ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ : รักต้องห้ามของรัชกาลที่ 8

หนังสือเล่มใหม่ของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้ก่อตั้งเพจตลาดหลวง เล่าเรื่องราวที่ห้ามพูดในสังคมไทย ความรักและความตายของรัชกาลที่ 8 เพราะความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ต้องมาก่อน ความรักที่มีต่อ Marileine Ferrari จึงถูกกีดกันทุกวิถีทางก่อนจบลงด้วยโศกนาฏกรรมความตาย

  • ความรักและความตายของรัชกาลที่ 8 มีจุดร่วมเหมือนกันที่เป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมไทย
  • บริบททางการเมืองไทยในทศวรรษ 1940 สถาบันกษัตริย์ไร้เสถียรภาพ รัชกาลที่ 8 ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอดของสถาบัน รวมถึงการกีดกันความรักระหว่างรัชกาลที่ 8 กับ Marileine Ferrari
  • ความเชื่อเรื่องความเป็นไทยที่สูงส่งกว่าและเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ การแต่งงานกับผู้หญิงฝรั่งจึงเป็นเรื่องต้องห้าม
  • ปวินวิเคราะห์ว่าเหตุที่ความรักของรัชกาลที่ 8 ถูกปิดบังมาตลอด เพราะสถาบันกษัตริย์ไม่ต้องการให้สังคมไทยมองตนว่ามีรัก โลภ โกรธ หลงดังเช่นปุถุชนทั่วไป ซึ่งขัดแย้งกับสถานะความเป็นเทพ
  • ปวินมองว่าการแต่งงานของรัชกาลที่ 10 กับคนสามัญถือเป็นสัญญาณที่ดีของการปรับตัว แต่ยังไม่เพียงพอ สถาบันกษัตริย์จำต้องปฏิรูปและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

 

ความรักและความตายของชนชั้นนำไทยแทบไม่เคยดำเนินไปตามครรลองปกติเช่นปุถุชน ไม่แปลก ด้วยสถานะ อำนาจ และการเมืองที่ห้อมล้อม แม้ด้วยเรื่องปัจเจกที่สุดยังต้องถูกคิดคำนวณถึงผลได้ผลเสีย

หนังสือเล่มใหม่ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เรื่อง 'Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand' คือความพยายามสืบสาวเรื่องราวว่าด้วยความรักและความตายของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลหรือรัชกาลที่ 8

 

ความรักและความตายของรัชกาลที่ 8 ดูจะเป็นสองเรื่องที่ไม่น่าจับคู่กันได้ ทว่า ในสังคมไทยสองเรื่องนี้มีจุดร่วมเหมือนกันตรงที่ว่า มันล้วนเป็นเรื่องต้องห้าม เรื่องที่ไม่ถูกพูดถึง มันทำให้สถาบันกษัตริย์และความเป็นสมมติเทพต้องมัวหมองด้วยความรัก โลภ โกรธ หลงเยี่ยงปุถุชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ปวินวิเคราะห์หาคำตอบ

เอาล่ะ เรื่องความตายนั่นพอเข้าใจได้ แต่เหตุใดความรักของรัชกาลที่ 8 จึงเป็นเรื่องต้องห้าม เราแทบไม่มีความรับรู้ใดๆ เกี่ยวกับชีวิตรักเลย หรือเพราะด้วยสถานะกษัตริย์แห่งสยามจึงไม่ยินยอมให้ได้ทำตามเสียงของหัวใจ

หนังสือที่ใช้เวลาเขียน 10 ปี

ปวินเล่าว่าการอ่านหนังสือ ‘กงจักรปีศาจ’ ของเรย์นี ครูเกอร์ (Rayne Kruger) ทำให้เขาพบชื่อ Marileine Ferrari คนรักของรัชกาลที่ 8 และเก็บเป็นความสงสัยใคร่รู้เรื่องราวชีวิตของเธอและความรักของทั้งสองมานับแต่นั้น ปี 2012 เขาจึงเริ่มโครงการหนังสือเล่มนี้จากการเขียนบทความลงในบล็อก New Mandala ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียถึงความสนใจของตนและหากมีญาติของ Marileine Ferrari อ่านบทความนี้ก็ขอให้ติดต่อกลับ

1 ปีผ่านไปปวินได้รับอีเมล์จากบุตรชายของมาริลีน นำไปสู่การพบปะสทนาและเก็บข้อมูล เกือบ 1 ทศวรรษผ่านไป หนังสือเล่มนี้จึงเขียนเสร็จ

“มันมีความยากลำบากหลายอย่างเกี่ยวกับการหาข้อมูล การไม่ได้รับความร่วมมือซึ่งมี 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือมีคนที่ไม่รู้เรื่องนี้เยอะจริงๆ เพราะฉะนั้นถามใครก็ตอบไม่ได้ อีกอันหนึ่งคือไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่คิดว่าเขาอาจจะมีข้อมูล ด้วยความที่เขาไม่อยากช่วยเราหรือกลัวที่ต้องเปิดเผยข้อมูลหรือด้วยสถานะของเราที่เป็นผู้ลี้ภัยก็กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเขา

“ทำไมถึงคิดเรื่องความรัก เรื่องการเสียชีวิตหรือการตายของรัชกาลที่ 8 ทุกคนรู้หมดแล้วในแง่ที่ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 1946 แต่ภายใต้กระแสน้ำที่ดูราบเรียบข้างล่างมันป่วนตลอดเวลา หมายความว่าเป็นการตายแบบไหน ตายอย่างไร ตายเพราะเหตุใด ใครอยู่เบื้องหลัง มันออกมาพูดเหนือน้ำไม่ได้ แต่คนได้รับรู้แล้ว และผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทยในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มันเอาเรื่องเหล่านี้กลับมาด้วย ความสนใจของสาธารณชนต่อการตายของรัชกาลที่ 8 มีมากขึ้น แต่เรื่องความรักโผล่มาจากไหน ผมกล้าพูดว่า 98 เปอร์เซ็นต์ของคนทั่วไปไม่รู้เรื่องความรักของรัชกาลที่ 8 เรื่องนี้ถูกซ่อนไว้นานมาก”

Marileine Ferrari

Marileine Ferrari (ที่มาภาพ New Mandala)

ปวินเล่าถึงโครงสร้างหนังสือว่ามี 5-6 บท โดยเขียนไปตามไทม์ไลน์ ตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กของรัชกาลที่ 8 ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ กระทั่งเรียนมหาวิทยาลัยและได้พบกับมาริลีน

“มาริลีนไม่ใช่คนโนเนมเสียทีเดียว เป็นคนที่อยู่ในแวดวงสังคมชั้นสูงของเมืองโลซานน์เพราะว่าเป็นลูกสาวของอาร์คบิชอปของอาสนะวิหารแห่งเมืองโลซานน์ การที่มาริลีนได้เรียนต่อปริญญาตรีในช่วงทศวรรษ 1940 ถือว่าค่อนข้างพิเศษเพราะว่าในสมัยนั้นผู้หญิงยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ที่สำคัญกว่านั้นคือวิชาที่มาริลีนเลือกเรียนคือวิชากฎหมาย ในคลาสมีแค่ 16 คน เธอเป็นผู้หญิงคนเดียวในคลาส”

จากการวิจัยของปวินพบว่าเมื่อรัชกาลที่ 8 เจอมาริลีนในนคลาสเรียนวันแรก รัชกาลที่ 8 ก็ชอบมาริลีนทันที คบกันเป็นเพื่อนสนิท เริ่มออกไปเที่ยวด้วยกัน ใช้เวลาด้วยกัน กระทั่งรู้ถึงหูแม่หรือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าที่คนไทยคุ้นเคยดี เป็นเหตุให้เกิดความพยายามไม่ให้ทั้งคู่คบกัน

“ช่วงนี้มันสั้นมากๆ แต่ก็เข้มข้นมากๆ การค้นพบของผม ทั้งสองคนยอมรับว่าเป็นแฟนกัน แต่ทั้งคู่ก็มีความกังวลใจ รัชกาลที่ 8 เองก็กลัวว่าจะแต่งงานกับคนต่างชาติได้เหรอ ฉันเป็นกษัตริย์ของประเทศสยาม ฝ่ายมาริลีนเองก็กังวลใจเพราะจินตนาการไม่ออกว่าฉันจะเป็นราชินีของประเทศนี้เหรอ ที่สำคัญกว่านั้นคือพ่อของมาริลีนเป็นคนที่ค่อนข้างหัวทันสมัยมาก ได้เตือนลูกสาวว่าอาจจะเป็นไปไม่ได้ ส่วนหนึ่งที่พ่ออาจจะรับไม่ได้ก็คือการปฏิบัติต่อผู้หญิงของผู้ชายไทยและอาจมีการหมอบคลาน มันเป็นเกร็ดเล็กน้อยที่ทำให้เราสนใจเหมือนกันว่าถึงตอนนั้นฝรั่งก็รับไม่ได้เรื่องหลักปฏิบัติบางอย่างในรั้วในวังของเราที่ดูเหมือนลดค่าความเป็นผู้หญิง”

รักที่ถูกกีดกัน

การออกเดททุกครั้งระหว่างรัชกาลที่ 8 กับมาริลีนจะมีบุคคลผู้หนึ่งติดตามไปด้วยเสมอนั่นคือ Cléon Séraïdaris ติวเตอร์ชาวกรีซ/สวิส ที่สมเด็จย่าเป็นผู้รับเข้าทำงานทันทีที่พบ ปวินกล่าวว่า Cléon Séraïdaris มีบทบาทสำคัญมากในการเป็นหูเป็นตาให้กับสมเด็จย่า และรัชกาลที่ 9 เองก็เห็น Cléon Séraïdaris เป็น Father Figure เนื่องจากเขาเป็นคนที่คอยห่วงใยดูแลและตัว Cléon Séraïdaris ก็รักเด็ก 2 คนนี้จริงๆ

Cléon Séraïdaris คนกลาง (ที่มาภาพ เพจ 77PPP)

“เรื่องการส่งจดหมาย รัชกาลที่ 8 บอกมาลิรีนว่าจะกลับเมืองไทยแต่ไม่นานก็จะกลับมา ในหลวงอานันท์กลับถึงกรุงเทพฯ วันที่ 5 ธันวาคม 1945 ตอนกลับคิดในใจว่าจะมาอยู่ไม่กี่เดือนแล้วจะกลับไปเรียนต่อเพราะสมเด็จย่าพูดไว้ชัดว่าก่อนที่ลูกจะกลับมาเป็นกษัตริย์ต้องจบปริญญาตรี และการกลับมาก็มีเหตุผลด้านการเมือง ปรีดี พนมยงค์เชิญให้กลับมาส่วนหนึ่งก็เพื่อต้องการทำให้กลุ่มรอยัลลิสต์สงบลง ไม่คิดเป็นศัตรูกับฝ่ายคณะราษฎรมากจนเกินไป

“แต่ในที่สุดเราก็รู้ว่าเรื่องก็เลยเถิดไปถึงเดือนมิถุนายนและนำไปสู่โศกนาฏกรรม ก่อนกลับทั้งสองคนตกลงกันว่าจะเขียนจดหมายถึงกัน โดยที่สมเด็จย่าเสนอให้ในหลวงรัชกาลที่ 8 เขียนไปหาพี่สาวกัลยาณีซึ่งตอนนั้นอยู่ที่โลซานน์เพื่อให้ส่งต่อให้มาริลีน ในส่วนของมาริลีนให้ส่งจดหมายมาที่สำนักพระราชวังซึ่งเป็นที่อยู่ของรัชกาลที่ 8 ทุกคนรู้จักมาริลีนเพราะว่าตระกูลมหิดลทุกคนเรียนมหาวิทยาลัยโลซานน์แม้แต่สมเด็จย่า แต่ไม่มีใครได้รับจดหมายเลย”

ภายหลังเมื่อทั้งสองคนสามารถติดต่อกันได้จึงรู้ว่าจดหมายที่ต่างฝ่ายต่างส่งถึงกันเดินทางไปไม่ถึง

“อันนี้เป็นการตีความของแต่ละคน คืนสุดท้ายก่อนที่ในหลวงอานันท์จะเสียชีวิต มีการเขียนว่าในหลวงอานันท์ทะเลาะกับสมเด็จย่าและมีการแย่งจดหมายฉบับหนึ่ง คนอื่นหรือทฤษฎีอื่นจะคิดว่าเป็นจดหมายของสมเด็จย่าและติวเตอร์ แล้วลูกจับได้ แต่ทฤษฎีผมคิดว่าเป็นจดหมายของมาริลีน แล้วในหลวงรัชกาลที่ 8 เพิ่งรู้ว่าที่มาไม่ถึงเลยเพราะถูกทำลาย มันถึงกลับไปสู่เรื่องความเป็นปุถุชนธรรมดาทั่วไปซึ่งผมคิดว่าในส่วนนี้ในวังไม่อยากให้คนภายนอกรู้”

การเมืองห่มคลุมความรัก

ปวินอธิบายว่าเหตุที่นำเรื่องความรักและความตายมากล่าวถึงร่วมกันในหนังสือเล่มนี้ เพราะทั้งสองเรื่องนำมาสู่ความสั่นคลอนของสถาบันกษัตริย์ จนต้องทำทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอดของสถาบัน อีกทั้งยังเป็นประเด็นที่ถูกกดทับ ไม่ถูกพูดถึง เป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมไทย

ปวินกล่าวว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นประมาณทศวรรษที่ 1940 ซึ่งไทยเพิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ อานันทมหิดลที่ตอนนั้นอายุเพียงสิบกว่าขวบต้องขึ้นเป็นกษัตริย์ มันจึงนับเป็นภาระอันหนักอึ้งสำหรับเด็กคนหนึ่งที่เติบโตในต่างประเทศและแทบไม่รู้ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยเลยในการสานต่อให้สถาบันกษัตริย์ไปต่อได้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในห้วงเวลานี้จึงเป็นสมเด็จย่า ผู้คอยประคับประคองให้สถาบันอยู่รอด คอยแก้ปัญหาเกี่ยวกับความรักและปัญหาที่เกิดขึ้นจากความตาย

“ในทศวรรษ 1940 สถาบันกษัตริย์ไทยง่อนแง่นมาก ที่มีการยกเลิกระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพราะความนิยมมันตกไปแล้ว มันเกือบจะถึงจุดที่ถูกยกเลิกไปเลยด้วยซ้ำ แต่ด้วยการที่คณะราษฎรยังเห็นความสำคัญอยู่บ้างของสถาบันกษัตริย์ จึงยังคงอยู่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามีเสถียรภาพ

“และความง่อนแง่นนี้ก็ดันมีปัญหาเรื่องความรักเข้ามา แล้วไม่ใช่ความรักธรรมดา ถ้าเป็นความรักระหว่างกษัตริย์ไทยกับผู้หญิงไทยทั่วไปและถ้าเป็นกับผู้หญิงไทยที่อยู่ในราชสกุลสูงๆ อาจจะไม่ใช่ประเด็น แต่มันเป็นความรักที่ผมใช้คำว่าเป็นความรักต้องห้าม คือฝ่ายหญิงเป็นฝรั่งต่างชาติมันตรงกับสูตรที่เราทำไม่ได้ คือต่างชาติไม่ได้เป็นคำตอบว่า ไม่ เสมอไปเพราะในประวัติศาสตร์กษัตริย์ไทยก็แต่งงานกับผู้หญิงต่างชาติ แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงต่างชาติที่อยู่ในภูมิภาคนี้และเป็นการแต่งงานด้วยเหตุผลทางด้านการเมืองเท่านั้น เช่น ต้องการเอาเขามาเป็นพันธมิตร รัชกาลที่ 5 เป็นตัวอย่างสำคัญในการนำเจ้าหญิงเขมร เจ้าหญิงของล้านนามาเป็นเมียน้อยเพื่อที่จะสร้างพันธมิตรทางการเมือง”

แต่การแต่งงานกับผู้หญิง ‘ฝรั่ง’ นั้นต่างกันมาก ปวินบอกว่าลองจินตนาการประเทศไทยที่มีราชินีเป็นหญิงฝรั่งท่ามกลางการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ แน่นอนว่าความรักเช่นนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้และต้องถูกกำจัดทิ้ง

ร.8

ห้ามแต่งงานกับ ‘ฝรั่ง’

ประเด็นคือเหตุใดชนชั้นนำไทยจึงรังเกียจหรือตั้งแง่กับผู้หญิงฝรั่ง ประการแรก Perception ของการมองความเป็นต่างชาติ โดยเฉพาะช่วงรัชกาลที่ 4 ที่มีลักษณะไม่ได้รัก แต่ก็เกลียดไม่ได้ เนื่องจากสถานะความเป็นนักล่าอาณานิคมและผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม กลายเป็นความอิหลักอิเหลื่อของผู้นำไทยในการเลือกรับเฉพาะสิ่งที่อยากรับเท่านั้น ซึ่งการแต่งงานกับผู้หญิงฝรั่งจัดอยู่ในเรื่องต้องห้ามเพราะเกี่ยวกับความเป็นไทยที่คิดเสมอว่าดีเด่นกว่า สูงส่งกว่าคนอื่น ไม่ควรลดตัวลงไป

ปวินอธิบายต่อว่า อีกประการหนึ่งคือเหตุผลเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ การเป็นผัวเมียเป็นการสร้างความภักดีแบบใหม่ ทั้งสองกลายเป็นหนึ่งและแบ่งปันกัน มันทำให้คนคนนั้นกลายเป็นคนสองชาติโดยที่ชาติหนึ่งเป็นชาติมหาอำนาจ จึงเกิดความกังวลว่าจะทำให้คนไทยแปรความภักดีจากสยามหรือไม่

“ผมไปไกลถึงแนวคิดการมองประเทศไทย ณ ตอนนั้นว่าก่อนที่จะมีอาณานิคมเข้ามาเรายังไม่มีการวาดเส้นเขตแดน เขตแดนมันทับกันตลอดซึ่งมีส่วนทำให้ไทยใช้การเอามาเป็นเมียค่อนข้างง่ายขึ้น ลองจินตนาการไทยกับเขมรสมัยยังไม่มีเขตแดน การซ้อนทับกันนี้ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจสูงกว่าซึ่งส่วนหนึ่งก็คือการเอาเจ้าหญิงมาเป็นเมีย แต่เมื่อมีการวาดเส้นแล้วจึงทำให้การสร้างพันธมิตรทางการเมืองมีความสำคัญมากขึ้นเพราะรู้แล้วว่าอะไรไม่ใช่ของเรา แล้วเราจะเอาชนะเขาได้อย่างไร นอกเหนือจากการทำสงครามก็คือการผูกมิตรแบบนี้

“เรื่องสถานะผู้หญิงผู้ชายก็ต่างกันอีก ผู้ชายแต่งงานกับผู้หญิงอาจจะไม่มีปัญหาเท่ากับผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชาย เช่น ผู้ชายไทยแต่งกับผู้หญิงฝรั่งอาจจะมีปัญหาน้อยกว่าผู้หญิงไทยแต่งงานกับผู้ชายฝรั่ง มันมีกรณีสมัยรัชกาลที่ 5 พระปรีชากลการที่แต่งงานกับลูกสาวของกงสุลอังกฤษชื่อแฟนนีซึ่งเป็นลูกครึ่งไทยกับอังกฤษ แล้วเผอิญว่าผิดใจเรื่องอื่นๆ กับรัชกาลที่ 5 ไม่เกี่ยวกับเรื่องการแต่งงานแต่ถูกหยิบเอาเรื่องการแต่งงานมาเป็นเครื่องมือในการสั่งประหารชีวิตโดยอ้างว่าเอาคนต่างชาติมาเป็นเมียโดยไม่ได้ขออนุญาต ตอนนั้นมีการอ้างเรื่องอังกฤษพยายามต่อสู้กับฝรั่งเศสในการยึดครองสยาม ทำให้มีเรื่องว่าหรือพระปรีชากลการจะแปรพักตร์ไปช่วยอังกฤษทำให้สยามกลายเป็นเมืองขึ้น แต่จริงๆ แล้วเป็นความขัดแย้งจากการที่พระปรีชากลการพยายามสร้างสถานะตัวเองขึ้นมาแข่งบารมี”

 

พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล), (ขวา) แฟนนี น็อกซ์ (ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม )

ปุถุชนผู้มีรัก โลภ โกรธ หลง

เรื่องราวความตายพอละไว้ในฐานที่เข้าใจได้ว่าทำไมจึงห้ามพูด แต่ความรักล่ะ? มีเหตุผลอันใดที่เรื่องนี้ต้องถูกปิดบัง ปวินวิเคราะห์ว่าเพราะไม่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์ถูกมองเยี่ยงปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป

“ตระกูลมหิดลไม่อยากถูกมองว่าเป็นปุถุชน มีความเป็นเจ้าสูงมากโดยเฉพาะเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ขึ้นมาปลายปี 1959 ในช่วงที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ขึ้นมาด้วย มันมีความพยายามผลักดันสถาบันกษัตริย์ให้สูงขึ้นไปอีกในแง่ความเป็นเทพ พอขึ้นไปตรงนั้นพูดเรื่องปุถุชนไม่ได้แล้ว แต่ขณะเดียวกันรัชกาลที่ 9 ก็เล่นอีกแบบหนึ่งคือลงไปพบปะประชาชน ติดดิน มันมีความลักลั่น เป็นภาพลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และต้องพูดถึงรัชกาลที่ 9 เพราะการถกเถียงเกี่ยวกับความรักและความตายเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 ทั้งหมด

“เรื่องความตายเรารู้ว่ามันมีกรณีนี้แต่ทำไมเราถึงพูดถึงมันไม่เคยได้ ทำไมมันจึงเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมไทย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความอึมครึมของเหตุการณ์วันนั้น ผมคิดว่ามันมาจากความเกี่ยวข้องของบุคคลใดๆ ในเหตุการณ์นั้นทำให้มันพูดไม่ได้ แต่เรื่องความรักเป็นเรื่องต้องห้ามเช่นเดียวกัน สำหรับผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะว่าเรื่องความรักและการสกัดความรักนี้เป็นการเผยภาพลักษณ์ของราชวงศ์ไทยว่าเป็นปุถุชนที่มีความรัก โลภ โกรธ หลง ฉันไม่ชอบแฟนลูกชาย ไม่เหมาะกับลูกชายฉัน ฉันต้องทำทุกวิถีทางไม่ให้คู่นี้คบกัน มันกลายเป็นละครช่อง 3 เป็นเรื่องปุถุชนธรรมดา มันจึงกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ควรจะพูดถึง

“ความตายคงห้ามไม่ได้เพราะเป็นข่าวดังมาหลายทศวรรษ แต่เรื่องเกี่ยวกับความรักในเมื่อไม่มีคนรู้เยอะก็กดมันต่อไปให้คนไม่รู้ต่อไป แต่ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องต้องห้ามทั้งคู่เพราะเป็นการสะท้อนภาพความเป็นปุถุชนของสถาบันกษัตริย์กับการมีส่วนเกี่ยวข้องในการตายของสมาชิกราชวงศ์”

ปวินย้ำว่าในหนังสือเขาไม่ได้ชี้ว่ารัชกาลที่ 8 ตายเพราะอะไร เนื่องจากไม่สามารถค้นหาข้อมูลใหม่ได้ อีกทั้งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นทั้ง 8 คนก็เสียชีวิตหมดแล้ว เขาจึงเล่าถึงทฤษฎีว่าด้วยการตายของรัชกาลที่ 8 ว่ามีทฤษฎีใดบ้างแทน โดยให้ผู้อ่านชั่งตวงวัดเองว่าจะเชื่อทฤษฎีใด

สถาบันกษัตริย์ต้องปรับตัว

“ในหนังสือผมไม่ได้จบแค่ตรงนี้ ผมพูดเลยมาถึงรัชกาลที่ 10 ว่าไม่มีกรณีแต่งงานกับคนต่างชาติเพราะเท่าที่เราทราบอยู่ภรรยาทุกคนเป็นคนไทยทั้งหมด แต่ถ้าเรื่องความรักความตายเป็นเรื่องความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ แล้วความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ทุกวันนี้ขึ้นอยู่กับอะไร มันยังขึ้นอยู่กับการเลือกคู่หรือเปล่า ผมก็อยากตอบคำถามนี้”

ปวินยกตัวอย่างอังกฤษในทศวรรษ 1930 เมื่อกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 ต้องสละราชบัลลังก์เพื่อที่จะแต่งงานกับวอลลิส ซิมป์สัน (Wallis Simpson) ผู้หญิงอเมริกันที่เคยผ่านการแต่งงานมาแล้ว เรียกว่าไม่ตรงตามกฎของผู้หญิงที่จะเป็นราชินีของกษัตริย์อังกฤษเลย แต่พอถึงปี 2020 เจ้าชายแฮรี่แต่งงานกับเมแกน หญิงอเมริกันผ่านการแต่งงาน และ Half Black ซึ่งเป็นสิ่งที่จินตนาการไม่ได้เลยหากเป็นทศวรรษที่ 1930 นี่จึงแสดงถึงการปรับตัวของราชวงศ์อังกฤษที่ต้องการดำรงอยู่ต่อไป

“มีคนถามผมว่าอาจารย์ปวินล้มเจ้านู่นนี่นั่น No ถ้าใครตามผมดีๆ ผมไม่เคยมีความคิดล้มเจ้าเพราะผมมีความเชื่อในความที่เป็น Constitutional Monarchy แต่ต้องเป็นจริงๆ ถ้าเป็นปลอมๆ ผมไม่เอา เพราะผมเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์มีบทบาทให้เล่นได้ทางการเมืองและเป็นบทบาททางบวกด้วย เอาจริงๆ ผมอาจจะเป็นรอยัลลิสต์ด้วยซ้ำ ไม่อย่างนั้นผมไม่มาตามเรื่องเจ้า ไม่เขียนเรื่องรัชกาลที่ 8 หรอก

“ผมกำลังบอกว่าเมื่อมาถึงยุคของเจ้าชายแฮร์รี ราชวงศ์อังกฤษต้องปรับตัวอย่างมากจนกระทั่งยอมให้เกิดขึ้นแล้วมันดูดีมากในแง่ที่ว่าสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษพร้อมที่จะเดินไปกับอนาคต พร้อมที่จะให้เสรีภาพกับการตัดสินใจในเรื่องของความรักที่ทุกวันนี้ควรเป็นเรื่องปัจเจกมากๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม

ปวิน กล่าวถึงไทยด้วยว่า แม้จะไม่พูดในบริบทของการแต่งงานของเจ้าไทยกับผู้หญิงฝรั่ง แต่แม้การแต่งงานกับคนธรรมดาทั่วไปซึ่งตนก็คิดว่าเป็นก้าวย่างที่ดี เป็นพัฒนาการในทางที่ดีที่คนที่อยู่ในสถานะแบบนั้นไม่จำเป็นต้องแต่งงานอยู่ในชนชั้นของตัวเอง แต่ที่จะดีกว่านั้นคือการยอมรับความเท่าเทียมกันของผู้หญิงซึ่งอันนี้เรายังห่างไกลมาก และเรื่องเกี่ยวกับการที่ยอมให้ผู้หญิงสืบสันตติวงศ์ได้แบบอังกฤษนั้นเราก็ยังเป็นไปไม่ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท