Skip to main content
sharethis

ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 3,011 ราย สะสม 2,226,446 ราย รักษาหาย 3,315 ราย สะสม 2,171,809 ราย เสียชีวิต 10 ราย สะสม 21,708 ราย ฉีดวัคซีน (31 ธ.ค.) สะสม 104,444,169 โดส

1 ม.ค. 2565 ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 3,011 ราย สะสม 2,226,446 ราย รักษาหาย 3,315 ราย สะสม 2,171,809 ราย เสียชีวิต 10 ราย สะสม 21,708 ราย ฉีดวัคซีน (31 ธ.ค.) สะสม 104,444,169 โดส

ปลัด มท.สั่งหน่วยงานในสังกัดพิจารณาทำงานที่บ้าน 14 วัน

Thai PBS รายงานเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ว่าจากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในสถานที่ราชการ และหน่วยงานของรัฐ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายหลังเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 1 - 14 ม.ค.2565

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ได้สั่งการและประสานไปยังอธิบดี หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร พิจารณาดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งหน่วยงาน (Work From Home) ระหว่างวันที่ 1 - 14 ม.ค.2565 ตามความเหมาะสม โดยต้องไม่กระทบต่องานการให้บริการประชาชน ตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่ม หรือเคลื่อนที่ของคนจำนวนมาก เช่น การประชุม การสัมมนา การฝึกอบรม การจัดสอบ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็น ให้จัดกิจกรรมด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด ยกเว้นหากพิจารณาแล้วว่าการยกเลิก ระงับ หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมใดอาจเกิดผลเสียแก่ทางราชการ ต้องจัดกิจกรรมดังกล่าวภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 เช่น มาตรการความปลอดภัยองค์กร (COVID-Free Setting) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเต็มขีดความสามารถ

ขณะเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 มาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้ข้าราชการ บุคลากร รวมถึงเจ้าหน้าที่ในสังกัด ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติและรณรงค์เสริมสร้างการรับรู้ความเข้าใจและความร่วมมือจากประชาชนและภาคีเครือข่าย ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอเน้นย้ำไปยังประชาชนได้ร่วมกันเสริมสร้างพลังความรัก ความสามัคคี ในการช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเริ่มที่ตัวเรา และคนในครอบครัว ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตตามหลักชีวิตวิถีใหม่ได้อย่างปลอดภัย และมีความสุข ห่างไกลโรคโควิด-19 ไม่ว่าสายพันธุ์ใดๆ และเราจะอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัวและคนในสังคมได้อย่างมีความสุขต้อนรับปีใหม่ 2565 ไปด้วยกัน

​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ประกอบการตลาดการ์ดไม่ตก คุมเข้ม COVID Free Setting เตรียมพร้อมรับผู้บริโภค จับจ่ายสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 ว่า​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตลาดซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายสินค้าของประชาชนยังคงเป็นสถานที่ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นสถานที่รวมกลุ่มทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ขนส่งสินค้า และแรงงานต่างด้าว ต้องป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล หรือ UP (Universal Prevention) ขั้นสูงสุด ซึ่งผลการสำรวจอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 1-29 ธันวาคม 2564 พบว่า มาตรการตลาดปฏิบัติได้มากที่สุด คือ กำหนดจุดเข้า-ออกชัดเจน และวัดอุณหภูมิก่อนเข้า ร้อยละ 83.1 รองลงมาคือ มีจุดล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ ร้อยละ 56.4 มีการประชาสัมพันธ์ให้สวมหน้ากากตลอดเวลาอย่างถูกต้อง ร้อยละ 52.9 ตามลำดับ ส่วนมาตรการที่พบเห็นว่าปฏิบัติได้น้อยที่สุด คือ เห็นภาชนะรองรับขยะมีฝาปิดมิดชิด ร้อยละ 21.3 รองลงมาคือ มีการควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด และเว้นระยะห่าง ร้อยละ 23.1 ห้องสุขาสะอาด แห้ง ไม่มีกลิ่น ไม่มีน้ำขัง ร้อยละ 24.6 และยังพบเห็นผู้อื่นสวมหน้ากากไม่ถูกต้องหรือไม่สวม ร้อยละ 17

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยขอความร่วมมือสถานประกอบการตลาดทั่วประเทศ ต้องคุมเข้มและปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting ทั้ง 3 ด้าน ดังนี้ 1) มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ให้ตลาดประเมินตนเองตามมาตรการ COVID Free Setting ผ่านช่องทางเว็บไซต์ stopcovid.anamai.moph.go.th จัดให้มีจุดเข้า ออกเหมาะสมกับขนาดพื้นที่จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะช่วงหนาแน่น เช่น ช่วงเช้า และช่วงเย็น จัดให้มีการเว้นระยะห่าง อย่างน้อย 1-2 เมตร เพื่อลดความแออัด จัดระบบการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาดทำลายเชื้อทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณพื้นผิวสัมผัสร่วมให้ทำความสะอาดทุกชั่วโมง จัดให้มีภาชนะรองรับขยะแบบมีฝาปิดมิดชิด และต้องล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมให้มีการระบายอากาศที่ดี นอกจากนี้ ควรจัดบริเวณรับประทานอาหารไว้ โดยเฉพาะงดการจับกลุ่มพูดคุย

​“ถัดมาคือ 2) มาตรการด้านผู้ให้บริการ พ่อค้า แม่ค้า แรงงานต่างด้าว ให้ได้รับการฉีดวัคซีน ตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือมีประวัติการติดเชื้อมาก่อนในช่วง 1-3 เดือน หรือมีการสุ่มตรวจ ATK เป็นระยะ คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าตลาดด้วยการประเมินผ่าน “ไทยเซฟไทย” หากพบเสี่ยงปานกลางหรือเสี่ยงสูง งดให้บริการ รวมถึงจัดคนควบคุมกำกับพนักงานและผู้รับบริการให้ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting โดยเคร่งครัด และ 3) มาตรการด้านผู้รับบริการ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล หรือ UP (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด เช่น การสวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลา การเว้นระยะห่าง 1 -2 เมตร การล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และคัดกรอง ความเสี่ยงก่อนเข้าตลาดด้วยการประเมินผ่าน “ไทยเซฟไทย” หากพบเสี่ยงปานกลางหรือเสี่ยงสูง งดเข้าใช้บริการ และเลือกใช้วิธีจ่ายเงินแบบ e-Payment เพื่อลดการสัมผัส” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net