ขวากหนามการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิงชายแดนใต้ กับข้อเสนอ ‘ตำรวจหญิง’

เปิดรายงาน ‘ข้อเสนอแนะ การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้’ ว่าด้วยปัญหาที่ผู้หญิงชายแดนใต้เผชิญในกระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมายอิสลามในกระบวนการยุติธรรม พร้อมฟังเสียง อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ซึ่งติดตามประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ เพื่อสะท้อนถึงสิ่งที่ผู้หญิงชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญในกระบวนการยุติธรรม พร้อมข้อเสนอว่าทำอย่างไรให้เพศหญิงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตลอดสายพาน  

  • งานวิจัยระบุ ‘กม.อิสลามตีความไม่แน่นอน-ผู้นำศาสนาล้วนเป็นผู้ชาย และผู้หญิงส่วนใหญ่ ไม่มีความรู้หลักศาสนาพอที่จะเรียกร้องความยุติธรรม
  • ปธ.กลุ่มด้วยใจ เผยจังหวัดชายแดนใต้ ผู้หญิงแทบ ‘ไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม’ ชี้ ‘วัฒนธรรมประเพณี-มุมมองศาสนา’ เป็นข้อจำกัด
  • เสนอ ‘องค์กรศาสนา-กสม.-หน่วยงานคุ้มครองสิทธิฯผู้หญิง’ ต้องร่วมมือให้เพศหญิงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 
  • อดีตกรรมการสิทธิฯ ชี้ข้อเสนอปี 61 ทั้งด้านโครงสร้างและปัจเจก ยังไม่คลี่คลาย ยันอยากเห็นผู้หญิงมี ‘สัดส่วน’ การทำงานเท่ากับผู้ชาย แนะ ‘ยุติวัฒนธรรมยกเว้นโทษ’
  • เสนอหากมีตำรวจหญิง ต้อง ‘เข้าใจหลักสิทธิมนุษยชน-ศาสนา-กฎหมาย’ ก่อนทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ย้ำการเข้าใจ ‘Gender’ เป็นสิ่งสำคัญ

ผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้หญิงที่เผชิญความยากลำบากในการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ และประกันการเข้าถึงบริการฟื้นฟูต่างๆ ถึงแม้จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เลือกปฏิบัติต่อสตรีหลายฉบับ มีการออกกฎหมายใหม่เพื่อคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ แต่การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงยังคงมักถูกมองข้ามจากกระบวนการยุติธรรม

กม.อิสลามตีความไม่แน่นอน, ผู้นำศาสนาล้วนเป็นผู้ชาย และผู้หญิงส่วนใหญ่ ไม่มีความรู้หลักศาสนาพอที่จะเรียกร้องความยุติธรรม

รายงาน ‘ข้อเสนอแนะ การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้’ (อ่านรายงาน)

เกี่ยวกับปัญหาที่ผู้หญิงชายแดนใต้เผชิญในกระบวนการยุติธรรมนั้น งานวิจัยเรื่อง 'การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง : สำรวจอุปสรรคและการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น' ของ คณะกรรมการนิติศาสตร์สากลและมูลนิธิยุติธรรมและสันติภาพ ที่ถูกอ้างถึงในรายงาน ‘ข้อเสนอแนะ การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2561 พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างจำกัดในการจัดการปัญหาต่างๆ ในครอบครัวและชุมชน เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การสมรส การสิ้นสุดการสมรส การจ่ายค่าเลี้ยงดู หรือการจัดการมรดก

งานวิจัยระบุว่า ปัญหาในครอบครัวดังกล่าว ประการแรกเกิดจากกฎหมายอิสลามที่ใช้อยู่นั้นขาดความชัดเจน การตีความที่ไม่แน่นอน เนื่องจากเป็นการใช้ดุลยพินิจของดะโต๊ะยุติธรรม และการไม่มีประมวลหลักเกณฑ์การตัดสินตามกฎหมายอิสลามอย่างเป็นทางการ

ประการต่อมา คือผู้นำศาสนาในชุมชนและระดับจังหวัดล้วนเป็นผู้ชาย ซึ่งอาจไม่เข้าใจในปัญหาต่างๆ ที่ผู้หญิงเผชิญอย่าเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงต่อผู้หญิงออันเนื่องมาจากฐานคิดเรื่องเพศสภาพ 

และประการสุดท้าย คือผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับหลักศาสนาเพียงพอที่จะเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเอง งานวิจัยระบุเพิ่มเติมว่า กลไกยุติธรรมระดับชุมชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมเบื้องต้นตามที่ปฏิบัติกันมาในหลายกรณีนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามที่ให้ความสำคัญในเรื่องความรัก ความเมตตา ความยุติธรรม และความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และมาตรฐานสากลในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง

งานวิจัยระบุเพิ่มเติมว่า ในการเข้าถึงความยุติธรรมของหญิงมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ พบว่า มีจำนวนน้อยมากที่คดีความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล อีกทั้งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายอิสลามฯ มาตรา 3 กำหนดให้ใช้กฎหมายอิสลามวินิจฉัยคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกของอิสลามเฉพาะคดีที่ขึ้นสู่ศาลเท่านั้น เป็นการใช้เฉพาะการตัดสินคดีในศาล แต่ไม่ผูกพันถึงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นนอกศาล คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ที่ดินฯ อาจไม่ยอมรับกฏหมายอิสลามในเรื่องการสมรส และการแบ่งมกรก อันเป็นผลให้ผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงความยุติธรรม

รายงานระบุ ‘กฎหมายอิสลาม’ หนึ่งในอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เพศหญิงจึงต้องใช้ ‘กลไกช่วยเหลือตนเอง’ 

รายงานการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง : สำรวจอุปสรรคและการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น (อ่านรายงาน)

รายงานการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง : สำรวจอุปสรรคและการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น ดังกล่าวที่เขียนโดย ลีอาห์ ฮอคเทอร์ เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2555 ระบุว่า นับแต่ปี 2489 กฎหมายไทยกําหนดว่าสําหรับจังหวัดชายแดนใต้ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ในการพิจารณาคดีแพ่งเกี่ยวกับครอบครัวและมรดก และ ในกรณีที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเป็นมุสลิม ศาลชั้นต้นสามารถใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกได้ โดยไม่จําเป็นต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

การจัดทําระบบดะโต๊ะยุติธรรมที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับศาลชั้นต้นในการพิจารณาและ วินิจฉัยชี้ขาดคดีเหล่านี้ และเปิดโอกาสให้ศาลสามารถตีความหลักการของกฎหมาย อิสลามที่เกี่ยวข้อง และนํามาบังคับใช้กับพฤติการณ์ต่าง ๆ ส่งผลให้แทนที่จะนำหลักการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ จะมีการนํากฎหมายอิสลามมาใช้แทนสําหรับคดีเกี่ยวกับการแต่งงาน การหย่าร้าง การวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับสถานะ บุคคล และมรดก

การนำกฏหมายอิสลามมาใช้แทนประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ นับเป็นอุปสรรคขัดขวางการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองตามกฎหมายของผู้หญิงในพื้นที่ ส่งผลให้ผู้หญิงต้องนำกลไก “ช่วยเหลือตนเอง” ที่ต้องนํามาใช้ในบางสถานการณ์ ทําให้สามารถหลีกเลี่ยงหรือไม่จําเป็นต้องอ้างสิทธิตามระบบกฎหมายทั่วไปได้

‘การศึกษา’ หนึ่งในปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงในพื้นที่

อังคณา นีละไพจิตร

อังคณา นีละไพจิตร ซึ่งในปีพ.ศ. 2561 ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิสตรีและความเสมอภาคทางเพศสภาพ ระบุในรายงาน กสม. ปี 61 ดังกล่าวว่า ตนพบว่าผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ต้องเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบมายาวนานกว่าสิบปี ขณะที่ผู้หญิงต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และความยากจน

นอกจากนี้ อังคณาระบุว่า การที่ผู้หญิงส่วนมากในชนบทเป็นผู้ที่มีการศึกษาน้อยทั้งการศึกษาน้อย ทั้งการศึกษาด้านศาสนาและการศึกษาทั่วไป ซึ่งส่งผลให้ผู้หญิงไม่สามารถนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรศาสนาเพื่อแก้ไขได้ ทำให้ผู้หญิงหลายคนมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต หลายคนมีชีวิตอยู่บนความหวาดกลัว ถึงขนาดต้องการจบชีวิตของตนเพื่อยุติปัญหา

ขณะที่ประธานกลุ่มด้วยใจ เห็นตรงกันว่าประเด็นการศึกษาในภาคใต้เป็นปัญหา และเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงชายแดนใต้เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม

“ปัญหาการศึกษาในภาคใต้มีปัญหามาก ส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะว่า พวกเธอ (ผู้เสียหาย) ก็จะถูกใส่ข้อมูลที่ผิด ถูกให้คำแนะนำที่ผิด หรือไปหาผู้ที่ให้คำแนะนำที่ผิด แล้วทำให้สิทธิของพวกเขาเหล่านั้นหายไป” อัญชนากล่าว

ชายแดนใต้ ผู้หญิงแทบ ‘ไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม’

อัญชนา กล่าวว่า ในจังหวัดชายแดนใต้ ผู้เสียหายเพศหญิงแทบจะไม่มีโอกาสเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม อัญชนายกตัวอย่างกรณีที่เพศหญิงถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ และเมื่อได้รับการปล่อยตัวก็เข้าสู่กระบวนการเยียวยา แต่ทั้งนี้ความคับข้องใจของผู้หญิงเหล่านี้ (ผู้เสียหาย) ไม่ได้รับการฟื้นฟูด้วยกระบวนการยุติธรรม

“การควบคุมตัวนั้น 7 วัน 20 วัน 30 วัน พวกเธอต้องเผชิอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้มันไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ และมันก็ไม่มีกระบวนการใดที่ฟื้นฟูให้กับเธอได้นอกจากความเป็นธรรม แต่ว่าความเป็นธรรมนั้นผู้หญิงเข้าไม่ถึง แทบจะเรียกว่าเข้าไม่ถึงเลย ไม่กล้าออกมากจากพื้นที่ตัวเองในการปกป้องตัวเองเลย เพราะรู้ว่าจะต้องเผชิญอะไรบ้าง”

“แล้วผู้หญิงก็อายเกินที่จะปกป้องตัวเอง ต้องไปเจอผู้ชายหลายขั้นตอนมาก ทั้งตำรวจ ทั้งคณะกรรมการอิสลาม แล้วผู้หญิงคนเดียว (ผู้เสียหาย) ที่ไม่มีการศึกษา ภาษาไม่ได้ ไม่รู้ศาสนาดีพอ ไม่รู้กฎหมายทั่วไป เลยคิดว่าตัวเองไม่สามารถที่จะปกป้องตัวเองได้ หรือต่อสู้ชนะได้ ผู้หญิงก็เลยยอมเก็บความทุกข์ทรมานนั้นไว้ ยอมอยู่ในมุมมืดของตัวเองต่อไป” ปธ.กลุ่มด้วยใจ กล่าว

อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ

‘วัฒนธรรมประเพณี-มุมมองศาสนา’ ข้อจำกัดในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของเพศหญิงชายแดนใต้

อัญชนา กล่าวว่า ความเป็นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากจะมีข้อจำกัดในเชิงของตัวระบบ หรือตัวกฎหมายแล้ว ประเด็นในเรื่องของวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงการที่ต้องปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพศหญิงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้ ปธ.กลุ่มด้วยใจ ระบุว่า ประเด็นในเรื่องของความเป็นวัฒนธรรม และศาสนามุสลิม ประเด็นแรกตนมองในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว ด้วยบริบทของผู้ปกครอง หากเพศหญิงที่แต่งงานแล้วก็คือสามี หากถ้าเป็นช่วงเด็กก็คือพ่อแม่ เพราะฉะนั้นการที่เพศหญิงจะทำอะไรก็ตาม ต้องได้รับการอนุญาตก่อน ในขณะที่การถูกกระทำต่างๆ โดยผู้ที่เป็นปกครอง เป็นไปได้ยากที่จะทำให้เธอสามารถปกป้องตัวเองได้ หรือหลุดพ้นจากสถาวะนั้นได้

“การที่ผู้หญิงจะสื่อสารเรื่องความรุนแรงในครอบครัว การถูกกระทำจากผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือว่าสามี หรือพี่ชาย ก็ค่อนข้างจะยากในกสาารออกมาพูดคุยเรื่องนี้ เค้าจะถูกตีตราจากสังคม การประนามจากครอบครัวในการเอาเรื่องราวของครอบครัวมาเปิดเผย บางกรณีก็ถูกมองว่าเป็นการทำลายศาสนาเลย เหมือนมันเป็น Norm (มาตรฐาน) เป็นมุมมองที่แบบว่าเรื่องไม่ดีของศาสนาไม่ควรที่จะสื่อสารไปข้างนอก” 

“แต่ว่าลืมมองไปว่าความปลอดภัย การปกป้องเด็กและผู้หญิงเหล่านี้ พวกเธอจะถูกละเลยไม่ได้เพราะพวกเธอเป็นส่วนหนึ่งในสังคมด้วย” อัญชนา กล่าว

นอกจากนี้ ปธ.กลุ่มด้วยใจ ระบุว่า ถึงแม้บางกรณีจะจบลงที่การหย่าร้าง แต่ขั้นตอนกระบวนการเหล่านี้ค่อนข้างยาก เนื่องจากกระบวนการไกล่เกลี่ยในหลักศาสนานั้น ผู้ที่ไกล่เกลี่ยก็คือผู้นำศาสนาในพื้นที่หรือที่เรียกว่าโต๊ะอิหม่าม หรือเรียกว่าคณะกรรมการประจำจังหวัด และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรืออิหม่ามในแต่ละพื้นที่ล้วนแต่เป็นเพศชาย

ในมุมมองที่สอง ตนมองว่าเป็นเรื่องของกฎหมายและมุมมองของผู้หญิงศาสนาอิสลาม โดยตนระบุว่าในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการสอบสวน ผู้ควบคุมตัว หรือแม้กระทั่งผู้ที่เฝ้ายามในห้องขังเดี่ยวล้วนแต่เป็นเพศชาย นอกจากนี้ มุมมองของผู้หญิงในศาสนาอิสลามยังคงต้องใช้การระมัดระวังในการสื่อสาร

“การพูดการสื่อสารกับผู้ชายต้องระมัดระวัง ต้องปฏิบัติเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าละเมิดหลักการศาสนา ก็เป็นความท้าทาย เป็นความกดดัน แล้วก็เป็นความเครียด เมื่อผู้หญิงเหล่านั้นออกมาจากพื้นที่นั้นได้ ก็เป็นความรู้สึกผิดในใจด้วย” อัญชนา กล่าว

ภาพเด็กและผู้หญิงในพื้นที่ชานแดนใต้ ในงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2563ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร (ที่มาภาพ : กรมประชาสัมพันธ์)

เสนอ ‘องค์กรศาสนา-กสม.-หน่วยงานคุ้มครองสิทธิฯผู้หญิง’ ต้องร่วมมือให้เพศหญิงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

อังคณา ระบุถึงข้อเสนอในรายงานกสม. ปี 61 ฉบับดังกล่าว ว่า การแก้ไขปัญหาเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้  สิ่งสำคัญคือต้องอาศัยการร่วมมือกันขององค์กรศาสนา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานและองค์กรด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง เนื่องจากระบบกฎหมายและระบบยุติธรรมเป็นรากฐานสำคัญของสังคม 

นอกจากนี้ อังคณาระบุว่า กรณีที่กฎหมายและระบบยุติธรรมเป็นมิตรกับผู้หญิง และเอื้อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้หญิง จะย่อมเป็นส่วนสำคัญในการสร้างพื้นฐานความเข้มแข็งในแง่มุมต่างๆ ของชีวิตผู้หญิง และจะนำไปสู่การเคารพศักดิ์ศรีและความเสนอภาค รวมทั้งนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนา และการตัดสินใจร่วมกันของหญิงและชายในทุกมิติ

อดีต กสม. ชี้ข้อเสนอปี 61 ยังไม่คลี่คลาย ยันอยากเห็นผู้หญิงมี ‘สัดส่วน’ การทำงานเท่ากันกับผู้ชาย

จากรายงานของ กสม. ปี 61 ดังกล่าว มีข้อเสนอเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแบ่งออกเป็นระดับโครงสร้าง และระดับปัจเจกดังนี้ 

การแก้ไขระดับโครงสร้าง ได้แก่

1. จำเป็นต้องมีกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง และนโยบายที่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนต่อมิติทางเพศสภาพ 

2. มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นไปได้ มีการคุ้มครองผู้เสียหายที่เข้าถึงง่าย ทันเวลา

3. มีการฟื้นฟูเยียวยาต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้หญิงเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี

การแก้ไขในระดับปัจเจก ได้แก่

1. จำเป็นต้องสร้างค่านิยมการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

2. ปรับสัมพันธภาพเชิงอำนาจระหว่างเพศให้สมดุลขึ้น ทั้งในกระบวนการอบรมเลี้ยงดูในครอบครัวและชุมชน กระบวนการเรียนการสอนในสถานศึกษาทุกระดับ รวมทั้งกระบวนการผลิตและเผยแพร่สื่อต่างๆ 

อังคณา ให้สัมภาษณ์ล่าสุดถึงการพัฒนาของเสนอที่เคยระบุไว้ในรายงาน กสม. ปี 61 ตนกล่าวว่า จากข้อเสนอในรายงาน กสม. ปี 61 วันนี้หากถามว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน ตนมองว่าถึงแม้ดูเหมือนว่าจะมีหลายองค์กรอยากทำตามข้อเสนอเหล่านั้น แต่ปัจจุบันยังไม่ค่อยมีอะไรที่เปลี่ยนแปลง

“มันเปลี่ยนแปลงได้ช้ามาก เพราะว่ามันมีแรงต้าน เนื่องจากมันเป็นเรื่องของ power sharing การที่ผู้หญิงจะดึงอำนาจออกมาจากผู้ชาย

“แม้กระทั่งผู้หญิงที่เป็นนักวิชาการ แม้จะไม่เห็นด้วยแต่ไม่มีใครกล้าที่จะออกมาส่งเสียง เพราะว่ากลัวว่าจะถูกวิจารณ์ บางทียิ่งการใช้โซเชียลมีเดีย เราไม่รู้เลยว่าใครเป็นใคร คืออะไรอย่างนี้มันทำให้ผู้หญิงไม่กล้าออกมาพูด” อดีตกรรมการสิทธิฯ กล่าว 

นอกจากนี้ อังคณากล่าวว่า ในปัจจุบันคณะกรรมการอิสลามในพื้นที่สามจังหวัด ยังคงไม่มีผู้หญิงที่อยู่ในกระบวนการ หรือบางแห่งอาจมีสักหนึ่งคน แต่ทำหน้าที่ฝ่ายจัดเลี้ยง หรือฝ่ายการเงิน ซึ่งตนมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

“ถ้ามีอะไรที่ต้องเลี้ยงรับแขก ผู้หญิงก็เป็นคนดูแลทำอาหาร ซึ่งมันไม่ใช่ ทำไมผู้หญิงจะต้องไปอยู่แบบนั้น เราอยากเห็นผู้หญิงที่เข้าไปในสัดส่วนที่เท่าๆ กับผู้ชาย ถามว่าวันนี้มันเกิดไหม มันยังไม่เกิดเลย”  

“คณะกรรมการหรือกฎชุมชนที่ตั้งขึ้นที่มา มีแต่ผู้ชายหมดเลย ทั้งๆ ที่คุณมาตัดสินในเรื่องของเด็กผู้หญิง แต่ว่ากรรมการผู้ชายหมดเลย ถือว่าแนวปฏิบัตินี้ยังไม่ถูกนำไปใช้ และก็มันคงมาจากวิธีคิดที่ว่าผู้ชายหวงอำนาจ และยังรู้สึกว่าการทำให้ผู้หญิงอยู่ภายใต้คำสั่งของตัวเองได้ มันอาจจะทำให้ตัวเองมีอำนาจมากขึ้น” อังคณา กล่าว  พร้อมย้ำว่าคณก.อิสลามประจำจังหวัด จะต้องมีโต๊ะผู้หญิงเพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้เสียหาย 

“คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจะต้องมีโต๊ะผู้หญิง จะต้องมีห้องที่ผู้หญิงสามารถมาปรึกษาได้ มีความเป็นส่วนตัว คนที่จะให้คำปรึกษาได้ต้องเข้าใจมิติของเพศสภาพ และมิติความอ่อนไหวทางเพศสภาพ” อังคณา กล่าว

แนะ ‘ยุติวัฒนธรรมยกเว้นโทษ’ ย้ำ ‘ผู้หญิง’ ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมร่างกฎหมาย

อดีตกรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า อีกหนึ่งอุปสรรคในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมคือการออกกฎหมายอิสลามใดก็ได้มาใช้แก่ผู้หญิง อังคณายกตัวอย่างถึงกรณีที่ผู้หญิงมุสลิมได้รับความรุนแรงในครอบครัว หรือถูกข่มขืน หรือถูกบังคับให้แต่งงานกับผู้ที่ข่มขืน ตนระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ปลอดภัย และยังคงเกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

“แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานยุติธรรมเองที่เป็นมุสลิมผู้ชาย ยังมีความคิดว่า ถ้าถูกข่มขืนแล้วก็จะต้องแต่งงานกับคนที่ข่มขืนนั่นแหละ สุดท้ายก็จบลงที่การหย่า พอหย่าแล้วกรณีที่มีลูก โอกาสที่ผู้หญิงจะฟ้องร้องของการเลี้ยงดูก็ไม่ได้” 

“หากเป็นกฎหมายแพ่งผู้หญิงยังสามารถขอค่าเลี้ยงดูได้ แต่เนื่องจากกฎหมายอิสลามไม่ได้มีบทบัญญัติไว้ กฎหมายไม่ได้มีสภาพบังคับเลย ผู้หญิงก็ไม่ได้มีเรื่องของการชดใช้ การเยียวยา” อดีตกรรมการสิทธิฯ ระบุ

นอกจากนี้ อังคณา ย้ำถึงข้อเรียกร้องว่า ผู้หญิงจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกๆ เรื่องในกระบวนการยุติธรรม ผู้หญิงควรจะมีส่วนร่วมที่อยู่ในระดับการตัดสินใจ เช่น การร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว หรือเรื่องของผู้หญิง ซึ่งปัจจุบันผู้หญิงไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเหล่านี้เลย

“ตอนนี้ก็มีความพยายามจะปรับปรุงกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก แต่ในขั้นตอนการร่างก็มีแต่ผู้ชายหมดเลย เราต้องช่วยกันตั้งคำถามต่อสังคมว่า การที่เราจะเขียนกฎหมายเกี่ยวกับผู้หญิง เราจะเขียนกฎหมายโดยที่ไม่มีผู้หญิงอยู่ด้วยได้ยังไง แล้วเขียนกฎหมายเรื่องครอบครัว เรื่องผู้หญิง เรื่องเด็ก โดยที่มีแต่ผู้ชายทั้งนั้นเลย" อดีตกรรมการสิทธิฯ กล่าว

แฟ้มภาพ

หากมี ‘ตำรวจหญิง’ ในกระบวนการยุติธรรม ชี้ช่วยเพศหญิงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ 50 เปอร์เซนต์ ย้ำการเข้าใจประเด็น ‘Gender’ เป็นสิ่งสำคัญ

ประธานกลุ่มด้วยใจ ระบุว่า หากมีตำรวจหญิงในสายพานกระบวนการยุติธรรม ตนมองว่าจะช่วยคดีเกี่ยวกับเพศหญิงในระดับนึงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากความรู้สึกปลอดภัยในความเป็นผู้หญิงด้วยกัน แต่ตนย้ำว่า สิ่งสำคัญคือคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมนั้น มีความเข้าใจประเด็นความเป็น ‘Gender’ มากน้อยแค่ไหน

“ผู้หญิงหลายๆ คนก็ไม่ได้หมายความว่าจะสนับสนุนผู้หญิงด้วยกัน หรือว่าปกป้องผู้หญิงด้วยกัน ผู้หญิงก็เป็นส่วนนึงที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจชายเป็นใหญ่ และสังคมที่ตีกรอบมาว่าผู้ชายมีอำนาจและเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นผู้หญิงบางคน (เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง) อาจจะบอก (ผู้เสียหาย) ว่า หลักการศาสนาเป็นอย่างนี้ พวกเธอ (ผู้เสียหาย) ต้องยอมจำนน พวกเธอต้องอยู่ภายใต้ผู้ปกครองต่อไป ไกล่เกลี่ย ยอมความ อดทน ก็เป็นส่วนหนึ่ง”

“ในขนาดที่ตำรวจอาจจะอยู่ใน Norm (มาตรฐาน) ประเพณีของการไกล่เกลี่ยมาโดยตลอด เขาเลยบอกว่าให้ยอมความเพราะว่าต่อสู้ไปคุณจะต้องอับอาย คุณจะต้องไปขึ้นศาล อย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

อัญชนาสรุปเน้นย้ำว่า การมีตำรวจหญิงในกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องควบคู่ไปกับ Mindset ของผู้หญิงที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ด้วยเช่นกัน ว่ามีความเข้าใจประเด็นปัญหาในเรื่องของเพศสภาพ กฎหมาย และหลักศาสนาอิสลามมากน้อยเพียงใด พร้อมระบุว่า หากผู้หญิงไม่คิดถึงการปกป้องผู้หญิงด้วยกันก่อนเป็นอันดับแรก การปกป้องผู้หญิงก็จะไม่เกิดขึ้น

ขณะที่อังคณา เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว โดยตนมองว่าการที่ผู้หญิงจะเข้ามาทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมจะต้องเข้าใจเรื่องของ Gender และความอ่อนไหวทางเพศสภาพ

“อย่างในพื้นที่ (ชายแดนใต้) มีการตั้งคณะกรรมตั้งหลายชุด แต่สัดส่วนผู้หญิงที่เข้าไปนั่งยังมีน้อย แล้วผู้หญิงส่วนมากที่เข้าไปนั่งยังไม่ค่อยเข้าใจความอ่อนไหวทางเพศสภาพ เลยทำให้สิ่งที่ออกมายังไม่เกิดกลไกที่จะทำให้ผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย” อังคณา กล่าว

ที่มาภาพ : งานปกครองกองร้อย 3 ศฝร.ภ.4

เสนอตำรวจหญิงต้อง ‘เข้าใจหลักสิทธิมนุษยชน-ศาสนา-กฎหมาย’ ก่อนทำหน้าที่ในกระบวนยุติธรรม

อัญชนาระบุว่า ระบบที่ดีในกระบวนยุติธรรมของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ อย่างแรกคือต้องอบรมบุคลากรในเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชนก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิมนุษยชนหลากหลายอนุสัญญา

“มันมีเรื่องของการทรมาน มีเรื่องของการอุ้มหาย มีเรื่องของสิทธิพลเมือง มีเรื่องของสิทธิเด็ก สิทธิสตรี ที่ทั้งตำรวจหญิงชายหรือว่าคนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ในระบบดาโต๊ะยุติธรรมหรือระบบยุติธรรมปกติ ต้องเข้าใจเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนก่อน” อัญชนา กล่าว

ประการที่สอง อัญชนาระบุว่า คือการที่ตำรวจต้องเข้าใจหลักการของศาสนาอิสลามทั้งหมด ทั้ง Concept ไม่ใช่เพียงแค่ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ที่เพียงหยิบยกมาแล้วทำให้เพศหญิงตกอยู่ภาคใต้กรอบของการถูกกระทำต่อไป

“การหยิบยกประเด็นเหมือนหนังสือ หลักการทฤษฎีมันมีมากมายเลย แต่เราหยิบทฤษฎีเดียวมาใช้ โดยที่ในการแก้ปัญหานั้นมันต้องรู้ทั้งหมดของทฤษฎี เพื่อที่จะใช้ได้ในทุกโอกาสและวาระ ไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง การทำความเข้าใจเรื่องหลักศาสนาอิสลามเป็นประเด็นสำคัญ” ปธ.กลุ่มด้วยใจ กล่าว

ประการที่สาม อัญชนาให้ความเห็นว่าผู้ที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรมต้องเข้าใจกฎหมายอย่างรอบด้าน

“ผู้ที่ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ ต้องเข้าใจเรื่องของกฎหมายด้วยว่า กฎหมายให้การคุ้มครอง มีพ.ร.บ. อะไรที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ตำรวจรู้แล้ว แต่ว่าทหารรู้ไหม ทหารไม่รู้ทั้งหมด แล้วก็ผู้ที่ทำงานในคณะกรรมการอิสลาม โต๊ะอิหม่ามในระดับชุมชนก็ไม่รู้”

“ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ปัญหาในเรื่องของความขัดแย้ง และก็การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง มันตั้งแต่เรื่องของมรดก เรื่องของทรัพย์สิน เรื่องของการแต่งงาน มันอยู่กับผู้หญิงตลอด เพราะฉะนั้นความรู้ความเข้าใจทั้งหมด มันต้องเริ่มมาจากชุมชนด้วย” ปธ.กลุ่มด้วยใจ กล่าว

ตัวอย่าง ‘ออสเตรีย’ รับข้อเสนอ กก. CEDAW จัดอบรมทำความเข้าใจความรุนแรงในครอบครัว หลังผู้หญิงมุสลิมร้องเรียน

รายงาน ‘ข้อเสนอแนะ การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ที่จัดทำโดย คณะกรรมการสิทธิฯ  ระบุถึงข้อร้องเรียนของผู้หญิงมุสลิมจากประเทศออสเตรเลีย โดยยกกรณีตัวอย่างข้อร้องเรียนของฟาติมา หญิงสาวที่ร้องเรียนต่อประเทศออสเตรเลีย ที่ล้มเหลวในการให้ความปลอดภัย และการคุ้มครองชีวิตผู้หญิง ซึ่งเป็นการละเมิดอนุสัญญาข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 5 รวมทั้งข้อเสนอแนะที่ 12 19 และ 21 

จากกรณีที่เกิดขึ้น ส่งผลให้คณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบกลไกการพิทักษ์สิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงตาม อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ( Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women - CEDAW)  พิจารณาข้อร้องเรียนและมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลออสเตรเลียดำเนินการ ดังต่อไปนี้

สร้างความเข้มแข็งและติดตามการดำเนินการตาม พ.รบ. ความรุนแรงในครอบครัวโดยทันทีไม่ล่าช้า 

ลงโทษผู้กระทำผิดโดยเร็ว โดยใช้ทั้งมาตรการแพ่งและอาญา สิทธิของผู้กระทำไม่ควรสำคัญกว่าสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ของผู้หญิงที่ถูกกระทำ และความปลอดภัยในชีวิตทั้งทางร่างกายและจิตใจ 

ปรับปรุงการประสานการทำงานระหว่างผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม โดยประสานกับองค์กรสตรีในการคุ้มครองดูแลช่วยเหลือผู้เสียหาย

ทั้งนี้ ออสเตรียได้ดำเนินการตอบสนองต่อข้อร้องเรียนจากคณะกรรมการ CEDAW ดังกล่าว เร่งจัดการอบรวมและให้การศึกษาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจัง รวมถึงให้ความรู้เเรื่อง CEDAW รวมทั้งข้อเสนอแนะทั่วไปที่ 19 เกี่ยวกับความรุนแรงต่อเพศหญิง และพิธีสารเลือกรับของ CEDAW ผู้พิพากษาอัยการ ทนายความ และเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย

นอกจากนี้ ออสเตรียยังจัดทำรายงานการดำเนินการของรัฐภาคีภายในระยะเวลา 6 เดือน และจัดแปลข้อเสนอแนะเป็นภาษาเยอรมัน เพื่อทำการเผยแพร่แก่ทุกภาคส่วน

 

สกู๊ปนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษชุด เพศสภาพในงานตำรวจ (Gender and policing) ซึ่งจะมีการนำเสนอระหว่างพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564

สำหรับ ทอฝัน ช่วยชู ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาจากสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท