Skip to main content
sharethis

กรีชพีซ เผยแพร่รายงานประเมิน ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ชั้นนำในไทยกว่า 12 แห่ง ล้มเหลวในเรื่องนโยบายการจัดการขยะพลาสติก ชี้ต้องมีแผนและการปฏิบัติที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นในการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว  

พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ที่มา wikicommon

30 ธ.ค. 64 กรีนพีซ ประเทศไทย เผยแพร่รายงานวันนี้ (30 ธ.ค.) “ร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เกต และวิกฤตมลพิษพลาสติก : การจัดอันดับนโยบายพลาสติกของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทย ปี 2563”[1] ระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ทั้ง 12 แห่งที่มีการสำรวจในรายงานยังไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน จะต้องปรับปรุงและมุ่งมั่นมากขึ้นในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อต่อกรกับวิกฤตมลพิษพลาสติกอย่างเร่งด่วน

รายงานนี้จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อประเมินนโยบายและแนวทางการจัดการพลาสติกของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยเพื่อประโยชน์สาธารณะ กรีนพีซ ประเทศไทยใช้แบบสำรวจที่ประกอบด้วยเกณฑ์ 4 ด้านหลัก คือ ด้านนโยบาย (Policy) ด้านการลดพลาสติก (Reduction) ด้านนวัตกรรมและการริเริ่ม (Initiatives) และด้านความโปร่งใส (Transparency) ประกอบกับการสืบค้นข้อมูลจากเอกสารอ้างอิงและสื่อสาธารณะ ช่วงเวลาการประเมินคือระหว่างเดือน มิ.ย. 63 - ก.พ. 64

Lotus’s (โลตัส) ซึ่งอยู่ในลำดับต้นจากการประเมินครั้งนี้ มีคะแนนรวมเพียง 29.1% รองลงมาคือ Makro (แมคโคร) ซึ่งมีคะแนน 21.9% ส่วน Tops (ท็อปส์), 7-Eleven (เซเวน อีเลฟเวน), CP Freshmart (ซีพี เฟรชมาร์ท), Big C (บิ๊กซี), FamilyMart (แฟมิลีมาร์ท), Gourmet Market (กูร์เมต์มาร์เกต), MaxValu (แม็กซ์แวลู), Foodland (ฟู้ดแลนด์), Villa Market (วิลลา มาร์เกต), และ CJ Express (ซีเจ เอ็กซ์เพลซ) มีคะแนนรวมไม่ถึง 20% สะท้อนว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยจะต้องมีนโยบายและแผนปฏิบัติการที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อลดรอยเท้าพลาสติก (plastic footprint) [2] ของตน

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “พลาสติกทุกชิ้นที่ผ่านจากร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เกตนั้นสามารถหลุดออกสู่สิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร ทำลายสุขภาพของมนุษย์ เร่งเร้าให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศและส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการต่อกรกับวิกฤตนี้ และต้องลงมือทำอย่างจริงจัง”

กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ลงมือทำดังต่อไปนี้ เริ่มจากจัดทำยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนปฏิบัติการที่ระบุถึงเป้าหมายการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งตลอดการดำเนินกิจการอย่างชัดเจน แก้ปัญหาตรงจุดและวัดผลได้จริง ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์และห่วงโซ่อุปทานของสินค้าทั้งหมด ทั้งสินค้าตราห้างและสินค้ายี่ห้ออื่นๆ

ติดตามรอยเท้าพลาสติก (plastic footprint) ของบริษัท รายงานความคืบหน้าของบริษัทไปสู่เป้าหมายการลดพลาสติกในแต่ละปี และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งของบริษัทต่อสาธารณะ

ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติก โดยปรับเปลี่ยนไปสู่การเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และมุ่งไปสู่การลดจำนวนรวมของบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ใช่เพียงทำให้สินค้ามีน้ำหนักเบาลงเท่านั้น ตลอดจนกำจัดพลาสติกที่ไม่จำเป็นและพลาสติกที่จัดการได้ยากเป็นอันดับแรก

สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อทดแทนการพึ่งพาพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และนำระบบใช้ซ้ำและระบบเติมสินค้าที่ไม่สร้างขยะพลาสติกมาผนวกกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อการลดค่าใช้จ่ายด้านบรรจุภัณฑ์และการขนส่งสินค้า อีกทั้งยังลดการปล่อยคาร์บอนและเป็นทางออกที่ยั่งยืนของวิกฤตพลาสติก

 

หมายเหตุ: [1] รายงาน “ร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เกต และวิกฤตมลพิษพลาสติก : การจัดอันดับนโยบายพลาสติกของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทย ปี 2563” สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://act.gp/3EFvSBx

[2] รอยเท้าพลาสติก (plastic footprint) คือปริมาณรวมของพลาสติกที่จำหน่ายหรือใช้ในการดำเนินธุรกิจ มีหน่วยนับเป็นชิ้นและน้ำหนัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net