บุคคลแห่งปี 2021 : ‘ป้าเป้า’ ม้าอารีแนวหน้าของเหล่าเยาวรุ่นกับวีรกรรมสุดต๊าชชชช

ประชาไทเลือก ‘วรวรรณ แซ่อั้ง’ หรือ 'ป้าเป้า' แม่ค้าวัย 67 ปี คนตัวเล็กปากแจ๋วขาประจำม็อบผู้ไม่สยบยอมต่ออำนาจ เป็นบุคคลแห่งปี 2564 ป้าเป้าคือผู้ใช้ทุกส่วนของเนื้อตัวร่างกายเข้าต่อสู้ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับเหล่า ‘เยาวรุ่น’ หรือขบวนการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ที่ต้องการตั้งแต่ต่อต้านโครงการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม เรียกร้องสิทธิประกันตัว ขับไล่รัฐบาล จนถึงแก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ฯลฯ

ถ้าภาพตัวแทนของขบวนการเคลื่อนไหวนั้นเป็นคนรุ่นใหม่ คำถามคือแล้วคนรุ่นเก่าคืออะไร เป็นคู่ขัดแย้ง? หรือเป็น ‘ม้าอารี’ ที่คอยเอื้อเฟื้อส่งคนรุ่นใหม่เหล่านั้นสู่อนาคต? ซึ่ง 'ป้าเป้า' เป็นอย่างหลัง และไม่เพียงผู้คอยเอื้อเฟื้อ ยังเป็นแนวหน้าขาประจำของการเคลื่อนไหวเหล่านั้นด้วย

ประมวลบุคคลและกลุ่มบุคคลแห่งปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวนั้นทุกคนมีราคาต้องจ่าย ป้าเป้า ก็เช่นกัน นอกจากการถูกต่อว่าดูถูกเสียดสี ถูกสลายการชุมนุม ถูกทำร้ายร่างกาย ก็ยังถูกดำเนินคดีด้วย ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ป้าเป้า โดนไป 14 คดีแล้ว โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”  ที่ สน.ดินแดง จากกรณีถูกกล่าวหาว่าไปร่วมอยู่ในม็อบทะลุแก๊ซ บริเวณแยกดินแดง ในการชุมนุมวันที่ 24 ส.ค. และวันที่ 11 ก.ย. 64

ดูภาพขนาดใหญ่
 

รวมวีรกรรมสุดต๊าชชชช ในรอบปี 64

16 ม.ค. 64 

ทำอะไร : เข้าร่วมกิจกรรม “เขียนป้ายผ้า 112 เมตร” เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาลและรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 จัดโดยกลุ่ม “การ์ดปลดแอก” บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยป้าเป้าได้ใช้มือตีเป้าตำรวจแล้วนอนราบกับพื้น ซึ่งป้าเป้าได้ให้สัมภาษณ์กับรายการทุบโต๊ะข่าวว่าเป็นการแสดงออกสะท้อนความลำบากและเป็นการทวงถามเงินเยียวยาหลังโควิดระบาดเท่านั้น

ต่อมาวันที่ 29 ม.ค.64 ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก 2 ข้อ ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ โดยป้าเป้าให้การปฎิเสธ และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง

(ที่มา : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ amarintv.com)

ป้าเป้า ปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ประท้วงการไม่ให้สิทธิประกันตัวต่อหน้ารถตำรวจ ที่ศาลอาญา เมื่อเดือน พ.ค.64

22 ก.ค. 64 

ทำอะไร :  เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มทะลุฟ้า 'ร่วมหล่อเทียนทําบุญประเทศ ขับไล่เสนียดจัญไร ออกไปไอ้สัส' บริเวณสวนลุมพินี และเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ วันที่ 2 ก.ย. 64 โดยป้าเป้าให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและปฏิเสธจะลงลายมือในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา

(ที่มา : ศูนย์ทนายความฯ)

2 ส.ค. 64 

ทำอะไร : เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด. ภาค 1 หลังสมาชิกกลุ่มและประชาชน รวม 32 ราย ถูกจับกุมจากการรวมตัวกันทำกิจกรรม “ปล่อยเพื่อนเรามา คืนประชาธิปไตย” ที่หน้าสโมสรตำรวจ

ต่อมาวันที่ 9 ก.ย.64 ได้เข้ารับทราบข้อกล่าว ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ม.215 วรรคสาม “มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดเป็นหัวหน้า หรือ เป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น” โดยป้าเป้าให้การปฎิเสธ และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง

(ที่มา : ศูนย์ทนายความฯ)

3 ส.ค. 64 

ทำอะไร : ร่วมชุมนุม #เสกคาถาปกป้องประชาชน หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2  ที่บริเวณลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ต่อมาวันที่ 7 ก.ย.64 ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหลักฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยป้าเป้าให้การปฎิเสธ และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง

(ที่มา : ศูนย์ทนายความฯ )

10 และ 15 ส.ค. 64 

ทำอะไร :  เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 10 ส.ค. 64 และกิจกรรม 'คาร์ปาร์ก' ในวันที่ 15 ส.ค. 2564 บริเวณแยกราชประสงค์  ต่อมาวันที่ 2 ก.ย. ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะฯ ป้าเป้าให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธจะลงลายมือในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา

(ที่มา : ศูนย์ทนายความฯ)

11 ส.ค. 64 

ทำอะไร :  เข้าร่วมกิจกรรม ‘ไล่ล่าทรราช’ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนำไปฝากขังที่ศาลอาญา วันศุกร์ที่ 13 ส.ค. 64  ต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัวป้าเป้าด้วยวงเงิน 35,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

และในวันที่ 2 พ.ย. ป้าเป้าถูกอัยการฟ้องใน 1 ข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ม.215 

(ที่มา : ประชาไท)

 

ภาพป้าเป้ารวม #ม็อบ13กันยา ของกลุ่มทะลุแก๊สยังคงต่อเนื่องที่แยกดินแดง โดยครั้งนั้นศูนย์ทนายรายงานว่า มีผู้ถูกควบคุมตัวไปสน.พหลโยธิน 10 ราย แบ่งเป็นเยาวชน 5 ราย และผู้ใหญ่ 5 ราย ซึ่งในจำนวนนี้รวม 2 รายที่เป็นสื่อมวลชนด้วย 

28 ก.ย. 64 

ทำอะไร :  ได้เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มทะลุฟ้า “หยุดราชวงศ์ประยุทธ์”  และได้เปลื้องผ้าต่อหน้าแนวเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน บริเวณแยกนางเลิ้ง 

ป้าเป้า(กลาง) ภายถ่ายโดย Thikamporn Tamtiang

ต่อมาวันที่ 18 ต.ค. 64 เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในข้อหา “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” และ “กระทำการขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปิดเผยร่างกายหรือกระทำการลามกอย่างอื่น” ม. 388 ด้านป้าเป้าให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

(ที่มา : ศูนย์ทนายความฯ)

ภาพ ป้าเป้า ล้างแก๊สน้ำตา จากการที่ตำรวจพยายามสลายการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า ที่แยกนางเลิ้ง ช่วงเย็นวันที่ 29 ก.ย. ภายใต้ชื่อ #ม็อบ30กันยา หยุดราชวงศ์ประยุทธ์ เพื่อหยุดความล้มเหลวขั้นวิกฤติของประเทศ 

24 ส.ค. 64 และ 11 ก.ย. 64  

ทำอะไร :  ได้เข้าร่วมการชุมนุมม็อบทะลุแก๊ส บริเวณแยกดินแดง ต่อมาในวันที่ 2 ธ.ค.64 เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 2 คดี ป้าเป้าให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา

(ที่มา : ศูนย์ทนายความฯ )

30 ก.ย.64  

ทำอะไร :  เข้าร่วมชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่บริเวณท่าน้ำนนท์ โดยคลิปจากไทยรัฐออนไลน์บันทึกนาทีป้าเป้าบุกลุยเดี่ยวเข้าขวางรถนายกฯ พร้อมตะโกนด่าระบายความในใจ ทำให้ป้าเป้าและผู้เข้าร่วมชุมนุม 21 ราย ถูกแจ้งข้อหา 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ม.215 มั่วสุมก่อความวุ่นวาย และ ม.216 ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

(ที่มา : ศูนย์ทนายความฯ)

12 ต.ค.64

ทำอะไร : หลังการ ‘เปลือยประท้วง’ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ก็มีการสร้างเพจเฟซบุ๊คที่มีชื่อว่า ‘ทะลุกี - Thaluki’ ซึ่งนำทีมโดยป้าเป้าและเพื่อนร่วมม็อบ โดยมีการใช้ภาพป้าเป้าเป็นรูปโปรไฟล์ เนื้อหาหลักๆ ในเพจจะเป็นการแชร์ข่าวสารเกี่ยวกับม็อบ และมีการถ่ายทอดสดเมื่อแอดมินได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมอีกด้วย

(ที่มา : เพจทะลุฟ้า)

14 พ.ย.64  

ทำอะไร : เข้าร่วมม็อบ “ต่อต้านระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์” ณ สถานทูตเยอรมนี เวลาประมาณ 18.00 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ่านประกาศเตือนผู้ชุมนุมที่มาถึงสถานทูตเยอรมันว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขอให้เลิกชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมตะโกนไม่พอใจ ด้าน 'ป้าเป้า' โต้เถียงตำรวจว่าประชาชนไม่มีเหี้ยอะไร มึงก็บอกว่าพวกกูเป็นกบฏ บอกว่ากูล้มล้างสถาบัน" "กฎหมายเคยเข้าข้างประชาชนบ้างไหม ประชาชนจะอยู่อย่างไรในเมื่อกฎหมายก็เป็นโจร"

(ที่มา : https://youtu.be/nsXuXPb5uOU)

ป้าเป้ายืนต่อว่าตำรวจที่หน้าสถานทูตเยอรมัน

18 พ.ย.64  

ทำอะไร : ใส่ครอปท็อปร่วมกิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ ที่ลานอากง หน้าศาลฎีกา เนื่องจากศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในคดี มาตรา 112 จากกรณีการใส่ชุดครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอนเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.63 โดยป้าเป้าให้สัมภาษณ์กับ Voice TV ว่า “ครอปท็อปไม่ได้เป็นของใคร ใส่ได้ทุกคน”

(ที่มา : facebook.com 

19 พ.ย.64  

ทำอะไร : เข้าร่วมกิจกรรมวันลอยกระทง ที่จัดโดยมวลชนอิสระ เพื่อกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยป้าเป้าสวมเสื้อเอวลอย ใช้ปืนฉีดน้ำยิงใส่ตำรวจ ทำให้เกิดความชุลมุนขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่มีการควบคุมตัวผู้ร่วมกิจกรรม

(ที่มา : มติชนออนไลน์

แคนดิเดทอื่นๆ

สำหรับปีนี้ นอกจากป้าเป้าแล้ว ในกระบวนการเสนอชื่อแคนดิเดทบุคคลแห่งปีของประชาไท ยังมีรายชื่ออื่นอีก ตัวอย่าง

  • เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ เยาวชนผู้เป็นแกนนำการเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และนักโทษทางการเมือง เนื่องจากเป็นผู้จุดประกายข้อเรียกร้องต่างๆ และพยามเคลื่อนไหวประเด็นนี้ตลอดมา ถึงแม้จะถูกจับและอันตรายถึงชีวิต รวมทั้งการอดอาหารประท้วงก็เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ อีกทั้งยังเป็นภาพสะท้อนของคนที่โดนขังลืมอีกหลายสิบคน
  • ขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ภายหลังจากสิงหา 63 มีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ออกมาเป็นรูปธรรม และขบวนการเคลื่อนไหวรับเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องหลักทำเกิดการเคลื่อนไหวและชูประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามก็ถูกปฏิกิริยาโต้กลับ โดยเฉพาะการดำเนินคดีด้วย ม.112 ช่วงปลายปี 63 เรื่อยมา โดยเฉพาะช่วงปี 64 ที่การระบาดของโควิด 19 กลับมาอีกครั้ง แม้เต็มไปด้วยความยากลำบากเหล่านี้ แต่ขบวนการฯ ที่ไม่ได้มีเฉพาะแกนนำหรือบุคคลมีชื่อเสียง แต่ประกอบไปด้วยเม็ดทรายหรือมดงานต่างๆ เป็นคนหนุ่มสาว เป็นกวี เป็นนักประวัติศาสตร์ เป็นนักดนตรี ศิลปินพื้นถิ่น และเป็นนักโทษการเมืองมีความกล้าหาญในการวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงออกทางการเมือง ที่ต่อสู้โดยสันติวิธีก็พยายามผลักดันไม่ให้ประเด็นนี้หายไปจากวาระทางการเมือง จนต้นเดือน พ.ย.64 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของการก่อรูปข้อเรีกยร้องของขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
  • ทะลุแก๊ซ หรือทะลุแก๊ส ที่มารวมตัวกันตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.ต่อเนื่องถึงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา บริเวณแยกดินแดง - ถนนมิตรไมตรี และมักมีเหตุปะทะกับตำรวจบริเวณนี้เป็นระยะ มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ในจำนวนนี้มี 'วาฤทธิ์' เยาวชน 15 ปี ถูกยิงหน้าสน.ดินแดงเมื่อ 16 ส.ค.64 และเสียชีวิตแล้วที่โรงพยาบาลหลังรักษาตัวอยู่กว่า 2 เดือน นอกจากนั้นยังมีผู้ถูกจำกุมและดำเนินคดีจำนวนมาก โดยศูนย์ทนายสิทธิฯ ระบุว่ามียอดผู้ถูกจับกุมรวมตลอดแล้วอย่างน้อย 498 ราย คิดเป็นคดีที่ถูกกล่าวหาไม่น้อยกว่า 167 คดี  โดยกลุ่มนี้ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่มีการพูดต่อการชนเพดานในหลายเรื่อง ทั้งทิศทางการเคลื่อนไหว ความรุนแรง รวมทั้งประเด็นปะทุ 
  • ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน การรวมตัวของกลุ่มทนายความ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางสังคม ตั้งแต่รัฐประหารปี 57 เพื่อช่วยเหลือทางคดีและข้อมูลกับพลเมืองที่ถูกละเมิดสิทธิฯ โดยเฉพาะปีนี้การปราบปรามและดำเนินคดีของรัฐมีจำนวนมากทำให้ศูนย์ทนายที่รับคดีทั่วราชอาณาจักรที่เกี่ยวกับการชุมนุมต้องทำงานหนักตามไปด้วย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท