Skip to main content
sharethis

คุยกับ ‘มานพ คีรีภูวดล’ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อสัดส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล และเป็นตัวแทนพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ชี้ร่าง พ.ร.บ.ชนเผ่าพื้นเมือง คือทางออก ที่จะปลดล็อคปัญหาสิทธิชนเผ่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

มานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อสัดส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล และเป็นตัวแทนพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย บอกย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.ชนเผ่าพื้นเมือง นั้นจะเป็นทางออก ที่จะช่วยปลดล็อคปัญหาสิทธิชนเผ่าและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย


มานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อสัดส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล

อยากทราบสถานการณ์ปัญหาโดยรวมของกลุ่มพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรบ้าง? แตกต่างกับในอดีตหรือไม่อย่างไร? 

ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ในประเทศไทย  ปัญหาเดิมนั้นก็ยังไม่ถูกแก้ นั่นคือปัญหาที่จะให้ชนเผ่าพื้นเมืองนั้นมีตัวตน มีสถานะเหมือนกับพลเมืองไทยทั่วไป  เนื่องจากในความรู้สึกหรือในทัศนคติของสังคมส่วนใหญ่ รวมไปถึงหน่วยงานของราชการหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ยังไม่พังทลายหรือว่ายังไม่ได้สร้างทัศนคติที่ดีแก่คนชาติพันธุ์นี้มากเท่าไหร่ สังคมส่วนใหญ่มักจะมองพี่น้องกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย นั้นเป็นชนกลุ่มน้อย คนที่มาอาศัยในประเทศไทย เป็นผู้ทำลายทรัพยากร เป็นคนที่ไม่มีการศึกษา  เป็นคนที่ไม่มีรากเหง้า ซึ่งจริงๆ แล้ว พวกเขาไม่ได้มองความจริง ว่าพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์นั้นอยู่กันมาก่อนนานแล้ว

ผมยกตัวอย่างพี่น้องชาวเล ชาวมอแกน ชาวอุรักลาโว้ย ก็ดี พวกเขาอยู่ก่อนที่จะเกิดรัฐไทยด้วยซ้ำไป  แม้กระทั่งชาวมานิ ที่อยู่ในป่าหรือที่คนไทยเมื่อก่อนเรียกว่าซาไก หรือเงาะป่า  พวกเขาก็อยู่มาก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ด้วยซ้ำไป  เช่นเดียวกับพี่น้องชาวลัวะ ก็เป็นชนพื้นเมืองที่ในประวัติศาสตร์นั้น เคยเป็นผู้ปกครองอาณาจักรในล้านนา ในแถบภาคกลาง และตะวันตก ค่อนข้างเยอะ ชนกลุ่มนี้ก็ถูกมองถูกทำให้เป็นคนชาวเขา เป็นคนกลุ่มน้อย ทั้งๆที่ พวกเขานั้นตั้งถิ่นฐานอยู่มาก่อนประวัติศาสตร์ประเทศไทยด้วยซ้ำ  หรือแม้กระทั่งพี่น้องกะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ ก็มีประวัติศาสตร์มานานแล้ว ในประวัติศาสตร์ก็บันทึกเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งพี่น้องกะเหรี่ยง เคยรับราชการมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ โดยดูจาก ศาลเจ้าพ่อพะวอ ที่จังหวัดตาก ซึ่งครั้งหนึ่งพะวอ เป็นชนกะเหรี่ยง เคยเป็นนายทหารของพระเจ้าตาก เป็นนักรบชาวกะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ และเป็นนายด่านแม่ละเมาเมืองหน้าด่านของไทยในสมัยของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเคยร่วมสู้รบเคียงไหล่กันมา

แต่รัฐไทยและสังคมส่วนใหญ่ก็ยังคงมองพีน้องชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย นั้นเป็นชนกลุ่มน้อย เป็นตัวปัญหาอยู่เหมือนเดิม?

ผมว่าทัศนคติเหล่านี้ มันเป็นทัศนคติของรัฐไทยในสมัยเรื่องของความมั่นคงช่วงสงครามคอมมิวนิสต์ แล้วมีการปลูกฝัง ถูกสร้างไว้ในระบบการศึกษา มันก็เลยทำให้ทัศนคติของคนส่วนใหญ่ในสังคมฝังอยู่ในประเด็นเรื่องของการการด้อยค่า  การมองว่าชนเผ่า ไม่ใช่คนไทย ซึ่งแท้จริงแล้ว สยามประเทศ หรือประเทศไทยนั้นประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลายชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น คนไทย ไทยญวน  คนไทยที่มีเชื้อสายมาจากเอเชียกลางก็มี เช่นตระกูลบุญนาค ก็มาจากเชื้อสายชาวเปอร์เซีย นอกจากนั้น ยังมีคนไทยมลายู  คนไทยกะเหรี่ยง  คนไทยมอญ  คนไทยจีน ไทยลัวะ มันมีหลายเชื้อชาติเลยนะ แต่ว่าตอนนั้นยังเรียกสยามประเทศ  มันไม่มีคำว่าคนไทย  พอกลายมาเป็นรัฐไทย โดยเฉพาะมีนโยบายสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม  ที่พูดถึงเรื่องชาติ ความเป็นหนึ่งเดียว  มันก็เลยมีทัศนคติที่ไม่ดี คือคนที่พูดภาษาไทยไม่ได้ พูดไม่ชัด ก็ถือว่าไม่ใช่คนไทย  สุดท้าย ทัศนคติที่ไม่ดีต่อกลุ่มชนพื้นเมืองต่างๆ มันเริ่มขยายเป็นวงกว้าง ขนาดใหญ่ กลายเป็นการไม่ยอมรับการมีตัวตนของความเป็นพหุวัฒนธรรม พหุสังคม  ผมคิดว่ารัฐยังทำหน้าที่ไม่ดีพอ  รัฐยังคงสร้างทัศนคติแบบเดิมๆ นี้ทิ้งไว้อยู่จนกลายมาเป็นปัญหายืดเยื้อมาถึงจนทุกวันนี้”  

อีกปัญหาหนึ่งที่ถือว่าเป็นปัญหาเรื่องที่ดินของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข?

ใช่ครับ ปัญหาเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัย  เป็นปัญหาแบบเดิมๆที่ยังไม่ถูกแก้ไขเลย  พี่น้องชาติพันธุ์พี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ว่าจะอยู่ภาคใต้ ตะวันตก ตะวันออก และภาคเหนือ  ซึ่งล้วนมีการจัดการที่ดินและอยู่อาศัยกันมานานหลายชั่วอายุคน  อย่างน้อยคืออยู่มาก่อน พ.ร.บ.อุทยานฯ  อยู่มาก่อน พ.ร.บ. ป่าสงวนฯ และมีหลายพื้นที่หลายหมู่บ้าน จำนวนเยอะมาก ที่อยู่มาก่อนกฎหมายป่าไม้ฉบับแรก คือกฎหมายป่าไม้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ทีนี้ ปัญหาเรื่องที่ดินป่าไม้ จึงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากนะครับ  ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ป่าไม้และกรมอุทยาน กับชาวบ้านประชาชนที่อยู่มาก่อน แต่กลับกลายมาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ   จนนำไปสู่การจับกุมเป็นคดีความ มีการขึ้นโรงขึ้นศาล  ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม  จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม  เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาลเลย

ยกตัวอย่าง ที่เห็นได้เด่นชัด ก็คือ ทำให้ถูกกีดกันปิดกั้นโครงการพัฒนาต่างๆ ไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา หลายพื้นที่ไม่สามารถของบสนับสนุนได้เลย  เวลาชาวบ้านจะไปติดต่อหน่วยงานราชการ ก็จะไปทำยากมากนะ  เพราะว่าต้องผ่านเจ้ากระทรวงอื่นๆ ต้องมีกระบวนการเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องทำอีไอเอ ข้ออ้างชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ เรื่องงบประมาณของหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมพัฒนาที่ดิน  กรมพัฒนาชุมชน  กรมโน่นกรมนี่ แม้แต่เรื่องจะสร้างอาคารศูนย์เด็กเล็ก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต หลายศูนย์ยังสร้างไม่ได้เลย ไม่สามารถทำได้  เพราะว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของรัฐที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์และกรมธนารักษ์ก็ไม่ได้รับรอง  เพราะอยู่ในเรื่องของกระทรวงทรัพยากรฯ อยู่ในเขตของกรมป่าไม้  เพราะฉะนั้น การดำเนินงานต่างๆ ก็ ไม่ได้

ผมยกอีกหนึ่งตัวอย่าง กรณีโครงการโคกหนองนาโมเดล  ในพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่ไม่ได้รับเลยนะ  เพราะว่าพื้นที่ที่ผมไปดูพื้นที่มาหลายชุมชน หลายพื้นที่ หลายตำบล พากันเขียนโครงการโคกหนองนา โมเดล กัน 3-4 โครงการ  สุดท้ายก็ตอบมาว่าพื้นที่อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวน ป่าอุทยาน จึงไม่สามารถอนุมัติงบประมาณและหน่วยปฏิบัติการใช้งบประมาณ ก็ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ 

จึงเห็นได้ว่า นี่คือปัญหาที่ดินและป่าไม้ ซึ่งทำให้เป็นปัญหาหลักของการการเข้าถึงงบประมาณของรัฐ การเข้าถึงการแข่งขันของทางสังคมการเข้าถึงระบบเศรษฐกิจ แต่คนเหล่านี้เหมือนถูกปิดกั้น ถูกตัดแข้งตัดขา  ไม่สามารถที่จะแข่งขันได้ เหมือนแบบนักมวยคนหนึ่งสภาพร่างกายฟิตพร้อม ปกติดี ขึ้นเวที กับนักมวยคนหนึ่งแขนกุดมันจะต่อยยังไง  อันนี้คือประเด็น คือปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกแก้เลย

ซ้ำร้ายกว่านั้น เมื่อ พ.ร.บ. อุทยานฯ เขาออกกฎหมายลูก ที่เขาเรียกว่าอนุบัญญัติหรือว่ากฎหมายรอง เพื่อไปเพิ่มความเข้มข้น เช่น ด้านปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ ต่อไปจะต้องขออนุญาตนะ หรือการจะสร้างห้องน้ำและการจัดสร้าง จะทำอะไรก็ตามแต่ ต้องได้รับอนุญาตก่อน  โดยวิถีชาวบ้าน พี่น้องชนเผ่าก็จัดการดูแลกันไปตามปกติ    ซึ่งผมดูแล้ว  มันคล้ายกฎหมายจักรวรรดินิยม เหมือนในสมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครองประเทศประเทศอินเดีย  ต้องขึ้นตรงกับเจ้าหน้าที่ของเจ้าอาณานิคม

เหมือนพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองกำลังถูกลิดรอนสิทธิทั้งทางตรงและทางอ้อม?

ถูกต้อง ซึ่งมันเป็นการลดทอน  มันเป็นการปิดกั้น เป็นการขัดขวางการทำมาหากิน การดำรงอยู่ของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง  ซึ่งผมยังไม่แน่ใจว่ามันผิดรัฐธรรมนูญเรื่องของคนไทยและการตั้งที่อยู่อาศัยใหม่นี้หรือไม่  และประเด็นนี้  ผมคิดว่า เป็นเรื่องที่ที่สำคัญมาก  แล้วไม่ใช่กระทบแค่พี่น้องชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองเท่านั้นนะ  มันยังกระทบกับพี่น้องคนไทยส่วนใหญ่อีกเป็นจำนวนมาก  ลองนึกภาพในประเด็นเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์  ซึ่งในประเทศนี้ มีชุมชนตั้งอยู่ประมาณ 4,000 ชุมชน  ถ้าอนุบัญญัติตรงนี้ออกมา แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีโครงการ คทช. คณะกรรมการการบริหารจัดการที่ดินแห่งชาติ ในรูปแบบ กทช. นี้ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ยังคาราคาซังอยู่ มันก็เลยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านไม่ได้ พอที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัยในชุมชน มันไม่ชอบด้วยกฎหมาย  หรือมันทำให้หน่วยงานอื่นเข้าไปพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนไม่ได้  มันก็เลยทำให้ประชาชนเหล่านี้ขาดโอกาสอย่างมหาศาล  ไม่ว่าเป็นโรงเรียน  สถานีอนามัย หน่วยราชการบางแห่ง

เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องการท่องเที่ยว พี่น้องชาติพันธุ์ได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไรบ้าง?

ผมคิดว่านี้ประชาชนสะท้อนปัญหามาเยอะมาก ในเรื่องการท่องเที่ยว คือพี่น้องชาติพันธุ์ พี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง หรือพี่น้องคนไทยบนพื้นที่สูง  แล้วแต่ใครจะเรียกนี้ มักจะถูกโปรโมทในเรื่องของการท่องเที่ยว แต่ว่า พอเอาเข้าจริงๆ คนกลุ่มนี้ก็ยังไม่ได้ถูกรับรองสิทธิในแง่ของความเป็นพลเมืองไทยเหมือนกับคนไทยทั่วไป

ย้อนไปในอดีต จะเจอทางการโปรโมตการท่องเที่ยวว่าไปเที่ยวชุนชนเผ่าโน้นเผ่านี้ ชนชาตินั้นชนเผ่านั้นมีวิถีชีวิตอย่างงั้นอย่างงี้ แต่ไม่ให้สิทธิ ไม่มีการช่วยเหลือใดๆ เลย  หลายพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้  หลายพื้นที่ไม่มีถนนหลายพื้นที่ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยไม่มีเอกสาร  ไม่มีสิทธิในทางกฎหมาย แต่กลับเป็นสินค้าของการท่องเที่ยว  สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  แต่คนเหล่านี้กับถูกกดทับ ความไม่เท่าเทียม ในสิทธิ เสรีภาพของความเป็นพลเมืองไทย  ผมคิดว่านี่คือประเด็นปัญหาเหล่านี้ยังคาราคาซัง ไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร

อีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มาก ก็คือปัญหาเรื่องสัญชาติ?

เราพบว่า พี่น้องประชาชนที่เขามีปัญหาเรื่องสิทธิที่จะได้รับสัญชาติเป็นจำนวนมาก  ผมไปภาคตะวันตก ตั้งแต่ระนอง พี่น้องคนไทยพลัดถิ่น  ซึ่งเป็นคนไทย แต่ถูกแยกออก ตอนที่มีการแบ่งแนวเขตแผ่นดิน สมัยรัชกาลที่ 4-5 การแบ่งเขตแดนในครั้งนั้น ทำให้คนไทยเหล่านี้ถูกผลักออกไป แล้วบอกว่าไม่ใช่คนไทย เป็นคนพม่า  ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนไทย เป็นคนไทยพลัดถิ่น  รวมไปถึงพี่น้องชาติพันธุ์ พี่น้องกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์  เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี กำแพงเพชร ตาก เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พี่น้องเหล่านี้  เขาอยู่ในเกณฑ์ที่เขาสมควรจะได้รับสัญชาติไทย แต่กระบวนการดำเนินการยังมีความล่าช้า และมีเงื่อนไขหรือมีระบบระเบียบขั้นตอนมันเยอะมาก

ซึ่งผมคิดว่า นี่เป็นข้อจำกัดของหน่วยงานรัฐ เท่าที่ผมติดตามและคุยกับคนที่ทำงานล่าช้า ใน พ.ร.บ.แก้ไขปัญหาสัญชาติ  ผมคิดว่ารัฐเขายอมรับแล้ว ในกระบวนการขั้นตอนว่าถูกต้อง เห็นด้วยกับกระบวนการวิธีการแก้ไข แต่ความล่าช้า มันมาจากเรื่องกระบวนการแก้ไขปัญหาสัญชาติ ที่กรมการปกครองอาจจะมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร ยังใช้ปลัดฝ่ายทะเบียน มาถามเรื่องการแก้ไขปัญหาสัญชาติ ใช้เครื่องไม้เครื่องมืออันเดียวกัน  มีงบประมาณน้อย  มีอุปกรณ์น้อย มีบุคลากรคนทำงานน้อย ซึ่งที่ผ่านมา เราเคยพยายามจะบอกว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาสัญชาติ  มันต้องอาศัยองค์กร ภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องนี้เข้ามาช่วย   ต้องอาศัยนักวิชาการ  สถาบันความศึกษามาช่วยนะครับ ออกมาเป็นเรื่องเร่งด่วน

การแก้ปัญหาเรื่องสัญชาติ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้อีกมากมาย?

ใช่ครับ เพราะเราลองนึกภาพว่า  ถ้าคนที่ไม่มีสัญชาติ  การเข้าถึงบริการสาธารณะการที่จะมีสถานะบุคคลเหมือนกับคนทั่วไป อันนี้ทำอะไรไม่ได้เลยนะ ทำอะไรไม่ได้เลย เช่น เด็กที่จะต้องเรียนจบมัธยม จะไปเรียนต่อจบจบปริญญาตรี  แต่พอเรียนจบก็ไม่ได้วุฒิบัตร จะไปสมัครราชการ จะไปทำงานบริษัทก็ไม่ได้ สวัสดิการหรือการเข้าถึงบริการ หรือแม้กระทั่งการไปรับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง อะไรพวกนี้มันไม่ได้ หรือ พูดถึงเรื่องของนโยบายของรัฐในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเงินเยียวยา คนละครึ่ง ที่มีอยู่ออกมา คนเหล่านี้ก็ไม่เข้าถึงสิทธิใดๆ ทั้งสิ้นเลย ทั้งที่เป็นคนไทย เป็นชนพื้นเมือง เกิดในไทย อาศัยอยู่ในประเทศไทย

จึงเป็นที่มา ทำให้เครือข่ายสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และอีกหลายกลุ่มหลายองค์กร ได้มีความพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยนี้ขึ้นมา?

ใช่ นี่คือบางส่วนของปัญหาพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ที่เราพยายามสะท้อนออกมา ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่หมักหมม สะสมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ร่าง ที่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่นี้ ต้องยอมว่า เรามีองค์กรที่เคลื่อนไหวและผลักดันมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานนี้ก็คือ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท./IMPECT) ซึ่งต้องขอชื่นชมและขอขอบคุณมากๆ ที่เป็นฝ่ายริเริ่ม

ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ทั้งหมดมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

เท่าที่ทราบตอนนี้ มีร่างกฎหมาย 4 ฉบับที่อยู่ระหว่างการผลักดันภายใต้แนวคิดคล้ายๆกัน แต่เนื้อหาเน้นหนักแตกต่างกันไป คือ

1.ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของ 17 ชาติพันธุ์เป็นเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2550 และเพิ่มมาจนมีประมาณ 38-39 กลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมพิจารณายกร่างกฎหมายในปี 2555 ก่อนจะส่งต่อให้คณะกรรมการปกฺรูปกฎหมายแก้ไขในเชิงเทคนิค และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี 2557

2.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

3.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. เสนอโดย คณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ ในคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร

และ 4.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับพรรคก้าวไกล

ซึ่งเมื่อเราพิจารณาดูเนื้อหาของร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้แล้ว ดูคล้ายๆ กัน แต่ไม่ได้ขัดแย้งกัน เพียงแต่ว่าจะมีเนื้อหาบางส่วนแตกต่างกันไปบ้าง แต่ไม่ว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับไหน ประเด็นสำคัญที่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองต้องผลักดันให้สำเร็จ คือหลักการที่รัฐต้องยอมรับการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ยอมรับวิถีชีวิตที่แตกต่าง และเปิดโอกาสให้จัดการตัวเองผ่านกลไกที่เรียกว่า “สภาชนเผ่าพื้นเมือง”

ทั้งนี้เมื่อ 9 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ณัฐพงษ์ สืบศักดิ์วงศ์ และตัวผม ในฐานะ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อสัดส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ฉบับก้าวไกล ถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายสุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล มีมติเอกฉันท์ เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยเหตุผล “เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์  ส่งเสริมความแตกต่างหลากหลายและการเคารพในวิถีชีวิต ภาษา ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์” และ สถานการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่มีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญปัญหาด้านต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาการขาดสิทธิทางวัฒนธรรม ขาดสิทธิทางทรัพยากร และปัญหาอคติทางสังคมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น

ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ วันที่ 9 มิ.ย. 2564 : แฟ้มภาพประชาไท

ซึ่งผมคิดว่า มันมีประเด็นหนึ่งคือ เป็นการรับรองตัวตนของความเป็นชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยว่ามีจริง  มันมีตัวตนจริง  เพราะว่าในรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ก็พูดถึงเรื่องชาติพันธุ์นะครับ เพราะฉะนั้น ก็คือพอมีเรื่องนี้ ก็ต้องเขียนกฎหมายซึ่งในการแถลงนโยบายรัฐบาลก็พูดแถลงเรื่องของเรื่องชาติพันธุ์ตรงนี้เพราะนั่นก็คือก็เป็นกฎหมายที่ฝ่ายบริหารจะต้องผลักดันออกมา นะครับ ทีนี้ ผมคิดว่า มันสำคัญอย่างไร ถ้ามันมีกฎหมายฉบับนี้ มันจะไปแก้ไขปัญหาที่ผมว่าอย่างน้อย ก็คือเรื่องของการยอมรับการมีตัวตนบนพหุสังคม  พหุวัฒนธรรมที่มันมีอยู่ในประเทศไทย สอง  รองรับความเป็นตัวตน ก็คือที่เราเรียกว่าเขตวัฒนธรรมพิเศษ เช่น การจัดการวัฒนธรรม วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม และขอให้สามารถดำเนินการได้ ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้  หรือว่าเราเรียกว่าเขตปกครองพิเศษ 

ซึ่งในส่วนของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองวิถีชีวิตและชาติพันธุ์ ของพรรคก้าวไกล ก็จะมุ่งเน้นในเรื่องของเขตวัฒนธรรมพิเศษ ยกตัวอย่าง ไปจัดเขตวัฒนธรรมพิเศษ ที่อำเภอเชียงดาว เพราะมีหลายชนเผ่า มีวัฒนธรรมมี ชุมชนต่างๆ ก็กำหนดเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ  มีการใช้ชีวิต การใช้ทรัพยากรการใช้ที่ดิน การดำรงชีวิตและต้องรับรองภายใต้วิถีและวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองนั้นๆ  ซึ่งผมว่านี่คือความสำคัญ ที่มีอยู่และมันจะไปแก้ไขปัญหาเรื่องของที่ดินด้วย ไปแก้ปัญหาเรื่องของการมีตัวตนด้วย ก็ต้องมีแผนบริหารจัดการเขตวัฒนธรรมพิเศษออกมาให้ชัดเจน และต่อเนื่อง

จากนั้น ก็จะมีอีกกลไกหนึ่งคือ เขาเรียกว่ากลไกลสภา ในระดับประเทศ  ก็ต้องมีสภาชนเผ่าพื้นเมือง บางร่างใช้คำว่าสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย บางร่างใช้คำว่า คณะกรรมการด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง บางร่างจะใช้คำว่า “สภาชนเผ่าพื้นเมือง” เพราะฉะนั้น จะใช้ชื่ออะไรก็ได้ แต่มันต้องถูกยอมรับและถูกแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายว่าต้องมีกลไกในระดับประเทศ มีการทำงานทั้งในระดับนโยบาย บริหาร ในสภาชนเผ่า และเข้าไปเชื่อมประสานกับการบริหารงาน หน่วยงาน ข้าราชการต่างๆ และองค์กรที่ทำงานด้านชาติพันธุ์ต่างๆ  ซึ่งโดยเนื้อหาแล้วในแต่ละร่าง คิดว่าไม่ห่างกันเยอะ แต่ว่าในรายมาตราจะมีรายละเอียด แตกต่างกันออกไปเล็กน้อย อย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ กับร่าง พ.ร.บ. ของพรรคก้าวไกล ก็จะนำเข้าสู่สภา ถ้าเข้าสู่สภาแล้ว ก็คงให้แต่ละร่างนั้นเข้าไปหารือกันในชั้นของกรรมาธิการกันต่อไป

เราต้องบอกว่า ทุกร่างแต่ละร่าง นั้นมีความหมายมาก เพราะแต่ละร่าง มันถูกออกแบบ  ถูกสกัด กลั่นกรอง ถูกทำมาจากกระบวนการมีส่วนร่วมจากในพื้นที่ อย่างของสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ นั้นจะมีพี่น้องประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมจัดเวที ลงรายชื่อเสนอกฎหมายประมาณ 130,000 กว่ารายชื่อด้วย  ซึ่งตนคิดว่า หลังจากนี้ ทางกรรมาธิการ สภา จะต้องดำเนินการพิจารณาผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ออกมาโดยเร็วที่สุด

อยากจะสื่อสารไปยังรัฐบาล สังคมไทย อย่างไรบ้าง?

อย่างน้อยที่สุดก็คือ หนึ่ง รัฐจะต้องเปิดพื้นที่กลางให้กับพี่น้องชาติพันธุ์เหล่านี้ ได้มีสิทธิในการสื่อสาร บอกเล่าตัวตน ว่าพวกเขาเป็นพลเมืองในสังคมนี้ แต่เป็นพลเมืองที่มีความเป็นเฉพาะ มีความเป็นชาติพันธุ์ หรือชนเผ่าพื้นเมือง คือจะต้องเปิดพื้นที่ตรงนี้ จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้พวกเขาดำรงความเป็นอัตลักษณ์ความเป็นตัวตน ความเป็นท้องถิ่นของตนเอง และรัฐต้องมีระบบสนับสนุนงบประมาณ เครื่องไม้เครื่องมือทรัพยากรต่างๆ ลงไปสนับสนุนส่งเสริมให้กับกลุ่มพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองทั้งหลายนี้ด้วย

อันที่สอง ผมคิดว่า ภาครัฐจะต้องมีหน่วยงานที่มาสร้างความเข้าใจร่วมให้สังคมไทยใหม่ สร้างความเข้าใจร่วมใหม่เลยนะครับ ว่าสังคมไทยนั้นประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลาย เหมือนที่เพลงชาติระบุว่า ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย  แล้วมันมีทั้งหมดกี่เลือดเนื้อกี่เชื้อชาติ กี่เผ่าพันธุ์ ที่อยู่รวมกัน ดังนั้น จะต้องมีการตีความหมายกันใหม่ และจำเป็นต้องมีองค์กรที่ทำเรื่องระบบสื่อสารสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมแบบพหุวัฒนธรรม เป็นสังคมแบบพหุสังคมนะ เพราะฉะนั้น ก็คืออันประกอบด้วยกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ซึ่งมีความหลากหลาย ซึ่งผมเชื่อว่ามีหลายคน ในสังคมไทยเรา คนในเมือง ที่ยังไม่รู้เลยว่าประเทศไทยนั้นมีชนเผ่าอะไรบ้าง ในปัจจุบันนี้

ที่สำคัญก็คือ จะต้องสร้างความภาคภูมิใจในตัวตนกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ซึ่งที่ผ่าน พ่อแม่เขานั้นถูกกดทับ ถูกด้อยค่ามาโดยตลอด โดยภารกิจของของรัฐบาล จะต้องไปสร้างให้เขามีคุณค่า มีความหมาย มีตัวตน  และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมบนความหลากหลาย  เพราะว่าความหลากหลายนี้ ยิ่งมากยิ่งดี  ยิ่งจะทำให้เกิดองค์ความรู้คู่ปัญญา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยา สมุนไพร เรื่องอาหารชาติพันธุ์ หรือเรื่องของเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง วัฒนธรรม ภาษา เครื่องดนตรี การแต่งกาย เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องขององค์ความรู้ต่างๆ คือภูมิปัญญาของผู้คนชนพื้นเมืองที่หลากหลายที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมันมีคุณค่า ความหมาย ต่อรัฐ ต่อสังคมไทยทั้งสิ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net