Skip to main content
sharethis

วงเสวนา Clubhouse “ครป.house : สมรสเท่า(เทียมๆ) กับตรรกะเบียวๆ ที่ LGBT+ ถูกตัดสิน” ตัวแทน กสม. ชี้การแก้ ปพพ. จะแสดงถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างครอบครัวของบุคคลหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง 
    
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2564  ครป. ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย จัดกิจกรรมสนทนาบนแอปพลิเคชัน Clubhouse “ครป.house : สมรสเท่า(เทียมๆ) กับตรรกะเบียวๆ ที่ LGBT+ ถูกตัดสิน” โดยมีผู้สนทนาหลักประกอบด้วย คณาสิต พ่วงอำไพ สมาชิกสภานอนไบนารี กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย, แภทริเซีย ดวงฉ่ำ ผู้ก่อตั้งและแกนนำกลุ่ม GIRLxGIRL, นาดา ไชยจิตต์ คณะทำงานสิทธิความหลากหลายทางเพศ พรรคไทยสร้างไทย ร่วมด้วยศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ที่มารับฟังความคิดเห็นและนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนต่อในประเด็นสมรสเท่าเทียม ดำเนินการสนทนาโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป.
    
วรภัทร กรรมการ ครป. ผู้ดำเนินการสนทนาได้เกริ่นนำก่อนเริ่มการสนทนาว่า ที่มาของการจัดสนทนา ครป.house หัวข้อนี้เป็นหัวข้อสุดท้ายส่งท้ายปี 2564 เนื่องมาจากการเมื่อ 17 พ.ย. 2564 เว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ผลคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการสมรสระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งอนุญาตให้เฉพาะชายกับหญิงเท่านั้นสมรสกันได้ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาด้วยวันที่ 2 ธ.ค. 2564 เว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 ฉบับเต็ม อันนำมาสู่ความรู้สึกข้องใจของผู้คนในสังคมจนเกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง กับถ้อยคำที่กล่าวโดยสรุปได้ว่า “ลักษณะตามธรรมชาติของร่างกายชายกับหญิงอันสอดคล้องกับการตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรนั้นมีความสัมพันธ์กับการสมรสจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ เป็นเหตุให้การสมรสเป็นเรื่องระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น ตลอดจนการสมรสซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งครอบครัวและให้กำเนิดบุตรนั้นเป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่งของสังคม” (สรุปใจความโดย The Standard)
    
แภทริเซีย ผู้ก่อตั้งและแกนนำกลุ่ม GIRLxGIRL เล่าว่าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา GIRLxGIRL ได้ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการจัดเสวนาร่วมกัน ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ ได้อธิบายว่าในหลายๆ ถ้อยคำที่แถลงออกมาอาจทำให้เรารู้สึกไม่พอใจกับคำวินิจฉัย แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นแบบอื่นได้ แต่สำหรับตนนั้นรู้สึกว่าถ้อยคำที่ศาลฯ แถลงนั้น ทำให้รู้สึกเหมือนว่าเรากับศาลฯ ไม่ได้อยู่ในยุคเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประเมินความเป็นเพศที่เกิดขึ้น หน้าที่รับผิดชอบที่เกิดมาจากการเป็นเพศนั้นๆ และรู้สึกเสียใจมากๆ 
    
ทั้งนี้เรื่องกฎหมายที่ให้สิทธิการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศอาจไม่ได้ออกมาในปีนี้ แต่หากรัฐบาลหน้า พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลยังเป็นพรรคเดิม อาจจะมีความหวังที่จะมี พ.รบ.คู่ชีวิต ที่ในมุมของพวกเราก็มองว่าเป็นกฎหมายที่จะไม่ได้ให้สิทธิต่างๆ เท่ากับแนวทางที่เราต้องการให้เป็น “สมรสเท่าเทียม” 
    
คณาสิต สมาชิกสภานอนไบนารี กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย เมื่อศาลฯ วินิจฉัยว่าการไม่ให้บุคคลที่มีเพศกำเนิดเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็เหมือนเป็นการยุติความหวังของพวกเราที่จะก่อตั้งครอบครัวได้อย่างเท่าเทียมกับชายตรงเพศกำเนิดที่สามารถจดทะเบียนสมรสกับหญิงตรงเพศกำเนิดได้ ตนรู้สึกเจ็บปวดกับเนื้อหาถ้อยความที่สะเทือนอารมณ์มากๆ อันดับแรกเราเห็นเลยว่าศาลฯ ได้ชี้นำสังคมด้วยอคติตีตราต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในทำนองว่าพวกเราจะไปสร้างความปั่นป่วนให้กับสังคม หรือตรงที่ชี้ว่า คนที่จะก่อตั้งครอบครัวได้ ต้องสามารถที่จะสืบพันธุ์ (ให้กำเนิดบุตรโดยธรรมชาติ) ได้เท่านั้น คำวินิจฉัยเช่นนี้ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เราผลักดันเรื่องความเสมอภาคทางเพศกันมาตลอดหลายปี จะต้องกลับไปเริ่มต้นกันใหม่หมดเลย มีแนวโน้มว่าสิทธิความหลากหลายทางเพศในประเด็นอื่นๆอาจจะย่ำแย่ตามไปด้วย ซึ่งในส่วนที่ตนขับเคลื่อนประเด็นของเพศนอนไบนารี (Non-binary) ที่ต้องการการรับรองอัตลักษณ์ในเพศสภาพ คุณลักษณะทางเพศของพวกเรามันจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะคำวินิจฉัยนี้ไม่ได้จบแค่เพียงว่าบุคคลรักเพศเดียวกันสามารถก่อตั้งครอบครัวตามกฎหมายได้หรือไม่ แต่ยังชี้นำสังคมไปไกลในเรื่องกฎหมาย ที่ดูเหมือนจะชี้นำก้าวล่วงเรื่องการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารด้วย แถมยังก้าวล่วงไปในหลักการของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ที่ก็ไม่ได้ระบุว่าการจัดตั้งครอบครัวจะต้องหมายถึงความสามารถที่จะสืบเผ่าพันธุ์ได้ จุดนี้ก็ดูเหมือนจะไปล่วงล้ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชายและหญิงที่มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิดด้วย แถมยังชี้นำว่าให้รัฐไทยหาทางออกเรื่องนี้โดยการให้มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต ด้วย
    
คำวินิจฉัยนี้ไม่ได้เป็นไปตามหลักการใดๆ เลย ไม่ว่าจะหลักการยอกยาการ์ตา (แนวทางปฏิบัติตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ) หรือแม้แต่กับหลักการในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ก็เหมือนเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในความรับรู้ของตุลาการศาลฯเลยด้วยซ้ำ
    
ที่รู้สึกแย่ที่สุดในฐานะบุคคลนอนไบนารี คือนอกจากศาลฯ จะไม่สนับสนุนการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้เป็นเรื่องของบุคคลหนึ่งกับอีกบุคคลหนึ่งแล้ว ถ้อยคำวินิจฉัยยังสนับสนุนความเป็นระบบเพศทวิลักษณ์ (Gender Binary) ให้ฝังรากลึกลงไปอีกด้วยการที่บอกว่า ชายและหญิงเกิดมาต้องสืบพันธุ์ได้ ต้องเป็นคนมีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด ต้องรักคนที่มีเพศกำเนิดตรงข้ามเท่านั้น ทั้งยังสะท้อนภาวะสังคมชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตยได้อย่างชัดเจน
    
นาดา คณะทำงานสิทธิความหลากหลายทางเพศ พรรคไทยสร้างไทย ให้มุมมองเชื่อมโยงกับเรื่องกฎหมาย สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ระบบกฎหมายเป็นแบบ Dualism (ทวินิยม) คือกฎหมายระหว่างประเทศไม่มีผลผูกพันรัฐไทยจนกว่าจะมีการตรากฎหมายภายในประเทศ ต่างจากประเทศที่มีหลักกฎหมายแบบ Monism (เอกนิยม) ที่กฎหมายระหว่างประเทศจะมีผลผูกพันต่อกฎหมายในประเทศโดยสภาพ ซึ่งในการร้องต่อศาลฯ ในครั้งนี้ คุณดาวกับคุณเพชร (ผู้ยื่นคำร้องต่อศาลฯ) ก็ได้อ้างถึงกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย จริงอยู่ว่าเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศนั้น เราจำเป็นต้องเคารพอำนาจอธิปไตย แต่ก็ยังมีหลักในเรื่อง “สัญญาต้องเป็นสัญญาอยู่” ดังนั้นการที่รัฐได้ไปสัญญากับเหล่าประเทศภาคีสมาชิกกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือกติการะหว่างประเทศ อนุสัญญาฉบับต่างๆ ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็เท่ากับว่าเรายอมรับที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศเหล่านี้ 

ที่น่าสนใจคือ คำวินิจฉัยกลางของศาลฯ ได้ข้ามเรื่องเหล่านี้ไปเลย แต่มีคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการบางท่านที่โยงมาเรื่องปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในข้อ 2 ที่พูดถึงเรื่อง “บุคคล” ทุกคนย่อมเสมอภาค ซึ่งกติการะหว่างประเทศ ก็ได้ระบุไว้แล้วว่าบุคคลหมายถึงผู้ที่มีรสนิยมทางเพศ (Sexual orientation) มีอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) ที่แตกต่างจากเพศกำเนิด รวมถึงมีคุณลักษณะทางเพศ (Sexual Attributes) ซึ่งข้อหลังนี้จะมีผลต่อบุคคลที่เป็น Intersex (บุคคลที่มีเพศกำเนิดกำกวม) ล้วนถือเป็น “บุคคล” ที่ได้รับการรับรองแล้วในกฎหมายระหว่างประเทศ เราจึงควรมีสิทธิที่จะอ้างกติการะหว่างประเทศเหล่านี้ให้รัฐคุ้มครองเราได้โดยชอบธรรมแล้ว การที่รัฐไทยไม่กล่าวถึงกติการะหว่างประเทศเหล่านี้จึงน่าสนใจว่า อย่างการที่ประธานตุลาการศาลฯได้หยิบยกเอาหลักการยอกยาการ์ตามาใส่ไว้ในคำวินิจฉัยส่วนตน แต่ก็ระบุว่าตราบใดที่กฎหมายในประเทศยังไม่มีการระบุถึงหลักการเหล่านี้ ก็ไม่สามารถที่จะเอากฎหมายระหว่างประเทศมาใช้ในการอ้างสิทธิได้ 
    
และไม่แปลกใจที่ตุลาการอีกท่านหนึ่งคือ อาจารย์ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ  ที่มีคำวินิจฉัยส่วนตนที่ถูกเอามาใช้เป็นเนื้อหาหลักในคำวินิจฉัยกลาง  โดยอาจารย์เปรียบเทียบว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม เพราะท่านมีแนวคิดชายเป็นใหญ่แบบสุดโต่ง  มีการเอาพวกเราไปเปรียบเทียบกับสัตว์ชนิดต่างๆที่แทบไม่มีสัตว์ตัวเมียขึ้นมาเป็นจ่าฝูงเลย  เป็นการกดทับความเป็นมนุษย์ของพวกเราที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างชัดเจนมาก เราจึงไม่แปลกใจกับความคิดที่ท่านเห็นว่า ผู้มายื่นคำร้องคือเป็นคู่รักแบบหญิงรักหญิง จึงสั่งสอนพวกเราว่า เธอน่ะมีมดลูก มีประจำเดือน ธรรมชาติให้พวกเธอมาตั้งครรภ์ ดังนั้นเธอไม่ควรจะมารักกันเองหรือมีความสัมพันธ์ทางเนื้อตัวร่างกายกัน หน้าที่ของพวกเธอคือควรมีบุตร (หมายถึงว่าต้องมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชาย เพื่อจะได้มีบุตร)พวกเธอบอบบางและอ่อนแอกว่าชาย ควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ชาย แล้วยังอ้างไปถึง Act of God ซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติทั่วไปถูกนำมาอ้างถึงเหตุสุดวิสัยทางธรรมชาติ แต่ท่านเอา Act of God มาตีความเรื่องสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ต่างๆที่รัฐได้จัดทำให้คู่รักต่างเพศ(ชายรักหญิง)ได้ใช้ เป็นสิทธิที่เกิดจาก Act of God ซึ่งมันไม่ใช่เลย เราต่างรู้ว่าสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่มีการแบ่งเพศหญิง-ชาย คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยสภาพสังคม  จึงเรียกว่าเป็นสิทธิตามเพศสภาพและเพศวิถี  เราจึงได้เห็นคำวินิจฉัยที่ผิดเพี้ยน ซึ่งก็ไม่เกินคาด เพราะพวกท่านมีธงไว้แล้วว่าจะอนุรักษ์ไว้ซึ่งจารีตของระบบชายเป็นใหญ่
    
คำวินิจฉัยนี้มีประเด็นต้องขบคิด 3 เรื่อง เรื่องแรกคือการไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน เพราะมันลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จำกัดสิทธิประโยชน์ของบุคคลหลากหลายทางเพศ ซึ่งเรื่องนี้ได้ขัดต่อมติคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) ว่ารัฐต้องมีหน้าที่ตีความหลักเสมอภาค ห้ามเลือกปฏิบัติต่อบุคคล อันหมายถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย มากไปกว่านั้นยังมีการตีความให้เข้าใจว่ากฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำให้มีการออกกฎหมายให้มีการสมรสเท่าเทียม แต่กฎหมายระหว่างประเทศยืนยันว่าจะมาอ้างไม่ได้ว่า ไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวของบุคคลหลากหลายทางเพศอันทำให้บุคคลเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ รัฐจึงต้องมีหน้าที่ 3 สิ่งคือ คุ้มครอง เคารพ เติมเต็ม แต่คำวินิจฉัยนี้แทบจะล้างหลักการในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนไปเลย จึงขอเชิญชวนทุกคนร่วมกันประณามคำวินิจฉัยฉบับนี้ ซึ่งตนยืนยันว่าไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาลอย่างแน่นอน เพราะเราประณามตามหลักการอนุสัญญาว่าด้วยการจัดการการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women) ที่รัฐไทยลงนามยอมรับมา คำวินิจฉัยนี้ทำให้เรามีภาพลักษณ์ที่ตกต่ำในสายตาประชาคมโลกอย่างมาก
    
ศยามล กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เชื่อว่าภาวะชายเป็นใหญ่ เกิดมาตั้งแต่สมัยอดีตที่สังคมมีเรื่องการสู้รบ อันทำให้เพศชายมีบทบาทในการกำหนดจารีตของสังคม ขณะเดียวกัน ก็เชื่อว่าความหลากหลายทางเพศก็มีมานานตั้งแต่โบราณกาลแล้ว เพียงแต่ถูกสังคมกดทับเอาไว้ เราควรเข้าใจบริบทของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐมักเอาความคิดของตัวเองซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ ไปกำหนดวัฒนธรรม วิธีคิดของผู้อื่น ซึ่งโลกมนุษย์วันนี้มันมีความแตกต่างหลากหลาย สังคมเปิดกว้างต่อการแสดงออกของบุคคลหลากหลายทางเพศมากมากขึ้น มีครอบครัวหลายครอบครัวที่ยอมรับ แต่ถ้าเราไปกดทับจะมีผลกระทบต่อบุคคลหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะยากจน อยู่ในชนบท ที่เผชิญปัญหาการไม่ได้รับการยอมรับหรืออนุญาตจากสถานศึกษา ครอบครัวให้บุตรหลานแสดงออกซึ่งลักษณ์ตามเพศสภาพได้ หลายคนก็ต้องหลุดออกจากโรงเรียน หลุดออกจากครอบครัว และเข้าสู่วงจรชีวิตด้านมืด ติดยาเสพติด เป็นปัญหาสังคมตามมา การที่เราไม่ยอมรับ ปรับเปลี่ยนกฎหมายให้รับกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป ผู้ได้รับผลกระทบก็คือคนจน เพราะไม่มีทางเลือกมาก เช่นไม่สามารถทำอาชีพอย่างที่อยากทำ ด้วยเพราะถูกกีดกันอัตลักษณ์ทางเพศที่มีไม่ตรงเพศกำเนิด เมื่อคนเหล่านี้ทำมาหากินไม่ได้ ก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจสังคม 
    
ศยามล ยังเชื่ออีกว่าการให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนตามกฎหมายเป็น “คู่ชีวิต” จะไม่ช่วยแก้ปัญหา การทำกฎหมายต้องยอมรับความจริงว่าการสร้างครอบครัวสามารถเกิดขึ้นได้จากการที่มีบุคคลหลากหลายเพศอยู่ด้วยกัน หรือเพศเดียวอยู่ร่วมกันก็ได้ เราต้องคุ้มครองสิทธิของเขาให้เขาได้รับความเป็นธรรม เสมอภาค หากไม่เช่นนั้น หากเกิดกรณีที่คู่ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวเดี่ยว โดยไม่มีญาติพี่น้อง ทรัพย์สินส่งต่อจะทำอย่างไร ? แล้วกฎหมายเราก็ไม่ให้เขาดูแลทรัพย์สินร่วมกันอีกมันก็จะกดทับเขา แทนที่จะให้คู่ชีวิตสามารถร่วมดูแลกันและกันได้ ดังนั้นอะไรก็ตามที่สร้างสภาพแวดล้อม ให้เราสามารถดูแลกันซึ่งกันและกันได้ ก็ควรให้เขาได้เป็นครอบครัวเดียวกัน สังคมยอมรับ 
    
ถ้าเราไม่แก้ ปพพ. จะนำมาซึ่งปัญหาอีกหลายเรื่อง ทั้งสินสมรส มรดก สิทธิในสวัสดิการ การรับบุตรบุญธรรม ไหนจะเด็กที่เกิดโดยเทคโนโลยีกรณีคู่ชีวิตต้องการมีบุตรเอง เรื่องเหล่านี้แม้ต่อให้กฎหมายคู่ชีวิตออกมา แต่ก็จะไปติดปัญหากับ ปพพ. อยู่ดี และการที่เราจะเลือกแก้ที่ ปพพ. นั้นจะแสดงถึงการที่เราให้ความสำคัญกับการสร้างครอบครัวของบุคคลหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง 
    
ณัฐวุฒิ ส.ส. พรรคก้าวไกล สิ่งที่อยู่ในคำวินิจฉัยกลางของศาลฯและคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการ มันสะท้อนให้เราเห็นว่า การยกร่างกฎหมายคู่ชีวิต แม้ต่อให้หน้าตามันจะดีอย่างไร แต่มันก็เริ่มจากวิธีคิดที่มองคนไม่เท่ากันตั้งแต่ต้น คำวินิจฉัยของศาลฯที่ชี้นำไปในทางให้มีกฎหมายคู่ชีวิต และถ้อยคำวินิจฉัยที่ปรากฏออกมา สะท้อนความตกต่ำที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยได้ร่วมรับรองและเป็นภาคีของปฏิญญา UDHR ทุกอย่างมันผิดไปหมดไม่ว่าจะจะในหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา กายวิภาคศาสตร์ ซึ่งเราจะปล่อยให้มันถอยหลังไปมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว 
    
ในนามของสภาผู้แทนราษฎร ขณะนี้ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (หรือที่เรียกกันว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียม) ซึ่งเสนอโดยพรรคก้าวไกล ทั้งหมด 69 มาตรา โดยเน้นมาตรา1448 และมาตราอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตอนนี้ถูกบรรจุในวาระที่5.6ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรปี2565 ถ้าไม่มีเหตุใดแทรกเลย ร่างกฎหมายนี้จะต้องถูกพิจารณาอย่างช้าในต้นเดือนกุมภาพันธ์2565 แต่ที่น่าห่วงคือรัฐบาลอาจจะจ่อเอากฎหมายอื่นๆยื่นลัดเข้ามายังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรวมถึงร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ(พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน)ด้วย ทั้งยังอาจมีการเอาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตเข้ามาแทรก ซึ่งอาจทำให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกลตกไปจากการพิจารณาได้ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องวัดความจริงใจของรัฐบาลกันต่อไป 
    
นอกจากนี้ในช่วงหลังของการสนทนา ยังได้มีการหารือกันในเรื่องการเดินต่อของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทั้งฉบับของพรรคก้าวไกล และฉบับประชาชนที่ภาคีสมรสเท่าเทียมได้เชิญชวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาได้แล้ว 274,833 รายชื่อ ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ยื่นเข้ามาให้เร็วที่สุดเพื่อจะได้เอามาประกอบกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกลที่ต่อคิวอยู่แล้วได้ ทั้งยังแสดงความกังวลว่าหากร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอถูกรัฐบาลดึงขึ้นมาขอลัดคิวจนได้ออกเป็นกฎหมาย การเคลื่อนต่อเรื่องสมรสเท่าเทียมจะได้เดินต่อเมื่อใด หรือจะมีความเสี่ยงที่การเคลื่อนไหวเรื่องสมรสเท่าเทียมจะถูกตีความว่าขัดต่อศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองตามกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอหรือไม่ 
    
และในส่วนศยามลในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็ได้แสดงเจตจำนงว่าต้องการให้มีการหารือกันต่อร่วมกับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศในเรื่องที่ทางเครือข่ายอยากให้ผลักดันเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อที่ กสม. จะได้สรุปความคิดเห็นนำเสนอทางรัฐบาลต่อไปอีกด้วย
    
ทั้งนี้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ต้องการเข้าชื่อเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับประชาชน ยังสามารถลงชื่อได้ https://www.support1448.org/ อีกด้วย 

หมายเหตุ : 2.18 น. วันที่ 27 ธ.ค.2564 ประชาไทดำเนินการปรับแก้เนื้อหาบางส่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net