เปิด 'ประติมากรรมจรัล มโนเพ็ชร' อนุสาวรีย์สามัญชนกลางสวนบวกหาด เชียงใหม่

กลุ่มคนรัก “จรัล มโนเพ็ชร” จัดงานเปิดประติมากรรมจรัล มโนเพ็ชร ราชาโฟล์คซองคำเมือง ศิลปินล้านนาคนสำคัญแห่งยุคสมัย ที่สวนบวกหาด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรำลึกถึง 20 ปีการจากไป 

2 ม.ค. 2565 ช่วงเช้าวานนี้ (1 ม.ค. 65) โครงการจรัลรำลึกโดยการรวมตัวกันของกลุ่มคนรัก “จรัล มโนเพ็ชร” จัดงานเปิดประติมากรรมจรัล มโนเพ็ชร ราชาโฟล์คซองคำเมือง ณ สวนบวกหาด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรำลึกถึง 20 ปีการจากไปของจรัล มโนเพ็ชร เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2544 โดยทางกลุ่มคนรักจรัลได้ถือเอาวันที่ 1 ม.ค. ซึ่งเป็นวันเกิดของจรัล  เป็นวันเปิดตัวประติมากรรมศิลปินล้านนาคนสำคัญแห่งยุคสมัยผู้นี้

รูปหล่อนี้มีขนาดเท่าตัวจริงของจรัล อยู่ในอิริยาบถนั่งเล่นกีต้าร์ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มบนเก้าอี้ตัวยาวและมีซึงวางอยู่ด้านข้าง รูปหล่อนี้ใช้เวลาสร้างนานกว่า 5 เดือนจากฝีมือของภูธิป บุญตันบุตร จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะกรรมการโครงการจรัลรำลึก

ธเนศวร์ เจริญเมือง ศาสตราจารย์เกียรติคุณคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานคณะกรรมการโครงการจรัลรำลึกเป็นตัวแทนกล่าวรายงานเปิดประติมากรรมจรัล ต่อไทณ์ โรจน์รัตนจินดา รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ ประธานพิธีเปิดประติมากรรม มีใจความดังนี้ จรัล เป็นศิลปินชาวล้านนาที่แต่งเพลงคำไทยกำเมืองกว่า 300 เพลง และอู้กำเมืองทุกเวทีจนคนเมืองรู้สึกภูมิใจกล้าอู้กำเมืองไม่อายใคร

“เพลงของอ้าย ทำให้เรารักท้องถิ่น รักบ้านเกิด รักห่วงใยคนทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพ เชิดชูศักดิ์ศรีผู้หญิง เคารพพี่น้องทุกชนเผ่า อ้ายแต่งเพลงของกิ๋นคนเมือง พูดถึงอาหารบ้านเรา 64 ชนิด หลายอย่างคนหลงลืมไปแล้ว อ้ายรักห่วงใยสิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้พวกเราดูแลรักษาป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ”

ธเนศวร์กล่าวว่า โครงการจรัลรำลึกเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จากการรวมตัวกันของนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ แสวง มาละแซม, วสันต์ จอมภักดี และตนเอง ก่อนที่จะได้พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ประธานสโมสรเชียงใหม่ ยูไนเต็ด เป็นผู้บริจาคเงินก้อนแรกจำนวน 20,000 บาท เป็นทุนตั้นต้นสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงจรัล มโนเพ็ชร จากนั้นได้มีประชาชนที่รักจรัลจากทั่วประเทศร่วมบริจาคเงินสมทบ การที่อนุสาวรีย์ของจรัล มโนเพ็ชร ได้มาตั้งที่สวนบวกหาดจะช่วยให้ผู้คนรักสวนมากขึ้น เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและจรัล

“วันนี้เรากำลังบุกเบิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศนี้ ที่ผ่านมาไม่ว่าจังหวัดไหน อำเภอใด อนุสาวรีย์ทั้งหลายเป็นของผู้นำทั้งหมด ประติมากรรมอ้ายจรัลจะเป็นประติมากรรมของสามัญชนคนแรกที่ชาวบ้านช่วยกันออม ช่วยกันสร้าง ไม่ได้เอาเงินของราชการ ไม่มีภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง”

ยังมีคนเหนืออีกหลายคนที่มีความสามารถ น่ายกย่อง ขอแค่เราร่วมกันศึกษาและค้นหา เพื่อที่จะสร้างรูปปั้นของสามัญชนคนต่อไป ขอให้รูปปั้นของจรัล เป็นการบุกเบิกความเป็นล้านนาสมัยใหม่ที่เราสร้างความภูมิใจขึ้นจากสามัญชนคนบ้านเราเอง ยกย่องสามัญชนคนเก่งแต่ละด้านในแต่ละท้องถิ่น

นอกจากนี้ภายในงานยังได้มีการเสวนา “กึ๊ดเติงหาจรัล มโนเพ็ชร” (คิดถึงจรัล มโนเพ็ชร) โดยพระครูธีระสุตพจน์, สมฤทธิ์ ลือชัย และอันยา โพธิวัฒน์ (คู่ชีวิตของจรัล มโนเพ็ชร) โดยมี วสันต์ ปัญญาแก้ว เป็นผู้ดำเนินรายการ ร่วมพูดคุยกันถึงความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตและผลงานเพลงของจรัล ที่มีคุณูปการต่อชาวล้านนา

หลังจากการเปิดงานประติมากรรมสิ้นสุดลงได้มีคนรักจรัล และประชาชนทั่วไปมานั่งถ่ายรูปคู่กับรูปหล่อจรัลเป็นจำนวนมาก

ประติมากรรมจรัล มโนเพ็ชร

ข้อมูลจากเว็บไซต์เทศบาลนครเชียงใหม่

ความเป็นมา

ประติมากรรมจรัล มโนเพ็ชรเกิดขึ้นจากความริเริ่มของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมืองในช่วงกลางปี พ.ศ. 2563 ในนามโครงการจรัลรำลึก (ค.จ.ร.) ได้ดำเนินการระดมทุนจากสาธารณชนในวงกว้างเป็นเงินจำนวนราว 500,000 บาท เพื่อสร้างประติมากรรมจรัล มโนเพ็ชร ให้เป็นอนุสรณ์สถานเนื่องในวาระครบรอบ 20 ปีแห่งการจากไปของศิลปินที่มีคุณูปการต่อศิลปวัฒนธรรมล้านนาเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาทางเทศบาลนครเชียงใหม่ นำโดยนายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ได้ให้การสนับสนุนสถานที่ในการจัดวาง ตั้งอยู่ภายในสวนสาธารณะหนองบวกหาด ซึ่งไม่ไกลจากย่านประตูเชียงใหม่อันเป็นบ้านเกิดของจรัล มโนเพ็ชร และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ณ ข่วงจรัลแห่งนี้

รายละเอียดเกี่ยวกับประติมากรรม

แนวคิดการออกแบบประติมากรรมจรัล มโนเพ็ชรของ ค.จ.ร.ให้ความสำคัญกับความสมจริง เรียบง่าย และให้ความรู้สึกเป็นกันเอง มีรองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เกษรเกศรา เป็นผู้ออกแบบ โดยคุณอันยา โพธิวัฒน์ คู่ชีวิตของจรัล มโนเพ็ชร คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด และมอบข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของจรัลให้เป็นแบบในการปั้น ประติมากรรมจึงมีขนาดเท่าตัวจริง อ้างอิงจากภาพของจรัลในชุดแต่งกายแบบที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย นั่งดีดกีตาร์อยู่บนเก้าอี้ไม้ตัวยาว และมีซึงวางอยู่ด้านข้าง โดยได้อาจารย์ภูธิป บุญตันบุตร เป็นประติมากร มีอาจารย์อัษฎายุธ อยู่เย็นเป็นที่ปรึกษาด้านกายวิภาค จากนั้นจึงส่งมอบต้นแบบให้โรงหล่อกุลวัฒนาจัดทำแม่พิมพ์ และดำเนินการหล่อจนแล้วเสร็จ ประติมากรรมนี้เลือกใช้วัสดุเป็นทองเหลือง น้ำหนักรวมประมาณ 500 กิโลกรัม

ชีวิตและผลงาน จรัล มโนเพ็ชร

วัยเด็ก

จรัล มโนเพ็ชร เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ในย่านที่เรียกว่าประตูเชียงใหม่ พ่อของเขาเป็นข้าราชการอยู่ที่แขวงการทางจังหวัดเชียงใหม่ ชื่อ สิงห์แก้ว มโนเพ็ชร ส่วนแม่ชื่อ เจ้าต่อมคำ (ณ เชียงใหม่) มโนเพ็ชร สืบเชื้อสายมาจากราชตระกูล ณ เชียงใหม่ จรัลเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2494 เป็นลูกคนที่สอง มีพี่น้องชายหญิงรวมทั้งหมด 7 คน ครอบครัวเป็นชนชั้นกลาง มีชีวิตเรียบง่ายสมถะตามแบบวิถีชีวิตชาวเหนือทั่วไป ใฝ่ใจในพุทธศาสนา ทั้งพ่อและแม่ของจรัลจะไปทำบุญและร่วมงานพิธีทางศาสนาอยู่เสมอที่วัดใกล้บ้านคือวัดฟ่อนสร้อย ความที่เป็นครอบครัวใหญ่ พ่อของจรัลจึงต้องหารายได้พิเศษ ด้วยมีฝีมือในด้านงานศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นที่สืบทอดตกมาจากบรรพบุรุษชาวเหนือ ทั้งการเขียนรูป และการแกะสลักไม้ พ่อของจรัลจึงมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว จรัลเองในเวลานั้นแม้จะอยู่ในวัยเด็ก แต่บางครั้งเมื่อพ่อมีงานพิเศษล้นมือ จรัลจะคอยช่วยเหลือพ่อของเขาในงานต่างๆ

การศึกษา

จรัลเข้าเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนพุทธิโสภณ แล้วจึงย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนเมตตาศึกษา จากนั้นจึงสอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ จรัลเล่นกีตาร์มาตั้งแต่เด็กเพราะความชอบในดนตรี ทั้งจากที่เขาได้ฟังทางสถานีวิทยุในเชียงใหม่ และจากพวกมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในภาคเหนือ ระหว่างที่เรียนอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ จรัลช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวด้วยการทำงานเพื่อหารายได้พิเศษโดยไม่ต้องรบกวนเงินทองจากทางบ้าน เขาเริ่มต้นด้วยการรับจ้างร้องเพลงและเล่นกีตาร์ตามร้านอาหารหรือตามคลับบาร์ในเชียงใหม่ ดนตรีที่เขาชอบเป็นพิเศษคือ ดนตรีโฟล์คคันทรี และบลูส์ที่ต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจ และมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการแต่งเพลงของเขา เมื่อจบการศึกษาจากวิทยาลัย จรัลเข้าทำงานรับราชการเป็นงานแรกที่แขวงการทางอำเภอพะเยา ต่อมาจึงย้ายไปทำงานที่บริษัทไทยฟาร์มมิ่ง และที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จรัลยังคงทำงานประจำไปด้วยควบคู่กับการร้องเพลงตามร้านอาหาร โรงแรม และคลับบาร์ในเชียงใหม่

ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 เมื่อบทเพลงโฟล์คซองคำเมืองของเขาเผยแพร่ไปทั่วประเทศ เพลงที่ได้รับความนิยมมีหลายเพลง เช่น อุ้ยคำ, สาวมอเตอร์ไซค์, ของกิ๋นคนเมือง, พี่สาวครับ ซึ่งเวลานั้นเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปินตะวันตกหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็นปีเตอร์ พอล และแมรี, บ็อบ ดีแลน, จอห์นเดนเวอร์, พอล     ไซมอนกับอาร์ท การ์ฟังเกล ที่ถือเป็นต้นแบบการเล่นดนตรีของเขา ซึ่งส่งผลไปถึงการทำงานโฟล์คซองคำเมืองอันเป็นดนตรีในรูปแบบเฉพาะตัวของจรัลเอง

จรัลไม่เพียงชื่นชอบเสียงดนตรีสากลจากต่างประเทศ เขายังชื่นชอบบทเพลงสมัยก่อนแต่โบราณของชาวล้านนาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อจรัลเริ่มต้นแต่งเพลง บทเพลงของเขาจึงเป็นการผสมผสานแนวดนตรีตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน แม้จะเป็นการผสมผสานศิลปะดนตรีของตะวันออกกับตะวันตกก็ตาม แต่งานดนตรีของจรัลก็แฝงด้วยอัตลักษณ์ล้านนาที่ชัดเจน ทั้งท่วงทำนองและเนื้อหาของบทเพลงที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวล้านนาตั้งแต่ยุคแรก แม้จรัลจะมีชื่อเสียงขึ้นมา และเวลาจะผ่านไปเพียงใด แต่เขาก็ไม่เคยละทิ้งบทเพลงพื้นบ้านของล้านนา

ยุคแรก

บทเพลงคำเมืองของเขาแพร่กระจายไปทั่วในปี พ.ศ. 2520 ซึ่งแปลกแตกต่างไปจากดนตรีล้านนาที่เคยได้ยินได้ฟังกันมา เพราะจรัลใช้กีตาร์และแมนโดลินมาแทนเสียงซึง ใช้ขลุ่ยฝรั่งแทนขลุ่ยไทย และเขายังใช้เครื่องดนตรีสมัยใหม่อีกมากมายมาบรรเลงบทเพลงเก่าแก่ของล้านนาตามแบบฉบับโฟล์คซองคำเมืองของเขา จรัลพูดว่า “บทเพลงแบบเก่าๆ นั้นมีคนทำอยู่มากแล้วและก็ไม่สนุก สำหรับผมที่จะไปเลียนแบบของเก่าเสียทุกอย่าง” ในยุคแรกๆ นั้นจรัลทำงานดนตรีร่วมกับพี่น้องของเขาในตระกูลมโนเพ็ชรคือ น้องชายสามคนที่ชื่อกิจจา, คันถ์ชิด และเกษม รวมทั้งมักจะมีนักร้องหญิงชื่อสุนทรี เวชานนท์ร่วมร้องเพลงด้วย แต่ต่อมาทั้งหมดก็แยกทางกันไปตามวิถีของแต่ละคน

การสร้างสรรค์งานดนตรีของเขาแตกต่างจากงานเก่าๆ ส่งผลให้บทเพลงเก่าแก่ของล้านนากลับมาได้รับความสนใจจากวัยรุ่นในยุคนั้น แทนที่จะหายไปตามกาลเวลาและสมัยนิยม จรัลได้รับการยกย่องอย่างสูงว่าเป็นนักแต่งเพลงฝีมือเยี่ยมที่แม้บรรดาศิลปินเพลงด้วยกันต่างก็ยอมรับ เขาเชี่ยวชาญการแต่งเพลงหลายรูปแบบแต่ที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือ บทเพลงแบบบัลลาด ซึ่งเป็นบทเพลงที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนของท้องถิ่นล้านนาอันเป็นบ้านเกิดของเขา จรัลพูดถึงการแต่งเพลงเองร้องเพลงเองของเขาว่า “..มันเป็นงานที่เป็นตัวตนจริงๆ แท้ๆ จากใจในเมื่อผมเป็นนักร้องแต่ไม่อยากร้องเพลงของคนอื่น ผมจึงต้องเขียนเพลงของตัวเอง เป็นเพลงที่ผมอยากร้อง มันทำให้ได้เป็นตัวของตัวเองเต็มที่ ไม่ต้องอาศัยให้ใครมาสร้างภาพลักษณ์..”

ยุคหลัง

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา ราวสิบปีก่อนจะเสียชีวิต งานดนตรีของเขาเป็นการทำงานเพียงลำพังอย่างแท้จริง แต่ด้วยความสามารถอันสูงส่ง งานดนตรีของเขากลับพัฒนายิ่งขึ้น โดยที่เขายังคงแต่งเพลงเอง ร้องเอง เล่นดนตรีเอง และจรัลยังเรียบเรียงเสียงดนตรีเองอีกด้วย จนทำให้เขาได้รับรางวัลดนตรีสีสันอวอร์ดในปี พ.ศ. 2538 โดยเป็นศิลปินชายเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลถึง 3 รางวัลในครั้งนั้น จากผลงานศิลปินป่า ทั้งในฐานะศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยม เพลงยอดเยี่ยม และอัลบั้มยอดเยี่ยม

เมื่อจรัลโยกย้ายจากเชียงใหม่ไปอยู่ที่กรุงเทพฯ นอกจากมีกิจการร้านอาหารและทำงานเพลงแล้ว บางครั้งจรัลยังรับงานแสดงภาพยนตร์และละคร และแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์และละครเหล่านั้นด้วย ความสามารถในด้านนี้ทำให้ต่อมาจรัลได้รับรางวัลใหญ่ทางด้านการแสดงอีกหลายรางวัล ในปี พ.ศ. 2539 เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดทำดนตรีจตุรภาคโดยรวบรวมนักดนตรีฝีมือเยี่ยมจากทั่วทุกภาคของประเทศมาแต่งเพลงเพื่อเฉลิมฉลองวโรกาสนี้ จรัลที่ขณะนั้นมีอายุเพียง 45 ปีก็ได้รับเชิญในฐานะครูเพลงภาคเหนือ เขาแต่งเพลงชื่อว่าฮ่มฟ้าปารมี เป็นเพลงที่ไพเราะมาก จนต่อมาแพร่หลายในวงกว้าง และในที่สุดสถาบันการศึกษาด้านศิลปะการดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้นำเพลงนี้ไปใช้ประกอบการสอนในสาขานาฏศิลป์ ปัจจุบันนี้มีผู้คิดท่าฟ้อนรำสำหรับบทเพลงนี้โดยเฉพาะเรียกว่าฟ้อนฮ่มฟ้าปารมี

ช่วงชีวิตการทำงานศิลปะการดนตรีของจรัลเริ่มในปี พ.ศ. 2520 และสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2544 เมื่อจรัลเสียชีวิตจากการที่หัวใจล้มเหลวฉับพลัน โดยที่ก่อนเสียชีวิตนั้น จรัลกำลังตั้งใจทำงานเพลงในโอกาสที่โฟล์คซองคําเมืองของเขายืนยาวมาถึง 25 ปี โดยตั้งใจจะใช้ชื่อว่า 25 ปีโฟล์คซองคำเมืองจรัล มโนเพ็ชร

การเสียชีวิต

ข่าวการเสียชีวิตของจรัลจากการที่หัวใจล้มเหลวฉับพลัน เมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 จังหวัดลำพูน สร้างความตกตะลึงไปทั่วประเทศ ผู้คนเรือนหมื่นร่วมเดินทางไปส่งสการร่างของเขาในวันพระราชทานเพลิงศพ ณ บริเวณสุสานบ้านหลวย ในวันที่ 8 กันยายน 2544

นอกจากการขนานนามที่เขาได้รับมาตลอดว่าเป็นราชาโฟล์คซองคำเมืองแล้ว ผู้คนยังได้ยกย่องและเรียกเขาด้วยสมญานามต่าง ๆ นานา ศิลปินล้านนาแห่งยุคสมัย ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา มหาคีตกวีล้านนา แก้วก๊อล้านนา นักรบวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น ฯลฯ

รายนามคณะกรรมการจรัลรำลึก (ค.จ.ร.)

1. ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ ประธานฝ่ายสถานที่

2. รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว ประธานฝ่ายวิชาการ

3. รศ.ดร.สุกรี เกษรเกศรา ประธานฝ่ายออกแบบ

4. อ.ภูธิป บุญตันบุตร ฝ่ายงานประติมากรรม

5. คุณพุทธชาติ หงสกุล ประธานฝ่ายกิจกรรม-โสตทัศนศิลป์

6. อ.เปีย วรรณา ฝ่ายจัดรายการและงานประชาสัมพันธ์

7. คุณสุนิสา อินต๊ะพิงค์ ฝ่ายข่าวสารและงานประชาสัมพันธ์

8. คุณอารยา ฟ้ารุ่งสาง ประธานฝ่ายสิ่งพิมพ์ และประสานงานเยาวชน

9. คุณเครือวัลย์ ไชยอำมาตย์ ประธานฝ่ายประสานงานเชียงใหม่-ลำพูน

10. รศ.ดร.วสันต์ จอมภักดี ฝ่ายประสานงานภายนอก

11. อ.แสวง มาละแซม ฝ่ายการเงิน และรองประธาน

12. ศ.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ฝ่ายกิจกรรมวิชาการ และประธาน

หมายเหตุ : 19.57 น. วันที่ 2 ม.ค.65 ประชาไท ดำเนินการปรับแก้เนื้อหาบางส่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท