Skip to main content
sharethis

'สุทิน' ส.ส.เพื่อไทยและประธานวิปฝ่ายค้าน โต้ ฝ่ายกฎหมายของสภาไม่มีอำนาจให้ความเห็นชี้ขาดกรณีวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ถึงปี 2570 ของ 'ประยุทธ์' พร้อมระบุว่าอำนาจในการตีความเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นเรื่องในปีหน้า ด้าน 'อิสระ' ส.ส.ประชาธิปัตย์ แจง เป็นการทำหน้าที่ของข้าราชการสภา ไม่ใช่ความเห็นของ 'ชวน'

29 ธ.ค. 2564 วานนี้ (28 ธ.ค. 2564) ไทยรัฐออนไลน์, ข่าวช่อง 3, วอยซ์ออนไลน์ และข่าวสดออนไลน์ รายงานตรงกันว่าฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและส่งความเห็นทางกฎหมายกรณีการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรค 4 ที่ระบุว่านายกรัฐมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปีนั้น จะให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่เมื่อใด โดยฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรได้สรุปประเด็นและส่งเรื่องดังกล่าวให้แก่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับทราบข้อสรุปในประเด็นนี้แล้วตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. 2564 แล้ว

ฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรค 4 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นต้นไป เพราะการกำหนดเงื่อนไขให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งรวมแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้นั้น เป็นเงื่อนไขการจำกัดสิทธิบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการบัญญัติกฎหมายในทางเป็นโทษ จะนำมาบังคับใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษไม่ได้ การกำหนดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญให้ผลย้อนหลังใช้บังคับกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ย่อมขัดหลักกฎหมาย

ส่วนประเด็นรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 ที่แม้จะกำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้นั้น การปฏิบัติหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 264 เป็นการปฏิบัติหน้าที่แทน ครม. ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญปี 2560 เพียงชั่วเวลาหนึ่ง และต้องพ้นจากหน้าที่ภายหลังจากที่ ครม. ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เข้าปฏิบัติหน้าที่ หากรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้นับระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ก่อนหน้านี้ จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า ให้นับระยะเวลาดังกล่าวรวมเป็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย

ดังนั้น ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 264 นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ จนถึงวันที่ 9 มิ.ย.2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงไม่ถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หากเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่ง ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันที่เป็นวันโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 นั่นเท่ากับว่าวาระ 8 ปี จะไปสิ้นสุดที่ประมาณปี 2570 นั่นหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองที่ลงรับสมัครเลือกตั้งได้อีกครั้ง ในการเลือกตั้งรอบหน้า

ส.ส.ปชป. แจงกรณี 'ประยุทธ์ 8 ปี' เป็นการทำงานของเจ้าหน้าสภา ไม่ใช่ความเห็น 'ชวน'

วันนี้ (29 ธ.ค. 2564) กรุงเทพธุรกิจและมติชนออนไลน์ รายงานตรงกันว่า อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อได้จนถึงปี 2570 นั้น ว่าเป็นการทำหน้าที่ปกติของข้าราชการประจำรัฐสภา ฝ่ายกฎหมาย ต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทำสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และรายละเอียดของประเด็นต่างๆ ซึ่งเป็นที่สนใจของสังคม พร้อมให้ความเห็นทางกฎหมายในนาม 'ส่วนบุคคล' แนบท้ายและส่งต่อไปยังประธานสภาฯ ให้รับทราบ

อิสระเกรงว่าจะเกิดการเข้าใจผิดคิดว่าประธานรัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ แต่ความจริงแล้วกรณีนี้เป็นความเห็นส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่สภาฯ และเจ้าหน้าที่นิติกรเจ้าของเรื่อง ซึ่งไม่ใช่ความเห็นชวน หลักภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้ทนราษฎร โดยประเด็นถกเถียงเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.ประยุทธ์ นั้นเกิดขึ้นเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว อิสระกล่าวต่อไปว่าผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยประเด็นนี้คือศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่รัฐสภา โดยศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตามมาตรา 210 ของรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว

ประธานวิปฝ่ายค่าย ชี้ ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่สภาต้องให้ความเห็นเรื่องนี้

29 ธ.ค. 2564 ด้าน สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่าตนยังไม่อ่านเหตุผลที่ฝ่ายกฎหมายของสภาใช้ประกอบการวินิจฉัยและให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าว แต่ฝ่ายกฎหมายของสภาไม่ใช่หน่วยงานที่มีอำนาจชี้ขาดและให้ความเห็นในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี อีกทั้ง โดยกาลเทศะแล้ว ตนคิดว่าไม่ควรออกมาพูดหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อกรณีดังกล่าวในช่วงนี้ ตนจึงสงสัยว่าเหตุใด ฝ่ายกฎหมายของสภาจึงทำเรื่องนี้และมีความเห็นออกมาในช่วงนี้

สำหรับการดำเนินการต่อจากนี้ สุทินกล่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบและตีความกฎหมายนี้ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใกล้ครบ 8 ปี ซึ่งจะอยู่ประมาณเดือน ส.ค. 2565

"ถึงตอนนั้น ถ้าคุณประยุทธ์ไม่ออก เราก็คงจะต้องยื่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตีความ ซึ่งหน่วยงานที่จะชี้ขาดไม่ใช่ฝ่ายกฎหมายของสภา แต่เป็นศาลรัฐธรรมนูญ" สุทินกล่าว

นอกจากนี้ สุทินยังกล่าวว่าตนเชื่อว่าการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรค 4 หรือไม่นั้น ไม่ได้มีแค่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคฝ่ายค้าน แต่อาจจะมีองค์กรภาคประชาชนร่วมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการไปพร้อมๆ กับภาคประชาชน แต่การดำเนินการต้องรอให้เหตุเกิดก่อน จึงจะยื่นเรื่องได้ ดังนั้น การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความต้องรอช่วงใกล้ๆ เดือน ส.ค. ปีหน้า

"แล้วที่สำคัญที่สุด จะไปอ่านตามตัวหนังสืออย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย" สุทินกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าการที่ฝ่ายกฎหมายของสภาออกมาให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวในช่วงนี้ จะเป็นการชี้ชวนหรือกำหนดแนวทางการวินิจฉัยในอนาคตหรือไม่ สุทินตอบว่า "ผมว่ามันจะทำให้เกิดความสับสนขึ้นมา แล้วก็มันจะทำให้สังคมเกิดความสงสัยในเจตนาของฝ่ายกฎหมายของสภามากกว่า"

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564 มติชนออนไลน์ รายงานว่า สุทินให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่าหากนับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2557 หมายความว่าในเดือน ส.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี แต่ประเทศไทยมักตีความกฎหมายแบบ 'ศรีธนญชัย' จึงทำให้มีการตีได้ 2 แนวทาง คือ 1. การดำรงตำแหน่งนายกฯ จะมีผลตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้เป็นต้นไป หากตีความแบบนี้ก็จะหมายความว่าไม่นับรวมอายุการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนปี 2560 ดังนั้นจะครบ 8 ปีในปี 2567 และ 2. ตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ ต้องนับอายุการดำรงตำแหน่งตั้งแต่เป็นนายกฯ เป็นต้นมา ซึ่งก็คือจะครบ 8 ปี ในเดือน ส.ค. 2565

สุทิน กล่าวว่า จากนี้ก็ต้องดูว่าจะตีความไปในแนวทางใด แต่ตนคิดว่าควรตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือ นายกฯ ควรจะเป็นต่อกันไม่เกิน 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จึงจะเป็นนายกฯ ได้อีกเพียง 1 ปีเท่านั้น แต่ก็อาจจะมีพวกศรีธนญชัยที่ตีความว่ารัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับย้อนหลัง คือให้นับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ปี 2560 แต่หากความเห็นการตีความไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สุดท้ายจะจบอย่างไร สุทินกล่าวว่า ต้องจบที่ พล.อ.ประยุทธ์ คือไม่ต้องให้เกิดความขัดแย้งในการตีความมาก ก็ให้จบการดำรงตำแหน่งนายกฯ ในเดือน ส.ค. 2565 โดยการเคารพเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีที่ทั่วโลกปฏิบัติตาม คือ ประเทศประชาธิปไตยจะไม่ให้ผู้นำดำรงตำแหน่งเกิน 2 สมัย หรือ 8 ปี ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ สามารถหาทางออกได้ โดยไม่ต้องให้สังคมเกิดความขัดแย้งกัน

อย่างไรก็ตาม สุทินกล่าวว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่ได้หารือกันในประเด็นนี้ แต่จะต้องแสวงหาข้อยุติที่เป็นบรรทัดฐานต่อไป โดยการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net