ถอดรหัส ‘ป้าเป้า’ เครื่องด่าขวัญใจมหาชน ภาพแทนความหลากหลายในขบวนการประชาธิปไตย

คุยกับนักวิชาการผู้สังเกตการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนอย่างใกล้ชิด วิเคราะห์ ‘ป้าเป้า’ วรวรรณ แซ่อั้ง บุคคลแห่งปี 2564 ของประชาไท เหตุใดหญิงสูงวัยที่ไม่ใช่แกนนำจึงเป็นขวัญใจมหาชน ทำไมแจกกล้วยแจกกีแล้วคนชื่นชอบ การมีอยู่ของป้าเป้าและคนอย่างป้าเป้าสำคัญอย่างไรกับสังคมที่ถูกกดทับมาอย่างยาวนาน

‘ป้าเป้า’ หรือวรวรรณ แซ่อั้ง ภาพระหว่างการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซ วันที่ 8 ก.ย.64 ที่ดินแดง

นิยามความเป็น ‘ป้าเป้า’ หรือวรวรรณ แซ่อั้ง อาจมีหลากหลายไปตามความทรงจำของผู้คนที่พานพบเธอผ่านการชุมนุม โซเชียลมีเดีย หรือหน้าสื่อต่างๆ หลังจากเธอแจ้งเกิดด้วยการตบเป้าตำรวจควบคุมฝูงชนเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา และวีรกรรมสารพัดที่มีมาอย่างต่อเนื่องท่ามกลางกระแสขึ้นและลงของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา คำถามก็คือ การได้รับการยอมรับของป้าเป้าและคนอย่างเธอ มีความหมาย และหมายความอย่างไรต่อสังคมและขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กำลังดำเนินไป

ประชาไทคุยกับ ประจักษ์ ก้องกีรติ รองศาสตราจารย์และอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ  กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียน นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่ระเบิดออกมาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อวิเคราะห์ความสำเร็จ ความสำคัญ และความสัมพันธ์ของป้าเป้าในสังคมและขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยนี้

ตัวแทนของคนธรรมดาที่ยืนหยัดต่อความอยุติธรรม

ประจักษ์ กล่าวว่า เมื่อนึกถึงป้าเป้า ก็นึกถึงการต่อสู้อย่างมีสีสันของประชาชนคนหนึ่งด้วยทุกอย่างที่มีอย่างไม่ยอมแพ้ การเคลื่อนไหวของป้าเป้าที่ผ่านมาทำให้เขาหวนนึกถึงแนวทางต่อสู้แบบสันติวิธีสุดคลาสสิค ในฐานะการปะทะกับอำนาจรัฐแบบไม่ใช้ความรุนแรงและอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นการด่าที่สะเทือนเลื่อนลั่นโลกโซเชียล นั่งประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงการเปลือยกายประท้วง อีกด้านหนึ่ง การตอบสนองต่อปฏิบัติการของป้าเป้าด้วยความรุนแรงก็ยิ่งเปิดเปลือยความอยุติธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชนด้วย การต่อสู้แบบนี้จะมีผลระระยาวกับสังคมในวงกว้างอย่างที่เคยเกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ ที่ท้ายที่สุดสังคมมีฉันทามติว่าอะไรคือความไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคม

ประจักษ์ ก้องกีรติ รองศาสตราจารย์และอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ท้ายที่สุดมันจะไปชนะใจสังคม มันอาจจะไม่สามารถไปเปลี่ยนใจรัฐได้ทั้งหมด แต่มันจะค่อยๆ ชนะใจสังคมและทำให้สังคมเห็นว่าฝายรัฐใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมยังไง ระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ไม่เป็นธรรมยังไง ในที่สุด การต่อสู้แบบนี้ของคนอย่างป้าเป้าจะไปปลุกมโนธรรมสำนึกของคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจ อาจจะยังไม่รับรู้การเคลื่อนไหว ที่อาจจะยังมองภาพนักศึกษาหรือประชาชนแบบติดลบอยู่ เมื่อเวลาผ่านไป การต่อสู้แบบนี้ของคนอย่างป้าเป้าที่ยืนหยัด มันก็จะช่วยให้เปลี่ยนความคิดจิตใจของสับคม และอันนั้นมันสำคัญที่สุด ถ้าทั้งสังคมเปลี่ยนความคิดได้ มันก็จะเป็นชัยชนะที่ยั่งยืน” รองศาสตราจารย์และอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

กนกรัตน์ นักวิชาการที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียน นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่ระเบิดออกมาตั้งแต่ปี 2563 มองว่าบทบาทของป้าเป้าสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางรุ่นวัยที่อยู่ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ ในฐานะบุคคล ป้าเป้าไม่ใช่แกนนำ เป็นคนธรรมดาที่เคลื่อนไหวอิสระแล้วเริ่มมีความโดดเด่นจนเป็นบุคคลสาธารณะ ถ้าเทียบกับคนลักษณะนี้ในอดีต เธอนึกถึงยายไฮ ขันจันทา ที่ไม่ใช่แกนนำสมัชชาคนจนหรือขบวนการต่อต้านเขื่อน แต่เคลื่อนไหวคู่ขนานในประเด็นเดียวกันและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง หรืออีกคนคือเจริญ วัดอักษะ ซึ่งยืนหยัดคัดค้านกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนกลายเป็นบุคคลสาธารณะก่อนจะถูกลอบยิงเสียชีวิต หรือ “แชมป์ 1984” นักเคลื่อนไหวเดี่ยวหลังรัฐประหาร 2557 ที่ไม่สังกัดกลุ่มไหน แต่ก็ทำกิจกรรมจนโดนจับและเป็นที่รู้จัก

“ดิฉันนึกถึงคนแบบนี้ คนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นแกนนำ เคลื่อนไหวในระดับปัจเจกแบบธรรมดาเลย แต่สร้างแรงกระเพื่อมระดับสูงมากในภาพลักษณ์ที่มีต่อสื่อและในฐานะพลังที่ทำให้รัฐเองต้องลุกขึ้นมามีปฏิบัติการบางอย่าง

นอกจากในฐานะบุคคล กนกรัตน์มองการมีอยู่ของป้าเป้าในขบวนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ในฐานะสัญลักษณ์ของการมีอยู่ของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นเก่าอย่างคนเสื้อแดง ที่ค่อยๆ มีตำแหน่งแห่งที่ในการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน ผ่าน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ช่วงที่อิหลักอิเหลื่อ ได้รับการยอมรับ และการทำงานคู่ขนานไปกับขบวนการคนรุ่นใหม่

ในช่วงแรก กนกรัตน์เล่าว่า คนเสื้อแดงที่อยู่ในภาวะพ่ายแพ้ ถูกกดปราบมายาวนานยังไม่สามารถจัดความสัมพันธ์กับขบวนการที่ปะทุขึ้นมาเมื่อเดือน ก.ค. 2563 อย่างไร ใจหนึ่งก็เกรงว่าความเคลื่อนไหวของเยาวชนจะถูกตั้งคำถาม หรืออาจจะเป็นอันตรายจากการเข้าร่วมของคนเสื้อแดง จึงเห็นแต่การหนุนเสริมทางไกลซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์โดยตรงกับขบวนการคนรุ่นใหม่

ช่วงที่สอง เป็นช่วงที่การปรากฏตัวของคนเสื้อแดงได้รับการตระหนักโดยคนรุ่นใหม่มากขึ้น หลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อ 16 ต.ค. 2563 เป็นต้นมา ก็จะเห็นว่าคนเสื้อแดงลุกขึ้นมาอยู่ข้างๆ คนรุ่นใหม่มากขึ้น ในการจัดการชุมนุมใหญ่หลายครั้งก็จะเห็นว่ามีเวทีแยกของคนเสื้อแดง จากการสอบถามผู้ไปร่วมชุมนุมที่เป็นเยาวชนก็จะได้รับคำตอบว่าการมีอยู่ของคนเสื้อแดงที่ใช้ภาษาแตกต่างไปนั้นทำให้รู้สึกดีใจ อบอุ่น และได้รับกำลังใจ พวกเขามองว่าลุงป้าเสื้อแดงเป็นผู้ใหญ่ในสังคมไม่กี่กลุ่มที่ยืนเคียงข้างพวกเขาและเห็นความสำคัญของประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองเหมือนกับพวกเขา คนรุ่นใหม่เริ่มมีทัศนคติเชิงบวกและรู้สึกขอบคุณป้าลุงเสื้อแดงที่ลงถนนกับเขา

ช่วงที่สามคือช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค.  2564 ที่เห็นบทบาทของป้าลุงเสื้อแดงที่ทำงานคู่ขนานกับขบวนการคนรุ่นใหม่ ช่วงที่มีการชุมนุมของทะลุแก๊สเมื่อกลางปี 2564 ที่เห็นช่องว่างระหว่างทะลุแก๊สกับเครือข่ายอื่น ๆ ก็มีป้าาลุงเสื้อแดงก็ยังอยู่สนับสนุนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่นส่งอาหาร

“การดำรงอยู่ของป้าลุงเสื้อแดงหรือคนอย่างป้าเป้าเป็นกำลังหลักที่สำคัญมากที่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ยังรู้สึกว่าเขาไม่ถูกทอดทิ้งโดยผู้ใหญ่ในสังคม เพราะฉะนั้นพอเรามาประเมินถึงตรงนี้ว่าการมีอยู่ของป้าเป้ามีประโยชน์หรือไม่กับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ดิฉันต้องบอกว่าไม่ได้มีประโยชน์โดยตรงต่อการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่แต่เป็นพลังหนุนเสริมทั้งในแง่กำลังใจ ทั้งในแง่การเคลื่อนไหวที่เป็นการสนับสนุน กองหนุน เป็นหลังบ้านให้กับการมีอยู่ของขบวนการคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในระยะหลังที่ขบวนการคนรุ่นใหม่เริ่มเหนื่อยอ่อนแล้วก็มีการพักการเคลื่อนไหวในระยะสั้น” กนกรัตน์กล่าว

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียน นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่ระเบิดออกมาตั้งแต่ปี 2563

เครื่องด่าของมหาชน ดังเพราะหยาบโลนหรือเพราะสังคมกำลังโกรธเคือง

กนกรัตน์และประจักษ์มองว่าการมีอยู่ของป้าเป้าสะท้อนความหลากหลายของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่เปิดกว้างมากพอที่จะทำให้ปัจเจกชนมีบทบาทตามที่พวกเขาเห็นสมควร ผนวกกับการมีอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ก็ทำให้ประเด็นที่ถูกหยิบออกมานำเสนอมีหลายแง่มุมมากขึ้น

“หลายครั้งการต่อสู้บนท้องถนน บ่อยครั้ง ประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมเขาเลือกหยิบประเด็นเอง เขาเลือกนำเสนอ เขานถ่ายภาพ ถ่ายคลิปเหตุการณ์และบุคคลที่น่าสนใจ แล้วก็เอามาแชร์กันแล้วนำเสนออกมา มันไม่ใช่สื่อมวลชนทั่วไปเป็นคน represent หรือสร้างภาพให้ม็อบอย่างเดียว ม็อบหรือผู้ชุมนุมเอง เขาก็พยายามนำเสนอภาพการต่อสู้ของตัวเองออกมาสู่สังคมภายนอกด้วย มันก็เป็นมิติที่ดี มันไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวแล้ว โอกาสที่สื่อจะไปวาดภาพให้ม็อบ หรือผู้ชุมนุมเป็นผู้ร้าย แล้วก็ไปสร้างความชอบธรรมให้รัฐมาปราบปรามมันทำยากขึ้น แม้มันมีความพยายามทำอยู่มันก็ยากขึ้น เพราะมันมีการโต้ตอบจากที่ชุมนุม จากประชาชนที่ไปร่วมชุมนุม เพราะทุกคนก็มีมือถือ” ประจักษ์กล่าว

นักวิชาการจากรั้ว มธ. ยังมองความ ‘ไวรัล’ ของคำผรุสวาทที่ประเดประดังออกมาจากปากป้าเป้าในหลายเหตุการณ์ว่าสิ่งนี้สะท้อนความโกรธเคืองของประชาชนต่อการใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อนของรัฐ ไม่เพียงแค่การแจกข้อหา แจกกระสุนยาง คุมขังบุคคลนอกพื้นที่สถานีตำรวจในช่วงปีที่ผ่านมานี้ แต่ย้อนไปถึงการรัฐประหาร 2557 หากมองเช่นนี้ การแจกกล้วยแจกกีของป้าเป้าจึงเป็นเรื่องที่มวลชนเข้าใจและรู้สึก “อิน” ไปด้วย

ภาพ ป้าเป้า 14 ต.ค.2564 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

“แน่นอน ประชาชนอาจจะใช้คำพูดหยาบคาย แต่มันเป็นคำพูดหยาบคายที่อัดอั้นมานานแล้ว ผมคิดว่าเราไปดูคำพูด และไปจับคำพูดเป็นคำๆ และแยกออกมาจากบริบทน่ะมันไม่เข้าใจหรอก แล้วก็ไปหาว่าประชาชนหยาบคาย ป้าเป้าหยาบคาย หรือแกนนำ นศ หรือคนรุ่นใหม่ทำไมพูดจาหยาบคาย คุณต้องไปดูคำเหล่านี้ในบริบทด้วยที่ถูกใช้ ดูอำนาจรัฐที่ใช้กับประชาชน ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมาว่าเคยเห็นหัวประชาชนไหม

“อำนาจถูกใช้อย่างหยาบคายต่อเนื่องเป็นเวลา 7-8 ปีแล้ว กฎหมายถูกใช้อย่างบิดเบือน เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจโดยไม่เคารพกฎหมาย กติกา อยากยิงกระสุนยางก็ยิง อยากจะทำอะไรก็ทำ มันไม่มีหลักเกณฑ์อะไรอีกต่อไปแล้ว คำหยาบคายของประชาชน จริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรจะต่อสู้ ประชาชนไม่มีอาวุธอะไรในมือ อย่างมากก็ได้แค่ด่านี่แหละ แต่ก็ไม่มีกระสุนยางไปยิง ไม่มีแก๊สน้ำตาไปปา ป้าเป้าก็ทำได้แค่นั้น เพราะอัดอั้นไง เพราะทำอะไรไม่ได้”

“ถ้าเรามองบริบททั้งหมดนี้ คำด่าทอของป้าเป้าเป็นเรื่องที่แสนจะเข้าใจได้ และเป็นเรื่องที่เบาบางมากเมื่อเทียบกับอำนาจรัฐที่ถูกใช้อย่างป่าเถื่อน และไม่มีนิติรัฐอีกต่อไป ประชาชนก็เหลืออาวุธแค่เท่านี้แหละ แบบที่ป้าเป้าทำ ทำไมมันถึงโดนใจและหลายคนถึงเชียร์แก และอิน และเข้าใจได้ เอาตัวเองไปผูกกับป้าเป้าได้ เพราะทุกคนก็รู้สึกแบบเดียวกัน ป้าเป้าจึงเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุดที่เกิดขึ้นของปี 2564 ที่ผ่านมาที่อำนาจรัฐถูกใช้อย่างบิดเบือน อย่างตามอำเภอใจ เลอะเทอะ ป่าเถื่อน” ประจักษ์กล่าว

ป้าเป้า ปะทะคารมกับผู้กำกับ สน.ทุ่งมหาเมฆที่กำลังอ่านแถลง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2564 ในการชุมนุม ‘ไม่เอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ (ชมคลิป)

กนกรัตน์มองว่า ความเป็นขวัญใจมหาชนของป้าเป้าเกิดจากลักษณะพิเศษที่เธอมีอยู่สี่ประการ หนึ่ง เป็นคนที่ไม่มีอำนาจ ไม่ใช่แกนนำ เป็นเพียงผู้มาร่วมชุมนุม สอง เป็นอิสระจากขบวนการเสื้อแดง เหมือนกับคนธรรมดาในที่ชุมนุมที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองสังกัดกลุ่มไหนแต่เคลื่อนไหวในฐานะปัจเจก สาม ไม่มีความกลัว ไม่กลัวการถูกจับ ดำเนินคดี หรือการถูกคุกคาม และประการสุดท้ายที่เธอคิดว่าสำคัญมากก็คือป้าเป้ามีความคิดสร้างสรรค์ในระดับปัจเจก เป็นคนรุ่นเก่าที่เคลื่อนไหวได้หลายรูปแบบอย่างคนรุ่นใหม่ เรียกความสนใจจากสื่อและชาวเน็ตได้อยู่เรื่อย

คุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่กนกรัตน์วิเคราะห์ว่าป้าเป้ายึดโยงกับคนยุคนี้คือการเป็น “เครื่องด่า” คนรุ่นใหม่ที่โกรธเคืองเพราะพยายามที่จะบอกผู้อาบน้ำร้อนมาก่อนเขาอย่างสุภาพว่าพวกเขาไม่ไหวแล้ว แต่ผู้ใหญ่ก็มินำพา จนต้องใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ในหมู่ผู้ใหญ่อนุรักษ์นิยม หรือชนชั้นกลางระดับบน การด่าในพื้นที่สาธารณะแบบป้าเป้าจึงโดนใจพวกเขาอย่างยิ่ง

“ในแง่นี้คนรุ่นใหม่ก็จะรู้สึกมีความเชื่อมโยงตัวเอง ผูกพันตัวเองกับป้าเป้า เพราะป้าเป้าใช้วิธีการเดียวกัน ลักษณะแบบเดียวกัน แบบที่คนรุ่นใหม่เขาพยายามจะบอกผู้ใหญ่ว่าเขาไม่ไหวแล้ว เขาพูดด้วยภาษาที่สุภาพแล้วแต่ผู้ใหญ่ไม่ได้ยินจนเขาต้องใช้ภาษาหลายแบบเพื่อที่จะให้สื่อสนใจเขา แล้วปรากฏว่ามันได้ผล สิ่งที่ป้าเป้าทำ ซึ่งอาจจะเป็นภาษาปกติของป้าเป้าอยู่แล้ว แต่ว่าพอป้าเป้าใช้เครื่องมือแบบนี้ในพื้นที่สาธารณะ มันทำให้เกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนรุ่นใหม่ สื่อรุ่นใหม่จึงมองป้าเป้าแบบที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ปกติ”

“ป้าเป้าเป็นผู้ใหญ่ไม่กี่คนในสังคมไทยซึ่งลุกขึ้นมายืนเคียงข้างคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในปีที่ไม่ใช่ชัยชนะของคนรุ่นใหม่ ปีนี้ต้องบอกว่าเป็นปีที่คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก ปีนี้เป็นปีที่พลังของคนรุ่นใหม่เริ่มอ่อนแรงลงในสายตาของผู้ใหญ่ไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม แต่ป้าเป้ายังคงเคลื่อนไหว ยืนหยัดต่อสู้ข้าง ๆ คนรุ่นใหม่ ในแง่นี้การที่ป้าเป้าได้เป็นบุคคลแห่งปี ดิฉันคิดว่ามันไม่ใช่แค่ป้าเป้าในฐานะปัจเจกบุคคล แต่มันเป็นการบอกผู้ใหญ่ว่านี่คือตัวอย่างของผู้ใหญ่ที่เข้าใจ ยืนเคียงข้าง และพยายามที่จะเป็นกำลังใจให้กับคนรุ่นใหม่ท่ามกลางความสิ้นหวังของพวกเขา” กนกรัตน์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท