สรุปเสวนา ชีวิตที่ไม่มั่นคงของแรงงานสร้างสรรค์ ไม่มีสหภาพ ไม่มีอำนาจต่อรอง

เสวนาออนไลน์ “มายาคติ อนาคต ว่าด้วยแรงงานสร้างสรรค์” เสวนาชี้รัฐสวัสดิการนั้นจำเป็นต่อแรงงานสร้างสรรค์ และการรวมกลุ่มกันของแรงงารสร้างสรรค์เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อต้องการความเท่าเทียม

ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการจัดวงเสวนาออนไลน์ เรื่อง “มายาคติ อนาคต ว่าด้วยแรงงานสร้างสรรค์” เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมาโดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ ตัวแทนกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ทั้งสามคนได้แก่ พิชญาภา เพ็ชรเทศ เบญจมาภรณ์ นิวาส อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ และดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กล่าวเปิดงานเสวนาว่า สหภาพแรงงานสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในองค์กรใหม่ที่พึ่งเปิดตัวมาซึ่งในโอกาสนี้จึงเชิญตัวแทนกลุ่มทั้งสามท่านมาพูดคุยในประเด็น “มายาคติ อนาคต ว่าด้วยแรงงานสร้างสรรค์ ?” โดยจะพูดคุยเรื่องมายาคติทางสังคมที่มีต่อกลุ่มแรงสร้างสรรคืไม่ว่าจะเป็นเรื่อง- แรงงานสร้างสรรค์ไม่ชอบรวมตัว - แรงงานสร้างสรรค์ต้านการอยู่ร่วมกับคนอื่น ไม่ชอบเสียภาษีชอบเสี่ยง ชอบความยืดหยุ่นพึ่งพาตนเองไม่ชอบความมั่นคงจากรัฐ - อนาคตแรงงานสร้างสรรค์ไม่ใช่ความมั่นคง โอกาส ในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีมั่นคงสามารถเลือกสร้างสรรค์งานได้ แต่คือ เทคโนโลยีการหนีตลาดรูปแบบเดิมไปหาตลาดแบบใหม่ เช่น NFT ?

มายาคติว่าด้วยแรงงานสร้างสรรค์ไม่ชอบการรวมตัวจริงหรือไม่

พิชญาภา เพ็ชรเทศเล่าในฐานะนักเขียนว่า สังคมมีภาพของนักเขียนไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนก็เพราะว่าการที่ไม่มีพื้นที่สำหรับรวมตัวกันแลกเปลี่ยนความรู้หรือทักษะในการตีพิมพ์นิยายได้ จะมีก็แค่พื้นที่ที่มีไว้สำหรับผู้อ่านแลกเปลี่ยนกับคนเขียนเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่พื้นที่ที่นักเขียนจะได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

พิชญาภาเห็นว่านักเขียนจะมีแค่สองทางเลือกเท่านั้นทางแรกก็คือการตะเกียกตะกายสร้างผลงานและตีพิมพ์ผลงานด้วยตนเอง ทางที่สองก็คือการหาสำนักพิมพ์ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่านักเขียนนั้นต้องการที่จะมีการรวมตัวกันแต่เพียงแค่ว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าสถานที่ไหนที่เหมาะสำหรับการขวนขวายหาความรู้เพื่อนักเขียนสามารถที่จะตีพิมพ์ผลงานหรือยืนหยัดด้วยตนเองได้ เธอมองว่าการที่นักเขียนนั้นไม่สามารถที่จะเข้าถึงความรู้และตีพิมพ์ผลงานของตัวเองได้ ถือเป็นความรุนแรงในรูปแบบหนึ่ง เพราะนักเขียนไม่สามารถที่จะทำอะไรด้วยตัวเองได้แต่ต้องผ่านกลไกของของสำนักพิมพ์ กระบวนการเหล่านี้มันยากลำบากมากสำหรับคนที่จะเริ่มทำเองทั้งหมด

เบญจมาภรณ์ นิวาส นักกิจกรรมรณรงค์ประเด็นสิทธิแรงงานสร้างสรรค์และเป็นนักเขียนหน้าใหม่ ให้ความเห็นต่อประเด็นการรวมตัวของกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ เธอไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามายาคติคนทำงานสร้างสรรค์ไม่ชอบการรวมตัวกันนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเห็นว่าเป็นเพียงการตัดสินตีตราและสังคมเข้ามาคิดแทนคนทำงานมากกว่า คือพอเป็นคนทำงานศิลปะแล้วก็ต้องเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูงต้อง ต้องทำงานอยู่ในห้องคนเดียวอะไรแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะว่าการจะสร้างผลงานศิลปะหนึ่งผลงานนั้นมันต้องเกิดจากศิลปินหลายคนที่มารวมตัวกันเพื่อที่จะผลักดันผลงานนั้น ตัวอย่างเช่นภาพยนตร์หนึ่งเรื่องนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ผู้กำกับเเท่านั้น มันต้องมีอีกหลายๆ องค์ประกอบไม่ว่าจะเป็นนักแสดง คนตัดต่อ ช่างแต่งหน้า หรือหน้าที่อื่นๆ

เบญจมาภรณ์มองว่าประเด็นสำคัญก็คือแรงงานสร้างสรรค์จำเป็นที่จะต้องรวมตัวกันเพื่อผลิตผลงานสร้างสรรค์ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รัฐบาลหรือนายทุนควรที่จะต้องมีพื้นที่เพื่อให้คนเหล่านี้ได้รวมกลุ่มกันและสร้างผลงานที่ดีและหลากหลายได้มากยิ่งขึ้น แต่กลับไม่ได้มีการส่งเสริมให้คนทำงานได้มีพื้นที่เพื่อให้มีสหภาพที่เข้มแข็ง เพราะถ้าหากคนทำงานกลุ่มกันกลายเป็นสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งก็จะมีอำนาจต่อรองกับนายทุนหรือรัฐที่กดขี่มากยิ่งขึ้น และยิ่งคนทำงานสามารถรวมกลุ่มกันและเข้มแข็งมากขึ้นก็จะผลิตงานศิลปะที่งดงามและหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบของรัฐหรือกรอบของนายทุนที่จะมาบงการหรือกดขี่ชีวิตการทำงานของแรงงานสร้างสรรค์

พลวัติการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์

อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ อาจารย์ประจำสาขาศิลปกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์และยังเป็นศิลปินด้านทัศนศิลป์ ชี้ว่าประเด็นการเปลี่ยนแปลงของการรวมกลุ่มของแรงงานสร้างสรรค์นั้นในอดีตศิลปะนั้นถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์สูงส่งและยังเป็นอาชีพเฉพาะกลุ่มมาก ถ้าคนที่เติบโตได้ก็มีความมั่งคั่งและยั่งยืนมาก ยิ่งในช่วงที่รัฐให้การสนับสนุนผลงานศิลปะและเทงบประมาณจำนวนมหาศาลลงมาใครที่อยู่ถูกที่ถูกเวลาก็จะสามารถอยู่รอดได้

แต่เขามองว่าในปัจจุบันการพูดถึงประเด็นแรงงานสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่นั้นมีรูปแบบที่มากกว่ารุ่นที่ตนเคยทำอยู่ และยิ่งด้วยการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องกราฟฟิกดีไซน์ฯ เรื่องการออกแบบ เรื่องเทคโนโลยี มันพัฒนาไปไกลและสามารถที่จะเติมเต็มผลงานศิลปะให้มันดียิ่งขึ้นซึ่งต่างจากรุ่นของตน

อาจินโจนาธาน เล่าต่อว่า โครงสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวอย่างเป็นพลวัตนั้นเริ่มที่จะตั้งคำถามต่อสังคมแล้วว่าทำไมผลงานศิลปะที่พวกเขาทำนั้นไม่มีมูลค่าทางการตลาดอย่างที่ควรจะเป็น ยิ่งกระบวนการการสร้างงานศิลปะนั้นมันเป็นสิ่งที่สังคมมองไม่เห็น ซึ่งจริงๆ แล้วกว่าจะมีผลงานศิลปะหนึ่งชิ้นนั้นมันมีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องใช้ความพยายามที่สูง แต่ส่วนใหญ่สังคมจะมองเห็นผลงานในขั้นตอนที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นมันจึงทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วเรากำลังถูกเอารัดเอาเปรียบจากอะไรบ้าง

แรงงานสร้างสรรค์ชีวิตไม่มั่นคง ชีวิตเลยต้องเสี่ยง

“มายาคติว่าด้วยแรงงานสร้างสรรค์นั้นไม่ชอบการรวมตัวหรือไม่ชอบจ่ายภาษีหรือชอบความเสี่ยงและอื่นๆ นั้น มันมีผลจากการที่เรานั้นไม่มีรัฐสวัสดิการตั้งแต่แรกเพราะว่าเราไม่รู้ต้องเสียภาษีให้กับรัฐที่ไม่ได้โอบอุ้มเรายังไง ต่อมาก็เป็นเรื่องความเสี่ยงซึ่งจริงๆ ไม่มีใครชอบความเสี่ยงทุกคนชอบความมั่นคงในชีวิตแต่ว่าเราหาไม่ได้จากรัฐบาลเป็นต้น” พิชญาภา กล่าวว่า

พิชญาภา กล่าวว่าก่อนอื่นต้องอธิบายว่า NFT (Non-Fungible Token สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง) คือ มันคือเทคโนโลยีใหม่ที่ให้นักลงทุนสามารถเข้ามาซื้อผลงานศิลปะของศิลปินคนนั้นได้ ฉะนั้นเมื่อพูดว่าศิลปินต้องการความมั่งคั่งก็ไม่ใช่มายาคติเสียทีเดียวแต่ว่ามันจะมีกลุ่มคนที่วาดภาพศิลปะออกมาแล้วก็จะคิดว่าภาพศิลปะนี้มีราคาเพราะมันขายได้มันก็เลยมีคุณค่า

อย่างก็ตามพิชญาภาบอกว่าส่วนตัวเธอไม่ค่อยชอบ NFT เนื่องจากเห็นงานศิลปะที่มีคุณค่ากับมีราคานั้นต่างกัน การที่ศิลปะถูกทำให้มีราคาเพราะมันกลายเป็นสินค้า แต่คำว่ามีค่านี้เป็นเพียงแค่คนในสังคมนั้นสนับสนุน แต่เมื่อเราอยู่ในระบบทุนนิยมหลายๆ คนเลยรวมทั้งสองอย่างนี้เข้าด้วยกันคือเมื่อผลงานมีราคาเลยกลายเป็นว่าผลงานชิ้นนั้นมีคุณค่าแล้ว และระบบที่เข้ามาช้อนศิลปินขึ้นคือก็คือ NFT ที่ทำให้ศิลปินขายงานได้มากกว่าขายปกติ ถ้าหากถามว่า NFT เป็นอนาคตไหมส่วนตัวมองว่ามันไม่ได้เป็นอนาคตของวงการสร้างสรรค์เพราะว่าเรามองว่าหลักการของ NFT ไม่ได้มีไว้เพื่อช่วยเหลือศิลปินในระยะยาวแต่มีไว้เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบของศิลปินมากกว่า แต่ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือแต่อย่างใด

เบญจมาภรณ์ ให้ความเห็นว่าการที่เหล่าศิลปินนั้นต้องเร่งผลิตผลงานให้ได้ในจำนวนมากๆ ต่อปีนั้นเป็นเพราะว่าสังคมที่บีบรัดให้เขาต้องผลิตงานออกมาเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องแล้วก็ NFT นั้นเป็นอนาคตหรือไม่ส่วนตัวมองว่ามันเป็นเพียงแค่หนึ่งแพลตฟอร์ม ที่พึ่งมาใหม่ซึ่งตนนั้นก็เป็นหนึ่งในคนที่ไม่เห็นด้วยกับการมี NFT เพราะด้วยหลายๆ เหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมอาทิเช่น เราวาดรูปแล้วขายให้ NFT 20,000 บาท แต่ว่าแล้วมีคนสามารถเอารูปเราจากการขายให้ NFT ไปขายต่อในราคาที่สูงขึ้น 10 เท่าตัว เราก็รู้สึกว่ามันมีค่าตอบแทนที่ไม่ยุติธรรม อีกประเด็นก็คือคุณค่าของผลงานศิลปะนั้นก็ถูกทำให้หายไปด้วยเช่นกันผ่านระบบ NFT

อาจิณโจนาธาน ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า เห็นด้วยที่ว่า NFT นั้นไม่ใช่ทางออกสำหรับศิลปินที่ดีแน่ๆ เพราะว่าสำหรับผมแรงงานสร้างสรรค์นั้นมันมีอยู่มากมายหลากหลายประเภทซึ่งบางประเภทก็ยังไม่สามารถที่จะเข้าสู่ระบบของ NFT ได้ แต่หากมองว่าธรรมชาติของระบบ NFT นั้นมันสามารถที่จะสร้างรายได้อย่างก้าวกระโดดได้จริงๆ ซึ่งมันต่างกันกับโลกจริงที่ผลงานศิลปะจะขายได้ในราคาที่สูงนั้นมันเป็นไปได้ยากมากกว่า ประเด็นสำคัญคือการที่บอกว่าแรงงานสร้างสรรค์นั้นมันมีอยู่หลากหลายอาทิเช่นการทำว่าว ซึ่งหากจะนำการทำว่าวไปอยู่ในระบบของ NFT นั้นมันแทบที่จะเป็นไปไม่ได้เลย ฉะนั้นเราต้องกลับมามองเรื่องพื้นฐานว่าถ้าเราพูดถึงแรงงานสร้างสรรค์นั้นพื้นฐานที่สุดในสิ่งที่แรงงานสร้างสรรค์ควรได้นั้นคือเรื่องรัฐสวัสดิการ

“สุดท้ายการรวมกลุ่มกันของเหล่าแรงงานสร้างสรรค์เพื่อจะมองหาช่องทางสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อให้มันทั่วถึงอย่างท้านหน้ากันจริงๆ สำหรับกลุ่มคนที่เรียกว่านักสร้างสรรค์ตนคิดว่าจำเป็นมากๆ สำหรับประเทศไทยในตอนนี้” อาจินโจนาธาน กล่าวทิ้งท้าย

เราจะสร้างรัฐสวัสดิการกันอย่างไร

ษัษฐรัมย์ ผู้ดำเนินรายการให้ความเห็นในช่วงหนึ่งว่าเราต้องมีการรวมกลุ่มของผู้คนเมื่อผู้คนสามารถที่จะรวมตัวกันได้ก็จะสามารถส่งเสียงได้มากยิ่งขึ้นและจะมีคนฟังเรามากยิ่งขึ้นรัฐสวัสดิการไม่ได้ตกลงมาจากฟากฟ้าหรือมาจากที่นายทุนมอบให้ แต่มันมาจากการต่อสู้ของคนชนชั้นแรงงาน จากประวัติศาสตร์ทั้งหมดในระยะสั้น 200 ปีที่ผ่านมา ชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนทุกวันนี้นั้นได้มาจากการต่อสู้ การต่อสู้ทั้งหมดนี้ก็คือการต่อสู้ทางชนชั้น การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน การต่อสู้เหล่านั้นก็มาจากการรวมกลุ่มกันของเหล่าชนชั้นแรงงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท