้ว ชาวบ้านถูกฟ้องคดีรวมทั้งสิ้น 14 ราย 19 คดี

แนวทางแก้ไขปัญหา จนมาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ได้มีกลไกการทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อยุติ ซึ่งกระบวนการทำงานที่ผ่านมาได้มีการรับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่าวงยั่งยืนโดยชุมชน ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากมติที่ประชุมคณะทำงานจังโดยมีกรอบแนวคิดสำคัญคือ หลักการคนอยู่ร่วมกับป่า ในการจัดการทรัพยากรฯ ที่ออกแบบร่วมกันระหว่างชุมชนและรัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในกลไกคณะกรรมการร่วมทั้งในระดับพื้นที่และนโยบาย

โดยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2564 ได้มีการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินซ้อนทับอุทยานแห่งชาติไทรทอง ประกอบด้วย ผู้แทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และตัวแทนกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติไทรทอง อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ โดยนายสุเทพ เกตุเวชสุริยา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) เป็นประธานในที่ประชุม และมีองค์ประกอบผู้เข้าร่วมประชุมนายวรพล ดีปราสัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง

มติที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการแก้ไขที่ดินและบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันตามมาตรา 64 และสำรวจพื้นที่ตามมาตรา 65 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 โดยได้มีการนัดหมายลงพื้นที่ปฏิบัติกาและเร่งจัดทำแผนให้แล้วเสร็จ ตามแผนบริหารจัดการบันได 6 ขั้น

โดยแผนดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขความขัดแย้งในระดับพื้นที่ระหว่างรัฐกับประชาชน ทั้งปัญหาการทับซ้อนสิทธิในที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย และปัญหาคดีความ รวมทั้งความพยายามในการหาทางออกร่วมกัน โดยมีกรอบแนวคิดสำคัญคือ หลักการคนอยู่ร่วมกับป่า และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตพื้นที่ชุมชนทั้ง 167 รายจำแนกเป็นป่าชุมชน พื้นที่ทำกิน พื้นที่ริมฝั่งห้วย ป่าวัฒนธรรม พื้นที่ป่ากันชน

4. ชาวบ้านร้อยเอ็ดร่วมปกป้องผืนป่า กลับถูกกลุ่มเอกชนอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของฟ้องคดี 4 ราย

กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 มีผู้เข้าไปทำลายสภาพป่า โดยใช้รถแบ๊คโครโค่นไม้ใหญ่กว่า 500 ต้น พืชสมุนไพรเสียหายกว่าหนึ่งพันต้น ส่งผลให้แหล่งอาหาร ทรัพยากร ที่อุดมสมบูรณ์เกิดความเสียหายจำนวนกว่า 20 ไร่

หลังจากชาวบ้านอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองโมง-หนองกลาง จ.ร้อยเอ็ด เข้าแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบัวขาว ต.สระบัว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อลงบันทึกประจำวันและให้เร่งสืบหาผู้กระทำผิด ต่อมากลับถูกกลุ่มเอกชนอ้างเป็นเจ้าของในที่ดิน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีแกนนำชาวบ้าน จำนวน 4 ราย ข่อกล่าวหาร่วมกันกระทำผิดอาญาข้อหาร่วมกันบุกรุก

เดิมศาลจังหวัดร้อยเอ็ด มีคำสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ต่อมาศาลได้พิจารณาเลื่อนนัดไต่สวนมาเป็นวันที่ 20 ม.ค. 2565

ที่สาธารณประโยชน์ป่าหนองโมง-หนองกลาง เป็นผืนป่าที่ประชาชนจำนวนกว่า 10 หมู่บ้าน ใน 2 ตำบล ได้แก่ ต.สระบัวและ ต.โนนสวรรค์ จ.ร้อยเอ็ด ใช้ประโยชน์ร่วมกันมานับแต่บรรพบุรุษ ปัจจุบันมีสภาพของความเป็นป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของชุมขน กลับถูกเอกชนออกโฉนดทับพื้นที่บริเวณดังกล่าวเต็มทั้งแปลง ซึ่งชาวบ้านมาทราบในภายหลัง โดยเป็นการออกโฉนดที่ดินที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประมวลกฎหมายที่ดิน ชาวบ้านจึงต้องการให้มีการเพิกถอนโฉนดที่ดิน ที่มีการออกทับที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงดังกล่าว หลังจากมีผู้อ่างสิทธิ์เข้ามาตัดไม้ทำลายป่า

เกิดข้อพิพาทมานับแต่ปี 2536 จากการที่มีกลุ่มเอกชนบางรายเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ โดยอ้างว่ามีชื่อเป็นผู้ครอบครอง ทั้งที่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของชุมชน และยังไม่มีการขึ้นทะเบียน และยังไม่ออก นสล.การที่จะออกเอกสารสิทธิ์ให้เอกชนในพื้นที่ดังกล่าวจึงเสมือนการทำลายแหล่งอาหาร และอื่นๆที่ชุมชนใช้สอยร่วมกัน ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มคัดค้าน ร่วมกันผลักดันและติดตามกระบวนการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับพื้นที่และในระดับนโยบายเรื่อยมา

5. นสล.บิน กรณีที่สาธารณะประโยชน์โคกภูพระ จ.ยโสธร

ที่สาธารณประโยชน์โคกภูพระ ได้ขึ้นทะเบียนประกาศหวงห้ามเป็นที่สาธารณประโยชน์ เมื่อวันที่ 10  ต.ค. 2491 มีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ ต่อมาปี 2519 คณะกรรมการสภาตำบลกุดแห่  อำเภอเลิงนกทา เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดยโสธรสาขาเลิงนกทา ได้ทำการรังวัดและปักแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ แต่ปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าวมีราษฎรเข้าทำประโยชน์เต็มพื้นที่หมดแล้ว จึงไม่สามารถดำเนินการสำรวจและปักแนวเขต

หน่วยงานดังกล่าวได้ประชุมหารือมีมติเห็นชอบว่า ป่าหนองหญ้าข้าวนก ซึ่งอยู่ห่างจากโคกภูพระ  ประมาณ  2  กิโลเมตร และมีราษฎรจับจองครอบครองทำประโยชน์พื้นที่ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังกำหนดว่าเป็นพื้นที่มีความเหมาะสมที่จะสงวนหวงห้ามไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์แทนโคกภูพระ

ต่อมาปี 2526 อำเภอเลิงนกทา ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดยโสธรสาขาเลิงนกทา เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) และดำเนินการรังวัดปักแนวเขต ได้เนื้อที่ 233 – 1 – 43  ไร่

การออก นสล.ผิดแปลง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันวา นสล.บิน เพราะที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าว  ตามทะเบียนอยู่อีกแห่งหนึ่ง  ไม่ใช่ที่มีการรังวัดไว้ จึงได้ซ้อนทับกับที่ดินทำกิน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านหินโง่น หมู่ที่ 11 ถูกขัดขวางไม่ให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน

ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่อยมา และในช่วงปี 2546 นายอำเภอเลิงนกทา ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งขับไล่นางถาวร  ธนะสิงห์ ออกจากที่ดินพิพาท  โดยกล่าวหาว่าครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์เพื่อประโยชน์ส่วนตน

การติดตามการแก้ไขของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ประเด็นปัญหาการเร่งรัดออก นสล.จำนวน 150 ไร่ แปลงโคกภูพระ ตามทะเบียนสาธารณประโยชน์ ปี พ.ศ.2491 จำนวน 150 ไร่ ส่วนที่เหลือ 83 ไร่ ซึ่งอยู่ในเขตปฎิรูปที่ดิน ให้ออกเป็น สปก.ให้กับนางถาวร ธนะสิงห์ กับพวก เพราะเป็นพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน และให้หน่วยงานรัฐเร่งจัดทำแนวเขตในส่วนที่ดินพิพาทตั้งอยู่ให้ชัดเจน และให้ยกเลิกการประกาศออก นสล.ในส่วนที่ซ้อนทับกับที่ดินทำกินของผู้เดือนร้อน รวมทั้งให้จังหวัดยโสธรเร่งดำเนินการตามมติที่ประชุมที่ผ่านมาว่าให้ดำเนินการในรูปแบบ สปก.
 
ต่อมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) ลงพื้นที่และร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานราชการ ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564 สรุปผลกรณีปัญหาข้อพิพาทที่ดิน อำเภอเลิงนกทา จ.ยโสธร ให้หน่วยงานราชการ ประกอบด้วยอำเภอเลิงนกทา และเทศบาลตำบลกุดแห่ หารือกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ซึ่งเป็นคู่กรณีของหน่วยงานรัฐร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหา โดยให้จัดที่ดินแก่ผู้เดือดร้อนที่ทำประโยชน์ในพื้นที่ และในระหว่างแก้ไขปัญหาให้สามารถทำประโยชน์ได้โดยปกติสุข

6. ความบกพร่องการตรวจยึดพื้นที่ชาวบ้าน ตามมาตรการทวงคืนผืนป่า กรณีคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร

ภายหลังรัฐบาล คสช.ได้ออกนโยบายทวงคืนผืนป่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาปักป้ายทำแนวเขตตรวจยึดพื้นที่ ประมาณ 5,000 ไร่ เมื่อปี 2558 และแจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ สภ.คำป่าหลาย รวมทั้งได้มีการไถทำลายอาสินชาวบ้าน เช่น มันสำปะหลัง ตัดยางพาราชาวบ้าน เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกต้นไม้

สถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 ผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าพื้นที่ป่าดงหมู แปลงที่ 2 เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหา โดยพื้นที่ดังกล่าวหน่วยป้องกันรักษาป่า มห.1 (คำป่าหลาย) ได้เข้าตรวจยึดพื้นที่ ตัดฟันต้นยาง พร้อมข่มขู่ไม่ให้เข้าไปทำกินในพื้นที่ และในระหว่างที่มีการแก้ไข และขอให้ชดเชยเยียวยาเนื่องจาก 5 ปีที่ผ่านมา ผู้เดือดร้อนขาดรายได้ เพราะไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินทำกินได้

ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ก็ได้ยื่นหนังสือเพื่อร้องเรียนพฤติกรรมและได้มีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำมาสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการขอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติม แต่ปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าอย่างใด

กรณีดังกล่าว ชาวบ้านบ้านนาคำน้อย หมู่ 6 บ้านแก้ง หมู่ 5 บ้านโนนคำ หมู่ 13 ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ ปี 2559 จากการยึดที่ดินจากนโยบายทวงคืนผืนป่าที่มีความผิดพลาดคาดเคลื่อนในการกำหนดพื้นที่เป้าหมายตรวจยึดแบบรวม ไม่จำแนกแยกแยะสถานภาพการถือครองทำประโยชน์ที่ดินทางเกษตรกรแต่ละรายไม่ถูกต้อง โดยไม่มีการพิสูจน์สิทธิก่อน

กระทั่งมีการฟ้องคดีแห้ง ที่ ส.ภ.คาป่าหลาย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2559 ทั้งมีการข่มขู่ทำให้คนในพื้นที่ไม่กล้าเข้าไปทำกิน เพราะถ้ามีใครเข้าไปทำกินจะมีการฟ้องร้องและถูกจับทันที

0 0 0

อย่างไรก็ตาม แม้ชุมชนที่ยู่ในพื้นที่เขตป่า เช่น ชุมชนบ่อแก้ว ได้รับการส่งมอบที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมา แต่มีข้อจำกัดจากกฎหมายลำดับรองประกอบ ม.64 แห่ง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติฯ พ.ศ.2562 ที่ได้สร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรของชุมชน และจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.คทช.เป็นเพียงการให้อนุญาตเข้าใช้ประโยชน์เท่านั้น ไม่มีหลักประกันความมั่นคงที่ดินในระยะยาว

เพราะฉะนั้น ในช่วงระหว่างส่งท้ายปี ตลอดตนถึงวันเริ่มต้นขึ้นแปีใหม่ ภาคประชาขน จะยังคงขับเคลื่อน และผลักดันให้พิจารณาและยกเลิกกฎหมายลำดับรองประกอบ ม.64 แห่ง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติฯ พ.ศ.2562 เหตุเพราะข้อจำกัดในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรของชุมชน

โดยภาคประชาชนยึดแนวทางในรูปแบบโฉนดชุมชน รวมทั้งให้รัฐกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากร เพราะเมื่อเกิดข้อพิพาทขัดแย้งและตรวจสอบสถานะที่ดิน จะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเสียสิทธิในการใช้ประโยชน์ ไม่สามารถได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง ถูกยึดที่ดินคืนอีกทั้งต้องเผชิญความเสี่ยงจากคดีความ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net