Skip to main content
sharethis

ชวนดูสารคดีสั้น รวม 12 เรื่อง กำกับโดยทีมมัลติมีเดีย ประชาไท ส่งท้ายปี 2021 บอกเล่าเรื่องราวที่จะทำให้ผู้ชมได้เข้าใจในหลากหลายมิติทางสังคม การเมือง แรงงาน ศาสนา ชีวิตคนไทยในวิกฤตโควิด-19 และสิทธิมนุษยชน 

บันทึกสุดท้าย 'ดา ตอร์ปิโด' 

ดูได้ที่นี่ https://youtu.be/RGjCDm6hMhw

บันทึกสุดท้าย 'ดา ตอร์ปิโด' เผยแพร่ในวาระครบรอบ 14 ปี รัฐประหาร 2549 เพื่อให้เห็นบรรยากาศต้านรัฐประหารในช่วงเวลาที่สังคมไทยยังไม่ตกผลึกเกี่ยวกับอำนาจนอกระบบเท่าเวลานี้

สารคดีบันทึกชีวิตช่วงท้ายของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นักสู้สามัญชนกับภาพลักษณ์การนำม็อบแบบฮาร์ดคอร์ อดีตแกนนำกลุ่มสภาประชาชน แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) อดีตนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  รวมทั้งอดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย และสถานีโทรทัศน์เคเบิลไทยสกายทีวี กับราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการต่อสู้ 

ทั้งนี้ เมื่อ 26 ธ.ค. 64 สารคดีสั้น บันทึกสุดท้าย ‘ดาตอปิโด’ กำกับโดย นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตผู้สื่อข่าวประชาไท ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทสารคดีสั้นยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 25 จัดโดยหอภาพยนตร์ (มหาชน) 


บาดแผลสีแดง | Red's scar

ดูได้ที่นี่ https://youtu.be/vZgJ1W5hF14

“มันมีควันไฟขึ้นแล้ว ตรงที่ทหารอยู่ ตรงที่แอบยิง ตอนนั้นวิ่งหาคนเจ็บด้วย ถ้าวันนั้นผมช่วยเด็กผู้หญิงขึ้นรถ และผมพาไปโรงพยาบาลด้วย ผมคงไม่ติดคุกหรอก แต่อีกใจก็เป็นห่วงคนที่ถูกยิงอีก จริงๆ ผมไปช่วยคนบาดเจ็บ แต่โดนคดีวางเพลิง ผมกลายเป็นแพะเลย” 

สมศักดิ์ ประสานทรัพย์ คือหนึ่งในจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเผาศาลากลางจังหวัดอุบล เมื่อปี 2553 หลังจากเหตุการณ์สลายชุมนุมคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ เขายืนยันว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์แต่ถูกใส่ความ เขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ก่อนได้ลดโทษเหลือ  33 ปี 4 เดือน และได้รับการปล่อยตัวหลังจำคุกได้ 7 ปีกว่า

ชม ‘บาดแผลสีแดง Red’s Scar’ เล่าชีวิตของสมศักดิ์ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุไฟไหม้ศาลากลางจนถึงผลกระทบและความสูญเสียที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น 


พลัดถิ่น | Migrant's life

ได้ที่นี่ https://youtu.be/6rgznXOjtbo

"ที่พม่าทุกวันมีตีกัน ยิงกันตาย ผมก็เสียใจเหมือนกัน เสียใจเหมือนกัน" เล่าชีวิตของ 'โพซอ' แรงงานพม่าในไทยช่วงที่โควิด-19 ระบาด และมีการรัฐประหารในพม่า


ในนามของศาสนา | Ode to Religion

ได้ที่นี่ https://youtu.be/pXeGZ8T7xkQ

‘มัสยิดแอวมอง’ คือมัสยิดแห่งสุดท้ายใน จ.ขอนแก่น ที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน และท่ามกลางการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งกระแสเกลียดชังอิสลาม ผู้คนในชุมชนหลากหลายวัฒนธรรมยังคงแสวงหาหนทางเพื่ออยู่ร่วมกัน


ไรเดอร์แมน I Riderman

ดูได้ที่นี่ https://youtu.be/zsC9xMb6tAo

“อาชีพไรเดอร์มันเหมือนจะอิสระก็จริง แต่พอเราเปิดรับงานปุ๊ป ความอิสระมันก็เหมือนจะหายไป”
เมื่อกฎหมายไม่อาจปรับตัวให้เท่าทันแรงงานเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Gig Economy) คนเป็นแรงงานจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง


หากสยามยังอยู่ | 36 ปี สยาม ธีรวุฒิ

ดูได้ที่นี่ https://youtu.be/dQqvJML4qUc

“สยามเป็นคนที่ละเอียดอ่อนกับชีวิต อยู่ที่ไหนก็ยังอยู่ในใจแม่เสมอ รัก เป็นห่วง”

สยาม ธีรวุฒิ หรือ “ไอซ์” คือหนึ่งในนักกิจกรรมที่ออกนอกประเทศหลังการรัฐประหารในปี 2557 เนื่องจากมีการรื้อฟื้นคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ซึ่งสยามมีเหตุแห่งคดีคือการเล่นละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ตลอดเวลาที่ลี้ภัยไป สยามยังคงติดต่อกับครอบครัวอยู่เสมอ แต่จนกระทั่งปี 2562 ก็มีข่าวว่าสยามถูกจับกุมตัวและถูกส่งตัวกลับไทย นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ไม่มีใครพบตัวหรือได้ข่าวคราวจากสยามอีกเลย 

ปีนี้เป็นปีที่สยามจะมีอายุครบ 36 ปี ครอบครัวและคนรอบข้างของสยามยังคงจัดงานวันเกิดให้กับเขา ยังคงเฝ้ารอการกลับมาและหวังที่จะได้พบหน้ากันอีกครั้ง แม้มันจะเป็นความหวังริบหรี่ท่ามกลางข่าวลือมากมายเกี่ยวกับชะตากรรมของสยามซึ่งไม่สมควรเกิดขึ้นกับใครทั้งสิ้นก็ตาม

แด่ สยาม ธีรวุฒิ และครอบครัว
ยังรอ...สยาม


"โรงจำนำจะดี เมื่อเศรษฐกิจดี" ฟังเรื่องเล่าจากโรงจำนำ

ดูได้ที่นี่ https://youtu.be/b9adjz6xjcI

ฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการโรงรับจำนำท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ระลอกที่ 3 หลังนายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงเงินทุนด้วยการเพิ่มโรงรับจำนำ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วโรงรับจำนำก็กำลังประสบปัญหาอย่างหนักไม่ต่างจากกิจการอื่น ๆ รวมถึงผู้มีรายได้น้อยที่แทบจะไร้สิ่งของมาจำนำ


คนขับรถสาธารณะกำลังจะตายในวิกฤตล็อคดาวน์

ดูได้ที่นี่ https://youtu.be/DaK704XO_uw

“หยุดประดิษฐ์คำพูดสวยหรูๆ มาหลอกกัน มันโกหกตัวเองด้วย โกหกประชาชนด้วย” 
คนขับรถสาธารณะกำลังจะตายในวิกฤตล็อคดาวน์

นับจากคลัสเตอร์โควิด-19 ที่ทองหล่อเป็นต้นมา อีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงคือคนขับรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นคนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ หรือคนขับรถตู้ ที่รายได้หายไปอย่างน่าใจหายเพราะถนนร้างผู้คน ทั้งยังถูกคำสั่งล็อคดาวน์ห้ามเดินทางหลัง 20.00 น. ทำให้ต้องลดรอบรถและระยะเวลาในการหารายได้ลงไปอีก 

แม้ภาครัฐจะมีนโยบายช่วยเหลือในการฉีดวัคซีนให้คนขับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท แต่ความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของวัคซีนก็ยังเป็นที่น่ากังขา พวกเขาและประชาชนทั่วไปจึงต้องอยู่อย่างหวาดกลัวต่อโควิด-19 ต่อไป โดยที่ยังไม่มีวี่แววว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไร และผู้คนจะกล้าออกเดินทางกันอีกตอนไหนก็ตาม


วิกฤตโรคระบาด และการขาดแคลนอาหาร | ชะตากรรมบางกลอย หลังแก่งกระจานเป็นมรดกโลก

ดูได้ที่นี่ https://youtu.be/xcSwt81eIaQ

“เราไม่มีจะกิน เราก็ต้องหาผักที่พอจะมาเลี้ยงชีพได้มากิน แล้วก็ไม่รู้ว่ามันช่วยในส่วนไหนบ้าง ก็กินๆ เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดไป”

“ถ้าไม่มีมาม่ากับปลากระป๋อง แกก็บอกว่าจะไปเก็บผักมากินแบบมั่วๆ เลย ก็คือถ้าไม่มีกิน เราก็ต้องทำอย่างนั้น”

เสียงสะท้อนบางส่วนจากคนในชุมชนบางกลอยในวันที่ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก แต่คนในชุมชนกำลังประสบวิกฤตการณ์จากการขาดแคลนอาหารและโรคระบาด ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถทำเกษตรกรรมอย่างที่เคยทำได้ คนในชุมชนยังไม่สามารถไปเป็นแรงงานในเมืองเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

และยังมีสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้การใช้ชีวิตของคนในชุมชนลำบากมากขึ้น ซึ่งล่าสุดมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นไปตรวจอาการในเบื้องต้นแล้ว อยู่ระหว่างการติดตามผลและดำเนินการรักษาต่อไป


Sound of ‘Din’ Daeng Prologue

ดูได้ที่นี่ https://youtu.be/yY1knprbgIA

“ผมอยากให้ลูกผมไปอยู่ในที่ที่ดีกว่าเรา ผมไม่อยากให้ลูกเราเจอแบบเรา อยากให้ลูกเรามีการงานที่ดี เรียนสูงๆ” 

“เราแค่มาออกเสียงร้องเรียน ตามจริงเราไม่ได้ตั้งใจจะมาตี แต่เขาเป็นฝ่ายทำเราก่อน” 
มาร่วมฟังจากเสียงกลุ่มวัยรุ่นที่มาร่วมชุมนุมที่ดินแดงในสารคดี Sound of ‘Din’ Daeng สารคดีที่มีจุดเริ่มต้นจากความสงสัย และต้องการที่ทำความเข้าใจว่าพวกเขากำลังทำหรือคิดอะไรอยู่…


Sound of ‘Din’ Daeng prologue 2

ดูได้ที่นี่ https://youtu.be/Y2FRv49f6Mo

สารคดีที่จะพาทุกคนไปรู้จักกับกลุ่มเยาวชนผู้ชุมนุมประท้วง ณ แยกดินแดง ถูกปราบปรามอย่างหนักจากรัฐบาล ถูกจับกุมและดำเนินคดีนกว่า 100 คดี

มารู้จักพวกเขาผ่านคำบอกเล่าที่เชื่อมโยงเรื่องราวกับครอบครัว มารู้จักพวกเขาก่อนที่พวกเราเลือกจะตัดสิน

กับ Sound of ‘Din’ Daeng สารคดีที่อยากเข้าใจว่าเหตุผลใดทำให้พวกเขามาถึงจุดนี้ 


Sex Worker ในสังคมที่ไม่มีหลักประกัน ท่ามกลางโควิดระบาด

ได้ที่นี่ https://youtu.be/eKyprjZZvcs

ชีวิตที่ไม่มีผับ บาร์ ให้ทำงานมานานนับปี บีบให้ผู้ประกอบอาชีพบริการ หรือ Sex Worker ในเชียงใหม่ต้องลงถนนมาสู้ชีวิตกันอย่างไม่เกรงกลัวต่อโควิด-19 มากขึ้น ยิ่งฟ้ามืดเวลาดึกลงถนนรอบคูเมือง ยิ่งเต็มไปด้วย Sex Worker ที่ออกมายืนเรียกลูกค้าด้วยวิธีการต่างๆ นานา

ทั้ง Sex Worker และเจ้าของบาร์ต่างต้องดิ้นรนปรับตัวกันเอง เนื่องจากมาตรการชดเชยเยียวยาของรัฐลงมาไม่ถึงพนักงานบริการและคนทำงานกลางคืน บาร์แห่งหนึ่งบนถนนลอยเคราะห์ต้องเปลี่ยนหน้ากลายเป็นร้านหมูจุ่มเฉพาะกิจ เพื่อความอยู่รอดของเจ้าของและพนักงานที่ยังเหลืออยู่  

ในสังคมที่ไม่มีหลักประกันอะไรให้กับอาชีพขายบริการ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation) ซึ่งทำงานร่วมกับ Sex Worker พยายามเสนอให้ประกันสังคมเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างหลักประกันให้กับชีวิต Sex Worker เพื่อที่ในช่วงวิกฤตของชีวิตอย่างในสถานการณ์ที่โควิด-19 มาพรากงานและรัฐบาลสั่งเลื่อนเปิดสถานบันเทิงออกไปยาวนานจนพนักงานบริการและคนทำงานกลางคืนแทบไม่มีความหวังจะได้กลับมาทำงาน ประกันสังคมสามารถเป็นหลังพิงให้กับชีวิต Sex Worker ได้ไม่มากก็น้อย 

หาก Sex Worker ถูกยอมรับว่าเป็นอาชีพอาชีพหนึ่ง และสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้เหมือนอาชีพอื่น Sex Worker ก็จะสามารถเข้าถึงสิทธิตามระบบประกันสังคมได้ทันที โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ทุกวันนี้ยังลงมาไม่ถึงอาชีพ Sex Worker


บทเพลงแห่งราษฎร | Songs of the People

ดูได่ที่นี่ https://youtu.be/0E_oJwEXL2I

“แสงเทียนยังคงโชติช่วง และเสียงเพลงยังคงก้องกังวาน ที่หน้าเรือนจำคลองเปรม”

กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎร คือกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปักหลักหน้าเรือนจำคลองเปรมเป็นประจำ ร้องเล่นเต้นรำบทเพลงการเมืองเพื่อส่งกำลังใจถึงนักเคลื่อนไหวที่ถูกจับกุมคุมขัง เกือบทั้งหมดของกลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎรเป็น “คนเสื้อแดง” ที่ต่อสู้มายาวนานผ่านบทเพลงและเสียงดนตรีด้วยอารมณ์ขันที่แฝงนัยยะของการไม่สยบยอม รวมถึงสะท้อนความเจ็บปวดของโศกนาฏกรรมที่เคยเกิดขึ้น ทว่าไฟแห่งความหวังและการต่อสู้ยังคงไม่มอดดับ โดยเฉพาะเมื่อกระแสธารการต่อสู้ของ “ราษฎร” ได้โหมกระพือขึ้นใหม่อีกครั้ง และส่องสว่างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้ความหวังกำลังถูกทำให้หรี่แสง นักต่อสู้ถูกปราบปรามด้วยนิติสงคราม แต่กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎรยังคงยืนหยัดต่อสู้จนถึงตอนนี้ด้วยอาวุธเดียวที่มี นั่นคือ “เสียงเพลง” 

ชวนรับชมสารคดี “บทเพลงแห่งราษฎร | Songs of the People” ถ่ายทำกิจกรรมของกลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎรที่หน้าเรือนจำคลองเปรมและการชุมนุมที่ผ่านมา เพื่อเป็นหนึ่งในบทบันทึกการต่อสู้ของราษฎรครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net