Skip to main content
sharethis

เผยออกระเบียบเพิ่มอัตราและระยะเวลาการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ลูกจ้าง มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่ 1 มี.ค. 2563 – 28 ก.พ. 2565 ลูกจ้างยื่นขอรับเงินเพิ่ม 2,864 คน เป็นเงิน 24,166,404 บาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงแรงงานแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วย การจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่าย และระยะเวลาการจ่ายกรณีการระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ.2564 โดยปรับเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์ให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างในช่วง 1 มี.ค. 2563 – 28 ก.พ. 2565

ตามข้อสั่งการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมทั้ง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ทั้งสองท่านให้ความเป็นห่วงลูกจ้างกลุ่มนี้ ได้สอบถามความคืบหน้าเป็นระยะ ซึ่งได้รับรายงานจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ในช่วงตั้งแต่วันที่ระเบียบนี้เริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2564 จนถึงวันที่ 28 ธ.ค. 2564 มีลูกจ้างมาใช้สิทธิขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างแล้วทั้ง 2 กรณี จำนวน 2,864 คน เป็นเงิน 24,166,404.40 บาท เป็นกรณีค่าชดเชย จำนวน 1,927 คน เป็นเงิน 19,281,292.13 บาท และกรณีเงินอื่นฯ จำนวน 937 คน เป็นเงิน 4,885,112.27 บาท

ในจำนวนนี้มีลูกจ้างจาก 2 บริษัทที่เกี่ยวข้องจำนวนมากได้แก่ บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ มีลูกจ้างมายื่นขอใช้สิทธิรับเงินเพิ่ม 1,086 คน จ่ายแล้ว 661 คน เป็นเงิน 6,232,081.54 บาท และนัดจ่ายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 จำนวน 425 คน เป็นเงิน 4,053,526.12 บาท

ในส่วนของลูกจ้าง บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ มีลูกจ้างมายื่นขอใช้สิทธิรับเงินเพิ่ม 1,537 คน จ่ายแล้ว 849 คน เป็นเงิน 8,150,400 บาท และนัดจ่ายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 จำนวน 688 คน เป็นเงิน 2,323,837.07 บาท ซึ่งลูกจ้างที่มายื่นเรื่องขอใช้สิทธิจะได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มขั้นต่ำคนละ 9,390 บาท เป็นของขวัญปีใหม่นี้แน่นอน

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างฉบับนี้ กำหนดเป็นการเฉพาะกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย ได้แก่ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เป็นต้น

เพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยหรือเงินอื่นตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป ลูกจ้างสามารถมายื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์เพิ่มเติมได้ ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 30/12/2564

กสร. เพิ่มขีดความสามารถพนักงานตรวจแรงงาน มุ่งแก้ปัญหาการเลิกจ้าง

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวในฐานะประธานพิธีเปิดโครงการขยายผลการเฝ้าระวังและคุ้มครองแรงงานจากการหยุดกิจการชั่วคราวการเลิกจ้างเพื่อป้องกัน

การละเมิดสิทธิประโยชน์แรงงานตามกฎหมาย ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกและต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2562

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้าง สถานประกอบกิจการหลายแห่งต้องหยุดกิจการชั่วคราว เลิกจ้างลูกจ้าง หรือปิดกิจการ รวมทั้งมีการใช้เทคนิคหรือกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นทุนด้านแรงงาน ก่อให้เกิดการจ้างงานรูปแบบใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อลูกจ้างจำนวนมาก

กสร. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และตรวจสอบ กรณีการหยุดกิจการชั่วคราวและการเลิกจ้างของสถานประกอบกิจการไม่นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ จึงจัดโครงการขยายผลการเฝ้าระวังและคุ้มครองแรงงานจากการหยุดกิจการชั่วคราวการเลิกจ้างเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิประโยชน์แรงงานตามกฎหมาย เพื่อส่งเสริมความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานให้พนักงานตรวจแรงงานสามารถแนะนำนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เกี่ยวข้องในสถานประกอบกิจการสามารถบริหารจัดการแรงงานในภาวะวิกฤต และหลังภาวะวิกฤต ป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง

ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย รวมถึงส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตนี้ เพื่อให้สถานประกอบกิจการสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่มีการเลิกจ้าง หรือเลิกจ้างให้น้อยที่สุด

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 100 คน ประกอบด้วยพนักงานตรวจแรงงานจากส่วนกลาง จำนวน 18 คน เข้ารับฟังการบรรยาย ณ สถานที่จัดอบรม และพนักงานตรวจแรงงานจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด จำนวน 82 คน รับฟังการบรรยายในรูปแบบออนไลน์ผ่านวีดิทัศน์ทางไกล (Cat Conference) ณ หน่วยงานต้นสังกัดหรือสถานที่อื่นที่มีความเหมาะสม ระยะเวลาการฝึกอบรม จำนวน 3 วัน ระหว่างวันที่ 28 – 30 ธ.ค. 2564 โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับการเสริมสร้างทักษะ ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนสามารถแนะนำนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เกี่ยวข้องในสถานประกอบกิจการสามารถบริหารจัดการแรงงานในภาวะวิกฤต และหลังภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้แรงงานได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 30/12/2564

ครม.เคาะหลักการร่างพ.ร.บ.สร้างหลักประกันแรงงานนอกระบบราว 20 ล้านคน ให้กม.คุ้มครอง

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบกว่า 19.6 ล้านคน หรือร้อยละ 52 จากการสำรวจปี 64 แรงนอกระบบมากสุด คือ อาชีพเกษตร และประมง รวมทั้ง พ่อค้า แม่ค้า แผงลอย คนขับแท็กซี่ จะเป็นการช่วยเหลือคนตัวเล็กในสังคมตามเจตนารมณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทย ที่ออกมาเพื่อดูแลแรงงานนอกระบบ ซึ่งปัจจุบัน เป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม ตลอดจนการรวมกลุ่ม รวมตัวในการจัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงานได้

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ มีรายละเอียด อาทิ

- “แรงงานนอกระบบ” หมายความถึงคนทำงานสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งไม่ได้เป็นลูกจ้าง ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือไม่ได้เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ตามกฎหมายประกันสังคม รวมถึงผู้ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และ

-ให้แรงงานนอกระบบมีสิทธิขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ และให้แรงงานนอกระบบตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปขึ้นทะเบียนกลุ่มแรงงานนอกระบบตามลักษณะของอาชีพ แรงงานนอกระบบตั้งแต่ 15 กลุ่มขึ้นไปขึ้นทะเบียนเพื่อจัดตั้งองค์กรแรงงานนอกระบบได้ รวมทั้งให้องค์กรแรงงานนอกระบบมีสิทธิเสนอความเห็น ต่อ คณะกรรมการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ

-ให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบแห่งชาติ” มีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบายและ แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และเสนอแนวทางในการแก้ไข ปรับปรุง กฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมดังกล่าวต่อ ครม.

-ให้มี “กองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ” เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน สำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ

“นายกรัฐมนตรีเห็นความสำคัญของ พี่น้องแรงงานนอกระบบ ให้ได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพ และพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้แรงงานนอกระบบมีหลักประกันทางสังคม มีความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยนายกรัฐมนตรีกำชับให้เร่งเสนอร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้เร่งรัดกฎหมายให้มีผลปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยเร็ว” นายธนกร กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 28/12/2564

สกศ.เร่งถกหอการค้า ปั้นแรงงานฝีมือชั้นสูง-คล่องไฮเทคโนโลยี ห่วงรัฐไฟเขียวรับ ตช.ทำคนไทยตกงานอื้อ

นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเสริมเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) โดยเน้นสร้าง Digital Ecosystem และ Open Platform สำหรับสตาร์ทอัพ ทั้งใน และต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนการออกแบบสินค้า และบริการดิจิทัลของธุรกิจชั้นนำ และสตาร์ทอัพ รวมทั้ง พัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต (New S-curve Digital Industry) ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย มุ่งเน้นอุตสาหกรรมไอโอที หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ระบบอัจฉริยะ และระบบประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเริ่งลงทุนไปบ้างแล้ว เช่น สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และสนับสนุนเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อให้อีอีซีดีขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่อไปได้ ทั้งนี้ มีประเด็นที่ประเทศต้องหันกลับมามอง และวางแผนพัฒนาต่อไป คืออีอีซีดีมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะฝีมือสูง เพราะกลุ่มแรงงานเหล่านี้ต้องไปขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่ๆ ต้องการกำลังคนที่สามารถใช้เครื่องมือที่ทันสมัย และสูงกว่าหุ่นยนต์ให้ได้ ซึ่งไทยยังไม่มี รวมทั้ง ยังไม่มีแผนเตรียมคนด้านนี้

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า ดังนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่ทำหน้าที่กำหนดเข็มทิศของประเทศด้านการศึกษา วางแผนหารือร่วมกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand JFCCT) ในเดือนมกราคม 2565 โดยกลุ่มนี้จะเน้นการลงทุนด้านไฮเทคโนโลยี และจะเน้นลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพื่อวางแผน และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เพื่อผลิตกำลังคน โดย สกศ.จะเป็นโต้โผจัดเตรียมกำลังคนทักษะฝีมือสูง เบื้องต้นหลังทำ MOU แล้วจะร่วมกันทำงาน ดังนั้น สกศ.จะเลือกคนเก่งของประเทศด้านวิชาชีพในทุกสังกัด ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีพศึกษา (สอศ.) หรือผู้เรียนในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อให้สถานประกอบการที่ร่วม MOU จัดอบรมเพื่อให้เด็กเหล่านี้มีองค์ความรู้ใหม่ๆ เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ๆ และจัดกิจกรรมแข่งขันเป็นทีม ระหว่างนั้นสถานประกอบการจะเลือกคนเข้าทำงานไปด้วย

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สกศ.จะรวบรวมเก็บของมูลเด็กที่เก่งด้านต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้สถานประกอบการสามารถมาขอข้อมูล และเลือกใช้เด็กเหล่านี้ ซึ่งจะไปลดปัญหาการนำเข้าแรงงานฝีมือสูงจากต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาทราบว่ามีการขออนุมัติจากรัฐบาลให้รับแรงงานฝีมือสูงจากต่างประเทศกว่า 100,000 คน หากรัฐบาลอนุมัติ คนไทยจะทำอาชีพไหน และเรื่องนี้อาจเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมได้ ดังนั้น สกศ.จะเร่งทำงานเพื่อช่วยรัฐบาลในการวางแผน หาคน ผลิตคน ให้กับสถานประกอบการภายในระยะเวลาอันสั้น

“นอกจากนี้ จะต้องเตรียมแผนผลิตคนในระยะยาว โดยหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าต้องการกำลังคนที่มีทักษะพิเศษด้านได้ ทักษะที่ต้องการเป็นอย่างไร หากกำลังคนที่มีให้ไม่พร้อม ก็ขอให้ไปฝึกทักษะที่สถานประกอบการที่มีเทคโนโลยีเฉพาะ ผมมองว่าหากจะผลักดันเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จ ต้องร่วมมือกันทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงแรงงาน และ อว.เพราะต้องมองว่านอกจากจะพัฒนาผู้ที่กำลังเรียนอยู่ในสถานศึกษา ยังมีแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการด้วย ดังนั้น จะพัฒนาแรงงานให้เหมาะสมกับช่วงชั้น และช่วงวัยด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสถานประกอบการต่อไป” นายอรรถพล กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 28/12/2564

รมว.แรงงานสั่งช่วยเหลือลูกจ้าง รง.บีบอัดกระดาษเมืองชลที่ถูกไฟไหม้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ 5 เสือแรงงานเข้าให้ความช่วยเหลือในการประสานดูแลรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ สิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ทั้งด้านคุ้มครองแรงงานและประกันสังคม จากเหตุเพลิงไหม้โรงงานบีบอัดกระดาษ ของ บริษัท ไทย พีส พัลพ์ (ไทยแลนด์) จำกัด จ. ชลบุรี พร้อมทั้งให้กรมการจัดหางานเข้าไปตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว จัดหางานให้ถูกต้องและเสริมทักษะการทำงานให้แก่ลูกจ้าง

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ได้มอบให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 2 เข้าตรวจสอบ พร้อมทั้งเชิญนายจ้างเข้าพบเพื่อให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 27/12/2564

แรงงานอิสระสถานบันเทิงสมัคร ม.40 ก่อน 14 ม.ค. รับเยียวยา 5 พันบาท

จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบใช้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 กรอบวงเงิน 607.15 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการสถานบันเทิง เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ

หรือที่ทำงานบันเทิง นักร้อง ลิเก นักดนตรี พนักงานเสริฟ คนขับรถรับ-ส่งที่ยังไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เนื่องจากมาตรการสั่งปิดสถานที่ และสถานประกอบการเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของรัฐบาล

ทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จะจ่ายเงินเยียวยารายละ 5,000 บาท ให้ผู้ประกันตนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 121,431 ราย แบ่งเป็น

- ผู้ประกันตน มาตรา 33 จำนวน 10,762 ราย

- ผู้ประกันตน มาตรา 39-40 จำนวน 110,669 ราย

- โดยจะเริ่มโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่ผู้ประกันตนได้ทำการผูกบัญชีพร้อมเพย์ไว้กับบัตรประชาชนเท่านั้น โดยจะโอนเงินเยียวยารอบแรกในวันที่ 29 ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ แรงงานอิสระในกิจการสถานบันเทิงที่ยังไม่ได้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถสมัครพร้อมชำระเงินสมทบภายในวันที่ 14 มกราคม 2565 โดย ครม.ยังเห็นชอบลดอัตราส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 เหลือร้อยละ 60 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตามรายละเอียด ดังนี้

– ทางเลือกที่ 1 ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 42 บาทต่อเดือน จากเดิม 70 บาทต่อเดือน

สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย

– ทางเลือกที่ 2 ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 60 บาทต่อเดือน จากเดิม 100 บาทต่อเดือน

สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ

– ทางเลือกที่ 3 ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 180 บาทต่อเดือน จากเดิม 300 บาทต่อเดือน

สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร

นอกจากนี้นางสาวลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ขณะนี้พบกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อของชมรมกลุ่มศิลปินและบันเทิงแห่งประเทศไทย สามารถรับรองออกหนังสือ พร้อมใส่รายชื่อเพื่อให้ได้รับเงินเยียวยาได้ ซึ่งทางชมรมกลุ่มศิลปินและบันเทิงแห่งประเทศไทยได้มีการเร่งการตรวจสอบอย่างเร่งด่วนแล้ว

“สำนักงานประกันสังคมจึงขอเตือนให้ผู้ประกันตนกลุ่มคนบันเทิงกลางคืน โปรดระมัดระวังอย่าหลงเชื่อเป็นอันขาด ด้วยความห่วงใยจากสำนักงานประกันสังคม หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามที่สายด่วนสำนักงานประกันสังคม 1506 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/12/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net