64 ปี “เพลงมาร์ชตำรวจ” กับตำรวจในอุดมคติที่ไม่เปลี่ยนแปลง

“เกียรติตำรวจของไทย เกียรติวินัยกล้าหาญมั่นคง
ต่างซื่อตรง พิทักษ์สันติราษฎร์นั้น
ถึงตัวจะตายก็ช่างมัน มิเคยคำนึงถึงชีวัน
เข้าประจันเหล่าร้าย เพื่อประชา”

เพลงมาร์ชตำรวจ หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “เพลงมาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์” เป็นหนึ่งในเพลงปลุกใจสำคัญของตำรวจไทย เนื้อหาของเพลงเน้นย้ำถึงความเสียสละ กล้าหาญ และความน่ายกย่องของบุคคลในอาชีพตำรวจที่ทำหน้าที่พิทักษ์ความสงบสุขของประชาชนอย่างไม่เกรงกลัวอันตรายใดๆ ถึงขั้นยอมเชือดเนื้อ พลีเลือด และอุทิศชีวิตให้แก่การทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ “ถึงตัวจะตายก็ช่างมัน” ดูราวกับเป็นภาพของตำรวจในอุดมคติ

“ไม่ยอมเป็นมิตร ผู้ผิดกฎหมาย
ปราบโจรผู้ร้าย กล้าตายเรื่อยมา
เนื้อของเราเราเชือด พร้อมทั้งเลือดเราพลี
เอาชีวีของเราเข้าแลกมา เพื่อให้ประชาดำรงสุขสถาพรชัย”

หน้าที่ที่ถูกยกให้มีเกียรติของตำรวจตามเนื้อหาของเพลงนี้เต็มไปด้วยหน้าที่การออกไปจับผู้ร้าย “ปราบโจรผู้ร้าย กล้าตายเรื่อยมา” ซึ่งหน้าที่เหล่านี้มักถูกมอบหมายให้ตำรวจชาย ขณะที่ตำรวจหญิงส่วนใหญ่จะถูกกำหนดให้ทำงานอยู่ในห้องธุรการไม่ได้มีส่วนเข้าไปข้องเกี่ยวกับการจับผู้ร้าย

ที่มาของมาร์ชตำรวจ : เพลงที่แพ้มาร์ชกองทัพบกไม่ได้เด็ดขาด โดยคำสั่งของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์

เพลงมาร์ชตำรวจถูกแต่งขึ้นตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2500 โดย 2 นักดนตรีคนสำคัญของสมัยนั้น คือ นารถ ถาวรบุตร นักแต่งเพลงมาร์ชที่ขึ้นชื่อเป็นผู้ประพันธ์ทำนอง และแต่งเนื้อร้องโดย แก้ว อัจฉริยกุล ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงอมตะจำนวนมาก อาทิ เพลงรำวงวันลอยกระทง และเพลงรำวงวันสงกรานต์ ฯลฯ

นารถ ถาวรบุตร เล่าถึงที่มาของการแต่งเพลงมาร์ชตำรวจว่า พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นเป็นผู้ขอร้องให้แต่ง เนื่องจากสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ามามีบทบาททางการเมืองและดำเนินนโยบายสร้างชาติเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สมัยใหม่ เพลงถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำมาโน้มน้าวใจให้ประชาชนคล้องตาม เช่น จอมพล ป. มีการเปลี่ยนเนื้อเพลงชาติจาก “ประเทศสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง” เป็น “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย”[1] และตัวของนารถ ถาวรบุตรถูกเลือกให้มาทำหน้าที่นักเปียโนประจำวงดนตรีกรมโฆษณาการในช่วงพ.ศ. 2483 ในช่วงนั้นนารถยังควบหน้าที่นักแต่งแต่งเพลงปลุกใจและเพลงสนองนโยบายรัฐบาลอีกหลายเพลง นารถยังเคยได้ได้รับรางวัลเงินสด 400 บาท จากจอมพล ป. เนื่องจากแต่เพลงถูกใจ[2]

ทั้งนี้ นารถ ถาวรบุตร ยังได้ประพันธ์ทำนองเพลงมาร์ชให้หน่วยงานต่างๆ อีกหลายแห่ง อาทิ มาร์ชกองทัพบก มาร์ชกองพันพาหนะ มาร์ค่ายสุรนารี มาร์ชฉันรักคนไทยมาร์ชเฉลิมชาติ มาร์ชชาติไทย มาร์ชเชียงใหม่ มาร์ชทหารช่าง มาร์ชพลร่ม มาร์ชพลาธิการทหารบก ฯลฯ ในยุครุ่งเรืองของเพลงมาร์ชพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ที่เป็นเสมือนมือขวาของจอมพล ป. จึงได้ไปขอร้องให้นารถ ถาวรบุตร มาประพันธ์เพลงมาร์ชให้กรมตำรวจ

“ท่านอธิบดีกรมตำรวจบัญชาลงมาว่า ให้ข้าพเจ้าแต่งเพลงให้กรมตำรวจ ตั้งชื่อว่า มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์ ได้ฝึกซ้อมที่โรงแรมรัตนโกสินทร์และขับรถให้ท่านฟังที่บ้านเทเวศร์”[3]

โดยท่อนที่พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ชอบใจที่สุดในเพลงมาร์ชตำรวจคือ “เกิดมาแล้วต้องตาย ชาติชายเอาไว้ลายตำรวจไทย...” ชรินทร์ นันทนาคร เคยเล่าไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐเมื่อพ.ศ. 2539 ว่า ครูนารถ ถาวรบุตร แต่งเพลงนี้ขึ้นโดยคำสั่งของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น โดยมีเงื่อนไขว่าจะแพ้เพลงมาร์ชกองทัพบกไม่ได้เป็นอันขาด ซึ่งนารถได้เล่าอย่างติดตลกให้ชรินทร์ฟังว่า “ฉันไม่อยากแต่งเลยวะชรินทร์ เพราะฉันไม่ค่อยชอบตำรวจ มันมาจับฉันเรื่อย เวลาฉันเล่นไพ่” และด้วยความที่พลตำรวจเอกเผ่าชื่นชอบเพลงมาร์ชตำรวจที่นารถแต่งมาก จึงได้มอบเงินให้ปึกหนึ่ง พร้อมกับเขียนคำชมเชยลงในกระดาษ และให้นามบัตรที่มีข้อเขียนว่า “สำหรับครู เอาไว้ให้ตำรวจดู เวลาครูเล่นไพ่”

ในยุค “ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์ ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” ของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ จึงได้มีเพลงมาร์ชตำรวจเกิดขึ้นมา

จาก “เพลงมาร์ชตำรวจ” ถึงตำรวจในอุดมคติที่ไม่เปลี่ยนแปลง

ในทศวรรษ 2500 สังคมไทยอาจต้องการตำรวจที่วิ่งไล่จับผู้ร้ายเก่ง แต่ในปัจจุบันที่การกระทำความผิดหลายอย่างรุกหน้าไปไกลกว่าแค่อาชญากรรมข้างถนนอย่างการลัก วิ่ง ชิง ปล้น คำประกาศเกียรติคุณยกย่องการ “ปราบโจรผู้ร้าย กล้าตายเรื่อยมา” ของตำรวจในอุดมคติแบบเก่าอาจจะไม่ทันกับยุคสมัยไปแล้ว

อาชญากรรมสมัยใหม่เปลี่ยนหน้าตาไปมาก ทั้งอาชญากรรมบนโลกออนไลน์หรืออาชญากรรมไซเบอร์(Cybercrime), การค้ามนุษย์และและการเอาคนลงเป็นทาสยุคสมัยใหม่ (Human trafficking) หรือพิศวาสอาชญากรรม (Romance Scam) ที่นักต้มตุ๋นใช้เทคนิคทางจิตวิทยาหลอกลวงเหยื่อผ่านโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มต่างๆ ให้เหยื่อหลงเชื่อและยินยอมให้ทรัพย์สินให้[4] จะเห็นได้ว่าพื้นที่การไว้ลายของตำรวจไทยจำเป็นต้องไปไกลจากที่เพลงมาร์ชตำรวจระบุไว้มาก

ที่สำคัญไปกว่านั้น รูปแบบใหม่ของอาชญากรรมในยุคปัจจุบันควรเป็นสิ่งที่เปิดพื้นที่ให้ตำรวจแต่ละคนได้พิสูจน์ความสามารถของตนเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตำรวจชายหรือตำรวจหญิง แต่ในการทำงานจริงตำรวจหญิง 16 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด[5] ยังถูกองค์กรตำรวจเก็บตำรวจหญิงจำนวนน้อยเหล่านี้ไว้ในสถานะของการเป็นตำรวจธุรการ โดยให้เหตุผลว่าผู้หญิงมีความละเอียดอ่อนมากกว่าผู้ชาย หน้าที่ธุรการจึงเหมาะสมกับเพศหญิงมากกว่า หรือไม่ก็ให้ตำรวจหญิงทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนที่ทำคดีเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศหรือคดีเกี่ยวกับเด็ก เนื่องจากคาดหวังว่าการเป็นเพศหญิงจะมีความเป็นแม่อยู่ในตัวและทำให้ผู้เสียหายในคดีไว้วางใจเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้

ยกตัวอย่างเช่น ในสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด 253 คน เป็นตำรวจหญิง 5 คน ทำหน้าที่พนักงานสอบสวน 3 คน  และธุรการอีก 1 คน (อีก 1 คนลาป่วยพักรักษาตัว) ไม่ต่างจากกลุ่มงานจราจร ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมดอยู่กว่า 280 คน แต่มีตำรวจหญิงอยู่ 4 คน ซึ่งตำรวจหญิงทั้งหมดทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการและการเงิน มิได้ออกไปปฏิบัติหน้าที่ในงานจราจร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชายท่านหนึ่งในกลุ่มงานจราจรตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ได้วิเคราะห์ว่าเหตุที่ตำรวจหญิงถูกจัดให้ทำงานอยู่ในโรงพัก เนื่องจาก

“บางครั้งผู้หญิงไปบังคับใช้กฎหมายคนไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่ คนเห็นว่าเป็นเพศผู้หญิงเพศแม่”[6]

นับเป็นระบบการแบ่งงานและตรรกะที่จำกัดกรอบการทำงานของตำรวจหญิงอย่างมาก ทำให้ตำรวจหญิงส่วนใหญ่ไม่ได้ออกไปทำหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ หรือใช้ความรู้ความสามารถของตนเองในงานที่เกี่ยวเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสมัยใหม่ เมื่อผู้หญิงเข้ามาเป็นตำรวจในองค์กรที่ชายเป็นใหญ่ผู้หญิงมักจะถูกคาดหวังให้ทำงานผู้หญิงผู้หญิง พื้นที่ในการพิสูจน์ความสามารถของตำรวจหญิงมีน้อยมากงานตำรวจ และผู้ชายยังคงเป็นตัวแทนของการปกป้องประชาชนและพิทักษ์สันติราษฎร์ทั้งในการทำงานจริงและในเพลง

“เกิดมาแล้วต้องตาย
ชาติชายเอาไว้ลายตำรวจไทย ช่วยประชาไม่ว่าหนไหน
เป็นมิตรด้วยดวงจิตสดใส เราอยู่ไหนประชาอุ่นใจทั่วกัน
ปราบภัยและผองพาลให้เข็ดขาม เราปราบปรามเสริมความสุขสันต์
เหล็กที่แกร่งกล้านั้น เราฝึกกายาทุกวัน
แข็งกว่าเหล็กนั้น ตำรวจไทย”

ในแง่หนึ่งเพลงมาร์ชตำรวจแช่แข็งภาพลักษณ์ตำรวจในอุดมคติไว้กับเกียรติยศอันเก่าก่อนจากการไล่จับผู้ร้าย ทั้งที่สังคมในปัจจุบันประชาชนไม่ได้ต้องการตำรวจแบบ 64 ปีที่แล้วอีกต่อไป เนื่องจากอาชญากรรมสมัยใหม่ซับซ้อนและแยบยลขึ้นจนตำรวจที่วิ่งเร็วหรือมีร่างกายแข็งแกร่งเป็นเหล็กไม่สามารถจับผู้ร้ายได้ดีเท่าตำรวจมีความรู้ความสามารถและเท่าทันเทคโนโลยี ตำรวจอย่างในเพลงมาร์ชตำรวจจึงไม่ใช่ตำรวจในอุดมคติของห้วงเวลานี้อีกต่อไป

 

เนื้อเพลง มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์

เกียรติตำรวจของไทย เกียรติวินัยกล้าหาญมั่นคง
ต่างซื่อตรง พิทักษ์สันติราษฎร์นั้น
ถึงตัวจะตายก็ช่างมัน มิเคยคำนึงถึงชีวัน
เข้าประจันเหล่าร้าย เพื่อประชา

เกียรติตำรวจของไทย เกียรติวินัยกล้าหาญมั่นคง
ต่างซื่อตรง พิทักษ์สันติราษฎร์นั้น
ถึงตัวจะตายก็ช่างมัน มิเคยคำนึงถึงชีวัน
เข้าประจันเหล่าร้าย เพื่อประชา

ไม่ยอมเป็นมิตร ผู้ผิดกฎหมาย
ปราบโจรผู้ร้าย กล้าตายเรื่อยมา
เนื้อของเราเราเชือด พร้อมทั้งเลือดเราพลี
เอาชีวีของเราเข้าแลกมา เพื่อให้ประชาดำรงสุขสถาพรชัย

ไม่ยอมเป็นมิตร ผู้ผิดกฎหมาย
ปราบโจรผู้ร้าย กล้าตายเรื่อยมา
เนื้อของเราเราเชือด พร้อมทั้งเลือดเราพลี
เอาชีวีของเราเข้าแลกมา เพื่อให้ประชาดำรงสุขสถาพรชัย

เกิดมาแล้วต้องตาย
ชาติชายเอาไว้ลายตำรวจไทย ช่วยประชาไม่ว่าหนไหน
เป็นมิตรด้วยดวงจิตสดใส เราอยู่ไหนประชาอุ่นใจทั่วกัน
ปราบภัยและผองพาลให้เข็ดขาม เราปราบปรามเสริมความสุขสันต์
เหล็กที่แกร่งกล้านั้น เราฝึกกายาทุกวัน
แข็งกว่าเหล็กนั้น ตำรวจไทย

ชาติชายเอาไว้ลายตำรวจไทย ช่วยประชาไม่ว่าหนไหน
เป็นมิตรด้วยดวงจิตสดใส เราอยู่ไหนประชาอุ่นใจทั่วกัน
ปราบภัยและผองพาลให้เข็ดขาม เราปราบปรามเสริมความสุขสันต์
เหล็กที่แกร่งกล้านั้น เราฝึกกายาทุกวัน
แข็งกว่าเหล็กนั้น ตำรวจไทย

 

 

[1] “บทบาทสตรี และ New Normal ฉบับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม” จาก https://www.sarakadeelite.com/arts_and_culture/siam-new-normal/

[2] ประณต มีสอน, “ชีวิตและผลงานของ นารถ ถาวรบุตร : ศึกษาเฉพาะเพลงมาร์ช”, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, หน้า 67

[3] ประณต มีสอน, “ชีวิตและผลงานของ นารถ ถาวรบุตร : ศึกษาเฉพาะเพลงมาร์ช”, หน้า 78

[4] 'Romance Scam พิศวาสอาชญากรรม(ออนไลน์)' งานวิจัยชี้นักต้มตุ๋นมักสร้างบุคลิก 'คนดี 7 ลักษณะ' ให้เหยื่อเชื่อใจ จาก https://prachatai.com/journal/2019/08/84121

[5] จากรายงานการศึกษาผู้หญิงในการบังคับใช้กฎหมาย ของ United Nations Office on Drugs and Crime, UN Women และ INTERPOL ระบุว่า ใน พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีสัดส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจเพศชาย 84 เปอร์เซ็นต์ และเพศหญิง 16 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด

[6] สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564

 

สกู๊ปนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษชุด เพศสภาพในงานตำรวจ (Gender and policing) ซึ่งจะมีการนำเสนอระหว่างพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท